พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 188


    ตอนที่ ๑๘๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเรื่องราวต่างๆ ถ้าไม่มีธาตุรู้ คือ จิต ธรรมทั้งหลายเหล่านี้จะปรากฏไม่ได้เลย แม้มีก็ไม่ปรากฏ เพราะว่าไม่มีธาตุที่สามารถรู้สิ่งนั้น ทางตาคือเห็น รู้คือเห็นในขณะนี้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ หรือเสียงที่กำลังปรากฏทางหูก็เป็นอย่างนี้ นี่คือทั้งหมดที่เราเรียน สรุปตรงที่จิต เจตสิก รูป ซึ่งเราจะต้องรู้จนกว่าจะละความเป็นตัวตน กุศลจิตเกิดขณะไหนไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เราจะรู้หรือไม่รู้ขณะที่เป็นกุศลหรือขณะที่เป็นอกุศลก็ตามแต่ แต่เราจะมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกว่าขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นต้องมีอุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย เราก็จะเข้าใจดีขึ้นได้ไหมถ้าเรายังคงใช้คำว่า “ฟุ้ง” ต่อไป กับการที่เราจะเข้าใจว่าอุทธัจจะก็เป็นสภาพที่ไม่สงบ และอกุศลจิตก็เกิด และดับเร็วมาก เกินกว่าที่เราจะไปรู้ลักษณะที่เราใช้คำว่า “ฟุ้ง” เพราะสำหรับเรา ฟุ้งดูเหมือนว่าจะเป็นก้อนหินที่ทุบทิ้งลงไปบนขี้เถ้า นั่นเป็นคำอุปมาเท่านั้น เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ไม่ใช่ไปติดที่คำอุปมา แต่ต้องรู้ลักษณะจริงๆ และต้องสอดคล้องกันด้วยว่าแม้อกุศลเพียงเล็กน้อยที่เกิดก็มีอุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็เลิกใช้คำนี้ได้ใช่ไหม แต่ถ้าอยากจะใช้ บางคนก็บอกว่าวันนี้ฟุ้งซ่านหรือว่าวันนี้ฟุ้งมาก ก็ฟุ้งอะไร คิดใช่ไหม แล้วอะไรคิด จะโยนไปให้อุทธัจจะ หรือว่าขณะนั้นก็คิดด้วยโลภะ ฟุ้งไปด้วยโลภะหรือว่าฟุ้งไปด้วยโทสะ แต่ความจริงก็คือโทสะเกิดบ่อย และมาก โลภะเกิดบ่อย และมาก ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้คำในภาษาไทยซึ่งเราอาจจะชินกับความเข้าใจความหมายนั้น แต่ลักษณะสภาพธรรมจริงๆ ต้องเข้าใจแต่ละลักษณะให้ถูกต้อง

    อ.ธิดารัตน์ หมายถึงว่าลักษณะของอุทธัจจะนั้นทำให้จิตไม่สงบ ทำให้จิตนั้นวุ่นวายอย่างนี้ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของอุทธัจจเจตสิกเป็นลักษณะที่ไม่สงบ เมื่อเกิดกับจิตก็ทำหน้าที่ของอุทธัจจะ

    อ.ธิดารัตน์ ก็คือทำให้จิตนั้นไม่สงบ

    ท่านอาจารย์ เจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมกันต่างก็ทำหน้าที่เฉพาะของตนๆ และก็จิตก็เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์

    ผู้ฟัง ขณะที่เราเหม่อลอย และคิดถึงเรื่องราวต่างๆ อาจจะเป็นที่ผ่านมาแล้วหรือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แล้วเราก็รู้สึกตัวว่าเราคิดทำไมหรือว่าเราคิดไปก็ไม่มีประโยชน์ ในลักษณะอย่างนี้ เมื่อเรามาเรียนเรื่องโมหะ หรือ โมหอุทธัจจะ ก็มีความรู้สึกว่าสิ่งนี้คือลักษณะสภาพธรรมของโมหอุทธัจจะ ถ้าถามท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ก็คงบอกว่าแล้วใครจะรู้ นอกจากตัวเรา แต่ตัวเราจริงๆ ไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะสภาพธรรมนี้ ว่า คืออะไร

    ท่านอาจารย์ นั่นคือเราคิด เราว่าใช่ไหม ขณะที่กำลังเหม่อลอย คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ยิ้มหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าคิดถึงเรื่องที่เราพึงพอใจ ก็อาจจะยิ้มก็ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ใช่ เพราะฉะนั้น จะบอกได้ไหมว่าขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ มุ่งไปที่อุทธัจจะทำไม จะเป็นอะไรก็ตามที่อกุศลจิตเกิด จะต้องมีสภาพที่เป็นอกุศลเกิดร่วมกันคือโมหะ อหิริกะ อุทธัจจะ อโนตตัปปะ เมื่อมี ๔ จึงใช้คำว่า “โม” นำหน้าจตุกะ หมวดนี้ไม่เคยแยกกัน ขณะใดที่มีโมหเจตสิก ขณะนั้นก็มีอหิริกเจตสิก มีอโนตตัปปเจตสิก มีอุทธัจจเจตสิก แล้วเราสนใจอุทธัจจะ แล้วไม่สนใจอหิริกะ อโนตตัปปะหรือโมหะหรือ หรือว่าอยากจะรู้หมดทั้ง ๔ อย่าง แต่ว่าเวลาศึกษาธรรม อย่าคิดถึงเรื่องราว เพราะว่าเรื่องราวเกิดจากจิตมากมายหลายขณะสืบต่อกัน แม้แต่ในขณะที่กำลังนั่งฟังธรรมก็เป็นเรื่องใช่ไหม กำลังนั่งฟังธรรม แล้วจิตอะไรบ้างเกิดดับสืบต่อกัน จะกล่าวรวมๆ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นบัญญัติให้รู้ว่าจิตขณะนั้นมีอารมณ์อะไร เป็นปรมัตถ์ หรือ เป็นเรื่องราวต่างๆ ศึกษาธรรมก็คือศึกษาให้เข้าใจตัวธรรม เรื่องราวออกไปทั้งหมด เพราะว่า ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป เรื่องราวก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มี แต่เมื่อเราไปคิดถึงเรื่องราว แล้วไปพยายามที่จะเข้าใจว่าขณะนั้นเป็นจิตอะไร เป็นเจตสิกอะไร ซึ่งไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เพราะเป็นเรื่องราว ไม่ใช่เป็นลักษณะของจิตแต่ละประเภทว่าจิตประเภทนี้เป็นอกุศล และจิตประเภทนั้นเป็นวิบากหรืออะไรอย่างนั้น จิตประเภทนี้มีเหตุเกิดร่วมด้วย จิตประเภทนั้นไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ถ้าเราเข้าใจธรรมเพราะเราศึกษาธรรม เวลาที่ธรรมใดเกิด แม้ว่ากำลังคิดเรื่องราวต่างๆ ก็ตาม ขณะนั้นก็ยังสามารถเข้าใจถูกต้องว่าจิตขณะนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ถามว่าขณะที่ฟุ้ง เหม่อ ยิ้มบ้างหรือไม่ ก็แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริง เราเอาเรื่องราวมาสรุปว่าขณะนั้นเป็นอุทธัจจะ แต่ต้องมีอุทธัจจเจตสิกแน่นอน มีโมหเจตสิกแน่นอน มีอหิริกะ อโนตตัปปะด้วยเวลาที่จิตเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง สมมติเราเหม่อ เราคิดไป และมีการระลึกได้ว่าเรารู้สึกตัวว่าเราเหม่อ

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกัน เรื่องราวทั้งหมด จนกว่าจะรู้ว่าขณะไหนเป็นกุศลจิต ขณะไหนเป็นอกุศลจิต ทีนี้ก็จะตัดสินได้โดยที่ว่าไม่ได้คิด ว่าเวลานั้นเป็นอย่างนั้นแล้วเป็นอะไร เวลานี้เป็นอย่างนี้แล้วเป็นอะไร เพราะเราเคยชินกับการเรียนโดยชื่อ แต่ถ้าเราจะเรียนโดยการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เราจะรู้ได้ว่าขณะนั้นไม่ได้มีชื่อติดอยู่กับลักษณะของสภาพธรรมเลย เช่น แข็ง ไม่ต้องนึกถึงคำว่า “แข็ง” ลักษณะของแข็งก็ปรากฏ ถ้าเราคุ้นเคยกับลักษณะนั้น ก็จะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คุ้นเคยกับเสียงก็รู้ว่าต่างกับแข็ง เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะคุ้นเคยกับลักษณะของสภาพธรรมที่จะรู้ว่าเป็นธรรม จะต้องมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ แยกให้รู้ว่าธรรมที่มีจริงเกิดดับ แต่ว่าการคิดเรื่องราวของสิ่งที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาไม่ทำให้สามารถรู้ในการเกิดดับของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นก็ยังคงเป็นเราที่เที่ยงเพราะว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ขอความกรุณาท่านอาจารย์ขยายความ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ เห็น คือ รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นี้คือหน้าที่ของจิต กำลังเห็น ทำกิจเห็น รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ขณะที่ได้ยิน กำลังรู้แจ้งลักษณะของเสียง จิต เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ จิต มีหน้าที่เดียวคือรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ส่วนหน้าที่อื่นเป็นเจตสิกทั้งหมด

    ผู้ฟัง จะเกี่ยวข้องกับลักษณะที่เป็นรูปธรรมได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นรูปธรรมไม่ได้

    ผู้ฟัง จิตรู้อารมณ์ที่เป็นลักษณะของเจตสิกก็ได้

    ท่านอาจารย์ ได้ทุกอย่าง มีหน้าที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ แล้วจิตจะเกิดตามลำพังเฉพาะจิตไม่ได้ ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าเป็นจิตประเภทใด และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้น เช่น เวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึก ก็จะมีเฉยๆ ขณะที่เฉยๆ เราไม่รู้ เฉยๆ นั้นมีแต่ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเรียกว่าเวทนาเจตสิก ลักษณะนั้นมีจริง เป็นธรรม แล้วก็ทำหน้าที่รู้สึก ไม่ได้ทำหน้าที่ของจิต

    ผู้ฟัง สรุปว่า ขณะไม่สงบก็มีอุทธัจจะ

    ท่านอาจารย์ ไม่สงบนั้นคือเป็นอุทธัจจเจตสิก เพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้จักสภาพธรรม และเราเรียนชื่อเยอะมาก แต่ว่าไม่รู้จักสภาพธรรมจริงๆ เลยสักอย่างจนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด ตอนนี้ไม่ถือไม่ว่า เพราะเหตุว่ากำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แล้วก็จะเห็นว่าเรารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมอะไรบ้างในวันหนึ่ง น้อยมากแค่ไหน ทางตาก็ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ได้รู้ ก็ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นเพียงลักษณะที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ไม่ได้รู้อย่างนี้ เสียงก็ได้ยินอยู่ตลอด กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรื่องราวต่างๆ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ เลย แม้แข็งซึ่งธรรมดา กระทบบ่อยๆ ตื่นมาก็กระทบแล้ว ก็ไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นสภาพธรรม นี้ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าจะศึกษาธรรมจริงๆ เราต้องรู้ ต้องเข้าใจว่าเราศึกษาอะไร ศึกษาสิ่งที่กำลังมี และค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขณะนั้นคือการศึกษาธรรม และถ้าเปรียบเทียบกับการรู้ลักษณะจริงๆ ของธรรมก็แสดงให้เห็นว่าน้อยกว่าที่ได้ศึกษามากมาย ก็จะทำให้เราเป็นผู้ที่ตรง และรู้จุดประสงค์ของการศึกษา และก็จะค่อยๆ เข้าใจว่าแม้เราได้ยินชื่อ จำได้ว่าอุทธัจจเจตสิก แต่ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของอุทธัจจเจตสิก ฉันใด สภาพธรรมอื่นที่มีชื่อหลากหลายก็เป็นไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เพราะว่าลักษณะของโลภะก็หลากหลายมาก ทั้งมายา ทั้งหวัง และอื่นๆ อีกมากมาย ก็เป็นลักษณะของโลภะที่เกิดอยู่เป็นประจำ แต่ก็ไม่รู้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ และรู้ว่าการฟังธรรมเพื่อเข้าใจจริงๆ และเข้าใจอะไร เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะพูดเรื่องเห็น ขณะนี้มีลักษณะเห็นที่จะค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องว่าเห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ แต่เมื่อสิ่งนี้ปรากฏเพราะมีสภาพธรรมที่เห็นสิ่งนี้ และสภาพนั้นก็ไม่มีรูปร่างลักษณะ น่าอัศจรรย์ซึ่งใครก็ทำให้เกิดไม่ได้เพราะเป็นธาตุเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่าธรรมเป็นธรรมไม่ใช่เรายิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์กล่าวถึงลักษณะของปัญญา ว่าปัญญาในขั้นการฟังกับปัญญาในขั้นการพิจารณาแตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปัญญาต้องเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูก ไม่ใช่จำ ถ้าจำ เรามีความเข้าใจถูกในสิ่งที่จำหรือไม่ หรือมีความเห็นถูกในสิ่งที่จำหรือไม่ หรือเพียงจำ นี้ก็แสดงให้เห็นความต่างใช่ไหมว่าจำคือจำ แต่ว่าความเข้าใจถูกเห็นถูกต้องมีสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง และก็เข้าใจถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วย เช่น กำลังฟังเรื่องจิต ขณะนี้มีธาตุหรือธรรมที่สามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เห็น ได้ยิน เป็นต้น ขณะที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นเป็นความเห็นถูก แต่ถ้าเพียงแต่จำว่าปรมัตถธรรมมี ๔ และก็จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ จำคำ จำเรื่อง แต่ว่าไม่ได้เข้าใจว่าลักษณะนี้กำลังมี กำลังปรากฏ และก็เป็นธาตุซึ่งมองไม่เห็น จะไปเกิดในรูปพรหมภูมิหรืออรูปพรหมภูมิ หรือสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด หรือในนรก ธาตุนี้ก็ไม่มีรูปร่างเพราะไม่ใช่รูปธาตุ แต่เป็นธาตุที่เมื่อเกิดแล้วสามารถที่จะเห็น สามารถที่จะได้ยิน เป็นต้น เพราะฉะนั้นธาตุนี้มีจริง นี่คือความเห็นถูก ก็เป็นระดับของปัญญาที่จะทำให้สามารถเข้าใจลักษณะของจิตที่กำลังเห็น ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็จะมีการฟังอย่างละเอียด แล้วก็พิจารณาอย่างละเอียด และเข้าใจความหมายของคำที่ได้ยินได้ฟัง คือความหมายของพยัญชนะ ไม่ใช่ไปจำตัวจำคำโดยที่ไม่เข้าใจความหมาย เช่น คำว่า “สังขารนิมิต” เข้าใจคำว่า “สังขาร” สภาพธรรมที่ปรุงแต่งมีการเกิดขึ้น มีการดับไป “นิมิต” คือรูปร่างหรือสัณฐานหรือสิ่งที่ทำให้ทรงจำไว้ได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็แล้วแต่สิ่งที่ปรากฏ แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็มีนิมิต เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับเร็วมาก ขณะนี้จิตเห็นกี่วาระ ขณะเดียวหรือไม่ ไม่ใช่ขณะเดียว นับถ้วนไหม จิตเห็นขณะนี้ เพราะว่าไม่ได้มีจิตเห็น คือ จักขุวิญญาณ ขณะเดียว แต่ มีสัมปฏิจฉันนะ สัณตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ และก็ยังมีภวังค์คั่น และก็ยังมีมโนทวารวิถีที่รู้อารมณ์เดียวกันสืบต่อ และก็ยังมีการได้ยินแทรก มีการคิดนึกต่างๆ กว่าจะถึงเห็นอีกหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้นที่ปรากฏเหมือนเห็นไม่ดับนั้นก็ประมาณไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เช่นเดียวกัน เป็นรูปที่เกิดดับ แต่มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งก็เร็ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ก็เป็นเพียงนิมิต สิ่งที่ปรากฏ แต่ความจริงสิ่งที่ปรากฏดับแล้ว แต่ก็มีการปรากฏสืบต่อจนเสมือนว่าไม่ดับ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างที่มี ถ้าเราจะกล่าวว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็คือสภาพธรรมที่สามารถปรากฏ และสติสัมปชัญญะก็รู้ตรงลักษณะนั้น แต่ไม่ใช่การเจาะจงว่ารู้จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สัณตีรณะ ขณะนี้ วาระนี้ ทวารนี้

    ผู้ฟัง ดูเหมือนว่าจะเลือก ไม่แน่ใจว่าสติสัมปชัญญะรู้จริงๆ หรือเลือก คือ ยังไม่รู้ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ต้องมาจากการฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และสติก็อาจจะเกิด แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน หรือว่าเป็นสติปัฏฐานที่เมื่อฟังก็มีการรู้ตรงลักษณะ แต่ว่าเร็วมาก สั้นมาก และก็หมดไป แล้วอวิชชาที่เคยสะสมมานานแสนนานอยู่ที่ไหน ไม่มีปัจจัยจะเกิดสืบต่อที่จะปิดบังต่อไปหรือว่ากั้นต่อไป ไม่ให้เห็นว่าขณะนั้นก็ผ่านไปแล้ว และสั้นมากด้วย จะรู้ชัดได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญปัญญาจึงเป็นการอบรมทางฝ่ายกุศลซึ่งยังไม่สามารถที่จะดับอกุศลที่ได้สะสมมาเนิ่นนานให้หมดไป ไม่ว่าจะเป็นความเห็นผิด หรืออุทธัจจะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด โมหะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ก็ยังไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าในขณะที่ฟังก็รู้ว่ามีความเข้าใจเกิดขึ้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ใช่เรา นั่นคือลักษณะของปัญญาที่เข้าใจถูก เห็นถูก แต่ว่าต่อจากนั้นก็มีอกุศลซึ่งก็ไม่ใช่เราด้วย เพราะฉะนั้นการฟังธรรมจริงๆ ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงในธรรมที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนก็จะไม่เดือดร้อน เพราะว่าถ้าเดือดร้อนก็จะส่องถึงอัตตา ความเป็นเราที่ยึดไว้จนกระทั่งเดือดร้อน เวลาที่อกุศลจิตเกิดก็เดือดร้อน เวลาที่กุศลจิตเกิดก็เดือดร้อนเพราะอยากให้กุศลจิตเกิดมากๆ หรืออยากให้มีปัญญาเกิดร่วมด้วย อยากให้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทันที อยากให้ดับความเห็นผิดให้หมด นี่ก็คือความไม่รู้ทั้งหมด ความจริงเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของการเข้าใจริงๆ ตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แล้วการเข้าใจก็จะค่อยๆ คลายความไม่รู้ และความติดข้อง แต่ไม่เร็วเพราะว่าเราอยู่ในสังสารวัฏนี้นับประมาณไม่ได้ว่านานเท่าไรด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัจจัยที่อกุศลจิตจะเกิดก็เกิด และทำหน้าที่ของอกุศลคือไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และปัญญาก็ค่อยๆ สะสมความรู้จนกว่าจะรู้ขึ้นๆ

    ผู้ฟัง กุศลขั้นทานกับขั้นศีลมีปัญญาประกอบได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าปัญญาคือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ไม่เลือกกาลเทศะ บุคคล เรื่องราว สถานที่ เมื่อมีเหตุปัจจัยของสภาพธรรมใดเกิดสภาพธรรมนั้นก็เกิด แล้วเราก็มาพูดถึงเรื่องราวสถานที่ต่างๆ แต่ให้รู้ว่าจริงๆ แล้วก็คือปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ก็ต้องมีความเข้าใจในธรรมเพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง สมมติว่าไม่ได้ฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็คิดเอง

    ผู้ฟัง คิดนึกไปทางกุศล

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นกุศล

    ผู้ฟัง แต่ก็ไม่ได้มีปัญญา

    ท่านอาจารย์ ก็ถ้าไม่มีความเห็นถูก ไม่มีความเข้าใจถูก จะใช้คำนี้ได้อย่างไร ปัญญาไม่ใช่ชื่อที่ใครจะเอาไปใช้ได้ แต่เป็นลักษณะที่มีความเข้าใจถูก ความห็นถูก

    ผู้ฟัง แต่กุศลทุกชนิดแม้เพียงเล็กน้อยก็มีปัจจัยหรือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา หรือเป็นหนทางที่จะทำให้เกิดปัญญา หรือไม่เป็นหนทางที่จะทำให้เกิดปัญญา ไม่ใช่ว่ากุศลทุกประเภทไม่เป็นไปในเรื่องของปัญญาก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา

    ผู้ฟัง แต่ก็ให้ผลเป็นวิบากที่ดีแค่นั้น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เช่น ขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ผู้ฟัง เมื่อเราไปอยู่ในภพภูมิที่ไม่ได้มีโอกาสฟังพระธรรม แล้วเราเจริญกุศลขั้นทาน และศีล ในขณะนั้นจะมีปัญญาเกิดร่วมด้วยได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาโมคัลลานะซึ่งความจริงขณะนั้นก็ยังไม่ใช่ท่านพระสารีบุตรกับท่านพระมหาโมคัลลานะ ดูมหรสพ ท่านคิดอย่างไร เคยได้ยินได้ฟังความคิดของท่านในขณะที่กำลังดูมหรสพไหม ท่านก็คิดว่าแม้แต่คนที่กำลังแสดงอยู่ก็ต้องตาย และตัวท่านก็ต้องตาย ทำไมถึงคิดอย่างนั้นในขณะนั้น ซึ่งขณะนั้นคนที่ดูก็กำลังสนุกสนานไปตามเรื่องราว โศกเศร้าไปตามเรื่องราว แต่ก็มีปัจจัยที่จะทำให้ท่านมีความคิดนั้นเกิดขึ้น ถ้าเอาชื่อท่านพระสารีบุตรหรือท่านพระมหาโมคัลลานะออก ความคิดนั้นเกิดเพราะอะไร น้อมไปในความเข้าใจถูกอย่างไร แม้เพียงเล็กน้อยก็โน้มเอียงไปแม้แต่ในความคิด แล้วแต่ระดับขั้นของความคิดที่ได้สะสมมา

    ผู้ฟัง เข้าใจถูก เห็นถูกในตัวจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือเข้าใจถูก เห็นถูกในชื่อในเรื่องราวของธรรมที่กำลังศึกษาอยู่ขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ในชื่อหรือว่าในเรื่องราว เช่น ถ้าใช้คำว่า “ธรรม” คิดว่ามาจากคำว่าอะไร ธาตุคืออะไร และธรรมมีความหมายว่าอะไร นั่นคือความเห็นความเข้าใจในพยัญชนะ แต่รู้หรือไม่ว่าขณะนี้เป็นธรรมโดยอาศัยชื่อจึงเข้าใจได้ว่าไม่ใช่ตัวตนแต่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง จุติจิตจากชาตินี้ไปแล้วถ้าไปเกิดในชาติอื่น และก็จำภาษาไทยไม่ได้ ปัญญาที่รู้ตัวจริงลักษณะของสภาพธรรมก็จะต้องติดตามไปแต่ละภพแต่ละชาติโดยไม่มีชื่อ ไม่มีภาษา

    ท่านอาจารย์ มีใครรู้บ้างว่าไม่เคยพูดภาษาบาลีมาก่อน ไม่เคยเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน หรือไม่เคยได้พบสาวกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน มีใครรู้ ไม่รู้เลย อาจจะเคยก็ได้ใช่ไหม แต่เพราะไม่รู้จึงใช้คำว่า “อาจจะ” เพราะเหตุว่าสังสารวัฏยาวนานมาก ถ้าเคยได้เฝ้าฟังพระธรรมเป็นภาษาบาลี สามารถที่จะเข้าใจคำที่ใช้ เมื่อถึงชาตินี้ไม่สามารถที่จะรู้ความหมายของภาษาบาลีเพราะไม่ได้เรียนภาษาบาลี แต่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเมื่อได้ฟังหรือไม่ นี่ก็คือเป็นผู้ที่จะต้องรู้ว่าภาษาก็คือเมื่อเกิดที่ใด ชาติใด ก็ใช้ภาษานั้น เคยพูดภาษาบาลี เคยอยู่ที่นครพาราณสีหรือสาวัตถีก็ตามแต่ เมื่อมาเกิดที่เมืองไทยพูดอย่างนั้นหรือไม่ เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของการใช้คำแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่ว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง และภาษาที่ทรงแสดง คือ ภาษาบาลี

    อ.ธีรพันธ์ จะเห็นได้ว่าโมหะของจิต ๒ ประเภทนี้จะไม่มีฉันทะคือความพอใจเกิดร่วมด้วย ฉันทะคือความพอใจที่จะกระทำ เช่น ที่โลภมูลจิตเกิดขึ้นมีฉันทะชอบสี หรือชอบเสียง หรือโทสเจตสิกพอใจที่จะโกรธ ขณะนั้นมีฉันทะเกิดร่วมด้วย เป็นความพอใจที่จะโกรธนั่นเอง แต่โมหมูลจิตนี้ไม่มีฉันทะเกิดร่วมด้วย ไม่มีความพอใจ เพราะว่าขณะนั้นเป็นความสงสัย และก็สงสัยไปในสภาพธรรมหรือในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ หรือในธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก การที่จะรู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงนี่ต้องละเอียดถึงความเป็นพระอภิธรรมจริงๆ

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าโมหมูลจิตมีโทษมาก ร้ายแรงมาก แต่มีความรู้สึกว่า ยังมองไม่เห็นโทษ

    ท่านอาจารย์ มีโทษมาก คลายช้า กว่าจะหมด เพราะไม่รู้ทุกขณะที่อกุศลจิตเกิด

    ผู้ฟัง แต่ก็ไม่ได้เดือดร้อนที่จะไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็โทษมากเพราะว่าไม่รู้ ถ้ารู้ก็ยังโทษน้อย นี่ไม่รู้ อย่างไรๆ ก็ไม่รู้ๆ ทั้งนั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567