พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 223


    ตอนที่ ๒๒๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงเรื่องสภาพธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ เป็นอย่างไร และก็จะรู้จักตัวจริงเขาได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ วันนี้เราก็พูดกันถึงเรื่องกุศลจิตซึ่งนานๆ ก็จะเกิด นานๆ ที่นี่ไม่ได้หมายถึงว่าไม่ได้เกิด แต่หมายถึงว่าเกิดน้อยกว่าอกุศล แม้อย่างนั้นก็ไม่รู้ใช่ไหมว่าขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าโดยรวมแล้วรู้

    ท่านอาจารย์ โดยรวมหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ในขณะที่ผมหยิบแก้วน้ำหรือตักน้ำไปให้ใครรับประทาน ก็รู้ว่าการกระทำอย่างนี้เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์กับผู้รับ

    ท่านอาจารย์ เรียกชื่อหรือไม่ ในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงสภาพธรรมที่อาจารย์ได้อธิบายให้ผมได้เข้าใจเป็นพื้นฐาน ในขณะที่เรียกชื่อ ขณะนั้นไม่ใช่สภาพธรรมตัวจริง

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะที่คุณประทีปช่วยเอาแก้วน้ำไปให้คนอื่นจะต่างกับขณะซึ่งไม่ได้ทำอย่างนั้นหรือไม่

    ผู้ฟัง ต่างแน่นอน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นลักษณะของสภาพของจิตซึ่งต่างกัน และเป็นประโยชน์กับคนรับหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นสิ่งที่ดี

    ท่านอาจารย์ นี่คือการที่เราจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดี ขณะนั้นมีความเป็นมิตร มีการที่จะให้ประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ขณะนั้นก็เป็นจิตที่เป็นกุศลประเภทหนึ่ง

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นในชีวิตประจำวัน เรื่องราวที่เป็นคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี เราทำกุศล เราทำบาป ทำบุญ ขณะนั้นก็เป็นเรื่องราวของสภาพธรรมที่กำลังคิดใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคุณประทีปจะรู้ได้ถ้ามีคนบอกว่าคุณประทีปทำอย่างนั้นไม่ดี คุณประทีปเชื่อหรือไม่ว่าไม่ดี หรือ สภาพจิตที่ดีเกิดขึ้น จึงได้เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ดีเกิดขึ้นจึงกระทำอย่างนั้นหรือไม่ทำอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ช่วยเป็นสภาพธรรมหรือเป็นจิตที่ดีงามหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงขณะที่ช่วยก็เป็นสภาพธรรมเป็นจิตที่ดีงาม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนั้น คุณประทีปก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าวันนี้มีกุศลอะไรบ้าง หรือว่าต้องไปเรียนเรื่องทานเรื่องศีลมาก่อนถึงจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล

    ผู้ฟัง ในขณะที่พูดถึงว่าการกระทำที่เอาน้ำไปให้ผู้อื่นทานเพื่อเป็นประโยชน์ของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดีจริง แต่ก็เป็นเรื่องเป็นราวยาว

    ท่านอาจารย์ แล้วมีจิตไหมขณะนั้น

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตที่ต่างขณะกับที่ไม่ทำอย่างนั้นหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตทั้งสองขณะนี้ต่างกัน อย่างไหนเป็นประโยชน์กับคนอื่น อย่างไหนไม่เป็นประโยชน์กับคนอื่น แล้วเราก็ใช้คำว่า “เป็นกุศล” เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ไปนึกถึงชื่อเสียก่อน แล้วก็มาตัดสินว่าขณะนั้นจิตเราเป็นกุศลเพราะว่าเรากำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น แต่สภาพของจิตที่เกิดขึ้นเราสามารถที่จะเข้าใจได้แม้ในขณะที่กำลังทำสิ่งนั้นว่าทำด้วยจิตที่ดีงาม หรือทำด้วยจิตที่ไม่ดีงาม ถ้าใช้คำว่า “กุศล” นี้ดูจะยาก แต่ถ้าใช้ภาษาไทยว่าดีหรือไม่ดีอาจจะเข้าใจได้ อย่างความดีกับความชั่ว ถ้าเราคิดถึงกุศลหรือใช้คำว่า “กุศล” บางคนอยากจะได้กุศล แล้วถ้าถามว่าจิตขณะนั้นดีหรือไม่ อาจจะตอบไม่ได้ หรืออาจจะไม่ต้องการให้จิตที่ไม่ดีเกิดขึ้น แต่อยากได้กุศล เพราะฉะนั้นจริงๆ ก็คือว่าให้เข้าใจสภาพของจิตว่าจิตที่เป็นกุศลต่างกับจิตที่เป็นอกุศล แล้วจะรู้ได้อย่างไร โดยชื่อเราฟังมาว่าขณะใดที่เป็นการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น เป็นทานกุศล แต่สภาพของจิตในขณะที่ให้ เราต้องรู้ด้วยว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่ไม่คิดถึงประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ด้วยเหตุนี้การให้เพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่นจึงเป็นกุศล หมายความถึงว่าเป็นจิตที่ดีงาม "ญาณสัมปยุตต์" คือ ประกอบด้วยความเห็นถูก ความเข้าใจถูก กุศลนั้นประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาก็เป็นอีกคำหนึ่งคือ "ญาณวิปยุตต์ " ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ไม่ต้องกังวล ถ้ามีความเข้าใจแล้วจะค่อยๆ จำได้

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ขอถามว่ามีใครมีกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาบ้าง ก็แสดงให้เห็นว่าขณะที่กำลังฟังก็เป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้จักคำที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้นด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงแต่จำว่ามีเท่าไร และชื่ออะไร เพราะฉะนั้นขณะใดที่มีความเข้าใจ ขณะนั้นไม่ใช่เรา เพราะเป็นจิตประเภทที่ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน เพราะ"เห็น" "ได้ยิน"เข้าใจอะไรไม่ได้ เป็นจิตที่เพียงมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง แต่ว่าเมื่อมีการฟัง และก็มีความเข้าใจขณะนั้นต้องเป็นจิตที่ดีงาม ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าจะใช้เป็นภาษา เป็นเรื่องราวก็มีเรื่องอีกมาก แต่ตามความเป็นจริงเข้าใจเกิดขึ้นเมื่อไร ความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีจริงๆ จากการฟัง ขณะนั้นจะเป็นจิตที่ไม่ดีได้ไหม ไม่ได้ เป็นจิตที่ดีแน่นอน เริ่มเข้าใจความหมายของกุศล แล้วเมื่อมีความเข้าใจๆ นั้นไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ได้เกิดบ่อย ขณะที่ให้ทานก็เป็นกุศลจิต เป็นจิตที่ดีงาม แต่มีความเข้าใจอะไรในขณะนั้นหรือไม่ ถ้าไม่มีขณะนั้นก็เป็นกุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา แต่ขณะนี้กำลังฟังเรื่องธรรม เป็นกุศลจิต ผ่องใส ไม่ได้มีโลภะ โทสะ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่ได้อยากได้อะไร ไม่ได้โกรธอะไร แต่ว่ากำลังฟัง และมีความเข้าใจด้วย เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ขณะนั้นต้องเป็นกุศล และต้องประกอบด้วยปัญญาด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าไม่คิดถึงชื่อ ถ้าไม่ใส่ชื่อแล้ว ก็จะมีสภาพธรรมชนิดนี้ที่กำลังปรากฏให้รู้ได้เป็นกุศลที่ประกอบไปด้วยความเข้าใจในสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นชื่อเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ทำให้เข้าใจ และก็แยกความรู้สึกได้ว่าทีละขณะจริงๆ ในขณะที่สภาพธรรมปรากฏกับในขณะที่คิดถึงชื่อถึงเรื่องราวที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ธรรมคือสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงก็มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เป็นภาวะประจำลักษณะของสภาพธรรมนั้น เป็นสภาวธรรม ธรรมนั้นต้องมีภาวะคือมีลักษณะมีความเป็นอย่างนั้นซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี่คือความหมายภาษาไทย ให้เข้าใจเช่นนี้ แต่ถ้ารู้ว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริงๆ มีลักษณะเฉพาะที่จะเป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น นั่นก็คือธรรมที่มีภาวะของตนคือลักษณะที่สามารถจะปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ถ้าอย่างนี้ก็เข้าใจความหมายของสภาวธรรมได้ ไม่ว่าจะได้ยินคำว่า “สภาวะ” หรือ ”สภาพธรรม”

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นผู้ที่ศึกษาใหม่ๆ อย่างกระผมจะต้องมีความรู้ว่าถ้าเป็นสภาพธรรมแล้วก็จะหนีไม่พ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทีละเล็กทีละน้อย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ก็หมายความว่าคนนั้นไม่เข้าใจธรรม เพราะแม้สิ่งที่เป็นธรรมที่กำลังมีก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ศึกษามาตั้งมากแต่ว่าในชีวิตจริงก็รู้เพียงแค่นี้ เพราะว่านั่นเป็นปัญญาของพระผู้มีพระภาคเจ้า

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้แค่นี้แล้วก็จะรู้ขึ้นๆ เรื่อยๆ ปัญญาก็เจริญขึ้น

    ผู้ฟัง เจตสิกที่เกิดมีทั้งกุศล และอกุศล แต่เมื่อเกิดร่วมกับอกุศลหรือเกิดร่วมกับกุศลจะมีความแตกต่างไหม

    ท่านอาจารย์ เจตสิกนั้นจะเกิดร่วมกับกุศล และอกุศลพร้อมกันได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะที่เกิดกับจิตใด ลักษณะที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตนั้นเป็นอกุศล สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต และเจตสิกที่เป็นอกุศลขณะนั้นก็เป็นอกุศลด้วย และเวลาที่สภาพของโสภณธรรมคือเจตสิกฝ่ายดีเกิดกับจิตประเภทใด เจตสิกอื่นที่เกิดกับจิตร่วม และเจตสิกในขณะนั้นก็เป็นกุศลด้วย ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่ามีเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ แต่ไม่ใช่เกิดพร้อมกัน ต้องคนละขณะ

    ผู้ฟัง แล้วสภาพของตัวเจตสิกนั้นๆ ยังคงสภาพเหมือนกันหรือไม่ทั้งสองขณะ

    ท่านอาจารย์ เจตสิกเปลี่ยนลักษณะของเจตสิกแต่ละอย่างไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เจตสิกจึงต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท และเจตสิกของประเภทหนึ่งจะไปทำกิจของเจตสิกอีกประเภทหนึ่งไม่ได้ ยังคงเป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ของเจตสิกนั้น ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนเมื่อไร ขณะที่เป็นอกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลเจตสิก และจิตที่เป็นอกุศลขณะนั้นก็ยังทำหน้าที่ของตน เปลี่ยนกิจหน้าที่ไม่ได้ แต่เกิดเมื่อไร กับจิตใด ก็เป็นไปตามประเภทของจิตนั้นในขณะนั้น

    ผู้ฟัง แล้วจะมีความต่างกันหรือไม่ เช่นฉันทะๆ เกิดได้ทั้งกุศล และก็อกุศล ฉันทเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ทีละขณะ

    ผู้ฟัง แล้วลักษณะสภาพของฉันทะมีความต่างหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ฉันทะคือสภาพที่พอใจที่จะกระทำ ถ้าขณะนั้นความพอใจที่จะกระทำเกิดกับอกุศลเจตนา ขณะนั้นเจตสิกทั้งหมด และจิต และฉันทะก็เป็นไปในอกุศล แต่ยังคงเป็นความพอใจที่จะกระทำแต่กระทำอกุศล แต่ถ้าเป็นฝ่ายกุศล ฉันทเจตสิกก็เกิดร่วมกับจิต และเจตสิกที่เป็นฝ่ายดี ฉันทะก็ไม่ได้ทิ้งหน้าที่ที่จะพอใจที่จะกระทำ แต่ขณะนั้นเกิดร่วมกับโสภณเจตสิก เพราะฉะนั้นพอใจที่จะกระทำที่เป็นกุศล

    ผู้ฟัง เวทนาที่เป็นโสมนัสเวทนาที่เกิดในจิตที่เป็นโลภะซึ่งเป็นอกุศล กับเกิดในจิตที่เป็นกุศล จะเป็นลักษณะที่ต่างกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เวทนาเป็นความรู้สึก โสมนัสคือความรู้สึกที่สบายใจ ดีใจ เวลาที่เวทนาเกิดทางฝ่ายอกุศล เราอาจจะเกิดบ่อยๆ ก็รู้ได้ เช่น เวลาที่บางคนจะชอบไปเที่ยวที่ต่างๆ และก็ขณะนั้นมีความสบายใจที่ได้อยู่ที่นั่น ขณะนั้นก็เป็นความสบายใจยินดีที่ติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏด้วย แต่เวลาที่เป็นความยินดีสบายใจในขณะที่เป็นกุศล ลักษณะก็ต้องต่างกันแต่ไม่เปลี่ยนลักษณะของสภาพความรู้สึกที่ยินดีที่ปลาบปลื้ม

    ผู้ฟัง แสดงว่าลักษณะที่จะสามารถพิจารณาได้ในขั้นต้นคือลักษณะของจิต ที่รู้อารมณ์ในขณะนั้นใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วการฟังธรรม ไม่ว่าจะฟังธรรมมาก เรื่องอะไร เมื่อไรก็ตาม จุดประสงค์คือเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจ เราได้ยินคำว่า “จิต” ก็ทราบว่าเป็นธาตุที่สามารถที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ขณะที่เกิดมาแล้วก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดมาแล้วต้องเห็นใช่ไหม แต่ไม่เคยรู้ที่ขณะนี้กำลังเห็นไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงชนิดหนึ่งซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานสามารถที่จะเห็นแจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือขณะนี้ ฟังเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จุดประสงค์ของการฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ขณะนี้เสียงปรากฏ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในเสียง เสียงแต่ละเสียงต่างกันไปเพราะเสียงเกิดเพราะเหตุปัจจัยที่ต่างกัน และจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งเสียงที่ปรากฏจึงรู้ว่าเสียงแต่ละเสียงต่างกัน ถ้าจิตไม่ใช่สภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ความต่างของรูปแต่ละขณะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้เลย แต่เราฟังธรรมแล้วเราก็ลืมว่าเป็นธรรม ฟังธรรมแต่เป็นเราเห็น เป็นเราได้ยิน เป็นเราคิดนึก เพราะฉะนั้น การฟังต้องฟังจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่าเป็นธรรมตามที่ได้ฟัง ไม่ใช่กำลังฟังนี้เป็นเรากำลังฟังธรรม ขณะนั้นก็คือว่าไม่ได้เข้าใจธรรมว่าธรรมเท่านั้นที่มีจริง มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แล้วธรรมก็ต่างกันเป็นจิต เป็นธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ เจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างเลย แต่เป็นสภาพรู้เกิดกับจิต จะไม่เกิดที่อื่น นอกจากเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต ไม่ว่าจิตจะรู้อารมณ์อะไร มีอะไรปรากฏให้จิตรู้ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็รู้อารมณ์นั้นโดยฐานะต่างๆ กันตามสภาวธรรมของเจตสิกแต่ละประเภท เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่จิตเห็นไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิตที่เห็น ต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แล้วถ้ารู้ว่าจิตที่เห็นเป็นวิบากเป็นผลของกรรมๆ เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น ฉันใด กรรมก็เป็นปัจจัยให้วิบากเจตสิกเกิดร่วมกับจิตที่เห็น และวิบากเจตสิกนั้นๆ ก็ทำกิจหน้าที่ของวิบากของเจตสิกนั้นๆ แต่ละประเภท ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของจิตอื่น และไม่ใช่หน้าที่ของวิบากเจตสิกอื่น แต่ก็เป็นวิบากเจตสิก แล้วแต่ว่าเป็นอะไรก็ทำหน้าที่นั้นในขณะนั้นก็เป็นวิบากร่วมกันทั้งจิต และเจตสิก

    เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืม ฟังธรรมกำลังเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ สะสมเป็นความเห็นถูกจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมโดยไม่ไปติดที่คำ เพราะเหตุว่าแต่ละภพแต่ละชาติเราจะใช้ภาษาไหน เรารู้ไม่ได้ เราเกิดที่เมืองไทย เราใช้ภาษาไทย เราเข้าใจภาษาไทย แต่ถ้าเราเกิดที่ประเทศอื่น และสะสมความรู้ความเห็นถูกในธรรม ฟังคำในภาษานั้นก็สามารถที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ด้วยเหตุนี้ไม่ใช่เราฟังแล้วเราจะต้องไปจำคำ แต่เราเข้าใจคำที่ได้ฟัง เช่นคำว่า “กุศล” และมีคำว่า “ชาติ” ซึ่งได้ยินบ่อยๆ ว่า “กุศลชาติ” แล้วคนที่ไม่เคยศึกษาธรรม เขาก็จะไม่เข้าใจ ว่ากุศลชาติคืออะไร แต่ถ้าบอกว่าจิตเกิดขึ้นเป็นกุศล เข้าใจได้ไหม จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล จิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก จิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่เกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัจจัยที่จิตจะเกิดขึ้นเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดจะเป็นอื่นไม่ได้ เช่น ขณะที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นจิตที่เกิดเป็นอกุศล คำว่า “ชาติ” หรือ ”ชา+ติ” คือการเกิดๆ เป็นกุศล เกิดเป็นอกุศล ด้วยเหตุนี้ถ้าเราใช้คำภาษาไทย และก็เข้าใจแม้คำในภาษาบาลี ถ้าเราเข้าใจว่าจิตเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินคนอื่นพูด ผู้ที่อาจจะอ่านตำราหรือศึกษาธรรมก็จะบอกว่ากุศลชาติ อกุศลชาติ วิบากชาติ กิริยาชาติ เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้โดยที่ไม่สงสัยเพราะว่าเราเข้าใจถูกต้องว่าจิตที่เกิดเป็นกุศล มี เป็นอกุศล มี เป็นวิบาก มี เป็นกิริยา มี ในภาษาไทยจิตเกิดเป็นกุศลแต่เวลาที่ใช้คำภาษาบาลี ก็จะกล่าวว่า จิตมี ๔ ชาติ เราก็อาจจะบอกว่าการเกิดของจิตนี่ต่างกันเป็น ๔ อย่างหรือ ๔ ประเภทก็ได้คือจิตที่เกิดเป็นอกุศล ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า ”อกุศลชาติ” ถ้าจิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ภาษาบาลีก็เป็นอกุศลชาติ จิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก พูดถูกแล้วใช่ไหม หรือได้ยินได้ฟังมาก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าวิปากชาติหมายความถึงจิต และเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย นี่ก็เป็นเรื่องที่การฟังธรรม จุดประสงค์เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่แม้มีจริง แต่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้ และไม่ทรงแสดง เช่นในขณะที่เห็นใครจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ว่า"เห็น"มีจริงๆ แล้วเห็นเป็นอะไรถ้าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ความจริงของเห็นก็คือว่าเห็นเป็นภาวะหรือเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งสามารถเห็น แต่ไม่สามารถที่จะคิด ไม่สามารถที่จะจำ ไม่สามารถที่จะรู้สึก แล้วลองคิดดูเพียงแค่เห็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงถึงภาวะของหนึ่งขณะจิตที่เกิดเห็น ว่าขณะที่เห็นมีธรรมอะไรเกิดร่วมด้วย โดยปัจจัยอย่างไร และธรรมนั้นก็เป็นจริง อย่างเจตสิกเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างเลย เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต แล้วถ้าปัญญาเกิดก็สามารถที่จะรู้ความต่างเพราะเหตุว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ และสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับด้วย มิฉะนั้นจะไถ่ถอนการที่เคยหลงเข้าใจว่าเห็นขณะนี้เป็นเราไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าความไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่มีทำให้มีการยึดถือ และมีการเข้าใจว่าสิ่งที่มีไม่ได้เกิดแล้วดับ เช่นในขณะนี้ที่ "เห็น" มี ใครรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดแล้วดับ เห็นแล้ว แต่ไม่รู้ขณะที่เกิด และขณะที่ดับ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่รู้จริงในสิ่งที่มีสามารถที่จะประจักษ์ตามความเป็นจริง และทรงแสดงให้ผู้อื่นสามารถที่จะอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก และมีความมั่นคงขึ้น ไม่ใช่ความมั่นคงในธรรมของเราจะไปอยู่ที่ชื่อมากๆ ที่จำได้ แต่เป็นความมั่นคงที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม แม้แต่เพียงเริ่มต้นที่จะไม่ลืมว่าขณะนี้เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงเพื่อที่จะได้รู้ความจริงของสิ่งที่มีโดยการเข้าใจถูก ตามความเป็นจริงซึ่งไม่ใช่เรา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะต้องสะสมจนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ

    ผู้ฟัง ขอถามว่าสามารถเจริญกุศลอย่างไร เพราะว่าจริงๆ แล้วสภาพธรรมที่เป็นกุศล เราแทบจะรู้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาคิดว่าใครสามารถจะช่วยได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่าไม่ควรประมาทแม้กุศลเพียงเล็กน้อย

    ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงช่วยใครได้หรือไม่ ต้องเข้าใจคำว่า “ช่วย” หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง หมายความว่าทำให้เกิดปัญญาได้

    ท่านอาจารย์ โดยวิธีไหน

    ผู้ฟัง ก็ต้องฟังธรรมอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ เป็นความมั่นใจของคุณสุกัญญาแล้วใช่ไหมว่าไม่มีวิธิอื่น

    ผู้ฟัง คือเราไม่สามารถที่จะรู้เหตุปัจจัยในอนาคตได้

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่สามารถที่จะรู้เหตุก็สะสมเหตุที่จะทำให้เรามีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังอีก

    ผู้ฟัง แต่ทุกครั้งที่ได้ฟังพระธรรมก็มักจะมีปัญหาเกิดขึ้น และก็มีความสงสัยอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดา จะไม่สงสัยได้อย่างไรถ้าขณะนี้สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏว่าเป็นธรรมที่เกิดดับ ก็ยังต้องสงสัยอยู่ ใครไม่สงสัย

    ผู้ฟัง ก็ต้องพระโสดาบัน

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมพระโสดาบันไม่สงสัย

    ผู้ฟัง เพราะเห็นถูกแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะพระโสดาบันอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมจนประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง ถ้ากุศลจิตที่เกิด จิตที่เกิดย่อมจะต้องมีอารมณ์ จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ขณะที่กุศลจิตที่เกิดจะมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจก่อนว่าปรมัตถธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง ปรมัตถธรรมคือสภาพความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรเป็นปรมัตถธรรมบ้าง

    ผู้ฟัง จิตเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นรู้ความจริงของจิตเห็นหรือสภาพของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ไม่ว่าจะเห็นหรือจะได้ยินลักษณะของจิตเป็นธาตุรู้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    12 ม.ค. 2567