สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ


    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬสัจจกสูตร ข้อ ๓๙๒ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตเมือง เวสาลี

    ท่านที่มีโอกาสได้ไปพระนครเวสาลี จะได้ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน

    ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์ผู้เป็นนิคันถบุตร อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลี เป็นนักโต้ตอบ พูดยกตนว่าเป็นนักปราชญ์

    นี่คือลักษณะของความขาดสติ

    ชนเป็นอันมากยอมยกว่าเป็นผู้มีความรู้ดี เขากล่าววาจาในที่ประชุมชน ในเมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ แม้ที่ปฏิญญาตนว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรารภ โต้ตอบวาทะกับเราจะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้แม้แต่คนเดียวเลย หากเราปรารภโต้ตอบวาทะกะเสาที่ไม่มีเจตนา แม้เสานั้นปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว จะป่วยกล่าว ไปไยถึงมนุษย์เล่า

    มีจริงๆ บุคคลอย่างนี้ ไม่ใช่ไม่มี เพราะว่าเป็นข้อความที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎก นอกจากนั้นท่านผู้นี้ยังกลัวว่าท้องจะแตกเพราะเต็มไปด้วยปัญญา ท่านถึงกับเอาแผ่นเหล็กคาดท้องเที่ยวไป

    ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระอัสสชินุ่งสบงแล้วถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี สัจจกนิครนถ์เดินเที่ยวยืดแข้งขาอยู่ในเมืองเวสาลีได้เห็นท่านพระอัสสชิเดินอยู่แต่ที่ไกล ครั้นเห็นแล้วจึงเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ ได้ปราศรัยกับท่าน ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ถามท่านพระอัสสชิว่า

    ดูกร ท่านอัสสชิผู้เจริญ ก็พระสมณโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และ คำสั่งสอนของพระสมณโคดมมีส่วนอย่างไร ที่เป็นไปมากในพวกสาวก

    ท่านพระอัสสชิบอกว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคมีส่วนอย่างนี้ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน

    ดูกร อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคมีส่วนอย่างนี้ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย

    ทุกกาลสมัยจะไม่พ้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง ใครเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วที่เมืองเวสาลี ที่พระวิหารเชตวัน และมีโอกาสจะได้ฟังอีก แต่ยังไม่ประจักษ์รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ก็ต้องฟังต่อไป เพื่อให้สติเกิดระลึกได้และศึกษาลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง แต่จะไม่พ้นไปจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยงเลย

    สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า

    ดูกร ท่านอัสสชิผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังว่า พระสมณโคดมมีวาทะอย่างนี้ เป็นอันว่า ข้าพเจ้าได้ฟังไม่ดีแล้ว ถ้ากระไรบางทีข้าพเจ้าจะพบกับพระสมณโคดม ผู้เจริญนั้น จะได้สนทนากันบ้าง ถ้ากระไรข้าพเจ้าจะพึงช่วยปลดเปลื้อง พระสมณโคดมเสียจากความเห็นที่เลวทรามนั้นได้

    ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ องค์ ประชุมกันอยู่ในอาคารเป็นที่ประชุม ด้วยกรณียกิจบางอย่าง สมัยนั้น สัจจกนิครนถ์เข้าไปหาพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ครั้นเข้าไปแล้วได้กล่าวว่า ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย จงไปด้วยกัน วันนี้ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม ถ้าพระสมณโคดมจักตั้งอยู่ตามคำที่ภิกษุชื่ออัสสชิซึ่งเป็นสาวกรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงยืนยันแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจัก ฉุดกระชากลากถ้อยคำพระสมณโคดมมาด้วยคำข้าพเจ้า ให้เป็นเหมือนบุรุษที่มีกำลัง จับแกะอันมีขนยาวที่ขนแล้วลากมาลากไป ฉะนั้น หรือให้เป็นเหมือนคนที่ทำการงานในโรงสุราซึ่งมีกำลัง วางเสื่อลำแพนสำหรับรองแป้งสุราผืนใหญ่ในห้วงน้ำลึก แล้วจับที่มุมชักลากฟัดฟาดไปมาฉะนั้น ข้าพเจ้าจักสลัดฟัดฟาดถ้อยคำ พระสมณโคดมเสีย ให้เป็นเหมือนบุรุษที่มีกำลังซึ่งเป็นนักเลงสุราจับถ้วยที่หูแล้ว สลัดไปมาฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นงานพระสมณโคดมเหมือนอย่างที่คนเขาเล่นกีฬา ชื่อสาณโธวิก ให้เป็นเหมือนช้างที่มีวัยล่วงหกสิบปี จึงจะถอยกำลัง ลงสู่สระโบกขรณีมีลำน้ำลึก แล้วเล่นกีฬาชนิดที่ชื่อว่าสาณโธวิก ฉะนั้น ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม

    ท่านผู้ฟังอยากไปด้วยไหม ถ้ามีเหตุการณ์อย่างนั้นจริงๆ คงจะไปแน่ๆ จะได้ฟังสัจจกนิครนถ์สนทนาธรรมกับพระผู้มีพระภาค คงไม่ละเว้นโอกาสนั้นเป็นแน่

    ในบรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า เหตุอะไรพระสมณโคดมจักยกถ้อยคำของท่านสัจจกะได้ ที่แท้ท่านสัจจกะกลับยกถ้อยคำของพระสมณโคดมเสีย

    คนที่เห็นอย่างนี้ก็มี คือ เห็นว่าสัจจกนิครนถ์สามารถทำให้พระผู้มีพระภาคตามคำของสัจจกนิครนถ์ได้

    บางพวกกล่าวว่า ท่านสัจจกะเป็นอะไรจึงจักยกถ้อยคำของพระผู้มีพระภาคได้ ที่แท้พระผู้มีพระภาคกลับจักยกถ้อยคำของท่านสัจจกะเสีย

    ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์มีเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ ห้อมล้อมแล้ว เข้าไปยังกูฏาคาศาลาป่ามหาวัน

    นับว่าเป็นคนกล้ามาก เพราะว่าบางคนพูดว่าจะไปเฝ้า แต่ถึงเวลาจริงๆ ไปไม่ได้ ตัวสั่น ไม่สามารถแม้ที่จะขยับเขยื้อน แม้มีคนบอกว่า ท่านเคยบอกว่า ท่านจะไป ท่านต้องไป ก็ยังไม่สามารถที่จะไปได้ แต่สำหรับสัจจกนิครนถ์เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในความเห็นของตนเองมาก

    สมัยนั้น ภิกษุมากด้วยกันจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง สัจจกนิครนถ์เข้าไปหา แล้วถามว่า

    ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้พระสมณโคดมนั้นอยู่ที่ไหน พวกข้าพเจ้าปรารถนาจะพบพระสมณโคดมนั้น

    ภิกษุทั้งหลายนั้นบอกว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ พระผู้มีภาคพระองค์นั้นเสด็จเข้าไปสู่ป่ามหาวัน ประทับพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง

    ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดและคำพูดของสัจจกนิครนถ์ จึงได้เสด็จเข้าไปสู่ป่ามหาวัน เพราะว่าในพระวิหารมีที่นั่งไม่พอ เพื่อความสะดวกจึงได้เสด็จเข้าไปสู่ป่ามหาวัน

    ลำดับนั้น สัจจกนิครนถ์พร้อมด้วยพวกเจ้าลิจฉวีมีจำนวนมาก เข้าไปสู่ป่า มหาวันจนถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    แม้เจ้าลิจฉวีทั้งหลายนั้น บางพวกถวายอภิวาท บางพวกทูลปราศรัย บางพวกประนมมือ บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตนในสำนักพระผู้มีพระภาค บางพวกก็นิ่งอยู่ ครั้นแล้วต่างก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ก็น่าดู น่าเห็น มีการกระทำต่างๆ กัน เพราะว่าใจมนุษย์ต่างๆ กัน ไม่เหมือนกันเลย แม้แต่การที่จะได้พบได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค

    ในอรรถกถาอธิบายว่า

    พวกเจ้าลิจฉวีที่อัญชลี คือ ไหว้พระผู้มีพระภาคนั้น มีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าพวกสัจจกนิครนถ์ท้วงว่า ไหว้พระสมณโคดมทำไม ก็จะตอบว่า ไหว้อะไรกัน เพียงประนมมือเท่านั้น

    นี่คือความคิดของคน กลัวคนอื่นจะมองในแง่ไหน จะคิดในแง่ไหน จะเป็นมิตรในแง่ไหน จะเข้าใจในแง่ไหน จะติจะชมในแง่ไหน ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ถูก แม้แต่ การที่จะแสดงความอ่อนน้อมความเคารพโดยสถานหนึ่งสถานใดย่อมทำได้ แต่ แม้กระนั้นผู้ที่หวั่นไหวด้วยอกุศลก็ยังคิดว่า ถ้าไหว้แล้วพวกสัจจกนิครนถ์ท้วงว่า ไหว้พระสมณโคดมทำไม ก็จะตอบว่า ไหว้อะไรกัน เพียงประนมมือเท่านั้น

    ถ้าเป็นพวกที่นอบน้อมในพระผู้มีพระภาคท้วงว่า ทำไมท่านไม่ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคเล่า เขาก็จะตอบว่า ทำไมการถวายบังคมจะต้องศีรษะจรดพื้นเล่า เพียงอัญชลีกรรมก็เป็นการถวายบังคมมิใช่หรือ

    นี่แสดงถึงความหวั่นไหว แม้แต่การที่จะถวายบังคม

    ผู้ที่ประกาศชื่อและผู้ที่ประกาศโคตร ก็คิดที่จะให้ผู้ที่อยู่ในหมู่ชนนั้นรู้ว่า เป็นบุตรของตระกูลเก่า ส่วนพวกที่นั่งนิ่ง บางพวกก็คิดว่า ถ้าสนทนากันแม้เพียง ๒ คำ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้คุ้นเคยกัน เมื่อคุ้นเคยกันอยู่ จะไม่ถวายภิกษาสักหนึ่งหรือ สองทัพพี ก็ไม่ควร เพื่อที่จะให้ตนพ้นจากความคุ้นเคยนั้น จึงพากันนั่งนิ่ง

    ส่วนพวกที่นั่งนิ่งอีกพวกหนึ่งนั้น ก็นิ่งเพราะไม่รู้ว่าควรจะกระทำอย่างไร

    แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่ต่างกันไป ทุกกาลสมัย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สัจจกนิครนถ์พอนั่งแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

    ข้าพเจ้าขอถามพระโคดมสักหน่อยหนึ่ง ถ้าพระโคดมจะทำโอกาสเพื่อแก้ปัญหาแก่ข้าพเจ้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ ท่านประสงค์จะถามปัญหาใด ก็ถามเถิด

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า

    พระโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระโคดมมีส่วนอย่างไรที่เป็นไปมากในพวกสาวก

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเรา มีส่วนอย่างนี้ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญา ไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ดังนี้

    ดูกร อัคคิเวสสนะ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเรา มีส่วนอย่างนี้ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย

    เมื่อสัจจกนิครนถ์ได้ฟังก็เข้าใจว่า ตัวเองเป็นผู้ที่เก่งกว่าพระผู้มีพระภาค จึงขอโอกาสที่จะอุปมา และได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ท่านพระโคดม ขออุปมาจงแจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า

    คือ ขอโอกาสที่จะอุปมา

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อัคคิเวสสนะ อุปมานั้นจงแจ่มแจ้งแก่ท่านเถิด

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า

    พระโคดม เหมือนพืชพันธุ์ไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ พืชพันธุ์เหล่านั้นทั้งหมด ต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ได้ หรือเหมือนการงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องทำด้วยกำลังอันบุคคลทำอยู่ การงานเหล่านั้นทั้งหมด บุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ต้องตั้งอยู่บนแผ่นดิน จึงทำกันได้ ฉันใด ปุริสบุคคลนี้มีรูปเป็นตน มีเวทนาเป็นตน มีสัญญาเป็นตน มีสังขารเป็นตน มีวิญญาณเป็นตน ต้องตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงได้ประสบผลบุญ ผลบาป ฉันนั้น


    ถ้าใครคิดอย่างนี้ เดี๋ยวนี้สะสมไป ไม่เห็นว่า รูป เวทนาไม่ใช่ตน ก็อาจจะมีความเห็นอย่างสัจจกนิครนถ์ได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ ข้อนั้นท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รูปเป็นตนของเรา เวทนาเป็นตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา วิญญาณเป็น ตนของเรา ดังนี้ มิใช่หรือ

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า

    พระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนั้น ประชุมชนเป็นอันมากก็กล่าวอย่างนั้น

    ยังยืนยันในความคิดเห็น แทนที่จะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคให้ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ ประชุมชนเป็นอันมากจักทำอะไรแก่ท่าน ดูกร อัคคิเวสสนะ เชิญท่านยืนยันถ้อยคำของท่านเถิด

    คือ ไม่จำเป็นต้องอ้างคนอื่นว่า ใครๆ ก็เห็นอย่างนี้ ทุกคนก็เห็นอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคไม่ได้กล่าวถึงความคิดเห็นของคนอื่น แต่ให้สัจจกนิครนถ์มีความแน่ใจว่า เฉพาะสัจจกนิครนถ์เองคิดอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า จึงได้ตรัสถามอีกครั้งหนึ่ง

    สัจจกนิครนถ์ก็กราบทูลว่า

    พระโคดม เป็นความจริง ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ เราจักสอบถามท่านในข้อนี้แหละ ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านพึงแก้อย่างนั้น ดูกร อัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อำนาจของพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้ว เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือ พระเจ้ามคธอชาตศัตรูเวเทหิบุตร อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบราชบาตรคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ พึงให้เป็นไปได้ในพระราชอาณาเขตของพระองค์มิใช่หรือ

    ซึ่งสัจจกนิครนถ์ก็ทูลรับว่าเป็นความจริงอย่างนั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตนของเรา อำนาจของท่านเป็นไปในรูปนั้นว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเสียถึงสองครั้ง ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ กาลบัดนี้ท่านจงแก้ ไม่ใช่กาลที่ท่านควรนิ่ง ดูกร อัคคิเวสสนะ ผู้ใดอันตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้งมิได้แก้ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงในที่เช่นนี้

    ขณะนั้นเทวดาท่านหนึ่งถือกระบองเพชรลุกเป็นไฟรุ่งเรืองลอยอยู่ในท้องฟ้า ณ เบื้องบนศีรษะสัจจกนิครนถ์ ประกาศว่า ถ้าสัจจกนิครนถ์ไม่แก้ปัญหานี้ จักผ่าศีรษะสัจจกนิครนถ์นั้นเจ็ดเสี่ยงในที่นี้นี่แหละ

    สำหรับเทวดาท่านนั้น เฉพาะพระผู้มีพระภาคกับสัจจกนิครนถ์เท่านั้นเห็น ในทันใดนั้น สัจจกนิครนถ์ตกใจกลัวจนขนชัน แสวงหาพระผู้มีพระภาคเป็นที่ต้านทานป้องกันเป็นที่พึ่ง ได้ทูลว่า

    พระโคดมผู้เจริญ ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามซ้ำ และสัจจกนิครนถ์ได้ตอบว่า

    ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ ท่านจงทำในใจเถิด ครั้นทำไว้ในใจแล้วจึงกล่าวแก้ (ทำในใจ หมายความถึงพิจารณาไตร่ตรอง) เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ต่อกัน ดูกร อัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณ เที่ยง หรือไม่เที่ยง

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า

    ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า

    สิ่งนั้นเป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา

    สัจจกนิครนถ์ทูลว่า

    ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า คำที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับสัจจกนิครนถ์ ก็คือ ในขณะนี้เอง ได้ยินไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไปแล้วจะยังเป็นของใคร ขณะที่กำลัง ได้ยิน รู้สึกเหมือนกะว่าเราได้ยิน แต่ได้ยินก็ดับ ดับแล้วก็ดับเลย ไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดับไปแล้วนั้นจะเป็นของใคร ถ้าสัจจกนิครนถ์พิสูจน์และ พิจารณาธรรมในขณะนั้น ย่อมจะเห็นธรรมตามความเป็นจริงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา ซึ่งสัจจกนิครนถ์ก็ทูลว่า ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ

    รูปของทุกท่าน ในขณะที่นั่งลงแล้วเริ่มฟัง กับในขณะนี้ ก็ต่างกันมากแล้ว รูปเกิดแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ เวทนา ความรู้สึก ก็ต่างกันมาก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ แม้แต่สัญญา หรือสังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไปๆ ถ้าพิจารณาถึงความดับ ความสิ้นไปของรูป ของเวทนา ของสัญญา ของสังขาร ของวิญญาณ จะรู้ได้ว่า ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นของเรา แม้รูปชั่วขณะเดียวที่ดับ แม้นามขณะเดียวที่ดับ ไม่ว่าจะเป็นเห็น หรือได้ยิน หรือคิดนึก หรือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ก็ตามที่ดับไปแล้ว ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นของเรา ฉันใด รูปที่กำลังปรากฏ หรือนามที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นของเรา เพราะว่ายังไม่ทันไรก็ดับไปเสียแล้ว

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร อัคคิเวสสนะ เปรียบเหมือนบุรุษมีความต้องการแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้อยู่ ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่งในป่านั้น มีต้นตรง ยังกำลังรุ่น ไม่คด เขาจึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคนต้น แล้วตัดยอด ริดใบออก เขาไม่พบแม้แต่กระพี้ แล้วจะพบแก่นได้แต่ที่ไหน แม้ฉันใด ดูกร อัคคิเวสสนะ ท่านอันเราซักไซ้ไล่เลียง สอบสวนในถ้อยคำของตนเอง ก็เปล่า ว่าง แพ้ไปเอง ท่านได้กล่าววาจานี้ในที่ประชุมชนในเมืองเวสาลีว่า เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ ที่เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ แม้ที่ปฏิญญาตนว่าเป็นพระอรหันตสัมมา-สัมพุทธเจ้าที่ปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา จะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้แม้แต่คนเดียวเลย หากเราปรารภโต้ตอบวาทะ กะเสาที่ไม่มีเจตนา แม้เสานั้นปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว จะป่วยกล่าวไปไยถึงมนุษย์เล่า ดังนี้

    ดูกร อัคคิเวสสนะ หยาดเหงื่อของท่านบางหยาดหยดจากหน้าผากลงยังผ้าห่มแล้วตกที่พื้น ส่วนเหงื่อในกายของเราในเดี๋ยวนี้ ไม่มีเลย

    ดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงเปิดพระกาย มีพระฉวีดังทองในบริษัทนั้น

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์นั่งนิ่งอั้น เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ

    ในลำดับนั้น เจ้าลิจฉวีผู้มีนามทุมมุขะ ทราบว่าสัจจกนิครนถ์นิ่งอั้น เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อุปมาย่อมแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ทุมมุขะ อุปมานั้นจงแจ่มแจ้งแก่ท่านเถิด

    คือ ท่านขอโอกาสที่จะอุปมา

    เจ้าลิจฉวีนั้นทูลถามว่า

    เปรียบเหมือนในที่ใกล้บ้านหรือนิคม มีสระโบกขรณีอยู่สระหนึ่ง ในสระนั้น มีปูอยู่ตัวหนึ่ง พวกเด็กชายหญิงเป็นอันมากออกจากบ้านหรือนิคมนั้นไปถึง สระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็ลงจับปูขึ้นจากน้ำ วางไว้บนบก ปูนั้นจะส่ายก้ามไปข้างไหน เด็กเหล่านั้นก็คอยต่อยก้ามปูนั้นด้วยไม้บ้าง ด้วยกระเบื้องบ้าง เมื่อปูนั้นก้ามหักหมดแล้ว ก็ไม่อาจลงสู่สระโบกขรณีนั้นเหมือนก่อนได้ ฉันใด ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม เข้าใจผิด กวัดแกว่ง บางอย่างๆ ของสัจจกนิครนถ์ พระองค์หักเสียแล้ว แต่นี้ไป สัจจกนิครนถ์ไม่อาจเข้ามาใกล้พระองค์ด้วยความประสงค์จะโต้ตอบอีก ก็ฉันนั้นแหละ

    เมื่อเจ้าลิจฉวีทุมมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ก็พูดว่า

    เจ้าทุมมุขะ ท่านหยุดเถิดๆ ท่านพูดมากนัก ข้าพเจ้าไม่ได้พูดกับท่าน ข้าพเจ้าพูดกับพระโคดมต่างหาก

    ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็ทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดม ข้อที่พูดนั้นเป็นของข้าพเจ้า และของพวกสมณพราหมณ์ เหล่าอื่น ยกเสียเถิด เป็นแต่คำเพ้อ พูดเพ้อกันไป

    ตอนนี้มีสติระลึกได้ นี่คือผลของการฟังด้วยการพิจารณาด้วยสติจริงๆ แม้แต่สัจจกนิครนถ์ก็ยังสามารถระลึกได้ว่า คำที่พูดแล้ว เป็นแต่คำเพ้อ พูดเพ้อกันไป

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    2 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ