แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238


    ครั้งที่ ๒๓๘


    มีข้อความในพระไตรปิฎกตอนหนึ่ง ซึ่งจะเกื้อกูลให้ท่านผู้ฟังได้ทราบชัดว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นปกติ และต้องรู้ชัดในสภาพที่เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง เพราะไม่ใช่ตัวตนของนามและรูปที่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค วาทีสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ถึงแม้สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีความต้องการวาทะ ผู้แสวงหาวาทะ พึงมาจากทิศบูรพา ทิศปราจีน ทิศอุดร ทิศทักษิณ ด้วยประสงค์ว่า จักยกวาทะของภิกษุนั้น ภิกษุนั้นจะสะเทือน สะท้าน หรือหวั่นไหวต่อสมณะหรือพราหมณ์นั้น โดยสหธรรม ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนเสาหิน ๑๖ ศอก เสาหินนั้นมีรากลึกไปข้างล่าง ๘ ศอก ข้างบน ๘ ศอก ถึงแม้ลมฝนอย่างแรงจะพัดมาแต่ทิศบูรพา ทิศปราจีน ทิศอุดร ทิศทักษิณ ก็ไม่สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะรากลึก เพราะเสาหินเขาฝังไว้ดีแล้ว ฉันใด

    ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ถึงแม้ว่าสมณะหรือพราหมณ์ผู้ต้องการวาทะ ผู้แสวงหาวาทะ พึงมาจากทิศบูรพา ทิศปราจีน ทิศอุดร ทิศทักษิณ ด้วยประสงค์ว่า จักยกวาทะของภิกษุนั้น ภิกษุนั้นจะสะเทือน สะท้าน หรือหวั่นไหวต่อสมณะหรือพราหมณ์นั้น โดยสหธรรม ข้อนั้นมิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเห็นอริยสัจ ๔ ดีแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน

    อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกขอริยสัจ นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครถามท่านผู้ฟังว่าอะไรเป็นทุกข์ จะตอบว่าอย่างไร กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ กำลังตื่นเต้นดีใจ กำลังเพลิดเพลินยินดี ทุกอย่างทุกประการนี้เองเป็นทุกข์ ท่านจะไม่หวั่นไหวเลย และถ้าผู้อื่นจะบอกว่า ไม่ใช่ทุกข์ พูดได้ไหม ถ้าผู้อื่นจะบอกว่าไม่ใช่ทุกข์ หรือที่ใครจะบอกว่าขณะนี้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่ทุกข์ นั่นหมายความว่า ผู้นั้นไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    แต่ผู้ใดที่กล่าวว่า ทุกข์ไม่ใช่อื่นเลย นอกจากที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังรู้โผฏฐัพพะ กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุขมาก กำลังเป็นทุกข์มาก กำลังโทมนัสมาก กำลังดีใจมาก เหล่านี้เองเป็นทุกข์ ก็หมายความว่า ผู้นั้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั่นเอง

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่ว่ามีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เพราะฉะนั้น ต้องมีความเพียรใช่ไหม คือ ท่านผู้นั้นมีความคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานจะต้องไปกระทำความเพียร เพราะมีข้อความว่า มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    แต่ขอให้ท่านผู้ฟังคิดถึงในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน และทรงแสดงธรรม ซึ่งก็มีผู้ที่ฟังธรรมบรรลุความเป็นพระอริยบุคคลเมื่อทรงแสดงธรรมเทศนาจบ ในขณะนั้น บุคคลนั้นมีความเพียรหรือไม่ มีสัมปชัญญะหรือไม่ มีสติหรือไม่ หรือว่าขณะที่กำลังฟังอยู่นั้นไม่มีความเพียร ต้องไปทำความเพียรอื่นอย่างนั้นหรือ ก็ไม่ใช่

    ในขณะที่กำลังฟังธรรม บางท่านบรรลุความเป็นพระอริยบุคคล บางท่านไม่บรรลุความเป็นพระอริยบุคคล เพราะอะไร เพราะว่าผู้ที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น มีความเพียรที่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ปัญญาจึงรู้ชัด จึงได้ละคลายการยึดถือ และบรรลุความเป็นพระอริยบุคคล นั่นเพราะมีความเพียร มีสติ มีปัญญาที่เกิดในขณะนั้น รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ความสำคัญอยู่ที่ปัญญาที่รู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา เวลานี้สติของท่านผู้ใดจะระลึกรู้นามหรือรูปทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ขณะที่สติระลึกมีความเพียรร่วมด้วย จึงได้ระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ว่ามีปัญญาพอที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ละคลาย สติก็จะต้องเพียรระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเนืองๆ บ่อยๆ เรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ความมุ่งหมายของการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อปัญญารู้ความจริงว่า สภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้สติ แม้ความเพียร แม้ปัญญา และจะต้องเข้าใจด้วยว่า ทำไมขณะที่ฟัง บุคคลหนึ่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า แต่คนอื่นไม่บรรลุ เพราะเหตุว่าไม่ละ แม้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    โดยมากผู้ที่เจริญสติปัฏฐานยากเหลือเกินที่จะตัดใจ หรือว่าตัดเยื่อใยจากการหวังผล คอยแต่ที่จะคิดว่า ขณะนี้รู้ชัดหรือยัง ถึงแม้จะไม่ใช้คำว่า นามรูปปริจเฉทญาณ หรือว่าญาณอื่นก็ตาม ซึ่งในพระไตรปิฎกก็มีหลายครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่ารู้ชัด เพื่อที่จะไม่ให้ท่านผู้ฟังห่วง หวัง และรอในขณะที่เจริญสติปัฏฐาน

    จริงหรือไม่จริง มีหลายท่านทีเดียวที่เจริญสติปัฏฐานและท่านได้ยินคำว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ท่านก็เปรียบเทียบ เดากับความรู้ที่กำลังเกิด หรือว่ากำลังมี ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏ ความห่วง ความหวัง ยังไม่หมดไปจากใจ คอยที่จะเปรียบเทียบว่าใช่หรือยัง

    แต่ทำไมต้องห่วงชื่อ กับคำว่ารู้ชัด หรือว่ารู้ทั่ว หรือว่ารู้แจ้ง

    ถ้าเป็นความรู้ที่กำลังรู้ เพราะสติระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อย ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยเจ้าจะตัดเยื่อใยให้ขาดได้ไหมว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งการที่จะตัดเยื่อใยให้ขาดได้ ก็เพราะปัญญารู้จริง รู้ทั่ว รู้ชัด แต่เพราะท่านยังเคลือบแคลงว่า ขณะนั้นรู้ชัดหรือยัง ซึ่งความจริงแล้ว ความรู้จะต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้นที่จะเป็นความรู้ชัด คือ วิปัสสนาญาณ เป็นความต่างออกไปจากความรู้ที่กำลังอบรมอยู่ ต้องมีลักษณะที่ต่างกันที่ปรากฏชัดเจนทีเดียวถึงความต่างกัน ถ้าลักษณะนั้นไม่ปรากฏชัดเจนให้เห็นเป็นความต่างกัน ความสงสัยที่จะเทียบเคียงก็มีอยู่ร่ำไป

    เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ชัดได้จริงๆ ที่เป็นวิปัสสนาญาณ ต้องมีความต่างจากความรู้ที่กำลังอบรมอยู่ เป็นความต่างจริงๆ แต่ที่ไม่ทรงแสดงไว้ก็เพื่อไม่ให้ท่านผู้ฟังมีเยื่อใยด้วยความหวัง ด้วยความห่วง เพราะว่าปกติก็หวัง ก็ห่วง ก็รอญาณอยู่แล้ว ที่ถูกแล้วไม่ควรจะหวัง ไม่ควรจะรอ ไม่ควรจะคอย ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณจริงๆ จะหมดความสงสัย จะหมดความเคลือบแคลง คนทั้งคนที่กำลังเห็นอย่างนี้หรือจะดับไป หรือว่าเสาใหญ่ๆ ทั้งต้นที่กำลังเห็นอยู่นี่หรือจะดับไป ไม่ใช่คน ไม่ใช่เสาที่ดับทางตา สีสันวัณณะต่างๆ ที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่คน ไม่ใช่เสา แต่ว่าทางตากำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ระลึกรู้ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้เป็นของจริง ต้องแยกได้ชัดเจน ก่อนที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม

    ถ้ายังเห็นรวมเป็นคนทั้งคน นี่หรือจะดับ หรือว่าเสาทั้งเสา นี่หรือจะดับ ก็หมายความว่ายังไม่ได้รู้ชัดในความต่างกันของสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นแต่เพียงลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น แยกออกไปจากคน จากสัตว์ เวลากระทบสัมผัสก็เป็นสิ่งที่มีลักษณะอ่อนหรือแข็งปรากฏ และส่วนที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ต้องแยกออกจากกันจริงๆ กระจัดกระจายจริงๆ แต่ไม่ใช่ว่ายังมีความเป็นคนทั้งคน ทั้งเสา และสงสัยว่าจะดับได้อย่างไร ไม่ใช่คนดับ ไม่ใช่เสาดับ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อปรากฏแล้วก็หมดไปทางตา

    ถ. ตาที่มองเห็น เกิดเห็นแล้วจะดับกิเลสได้หรือโยม

    สุ. พระคุณเจ้ามีความสงสัยว่า กำลังเห็น มีทางที่จะทำให้ดับกิเลสได้หรือ ก็เพราะสติระลึกได้ ถ้าระลึกบ่อยๆ เนืองๆ ถึงมีความชอบใจไม่ชอบใจ สติตามรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น ก็หมดไปแล้ว มีนามอื่น รูปอื่นที่สติระลึกต่อไปอีก ต้องรู้ความจริงจึงจะดับกิเลสได้ แต่ถ้ายังหลบๆ หลีกๆ สติก็ระลึกไม่ได้ ในขณะที่ชอบใจไม่ชอบใจ ขณะนั้นไม่สามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    ถ. การรักษาใจอย่างเดียวนี่จะ ... ..

    สุ. รักษาใจ ใจก็อยู่ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายด้วย เมื่อ ตามรู้ที่ใจ ท่านเห็น ท่านก็รู้ว่าเป็นใจที่เห็น ท่านได้ยิน ท่านก็รู้ว่าเป็นใจที่เป็นสภาพรู้เสียง ทางจมูก เวลาที่ได้กลิ่นก็เป็นใจที่รู้กลิ่น และเวลาที่ท่านรู้สภาพของนามธรรมก็เพราะมีรูปธรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้นด้วย

    เพราะฉะนั้น ท่านก็แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ด้วยการรู้ลักษณะของใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พร้อมทั้งรู้ปัจจัย คือ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดใจนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ท่านก็แทงตลอดในสภาพธรรมทั้งนามและรูป เป็นญาณต่างๆ เพราะว่าใจทางตาก็มี และก็มีปัจจัยของใจทางตา ใจทางหูก็มี และก็มีปัจจัยของใจทางหู และท่านก็รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้ง ๖ ทางด้วย เพียงพระธรรมเทศนาย่อๆ ว่า ให้ตามรู้ใจเพราะว่าไม่ได้มีแต่ใจอย่างเดียว

    ใจทางตาก็อย่างหนึ่ง ใจทางหูก็อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทรงโอวาทให้สติเกิดอีก ให้ปรารภบ่อยๆ กิเลสมีทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าข้าม เว้นทางตา ทางตาก็ยังคงหมักดองกิเลส สะสมไว้อยู่เรื่อยไป ต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็ละไม่ได้ และทุกข์ก็ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจนี่เอง จะกล่าวว่า ทางตาไม่เป็นทุกข์ หูไม่เป็นทุกข์ จมูกไม่เป็นทุกข์ ลิ้น กาย ใจไม่เป็นทุกข์ไม่ได้ และที่จะรู้ได้ก็เพราะสติระลึก

    สำหรับคำถามที่ว่า เหตุปัจจัยของนามรูปมีอะไรบ้าง กรุณาอธิบายเพียงย่อๆ

    ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะทราบเหตุปัจจัยของนามและรูปด้วย อย่างกำลังคิดหรือนึกขึ้นมา ถ้าสติไม่เกิด ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมที่คิดหรือที่นึก ก็หวั่นไหวอีกแล้ว เป็นตัวเป็นตน ทำไมถึงคิดไม่ดีอย่างนี้อย่างนั้น แต่ถ้าขณะนั้นระลึกได้รู้ว่า จะคิดอย่างนั้นหรือจะคิดอย่างไรก็ตามก็ไม่ใช่ตัวตน แต่ละคนแลกความคิดกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้ความคิดในขณะนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นี่เป็นทางที่จะทำให้รู้ชัด และละคลายการที่เคยหวั่นไหวไปด้วยความเป็นตัวตน โดยการที่รู้ปัจจัยของนามของรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    สำหรับทางตาเป็นของแน่นอนว่า ลืมตาขึ้นมาก็มีปัจจัย คือ สีสันวัณณะต่างๆ เป็นอารมณ์ ทำให้มีการรู้สีสันวัณณะนั้น หรือขณะที่กำลังรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง ถ้าเย็นหรือร้อนไม่มากระทบ ก็รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็รู้ปัจจัยว่า ที่รู้เย็นเพราะมีเย็นปรากฏให้รู้ ที่รู้ร้อนเพราะเหตุว่ามีร้อนกระทบปรากฏที่กายให้รู้

    เพราะฉะนั้น ปัจจัยก็ไม่พ้นจากการที่สติระลึกและรู้มากขึ้น แต่ว่าก่อนอื่นจะต้องรู้ลักษณะของนามธรรม รู้ลักษณะของรูปธรรม จึงจะรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัย เมื่อรู้ปัจจัยก็ทำให้คลาย ทำให้ละ ทำให้ไม่ยึดถือได้ เช่น ความคิดนึก เป็นต้น ถ้ารู้ว่าเพราะเคยเห็น เพราะเคยได้ยิน เพราะเมื่อเห็นแล้วเคยชอบ เคยไม่ชอบ เพราะฉะนั้น เมื่อนึกถึงก็นึกถึงด้วยความชอบความไม่ชอบตามปัจจัยที่เคยเห็นเคยได้ยินมาแล้ว ดังนั้น เวลาที่คิดนึกเกิดขึ้น สติก็ระลึกได้ ไม่ผูกพัน หรือว่าเยื่อใยยึดโยงว่าเป็นตัวตนหรือว่าเป็นเรา เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงความคิดชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นี่ก็เป็นปัจจัยโดยย่อ

    สำหรับในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน และเรื่องของปัตติทาน พระธรรมวินัยจะเป็นประโยชน์แก่ท่านในการที่จะทำให้ท่านไม่ประมาท และเห็นว่าภพภูมินี้ จุดประสงค์ในชีวิตนั้น ควรจะเป็นการอบรมการเจริญสติ เพื่อจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง มิฉะนั้นแล้ว ถ้าพลาดจากสุคติภูมิไปสู่อบายภูมิ ก็หมดโอกาสที่จะเจริญปัญญา จนกระทั่งจะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ขณสูตร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของเธอทั้งหลายแล้ว เธอทั้งหลายได้ดีแล้ว ขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เธอทั้งหลายได้เฉพาะแล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นรกชื่อว่า ผัสสายตนิกะ ๖ อันเราเห็นแล้ว ในผัสสายตนิกนรกนั้น สัตว์จะเห็นรูปอะไรๆ ด้วยจักษุ ก็ย่อมเห็นแต่รูปอันไม่น่าปรารถนา ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าปรารถนา ย่อมเห็นแต่รูปไม่น่าใคร่ ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าใคร่ ย่อมเห็นแต่รูปอันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่เห็นรูปอันน่าพอใจ

    จะฟังเสียงอะไรๆ ด้วยหู ก็ย่อมได้ฟังเสียงอันไม่น่าปรารถนา ย่อมไม่ฟังเสียงอันน่าปรารถนา ย่อมได้ฟังเสียงอันไม่น่าใคร่ ย่อมไม่ฟังเสียงอันน่าใคร่ ย่อมได้ฟังแต่เสียงอันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่ฟังเสียงอันน่าพอใจ

    จะดมกลิ่นอะไรๆ ด้วยจมูก ก็ย่อมดมแต่กลิ่นอันไม่น่าปรารถนา ย่อมไม่ดมกลิ่นที่น่าปรารถนา ย่อมดมแต่กลิ่นไม่น่าใคร่ ย่อมไม่ดมกลิ่นอันน่าใคร่ ย่อมดมกลิ่นอันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่ดมกลิ่นอันน่าพอใจ

    จะลิ้มรสอะไรๆ ด้วยลิ้น ก็ย่อมลิ้มแต่รสอันไม่น่าปรารถนา ย่อมไม่ลิ้มรสอันน่าปรารถนา ย่อมลิ้มแต่รสไม่น่าใคร่ ย่อมไม่ลิ้มรสอันน่าใคร่ ย่อมลิ้มแต่รสอันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่ลิ้มรสอันน่าพอใจ

    จะถูกต้องโผฏฐัพพะอะไรๆ ด้วยกาย ก็ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะอันไม่น่าปรารถนา ย่อมไม่ถูกต้องโผฏฐัพพะอันน่าปรารถนา ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะแต่สิ่งไม่น่าใคร่ ย่อมไม่ถูกต้องโผฏฐัพพะสิ่งอันน่าใคร่ ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะแต่สิ่งอันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่ถูกต้องโผฏฐัพพะสิ่งอันน่าพอใจ

    จะรู้แจ้งธัมมารมณ์อะไรๆ ด้วยใจ ก็ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันไม่น่าปรารถนา ย่อมไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันน่าปรารถนา ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันไม่น่าใคร่ ย่อมไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันน่าใคร่ ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันไม่น่าพอใจ ย่อมไม่รู้แจ้ง ธัมมารมณ์อันน่าพอใจ

    นี่คือในนรกซึ่งชื่อว่า ผัสสายตนิก ๖ คือ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กระทบแต่สิ่งที่ไม่น่าพอใจทั้งนั้น ในโลกมนุษย์กระทบบ้างไหมสิ่งที่ไม่น่าพอใจ กระทบจนกระทั่งบางท่านทนไม่ไหว เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ บอกว่าวุ่นวายหมด ทุกข์ใหญ่ ทุกข์น้อย ทุกข์เล็ก ทุกข์นานาประการมากมายเหลือเกิน บอกว่าเจริญสติปัฏฐานไม่ได้

    แต่ความจริง ภพนี้อารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ ถ้าจะเปรียบเทียบกับในนรกแล้ว ผิดกันมากทีเดียว สิ่งที่ท่านกล่าวว่าท่านทนไม่ได้ในขณะนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับนรกแล้วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความทุกข์ทรมานมากกว่านี้มากทีเดียว ท่านที่ศึกษาปรมัตถธรรม ท่านทราบเวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณว่าถ้าเป็นทางตา จักขุวิญญาณที่กำลังเห็นเกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา ทางหูก็เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนาในขณะที่กำลังได้ยิน ทางจมูกก็เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนาในขณะที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นเกิดก็พร้อมกับอุเบกขาเวทนาในขณะที่กำลังรู้รส

    แต่ทำไมในนรกกล่าวว่า ทรมานมากมายเหลือเกิน ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า สำหรับทางกายได้รับการทรมานมาก จนกระทั่งทางตาที่เห็นไม่ดี ทางหูที่ได้ยินไม่ดี ทางจมูกที่ได้กลิ่นไม่ดี ทางลิ้นที่ได้รสไม่ดี แม้จะเกิดร่วมด้วยกับอุเบกขาเวทนา แต่เพราะความทรมานแสนสาหัสทางกาย ทำให้เวทนาที่เป็นอุเบกขาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นนั้นไม่ปรากฏ เพราะทางกายได้รับความทรมานด้วยความทุกข์มากกว่าทางอื่น นี่เป็นผลของการที่เกิดในนรก ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้ว่า เมื่อได้เกิดในมนุษย์ภูมิซึ่งแคล้วคลาดจากการเกิดในอบายภูมิแล้ว ก็ควรมีจุดประสงค์ที่จะเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะถ้าไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดที่ไหนต่อไป



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๔ ตอนที่ ๒๓๑ – ๒๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 36
    28 ธ.ค. 2564