แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185


    ครั้งที่ ๑๘๕


    ไม่ใช่มีแต่เฉพาะพระอริยสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์ไป เพราะเทวดาทั้งหลายกล่าวว่า รูปโน้นเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม รูปโน้นเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ท่านอุคคคฤหบดีกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอังคาสสงฆ์อยู่ก็ไม่รู้สึกว่า ยังจิตให้เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า จะถวายแก่ท่านรูปนี้น้อย หรือจะถวายแก่ท่านรูปนี้มาก แท้ที่จริงกระผมมีจิตเสมอกัน นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๖ ของกระผมที่มีอยู่

    ไม่มีจิตที่คิดว่า จะถวายแด่ท่านรูปนี้มาก จะถวายแก่ท่านรูปนี้น้อย จิตของท่านเสมอกันหมด ด้วยความนอบน้อมยำเกรงในสงฆ์ นั่นเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์

    เทวดาสมัยนี้มาจริงๆ ไหม ไม่เคยเห็น แต่คงจะเคยทราบว่า มีหลายท่านที่ตื่นเต้นกับเทวดา ผูกพันใคร่ที่จะได้พูดกับเทวดา บางคนกล่าวว่า ธรรมที่แสดงอยู่ไม่น่าสนใจ ต้องฟังเทวดาแสดง บางท่านไม่ฟังธรรมตามวัดวาอาราม แต่ไปสู่สำนักที่มีเทวดามาแสดงธรรม และบอกว่า ธรรมที่แสดงกันอยู่ตามวัดวาอารามต่างๆ นั้น ไม่น่าสนใจ ไม่ใช่ธรรมของเทวดา ไม่ทราบว่าตรวจสอบหรือเปล่า จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเทวดาจริงหรือไม่จริง ซึ่งภาษาธรรมดาที่ฟังเข้าใจได้ ท่านกลับไม่สนใจ ท่านสนใจภาษาที่ฟังไม่รู้เรื่อง มีผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใสถึงกับบอกว่า ถ้าผู้ใดแปลได้สามารถที่จะครองโลกได้ทั้งโลก แต่เพราะเหตุว่ายังแปลไม่ออก จึงยังไม่มีผู้ใดครองโลกได้

    . ผู้ที่พูดภาษาพรหมก็ไม่รู้ภาษาพรหม ถ้ารู้ภาษาพรหมจริงก็ครองโลกไปแล้ว คงไม่ต้องมาพูดกันมากมายอย่างนี้

    สุ. ข้อสำคัญ คือ ใครรู้ว่าภาษาพรหมเป็นอย่างนั้น เป็นความตื่นเต้นในสิ่งที่ท่านไม่สามารถจะเข้าใจได้ แม้แต่เรื่องของเทวดามาจริงหรือไม่จริง ใครเป็นคนรู้ว่าเป็นเทวดาหรือเปล่า หรือว่าเขียนบทให้เทวดา แต่ว่าในครั้งโน้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลท่านรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ผู้ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว เทวดามาจริง พูดจริง ไม่ใช่เขียนบทให้เทวดาพูด หรือว่า ไม่ใช่หลอกตัวเองว่าเทวดามา

    ควรที่จะให้ถึงธรรมที่น่าอัศจรรย์ข้อที่ ๖ ของอุคคคฤหบดี คือ ความเป็นผู้มีจิต เสมอกัน กิจของพุทธบริษัทควรเป็นอะไร ไม่ใช่ควรตื่นเต้นกับเทวดา แต่ควรเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ข้อต่อไป

    อุคคคฤหบดีกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่น่าอัศจรรย์ที่เทวดาทั้งหลายเข้ามาหากระผม แล้วบอกว่า ดูกร คฤหบดี ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว เมื่อเทวดาทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว กระผมจึงได้พูดกับเทวดาเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านจะพึงบอกอย่างนี้ หรือไม่พึงบอกอย่างนี้ก็ตาม แท้ที่จริงธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว แต่กระผมก็ไม่รู้สึกเลยว่า ความฟูใจจะมีมาแต่เหตุนั้นที่เทวดาทั้งหลายเข้ามาหากระผม หรือกระผมได้ปราศัยกะเทวดาทั้งหลาย นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๗ ของกระ ผมที่มีอยู่

    ข้อนี้ก็โดยนัยเดียวกัน คือ การที่เทวดาจะมาสนทนา หรือว่าจะมาบอกกับท่านว่า ธรรมพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ถึงแม้ว่าท่านจะได้พูดกับเทวดาเหล่านั้น ก็ไม่ใช่ธรรมที่น่าอัศจรรย์ แต่ข้อที่น่าอัศจรรย์ คือ ท่านไม่รู้สึกเลยว่าความฟูใจจะมีมาแต่เหตุนั้น คือ ไม่รู้สึกเลยว่าจะมีความฟูใจ ทะนงตนว่า เป็นผู้ที่เทวดาไปหา ถ้าเกิดจะมีเทวดามาพูดกับท่าน ท่านจะเป็นอย่างไร ฟูใจ ดีใจ ใช่ไหม เป็นคนสำคัญเทวดาจึงมา เทวดาต้องไปหาคนที่สำคัญ อย่าลืมว่า เป็นเทวดาหรือไม่ใช่เทวดาแต่ใจของท่านนั้นอยากจะให้เป็นเทวดา ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะความติดในความเป็นตัวตน เหนียวแน่นหนา แน่นมากทีเดียว

    บางท่านสนใจเหลือเกินที่จะรู้อดีตชาติว่า ชาติก่อนนี้เคยเป็นอะไร นั่นเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่ตัวตนที่ไปโยง ไปผูกไว้ด้วยความสำคัญตน ด้วยความยึดถืออย่างเหนียวแน่นตลอดชีวิต ตลอดชาตินี้ก็เป็นตัวตนมาตลอด แต่ยังไม่พอ อยากจะได้เกี่ยวข้องผูกพันเป็นลูก เป็นหลาน ของเทพ ของพรหม ทำไมจะต้องเป็นลูก เป็นหลาน ของเทพ ของพรหม หรือว่าทำไมจะต้องไปสนใจรู้ว่าชาติก่อนๆ นั้นเป็นอะไร ถ้ามีคนบอกว่าชาติก่อนนี้เป็นอะไร เป็นลูกคนนั้น เป็นหลานคนโน้น เป็นลูกของเทวดาท่านนั้น เป็นหลานของพรหมท่านนี้ สนใจไหม ในภพในชาตินี้มีใครบ้างที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องกัน เทวดาหรือพรหมก็มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทำไมจะต้องมานั่งฟูใจด้วยการเป็นบุตรคนโน้น เป็นหลานคนนี้ หรือว่าเป็นบุตรของเทพท่านนั้น เป็นหลานของพรหมท่านนี้

    สำหรับพระอริยบุคคล ท่านรู้ว่าในอดีตชาติท่านเป็นอะไรก็จริง แต่ท่านละความยึดถือแม้นามรูปว่าเป็นตัวตนหมดสิ้น เพราะฉะนั้น ท่านไม่มีเยื่อใยที่จะไปผูกพันในบุคคลที่ท่านรู้ว่าชาติก่อนนี้เคยเป็นอะไร เกี่ยวข้องผูกพันกับท่านในสถานใด

    ขุททกนิกาย ชาดก มีข้อความว่า

    แม้ท่านพระเทวทัต ก็เคยเป็นพระราชบิดาของพระผู้มีพระภาคในพระชาติที่ทรงเป็นปทุมราชกุมาร ในมหาปทุมชาดก

    ในภิสชาดก พระผู้มีพระภาค ท่านพระสารีบุตร ท่านมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระปุณณะ และท่านพระอานนท์ เป็น ๗ พี่น้อง ท่านพระอุบลวรรณาเป็นน้องสาว ขุชชุตตราเป็นทาสี จิตตคฤหบดีเป็นทาส

    แต่เมื่อท่านเหล่านั้นเป็นพระอริยบุคคล ท่านไม่ได้เหลือเยื่อใยที่จะยึดถือนามใด รูปใดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    ในมหานารทกัสสปชาดก พระเจ้าอังคติราช ซึ่งเป็นพระราชาของวิเทหรัฐ ผู้มีความเห็นผิดในกาลครั้งนั้น เป็นท่านพระอุรุเวลกัสสปในกาลครั้งนี้ ท่านพระอานนท์เป็นพระนางรุจาราชธิดา อำมาตย์ ๓ คนของพระเจ้าอังคติราช คือ วิชยอำมาตย์ ก็เป็นท่านพระสารีบุตรในครั้งนี้ สุนามอำมาตย์ ก็เป็นท่านพระภัททชิในครั้งนี้ อลาตเสนาบดี ก็เป็นท่านพระเทวทัตในครั้งนี้

    ท่านจะเห็นการพัฒนาจิตของบุคคลตั้งแต่ครั้งโน้น ก่อนที่จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะได้เป็นพระอัครสาวก ก่อนที่จะได้เป็นพุทธสาวกว่า ท่านจะต้องมีความเห็นถูก และสะสมบุญกุศลมากมายเหลือเกิน ก่อนที่จะได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ข้อความบางตอน ใน มหานารทกัสสปชาดก มีว่า

    คืนวันเพ็ญ ในปฐมยาม พระเจ้าอังคติราชตรัสว่า ในวันเพ็ญ เดือน ๑๒ เช่นนี้ พระจันทร์แจ่มกระจ่าง กลางคืนวันนี้ เราทั้งหลายพึงยังฤดูเช่นนี้ให้เป็นไปด้วยความยินดีอะไร

    เป็นชีวิตปกติของท่านในครั้งนี้ก็ได้ คือ ในคืนวันเพ็ญท่านจะทำอะไรที่จะให้เกิดความแช่มชื่นยินดี เหมือนในครั้งนั้นที่พระเจ้าอังคติราชตรัสว่า ในวันเพ็ญ เดือน ๑๒ เช่นนี้ พระจันทร์แจ่มกระจ่าง กลางคืนวันนี้ เราทั้งหลายพึงยังฤดูเช่นนี้ให้เป็นไปด้วยความยินดีอะไร

    อลาตเสนาบดี ซึ่งเป็นท่านพระเทวทัตในชาตินี้ กราบทูลว่า ขอให้นำชายฉกรรจ์ออกรบ ขอให้ทรงรื่นรมย์ด้วยการรบ

    สุนามอำมาตย์ ซึ่งเป็นท่านพระภัททชิในชาตินี้ กราบทูลว่า ขอให้ทรงรื่นรมย์ด้วยกามคุณ ในการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคม

    นั่นในครั้งโน้น ครั้งนี้ชีวิตของท่านอยากจะทำอะไร เดือนหงาย สว่าง สบาย อากาศเย็นดี จะทำอะไรกันดี ขอให้คิดดู ซึ่งตามความเป็นจริงของชาวโลกในปัจจุบันนี้ย่อมยินดีที่จะรื่นรมย์ด้วยกามคุณ ด้วยข้าว ด้วยน้ำ ด้วยอาหาร ด้วยความสนุก ด้วยเพลง ด้วยดนตรี ด้วยการฟ้อนรำ ด้วยการประโคม ถ้ายังเป็นอย่างนี้ ก็เหมือนบุคคลในครั้งโน้น ซึ่งเพิ่งเริ่มพัฒนาให้จิตได้รู้แจ้งสภาพธรรมจนกระทั่งได้เป็นพระ อริยเจ้าในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดม แต่ว่าในครั้งโน้นท่านก็มีความคิดเห็นอย่างนั้น

    วิชยอำมาตย์ ซึ่งในครั้งนี้ได้เป็นท่านพระสารีบุตร ได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระมหาราชา กามคุณทุกอย่างบำเรอพระองค์อยู่เป็นนิจแล้ว การทรงเพลิดเพลินด้วยกามคุณทั้งหลาย พระองค์ทรงหาได้โดยไม่ยากเลย ทรงปรารถนาก็ได้ทุกเมื่อ การรื่นรมย์ด้วยกามคุณทั้งหลายนี้ ไม่ใช่เป็นความคิดของข้าพระบาท วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันไปหาสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เป็นพหุสูตร รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ ซึ่งท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราดีกว่า

    เคยรู้สึกอย่างนี้บ้างไหม ท่านพระสารีบุตรซึ่งเป็นพระอัครสาวกในครั้งนี้ เริ่มพัฒนาจิตของท่านตั้งแต่ในครั้งนั้น ซึ่งอลาตเสนาบดี คือ ท่านพระเทวทัตในครั้งนี้ก็ได้ทูลแนะนำให้ไปหาคุณาชีวกกัสสปโคตร ผู้มีความเห็นผิดว่า บุญบาปไม่มี โลกอื่นไม่มี ผลของทานไม่มี และความเห็นผิดประการอื่นๆ อีกหลายอย่าง และกล่าวว่า ทาน คนโง่บัญญัติไว้ คนฉลาดรับทาน คนโง่สำคัญตัวว่าฉลาด เป็นผู้ไม่มีอำนาจ ย่อมให้ทานแก่นักปราชญ์ทั้งหลาย ซึ่งคำกล่าวของคุณาชีวกกัสสปโคตรนั้น เป็นที่ชอบใจของอลาตเสนาบดีอย่างยิ่ง ซึ่งทำให้พระเจ้าวิเทหราชหลงเชื่อ ใส่ใจในกามคุณยิ่งขึ้น และยังรับสั่งให้ทุกคนใส่ใจในกามคุณให้มาก แต่พระนางรุจาราชธิดาเป็นผู้มีความเห็นถูก ซึ่งเป็นท่านพระอานนท์ในชาตินี้ ได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระราชบิดา บุคคลคบคนเช่นใดๆ เป็นบุรุษผู้มีศีล หรืออสัตบุรุษ ผู้ไม่มีศีล เขาย่อมตกอยู่ในอำนาจของผู้นั้น บุคคลกระทำตนเช่นใดให้เป็นมิตร และเข้าไปคบหาคนเช่นใด แม้เขาก็ย่อมเป็นเช่นคนนั้น ผู้เสพย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนเสพ ผู้ติดต่อ ย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนติดต่อ เหมือนลูกศรอาบยาพิษ ย่อมเปื้อนแร่ง ฉะนั้น

    นักปราชญ์ไม่ควรเป็นคนมีคนลามกเป็นสหาย เพราะกลัวจะแปดเปื้อน การเสพคนพาล ย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อปลาเน่า แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ฉะนั้น

    ส่วนการคบหาสมาคมกับนักปราชญ์ ย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อของหอม แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นหอมฟุ้งไป ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ความเป็นบัณฑิตของตน ดังใบไม้สำหรับห่อ จึงไม่คบหาสมาคมอสัตบุรุษ คบหาสมาคมสัตบุรุษ อสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมให้ถึงสุคติ

    นี่เป็นถ้อยคำของพระนางรุจาราชธิดา ซึ่งท่านก็จะต้องสะสมเจริญกุศล เจริญ อินทรีย์บารมีจนกว่าจะแก่กล้า และบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้

    ธรรมที่น่าอัศจรรย์ของท่านอุคคคฤหบดียังเหลืออีก ๑ ข้อ คือ ข้อที่ ๘

    ท่านอุคคคฤหบดีกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็หากว่ากระผมจะพึงทำกาละก่อนพระผู้มีพระภาค (หมายความว่า ถ้าท่านสิ้นชีวิตก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพาน) ก็ไม่น่าอัศจรรย์ที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า สังโยชน์อันเป็นเครื่องประกอบให้อุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคาม พึงกลับมาสู่โลกนี้อีกไม่มี นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๘ ของกระผมที่มีอยู่

    ข้อนี้เป็นการพยากรณ์อนาคามิผลของท่าน หมายความว่า ท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีแล้ว

    ท่านอุคคคฤหบดีกล่าวต่อไปว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้แลของกระผมที่มีอยู่ แต่กระผมก็ไม่รู้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์กระผมว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ เป็นไฉน

    คือ ท่านทราบจากพระภิกษุรูปนั้นว่า พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านว่า เป็นผู้ที่มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ๘ ประการก็จริง แต่ท่านไม่ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่าธรรมที่น่าอัศจรรย์ ๘ ประการของท่านนั้นคืออะไรบ้าง แต่ท่านทราบตามความเป็นจริงของท่านว่า ๘ ประการที่ท่านได้กล่าวกะภิกษุรูปนั้น เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ของท่าน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ลำดับนั้น ภิกษุนั้นรับบิณฑบาตในนิเวศน์ของอุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคามแล้ว ลุกจากที่นั่งแล้วหลีกไป ภายหลังภัตรกลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระ ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลคำสนทนาปราศรัยกับอุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคามนั้นทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ ถูกแล้วๆ อุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคาม เมื่อจักพยากรณ์ พึงพยากรณ์ตามนั้นโดยชอบ

    ดูกร ภิกษุ เราพยากรณ์อุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคามว่า เป็นผู้ที่ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้แล แล้วเธอทั้งหลายจงทรงจำอุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคามว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้

    ทำไมพระผู้มีพระภาคจะให้ทรงจำคุณธรรมที่น่าอัศจรรย์ของท่านอุคคคฤหบดีไว้ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ แต่เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก และเป็นตัวอย่างแก่อุบาสก อุบาสิกา แก่พุทธบริษัทในครั้งหลังๆ เพื่อประโยชน์ของพุทธบริษัท รวมทั้งในความยำเกรง ความนอบน้อม ความเคารพในสงฆ์ด้วย

    ความยำเกรง ความนอบน้อม ความเคารพในสงฆ์ ก็เพื่อประโยชน์ของ พุทธบริษัท เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง พระธรรมวินัยทั้งหมดไม่ใช่เพื่อให้เกิดอกุศลจิต แต่ว่าเป็นไปเพื่อการขัดเกลายิ่งขึ้น

    ข้อความบางตอนใน มหาสุตโสมชาดก มีว่า

    ก็พระเจ้าสุตโสมนั้น ทรงพ้นจากเงื้อมมือของพระเจ้าโปริสาทแล้ว พระเจ้า โปริสาทก็เป็นพระราชาที่ชอบเสวยเนื้อมนุษย์ ถูกขับไล่ออกจากเมือง แต่ก็จับพระเจ้าสุตโสมได้ ก็พระเจ้าสุตโสมนั้นทรงพ้นจากเงื้อมมือของพระเจ้าโปริสาทแล้ว การที่พระเจ้าสุตโสมนั้นทรงพ้นจากเงื้อมมือของพระโปริสาทได้นั้น ก็เพราะถ้อยคำที่พระองค์ตรัสกับพระเจ้าโปริสาท เมื่อพระเจ้าสุตโสมทรงพ้นจากเงื้อมมือของพระเจ้าโปริสาทแล้ว ได้เสด็จไปตรัสกับพราหมณ์นั้นว่า

    ดูกร ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าขอฟังสตารหาคาถา ซึ่งได้ฟังแล้วจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ข้าพเจ้า

    สำหรับ สตารหาคาถา นั้น เป็นคาถาที่มีค่าควรร้อย ซึ่งแสดงจำนวนของการเปรียบเทียบให้เห็นคุณค่าของคาถานั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙ ตอนที่ ๑๘๑ – ๑๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 36
    28 ธ.ค. 2564