ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)


    คือ เพราะไม่พยาบาท จึงเป็นผู้ดูน่ารัก เป็นที่ยกย่องของสัตว์ทั้งหลาย ให้สัตว์เลื่อมใสโดยไม่ยาก เพราะเป็นผู้พอใจยิ่งในประโยชน์ของผู้อื่น

    อนึ่ง เป็นผู้มีสภาวะไม่เศร้าหมอง อยู่ด้วยเมตตา เป็นผู้มีศักดิ์มีอานุภาพมาก

    เพราะเป็นผู้ไม่เห็นผิด จึงย่อมได้สหายดี แม้จะถึงตัดศีรษะก็ไม่ทำกรรมชั่ว เป็นผู้ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าวเพราะเห็นความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน

    ศรัทธาของเราเป็นรากตั้งมั่นในพระสัทธรรม เชื่อการตรัสรู้ของพระตถาคต ไม่ยินดีในลัทธิอื่น ดุจพระยาหงส์ไม่ยินดีในที่มีขยะฉะนั้น

    นี่คือความละเอียดของจิตใจซึ่งรังเกียจความเห็นผิด ไม่ต้องการสมาคม เสพ คุ้นเคยกับความเห็นผิดต่างๆ ซึ่งบางคนก็ชอบลอง รู้ว่าไม่มีเหตุผลแต่ลองดูซิว่า จะเป็นอย่างไร บางคนมีความสนใจอย่างนั้น แต่สำหรับคนที่ศรัทธา เป็นรากตั้งมั่นใน พระสัทธรรม เชื่อการตรัสรู้ของพระตถาคต ไม่ยินดีในลัทธิอื่น ดุจพระยาหงส์ไม่ยินดีในที่มีขยะฉะนั้น คือ รู้ว่าไม่มีประโยชน์ และนอกจากนั้นถ้ายังเป็นผู้ที่ขาดเหตุผลอยู่ ก็อาจจะทำให้ยึดมั่นหรือสนใจในเรื่องมงคลตื่นข่าวต่างๆ ได้ เพราะบางคนแม้ว่า ฟังพระธรรมและมีความเลื่อมใส แต่ถ้ายังไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรมจริงๆ ก็อาจจะเผลอ และเชื่อในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลซึ่งเป็นมงคลตื่นข่าวได้

    ส่วนการปฏิบัติในจาริตศีล พึงทราบอย่างนี้

    จาริตศีล หมายถึงความประพฤติที่ควรกระทำ เพราะฉะนั้น แม้ว่าท่านจะ เว้นทุจริต ไม่ล่วงศีลก็ตาม แต่ก็ควรจะได้พิจารณาความประพฤติของพระโพธิสัตว์ เพื่อท่านจะได้เจริญกุศลยิ่งขึ้น

    พระโพธิสัตว์กระทำอภิวาท ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่กัลยาณมิตรผู้ดำรงอยู่ในฐานะครูตลอดเวลา

    อนึ่ง ทำการบำรุงกัลยาณมิตรเหล่านั้นตลอดเวลา ทำการช่วยเหลือคนไข้ทั้งหลาย ฟังบทสุภาษิตแล้วทำสาธุการ พรรณนาคุณของผู้มีคุณธรรม อดทนใน การทำความเสียหายของคนอื่น ระลึกถึงผู้ทำอุปการะ อนุโมทนาบุญ น้อมบุญของตนเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณ อยู่ในความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลายตลอดกาล เมื่อมีโทษ เห็นโดยความเป็นโทษแล้วแจ้งแก่สหธรรมิกเช่นนั้นตามความเป็นจริง บำเพ็ญสัมมาปฏิบัติให้ยิ่งโดยชอบ

    อนึ่ง เมื่อควรทำสิ่งเป็นประโยชน์อันสมควรของตนแก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ถึงความเป็นสหาย

    อนึ่ง เมื่อทุกข์มีความเจ็บป่วยเป็นต้นเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้จัดการช่วยเหลือตามสมควร เมื่อสัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในความเสื่อม มีความเสื่อมจากญาติ และสมบัติเป็นต้น ก็ช่วยบรรเทาความเศร้าโศก เป็นผู้ตั้งอยู่ในสภาพที่จะช่วยเหลือ ข่มผู้ที่ควรข่มโดยถูกธรรม เพื่อให้พ้นจากอกุศล แล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล ยกย่องผู้ที่ควรยกย่องโดยธรรม

    อนึ่ง มหาบุรุษเป็นผู้ปกปิดความดี เปิดเผยโทษ มักน้อย สันโดษ สงัด ไม่คลุกคลี ทนต่อทุกข์ ไม่หวาดสะดุ้ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เย่อหยิ่ง ไม่หวั่นไหว ไม่ปากร้าย ไม่หาเรื่อง มีอินทรีย์สงบ ใจสงบปราศจากมิจฉาชีพมีการหลอกลวง เป็นต้น ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบท ปรารภความเพียร มีตนมั่นคง ไม่คำนึงถึงกายและชีวิต ไม่ละบรรเทาการพิจารณาในกายและชีวิตแม้มีประมาณน้อย ไม่ต้องพูดถึงมีประมาณมากล่ะ ละบรรเทาอุปกิเลสมีโกรธและผูกโกรธเป็นต้น อันเป็นเหตุแห่งความเป็น ผู้ทุศีลแม้ทั้งปวง

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1960


    ข้อความต่อไปใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีว่า

    อนึ่ง มหาบุรุษเป็นผู้นำคนตาบอด บอกทางให้ ให้สัญญาด้วยนิ้วมือแก่ คนหูหนวก อนุเคราะห์ประโยชน์ คนใบ้ก็เหมือนกัน ให้ตั่ง ให้ยานแก่คนพิการ หรือนำไป คนไม่มีศรัทธาพยายามให้มีศรัทธา คนเกียจคร้านพยายามให้เกิดอุตสาหะ คนหลงลืมพยายามให้ได้สติ คนมีใจวุ่นวายพยายามให้ได้สมาธิ คนมีปัญญาทราม พยายามให้มีปัญญา คนหมกมุ่นในกามฉันทะพยายามบรรเทากามฉันทะ คนหมกมุ่นในพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา พยายามให้บรรเทาวิจิกิจฉา คนมีปกติมีกามวิตกเป็นต้น พยายามบรรเทามิจฉาวิตกมีกามวิตกเป็นต้น อาศัยความเป็นผู้รู้คุณที่ทำแล้วแก่สัตว์ผู้เป็นบุพการี จึงพูดขึ้นก่อน พูดน่ารัก สงเคราะห์ นับถือ โดยทำการตอบแทนเช่นเดียวกัน หรือยิ่งกว่า

    มหาบุรุษย่อมติดตามช่วยเหลือสหายในอันตรายทั้งหลาย มหาบุรุษกำหนด รู้ตนและสภาพปกติของสหายเหล่านั้นๆ แล้ว อยู่รวมกับสหายเหมือนที่เคยอยู่ ร่วมกันมา อนึ่ง ปฏิบัติในสหายเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา ด้วยให้พ้นจากอกุศล แล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล มิใช่ให้ตั้งอยู่โดยอย่างอื่น เพราะการตามรักษาจิตของผู้อื่น ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ก็เพียงเพื่อความเจริญยิ่งเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ควรทะเลาะ ไม่ควรให้ถึงความเป็นผู้เก้อเขินเพราะอัธยาศัยนั้น ไม่ควรให้เกิดความรังเกียจสัตว์อื่น ควรทักท้วงในฐานะที่ควรข่ม เมื่อเขาอยู่ต่ำกว่า ไม่ควรวางตนในที่สูงกว่า ไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้ ไม่ควรคบมากเกินไป ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ

    แต่ละข้อต้องพิจารณาจริงๆ จึงจะประพฤติปฏิบัติตามได้ถูกต้องจริงๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    แต่คบสัตว์ที่ควรคบตามสมควรแก่กาลเทศะ ไม่ติเตียนคนที่รักหรือสรรเสริญ คนที่ไม่รักต่อหน้าผู้อื่น ไม่วิสาสะกับคนที่ไม่คุ้นเคย ไม่ปฏิเสธการเชื้อเชิญที่เป็นธรรม ไม่แสดงตัวมากไป ไม่รับของมากเกินไป

    นี่เป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ที่จะต้องพิจารณา ซึ่งต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ ในขณะนั้น มิฉะนั้นวาจาก็ล่วงไปโดยไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้คนอื่นไม่สบายใจ เพราะขณะนั้นแม้ว่าจะเป็นความหวังดี แต่อาจจะผิดกาลเทศะ เช่น ไม่ติเตียนคนที่รักหรือสรรเสริญคนที่ไม่รักต่อหน้าผู้อื่น

    บางท่านมีความรักเพื่อน และเพื่อนทำไม่ดี เผลอไป ติทันทีต่อหน้าคนอื่น ซึ่งถ้าสติสัมปชัญญะเกิด รอไว้ก่อน มีโอกาสที่สมควรเมื่อไหร่ค่อยพูดกันทีหลัง แต่มักจะเผลอ กลัวว่าจะลืมติ หรือลืมเตือน ก็เตือนไปทันที ซึ่งความจริงแล้ว ยังมีโอกาส

    แสดงให้เห็นว่า แต่ละท่านกว่าจะหมดกิเลส ต้องขัดเกลาอย่างมากทีเดียวแม้แต่ข้อความที่ว่า มหาบุรุษย่อมติดตามช่วยเหลือสหายในอันตรายทั้งหลาย มหาบุรุษกำหนดรู้ตนและสภาพปกติของสหายเหล่านั้นๆ แล้ว อยู่รวมกับสหายเหมือนที่เคยอยู่ร่วมกันมา แสดงให้เห็นว่า ชีวิตคนเปลี่ยนแปลงขึ้นลง แต่เมื่อเป็นมิตรจริงๆ ไม่ว่าคนนั้นจะเปลี่ยนแปลงอยู่ในสภาพอย่างไร เคยเป็นอย่างไรก็เหมือน อย่างนั้น ปฏิบัติในสหายเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา ด้วยให้พ้นจากอกุศลแล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล มิใช่ให้ตั้งอยู่โดยอย่างอื่น ไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ควรทะเลาะ ไม่ควรให้ถึงความเป็นผู้เก้อเขิน ไม่ควรให้เกิดความรังเกียจสัตว์อื่น เพราะบางคน ช่างรังเกียจจริงๆ รังเกียจโดยเชื้อชาติบ้าง รังเกียจโดยข้อประการต่างๆ แต่ถ้า เป็นมิตรดีก็ควรเตือนบุคคลนั้นว่า ไม่ควรรังเกียจคนอื่น

    ควรทักท้วงในฐานะที่ควรข่ม เมื่อเขาอยู่ต่ำกว่าไม่ควรวางตนในที่สูงกว่า ไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้

    นี่เป็นเรื่องของการคบหาสมาคมในชีวิตประจำวัน

    ไม่ควรคบมากเกินไป ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ

    ต้องพิจารณาทั้งนั้น ใช่ไหม มิฉะนั้นก็คงจะขัดกันที่ว่า ไม่ควรคบในผู้อื่น จนหมดสิ้นก็หามิได้ และ ไม่ควรคบมากเกินไป ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ ควรคบตามสมควรแก่กาลเทศะ

    ผู้ฟัง การคบเพื่อน คือ ต้องทุ่มเทจิตใจทั้งหมด ไม่ใช่เพียงบางส่วน หรือ ปิดๆ บังๆ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้ หมายความว่าเป็นเพื่อนอย่างจริงทีเดียว ไม่ใช่เพียงแค่ผิวเผิน

    ผู้ฟัง ถ้ายังคบกันครึ่งๆ กลางๆ ถือว่าไม่ใช่เพื่อน

    ท่านอาจารย์ และที่ว่า ไม่ควรคบมากเกินไป ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ นี่ก็ต่างกันกับ ที่จะคบใครก็คบอย่างจริงใจที่ว่า ไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้ คือ ต้องเป็นเพื่อนจริงๆ

    ผู้ฟัง หมายความว่าต้องคบอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่คบอย่างครึ่งๆ กลางๆ หรือต่อหน้าอย่างหนึ่ง ลับหลังอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ และข้อความต่อไป ไม่ควรคบมากเกินไป ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ ฟังดูเหมือนจะขัดกัน แต่ความจริงไม่ขัดกัน คือ แม้แต่มิตรสหายก็ไม่ควรคลุกคลีจนเกินไป จนพร่ำเพรื่อ เพราะจะเป็นไปในเรื่องของการติดข้อง หรือทำให้เกิดโทษ

    ผู้ฟัง มิตรรักไปหากันบ่อยๆ ก็อาจแตกคอกันได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ที่ว่าไม่รับของมากเกินไป ถ้าเขาให้ด้วยศรัทธาในตัวเรา จะขัดกันไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกท่านปฏิเสธศรัทธาของคนอื่นไม่ได้ เพราะว่าผู้นั้นกำลังมีศรัทธา จริงๆ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อรับแล้วควรจะพิจารณาด้วยว่า มากเกินไปเมื่อไหร่ ก็ไม่ควรที่จะรับเมื่อนั้น คือ รับให้พอดีๆ และเมื่อสนิทสนมคุ้นเคยกันมากขึ้น ก็อาจจะปฏิเสธ หรือชี้แจงให้ฟังว่าควรจะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้น ไม่ปฏิเสธในศรัทธาของคนอื่นก็จริง แต่ไม่ควรรับมากเกินไปด้วย เพราะว่าบางท่านอาจจะมีศรัทธา แต่ทำให้เขาไม่มีโอกาสในการทำกุศลอย่างอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้น ควรให้เขาได้ทำกุศลทุกอย่างด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ที่ต้องการจะให้ และผู้นั้นก็รับๆ มากตลอดเวลา นี่ก็เป็นเรื่องความละเอียดของสติสัมปชัญญะ

    ไม่ปฏิเสธการเชื้อเชิญที่เป็นธรรม ไม่แสดงตัวมากเกินไป ก็เป็นเรื่องความละเอียดของการรู้จักกาลเทศะ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1961


    นาที 14:10

    สำหรับการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องมีสติสัมปชัญญะ อบรมเจริญกุศล ทุกประการด้วยความอดทน และไม่ต้องหวังว่าเมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะถ้าย้อนกลับมาพิจารณาจิตของตนเองก็จะรู้ได้ว่า ตราบใดที่ทุกวันๆ ยังมีอกุศลมากมาย บ่อยๆ และอยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ไกลมากทีเดียว ควรเริ่มสะสมกุศล ทุกประการเพื่อเป็นบารมี

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา นิทานคาถาวรรณนา มีข้อความตอนหนึ่งที่แสดงว่า ทุกบารมีประกอบกัน เกื้อกูลส่งเสริมกัน คือ

    ก็ความอดทนอย่างยิ่ง ในการบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เพื่อปัจเจกโพธิญาณ หรือสาวกโพธิญาณ นี้ชื่อว่าวิริยะ

    ความอดทนต่อความโกรธนั้นใด นี้ชื่อว่าขันติ

    การให้ทาน การสมาทานศีลเป็นต้น และการไม่กล่าวให้คลาดเคลื่อน (จากความเป็นจริง) อันใด นี้ชื่อว่าสัจจะ

    การอธิษฐานใจที่ไม่หวั่นไหวแน่วแน่ อันให้สำเร็จประโยชน์ในที่ทั่วไปนั่นแหละ ชื่อว่าอธิษฐาน

    การมุ่งประโยชน์ในหมู่สัตว์ อันเป็นพื้นฐานของความเป็นไปแห่งทานและศีลเป็นต้นนี้ ชื่อว่าเมตตา

    การวางเฉยในประการที่ไม่เหมาะสมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว ชื่อว่าอุเบกขา

    ดังนั้น เมื่อทาน ศีล ภาวนา และศีล สมาธิ ปัญญามีอยู่ บารมีทั้งหลาย มีวิริยะบารมีเป็นต้น ย่อมชื่อว่าสำเร็จแล้วทีเดียว ด้วยอาการอย่างนี้

    การที่จะบำเพ็ญทานต้องมีความอดทนอย่างยิ่ง มีวิริยะ มีจิตไม่หวั่นไหว แน่วแน่ในอันให้สำเร็จประโยชน์ในที่ทั่วไป

    นอกจากนั้น การกล่าวถึงบารมีโดยนัยต่างๆ แม้ที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยความหมายเดียวกันก็ยังเกื้อกูล เช่น ข้อความที่ว่า การมุ่งประโยชน์ในหมู่สัตว์ อันเป็นพื้นฐานของความเป็นไปแห่งทานและศีลเป็นต้นนี้ ชื่อว่าเมตตา ก็จะได้ทราบลักษณะของเมตตาอีกความหมายหนึ่ง คือ การมุ่งประโยชน์ในหมู่สัตว์ เป็นพื้นฐานของทานและศีล

    ท่านผู้ใดที่ให้ทาน ท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาจิตใจในขณะนั้นว่าเพราะเมตตา ท่านมีอุปนิสัยที่จะให้ ท่านก็ให้ ท่านสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขต่อบุคคลอื่น แต่ถ้าจะพิจารณาพื้นฐานที่ทำให้เกิดการกระทำนั้นก็คือเมตตา หรือท่านที่วิรัติทุจริต ทั้งกายและวาจา ก็จะได้เห็นว่า พื้นฐานที่ทำให้ท่านวิรัติทุจริตนั้นก็คือเมตตาด้วย ไม่ต้องการให้คนอื่นเดือดร้อนหรือเป็นทุกข์แม้ด้วยกายหรือวาจาของท่านขณะนั้น ก็เพราะเมตตา

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1963

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ