แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 234

ถ้าอารมณ์เป็นสี จะต้องกระทบกับจักขุปสาท ถ้าผู้ใดไม่มีจักขุปสาทก็ไม่เห็น เพราะฉะนั้น ก่อนที่จิตเห็นจะเกิดขึ้น รูปารมณ์หรือสีก็ต้องกระทบกับจักขุปสาท ซึ่งทำให้จิตที่เป็นภวังค์ไหว เพราะเหตุว่ากำลังจะเปลี่ยนอารมณ์ ซึ่งอารมณ์ของภวังค์นั้นเป็นอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้รู้รส ไม่คิดนึก ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่เวลาที่มีการรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดขึ้น อารมณ์ที่เป็นรูปทางตา เสียงทางหู รสทางลิ้น กลิ่นทางจมูก โผฏฐัพพะทางกาย จะต้องกระทบสัมผัสกับปสาทนั้นๆ ถ้าเป็นทางตา สีจะต้องกระทบกับจักขุปสาท ซึ่งทำให้ภวังค์ไหวเพราะการกระทบนั้น

ภวังค์ที่ถูกกระทบชื่อว่า อตีตภวังค์

เวลาที่รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท ก็กระทบกับอตีตภวังค์ด้วย เมื่ออตีตภวังค์ดับไปเป็นปัจจัยให้ภวังค์ไหวเกิดขึ้นชื่อว่า ภวังคจลนะ

เมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังค์ดวงต่อไปที่เกิดขึ้น คือ ภวังคุปัจเฉทะ เป็นการสิ้นสุดของกระแสภวังค์

เมื่อภวังคุปัจเฉทะซึ่งเป็นภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ดับไปแล้ว จิตดวงต่อไป คือ อาวัชชนจิต ภาษาบาลีใช้คำว่า อาวัชชนจิต ซึ่งแปลโดยศัพท์ว่า รำพึงถึงอารมณ์ แต่คำว่ารำพึงนี้ไม่ใช่มานั่งคิดถึง ใช้คำว่า รำพึง แต่หมายความว่า รู้อารมณ์ที่กระทบทวาร

ความรู้มีเท่านั้นเอง ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่รู้รส ยังไม่รู้โผฏฐัพพะ เพียงแต่ว่าเมื่อมีอารมณ์กระทบปสาท ภวังคจิตดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ คือ ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปทำ อาวัชชนกิจ รำพึง คือ รู้ในลักษณะของอารมณ์ที่กระทบทางทวาร จิตดวงนี้สามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบทั้งทางตาก็ได้ หูก็ได้ จมูกก็ได้ ลิ้นก็ได้ กายก็ได้ ทั้งอารมณ์ที่ประณีตและอารมณ์ที่ไม่ประณีต

โดยชาติ การเกิด จิตดวงนี้ไม่ใช่ วิบากจิต เป็นชาติ กิริยา เพราะสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เมื่อทำกิจ อาวัชชนะ คือ รู้อารมณ์ที่กระทบที่ทวารแล้ว จิตดวงนี้ก็ดับไป

ทุกอุปาทขณะของจิต จะมีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย เว้นจิตเพียง ๑๔ ดวงเท่านั้นที่ไม่มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย คือ จิตที่เห็น จักขุวิญญาณ ๒ ดวง มีกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง กำลังเห็นสิ่งที่ดีๆ เป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก กำลังเห็นสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก

เพราะฉะนั้น จิต ๑๔ ดวงที่เว้น ไม่มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วยนั้น ก็ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายวิญญาณ ๒ ดวง รวม ๑๐ ดวง เป็นจิตที่อ่อนมาก ถ้าท่านทราบถึงปัจจัยให้เกิดจิต ๑๐ ดวงนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่มีกำลังพอที่จะให้รูปเกิดร่วมด้วย

แม้ปฏิสนธิจิตก็ไม่มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย เพราะเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ไม่ใช่เพราะใครสั่ง แต่เพราะเหตุว่าเพิ่งเกิดขึ้นเป็นดวงแรกกำลังยังอ่อน เพราะฉะนั้น ไม่มีกำลังพอที่จะเป็นปัจจัยให้รูปเกิดร่วมด้วย พอถึงจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ คือ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้โผฏฐัพพะ ก็เป็นจิตที่อ่อน กำลังน้อยมาก คือ เวลาที่สีกระทบกับจักขุปสาท เป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณ เกิดที่จักขุปสาทแล้วดับไป กำลังน้อยมาก หรือโสตวิญญาณก็อาศัยเกิดขึ้นเพราะสัททะ คือ เสียง กระทบกับโสตปสาท และก็มีการได้ยิน เป็นธาตุรู้เสียง เกิดขึ้นที่โสตปสาทแล้วก็ดับไป เหมือนกับการขีดไม้ขีดไฟ เวลาที่มีปัจจัยกระทบ ไฟก็เกิดขึ้นนิดเดียวแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ธาตุ คือ เสียงกระทบกับธาตุคือโสตะ ทำให้เกิดธาตุรู้เสียงที่เกิดขึ้นที่โสตปสาทนิดเดียวเท่านั้นแล้วก็ดับไป ไม่มีกำลังที่จะทำอย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้น จิตนี้จึงไม่มีรูปเกิดร่วมด้วย

เพราะฉะนั้น เหตุผลที่ว่า จิตใดมีรูปเกิดร่วมด้วย และจิตใดไม่มีรูปเกิดร่วมด้วย ก็ได้แสดงไว้โดยสภาพของจิตนั้นๆ แต่ไม่ได้มีพยัญชนะบอกว่า เพราะจิตดวงนั้นไม่สั่งให้รูปเกิดขึ้น หรือว่าที่รูปเกิดเพราะจิตดวงนั้นสั่ง

สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิต มีรูปเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าตั้งแต่อุปาทขณะของปฐมภวังค์ และอุปาทขณะของจิตทุกดวง เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ กับ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ เท่านั้นที่ไม่มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย

อรูปาวจรวิบากจิต คือ จิตที่ทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ เป็นผลของอรูปฌานกุศล เป็นการเจริญสมาธิเพื่อละรูป เพราะฉะนั้น ผลก็คือ ทำให้เฉพาะนามขันธ์ ๔ เป็นอรูปธรรมเกิดขึ้นในอรูปพรหม ไม่มีรูปสักชนิดเดียวเกิดในอรูปพรหมภูมิ เพราะ ฉะนั้น ก็เว้นจิต ๔ ดวง คือ อรูปาวจรวิบาก ไม่มีรูปเกิดร่วมด้วย และทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ไม่มีรูปเกิดร่วมด้วยเพราะเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน

เพราะฉะนั้น ปฐมภวังค์มีจิตตชรูปเกิดในอุปาทขณะ ภวังค์ดวงต่อๆ ไปก็มี จิตตชรูปเกิดในอุปาทขณะ ปัญจทวาราวัชชนจิตที่รำพึงหรือรู้อารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็มีจิตตชรูปเกิดในอุปาทขณะ แต่จิตมีกำลังต่างกัน เพราะฉะนั้น การที่จะทำให้รูปเกิดก็ต่างกันด้วย ในขณะที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น ไม่สามารถที่จะ ให้เกิดอิริยาบถ หรือวิญญัติได้

วิญญัติ คือ การที่จะให้รู้ความหมายทางกาย ๑ และให้เข้าใจคำพูดด้วย วาจา ๑ นั่นเป็นวิญญัติ

สำหรับอิริยาบถ ขอให้ท่านผู้ฟังคิดถึงตั้งแต่ปฏิสนธิ ในขณะปฏิสนธิก็มีรูปเกิดร่วมด้วยแล้ว แต่รูปที่เกิดกับปฏิสนธิจิตนั้นเล็กน้อย เพิ่งเกิด เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตก็ดี หรือแม้ปฐมภวังค์ และภวังค์ดวงต่อๆ ไปก็ดี ไม่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเป็นอิริยาบถใดๆ

ทุกท่านที่เกิดมามีรูปร่างแล้ว ไม่พ้นไปจากนั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน แต่ว่าเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิด มีรูปเกิดด้วย และในปฐมภวังค์ก็มีรูปเกิดสืบต่อเจริญเติบโตมาเรื่อยๆ แต่ปฏิสนธิจิตก็ดี ภวังคจิตก็ดี หรือแม้ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ดี ไม่อาจ หรือไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวเป็นอิริยาบถได้ เพราะฉะนั้น จะเกิดมาอยู่อย่างไร เติบโตอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น เหมือนกับเวลานอน นอนหลับสนิทเป็นภวังคจิต รูปทรงอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น เพราะว่าขณะนั้นไม่มีจิตที่จะทำให้เกิดเคลื่อนไหวเป็นอิริยาบถ หรือวิญญัติได้

เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ทวิปัญจวิญญาณเกิดขึ้น

ถ้าอารมณ์กระทบตา เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จักขุวิญญาณก็เห็น

ถ้าอารมณ์กระทบหู เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้โสตวิญญาณได้ยินเสียงเกิดขึ้น

ถ้าอารมณ์นั้นเป็นกลิ่น กระทบจมูก เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ฆานวิญญาณเกิดขึ้นรู้กลิ่น

ถ้าเป็นรสที่กระทบลิ้น เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้รส คือ ชิวหาวิญญาณ

ถ้าเป็นอารมณ์ที่กระทบกายปสาท เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ก็ทำให้กายวิญญาณเกิดขึ้นรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่กระทบกาย

ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงเกิดขึ้นเพราะการกระทบกัน และก็ดับไปที่ปสาทรูป นั้นๆ มีกำลังที่อ่อนมาก ไม่สามารถทำให้จิตตชรูปเกิดได้เลย เมื่อทวิปัญจวิญญาณ จะเป็นทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกรู้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้โผฏฐัพพะดับไปแล้ว จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อก่อนที่จะรู้เรื่องรู้ราว หรือว่าก่อนที่จะเกิดการชอบไม่ชอบในสิ่งที่เห็น วิถีจิตจะต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วสืบต่อทำกิจต่างๆ กัน

เมื่อทวิปัญจวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเป็นจิตที่ทำกิจรับรู้อารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณเกิดขึ้น สัมปฏิจฉันนจิตไม่ใช่ทวิปัญจวิญญาณ เพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนจิตมีจิตตชรูปเกิดในอุปาทขณะ แต่ว่าจิตตชรูปที่เกิดพร้อมกับ สัมปฏิจฉันนจิตนั้นไม่ทำให้เกิดเคลื่อนไหวเป็นอิริยาบถ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว จิตขณะต่อไปพิจารณาอารมณ์นั้นต่อจากสัมปฏิจฉันนะ

จิตที่ทำกิจพิจารณาอารมณ์นั้นต่อชื่อว่า สันตีรณจิต จิตดวงนี้มีจิตตชรูปเกิดในอุปาทขณะ แต่ว่าโดยนัยเดียวกัน คือ ไม่ทำให้เกิดอิริยาบถ หรือวิญญัติรูปเลย

นี่เป็นวิถีของจิตที่เกิดสืบต่อกัน เมื่อเป็นจิตประเภทวิบาก เช่น ทวิปัญจวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ หรือแม้ภวังคจิต ปฏิสนธิจิต ก็ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เคลื่อนไหวอิริยาบถ หรือวิญญัติได้

เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว จิตดวงต่อไป คือ โวฏฐัพพนจิต หรือมโนทวาราวัชชนจิต ทำกิจมนสิการ แล้วแต่การสะสมของจิต ถ้าเป็นคนที่สะสมทางฝ่ายกุศลมากเวลาเห็น เวลาได้ยิน เวลาได้กลิ่น เวลาลิ้มรส เวลารู้โผฏฐัพพะ ถึงแม้ว่าอารมณ์นั้นจะไม่ใช่อารมณ์ที่ประณีต แต่กุศลจิตก็เกิดได้

สำหรับมโนทวาราวัชชนจิต สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดอิริยาบถและวิญญัติรูปได้ ซึ่งเริ่มตรงนี้ที่ว่าจะเป็นปัจจัยให้เกิดอิริยาบถหรือวิญญัติรูป แต่ที่อิริยาบถจะเคลื่อนไหวเกิดขึ้นได้จริง หรือวิญญัติรูปจะเกิดขึ้นได้จริงนั้น ต้องถึงชวนจิต คือ จิตที่เกิดต่อจาก มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง หรือมหากุศลจิต ๘ ดวง สำหรับคนธรรมดาที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เวลาที่มีการเห็น มีการได้ยินแล้ว ย่อมจะเป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง

ขณะที่จิตเป็นกุศล ไม่ได้เกิดขึ้นขณะเดียวเหมือนอย่างจักขุวิญญาณ หรือ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ จิตที่เป็นกุศลจะทำชวนกิจ แล่นไปในอารมณ์นั้นถึง ๗ ขณะ ด้วยกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง ทำให้เกิดอิริยาบถและวิญญัติได้ เป็นจิตตชรูป การที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดเกิดความชอบใจขึ้น และมีกำลังเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยให้รูปที่เกิดจากจิตสามารถไหวไป เปลี่ยนไปเป็นอิริยาบถหรือวิญญัติรูปได้ ไม่ใช่มีใครสั่ง แต่ว่าเป็นด้วยกำลังความปรารถนาซึ่งเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต

ถ้าปรารถนาจะทำบุญ ทำกุศล มหากุศลจิตเกิดแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยให้จิตตชรูป จิตตชวาโยธาตุทำให้กายเคลื่อนไปไหวไปเป็นอิริยาบถต่างๆ หรือว่าเป็นวิญญัติรูปได้ แต่แม้กระนั้นชวนจิตซึ่งเป็นโลภมูลจิต ๗ ขณะ โทสมูลจิต ๗ ขณะ โมหมูลจิต ๗ ขณะ หรือว่าเป็นมหากุศล ๗ ขณะนี้ ก็ยังได้ทรงแสดงไว้ว่า จิตตชรูปที่เกิดกับชวนะขณะที่ ๑ ยังไม่มีกำลังพอที่จะให้ไหวไปได้ จนกระทั่งขณะที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ผ่านไปแลัวพอถึงชวนะขณะที่ ๗ รูปซึ่งเกิดเพราะจิตในชวนะ ๗ ขณะนั้นจึงสามารถที่จะทำให้เกิดการไหวไปได้

นี่เป็นปัจจัยที่ทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่มีใครสั่ง ชวนจิตดวงที่ ๑ จะทำให้รูปไหวไม่ได้ เพราะเหตุว่ากำลังยังอ่อน ชวนจิตดวงที่ ๒ จะทำให้รูปไหวยังไม่ได้ มีจิตตชรูปเกิดด้วยจริงแต่ยังไหวไม่ได้ ชวนจิตดวงที่ ๓ ก็ยังทำให้รูปไหวไปไม่ได้ จนกระทั่งถึงชวนจิตดวงที่ ๗ จึงสามารถทำให้จิตตชวาโยธาตุแผ่ไป ไหวไปตามสภาพของจิตที่เป็นกุศลจิตหรือว่าเป็นอกุศลจิต

เพราะฉะนั้น ก็เป็นรูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยตามขณะของจิตโดยละเอียด ซึ่งไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจะไปสั่งรูปได้ เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ เมื่อไม่ใช่สภาพรู้ก็รับคำสั่ง ไม่ได้ และเจตสิกที่เกิดกับจิตก็ไม่ใช่เพราะจิตสั่ง ถ้าเป็นวิบากจิต วิบากเจตสิกก็เกิดขึ้นเพราะกรรมในอดีตทำให้ทั้งวิบากจิตและวิบากเจตสิกนั้นเกิดร่วมกัน

สำหรับผู้ที่กำลังเจริญฌาน เจริญสมถภาวนา จนกระทั่งเกิดฌานจิตเป็น รูปาวจรกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นรูปาวจรกิริยาสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ เป็นอรูปาวจรกุศลเป็นฌานขั้นอรูปฌานสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และเป็นอรูปาวจรกิริยาสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ หรือแม้ในขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้น ผลจิตเกิดขึ้น ในขณะนั้นก็ไม่ทำให้เกิดวิญญัติ ไม่สามารถที่จะมีกายวิญญัติ หรือวจีวิญญัติได้ แต่ว่ามีจิตตชรูปที่อุปถัมภ์อิริยาบถที่เป็นอยู่ ให้ดำรงอยู่ได้

นี่เป็นความละเอียด เพราะเหตุว่ากำลังนอนหลับไม่สามารถที่จะอุปถัมภ์อิริยาบถ แต่เวลาที่เป็นฌานจิต ไม่ใช่จิตที่เป็นภวังค์ กำลังผิดกัน มีจิตตชรูปในขณะนั้นซึ่งอุปถัมภ์อิริยาบถ แต่เพราะว่าเป็นจิตที่ไม่รับรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญัติรูป เพียงแต่สามารถที่จะอุปถัมภ์อิริยาบถให้ดำรงอยู่ได้ ไม่เหมือนกับเวลาที่เป็นภวังคจิต สำหรับการยิ้มก็เป็นรูปเกิดขึ้นเพราะโสมนัสจิต คือ จิตที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา

สำหรับการที่จะให้รูปเกิดขึ้นไหวไปนั้น พระอรรถกถาจารย์ก็ได้แสดงไว้ว่า เมื่อถึงมโนทวารวิถี เพราะเหตุว่าทางปัญจทวารวิถีนั้น ถึงแม้ว่าจะมีความพอใจ ความพอใจนั้นก็ไม่ถึงกับทำให้รูปเป็นการยิ้มแย้มได้ แม้แต่การยิ้มก็เกิดเพราะจิตโสมนัส บังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ แต่ถ้าเป็นโทสมูลจิตประกอบด้วยโทมนัสเวทนา ทำให้เกิดการร้องไห้ ไม่ใช่ทำให้เกิดการยิ้มแย้ม ซึ่งเป็นไปตามปัจจัย ตามสภาพของจิตนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่สั่ง คือ เมื่อจิตชนิดนั้นๆ เกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยทำให้รูปชนิดนั้นๆ เกิดขึ้น

ชีวิตของท่านในวันหนึ่งๆ มีภวังคจิตเกิดมาก และมีวิถีจิตเกิดสืบต่อกันทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ การคิดนึกทางใจ ซึ่งขณะใดที่จิตตชรูปสามารถที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเป็นอิริยาบถ หรือขณะใดไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอิริยาบถได้ ก็ต้องเป็นไปตามปัจจัย ตามสภาพของจิตทั้งสิ้น

ที่ว่า ถ้าจิตสั่งได้ จะต้องมีฝ่ายรับคำสั่งนั้น รูปรับคำสั่งได้หรือไม่ เพราะอะไรรูปรับคำสั่งไม่ได้ เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้

จิตรับคำสั่งได้หรือไม่ เพราะอะไร จิตรับคำสั่งไม่ได้ เพราะว่าจิตแต่ละดวงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด เช่น ปฏิสนธิจิตเกิดเพราะกรรมในอดีตเป็นปัจจัย เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จิตดวงต่อไปจะเป็นเห็น เป็นได้ยินไม่ได้ ยังไม่มีปัจจัยที่จะให้เห็นทันที ได้ยินทันที เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดขึ้น ไม่ได้สั่ง แต่ว่ามีปัจจัยของจิตแต่ละดวงที่จะทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นทำกิจการงานสืบต่อ เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา

เจตสิกรับคำสั่งได้หรือไม่ เพราะอะไร เจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง และดับไปพร้อมกันด้วยกับจิตทุกดวง คือ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ไม่ได้รับคำสั่งอะไรจากจิต

เมื่อรูป จิต เจตสิกรับคำสั่งไม่ได้ การที่เราเดิน ยืน นั่ง นอน เคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ ตลอดจนพูดจาได้นั้น เป็นเพราะอะไรเป็นเหตุปัจจัย

ก็แล้วแต่ประเภทของจิต ถ้าเป็นโทสมูลจิตก็ทำให้เกิดรูปร้องไห้ได้ ถ้าเป็น โสมนัสก็ทำให้เกิดรูปยิ้มแย้มหัวเราะได้ ถ้าเป็นอกุศลจิตก็ทำให้เกิดรูปเคลื่อนไหวกระ ทำกรรมต่างๆ ที่เป็นอกุศลกรรมได้ ถ้าเป็นกุศลจิตก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปเคลื่อนไหวทำกรรมที่เป็นกุศลกรรมได้ แต่ไม่มีจิตที่สั่ง

ถ. เรื่องจิตสั่งท่านอาจารย์สรุปว่า จิตนั้นไม่มีอำนาจสั่งอะไรได้ ผมได้ไปฟังการบรรยายธรรมหรือสนทนาธรรมในที่หลายแห่ง ท่านผู้บรรยายธรรมมักจะใช้คำพูดว่าจิตสั่ง เป็นต้นว่า ที่เราเดิน หรือเราเหยียดแขน งอแขนขึ้นมานี้ก็เป็นไปด้วยอำนาจของจิตสั่ง ทำให้สงสัยว่าจิตมีอำนาจสั่งได้จริงหรือ ผมก็คิดดูว่า ถ้าจิตสั่งได้ ผมแก่แล้ว ลองสั่งให้หนังหายเหี่ยว ก็ไม่หายเหี่ยว ก็ยังเหี่ยวอยู่นั่นเอง ผมหงอกสั่งให้ดำ ก็ไม่ดำ แสดงว่าจิตสั่งรูปไม่ได้ โดยสภาวธรรมจิตมีหน้าที่รู้อารมณ์เท่านั้น

เปิด  186
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566