แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 233

วันนี้ขอกล่าวถึงเรื่องจิตโดยกิจ ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า จิตสั่งอะไรได้หรือไม่

จิตทั้งหมดเป็นสภาพรู้ก็จริง แต่เพราะเหตุว่าจิตมีหลายประเภทโดยนัยต่างๆ เช่น โดยชาติ การเกิด จิตเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี

กุศลจิต ได้แก่ จิตซึ่งประกอบด้วยเหตุที่ดี เมื่อเกิดแล้ว เป็นเหตุแล้ว ย่อมจะทำให้เกิดผลข้างหน้า ธรรมดาจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อเกิดขึ้นเป็นอกุศลจิต จะเปลี่ยนสภาพของจิตดวงนั้นให้เป็นกุศลจิตไม่ได้ จะเปลี่ยนสภาพของจิตดวงนั้นให้เป็นวิบากจิตก็ไม่ได้ เมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดมาเป็นอย่างไรก็เป็นลักษณะอย่างนั้น และก็ดับไป เพราะฉะนั้น ถ้าจิตเป็นอกุศล เป็นจิตที่ไม่ดี ประกอบด้วยเหตุที่ไม่ดี ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก เวลาที่ดับไปก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น

สำหรับกุศลจิต เมื่อดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากจิตไม่ใช่อกุศลจิต และกุศลวิบากไม่ใช่กุศลจิต เพราะเหตุว่าวิบากจิตนั้นเป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรมและกุศลกรรม

โดยชาติหรือการเกิด จิตมี ๔ ประเภท คือ กุศลจิต ๑ อกุศลจิต ๑ วิบากจิต ๑ กิริยาจิต ๑

สำหรับกิริยาจิตนั้นเป็นจิตที่ไม่ใช่ผลของกรรม และไม่ได้ประกอบด้วยเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า เพราะฉะนั้น ควรที่จะทราบว่า ถึงแม้ว่าจิตจะเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เป็นสภาพรู้ก็จริง แต่มีมากมายหลายประเภท และโดยประเภทใหญ่ก็จำแนกออกได้โดยหลายนัย

ในภพหนึ่งชาติหนึ่งที่จะเริ่มความเป็นบุคคลนี้ ก็เพราะปฏิสนธิจิตทำกิจเกิดขึ้นเป็นดวงแรกในภพนี้ และถึงแม้ว่าลักษณะของจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่จิตที่รู้อารมณ์นี้ก็ทำกิจสืบต่อจากจิตดวงสุดท้ายของชาติก่อนด้วย คือ ทำกิจปฏิสนธิ ซึ่งเป็นกิจหนึ่งใน ๑๔ กิจของจิต

จิตทั้งหมดไม่ว่าจะในภพไหนภูมิไหนก็ตาม จะมีกิจการงานเพียง ๑๔ กิจเท่านั้น สำหรับจิตดวงแรกในภพนี้ทำกิจปฏิสนธิ คือ เกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิตซึ่งเป็นจิตดวงสุดท้ายของชาติก่อน ชาติก่อนท่านผู้ฟังจะอยู่ที่ไหน จุติจิตในชาติก่อนทำกิจเคลื่อนจากภพนั้นแล้ว ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นจิตดวงแรกในชาตินี้ก็เกิดสืบต่อจากจุติจิตในชาติก่อน

โดยชาติปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ปฏิสนธิจิตจะเป็นกรรม คือ จะเป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรมไม่ได้

ปฏิสนธิจิตที่เป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่เป็นกามาวจรจิต กามาวจรภูมิ ก็เป็นไปกับภูมิที่เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือว่าเป็นผลของการเจริญสมถภาวนามีสมาธิที่มั่นคงเป็นฌานจิต และก่อนจะจุติ ถ้าฌานจิตไม่เสื่อม ฌานจิตก็เกิด เมื่อจุติจิตของชาติก่อนดับไปแล้ว ก็ทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นรูปาวจรวิบากจิตเกิดขึ้นในพรหมโลก

เพราะฉะนั้น การเกิดทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นภพใดภูมิใดเป็นจิตประเภทวิบาก มี ใครสั่งให้ปฏิสนธิจิตเกิดบ้าง ไม่มี จิตเป็นสภาพรู้ และจิตที่เกิดดวงแรกนั้นจะให้เป็นกุศลก็ไม่ได้ จะให้เป็นอกุศลก็ไม่ได้ จะให้เป็นกิริยาก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่า การที่จิตใดจะทำกิจปฏิสนธิก็แล้วแต่กรรมๆ หนึ่งที่เป็นชนกกรรมกรรมซึ่งมีมากทีเดียว ในชาตินี้ก็ทำกันไว้คนละมากๆ ชาติก่อนก็มาก ชาติก่อนโน้นๆ ก็ทำไว้มาก แต่ว่ากรรมใดที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม

สำหรับในภูมิมนุษย์ การเกิดเป็นผลของมหากุศล หรือกามาวจรกุศล คือ กุศลที่ยังเนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นปัจจัย เมื่อเป็นผลของมหากุศลก็ทำให้ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากในมนุษย์

ส่วนการที่แต่ละท่านเกิดมาด้วยมหาวิบาก หรือกามาวจรวิบาก ซึ่งเป็นผลของมหากุศล หรือกามาวจรกุศลนี้ ไม่มีใครทราบว่าเป็นผลของทานกุศล หรือศีลกุศล หรือว่าภาวนากุศล แต่ทราบได้ว่าเมื่อปฏิสนธิในภูมิที่เป็นสุคติภูมิ ในมนุษย์ ก็ต้องเป็นผลของกามาวจรกุศล และปฏิสนธิจิตซึ่งเกิดขึ้นนั้นไม่มีใครสั่ง แม้แต่กรรมก็สั่งไม่ได้ เมื่อได้ทำกรรมลงไปแล้ว ก็แล้วแต่ว่ากรรมนั้นพร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้เกิดผลเมื่อไร ชาติไหน

ฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ไม่มีจิตใดสั่งให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น กรรมที่ได้กระทำสำเร็จไปแล้ว พร้อมสมบูรณ์ที่จะให้ผลเกิดขึ้นก็ทำให้ผลเกิดขึ้น ถ้าเป็นกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิ กรรมนั้นชื่อว่า ชนกกรรม คือ กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น และในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด จะต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมจิต และเกิดที่เดียวกับจิต ซึ่งแล้วแต่ว่าจิตดวงนั้นเกิดที่ไหน เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตนั้นก็ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน แล้วก็เกิดที่เดียวกันด้วย ในขณะนั้นเจตสิกที่เกิดกับจิตไม่ใช่กุศลเจตสิก ไม่ใช่อกุศลเจตสิก แต่เป็นเจตสิกที่เป็นประเภทวิบากเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เวลาที่กรรมจะทำให้จิตเกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้แต่เฉพาะจิตเท่านั้นที่เกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นวิบากร่วมกัน

เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตเกิดขึ้นมีเจตสิกมากมายเกิดร่วมด้วย จิตก็ไม่ได้สั่งให้เจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกก็ไม่ได้สั่งให้จิตเกิดร่วมด้วย แต่ว่าทั้งจิตและเจตสิกซึ่งเป็นวิบากเป็นผลของกรรมนั้น เกิดเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว มีปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดร่วมกันในขณะนั้น

สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องมีรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตและเจตสิกด้วย ตั้งแต่อุปาทขณะ ธรรมดาจิตที่เกิดขึ้นจะมีขณะเล็ก ๓ ขณะ เป็นอนุขณะ คือ ขณะแรกที่เกิดเป็นอุปาทขณะ ขณะที่ยังไม่ดับไปเป็นฐีติขณะ และขณะที่ดับเป็นภังคขณะ

เพราะฉะนั้น จิตดวงหนึ่งมี ๓ ขณะย่อย ในอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตและ เจตสิกที่เกิดนั้นมีกัมมชรูปเกิดร่วมด้วย รูปที่เกิดในขณะนั้นไม่ได้เกิดเพราะจิต แต่เพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้วิบากจิต เจตสิก และกัมมชรูปเกิดขึ้นในขณะนั้น

ท่านผู้ฟังจะพิสูจน์ได้โดยขั้นปริยัติว่า ในปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีรูป รูปนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจิตสั่ง จิตไม่ได้สั่งให้รูปเกิดขึ้น เจตสิกไม่ได้สั่งให้รูปเกิดขึ้น เพราะว่ารูปเกิดพร้อมอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต ถ้าจิตสั่งได้ ก็จะต้องมีฝ่ายรับคำสั่ง คือ รูป

รูปรับคำสั่งได้หรือไม่ เพราะอะไร ถ้าจะรับคำสั่งได้หมายความว่า รู้ว่าสั่งว่าอะไร แต่ว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่ารูปภายนอกหรือรูปภายใน รูปทั้งหมดไม่ใช่สภาพรู้ รูปที่กายทั้งหมดถึงแม้ว่าจะเกิดเพราะกรรม จะเกิดเพราะจิต จะเกิดเพราะอุตุ จะเกิดเพราะอาหารก็ตาม รูปภายในทั้งหมดนี้ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่รู้อะไรเหมือนกับรูปภายนอกซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เมื่อไม่ใช่สภาพรู้แล้ว จะรับคำสั่งอะไรได้ไหม ก็ไม่ได้ ในขณะปฏิสนธิ กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตและเจตสิกเกิดขึ้นก็ทำให้รูปเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น

สำหรับกัมมชรูปนั้น ก็เกิดตั้งแต่อุปาทขณะตลอดเรื่อยมาทุกๆ อนุขณะ คือ เกิดในอุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะเรื่อยมา มีรูปเกิดอยู่ตลอดเวลา มีใครสั่งไหมให้รูปนี้เกิด มีกรรมเป็นปัจจัยทำให้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย เลือกไม่ได้ด้วยว่า จะมีตาอย่างไร มีหูอย่างไร มีจมูกอย่างไร มีลิ้นอย่างไร มีกายอย่างไร เป็นเรื่องของกรรมอื่นๆ อีกซึ่งจะให้ผล ทำให้ตา หู จมูก ลิ้น กายต่างกัน แม้ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกันโดยที่ไม่มีใครสั่ง เป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ กรรมที่ได้กระทำแล้ว และสำหรับรูปก็มีสมุฏฐานถึง ๔ อย่าง คือ รูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานก็มี มีจิตเป็นสมุฏฐานก็มี มีอุตุเป็นสมุฏฐานก็มี มีอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี

สำหรับปฏิสนธิจิตขณะแรก คือ อุปาทขณะ ขณะที่ ๒ คือ ฐีติขณะ ขณะที่ ๓ คือ ภังคขณะ มีกัมมชรูปเกิดทั้ง ๓ ขณะ แต่ว่าอุตุชรูป คือ รูปซึ่งเกิดเพราะความเย็น ร้อนก็เกิดในขณะปฏิสนธิจิตด้วย ซึ่งไม่ใช่ในอุปาทขณะ แต่ในฐีติขณะ คือ หลังจากที่อุปาทขณะเกิดขึ้นแล้ว ฐีติขณะที่ตั้งอยู่มีอุตุชรูปเกิดร่วมด้วย สำหรับอาหารชรูปก็เป็นรูปที่เกิดขึ้นเมื่ออาหารแผ่ซ่านซึมซาบไปในร่างกาย ทำให้เกิดอาหารชรูป

แต่ในเรื่องจิตสั่ง จะขอกล่าวถึงแต่เฉพาะจิตตชรูปเท่านั้น ถ้าจะมีกัมมชรูป ร่วมด้วยก็เพียงเล็กน้อย เพราะท่านผู้ฟังสงสัยว่า จิตจะสั่งรูปได้หรือไม่ ซึ่งในปฏิสนธิขณะ จิตที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจดวงแรก ไม่มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย นี่เป็นความละเอียดของสภาพธรรม ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้ จะไม่มีท่านผู้ใดทราบความละเอียดของขณะปฏิสนธิว่า ขณะนั้นมีกัมมชรูปเท่านั้นที่เกิดในขณะอุปาทะ ในขณะฐีติขณะมีกัมมชรูปกับอุตุชรูป แต่ไม่มีจิตตชรูป ไม่มีอาหารชรูป เพราะว่าในขณะนั้นยังไม่มีโอชาที่แผ่ซึมซาบไปทั่วร่างกาย

เมื่อปฏิสนธิจิตดับลง กรรมไม่ได้ทำเพียงให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นดวงเดียว กรรมยังทำให้จิตเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นไว้ ฉะนั้นจิตซึ่งเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ขณะที่ ๒ ที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตทำกิจดำรงภพชาติเรียกว่าภวังคกิจ และเรียกจิตดวงนั้นว่า ภวังคจิต แต่ว่ารู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ซึ่งปฏิสนธิจิตก็รู้อารมณ์เดียวกับจิตที่ใกล้จะจุติของชาติก่อน

เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยทั้งหมด แม้แต่ว่าก่อนจะจุติ ชาติก่อนมีอารมณ์อะไร ดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตก็สืบต่อรับรู้อารมณ์นั้นต่อ ไม่มีผู้ใดไปเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้นได้ และเมื่อปฏิสนธิจิตในชาตินี้ดับไปแล้ว ภวังคจิต ซึ่งเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม เกิดสืบต่อรู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ก็เป็นเรื่องของกิจของจิตซึ่งเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่ว่าแม้แต่เพียงขณะที่ ๑ กับขณะที่ ๒ กิจก็ต่างกัน

จิตดวงแรกของภพนี้ทำกิจปฏิสนธิสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน และดับไป เพราะฉะนั้น เวลาที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว วิบากจิตที่เกิดต่อดำรงภพชาติเป็นปฐมภวังค์ เป็นภวังค์ดวงแรก และสำหรับปฐมภวังค์ ในขณะอุปาทขณะมีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย

สำหรับเรื่องของกัมมชรูปนั้น กัมมชรูปเกิดกับจิตทุกดวงตั้งแต่ปฏิสนธิ ทุกขณะย่อย คือ ทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ และเกิดครั้งสุดท้ายที่อุปาทขณะของจิตดวงที่ ๑๗ ที่นับถอยหลังจากจุติจิตขึ้นไป นี่เป็นข้อปลีกย่อย แต่ให้ทราบว่าในจิตดวงแรกของชาตินี้ คือ ปฏิสนธิจิต ไม่มีจิตตชรูป เมื่อดับไปแล้ว ภวังคจิตดวงแรกคือ ปฐมภวังค์ มีจิตตชรูปเกิดในอุปาทขณะ

มีจิตใดสั่งไหมในขณะนั้น ที่ต้องเรียนเรื่องนี้ก็เพื่อให้เห็นจิตทุกดวงตั้งแต่เริ่มว่ามีจิตดวงใดบ้างที่จะสั่งรูป หรือว่าไม่มีจิตใดเลยที่สั่งรูปได้ ในปฐมภวังค์มีจิตตชรูปเกิดพร้อมอุปาทขณะ เป็นจิตดวงที่ ๒ เป็นขณะที่ ๒ ไม่ใช่ปฏิสนธิขณะ จึงเป็นปัจจัยให้รูปเกิดได้

สำหรับปฏิสนธิจิต เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง เป็นจิตที่อ่อน ทุรพล ไม่ทำให้เกิดรูป แต่เมื่อปฐมภวังเกิดขึ้นเป็นจิตดวงที่ ๒ ต่อจากปฏิสนธิจิต มีกำลัง จึงเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นเพราะจิตนั้น ซึ่งรูปนั้นได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา เกิดในขณะนั้นพร้อมกับจิตทีเดียว เพราะฉะนั้น จิตไม่ได้สั่งให้รูปนั้นเกิด จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์เท่านั้น

นี่เป็นขณะที่ปฏิสนธิและยังไม่จุติ มีภวังคจิตเกิดดำรงภพชาติสืบต่อ แต่ถ้ากรรมให้ผลเพียงทำให้เกิดขึ้น และเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ ก็คงจะไม่เดือดร้อน ไม่ต้องเห็นอะไร ไม่ต้องได้ยินอะไร ไม่ต้องได้กลิ่นอะไร ไม่ต้องรู้รสอะไร ไม่ต้องรู้โผฏฐัพพะใดเลย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องของเหตุปัจจัย ถ้าเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย คือ กรรมในอดีตมีแล้วไม่ได้ให้ผลเพียงแค่ปฏิสนธิและเป็นภวังค์ ยังทำให้มีการเห็นทางตา การได้ยินทางหู การได้กลิ่นทางจมูก การรู้รสทางลิ้น การรู้โผฏฐัพพะทางกาย เป็นเรื่องการรับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งทุกท่านก็ปรารถนาที่จะได้ประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดี ที่ประณีต ที่น่าพอใจ แต่การที่วันไหนจะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดี ก็เป็นผลของกุศลกรรม วันไหนขณะใดที่ได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่ดี ก็เป็นผลของอกุศลกรรม แต่ให้ทราบว่า ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังรู้โผฏฐัพพะนี้ จะมีจิตเกิดเป็นลำดับ เป็นวิถีจิตกี่ดวง เพราะว่าเราได้ทราบเรื่องของกิจ ๒ กิจ คือ ปฏิสนธิกิจ ๑ ภวังคกิจ ๑

เพราะเหตุว่าชีวิตไม่ได้มีเพียงปฏิสนธิจิต และภวังคจิตเท่านั้น ยังมีการเห็น มีการได้ยิน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังควรที่จะได้ทราบความละเอียดว่า ขณะใดรูปเกิดกับจิตใด ขณะใดรูปไม่เกิดกับจิตใด เวลาที่มีการเห็น หรือการได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้โผฏฐัพพะครั้งหนึ่งๆ จิตไม่ใช่ภวังค์เสียแล้ว เพราะว่าถ้าเป็นภวังค์จะไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการรู้รส ไม่มีการรู้โผฏฐัพพะ ไม่มีการคิดนึกเลย ภวังคจิตมีอารมณ์เหมือนอย่างปฏิสนธิ ไม่ใช่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ได้ยินสิ่งที่กำลังปรากฏทางหู หรือว่าคิดนึกเรื่องราวที่กำลังคิดกำลังนึก เพราะฉะนั้น เวลาที่จะมีการเห็น การได้ยินครั้งหนึ่งๆ จิตจะต้องเปลี่ยนสภาพจากภวังคจิตเป็นวิถีจิต เรื่องนี้อาจจะหนักไปสำหรับท่านผู้ฟัง แต่ขอให้ทราบว่าเป็นเรื่องของตัวท่านจริงๆ และท่านก็ควรที่จะได้ทราบความละเอียดพอสมควรด้วยว่าเวลาที่จิตจะเห็น จะได้ยินนั้น วิถีจิตจะต้องเกิดสืบต่อกันเป็นลำดับอย่างไรบ้าง ไม่ใช่เห็นทันที หรือว่าชอบทันที แต่จะต้องมีกระแส หรือวิถีของจิตเกิดดับสืบต่อกันตามลำดับ และความละเอียดนั้นจะช่วยชี้ให้เห็นว่า จิตประเภทใดมีรูปชนิดใดเกิดด้วย เพราะเหตุปัจจัยใด

เปิด  282
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565