แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204


    ครั้งที่ ๒๐๔


    บางท่านหวังที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยสาวก แต่ท่านรอไว้ สมัยของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ท่านเห็นว่าท่านยังไม่ถึงแน่ ท่านก็ผลัด ท่านก็รอไว้ให้ถึงสมัยของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าพระศรีอริยเมตไตรย จะเป็นไปได้ไหม เลือกได้ตามใจชอบไหม คิดว่าปล่อยไปก่อน รอไปก่อน พอถึงสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์ต่อไป ก็จะยอมบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งเป็นไปไม่ได้

    ข้อสำคัญ คือ ถ้าเข้าใจเหตุถูกต้อง เจริญสติปัฏฐานถูกต้อง วันหนึ่งท่านย่อมสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ มิฉะนั้นแล้วท่านจะไม่รู้ความละเอียดของอกุศลธรรมที่หมักหมมอยู่ในจิตใจว่ามากมาย และเกิดขึ้นขณะใดบ้าง ถ้าสติไม่ระลึก ก็ไม่สามารถที่จะแยกสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นว่า สภาพธรรมนั้นต่างกันเป็นสภาพธรรมแต่ละประเภท ถ้าไม่สามารถจะแยกได้ ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ได้เหมือนกัน เพราะเหตุว่าในโพชฌงค์นั้น มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นปัญญาที่แทงตลอดในสภาพธรรมที่ต่างกัน อกุศลธรรมก็เป็นอกุศลธรรม กุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม ชีวิตปกติธรรมดาที่บางขณะก็เป็นกุศล บางขณะก็เป็นอกุศล ซึ่งจะต้องมีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เกิดร่วมกับสติสัมโพชฌงค์ จึงสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ทุกท่านที่ฝักใฝ่สนใจในธรรม มีโอกาสที่จะได้นมัสการทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า เพื่อที่จะให้การนมัสการนั้นไม่เป็นโมฆะ และการเข้าใกล้พระศาสนานั้นไม่เป็นหมัน ท่านจะต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า ท่านดูนามดูรูป ซึ่งลักษณะของสติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ ไม่ใช่ดู ผู้ที่รู้ว่าสติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ ก็รู้ว่าขณะนั้นสติเกิด และรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่เป็นตัวตนที่กำลังดู เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้นก็ยังไม่ได้พิจารณาความต่างกันโดยละเอียดของพยัญชนะ ท่านเข้าใจว่าท่านรู้นามรู้รูป จนกระทั่งวันหนึ่งไม่สบายมากโทรศัพท์มาเล่าว่า แต่ก่อนนี้มีความเข้าใจว่า มีความชำนาญในการดูนามในการดูรูป สามารถที่จะดูนามนั้น ดูรูปนี้ได้หลายนามหลายรูปทีเดียว แต่เวลาที่เกิดทุกขเวทนามาก ดูไม่เป็นเสียแล้ว งงไปหมด ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้เลย เพราะฉะนั้น ท่านเป็นผู้ที่เคยอบรมสมาธิมา ท่านจึงเอาสมาธิเข้ามาช่วย ผู้ช่วยที่เป็นตัวตนมากมาย แม้แต่สมาธิ สมาธิก็เป็นผู้ช่วยอย่างดี แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่าถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ กำลังมีทุกขเวทนาอย่างไรก็ตาม ท่านเป็นผู้ที่อบรมรู้ว่า สติเป็นสภาพที่เป็นอนัตตา สามารถที่จะระลึกรู้ได้ ไม่ใช่ดู ในขณะนั้นสติมีโอกาสที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏเพราะเคยอบรมมา จะไม่เอาสมาธิเข้ามาช่วย

    อีกท่านหนึ่งเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านผู้นี้รู้ความต่างกันของคำว่าดู กับการระลึกรู้ ท่านก็เจริญสติเป็นปกติ วันหนึ่งก็เป็นลม แต่ในขณะนั้นระลึกได้ว่า ถ้าให้จิตเป็นอกุศลก็ย่อมไปสู่อบายภูมิ นี่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าท่านเป็นผู้มีปกติเจริญสติก็จริง แต่เวลาที่ท่านจะจากโลกนี้ไป แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในขณะนั้น ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยทั้งนั้น

    ถ. ตามปริยัติที่เรียนมาท่านกล่าวว่า ปัญจานันตริยกรรมนี้ เป็นกรรมที่หนักมาก เพราะฉะนั้น เวลาที่จะตาย จวนจะตายจริงๆ กรรมหนักนี้จะต้องมาปรากฏเป็นอารมณ์ให้แก่จิตในขณะนั้น ทำไมจึงเป็นของแน่นอน ถ้าธรรมทั้งหลายเป็นของไม่แน่นอน แต่ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นของแน่นอน สงสัยครับ

    สุ. เพราะความเป็นอนันตริยกรรม โดยสภาพที่กรรมอื่นไม่สามารถที่จะให้ผลก่อนอนันตริยกรรมได้ เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ถ้ากรรมนั้นไม่ใช่อนันตริยกรรมก็ไม่ให้ผลในชาติต่อไป แต่ถ้าเป็นอนันตริยกรรม ต้องให้ผลในชาติต่อไป

    ไม่ใช่ว่าธรรมทั้งหลายไม่แน่นอนตามใจชอบ หรือว่าแน่นอนตามใจชอบ สภาพธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุตามควรแก่ปัจจัยของสภาพธรรมนั้นๆ อนันตริยกรรมเป็นกรรมหนักที่จะต้องให้ผลก่อนกรรมอื่น คือ ให้ผลที่จะปฏิสนธิในชาติต่อไป เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะเลือกได้ว่า ขออย่าให้อนันตริยกรรมให้ผลที่จะปฏิสนธิในชาติต่อไปเลย อนันตริยกรรมทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลได้ เพราะเหตุว่าเป็นกรรมที่จะต้องให้ผลในชาติต่อไป เพราะฉะนั้น เวลาจุติ อนันตริยกรรมนั่นเองที่จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิในชาติต่อไป

    ชีวิตแต่ละคนที่เลือกไม่ได้เลยว่า ท่านจะได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ได้สรรเสริญ นินทา หรือว่าสุขทุกข์อย่างไร แต่ท่านควรที่จะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ

    ขอกล่าวถึงชีวิตของพราหมณ์ผู้หนึ่งในอดีต ในครั้งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ซึ่งท่านต้องได้รับโลกธรรมเหมือนกับชีวิตของทุกท่านในขณะนี้ แต่ว่าจะได้รับโลกธรรมในลักษณะใด ก็ต่างกันไปตามกรรม

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุต อุปาสกวรรคที่ ๒ มหาศาล สูตรที่ ๔ มีข้อความว่า

    พราหมณ์มหาศาลผู้หนึ่งถูกบุตร ๔ คนคบคิดกับภรรยา แล้วไล่ออกจากบ้าน

    ขอให้คิดถึงจิตของผู้ที่เป็นบิดาซึ่งได้อุปการะเลี้ยงดูบุตรมา แต่เวลาที่ชราก็ได้ถูกบุตร ๔ คนคบคิดกับภรรยาขับไล่ออกจากบ้าน ชีวิตอย่างนี้มีไหมในสมัยนี้ มี

    ถ้าท่านฟังเผินๆ แล้วผ่านไป ก็ไม่ได้รู้ซึ้งถึงสภาพของผู้ที่เป็นบิดาว่า ในขณะนั้นจะมีความโทมนัสเป็นอกุศลจิตสักเท่าไร ได้รับกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจ มีความน้อยเนื้อต่ำใจ เมื่อไม่ได้รับการอุปการะตอบแทนจากบุตรที่ท่านได้อุปการะมา เป็นการได้รับทุกข์อย่างมากทีเดียว

    พราหมณ์ผู้นี้ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงให้เรียนคาถา และให้กล่าวคาถานั้น เมื่อหมู่มหาชนประชุมกันที่สภาพร้อมกับพวกบุตร

    ข้อความของคาถานั้นมีว่า

    เราชื่นชมและปรารถนาความเจริญแห่งบุตรเหล่าใด บุตรเหล่านั้นคบคิดกับภรรยารุมว่าเราดังสุนัขรุมเห่าสุกร เขาว่าพวกมันเป็นอสัตบุรุษลามก ร้องเรียกเราว่าพ่อ พ่อ พวกมันประดุจยักษ์แปลงเป็นบุตร มาละทิ้งเราผู้ล่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้ว พวกมันกำจัดคนแก่ ไม่มีสมบัติออกจากที่กิน ดังม้าแก่ที่เจ้าของปล่อยทิ้ง ฉะนั้น

    บิดาของบุตรพาลเป็นผู้เฒ่า ต้องขอในเรือนผู้อื่น ได้ยินว่าไม้เท้าของเรายังจะดีกว่า พวกบุตรที่ไม่เชื่อฟังจะดีอะไร เพราะไม้เท้ายังป้องกันโค หรือสุนัขดุได้ ในที่มืดยังใช้ยันไปข้างหน้าได้ ในที่ลึกยังใช้หยั่งดูได้ พลาดแล้วยังยั้งอยู่ได้ด้วยอานุภาพไม้เท้า

    ซึ่งเมื่อพราหมณ์นั้นได้กล่าวอย่างนั้นแล้ว พวกบุตรก็ได้นำพราหมณ์มหาศาลนั้นไปยังเรือน ให้อาบน้ำ แล้วให้นุ่งห่มผ้าคู่หนึ่งๆ ทุกๆ คน พราหมณ์มหาศาลนั้นถือผ้าคู่หนึ่งไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ย่อมแสวงหาทรัพย์สำหรับอาจารย์มาให้อาจารย์ ขอท่านพระโคดมผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า จงรับส่วนของอาจารย์เถิด

    พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยความอนุเคราะห์แล้ว ครั้งนั้นพราหมณ์มหาศาลผู้นั้นก็ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป

    ท่านผู้ฟังจะสังเกตเห็นพยัญชนะที่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยความอนุเคราะห์เสมอ ไม่ว่าผู้ใดจะนำไทยธรรมสิ่งใดมาถวายก็ตาม เพราะพระองค์ทรงทราบว่า กุศลจิตของบุคคลนั้นเกิดยาก เมื่อมีศรัทธา มีความเลื่อมใส มีไทยธรรมสิ่งใดมาถวาย ก็ทรงรับเพื่ออนุเคราะห์แก่กุศลจิตของบุคคลนั้น เพราะว่าในชีวิตวันหนึ่งๆ ทานมากหรือน้อย เกิดบ่อย หรือไม่บ่อย เกิดยาก หรือว่าเกิดง่าย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตของผู้ใดเป็นกุศล ก็ไม่ควรยับยั้งกุศลของผู้นั้น แล้วก็ควรที่จะให้กุศลนั้นเจริญบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นใดก็ตาม

    สำหรับเรื่องของพราหมณ์ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ส่วนมากบุคคลลืมคิดถึงวัยต้นในอดีต เวลานี้ท่านอาจจะเป็นผู้ที่สมบรูณ์ด้วยลาภ ด้วยยศ ด้วยสรรเสริญ ด้วยสุข สิ่งต่างๆ เหล่านี้มาจากไหน มาจากใคร ไม่ว่าจะอยากได้อะไร ใครเป็นผู้ให้ ใครเป็นผู้ทำให้บุตรสมความปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นภายหลังที่จะได้ความรู้ ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุขนั้น ถ้าในปฐมวัย มารดาบิดาไม่ได้เกื้อกูล ไม่ได้อุปการะมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้บุตรจะได้รับไหม ก็ไม่ได้รับ แต่ลืมคิดถึงอดีต ได้ความสุข ได้ทุกสิ่งทุกอย่างจากมารดาบิดา เวลาที่ท่านแก่ชราลง บุตรคนใดบ้างที่เคยทำให้ท่านได้รับความสุขเหมือนอย่างเมื่อครั้งที่ตนเป็นเด็ก อยากจะได้อะไรท่านหาให้ แล้วเวลาที่ท่านแก่ชราลง ท่านอยากจะได้อะไร สิ่งใด มีบุตรคนใดบ้างที่ให้สิ่งนั้นแก่มารดาบิดา ให้ทุกอย่างเหมือนอย่างครั้งที่ในอดีต ในปฐมวัย ที่บิดามารดาเคยให้

    เพราะฉะนั้น ชีวิตของพราหมณ์มหาศาลผู้นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เตือนให้ท่านมีความประพฤติอย่างไร เจริญกุศลอย่างไรกับมารดาบิดาผู้มีอุปการคุณ ซึ่งพระธรรมจะเกื้อกูลให้ท่านได้เจริญกุศล คือ การตอบแทนแก่ผู้ที่เป็นมารดาบิดา

    อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง ท่านทั้งสองคือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอด ๑๐๐ ปี แล้วเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้น ด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด แล้วท่านทั้งสองนั้นพึงถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่า อันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็น อิสราธิปัตย์ในแผ่นดินใหญ่ อันมีรัตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย

    ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่า อันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา

    ผู้มีพระคุณไม่จำกัดเฉพาะมารดาบิดา ครูอาจารย์และผู้อื่นซึ่งมีอุปการคุณด้วย ถ้าท่านผู้ฟังสามารถที่จะตอบแทนด้วยวัตถุ ก็ยังไม่เท่ากับการที่จะให้ท่านเหล่านั้น ผู้ไม่มีศรัทธา ให้ตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ผู้ไม่มีศีลหรือว่าเป็นผู้ทุศีล ให้ตั้งมั่นในศีลสัมปทา ผู้มีความตระหนี่ ให้ตั้งมั่นในจาคสัมปทา ผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา

    นี่เป็นสิ่งซึ่งแม้ศิษย์ก็ควรจะได้กระทำต่อครูบาอาจารย์ด้วย ไม่ใช่เฉพาะมารดาบิดาเท่านั้น หรือแม้บุคคลอื่นผู้มีคุณ ก็ควรที่จะได้ตอบแทนคุณอย่างสูงที่สุดด้วยการให้ท่านเจริญกุศลทุกประการ

    ถ้าท่านอยู่ในฐานะมารดาบิดา ได้รับการทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ ก็เจริญสติ

    . (ไม่ได้ยิน)

    สุ. ขณะที่กำลังพิจารณาว่า จะให้หรือไม่ให้ ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เจริญสติ ไม่ให้ก็รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ขณะที่ให้ก็รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง บางทีตั้งใจว่าจะให้ ก็ยังไม่ให้ ที่คิดว่าจะให้ก็เป็นตอนที่คิด ดับไปแล้ว ถึงเวลาจริงๆ ไม่ให้ ขณะนั้นก็อาศัยเหตุปัจจัยที่จะไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งสำหรับการให้ทาน ท่านจะตรวจสอบจิตใจของท่านได้ว่า ท่านให้วัตถุอย่างไร บางท่านให้สิ่งที่ท่านไม่ต้องการแล้ว บางท่านให้สิ่งที่ท่านพอใจ เป็นสิ่งที่ท่านชอบ ขณะไหนยากกว่ากัน หรือว่าขณะไหนจะนำความผ่องใสมาให้จิตใจมากกว่ากัน

    อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต มนาปทายีสูตร มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมือง เวสาลี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์แห่งอุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลี ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาตบแต่งไว้ ครั้งนั้น อุคคคฤหบดีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า

    ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้ ก็ขาทนียาหารชื่อ สาลปุบผกะของข้าพระองค์เป็นที่พอใจ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับขาทนียาหารของข้าพเจ้าเถิด

    พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับแล้ว

    อุคคคฤหบดีกราบทูลต่อไปว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้ ก็เนื้อสุกรอย่างดีของข้าพระองค์เป็นที่พอใจ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับเนื้อสุกรอย่างดีของข้าพระองค์นั้นเถิด

    พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับแล้ว

    ไม่ได้ขัดศรัทธาของบุคคลที่ให้สิ่งที่พอใจของตน เพราะเหตุว่าผู้ใดให้ของที่พอใจ ผู้นั้นย่อมได้ของที่พอใจ เคยสังเกตหรือเปล่าว่า ได้ของที่พอใจ หรือว่าของที่ไม่ค่อยจะพอใจ บางครั้งได้รับสิ่งที่ไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์ บางครั้งก็ได้รับสิ่งที่กำลังต้องการและเป็นสิ่งที่ประณีตด้วย มีเหตุ มีปัจจัยทั้งสิ้นที่จะได้รับสิ่งใดซึ่งเป็นที่พอใจหรือว่าไม่เป็นที่พอใจ ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุซึ่งเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นตามสมควรแก่เหตุ ถ้าเป็นผู้ที่สละสิ่งที่เป็นที่พอใจได้ เวลาที่ได้รับ ก็ได้รับสิ่งที่เป็นที่พอใจตามควรแก่เหตุที่ได้กระทำไว้

    ซึ่งท่านอุคคคฤหบดีก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคต่อไป โดยกราบทูลถวายสิ่งที่เป็นที่พอใจของท่านอีกหลายอย่าง คือ นาลิยสากะขาทนียาหาร ข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ขาวสะอาด มีกับมาก มีพยัญชนะมาก ผ้าที่ทำในแคว้นกาสี เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดซึ่งมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดใหญ่มีหมอนข้างทั้งสอง

    อุคคคฤหบดีกราบทูลว่า

    และข้าพระองค์ก็ย่อมทราบดีว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ควรแก่พระผู้มีพระภาค เตียงไม้จันทร์ของข้าพระองค์นี้มีราคาเกินกว่าแสนกหาปนะ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับเตียงของข้าพระองค์นั้นเถิด

    พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์รับแล้ว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๑ ตอนที่ ๒๐๐ – ๒๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 36
    28 ธ.ค. 2564