ตอบแทนมารดาบิดา


    อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ข้อ ๒๗๘ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทน ไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง ท่านทั้ง ๒ คือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑

    เพื่อให้ท่านผู้ฟังระลึกถึงกิจหน้าที่ของท่านที่จะเจริญกุศล ควรจะทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ท่านอุปการะกระทำตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้ง ๒ นั้น ด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด และท่านทั้ง ๒ นั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็น อิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรัตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยงแสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย

    ส่วนบุตรคนใด ยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้น ย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา ฯ

    เป็นการกระทำที่ยาก เพราะเหตุว่าในการที่จะบำรุงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง บิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง และนวด อบกลิ่น ให้อาบน้ำ หรือว่าให้ท่านทั้งสองถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะบนบ่าทั้งสอง ก็ยังคงไม่ยากเท่ากับการที่บุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นใน จาคสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา

    เพราะโดยมาก มารดาบิดาทั้งหลายย่อมคิดว่า ท่านเป็นผู้กระทำกิจอบรมสั่งสอนบุตรธิดา ส่วนการที่บุตรธิดาจะตอบแทนท่านโดยการที่ให้ท่านผู้มีศรัทธายังไม่ตั้งมั่นให้ตั้งมั่น ให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยจา ถึงพร้อมด้วยปัญญา ก็คงต้องอาศัยกุศลจิต และมีความอดทน มีความพากเพียรที่จะกระทำด้วยจิตที่อ่อนน้อม เคารพ เป็นกุศลจริงๆ ส่วนการที่จะเป็นผลมากน้อยเพียงไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย แต่ให้ทราบว่า นั่นเป็นกิจ เป็นหน้าที่โดยตรงที่แท้จริงที่ควรจะกระทำต่อมารดาบิดาด้วย ไม่ใช่เพียงแต่อุปการะตอบแทนท่านด้วยกาย เป็นกิจที่กระทำได้ยากและส่วนมากก็อาจจะลืมคิดถึงมารดาบิดา หรือคิดถึงน้อยกว่าบุตรธิดา

    อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ข้อ ๒๗๗

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภูมิอสัตบุรุษและสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ภิกษุทั้งหลายนั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภูมิอสัตบุรุษเป็นไฉน อสัตบุรุษย่อมเป็นคนอกตัญญู อกตเวที ก็ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้ อสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้ เป็นภูมิอสัตบุรุษทั้งสิ้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสัตบุรุษย่อมเป็นคนกตัญญูกตเวที ก็ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีทั้งหมดนี้ เป็นภูมิสัตบุรุษ ฯ

    สำหรับเรื่องของการที่จะปฏิบัติต่อพระตถาคตและสาวกของพระตถาคต ซึ่งหมายถึงการนอบน้อมแสดงความเคารพต่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ใน ปัญจมสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย ปริวารวรรณนา กติปุจฉาวรรณนา ว่าด้วยอคารวะ ๖ มีข้อความว่า

    วินิจฉัยในคำว่า พุทฺเธ อคารโว เป็นอาทิ พึงทราบดังนี้

    ผู้ใด เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ไม่ไปสู่ที่บำรุง เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ไม่ไปสู่เจติยสถาน โพธิสถาน ไม่ไหว้เจดีย์หรือต้นโพธิ์ กางร่มและสวมรองเท้าเที่ยวไปบนลานเจดีย์ พึงทราบว่า คนผู้นั้นไม่มีความเคารพในพระพุทธเจ้า

    ฝ่ายผู้ใด อาจอยู่แท้ แต่ไม่ไปสู่ที่ฟังธรรม ไม่สวดสรภัญญะ ไม่กล่าวธรรมกถา ทำลายโรงธรรมสวนะเสีย แล้วไป มีจิตฟุ้งซ่านหรือไม่เอื้อเฟื้อนั่งอยู่ พึงทราบว่า ผู้นั้นไม่มีความเคารพในพระธรรม

    ผู้ใด ไม่ประจงตั้งไว้ซึ่งความยำเกรงในพระเถระ ภิกษุใหม่และภิกษุผู้ปานกลาง แสดงความคะนองกายในที่ทั้งหลาย มีโรงอุโบสถ เป็นต้น ไม่ไหว้ตามลำดับ ผู้แก่ พึงทราบว่า ผู้นั้นไม่มีความเคารพในพระสงฆ์

    ฝ่ายผู้ใด ไม่สมาทานศึกษาไตรสิกขาเสียเลย พึงทราบว่า ผู้นั้นไม่มีความเคารพในสิกขา

    ฝ่ายผู้ใด ตั้งอยู่ในความประมาท คือ ในความอยู่ปราศจากสติเท่านั้น ไม่พอกพูนลักษณะแห่งความไม่ประมาท พึงทราบว่า ผู้นั้นไม่มีความเคารพในความไม่ประมาท

    อนึ่ง ผู้ใดไม่กระทำเสียเลยซึ่งปฏิสันถาร ๒ อย่างนี้ คือ อามิสปฏิสันถาร ธรรมปฏิสันถาร พึงทราบว่า ผู้นั้นไม่มีความเคารพในปฏิสันถาร

    ส่วนเนื้อความในคารวนิทเทส พึงทราบในลักษณะที่ตรงกันข้ามที่กล่าวแล้ว

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 591

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    3 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ