แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235


    ครั้งที่ ๒๓๕


    สุ. รูปที่กายเหมือนกับรูปภายนอกทุกประการ คือ รูปภายนอกไม่ใช่สภาพรู้ ฉันใด รูปที่กายทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรมเหมือนกัน แต่ว่าปรากฏความต่างกันเพราะเกิดจากสมุฏฐานต่างกัน

    ที่กายมีรูปที่เกิดจากกรรม เช่น จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ซึ่งรูปภายนอกนั้นไม่มี เพราะว่าไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปที่กายเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดขึ้นเพราะอุตุเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี เพราะฉะนั้น ทำให้รูปที่กายนี้เป็นรูปที่มีชีวิต มีความอ่อน มีความเบา มีความควรแก่งานผิดกับรูปภายนอกซึ่งเกิดเพราะอุตุ ไม่ใช่เกิดเพราะกรรม ไม่ใช่เกิดเพราะจิต ไม่ใช่เกิดเพราะอาหาร และเพราะมีจิตเป็นสมุฏฐานจึงทำให้รูปที่กายนี้เคลื่อนไหวเป็นอิริยาบถ เป็นกายวิญญัติ เป็นวจีวิญญัติได้ แต่รูปภายนอกนั้นไม่มีจิตที่จะทำให้มีความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงานที่จะให้เคลื่อนไหวไปได้ ถ้าใจอยากจะยกรูปนั้น ก็ยกรูปนั้นขึ้นได้ด้วยความต้องการ เช่นเดียวกับที่ต้องการจะให้รูปนี้ไหวไปก็ได้ด้วยอำนาจของความต้องการ

    บางทีท่านผู้ฟังอาจจะลืมคิดถึงเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำให้ดูเหมือนกับว่าจิตจะสั่งได้ เมื่อปรารถนาอย่างไรก็ให้สภาพนั้นเกิดขึ้นตามความปรารถนา แต่ว่าท่านที่ไม่ได้เจริญอภิญญาหรืออิทธิปาฏิหาริย์ ไม่ได้บำเพ็ญฌานสมาบัติที่จะให้จิตมีพลังมีกำลังที่ว่า เมื่อมีความปรารถนาอย่างใด รูปนั้นก็เกิดขึ้นตามความปรารถนานั้น ด้วยกำลังของจิตที่มั่นคงในสมาธิ

    เพราะฉะนั้น ท่านที่ไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ ไม่มีอภิญญา จึงไม่สามารถที่จะให้รูปต่างๆ เป็นไป หรือเกิดขึ้นตามความต้องการของจิตได้ แต่แม้กระนั้นก็ไม่ใช่จิตสั่ง ผู้ที่ต้องการอิทธิปาฏิหาริย์จะต้องรู้วิธีว่า จะทำอย่างไรให้สมาธิมั่นคง มีความชำนาญแคล่วคล่องอย่างไร จึงสามารถที่จะเป็นปัจจัยทำให้เมื่อความปรารถนาอย่างใดเกิดขึ้น รูปนั้นก็เกิดได้ เหาะก็ได้ เดินบนน้ำก็ได้ เพราะมีสมาธิที่เป็นอภิญญา ที่ฝึกหัดช่ำชองแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดได้ แต่ไม่ใช่เพราะสั่ง ถ้านั่งสั่งอย่างนี้ อย่างไรๆ ก็เหาะไม่ได้

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า ปกติท่านก็มีสติได้ ขณะที่มีสตินั้นก็รู้ลักษณะของนาม หรือของรูป แต่ไม่ถึงขั้นที่จะรู้ว่า ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน รู้สึกว่าเป็นการยากที่จะถึงขั้นที่รู้จริงๆ ว่าสภาพของนามธรรมที่กำลังปรากฏ สภาพของรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน และบางคราวก็รู้สึกว่าดี ที่ว่าดีคือ ปัญญาค่อยๆ น้อมไป โน้มไปรู้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่บางครั้งปัญญาก็หายไปหมด กลับมาหนาแน่นด้วยความยึดถือสภาพนามธรรมและรูปธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เป็นไปได้ไหมอย่างนี้ หรือว่าเป็นอยู่เสมอ ก็ต้องเป็นอยู่เสมอจนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้น เป็นความรู้ชัดในสภาพนามธรรมและรูปธรรมเป็นขั้นๆ จริงๆ และวิปัสสนาญาณนั้นก็มีหลายขั้น ถ้ายังไม่ถึงขั้นที่จะประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรม ความรู้ก็ต้องตามขั้นที่วิปัสสนาญาณเกิด หมายความว่า ถ้าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณรู้ความต่างกันจริงๆ ในลักษณะที่เป็นนามธรรมที่ไม่ใช่รูป ไม่มีรูปสักรูปเดียวที่จะเป็นสภาพของนามธรรมได้ เพราะเหตุว่าสภาพของนามธรรมนั้นเป็นแต่เพียงสภาพรู้เท่านั้น และรู้ลักษณะของรูปธรรมแต่ละรูปตามความเป็นจริงในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ความรู้นี้ไม่ลืม แต่เมื่อปัญญายังไม่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นวิปัสสนาญาณที่สูงขึ้น ความเป็นตัวตนหรือความพอใจยึดถือนามธรรมและรูปธรรมก็มีได้ จนกว่าจะถึงที่สุด คือ โสตาปัตติมัคคญาณ

    ท่านผู้ฟังจะเห็นความละเอียด และความลึกของการยึดถือนามธรรมและรูป ธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล โดยมากเวลาที่ท่านผู้ฟังเจริญสติและมีปัญญาระลึกได้ว่า สภาพนั้นเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ตรงลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ท่านอาจจะคิดว่า รู้ได้มากแล้ว หลายนาม หลายรูป แต่ขอให้เผชิญกับชีวิตปกติธรรมดา ประจำวัน เหตุการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทุกอย่าง เพราะว่าเหตุการณ์ในชีวิตของแต่ละท่าน ก็มีเหตุการณ์มากมายหลายอย่าง บางทีก็เต็มไปด้วยความโสมนัสรื่นเริง พบปะบุคคลมากหน้าหลายตา บางครั้งก็มีเรื่องกังวล เรื่องความห่วงใย เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เรื่องความเดือดร้อนของบุคคลที่ใกล้ชิดบ้าง หรือของตัวท่านเองบ้าง เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ขอให้ท่านได้รู้ความจริงว่า สติและปัญญาของท่านมากพอที่จะรู้ว่าลักษณะนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนหรือไม่

    เผชิญกับศัตรูที่แข็งกร้าว มีกำลังแรง หรือจะมีโสมนัสมาก มีเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นดีใจ เป็นไปในทางลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ความรู้ที่ว่ามีพอสมควรนั้น ก็หายไปหมดในขณะนั้น นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าความลึก ความเหนียวแน่นของการเห็นผิดที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เหนียวแน่นสักแค่ไหน

    ทั้งๆ ที่ท่านก็รู้บางนามบางรูป แต่พอเผชิญกับเหตุการณ์จริงๆ ปัญญาพอไหมที่จะรู้และไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่พอ เพราะฉะนั้น ท่านที่เจริญปัญญาจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่หลงผิดว่าท่านรู้มากมาย กำลังจะเป็นพระอริยบุคคลในวันนี้ พรุ่งนี้

    ฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นการเจริญเป็นปกติ เพื่อให้ปัญญามีกำลังที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นโลกธรรมฝ่ายดี หรือฝ่ายเสื่อม ไม่ว่าจะเป็นขณะไหน สติก็สามารถที่จะระลึกได้ และปัญญาก็รู้ชัดว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ไม่ใช่เป็นการไปหลอกลวง หรือไปเข้าใจว่ารู้ แต่ว่าปกติไม่รู้ นี่จึงเป็นเหตุที่การเจริญสติปัฏฐานต้องเจริญเป็นปกติ เพื่อมีกำลังพอที่จะต่อสู้กับกิเลสที่เคยยึดถือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ให้รู้ชัดว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้จริงๆ

    นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นการสอบจิตใจ ความรู้ สติปัญญาของท่านผู้ฟังให้เห็น กำลังความเหนียวแน่นของความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน พิสูจน์ได้ใช่ไหม รู้ได้ใช่ไหมว่า ตัวตนยังมากมายเหลือเกิน หรือว่าน้อยไปมากแล้ว

    จะรู้ได้อย่างไรว่าน้อยลง เครื่องวัดคือวิปัสสนาญาณ ถ้ายังไม่ถึงก็กลับไปกลับมาอย่างนี้ บางครั้งก็รู้สึกว่ารู้ แต่บางครั้งก็ไม่ทราบสติปัญญาหายไปไหนหมด เป็นตัวเป็นตนจริงๆ แต่ถ้าเป็นการอบรมเจริญสติระลึกรู้สภาพธรรมทั้งปวงไม่เว้น หรือว่าไม่คิดที่จะเว้น ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ ไม่ว่าขณะไหน ไม่ว่าสถานที่ใด อบรมจนชินก็สามารถที่จะมีกำลัง และไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ จะเกิดขึ้น ปัญญาก็มีกำลังกล้าที่จะรู้ แทงตลอดได้ว่า สภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ

    . เป็นประสบการณ์ประมาณ ๑๐ ปีที่แล้ว จิตเข้าไปลิ้มรสที่เป็นปัจจุบันให้รู้ว่ามีหนึ่งเท่านั้น และเข้าไปพิจารณาเห็นว่า เป็นของไม่เที่ยง เมื่อจิตนั้นเป็นอัตโนมัติดับไปแล้ว จะเกิดเป็นทุกข์ขึ้น เป็นอัตโนมัติ และดับเป็นอนัตตา ละเอียดขึ้นซึ่งจะพูดกันในที่นี้พูดไม่ได้ เป็นเรื่องของภาวะ อยากจะเรียนถามว่า ประสบการณ์อย่างนั้นจะฝังอยู่ในจิตหรือไม่

    สุ. ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ทราบไหมว่า ไม่ใช่ตัวตน

    ถ. ภาพที่ประทับอยู่ไม่ใช่ครับ

    สุ. มิได้ กำลังเห็นขณะนี้ ธรรมดาปกติอย่างนี้ ทราบไหมว่าไม่ใช่ตัวตน ถ้ายังเป็นตัวตนอยู่ ก็ไม่ต้องสนใจกับอะไรที่เกิดขึ้นและดับไปนั้นเลย เพราะเหตุว่าการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ยังไม่พอที่จะให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ถ้าขณะนี้ไม่สามารถรู้ได้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมหรือรูปธรรม ถ้ายังไม่มีความรู้เบื้องต้นอย่างนี้ ก็ไม่ต้องไปสนใจกับอะไรที่จะเกิดดับเลย

    ถ. ปรากฏการณ์ที่เกิดกระทบอย่างนี้ ถ้าเราไม่สนใจจะได้ไหม

    สุ. เริ่มเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ กำลังเห็นธรรมดารู้หรือยัง กำลังได้ยินขณะนี้ รู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ทางหูว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน รู้เสียงที่กำลังปรากฏว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏชนิดหนึ่ง และก็ทิ้งไป หมดไป ไม่มีเยื่อใยที่จะไปต้องการนามธรรมและรูปธรรมอะไรเลย นั่นจึงจะเป็นการเจริญปัญญาเพื่อรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของนามธรรมและรูปธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปด้วยความรู้ชัดได้จริงๆ

    ถ. แต่ต้องเจริญอีก

    สุ. แน่นอนที่สุด เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องของการละความที่เคยยึดถือการเห็น การได้ยิน ความสุข ความทุกข์ ความโกรธ ความริษยา ความตระหนี่ อกุศลใดๆ กุศลใดๆ ที่เกิดกับตนเองในวันหนึ่งๆ ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน สติจะต้องระลึก และรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพนามธรรม เป็นแต่เพียงสภาพรูปธรรมแต่ละชนิด และไม่เยื่อใยด้วยความเคยชิน ด้วยความรู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่เป็นการไปรู้อย่างอื่นมาปิดบัง กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่รู้ไม่ได้

    เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องการระลึกได้ และเป็นการรู้ตรงลักษณะที่เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม แม้แต่เพียงชั่วขณะเล็กน้อย เป็นต้นว่า ขณะที่รู้เรื่องและระลึกได้ว่า ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งและก็หมดไป และก็มีนามธรรมอื่นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าระลึกได้บ่อยๆ เนืองๆ แม้ว่าทีละเล็กทีละน้อย แต่ว่าเป็นสัมมาสติ เป็นสัมมาทิฏฐิ ก็จะทำให้สามารถประจักษ์ในความที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของนามธรรมและรูปธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้รู้ได้

    ข้อสำคัญที่สุด คือ ลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏเป็นปกติ

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็มีมากมาย ทำไมสติไม่ระลึกรู้ตามปกติ อุตส่าห์ไปขุดค้นอะไรก็ไม่ทราบ จะให้รู้ให้ได้ในลักษณะของสิ่งที่ไม่ได้ปรากฏตามปกติทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นคือพยายามไปหาอย่างอื่นขึ้นมารู้ แทนที่จะระลึกรู้ลักษณะนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ไปขุดค้นหานามอื่นรูปอื่น เพราะเหตุว่ามีนามมีรูปที่กำลังปรากฏอยู่แล้วทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงเรื่องกิจของจิต กิจของจิตมี ๑๔ กิจ ชีวิตทุกขณะก็เป็นแต่เพียงจิตที่เกิดขึ้นกระทำกิจชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป สืบต่อกันไป

    จิตทั้งหมดมี ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภทโดยพิเศษนั้น จะกระทำกิจเพียง ๑๔ กิจ และการที่จิตทั้งหมดมี ๑๔ กิจนั้น ไม่ได้หมายความว่าจิตทุกดวงกระทำกิจทั้ง ๑๔ กิจ จิตบางประเภททำได้กิจเดียว บางประเภททำได้ ๒ กิจ บางประเภททำได้ ๓ กิจ

    กิจแรกที่สุด คือ ปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำกิจสืบต่อจากจิตดวงสุดท้ายของภพก่อนชาติก่อน ซึ่งภพก่อนชาติก่อนทุกท่านจะอยู่ที่ไหน ท่านอาจจะเกิดบนสวรรค์ หรือเป็นรูปพรหมบุคคล หรือเป็นบุคคลในอบายภูมิก็ได้ เมื่อจุติจิตชาติก่อนทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนั้นแล้ว กิจแรกของจิตในชาตินี้ คือ ปฏิสนธิกิจ

    จิตดวงนี้โดยชาติ ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต แต่เป็นผลของกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม เพราะฉะนั้น จิตที่ทำกิจปฏิสนธิเป็นจิตประเภทวิบาก และกรรมที่ทำกันไว้แล้วก็มากมายเหลือเกิน มีทั้งอกุศลกรรมและกุศลกรรม

    ซึ่งปฏิสนธิจิตในชาตินี้ ในภูมิมนุษย์ เป็นกุศลวิบาก เป็นไปตามเหตุปัจจัยว่า กรรมใดจะให้ผลทำให้ปฏิสนธิเป็นบุคคลใด ในภพใด ก็เป็นบุคคลนั้นในภพนั้น และเมื่อปฏิสนธิแล้ว ก็มีกรรมอื่นที่จะอุปถัมภ์ หรือจะเบียดเบียน หรือจะตัดรอน นี่เป็นเรื่องของกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว

    จิตที่ทำกิจปฏิสนธิทั้งหมดมี ๑๙ ดวง

    ในอบายภูมิ ในมนุษย์ภูมิ ในสวรรค์ ในรูปพรหมภูมิ ในอรูปพรหมภูมิ จิตที่ทำกิจปฏิสนธิของแต่ละบุคคลก็เป็นจิตดวงหนึ่งใน ๑๙ ดวง ซึ่งกระทำกิจปฏิสนธิ

    สำหรับวิบากจิตที่ทำกิจปฏิสนธิที่เป็นผลของอกุศล คือ อกุศลวิบาก ๑ ดวง แม้อกุศลจิตซึ่งกระทำอกุศลกรรมมีถึง ๑๒ ดวง หรือ ๑๒ ประเภท แต่เมื่อเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นนั้น ทำให้เกิดวิบากจิตได้เพียง ๗ ดวงเท่านั้น น้อยใช่ไหมเพียง ๗ ดวง แต่ไม่มีใครชอบเลย

    สำหรับ ๗ ดวง ได้แก่

    ทางตา จักขุวิญญาณ เห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง

    ทางหู ได้ยินเสียงที่ไม่ดี

    ทางจมูก ได้กลิ่นที่ไม่ดี

    ทางลิ้น ลิ้มรสที่ไม่ดี

    ทางกาย ได้รับโผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว สัมผัสที่ไม่สบาย

    เป็นอกุศลวิบากที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ ดวงแล้ว

    และมีสัมปฏิจฉันนะ ซึ่งกรรมทำให้เมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ลิ้มรสแล้ว ได้รับโผฏฐัพพะแล้ว ดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อ รับอารมณ์นั้นต่อ คือ สัมปฏิจฉันนจิต ทำกิจสัมปฏิจฉันนะ และก็ดับไป เป็นดวงที่ ๖

    ดวงที่ ๗ คือ สันตีรณจิต พิจารณาอารมณ์นั้นต่อจากสัมปฏิจฉันนะ นี่คือผลของอกุศลกรรมทั้งหมด มีเพียง ๗ ดวงเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ปฏิสนธิ จักขุวิญญาณทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ โสตวิญญาณทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ อกุศลวิบากจิตที่ทำกิจปฏิสนธิได้ คือ สันตีรณจิต ไม่ว่าจะเกิดในนรก เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ถ้าเป็นอบายภูมิแล้ว ปฏิสนธิด้วย อกุศลวิบากสันตีรณจิต

    ผู้ที่ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ไม่ใช่ปฏิสนธิด้วยจิตดวงนี้ สำหรับกุศลที่ท่านกระทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทาน เป็นศีล เป็นการเจริญภาวนา แต่ว่ายังไม่ถึงฌานจิต ไม่ถึงรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล หรือยังไม่ถึงโลกุตตรกุศล ท่านกระทำกุศลด้วยจิตที่เป็นมหากุศลหรือกามาวจรกุศล เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยมหากุศลจิต ๘ ดวง แต่เวลาที่ทำให้เกิดวิบากจิต มหากุศลจิต ๘ ดวงทำให้เกิดวิบากได้ถึง ๑๖ ดวง

    เพราะฉะนั้น จิตที่ทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ ถ้าเป็นผลของกามาวจรกุศลแล้ว ก็ทำให้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในมนุษย์ภูมิ ๑ หรือเป็นเทพในสวรรค์ ๖ ชั้น ๑ ซึ่งจิตที่ปฏิสนธิในภูมิที่เป็นสุคติภูมิที่เป็นกามาวจรนั้น ทั้งหมดมี ๙ ดวง คือ มหาวิบาก ๘ ดวง และอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากอีก ๑ ดวง

    ที่เป็นอย่างนี้เพราะเวลาที่ท่านทำกุศล บางครั้งท่านทำด้วยเจตนา ความตั้งใจที่ผ่องใส ที่บริสุทธิ์ มีการคิด มีการเกิดความปีติ แต่บางครั้งใครผ่านมา หรือว่าผ่านบุคคลที่ท่านควรจะสงเคราะห์ ท่านก็เพียงสงเคราะห์ ไม่ได้เกิดความปีติ กุศลจิต อย่างนั้นเป็นกุศลจิตที่อ่อนมาก ถึงแม้จะให้ผลทำให้เกิดเป็นมนุษย์ในสุคติภูมิ หรือในสวรรค์ชั้นต่ำ คือ ชั้นจาตุมหาราชิกา ก็มีอกุศลกรรมเบียดเบียนได้มาก เพราะเหตุว่าเป็นกุศลที่อ่อน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยผลของกุศลอย่างอ่อนจึงปฏิสนธิในมนุษย์ภูมิ แต่เป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด หรือในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา จึงปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน

    นี่เป็นการจำแนกสัตว์โลกซึ่งเกิดในสุคติภูมิ เหมือนกันก็จริง แต่เพราะความ วิจิตรของจิต ด้วยผลของกุศลอย่างอ่อน หรือว่าด้วยผลของกุศลที่มีกำลัง ก็จำแนกบุคคลเหล่านั้นให้ต่างกันตั้งแต่ปฏิสนธิ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๔ ตอนที่ ๒๓๑ – ๒๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 36
    28 ธ.ค. 2564