พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 189


    ตอนที่ ๑๘๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าโมหมูลจิตมีโทษมาก หรือ ร้ายแรง มีความรู้สึกว่ามองไม่เห็นโทษ

    ท่านอาจารย์ มีโทษมากคลายช้ากว่าจะหมด ไม่รู้ทุกขณะที่อกุศลจิตเกิด

    ผู้ฟัง แต่ก็ไม่ได้เดือดร้อนที่จะไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็โทษมากเพราะว่าไม่รู้ ถ้ารู้ก็ยังโทษน้อย นี่ไม่รู้ อย่างไรๆ ก็ไม่รู้ๆ ทั้งนั้นเลย ความไม่รู้เป็นโทษมากหรือโทษน้อย ไม่รู้นี่ ถ้าไม่รู้แล้วทำอะไรได้ทุกอย่างที่เป็นอกุศลเพราะไม่รู้ ทำดีได้ไหมถ้าอกุศลหรือไม่รู้เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ถ้าอกุศลก็คงทำดีไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ไปเอาคำในพระไตรปิฎกหรืออรรถกถามากล่าว เพราะนั่นเป็นคำของท่านที่เห็นโทษ เพราะท่านมีปัญญาที่สามารถเห็นโทษ ถ้าปัญญาสามารถที่จะเห็นโทษเมื่อไรก็กล่าวอย่างนั้น

    อ.ธิดารัตน์ โมหะมีโทษมาก และก็คลายช้า เพราะจริงๆ แล้วลักษณะของโมหะยิ่งถ้าไปเกิดกับอุทธัจจะด้วย รู้ได้ยากมาก ถ้าหากว่าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของโมหะที่เกิดดับอุทธัจจะนี้ได้เลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าหิริ และโอตตัปปะของพระโสดาบันเท่ากับพระอนาคามี ก็ไม่ต้องอบรมเลยใช่ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าแม้แต่หิริโอตตัปปะของปุถุชนก็ไม่เหมือนหิริโอตตัปปะของพระโสดาบัน หิริโอตตัปปะของพระโสดาบันก็ไม่เหมือนพระอริยะขั้นสูงต่อไป

    อ.ธิดารัตน์ หมายความว่าแม้ลักษณะของโมหะก็มีลักษณะทั้งกำลังมาก กำลังน้อย หยาบ ละเอียด คือตามการสะสม

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็เกิดกับอกุศลทุกประเภท ขาดโมหะไม่ได้ แล้วจะไม่เป็นโทษมากได้อย่างไร

    อ.ธิดารัตน์ และที่น่ากลัวมากก็คือปกปิดไม่ให้รู้ความจริงทั้งหมด คือเหมือนกับกั้นปัญญาเลยใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ มืดบอด ก็คือไม่สามารถจะเข้าใจถูก เห็นถูก ตามความเป็นจริงได้

    ผู้ฟัง ที่จริงแล้ว "รูป" เป็นเพียงสื่อกลางที่จะรับกุศลวิบาก และอกุศลวิบากให้เกิด รูปนี้ส่งผลถึงจิตที่จะเป็นไปในทางดีหรือไม่ดี ถ้าหากว่าจะพิจารณาอย่างนี้จะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ จะพิจารณาอย่างไรก็ได้แล้วแต่การคิด ไม่ใช่อนุญาตว่าไม่ให้คิดหรือพิจารณาไม่ได้ แต่ถูกหรือผิดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง

    ผู้ฟัง แล้วถูกหรือไม่

    ท่านอาจารย์ พิจารณาอย่างไร เพราะคำถามแรกว่า เราติดในรูปมากไหม และที่ตัวของเราก็มีรูปตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า ถ้าเทียบกับรูปทั้งหลาย เราติดในรูปไหนมากที่สุด ดอกไม้เดี๋ยวก็เหี่ยว พรุ่งนี้ก็เหี่ยว ไม่เห็นสำคัญอะไร แต่ตัวเรา ทำอย่างไรดีถึงจะแข็งแรง ถึงจะสวยงาม ถึงจะยั่งยืนต่อไปอีก

    ผู้ฟัง บำรุงรักษามันก็เหี่ยวเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่อะไรเป็นสิ่งที่เราพอใจที่จะให้ยั่งยืนคงอยู่

    ผู้ฟัง รูปร่างกายนี้

    ท่านอาจารย์ ก็รักรูปร่างกายนี้ที่สุดยิ่งกว่ารูปอื่นใด

    ผู้ฟัง ที่รับวิบาก

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องวิบาก เพียงแต่ให้เห็นว่าคุณ และโทษของรูป เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ว่ารูปไม่รู้อะไรทั้งสิ้น ใครจะไปหลงชอบเท่าไร รูปก็ไม่รู้อะไร รูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่จิตรู้รูป วันหนึ่งๆ มีรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ปรารถนาแต่คุณคือรูปที่จะทำให้ใจของเราแช่มชื่น ไม่เดือดร้อน

    ผู้ฟัง เรามาเรียนธรรมก็ต้องอาศัยรูปถึงจะมาได้ใช่ไหม ไม่มีรูปก็มาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วก็รักรูปที่สุดใช่ไหม ปัญหาอยู่ตรงนี้ว่ารักอะไรที่สุดเท่านั้น ถ้ารูปนี้ทำให้เกิดความขุ่นข้องเมื่อไร ขณะนั้นก็เป็นโทษของรูป ถ้าเราจะได้ยินคำว่า“คุณ และโทษของรูป” อัสสาทะ อาทีนวะ อัสสาทะคือสภาพของรูปทำให้แช่มชื่น ทำให้เกิดความรู้สึกที่แช่มชื่น ถ้าอาทีนวะก็ทำให้ไม่พอใจ เป็นโทษ แต่ว่าความจริงแล้วไม่ใช่แต่รูปเท่านั้นที่เป็นโทษ ทุกๆ สิ่ง ทุกอย่างที่เกิดดับทำให้เกิดความติดข้องซึ่งเป็นโทษ

    ผู้ฟัง จากการสนทนาธรรมท่านก็บอกว่าในชีวิตประจำวันไม่มีคนอยู่แล้ว มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจการงาน และเมื่อศึกษาแล้วรู้ว่าสัมโพชฌงค์หรือวิริยสัมโพชฌงค์เป็นสิ่งที่ดีที่งาม ทำไมไม่ทำ ขอท่านอาจารย์ชี้แจงกับคำถามนี้

    ท่านอาจารย์ ธรรมต้องสอดคล้องกัน ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ถูกหรือไม่

    ผู้ถาม ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรทำ

    ผู้ถาม ก็จะต้องเป็นสภาพธรรมทำ

    ท่านอาจารย์ ถ้าสภาพธรรมไม่มีปัจจัยเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นทำกิจของสภาพธรรมนั้นได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัย จึงไม่ใช่เราทำ

    ผู้ฟัง ได้สนทนากันว่า เมื่อเวลาลักษณะของธรรมปรากฏ กับ ชื่อปรากฏ จะต่างกันอย่างไร เขาก็บอกว่าตามพยัญชนะก็ต่างกันอยู่แล้ว ขอท่านอาจารย์กรุณาชี้แจง

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสภาพธรรมเกิดดับนับไม่ถ้วน ชื่ออะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ชื่อก็มากมายจนกล่าวไม่ไหว

    ท่านอาจารย์ ต้องไปรู้ชื่อ หรือ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วจึงเข้าใจชื่อนั้นได้

    ผู้ฟัง แสดงว่าลักษณะของสภาพธรรมนั้นจะต้องมาก่อนที่จะมีชื่อ

    ท่านอาจารย์ บัญญัติคำตามสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่บัญญัติคำแล้วให้ไปทำสภาพนั้นๆ แต่สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร ก็บัญญัติคำที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพนั้นๆ เรื่องของ "ทำ" เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าขณะนั้นมีความเป็นเราหรือว่ามีความเข้าใจถูกว่าไม่ใช่เราจึงทำไม่ได้ สิ่งนี้เป็นหลักที่สำคัญที่สุด กำลังเห็น เราทำหรือไม่ ลองคิดดู กำลังได้ยิน เราทำหรือไม่ กำลังคิดเราทำหรือไม่ กำลังเป็นกุศล อกุศล มีเราทำหรือไม่ หรือเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างเมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้นก็จะคลายความเป็นอัตตาคือความเป็นเรา แม้ในขั้นของความเข้าใจ แต่ถ้าศึกษาด้วยความเป็นเรา แล้วก็คิดว่ายังต้องมีเรา ก็เหมือนกับเถียงหรือทะเลาะกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะทรงแสดงว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจตรงตามที่ทรงแสดงหรือไม่ ถ้าคิดว่าเราทำ ขณะนั้นเป็นจิตหรือเป็นเจตสิก หรือเป็นเรา และจิต เจตสิก เป็นเราหรือไม่ใช่เรา ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ประโยคสุดท้ายยังไม่ค่อยเข้าใจ โดยปกติแล้วในชีวิตประจำวันก็จะเป็นเราทำทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง แต่ความคิดที่เป็นสภาพธรรมก็เข้าใจแล้วว่าคือเป็นความคิดไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นเป็นเราหรือ

    ผู้ฟัง เห็นก็ยังเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ ก็เลยไม่ได้เรียนธรรม จิตเป็นอะไร เจตสิกเป็นอะไร มีลักษณะอย่างไรก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง สมมติว่า เรามีความเข้าใจ ว่าเห็นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งก็ไม่ใช่เรา แต่ในชีวิตประจำวันก็ยังมีเราที่กระทำทั้งกุศล และอกุศลอยู่

    ท่านอาจารย์ แล้วทำเห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง เห็นไม่ได้ทำ

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมทำกุศล

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์จะกล่าวว่า แม้กุศลหรืออกุศลก็คือไม่ใช่เราทำ

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเรายังไม่เข้าใจอย่างนี้ ไม่มีทางที่เราจะละความเป็นเราได้ ไม่มีทางที่จะรู้ว่าสติปัฏฐานเมื่อมีปัจจัยจึงเกิด ไม่ใช่ให้เราไปนั่งทำอะไรด้วยความเข้าใจว่าเราทำ แต่มีความเห็นถูก เข้าใจถูกว่าธรรมเป็นธรรม ธรรมใดเกิดก็เพราะว่ามีเหตุปัจจัย ไม่ใช่เพราะเราทำให้เกิด เราทำให้อะไรเกิดได้ ลองคิดดู ถ้าเราทำได้ เราก็ทำกุศลหมด แล้วก็ทำปัญญาให้มาก ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมวันนี้

    ผู้ฟัง ดังนั้น ในวันหนึ่งๆ ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดกับเราก็เป็นสภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นธรรม ทั้งหมดเป็นธาตุ แข็งเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครทำให้เกิด แต่มีจริง เป็นรูปธาตุซึ่งแข็งฉันใด นามธาตุก็เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากรูปธาตุ แต่ก็ไม่มีใครทำ เป็นธรรม เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เพิ่มขึ้น ก็จะคลายความเป็นเรา และศึกษาธรรมด้วยความเข้าใจขึ้น และก็สามารถที่จะมีปัจจัยที่ทำให้สติสัมปชัญญะเกิดรู้ตรงลักษณะ ซึ่งเรากล่าวว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่นี่ขั้นพูด แต่ทุกอย่างจริงๆ เมื่อสติสัมปชัญญะระลึกทุกลักษณะที่ปรากฏจึงจะรู้ว่าลักษณะนั้นๆ เป็นธรรม นี่เดี๋ยวเราทำ เดี๋ยวเราไม่ได้ทำ อย่างไรกันแน่ ก็ไม่ตรงใช่ไหม ก็ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่สัจจธรรม แต่ถ้าเป็นสัจจธรรมแล้วต้องไม่เปลี่ยน

    ผู้ฟัง ในวันหนึ่งๆ ที่เราเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเพราะเราทำ ก็เป็นความเห็นผิด และความเข้าใจผิดโดยตลอด

    ท่านอาจารย์ ขณะที่คิดก็เป็นจิต และเจตสิกนั่นเองที่คิด ถ้าไม่มีจิต และเจตสิกจะคิดอย่างนั้นได้หรือ

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่ความจริง

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นเราอยู่ ที่ไหน

    ผู้ฟัง นั่งอยู่ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วเราอยู่ที่ไหน ลองหาว่าเราอยู่ที่ไหน นั่งอยู่ตรงนี้ แล้วเราอยู่ที่ไหน ไม่อย่างนั้นการศึกษาธรรมก็จะไม่มีประโยชน์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ทรงตรัสรู้เพื่อให้ผู้ฟังค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เห็นถูกจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง และผู้ที่ได้ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงก็มีจำนวนมากมาย เพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกโดยฉันทะ โดยวิริยะ ผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมจะมีการเข้าใจว่าเห็นเป็นเรา ได้ยินเป็นเรา กุศลเป็นเรา อกุศลเป็นเรา แต่ถ้าศึกษาแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจว่าไม่ใช่เรา แต่ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะนั้นๆ เพราะฉะนั้นก็มีปัญญาอีกระดับหนึ่ง (ซึ่งต้องเริ่มตามลำดับขั้นตั้งแต่) สุตตมยปัญญา คือ ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง จินตามยปัญญา ปัญญาที่สำเร็จจากการไตร่ตรอง ความเข้าใจจึงเพิ่มขึ้น ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการอบรมความรู้ถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าสิ่งนั้นไม่ปรากฏจะไปตู่หรือว่าเข้าใจเอาเองว่าเข้าใจแล้ว เข้าใจอะไร ในเมื่อสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เข้าใจหรือยัง

    ผู้ฟัง แล้วอะไรเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ มิจฉาทิฏฐิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลเจตสิก เข้าใจผิดว่าสิ่งที่มีนั้นเป็นเรา แต่ความจริงเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง แม้แต่มิจฉาทิฏฐิก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่เกิดกับพระโสดาบันบุคคลใช่ไหม ก็แสดงว่าเป็นสภาพธรรมซึ่งก่อนนั้นมี แต่ดับหมดเป็นสมุจเฉทเมื่อเป็นพระโสดาบันบุคคล

    ผู้ฟัง สิ่งที่ท่านอาจารย์อธิบายนั้นพอเข้าใจได้ แต่เวลาที่ต้องไปทำโน่นทำนี่ก็ยังคิดว่าเราทำ อาจารย์กรุณาอธิบายวิธีคิดเช่นนี้เพื่อความเห็นถูกด้วย

    ท่านอาจารย์ อธิบายวิธีคิดให้ไปทำ หรือ ให้เข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง ให้เข้าใจถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจถูกต้อง ก็คือ ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้มีอะไรกำลังปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏจริงหรือไม่จริง ปรากฏจริงๆ หรือไม่ หรือนึกเอาเอง ฝันเอาเองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏเพราะมีสภาพธรรมที่กำลังเห็นสิ่งนั้น
    ขอถามว่า พระโสดาบันท่านหลงลืมสติหรือไม่

    ผู้ฟัง หลงลืมสติ

    ท่านอาจารย์ แต่ท่านไม่มีความเห็นผิดที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นท่านหรือเป็นตัวตน แต่คนที่ไม่ใช่พระโสดาบัน ขณะใดที่หลงลืมสติก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็ยังมีการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนเพราะยังมีอนุสัยกิเลส แต่ไม่ได้หมายความว่าการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนจะเกิดกับอกุศลจิตทุกขณะหรือทุกประเภท แต่ต้องเกิดกับโลภะ และบางขณะที่โลภะเกิดก็ไม่มีการเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นลักษณะของทิฏฐิไม่ใช่ลักษณะของโลภะ และรู้จักลักษณะของธรรมที่เป็นโลภะ และธรรมที่เป็นทิฏฐิหรือยัง หรือเพียงแต่รู้จักชื่อ เหมือนกับขณะนี้ ถ้าชื่อก็บอกว่าขณะที่เห็นนี้ไม่ใช่เรา เป็นจิต เป็นจักขุวิญญาณ นี่คือฟังเข้าใจ แต่ยังไม่ได้รู้จักสภาพเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ ฉันใด ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดก็ไม่สามารถที่จะรู้ความต่างในขณะที่เป็นโลภะหรือเป็นทิฏฐิ หรือเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ต้องเป็นสติสัมปชัญญะคือต้องมีปัญญาที่เกิดพร้อมกับสติซึ่งไม่ใช่สติขั้นทาน ไม่ใช่สติที่เป็นไปในศีล แต่เป็นสติที่รู้ลักษณะ ระลึกคือรู้ตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะที่แข็งปรากฏไปคิดอื่น ขณะนั้นไม่ชื่อว่ารู้ตรงในลักษณะที่แข็ง เพราะฉะนั้นก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่าสภาพธรรมที่ทรงแสดงๆ ตามความเป็นจริง ตามปกติ และสติสัมปชัญญะก็ไม่ได้ต่างไปจากพยัญชนะที่ทรงแสดงไว้ว่าตามรู้ ปกติแล้วเวลาเห็น คิดนึกสืบต่อเป็นเรื่องอื่นทันที เป็นเรื่องราว แต่ขณะที่เห็นแล้วสติสัมปชัญญะเกิดก็รู้ตรงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏหรือสภาพของนามธรรมที่เห็น แทนที่จะคิดเรื่องอื่น นี่คือการที่จะค่อยๆ เข้าใจความหมายของปกติตามรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อตามหมายความว่าไม่มีสิ่งอื่นคั่น ไม่มีความคิดมาคั่น แต่มีลักษณะที่จิตได้รู้นั้นปรากฏ เพราะสติกำลังรู้สิ่งนั้น

    ผู้ฟัง ลักษณะของเห็น ถ้าเราหลับตา ก็คือไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ จริงไหมเวลาที่ไม่เห็น เวลาหลับตา จริงหรือไม่ อะไรที่จริงก็จริง ไม่ได้ให้ไปทำอย่างอื่น แต่ให้รู้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง แต่ตรงที่เป็นเราทำ เห็นนี่ก็ใช่ ไม่มีใครทำให้ปรากฏเห็นก็คือเห็น แต่ขณะที่เราทำก็คือหลับตา ก็ไม่ได้เห็นในสิ่งที่เราควรจะเห็นอยู่ตอนนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก หลับตาได้หรือไม่

    ผู้ฟัง หลับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่หลับตา อะไรทำให้รูปหลับตาลง ถ้าไม่มีจิต เจตสิก เก้าอี้นี่เดินได้ไหม แต่ที่เดินได้เพราะว่ามีจิตที่ต้องการให้รูปนั้นเคลื่อนไหวอย่างไร รูปนั้นก็เคลื่อนไหวอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องการให้รูปเคลื่อนไหว คือ ตาให้หลับลง ขณะนั้นก็คือจิต เจตสิก ตลอดชีวิต ไม่มีอย่างอื่นนอกจากปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็บังคับบัญชาไม่ได้ หมายถึงอกุศลจิตเกิด และทำให้เราทุกข์โทมนัส

    ท่านอาจารย์ ทำให้ตัวเองเกิดมาหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้ทำ

    ท่านอาจารย์ แล้วมีตัวเราใช่ไหมที่เกิดมา

    ผู้ฟัง มีความคิดเห็นว่ามี

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ เกิดมาโดยเราไม่ได้ทำ แล้วทำไมตอนนี้เป็นเราทำ

    ผู้ฟัง ขณะหลับตามีสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถามคนอื่น หรือว่าตาของคุณสุกัญญาหลับเอง ไม่ใช่ตาคนอื่นหลับ ธรรมเป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องตรง ตอบอย่างไรก็ต้องจริงถ้าเป็นความจริง ไม่ใช่ไปคิด ตอบให้ไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ทันทีที่หลับตา ขณะนั้นก็จะตอบเองได้ เพราะว่าคุณสุกัญญาหลับตาของคุณสุกัญญา

    ผู้ฟัง มีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่าจักขุปสาทเกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีสิ่งที่สามารถกระทบผ่านอากาศธาตุทั้งหลาย ไม่ใช่ไปปฏิเสธ แต่ความจริงเป็นอย่างไร สติสัมปชัญญะรู้ได้ไหม ขณะนั้น

    ผู้ฟัง สติสัมปชัญญะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ไม่ได้ก็สงสัยใช่ไหม เพราะฉะนั้นการที่ปัญญาเกิดจะค่อยๆ คลายความสงสัยเพราะความจริงเป็นอย่างไร ก็รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม นามธรรมก็เป็นนามธรรม ๒ อย่างนี้ที่ทำให้เข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่เรา

    อ.วิชัย ลักษณะของนามธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน ฉะนั้นขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ ก็ระลึกรู้ในลักษณะทีละอย่างของสภาพธรรม แต่รู้สึกว่าเข้าใจเพียงลักษณะรู้ ธาตุรู้เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวอย่างนี้เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เช่น ขณะนี้ถ้ากล่าวถึงจิตเห็นก็เหมือนกับว่าดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะกล่าวถึงสภาพธรรมใดหรือสติสัมปชัญญะกำลังรู้ตามลักษณะของสิ่งที่จิตก่อนได้รู้ ขณะนั้นก็ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นการเกิดดับอย่างเร็วมากของสภาพธรรมก็จะทำให้ในขั้นต้นก็จะรู้เพียงแต่ว่าขณะนั้นสติเกิด ต่างกับขณะที่หลงลืมสติเท่านั้นเอง เพราะว่าสภาพที่สติระลึกก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้นจึงมีคำกล่าวที่ว่าเพียงสักแต่ว่าระลึก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีแต่เกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดแล้วระลึกสภาพธรรมนั้นก็ดับ พร้อมทั้งสติก็ดับด้วยๆ เหตุนี้จึงเห็นได้ว่าเวลาที่เราฟังพระธรรม แล้วก็มีความเข้าใจว่าขณะนี้ไม่เที่ยง เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับ แต่การที่เราฟัง ความรู้เราแค่ไหน ไม่สามารถที่จะดับกิเลส ไม่สามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมซึ่งเกิดสืบต่ออย่างเร็วมากว่าเป็นเราหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้

    เพราะฉะนั้น การเจริญเติบโตของปัญญาจากความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยก็จะทำให้ถึงกาละที่สามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ เพราะมีลักษณะที่ต่างกันตามปกติ เมื่อนั้นก็จะค่อยๆ ไถ่ถอนความเป็นเรา ซึ่งเพียงศึกษาเรากำลังศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมซึ่งเป็นจริงอย่างนั้น คือ ลักษณะของอกุศลจิตก็มีหลายประเภทในขณะนี้ โลภะก็มี โทสะมีไหม โมหะมีไหม ก็มี แต่ว่าเกิดดับเร็วสืบต่อกันจนกระทั่งไม่สามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ว่าลักษณะใดเป็นลักษณะของโมหมูลจิต หรือลักษณะใดเป็นลักษณะของโลภมูลจิต เพราะว่าโมหมูลจิตเกิดกับความรู้สึกเฉยๆ โลภมูลจิตก็เกิดกับความรู้สึกเฉยๆ ได้ เพราะฉะนั้นจะแยกได้อย่างไร แยกโดยขั้นเพียงฟัง เข้าใจ แต่ลักษณะของจิตยังไม่ได้รู้ลักษณะของจิตหนึ่งจิตใดเลยทั้งสิ้น ถูกต้องหรือไม่ เพราะว่ากำลังกล่าวถึงเรื่องของจิตเห็น แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของจิตที่กำลังเห็น กำลังกล่าวถึงจิตได้ยิน ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของจิตได้ยิน เพียงแต่ว่ามีได้ยิน แต่ไม่รู้ว่าลักษณะนั้นที่ได้ยินเป็นสภาพของจิต เป็นนามธรรมซึ่งต่างกับเจตสิก เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าการอบรมเจริญปัญญาต้องอาศัยการฟังตามลำดับขั้น ถ้าไม่ฟังเรื่องจิตเลยจะรู้ไหมว่าทุกวันที่เห็นที่ได้ยินไม่ใช่เรา แล้วเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย แต่เมื่อฟังแล้วก็รู้ว่าเพียงเท่านี้ไม่ใช่การประจักษ์สิ่งที่เรากล่าวว่าเราเข้าใจ เช่นจิต ไม่ใช่รูป เป็นนามธรรม แต่ลักษณะของนามธรรมตราบใดที่ยังไม่ปรากฏโดยความเป็นนามธาตุ หรือธรรมชนิดหนึ่งซึ่งตรงกับที่เราเคยฟังว่าไม่มีรูปร่างสัณฐาน แต่เป็นธาตุรู้ซึ่งแล้วแต่ว่าขณะนั้นเห็น จิตนั่นเองกำลังเห็น เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่กำลังฟังแล้วมีเห็น แล้วก็เข้าใจ ก็เริ่มที่จะเข้าใจทีละน้อยว่าขณะนี้ก็เป็นธาตุที่กำลังเห็น เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง นี่คือการอบรมเจริญปัญญา ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏจะชื่อว่าอบรมเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะไม่มีวันที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏจนกว่าจะฟัง และเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ขณะนั้นก็จะรู้ว่าทุกอย่างที่ได้ทรงแสดงไว้เป็นความจริง

    อ.วิชัย การศึกษาในส่วนละเอียดก็เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะให้สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ปัญญาค่อยๆ จะรู้ขึ้น แต่ไม่ใช่รู้ทันทีในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมโดยละเอียด จริงๆ แล้วก็คือเพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น แต่ว่าขณะนี้ศึกษาโดยละเอียดคือมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าสิ่งนี้ไม่มีจิตเห็นเกิดขึ้นไม่ได้ โดยละเอียดคือสิ่งที่มีกำลังปรากฏเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตเกิดขึ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567