พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 220


    ตอนที่ ๒๒๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ โทสะก็เป็นสติไม่ได้ ปัญญาก็เป็นสติไม่ได้ สติเป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศลเท่านั้นหรือในธรรมฝ่ายดี ถ้าเราคิดเรื่องอะไรไม่ได้หมายความว่าเป็นสติ ถ้าจะหมายความว่าสติแปลว่าระลึกหรือแปลว่าระลึกได้ หรือแปลว่าระลึกรู้ ก็แล้วแต่ใช้คำอะไรก็ได้ แต่ต้องศึกษาให้เข้าถึงอรรถของลักษณะของสติว่าสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่า “สติ” เป็นโสภณธรรมเท่านั้นเป็นธรรมฝ่ายดี ทุกคนนั่งคิดได้ แต่ว่าขณะที่คิดเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ถ้าใครคิดเป็นอกุศลจิตไม่ใช่สติที่ระลึกหรือคิด แต่ว่าเป็นสภาพเจตสิกอื่นซึ่งเกิดกับจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ เพราะฉะนั้นที่ว่าโลกมืดเพราะเหตุว่า แม้ว่าจะเกิดมากี่ภพกี่ชาติก็ตาม ขณะที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ก็มืดเพราะเหตุว่าไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้นถ้าเป็นปัญญาก็เริ่มที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครจะคิด ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย

    พระธรรมที่ทรงแสดง แสดงให้เห็นว่าถ้าฟังแล้วเข้าใจ เราก็จะรู้ว่าไม่ง่ายที่จะเป็นปัญญาที่จะเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งความจริงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ ที่ทรงแสดงจากการรู้แจ้งจากการประจักษ์แจ้งซึ่งเป็นการที่ทรงตรัสรู้ แต่ผู้ที่กำลังฟังก็สามารถที่จะเข้าใจได้ เปรียบเทียบได้กับปัญญาขั้นที่เริ่มฟังเรื่องราวของสภาพธรรม ทั้งๆ ที่สภาพธรรมก็มีจริงๆ และกำลังปรากฏ แต่กว่าจะเป็นความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย บางคนก็อาจจะบอกว่าไม่เห็นไปไหนเลยพื้นฐานพระอภิธรรมนี่ อยู่ตรงอกุศลจิตนานแล้ว แต่ให้เข้าใจว่าพระธรรมที่ทรงแสดง ถ้าทรงแสดงกับผู้ที่มีกิเลสน้อย กิเลสเบาบางจะทรงแสดงเรื่องของกุศลจิตต่างๆ ประเภทยิ่งขึ้น แต่สำหรับผู้ที่ปัญญาน้อยจะแสดงเรื่องของอกุศล เพราะอกุศลมีมาก แล้วเราจะฟังอะไรเพราะอยากฟัง หรือว่าเราจะรู้ตามความเป็นจริงว่าเรามีความไม่รู้มาก เพราะฉะนั้นฟังเรื่องของอกุศลเพื่อที่จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่าอกุศลตรงกันข้ามกับปัญญา อกุศลไม่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นการทดสอบการฟังด้วยความเป็นผู้ตรงว่าฟังแล้วมีความเข้าใจแค่ไหน ยังคงมีอวิชชาอีกมาก ก็ฟังเรื่องของอกุศล ขณะใดที่มีความเข้าใจขึ้น ขณะนั้นเป็นปัญญาที่เห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท และไม่รีบร้อน และก็จะไม่ขวนขวายในทางที่ผิด

    ผู้ฟัง คำว่า “บัญญัติ” เราไม่จำเป็นต้องรู้ได้ไหม อย่างที่ผมเห็น ผมก็เห็น ไม่จำเป็นต้องเรียกว่าคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ถึงไม่เรียกแต่เห็นอะไร

    ผู้ฟัง คือเห็นสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ เห็นอะไรที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เป็นรูปอาจารย์

    ท่านอาจารย์ รูปอาจารย์นั้นคืออะไร

    ผู้ฟัง คือผมไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ บัญญัติแล้ว

    ผู้ฟัง อ๋อ นี่คือบัญญัติแล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปทำอะไร จะไปกั้นบัญญัติก็ไม่ได้ จะไม่ให้มีบัญญัติก็ไม่ได้ แต่สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร ตามความเป็นจริง ก็รู้ตามความเป็นจริงนั้นให้ถูกต้องจนกระทั่งละความไม่รู้ซึ่งก็คืออวิชชานั่นเอง ซึ่งทุกครั้งที่ฟังแล้วเกิดความเข้าใจขึ้น กำลังค่อยๆ ละอวิชชา ซึ่งถ้าไม่ละอวิชชา ไม่ละความไม่รู้ จะไปถึงโลกุตตรธรรมได้อย่างไร ไปทั้งๆ ที่ไม่รู้ ไปได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่ฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นก็กำลังค่อยๆ ละคลายอวิชชาซึ่งปิดกั้นไม่ให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง คำถามก็คือเราไปยึดโมหะเป็นของเราแล้วจะละคลายอย่างนี้ด้วยการฟังหรืออย่างไร แล้วจะละคลายทิฏฐิได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงยึดถือธรรมว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง เพราะไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ถ้าเรารู้ว่าเราไม่รู้ก็ยังดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ละคลาย

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะค่อยๆ รู้มากขึ้นอีก รู้ขึ้นเท่าไรก็ค่อยๆ คลายโมหะไปเท่านั้น ถ้ายังไม่รู้ขึ้น โมหะก็เพิ่มไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ถ้ารู้ว่าเราไม่รู้ ก็ยังเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ ยังเป็นเราที่ไม่รู้

    ผู้ฟัง ก็ยังดีขึ้นนิดหนึ่งแต่ก็ไม่ได้ละคลาย

    ท่านอาจารย์ จะดีหรือไม่ดีก็ยังเป็นเราอยู่

    ผู้ฟัง ก็ใช่ ตรงนี้อาจารย์ช่วยต่อยอดให้เข้าใจ และก็ละคลายไปได้เบาบางลง

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณวิชัยกล่าวถึงโอวาทปาฏิโมกข์ที่ทรงแสดงสรุปพระธรรมทั้งหมด

    อ.วิชัย ก็คือการไม่กระทำบาปทั้งปวง การเจริญให้ถึงพร้อม การยังจิตให้ผ่องใส

    ท่านอาจารย์ คุณสุกิจละทุจริตหรือไม่ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดเพ้อเจ้อ อะไรก็แล้วแต่

    ผู้ฟัง ตรงที่ไม่พูดเพ้อเจ้อนี่ห้ามยากจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราจะเข้าใจความหมายของคำว่า “ละชั่ว” ว่าความประพฤติทุจริตทางกาย และวาจา แล้วก็กระทำดีให้ถึงพร้อม แต่ลืมข้อ ๓ หรือไม่ ชำระจิตให้ผ่องใสคือให้บริสุทธิ์จากความไม่รู้ และกิเลสทั้งหลาย เราอาจจะคิดว่าเราอยากจะทำกุศล ดีแล้วที่เราฟังธรรม เป็นกุศล ขณะที่ฟังเราไม่ได้ไปทำอกุศล ขณะนั้นเราก็เป็นคนดี ละชั่ว ประพฤติดีด้วย ฟังธรรม แต่คิดถึงเรื่องการชำระจิตให้ผ่องใส ให้บริสุทธิ์จากอกุศลหรือไม่ เราลืมจุดนี้ ที่จริงแล้วการฟังธรรมก็เพื่อที่จะมีปัญญาเห็นถูก และค่อยๆ ละจิตซึ่งเศร้าหมองด้วยอกุศลให้เบาบางลงไปจากความเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง ก็ยังมีตัวตนอยู่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ฟังต่อไป เข้าใจต่อไป ขณะที่เข้าใจก็ไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะชั่วหรือดีก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง การพิจารณาธรรมตามที่อาจารย์บรรยาย ลักษณะของความเป็นจริงกับสามัญลักษณะ เราจะพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ “เรา” จะพิจารณาไม่ได้แน่นอน

    ผู้ฟัง สติจะระลึกตรงลักษณะของธรรมตามความเป็นจริง และลักษณะของสามัญลักษณะ สิ่งไหนอย่างใดอย่างหนึ่งหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีปัจจัยที่สติจะเกิด

    ผู้ฟัง สติกับปัญญานั้นต้องเป็นของคู่กัน ต้องรู้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สติเป็นโสภณธรรม เป็นโสภณเจตสิกเกิดกับโสภณจิตทุกประเภทจะมีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้

    ผู้ฟัง แต่ถ้าปัญญาไม่มี สติเกิดไม่ได้ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เกิดได้ เพราะเหตุว่าสติสามารถจะเกิดกับจิตที่ดีงามทุกประเภท โดยที่ปัญญาจะเกิดหรือไม่เกิดกับสติก็ได้ แต่ถ้าปัญญาเกิดเมื่อไร ต้องมีสติเกิดร่วมด้วยเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง ต้องรู้โดยเข้าใจเองใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีเจตสิกเท่าไรที่เกิดกับจิตเห็น ฟังเข้าใจหรือว่ารู้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราจะเลือกไปรู้นั่นรู้นี่ ไม่ได้เลย แม้ว่าจะฟังแล้วเข้าใจว่าจิตจะเกิดโดยลำพังโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ แล้วก็ขณะที่จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ และมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด ๗ ประเภทก็คือขณะที่เป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แม้กระนั้นเราจะให้สติไปรู้ผัสสะ ไปรู้เจตนา ไปรู้สัญญา ไปรู้ชีวิตตินทริย เจตสิกหนึ่งเจตสิกใดไม่ได้ ไม่มีทางที่ใครจะทำอะไรได้เพราะไม่มีใคร และไม่มีตัวตน ฟังธรรมก็คือว่าให้เข้าใจธรรม รู้ว่าเป็นธรรม และก็ทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ เพราะอะไร เพราะทรงแสดงลักษณะที่แท้จริงของธรรมแต่ละอย่าง ให้เห็นความจริงว่าเป็นธรรมนั้นๆ ไม่เป็นอื่น ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะกล่าวถึงสภาพธรรมใด ก็มีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้นที่แสดงให้เห็นว่าสติเจตสิกไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ไม่ใช่วิตกเจตสิก ไม่ใช่เจตสิกอื่นๆ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็คือฟังเพื่อให้ค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นธรรม ทั้งๆ ที่เป็นธรรม แต่กว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมก็ต้องอาศัยการฟัง มีใครไม่รู้ลักษณะของโลภะ ของโทสะ บ้างเสียใจ ดีใจ ก็เป็นลักษณะที่มีจริง แต่รู้ไหมว่าเป็นธรรม และรู้เมื่อไร ขณะที่กำลังฟังก็รู้ชื่อ ก็มีจริงๆ ก็เรียกได้ แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิด รู้ความเป็นธรรม ลักษณะที่เป็นเพียงธรรมของสภาพธรรมที่ฟังมาแสนนานว่าเป็นธรรม และก็เข้าใจด้วยว่าเป็นธรรมจากการฟัง นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ความจริงเมื่อไร ก็จะละคลายความเป็นตัวตน การยึดถือสภาพธรรมจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบันเมื่อไร เมื่อนั้นก็ดับความเห็นผิดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่เกิด

    ผู้ฟัง สามัญลักษณะเกิดดับนี่ไม่เห็น ไม่รู้เลย

    ท่านอาจารย์ อวิชชาเห็นไม่ได้ คนที่ได้ฟังพระธรรมแล้วรู้ตามมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่รู้ตาม ทำไมรู้ตามได้

    ผู้ฟัง เพราะปัญญา

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมปัญญาสามารถจะรู้ตามได้

    ผู้ฟัง เพราะฝึก

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นปัญญาที่ได้อบรมแล้ว เพราะฉะนั้นเราหรืออวิชชาไม่สามารถที่จะเห็นการเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้

    ผู้ฟัง เพราะว่ายังเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นอวิชชาก็ต้องเป็นวิชชา แต่นี่อวิชชาไม่รู้ ส่วนวิชชารู้

    ผู้ฟัง ถึงจะศึกษา

    ท่านอาจารย์ ศึกษาถึงวิถีจิต จำชื่อได้ แล้วเห็นขณะนี้เป็นธรรมอย่างไร นี่ต้องเข้าถึงลักษณะของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่เพียงแต่จำชื่อ

    ผู้ฟัง เพราะยังเป็นเราอยู่ใช่ไหม สติหรือปัญญาที่จะพิจารณา จะพิจารณาที่ลักษณะหรือสามัญลักษณะ

    ท่านอาจารย์ จะพิจารณาที่ลักษณะหรือสามัญลักษณะก็ไม่ได้เพราะเป็นเรา ต้องเป็นสติที่อบรมเจริญแล้ว

    ผู้ฟัง ใช่ครับ สติจะพิจารณา

    ท่านอาจารย์ เมื่อสติเกิด แล้วก็เป็นสติปัฏฐานซึ่งเป็นสติสัมปชัญญะ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่สติธรรมดา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สติขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถภาวนา

    ผู้ฟัง สติปัฏฐานหรือวิปัสสนาเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เราคิดนึกกับจิตคิดนึก มีสภาพต่างกันไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าจิตไม่เกิดอะไรคิด

    ผู้ฟัง ก็ไม่มีสภาพคิด

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมเมื่อกี้เป็นเราคิดกับจิตคิดได้อย่างไร ก็จิตนั้น คิด แต่ไม่รู้ว่าเป็นจิตที่คิด ก็ยึดถือจิตที่คิดว่าเป็นเรา อะไรก็ตามที่มี และกำลังปรากฏ และไม่รู้ ก็ยึดถือในสิ่งนั้นๆ ด้วยความเป็นเรา เพราะมีสิ่งนั้น เช่น เห็นอย่างนี้ แล้วก็ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ความจริงของเห็น กำลังเห็นเดี่ยวนี้ก็เป็นเรา เพราะมีสิ่งที่เห็น เพราะฉะนั้นก็ยึดถือสิ่งที่เห็นนั้นว่าเป็นเราด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นเวลาที่คิด ไม่ใช่มีจิตคิดกับเราคิดต่างหาก ถ้าไม่มีจิต อะไรคิด ถ้าไม่มี เพราะฉะนั้นเราก็ไม่มี แต่เมื่อจิตคิดก็ยึดถือจิตคิดว่าเป็นเราคิด

    ผู้ฟัง คำว่า “ศึกษา” คำว่า “เจริญ” หรือคำว่า “ภาวนา” จะอยู่ตรงไหน เพียงแต่ฟังแล้วเมื่อไรจะเจริญ จะเกิดความรู้สึกที่เห็นสภาพจริงๆ ขึ้น หรือว่ายังไม่ถึงเวลาจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่เราฟังธรรม แต่กำลังฟังเรื่องธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมแล้วจะเป็นเราฟังธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังฟังอะไร สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดก็คือว่าฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง ยังไม่ต้องไปเอาความคิดอื่นหรือว่าอะไรๆ มาไตร่ตรองในขณะที่กำลังฟังเรื่องที่กำลังฟังอยู่ แต่ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังให้เข้าใจ เช่น คำว่า “ธรรม” เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ต้องมาคิดถึงเราหรือใคร เพราะว่ากำลังฟังธรรม และก็รู้ว่าธรรมนี่มีๆ จริงๆ ด้วย และธรรมที่มีเพราะเกิดขึ้นจึงมี ถ้าไม่เกิดก็ต้องเป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งต่อไปก็จะทราบว่าก็มีธรรมที่ไม่เกิดด้วย แต่ว่าขณะนี้ในชีวิตประจำวันจริงๆ สิ่งที่มีนี่ต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่มีที่ปรากฏได้เพราะเกิดขึ้น และก็เป็นธรรมซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้จึงเป็นธรรม ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของได้จึงเป็นธรรม เพราะเหตุว่าขณะนี้ที่คุณเด่นพงษ์คิดว่าจะปล่อย ปล่อยเห็น หรือปล่อยได้ยิน ปล่อยอะไร ในเมื่อกำลังคิดว่าจะปล่อย ตาก็เห็น ลองไม่ปล่อยจะเป็นอย่างไร กำลังเห็น แล้วลองไม่ปล่อยให้เห็น จะเป็นอย่างไร ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ยังเห็นอยู่

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจว่าไม่ใช่เรา ไม่มีเรา แต่มีธรรม จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ที่ผมมีความรู้สึกเข้าใจมาเรื่อยๆ ผมคิดว่าผมเข้าใจเพราะผมไปนั่งคิดต่อ

    ท่านอาจารย์ กำลังคิดเป็นคุณเด่นพงษ์หรือว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ก็อาจจะเป็นอย่างนั้นอยู่

    ท่านอาจารย์ เมื่อฟังเข้าใจ ขั้นฟังนี่ต้องมีก่อน คือแม้ว่าจะมีความเป็นเรา แต่ก็ยังมีการรู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรม ซึ่งเพราะไม่ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่าง จึงยังคงยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเราฟังไปๆ แล้วเราไม่หยุดคิดพิจารณา

    ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงษ์คงไม่ต้องไปหยุด เขาหยุดเอง กำลังเห็นแล้วก็เกิดได้ยิน เขาหยุดเห็นเอง ไม่ต้องไปทำอะไรให้หยุดเห็นแล้วถึงจะได้ยิน เพราะฉะนั้นที่คุณเด่นพงษ์คิดว่าจะหยุด แล้วจะไตร่ตรอง ก็ไม่ใช่คุณเด่นพงษ์ ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นจิตที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นคิด

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดคำนี้บ่อยๆ ผมก็กลับไปคิดว่าคุณหยุดไม่เห็นได้ไหม ไม่ได้ยินเสียงได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมที่เกิดขึ้นคิดมาจากการฟัง ถ้าไม่มีการฟัง จะไม่มีการคิดอย่างนี้ว่าแม้แต่คิดเราก็เกิดคิดเพราะมีเหตุปัจจัย แต่ยังคงยึดถือคิดว่าเป็นเรา เพราะว่ายังไม่ได้ประจักษ์จริงๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง มิฉะนั้นจะทรงไม่แสดงเรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพานว่าเป็นธรรมจริงๆ มีจริงๆ เกิดขึ้นจริงๆ เป็นไปอย่างนั้นจริงๆ

    ผู้ฟัง ในเมื่อเราไม่เห็นธรรมที่เป็นรูปธรรม นามธรรม เกิดดับ เราพิจารณานัยอื่นได้ไหม

    ท่านอาจารย์ อนุญาตไม่ได้ อนุญาตธรรมใดๆ ไม่ได้ ไม่มีตัวตนที่จะไปอนุญาตหรือไม่อนุญาต ไม่ได้อนุญาตให้เห็นก็เห็น ไม่ได้อนุญาตให้คิดก็คิด

    ผู้ฟัง อย่างเช่นสามัญลักษณะ ไม่ใช่อนุญาต

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ฟังใหม่จะได้ยินคุณสุกิจใช้คำว่า “สามัญลักษณะ” บ่อยๆ สามัญคือทั่วไป ลักษณะทั่วไป ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดทั่วๆ ไปคือเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่อย่างไรก็ตามนี่เป็นความเข้าใจ ขอเชิญคุณคำปั่นให้ความหมายของคำว่า “สามัญลักษณะ”

    อ.คำปั่น คำว่า “สามัญลักษณะ” คือลักษณะที่ทั่วไปของสภาพธรรม ซึ่งคำว่า “สามัญ” ก็คือทั่วไป และก็ลักษณะ จะมาใช้แทนกันกับคำว่าไตรลักษณะนั่นเอง ซึ่งก็หมายถึงอนิจจัง (สภาพที่ไม่เที่ยง) ทุกขัง (สภาพที่เป็นทุกข์) แล้วก็อนัตตา (สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน) สิ่งนี้คือความหมายของสามัญลักษณะ

    ท่านอาจารย์ โดยศัพท์สามัญ หมายถึงทั่วไป แต่คุณคำปั่นก็ให้ความหมายเพิ่มเติมว่าลักษณะทั่วไปของธรรมที่เกิดทั้งหลายคืออะไร เพราะถ้าเราจะบอกว่าลักษณะทั่วไปของธรรมทั้งหลาย ก็จะไม่ทราบว่าลักษณะทั่วไปคืออย่างไร เพราะฉะนั้นเวลาที่ใช้คำว่าสามัญลักษณะๆ ทั่วไปแก่สภาพธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัยเกิดขึ้นก็คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตรลักษณะๆ ๓ คือไม่เที่ยง และก็เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงสามัญลักษณะจะหมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นจะมีครบทั้ง ๓ ลักษณะคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สำหรับสภาพธรรมทั้งหมดทุกประเภทที่เกิดๆ แล้วก็ดับ ลักษณะที่เกิดดับอย่างเร็วมาก เป็นสภาพของความเป็นทุกข์ที่แท้จริง เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะมีใครบังคับยับยั้งไม่ให้สภาพธรรมนั้นดับไปได้ เพราะฉะนั้นลักษณะนั้นเองก็เป็นอนัตตาคือไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และก็ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน เมื่อฟังแล้วยังมีเรา ยังมีเราก็มีคิด

    ท่านอาจารย์ เพราะมีความจริงจึงมีคิด หรือเมื่อคิดแล้วไม่รู้จึงเป็นเรา เพราะว่าคนที่แม้รู้ว่าไม่ใช่เราก็ยังต้องคิด เพราะคิดว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็มีหลายระดับ คนที่ไม่รู้ ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะคิดหรือไม่คิดก็ตาม ก็เป็นเราหมดเพราะไม่รู้ แต่คนที่รู้แล้วว่าไม่ใช่เราเป็นสภาพธรรมก็ยังคิด

    ผู้ฟัง ก็ยังคิดอยู่ เพราะขณะที่ฟังแล้วก็ไปพิจารณา เมื่อมีสภาพธรรมปรากฏ ก็จะมีลักษณะต่างๆ ขณะที่มีสภาพธรรมปรากฏ แล้วก็มีสภาพที่เรารู้ ขณะที่รู้ๆ ตรงลักษณะกับลักษณะที่ปรากฏรู้ นั้นไม่มีความแตกต่างกันเลย อย่างยกตัวอย่างแข็ง ที่เราเคยฟังธรรมก็รู้แข็ง ลักษณะแข็งอย่างนั้นก็มีเรารู้แข็ง ขณะที่เราคิดแข็ง ลักษณะที่แข็งก็ยังเป็นแข็งอย่างนั้น และขณะที่สภาพธรรมปรากฏว่าก็ยังเป็นแข็ง ก็เหมือนกับคิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเปลี่ยนแข็งเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ และเปลี่ยนคิดเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องรู้ตามความจริงว่าคิดไม่ใช่เรา และแข็งก็ไม่ใช่เรา นี่คือความค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่าทั้งหมดขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ลักษณะต่างๆ กัน ทางตาก็เป็นลักษณะของธรรมอย่างหนึ่ง ทางหูก็เป็นลักษณะของธรรมอย่างหนึ่ง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นธรรมหมดเลย ฟังเข้าใจแต่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง แต่ขั้นเข้าใจก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เมื่อฟังมากขึ้น ไตร่ตรองมากขึ้น ก็มีปัจจัยที่จะทำให้รู้ตรงลักษณนั้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้

    ผู้ฟัง สภาพที่คิดกับสภาพที่รู้ลักษณะ การที่รู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะที่รู้ลักษณะกับในขณะที่คิดลักษณะ เป็นลักษณะเหมือนกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ คิดเป็นคำหรือเปล่า เวลาที่ใช่คำว่า “คิด”

    ผู้ฟัง เป็นคำเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่คิดเป็นคำ ขณะนั้นมีลักษณะของแข็งด้วยหรือไม่ หรือขณะที่คิดคำไหนก็มีคำนั้นที่จิตกำลังรู้หรือคิด จิตเกิดดับเร็วมาก แต่จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นเป็นสภาพที่รู้แจ้งในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567