รสพระธรรม


    ใน ขุททนิกาย เถรคาถา เอกนิบาต วรรคที่ ๑๐ ปริปุณณกเถรคาถา ท่านพระเถระกล่าวว่า

    สุภาษิตสรรเสริญรสพระธรรม

    สุธาโภชน์มีรสตั้งร้อย ที่เราบริโภคในวันนี้ ก็ไม่เหมือนอมตะที่เราได้บริโภค พระธรรม ที่พระพุทธเจ้าผู้โคดมทรงเห็นซึ่งธรรมหาประมาณมิได้ ทรงแสดงไว้แล้ว

    เทียบกันไมได้เลย ระหว่างรสอาหารกับรสพระธรรม โดยเฉพาะรสของอมตธรรม คือ ธรรมที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ว่าผู้ที่เห็นรสพระธรรมว่า เลิศกว่ารสทั้งปวง ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟังธรรม และพิจารณา เข้าใจ ซาบซึ้ง ปฏิบัติตาม และรู้ตามว่า สภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นความจริงอย่างนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น การฟังมีประโยชน์มาก ที่จะทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏให้ละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เพื่อการปฏิบัติจะได้ถูกต้องขึ้น รู้ความละเอียดของธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น จนกระทั่งเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    ขอกล่าวถึงการเปรียบเทียบรสของพระธรรม สำหรับผู้ที่ได้ประจักษ์ในคุณค่าของรสพระธรรมแล้ว ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๕ การณปาลีสูตร มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมือง เวสาลี สมัยนั้น การณปาลีพราหมณ์ใช้คนให้ทำการงานของเจ้าลิจฉวีอยู่ ได้เห็น ปิงคิยานีพราหมณ์เดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ถามว่า

    อ้อ ท่านปิงคิยานีมาจากไหนแต่ยังวัน

    ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า

    ข้าพเจ้ามาจากสำนักพระสมณโคดม ฯ

    การณปาลีพราหมณ์ถามว่า

    ท่านปิงคิยานี ย่อมเข้าใจพระปรีชา (ความฉลาดด้วยปัญญา) ของพระสมณโคดมว่า เห็นจะเป็นบัณฑิตนั้นอย่างไร ฯ

    ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า

    ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าคือใคร และเป็นอะไร จึงจักรู้พระปรีชาของพระสมณโคดม ผู้ใดพึงรู้พระปรีชาของพระสมณโคดม แม้ผู้นั้น พึงเป็นเช่นกับพระสมณโคดมนั้นแน่นอน ฯ

    การณปาลีพราหมณ์ถามว่า

    ได้ยินว่า ท่านปิงคิยานีสรรเสริญพระสมณโคดมยิ่งนัก ฯ

    ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า

    ข้าพเจ้าคือใคร และเป็นอะไร จึงจักสรรเสริญพระสมณโคดม และท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้น อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสรรเสริญแล้วๆ ว่า เป็นผู้ประเสริฐที่สุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ

    การณปาลีพราหมณ์ถามว่า

    ก็ท่านปิงคิยานีเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงเลื่อมใสยิ่งนักในพระสมณโคดมอย่างนี้ ฯ

    ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า

    ท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษผู้อิ่มในรสอันเลิศแล้ว ย่อมไม่ปรารถนารสที่เลวเหล่าอื่น ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นโดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ย่อมไม่ปรารถนาวาทะของสมณะเป็นอันมากเหล่าอื่น โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น

    เปรียบเหมือนบุรุษผู้ถูกความหิวและความอ่อนเพลียครอบงำ พึงได้รวงผึ้ง เขาพึงลิ้มรสโดยลักษณะใดๆ ก็ย่อมได้รสดีอันไม่เจือ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นโดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ย่อมได้ความดีใจ ย่อมได้ความเลื่อมใสแห่งใจ โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น

    เปรียบเหมือนบุรุษ พึงได้ไม้จันทน์แห่งจันทน์เหลืองหรือจันทน์แดง พึงสูดกลิ่นจากที่ใดๆ เช่น จากราก จากลำต้น หรือจากยอด ก็ย่อมได้กลิ่นหอมดี กลิ่นแท้ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นโดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ก็ย่อมได้ความปราโมทย์ ย่อมได้โสมนัส โดยลักษณะนั้น ฉันนั้น

    เปรียบเหมือนบุรุษผู้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก นายแพทย์ผู้ฉลาดพึงบำบัดอาพาธของเขาโดยเร็ว ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นโดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจของเขา ย่อมหมดไป โดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น

    เปรียบเหมือนสระน้ำมีน้ำใสน่าเพลินใจ น้ำเย็น น้ำขาว มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ บุรุษผู้ร้อนเพราะแดด ถูกแดดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว กระหาย เดินมาถึง เขาลงไปในสระน้ำนั้น อาบ ดื่ม พึงระงับความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนทั้งปวง ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นโดยลักษณะใดๆ คือ โดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรม ความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนทั้งปวงของเขา ก็ย่อมระงับไปโดยลักษณะนั้นๆ ฉันนั้น ฯ

    เมื่อปิงคิยานีพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว การณปาลีพราหมณ์ลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกเข่าข้างขวาลงบนแผ่นดิน ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ เปล่งอุทานสามครั้งว่า

    ขอความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วกล่าวต่อไปว่า ท่านปิงคิยานี ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านปิงคิยานี ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านปิงคิยานีประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น

    ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดมพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านปิงคิยานีจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

    จบ สูตรที่ ๔


    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 536

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    23 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ