แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211


    ครั้งที่ ๒๑๑


    ชีวิตของพระอริยสาวกนั้นเป็นที่น่าสนใจว่า ท่านจะดำเนินชีวิตอย่างไร ท่านจะมีการให้วัตถุเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นมากน้อยอย่างไร เพราะเหตุว่าท่านผู้ฟังอยากจะถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล และอยากจะทราบว่า ผู้ใดเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้วบ้าง

    ไม่ทราบว่าท่านจะมีอะไรเป็นเครื่องวัด เครื่องพิสูจน์ว่า บุคคลใดเป็นพระโสดาบันบุคคล มีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร บางท่านคิดว่า ผู้ที่เจริญวิปัสสนาจะต้องละบ้านเรือน ไม่ยินดีในโภคะ ในสิ่งต่างๆ และมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ผิดปกติไปจากที่เคยเป็น บางท่านคิดอย่างนั้น คาดคะเนเอง และเข้าใจเองว่า บุคคลนั้น บุคคลนี้ เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ โดยที่ไม่ได้เจริญสติที่จะรู้ว่า การที่จะบรรลุคุณธรรมอย่างนั้นได้จะต้องอาศัยปัญญาที่เกิดขึ้นเพราะการอบรม

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนี้แลย่อมเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาแล้วโดยธรรม กรรม ๔ ประการ เป็นไฉน

    อริยสาวกทำงานได้ไหม หรือคนที่จะเป็นพระอริยสาวกต้องอยู่ในป่า แต่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า

    ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนี้แล ย่อมเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาแล้วโดยธรรม กรรม ๔ ประการ เป็นไฉน

    อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน และบริวารให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร นี้เป็นฐานะข้อที่ ๑ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

    ท่านผู้ฟังที่มีโภคทรัพย์แต่ไม่ใช้ ไม่บริโภคให้เป็นประโยชน์แก่ตน การที่ท่านบำเพ็ญบุญกุศลมาแล้ว ก็ได้รับผลของบุญกุศลด้วยการที่ได้โภคสมบัติต่าง ๆ แต่ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ บุญที่ท่านได้บำเพ็ญมาแล้วก็เป็นหมัน ไม่ได้อำนวยประโยชน์สุขอะไรให้เลย มีเงินทองมากมายเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นผลของบุญกุศลที่ได้กระทำแล้ว แต่ไม่บริโภค ไม่ใช้ทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์ เงินทองนั้นจะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่ใช้ แต่ว่าผู้ที่เป็น พระอริยสาวก ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน และบริวารให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยด้วยความขยันหมั่นเพียร นี้เป็นฐานะข้อที่ ๑ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

    คนอื่นติเตียนท่านได้ไหม ในเมื่อเป็นโภคทรัพย์ที่ท่านหามาได้โดยธรรม ท่านย่อมจะเลี้ยงตนให้เป็นสุข เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข เลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน บริวารให้เป็นสุข เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข ถ้าไม่ใช้อย่างนี้ น่าติเตียนไหม ท่านที่มีทรัพย์ก็จะได้รู้ว่า ควรใช้ทรัพย์อย่างไรจึงจะถูกต้องและเป็นประโยชน์

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมป้องกันอันตรายทั้งหลายที่เกิดแต่ไฟ แต่น้ำ แต่พระราชา แต่โจร หรือแต่ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักเห็นปานนั้น ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาแล้วโดยธรรม กระทำตนให้สวัสดี นี้เป็นฐานะข้อที่ ๒ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

    นอกจากจะบริโภคแล้ว ยังต้องเตรียมคิดป้องกันอันตรายทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากไฟ จากน้ำ จากโจร จากพระราชา หรือว่าจากทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ซึ่งต้องเป็นการใช้โภคทรัพย์ในการป้องกันอันตรายทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นกับตน นี่ก็เป็นการใช้ทรัพย์ในทางที่ควรแก่เหตุ

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ทำพลี ๕ ประการ คือ ญาติพลี อติถิพลี ปุพพเปตพลี ราชพลี เทวตาพลี ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัวประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะข้อที่ ๓ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงแล้วโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

    ญาติพลี สละเพื่อสงเคราะห์ญาติ อติถิพลี เป็นการต้อนรับแขก ปุพพเปตพลี อุทิศแก่ผู้ตายไปแล้ว ราชพลี แก่ประเทศ (คือ เสียภาษี) เทวตาพลี อุทิศแก่เทวดา

    เป็นชีวิตปกติธรรมดา มีญาติ มีแขก มีเรื่องที่จะต้องกระทำบุญอุทิศแก่บุคคลที่ตายไปแล้ว เป็นชีวิตตามปกติที่ท่านดำเนินไปโดยควรแก่เหตุ และเป็นผู้ที่ได้บริโภคทรัพย์แล้วโดยควร

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมยังทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ให้ตั้งไว้เฉพาะในสมณพราหมณ์ผู้งดเว้นจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกฝนตนผู้เดียว ยังตนผู้เดียวให้สงบ ยังตนผู้เดียวให้ดับกิเลสเห็นปานนั้น ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะข้อที่ ๔ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

    ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนั้นชื่อว่าเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม

    ดูกร คฤหบดี โภคทรัพย์ของใครๆ ถึงความสิ้นไป นอกจากกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เราเรียกว่าสิ้นเปลืองไปโดยใช่เหตุ ส่วนโภคทรัพย์ของใครๆ ถึงความสิ้นไปด้วยกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เราเรียกว่าสิ้นเปลืองไปโดยเหตุอันควร สิ้นเปลืองไปโดยสถานที่ควร ใช้สอยโดยสมควรแก่เหตุ

    เป็นชีวิตประจำวันที่ท่านผู้ฟังจะพิจารณา และจะได้ใช้โภคทรัพย์ของท่านให้เป็นประโยชน์

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    โภคทรัพย์ทั้งหลาย เราได้บริโภคแล้ว คนที่ควรเลี้ยง เราได้เลี้ยงแล้ว เราได้ข้ามพ้นอันตรายทั้งหลายไปแล้ว ทักษิณามีผลอันเลิศ เราได้ให้แล้ว

    อนึ่ง พลีกรรม ๕ ประการ เราได้กระทำแล้ว ท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์ เราได้บำรุงแล้ว บัณฑิตอยู่ครอบครองเรือน พึงปรารถนาโภคทรัพย์เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้ว โดยลำดับ กรรมที่ไม่เดือดร้อนในภายหลังเราได้กระทำแล้ว นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ เมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ เป็นผู้ตั้งอยู่แล้วในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว ครั้นเขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์ ฯ

    พระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ได้ทรงแสดงพระสูตรนี้ เพื่อให้เห็นสภาพธรรมของจิตใจตามความเป็นจริงว่า ทุกท่านที่เป็นสัตว์โลกนั้นปรารถนาอะไร เหตุที่ให้ได้สมความปรารถนานั้นคืออะไร และเมื่อได้สมความปรารถนาแล้ว ควรใช้โภคทรัพย์นั้นอย่างไร จึงจะเป็นทางที่สมควร

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญเหตุมาแล้ว เป็นผู้ที่ได้รับผลของกุศลกรรมในอดีตสมความปรารถนาในปัจจุบันชาตินี้แล้ว ท่านก็ควรที่จะได้ใช้โภคทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์ที่สมควรตามที่ได้ทรงแสดงไว้แล้วด้วย

    ขณะที่ใช้ทรัพย์ เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ได้ทุกประการ เพราะเหตุว่าการใช้ทรัพย์ที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นการกระทำของพระอริยสาวกทั้งนั้น

    สำหรับการเจริญกุศลแม้ในขั้นของทาน แม้เป็นกิจเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นกุศลที่ท่านไม่ควรจะละเลย บางท่านคิดว่า เพียงการสละทรัพย์สมบัติหรือวัตถุที่เล็กน้อยไม่น่าจะเป็นกุศล แต่ว่าความจริงเป็นกุศล เพราะว่าในขณะนั้น ท่านมีเจตนาให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์สุข

    ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย สคาถวรรค วนโรปสูตรที่ ๗ ซึ่งเป็นสูตรสั้นๆ แต่รวมกุศลทุกขั้น มีข้อความว่า

    เทวดาทูลถามว่า ชนพวกไหนมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นผู้ไปสวรรค์ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ชนเหล่าใดสร้างอาราม ปลูกหมู่ไม้ (ที่ใช้ร่มเงาได้) สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทาน และบ่อน้ำ ทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์

    ครบทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งปัญญา ใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา มีคำอธิบายว่า

    คำว่า อารามโรปา หมายถึงผู้ปลูกสร้างสวนไม้ดอก และสวนผลไม้

    คำว่า อาราม หมายความถึง สวนไม้ดอกและสวนผลไม้

    วนโรปา ได้แก่ ทำการล้อมเขตแดนในป่าธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง แล้วทำเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ์ ทำที่จงกรม ทำมณฑป กุฏิ ที่หลีกเร้น และที่พักในเวลากลางวันและกลางคืน

    วนะ คือ ป่าธรรมชาติที่เป็นเองโดยไม่ต้องปลูกสร้าง

    ผู้ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา ชื่อว่า ผู้ปลูกสร้างป่าเหมือนกัน

    ถ้ามีเจตนาที่จะปลูกเพื่อให้บุคคลอื่นได้รับประโยชน์ ในขณะนั้นเป็นกุศลจิต

    คำว่า เสตุการกา ผู้สร้างสะพาน หมายถึง ผู้สร้างสะพานขึ้นในที่ไม่สม่ำเสมอกัน และหมายถึงผู้ให้เรือสำหรับข้ามน้ำด้วย

    ถ้าพื้นที่ดินไม่เรียบ ไม่สะดวก ท่านก็มีกุศลศรัทธาที่จะทำที่ไม่สม่ำเสมอนั้นให้เสมอ มีกุศลศรัทธาที่จะให้ความสะดวกแก่บุคคลอื่นก็เป็นกุศล

    คำว่า ปปํ ได้แก่ ศาลาสำหรับให้น้ำดื่ม

    คำว่า อปสฺสยํ ที่อาศัย ได้แก่ เรือนสำหรับอยู่

    คำว่า บ่อน้ำ มีสระโบกขรณี เป็นต้น

    ข้อว่า บุญย่อมเจริญทุกเมื่อ ความว่า เมื่อตรึก คือ คิดอยู่ด้วยอกุศลวิตกก็ตาม หรือหลับอยู่ก็ตาม บุญไม่เจริญ

    ก็เป็นอนุสติ เตือนให้ท่านผู้ฟังระลึกได้ว่า ท่านเจริญบุญกุศลทั้งกลางวันและกลางคืนหรือไม่ ซึ่งขณะใดที่ตรึกหรือคิดด้วยอกุศลวิตก หรือในขณะที่หลับอยู่ บุญไม่เจริญ เป็นเครื่องเตือนให้ท่านได้ระลึกว่า ใจของท่านตรึกหรือคิดไปในเรื่องของกุศลมาก หรือในเรื่องของอกุศลมาก

    ข้อความในอรรถกถาต่อไปมีว่า

    ท่านกล่าวว่า บุญย่อมเจริญทุกเมื่อ หมายความว่า เมื่อใดเขาระลึกได้ เมื่อนั้นบุญย่อมเจริญ

    ระลึกได้ คือ สติ ระลึกเป็นไปในทาน ระลึกเป็นไปในศีล ระลึกเป็นไปในความสงบของจิต ระลึกเป็นไปในกาย เวทนา จิต ธรรม คือ สติปัฏฐาน เพื่อให้ปัญญารู้สภาพนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง

    ที่ท่านกล่าวว่า บุญย่อมเจริญทุกเมื่อ จำกัดเวลาให้บุญเจริญไหม จำกัดว่าขณะนี้ไม่ได้ ขณะนั้นไม่ได้

    การเจริญสติปัฏฐาน ก็เช่นเดียวกับการที่สติจะระลึกเป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบของจิต คือ ขณะใดที่ระลึกได้ ถ้าระลึกเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เมื่อนั้นบุญย่อมเจริญ ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล และเพราะตั้งอยู่ในธรรมนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลนั้น ผู้ทำบุญทั้งหลายดังที่กล่าวมานี้ กุศลธรรมทั้ง ๑๐ ประการ ย่อมบริบูรณ์

    บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ กิริยาของบุญ การกระทำของบุญ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะทานอย่างเดียวเท่านั้น บุญกิริยามี ๑๐ ประการ คือ

    • ๑. ทาน การให้วัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ
    • ๒. ศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน

    ๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา ๑ และการอบรมจิตให้เกิด ปัญญา คือ วิปัสสนาภาวนา ๑

    ๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมเป็นบุญ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่หยาบกระด้างด้วยมานะ ความถือตน แต่เป็นบุคคลที่อ่อนน้อมแก่ผู้ที่ควรอ่อนน้อม

    ๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ไม่เลือกสัตว์ บุคคล ผู้ใดอยู่ในสภาพที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือให้ความสะดวก ให้ความสบาย ท่านก็ควรจะสงเคราะห์แก่ผู้นั้น แม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต เป็นบุญกิริยาวัตถุ

    ๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้

    ๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำกุศล ซึ่งถ้าเป็นคนพาลไม่สามารถจะอนุโมทนาได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้ทราบการกระทำบุญกุศลของบุคคลอื่น ท่านควรเป็นผู้ที่มีจิตยินดี ชื่นชม อนุโมทนาในกุศลกรรมที่ท่านได้ทราบนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตระหนี่ แม้แต่ความชื่นชมยินดีในบุญกุศลของบุคคลอื่นก็เกิดไม่ได้

    ๘. ธรรมเทศนา การแสดงธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง ไม่ว่าเป็นญาติ มิตรสหาย หรือบุคคลใดก็ตาม ซึ่งท่านสามารถจะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจเหตุผลในพระธรรมวินัย ท่านก็ควรจะแสดงธรรมแก่บุคคลนั้น

    ๙. ธรรมสวนะ การฟังธรรมเพื่อความเข้าใจเป็นบุญ แต่ถ้าเพื่ออกุศลจิตก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ท่านควรทราบจิตใจของท่านโดยละเอียดว่า จิตใจเป็นอย่างไร

    ๑๐. ทิฏฐุชุกรรม การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็เข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าเป็นกุศล ธรรมใดที่เป็นอกุศล ก็ให้พิจารณากระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมจริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล ไม่ปะปนกุศลธรรมกับอกุศลธรรม

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญกุศลเป็นสิ่งที่ควรจะสะสมเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ไม่ควรเป็นผู้ประมาท

    สำหรับเรื่องของทานอีกเรื่องหนึ่ง เป็นข้อคิดสำหรับท่านผู้ฟัง เพื่อให้กุศลของท่านเจริญทุกโอกาสที่จะเป็นไปได้

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เสรีสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า

    เสรีเทพบุตรได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กล่าวคาถาทูลถวายพระผู้มีพระภาคว่า

    เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก ต่างก็พอใจอาหารด้วยกันทั้งนั้น เออ ก็ผู้ที่ไม่พอใจอาหาร ชื่อว่า ยักษ์ โดยแท้

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบเสรีเทพบุตร ด้วยพระคาถาว่า

    ชนเหล่าใดมีใจผ่องใส ให้ข้าวและน้ำด้วยศรัทธา ข้าวและน้ำนั้นแล ย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้นสมควรเปลื้องความเหนียวแน่นเสีย ครอบงำมลทินของใจเสีย พึงให้ทาน บุญเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า ฯ

    ข้อความเหมือนกับจะซ้ำกับที่ทรงแสดงไว้ แต่ว่าทุกเรื่องในพระไตรปิฎกมีประโยชน์เกื้อกูลแก่ท่านผู้ฟัง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๒ ตอนที่ ๒๑๑ – ๒๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 36
    28 ธ.ค. 2564