แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๔ ตอนที่ ๒๓๑ – ๒๔๐

แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๔ ตอนที่ ๒๓๑ – ๒๔๐
โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า ปกติท่านเคยเจริญสมาธิ และเพิ่งเริ่มสนใจในการเจริญสติปัฏฐาน ตอนแรกๆ ท่านฟังแล้วก็ไม่เข้าใจว่า ลักษณะของสติเป็นอย่างไร ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ แต่หลังจากที่ท่านได้ฟัง ได้พิจารณาไตร่ตรอง ท่านก็ทราบว่า ขณะที่มีสตินั้น คือ ขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะเป็นลักษณะของเสียง ของกลิ่น ของอ่อน ของแข็ง ของเย็น ของร้อน ของเห็น ของคิดนึก ของสุข ของทุกข์ ของพอใจ ไม่พอใจ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะต่างๆ กัน เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด แต่เพราะเหตุว่าท่านเคยเจริญสมาธิมาก่อนมาก และนานแล้วด้วย เพราะฉะนั้น ท่านก็มีนโยบายที่จะให้สติเกิดมากๆ ไม่ให้หลงลืมสติไป โดยท่านท่องพุทโธด้วยในขณะที่จะให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เวลาที่สติหลงลืมไป ท่านก็รู้สึกว่า การที่เคยอบรมเจริญอานาปานสติสมาธิแล้วก็ระลึกถึงพุทโธ ทำให้จิตไม่ไปที่อื่น เพราะฉะนั้น ท่านก็ระลึกถึงพุทโธเพื่อไม่ให้สติขาดไป อย่างนี้จะถูกหรือจะผิด

มีความต้องการอะไรบ้างหรือเปล่าในขณะนั้น มีความเป็นตัวตนแทรกอยู่หรือเปล่าในขณะที่ต้องการให้สติรู้อยู่ที่สภาพนามธรรมหรือรูปธรรม ให้จิตระลึกถึงคำว่า พุทโธ เพื่อที่จะไม่ให้สติไปที่อื่น เพราะฉะนั้น มีพุทโธสลับคั่นระหว่างที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม อย่างนี้จะผิดหรือจะถูก


หมายเลข  370
เปิด  522
ปรับปรุง  10 พ.ย. 2566