พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 227


    ตอนที่ ๒๒๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุที่อกุศลเกิดบ่อยมาก ก็ทำให้ไม่เห็นแม้กุศลที่เกิดเพียงเล็กๆ น้อยๆ อย่างขณะนี้ เห็นใช่ไหม แล้วก็ฟังธรรม ได้ยินเสียง รู้ลักษณะที่เป็นกุศลไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แต่มีแล้วใช่ไหม เห็นแล้วรู้หรือไม่ว่าหลังจากที่เห็นแล้ว และเห็นสิ่งที่ปรากฏนั้นยังไม่ดับ ขณะนั้นเป็นอะไร เราเรียนมาแล้วทั้งหมด เราฟังมาแล้ว เห็น มี และสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ แล้วเกิดดับเร็วมาก แต่ก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นจิตเกิดดับเร็วกว่ารูปๆ หนึ่ง เพราะฉะนั้นเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตาที่ยังไม่ดับ รู้ไหมว่าเมื่อเห็นแล้วจิตประเภทไหนเกิด

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นกุศลหรืออกุศล

    ท่านอาจารย์ ตรงตามความเป็นจริงว่าประเภทไหน

    ผู้ฟัง ก็อกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนี้มีอกุศลไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ รูปยังไม่ดับ และก็มีรูปปรากฏวาระหนึ่ง แล้วก็มีเสียง แล้วก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีความพอใจในเสียง แล้ววาระหลังๆ ก็มีการคิดนึกถึงความหมายไตร่ตรองเป็นความเข้าใจ เพราะฉะนั้นก็แยกไม่ออกจนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น แต่ให้ทราบว่าจิตต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

    ผู้ฟัง บางครั้งขณะที่เราเห็นหรือได้ยิน เฉยๆ พอเฉยๆ ขึ้นมา ความเป็นตัวเราหรือจากการที่ได้ศึกษาสภาพธรรมหรือว่าได้ฟังธรรม ก็ทำให้เราไขว้เขวอยู่เสมอๆ แยกไม่ออกว่าสิ่งนั้นคืออกุศลหรือกุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่รู้ว่าสภาพนั้นไม่ใช่เรา ก็แยกไม่ออก แต่อาจจะคิดถึงชื่อ และพยายามที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่ใช่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบของจิต ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมหรือการเข้าใจธรรม หนีไม่พ้นอกุศล ต้องเป็นอกุศลแน่นอน

    ผู้ฟัง ลักษณะของสภาพธรรมที่ยังมีความเป็นตัวตนอยู่ แม้ว่าขณะนั้นยังเป็นกุศลจิต จะมีความต่างไหมกับลักษณะของปรมัตถธรรมที่เป็นสภาพของกุศลจิตจริงๆ

    ท่านอาจารย์ กุศลมีหลายระดับ ขณะที่กำลังเป็นเราเพราะเหตุว่ามีอนุสัยกิเลสยังไม่ได้ดับไป เพราะฉะนั้นเวลาที่มีกุศลจิตเกิด ไม่ใช่หมายความว่าขณะนั้นหมดความเป็นเรา เพียงแต่ว่าขณะนั้นทิฏฐิเจตสิกที่ยึดถือในความเป็นเรา ไม่ได้เกิดขึ้นร่วมด้วยในขณะที่เป็นกุศล นี่เป็นความละเอียดของธรรมที่ถ้าอบรมเจริญปัญญาต่อไปก็จะได้รู้ความจริงว่าทุกอย่างตรงตามที่ทรงแสดง

    ผู้ฟัง ลักษณะของกุศลจิต เวลาเรากระทำในสิ่งที่ดีก็ทำให้เราตรึกหรือนึกในการกระทำของตัวเราว่าเราทำดี พอเราคิดขณะนี้จากการศึกษาก็อกุศลจิตไม่ใช่ลักษณะของกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ เวลาที่กำลังทำดี สังเกต และพิจารณาจิตไหมว่าขณะนั้นที่ว่าดี จิตเป็นอย่างไร จิตไม่โกรธจึงทำดีได้ขณะนั้น เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าสภาพของจิตในขณะที่ทำดี ให้รู้ความจริง ถ้าพูดถึงจิตไม่ได้หมายถึงการกระทำของรูป แต่หมายความถึงสภาพของจิตในขณะนั้น เช่น การอ่อนน้อม การแสดงความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ ควรอ่อนน้อม ขณะนั้นความอ่อนน้อม ความนอบน้อมทางกายก็ต้องเกิดจากจิตที่อ่อนน้อมด้วย แต่ว่าถ้าเกิดจะกระทำด้วยความไม่อ่อนน้อมด้วยความไม่จริงใจ ใครรู้ ก็ตัวเองก็รู้ เพราะฉะนั้นสภาพของจิตที่เกิดก็มีลักษณะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ที่สามารถจะค่อยๆ เข้าใจถูกต้องได้

    ผู้ฟัง แต่ว่ามีความพึงพอใจหรือว่าชอบใจที่จะกระทำ

    ท่านอาจารย์ ก็เร็วมาก จิตเกิดดับเร็วมาก นี่เป็นเหตุที่ว่าแยกไม่ได้เพราะความรวดเร็วของจิต อย่างขณะนี้ที่กล่าวที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงคือมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเกิดดับ ก็รู้ไม่ได้แล้วจะไปรู้อะไรอย่างอื่นอีก เหมือนอยู่ในโลกของความคิดนึกเพราะไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วก็คิดถึงแต่เรื่องราวสิ่งที่ปรากฏว่ายั่งยืน เป็นจริง อย่างถ้าเห็นใครที่นี่แล้วจำได้เลย ความจริงจิตเกิดดับนับไม่ถ้วน จำได้แล้วไม่ลืม กลับไปก็ยังคิดถึงอีกได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าสภาพของจิตเกิดดับเร็วมาก กว่าจะรู้ตามความเป็นจริงว่าจิตเป็นธาตุที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง เมื่อรู้จริงต้องรู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรมเป็นอย่างไรหรือว่าเป็นเรื่องราวที่กำลังสนทนากันอยู่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสภาพธรรมจะมีเรื่องราวของสภาพธรรมนั้นหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต จะมีเรื่องของจิตไหม ถ้าไม่มีเจตสิก จะมีเรื่องของเจตสิกไหม ถ้าไม่มีรูป จะมีเรื่องของรูปไหม เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่มีเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ความไม่รู้ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ เช่น เมื่อสักครู่นี้ก็บอกว่าไม่สามารที่จะรู้ได้ว่าเห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ประโยคนี้ที่ถูกแล้วควรไปคิดว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล หรือว่าควรจะรู้"เห็น" และ"สิ่งที่ปรากฎทางตา" นี่คือการที่เราฟังธรรมแล้วเราจะค่อยๆ พิจารณาว่าสิ่งไหนที่มีจริงที่กำลังปรากฏ รู้สิ่งนั้นหรือยัง ยังไม่รู้แต่จะไปรู้ว่ากุศลหรืออกุศลเกิด ก็คือขณะนั้นไม่ได้ปรากฏแม้มีเกิดแล้วดับแล้วอย่างเร็วมาก ด้วยเหตุนี้ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีทางที่จะรู้ความจริง ก็จะเป็นเรื่องนึกถึงชื่อหรือว่านึกถึงเรื่องไปโดยตลอด เช่น ขณะนี้เห็นมีจริงๆ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริงๆ แต่ไปนึกถึงชื่อบ้าง หรือไปนึกถึงกุศลหรืออกุศล ซึ่งเมื่อเห็นแล้วก็เกิดกุศลหรืออกุศล มีแน่นอนกุศล และอกุศล แต่อะไรปรากฏ เพราะฉะนั้นแม้แต่สิ่งที่มีจริง และปรากฏก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้เมื่อฟัง และมีความเข้าใจว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรมเพราะเหตุว่าเกิดแล้วปรากฏ และที่จะเกิดได้ไม่ใช่เพราะเราอยากให้เกิดหรือใครทำให้เกิด แต่เมื่อมีปัจจัยของสภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้นจึงเกิดได้ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความโกรธหรือความรัก หรือความริษยา หรือความเมตตา ทั้งหมดเป็นธรรมแต่ละลักษณะซึ่งต่างๆ กัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายทุกภพชาติเป็นธรรมทั้งหมด แต่ต้องเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วยังมีความรู้สึกหรือความคิดที่ว่าสิ่งที่ปรากฏแล้วรู้สึกว่าสิ่งนั้นคือกุศลจิตยังไม่ใช่สภาพของปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ รู้ตรงตามความเป็นจริงว่ายังไม่ใช่สภาพของปรมัตถธรรม ถ้าไม่ฟังให้ละเอียดจะรู้ไหมก็อาจจะเข้าใจว่ารู้ปรมัตถธรรมแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยการฟัง ขณะที่ฟังแล้วเริ่มมีความเข้าใจโดยที่ว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่มีความเป็นตัวตนที่ไปพยายามจะรู้ ต้องฟังให้ถูกต้องด้วย กำลังสะสมสังขารที่จะปรุงแต่งให้มีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แต่เมื่อยังไม่ถึงกาลที่จะเข้าใจอย่างนั้นได้ ก็กำลังสะสมความเห็นถูกทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะสามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะไหนเริ่มที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง จนกว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์ที่สามารถสละความติดข้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะรู้ความจริงว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แต่ละอย่างซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นปัญญาก็ต้องเจริญ แต่ว่าอาศัยการฟังเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง อาศัยการพิจารณาเข้าใจตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ทำให้ไม่ไขว้เขว ไม่คลาดเคลื่อนจนกว่าจะรู้จริงๆ นี่คือประโยชน์ของการที่มีปัญญาระดับขั้นฟัง และพิจารณา เพราะว่าถ้าไม่มีขั้นนี้ ที่จะสามารถรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็กำลังสะสมปัญญาซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เมื่อเวลาพูดชื่อใดก็ตาม ก็จะนึกถึงแต่ลักษณะของปรมัตถธรรมจึงมีชื่อต่างๆ เหล่านี้ ความเข้าใจในขั้นนี้ควรเข้าใจแค่นี้เพียงพอแล้วหรือว่าต้องเข้าใจมากกว่านี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าแค่นี้เพียงพอก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกระทำอีกเพราะว่าดับกิเลสหมดแล้ว แต่ว่าธรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง แต่ละคนขณะนี้จะคิดอย่างไร จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแค่ไหน คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยนอกจากแต่ละคน เพราะฉะนั้นลองพิจารณาความจริง ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ได้ยินได้ฟัง และก็เข้าใจว่าเป็นธรรม เพราะเหตุว่าเป็นลักษณะของสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นธาตุ ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ จะว่าเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับเป็นไปไม่ได้เลย นี่คือความเข้าใจ ทุกคนคงจะเข้าใจเหมือนกัน แต่ว่าขณะนี้กำลังเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรมของสิ่งที่ปรากฏหรือไม่ สิ่งนี้แต่ละคนก็ต้องเป็นผู้ตรง ฟังเรื่อง และก็เข้าใจ แต่ยังไม่ถึงกับสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เพราะว่าสิ่งที่มีจริงๆ จะมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง สภาพธรรมอย่างหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ฟังอย่างนี้ก็เข้าใจ และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ก็ไม่รู้อะไร ไม่โกรธ ไม่หิว ไม่อะไรทั้งหมด เป็นแต่เพียงสิ่งที่เมื่อกระทบจักขุปสาทจึงปรากฏได้ให้รู้ได้ว่ามีธาตุชนิดนี้ มีลักษณะอย่างนี้กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าแม้ธาตุทั้งหลายจะมีจริง แต่ปรากฏไม่ได้เลยถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น แล้วก็เป็นสิ่งที่จะปรากฏเฉพาะแต่ละทางด้วย เช่น เสียงไม่ปรากฏทางตา และก็สีสันวัณณะก็ไม่ปรากฏทางจมูก เพราะฉะนั้นแม้ว่าธาตุต่างๆ มีจริง แต่ต้องอาศัยทวารหรือทางหรือปัจจัยที่จะทำให้ธาตุนั้นปรากฏกับจิตซึ่งต้องเกิดขึ้น ธาตุนั้นจึงจะปรากฏ เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่รู้ คือสามารถที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏทางหู นี่คือสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เป็นความจริง ทุกคนมีความเข้าใจระดับนี้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่ว่ารู้แค่นี้เป็นแต่เพียงรู้เรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏ และมีเห็นด้วย และเห็นก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาเลย เพราะเหตุว่าเห็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่น่าอัศจรรย์ ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย ทั้งสิ้น เสียงก็ไม่ใช่ สีก็ไม่มี กลิ่นก็ไม่มี แต่เป็นธาตุซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำว่า “นามธาตุ” เพราะเหตุว่าไม่ใช่รูป และก็ไม่มีรูปใดๆ ด้วย ขณะที่กำลังฟัง และก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นเครื่องที่จะทำให้บุคคลที่ฟังเข้าใจตัวเองถูกต้องว่ากำลังฟังเข้าใจเรื่องราวสภาพธรรมที่เห็น แต่ยังไม่รู้ธาตุที่เห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อฟังไปแล้วมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็จะเป็นผู้ที่ตรง เพราะเหตุว่าธรรมมี ๓ ระดับ ขั้นฟัง และก็ขั้นพิจารณาให้เข้าใจตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง และขั้นอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งประจักษ์แจ้งความจริง ความจริงที่ปรากฏตรงตามที่ได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง จะเป็นอื่นไปไม่ได้ สภาพธรรมเป็นอย่างไร ปัญญารู้ตรงตามความเป็นจริงอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ตรงคือขณะนี้ได้ฟัง เพียงเข้าใจเรื่องของเห็นกับสิ่งที่ปรากฏว่าไม่ใช่เรา เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิดก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม เป็นแต่เพียงสติขั้นสามารถที่จะฟังเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมนั้นเท่านั้น นี่เป็นความต่างกันของปัญญาว่าถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ฟังให้เข้าใจให้รู้ความจริงจนกระทั่งไม่ลืม จะรู้ได้เลยว่าผู้ที่ฟังธรรมฟังเข้าใจจริง แต่ลืม คือ ลืมรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่ลักษณะก็ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดคือรู้ตรงลักษณะซึ่งไม่มีชื่อ ลักษณะแข็งกำลังปรากฏ มีไหม ต้องเรียกชื่อหรือไม่ มีชื่อหรือไม่ เป็นธรรมที่มีลักษณะอย่างนั้น ใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้เลย และตามความเป็นจริงแข็งต้องเกิด ถ้าไม่เกิดแข็งปรากฏไม่ได้ และไม่ใช่มีแต่แข็ง ต้องมีกายปสาทที่กระทบแข็ง และไม่ใช่มีแต่เฉพาะกายปสาท และแข็ง ต้องมีจิตที่กำลังรู้แข็ง และจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะนั้นทั้งหมดเป็นความหมายของอายตนะ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราไปจำชื่ออายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ แล้วก็นั่งจำ แต่ว่าขณะที่มีความเข้าใจจริงๆ ในสภาพธรรมที่ปรากฏ และรู้ว่าสิ่งนั้นทั้งหมดยังไม่ดับ ถ้าจิตเห็นดับ สีสันวัณณะปรากฏในวาระนั้นไม่ได้เลย แต่ว่าจิตเห็นจะเกิดเพียงขณะเดียวไม่ได้ ยังมีจิตอื่นๆ ซึ่งเกิดแล้วก็รู้สีแต่ว่าทำกิจหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นแต่ละอย่าง อย่างรวดเร็วสั้นมาก เล็กน้อยมาก ไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างความชอบหรือความไม่ชอบกุศล และอกุศล

    ด้วยเหตุนี้ จึงมีความต่างของสภาพธรรมซึ่งเกิดสั้นเพียงหนึ่งขณะ กับสภาพธรรมซึ่งเกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ ด้วยเหตุนี้ สภาพธรรมที่กระทำกิจอย่างนั้นก็เป็นกิจต่างกับกิจอื่น เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินคำว่าชวนะ หรือจะได้ยินคำว่าอะไรก็ตาม ถ้ายังไม่เข้าใจก็กลับมาไตร่ตรองให้เข้าใจ ไม่ใช่เพียงจำว่าชวนะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นกิริยาสำหรับพระอรหันต์ และโลกุตตรจิตทั้งหมดทำกิจชวนะ นั่นคือจำชื่อ แต่ไม่ได้ไตร่ตรอง ไม่ได้พิจารณาถึงความต่างว่าชวนะเพราะอะไร ทำไมเป็นกิจชวนะ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการฟังของเราไม่มีคนอื่นจะรู้ได้ว่าปัญญาของเราเข้าใจในสิ่งที่ฟังแค่ไหน ผู้ที่ได้สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพียงได้ฟัง สามารถที่จะประจักษ์ความจริงเป็นพระโสดาบันถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะฉะนั้นใครจะรู้แจ้งสภาพธรรมเมื่อไร วันไหน ถึงระดับไหน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราจะรู้ล่วงหน้าได้ แต่กำลังสะสมความจริง ตรง คือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก แล้วก็รู้ความต่างของระดับของความรู้ด้วยว่าเป็นความรู้ระดับไหน เป็นผู้ที่ตรงต่อความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง กุศลจิตที่เจือปนด้วยอกุศลจิตนั้นเป็นอย่างไร

    อ.วิชัย ที่คุณสุกิจพูดว่าเจือปนหมายความว่าไม่ใช่ขณะเดียวกันใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ อย่างที่เราศึกษา ก็จะมีจิตที่เจือปน

    อ.วิชัย ก็คงจะกล่าวไม่ได้ว่าเจือปน เพราะเหตุว่าถ้าเจือปนก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าโดยสภาพของกุศลแล้ว ก็จะไม่มีอกุศลใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย ฉะนั้นถ้ากล่าวว่าเมื่อกุศลเกิดแล้วต้องดับไป อย่างเช่น ถ้ากล่าวว่าขณะที่มีความรู้ความเข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศล แม้ขณะที่กำลังฟัง แต่ขณะใดก็ตามที่สำคัญว่าเรารู้แล้ว แล้วที่เปรียบว่ารู้มากกว่าบุคคลอื่น ฉะนั้นให้เห็นว่าขณะนั้นไม่ได้เป็นความเข้าใจเลย แต่ว่ายังมีความสำคัญตนในขณะนั้น ไม่ใช่กุศล เพราะเหตุว่าต้องแยกแยะทีละขณะ เพราะเหตุว่ากุศลเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วโอกาสของอกุศลเกิดก็เป็นไปได้ ก็มี นี่คือตามเหตุตามปัจจัย

    ท่านอาจารย์ จิตก็เกิดขึ้นหนึ่งขณะแล้วก็ดับไป แล้วขณะต่อไปก็เกิดสืบต่อเป็นจิตประเภทต่างๆ กันก็ได้ เร็วมาก เพราะว่าจิตเกิดเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ใช่ เพียงแต่เจือปนด้วยเจตสิกบางอย่าง

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงเจตสิกเกิดกับจิตได้ในหนึ่งขณะ

    ผู้ฟัง อย่างเช่นฉันทะเป็นต้น เป็นกุศล และเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เป็นปกิณกเจตสิก หมายความว่าไม่ได้เกิดกับจิตทุกประเภท แต่เกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้

    ผู้ฟัง ทิฏฐิวิสุทธิต้องรู้ถึงรูปนามใช่ไหมจึงจะเรียกว่าทิฏฐิวิสุทธิ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เป็นวิปัสนาญาณแรกคือนามรูปปริจเฉทญาณ

    ผู้ฟัง ความเห็นถูกไม่เป็นตัวตนต้องถึงกับเห็นรูปเห็นนามหรือ

    ท่านอาจารย์ จึงประจักษ์แจ้งจึงเป็นวิสุทธิ์ มิฉะนั้นก็อาจจะยังสงสัย ทั้งๆ ที่ได้ฟัง ทั้งๆ ที่สติกำลังระลึก มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นน้อยมาก และก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนกระทั่งแทงตลอด จนกระทั่งรู้รอบในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่าง จึงเป็นวิสุทธิจากความเห็นผิดในขณะนั้นด้วยการรู้จริงๆ ถ้ารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงหมดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมนั้น อย่างขณะนี้พูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ที่ทุกคนก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าเข้าถึงความเห็นถูกต้องจริงๆ หรือยัง สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แค่นี้ ปรากฏทุกวันตลอดเวลาแม้เวลานี้ ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่มีใครในสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาทแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว นี่คือความจริง ทิฏฐิวิสุทธิต้องเห็นตรงตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง จากการฟังเทปเกิดจากความไม่เข้าใจอย่างหนึ่ง เวลาสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง อยากขอความกระจ่างว่าเป็นเพียงธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แข็งกำลังปรากฏ กายวิญญาณเป็นจิตที่รู้แข็ง ขณะนั้นเป็นปัญญาหรือไม่ เพราะทุกคนสามารถจะรู้ลักษณะที่แข็งได้ เพราะฉะนั้นขณะนั้นแข็ง ขณะนั้นไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่าลักษณะแข็งเป็นลักษณะของธรรมอย่างหนึ่ง เพราะว่าไม่เคยรู้ตรงแข็ง เพียงแต่สามารถรู้แข็ง แต่ไม่สามารถที่จะมีความเข้าใจถูกว่าแข็งขณะนั้นเป็นเพียงลักษณะของธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการฟังของเรา ฟังเรื่องราวแต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดที่เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่กำลังฟังเรื่องราวโดยที่ว่าไม่มีการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่เป็นปกติอย่างนี้ ไม่ใช่สติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานจะเกิดไม่ได้ อย่าไปคิดถึงกับว่าเกิดไม่ได้ ยากมากหรืออะไรอย่างนั้น เป็นของธรรมดา มีอยู่ทุกขณะ แต่ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นปัญญาถึงระดับไหน ปัญญากำลังฟังเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ และกำลังพิจารณาจนกระทั่งค่อยๆ เป็นความทรงจำในเรื่อง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    12 ม.ค. 2567