พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 214


    ตอนที่ ๒๑๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พระโสดาบันหรือผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบันบางท่านก็มีครอบครัว เป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ครองเรือน บางท่านก็ไม่มีครอบครัว เป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ไม่ครองเรือน แต่สำหรับพระอนาคามีก็เสมอกันในคุณธรรมของพระอนาคามี คือไม่ครองเรือน พระอรหันต์ก็เสมอกันที่ไม่มีกิเลสใดๆ เหลือเลย เพราะฉะนั้น ถ้าคนที่ไม่ใช่พระโสดาบันเห็นคนที่เป็นพระโสดาบัน คนที่ไม่ใช่พระโสดาบันไม่รู้แม้หนทางว่าอบรมเจริญอย่างไร ละความสงสัยในสภาพธรรมอย่างไร ดับกิเลสอย่างไร จึงได้เป็นพระโสดาบัน ผู้นั้นก็ไม่รู้เลยว่าบุคคลนั้นเป็นพระโสดาบัน หรือแม้พระภิกษุที่ท่านเดินตามกัน รูปหนึ่งเป็นพระอรหันต์ รูปหลังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่รู้ว่ารูปที่ท่านเดินตามได้เป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่า สำหรับพระภิกษุที่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยจะไม่มีใครแยกออกเลยว่าบุคคลใดเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็นพระอรหันต์ ด้วยเหตุนี้เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องภายนอกที่จะรู้ได้ พระโสดาบันไม่ใช่พระสกทาคามี และไม่ใช่ปุถุชน เพราะฉะนั้น ปุถุชนก็ไม่รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นพระโสดาบันหรือเปล่า เพราะว่าไม่มีอะไรต่างเลยนอกจากไม่มีความเห็นผิดในลักษณะของสภาพธรรม ไม่หลงทางที่จะรู้ว่าปัญญาที่จะรู้ลักษณะของธรรมที่มีจริงๆ มีหนทางเดียวด้วยปัญญาที่เกิดพร้อมกับสติสัมปชัญญะ

    อ.วิชัย เกี่ยวกับเรื่องของอวิชชา ถ้ากล่าวถึงขณะนี้ ถ้าโดยสภาพของอวิชชาก็ยังไม่ปรากฏ แต่ก็ทราบว่าขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส ก็ไม่รู้ความจริง ก็เป็นเพียงแค่ขั้นคิดหรือว่าอนุมานว่าเป็นอวิชชาอย่างนี้ถูกหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้ การศึกษาธรรมจึงมี ๓ ระดับ ขั้นฟัง ก่อนนั้นไม่เคยสนใจคำว่าอวิชชา ไม่รู้ว่าอวิชชาเกิดเมื่อไหร่ แต่เมื่อฟังก็รู้ว่าอวิชชาคือขณะที่เป็นอกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดจึงมีอวิชชาเกิดร่วมด้วย แต่ถึงแม้เดี๋ยวนี้จะบอกได้ไหม ว่าขณะไหนเป็นกุศลจิต ขณะไหนเป็นอกุศลจิต โดยตำราบอกได้ แต่ว่าโดยสภาพธรรมที่เกิดดับเร็วมาก จะบอกได้ไหมว่าขณะไหนเป็น

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาศัยตำราว่าอกุศลจิต มี ๓ ประเภท ที่เป็นโมหมูลจิตที่ไม่มีโลภเจตสิก ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็มี อกุศลจิตที่มีโลภเจตสิกเกิดกับโมหเจตสิกก็มี อกุศลจิตที่มีโทสเจตสิกเกิดกับโมหเจตสิกก็มี นี่คือขั้นฟัง ขั้นรู้ แต่ขณะนี้จะบอกได้ไหม ถ้าบอกคือคิด แต่ว่าสภาพธรรมนั้นดับแล้ว ไม่ใช่การรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้น เราก็จะได้ทราบได้ว่า แม้แต่ขณะที่กำลังฟังเป็นปัญญาระดับไหน ขั้นฟังพิจารณาว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูก มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ก็เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่ายังไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นธรรมของสภาพที่กำลังปรากฏ เช่นเห็นขณะนี้แน่นอนเลย ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดจะรู้ไหมว่าเป็นธาตุที่เห็น กำลังเห็น

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการฟังธรรม ลืมไม่ได้ เปลี่ยนไม่ได้ หันเหไปไม่ได้ว่าฟังธรรมเพื่อเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง คือ ธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่เราจะรู้ได้ว่ามีแค่ไหน อย่างไร ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้ว ขณะนี้ทุกคนจะไม่รู้จักตัวเองเลย ว่ามีอกุศลอะไรมามากมายสักเท่าไหร่ มีริษยาบ้างไหม มีความสำคัญตนหรือไม่ มีความเป็นเราที่เก่ง หรือสารพัดอย่างที่สะสมมา ไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ถึงการสะสมของจิตนานแสนนานมาแล้วทุกขณะที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นกุศล ไม่ได้หายไปไหนเลย สะสมสืบต่อในจิตแต่ละขณะนานแสนนานจนถึงบัดนี้

    เพราะฉะนั้น ขณะต่อไปจะคิดอะไรไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย จะเห็นหรือจะได้ยินก็ไม่รู้ ต่อเมื่อไหร่เกิด เมื่อนั้นรู้เลย แม้แต่ความคิดถูกแสนยากที่จะเข้าใจได้ถูกต้องจริงๆ ว่าจริงๆ แล้วขณะนี้เป็นธรรม แล้วก็ไม่มีเรา เพราะฉะนั้น จะไปพยายามทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ขณะนั้นเข้าใจคำว่าธรรมหรือไม่ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เข้าใจยาก แต่อย่าหลงที่จะเอาธรรมมาเพื่อประโยชน์ตน แม้เพียงขณะที่เจ็บป่วยหรือขณะที่ยืนแล้วเมื่อย ก็จะหาทางแก้โดยการคิดว่าจะเอาธรรมนั้นมาใช้ แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือว่าเรามีความไม่รู้ว่าเป็นธรรม ยังต้องมีเราอยู่ตลอดไปจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์นี่ไม่ใช่อย่างอื่นเลย หุงข้าวต้มเพื่อข้าวต้ม ขณะที่กำลังปิ้งขนมอย่างเดียวไม่ได้ทำอย่างอื่นก็เพื่อขนม เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็เพื่อเข้าใจธรรม และทุกสิ่งทุกอย่างก็จะสะสมสืบต่อ เช่น สัญญา เราพูดบ่อยๆ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ แต่เราก็ลืม แม้แต่การที่ขณะนี้สัญญาทำหน้าที่ของสัญญา แต่ว่าหน้าที่นี้ที่จะจำความเข้าใจของธรรมน้อยมาก เพราะฉะนั้นจากนี้ไปสัญญาอื่นที่สะสมมาก็ทำหน้าที่ของสัญญาที่จำเรื่องนั้นๆ แต่ต้องเข้าใจจนกว่าจะถึงวันที่ทุกอย่างเป็นธรรมตรงกับคำแรกที่ได้ยิน เมื่อคำแรกได้ยินว่า “ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา” ก็จะต้องมีการอบรมจนกระทั่งเป็นความจริงที่ปัญญาเกิดขึ้นรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เห็นอะไร มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าเราจะได้ยินคำว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาบ่อยๆ ภาษาบาลีเป็นรูปารมณ์ บางครั้งก็จะใช้คำว่า “รูปายตนะ” ก็ได้ ก็กล่าวไปรูปขันธ์ อะไรก็แล้วแต่ ก็ได้ยินมากมาย ก็สัญญาก็จำ จำชื่อเหล่านั้น แต่ขณะใดก็ตามที่สติสัมปชัญญะเกิดพร้อมสัญญาเจตสิกที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเริ่มสัญญานั้น มีลักษณะนั้นปรากฏกับสัญญา กับสติ กับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็จะเข้าใจได้ว่าเป็นอีกระดับหนึ่งซึ่งมีธรรมจริงๆ กำลังปรากฏกับสติ ไม่ใช่ปรากฏกับจิตที่เพียงได้ยินแล้วก็ไตร่ตรองเท่านั้น

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวว่าปัญญา ความเข้าใจ ขณะที่ฟังแล้วก็เข้าใจ ก็เป็นความรู้สึกว่าจากความไม่รู้แล้วก็เริ่มรู้ขึ้น นั้นคือเป็นการละของเขาในตัว เป็นการเริ่มที่จะคลายความไม่รู้ แต่ว่าความไม่รู้นี้ก็โดยเป็นธาตุที่ใหญ่ เพราะเหตุว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้ใจ โดยมากก็เป็นไปกับอวิชชา เริ่มจะเข้าใจว่าหนทางของการละแม้จะขั้นการฟัง เริ่มที่จะเข้าใจขึ้น แต่นั่นก็เป็นการเริ่มคลายใช่ไหม แต่ก็ต้องอบรมอีกมาก

    ท่านอาจารย์ การฟังแล้วเข้าใจ ก็ค่อยๆ ละความไม่รู้ที่เกิดจากไม่เคยฟังแค่นั้น เพราะฉะนั้น ผลก็คือว่า เมื่อฟังก็มีความรู้ขั้นที่เกิดจากการฟัง และก็อาศัยการฟังต่อไป ความเข้าใจก็จะเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าสภาพจิตจะเป็นอย่างไรก็ตาม จะเบื่อหรือว่าจะสนุก หรือจะไม่สนใจอย่างไีก็ตาม ถ้าระลึกได้ แม้สัญญาที่จำว่าการฟังมีประโยชน์ คนนั้นก็จะนึกแล้วก็ฟัง ทั้งๆ ที่กำลังอยู่ในภาวะซึ่งอาจจะไม่พร้อมที่จะฟังก็ได้ นี่คือสภาพธรรมซึ่งเราจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย แต่สะสมความเข้าใจถูก ว่าถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการไตร่ตรอง แม้ว่าไม่ใช่เราเป็นสภาพธรรมก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม กี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น การฟังจะมีประโยชน์มาก ไม่ว่าในกาลอดีตที่เคยฟังมาแล้วก็จะต้องฟังต่อไปอีก หรือฟังแล้ว เข้าใจแล้ว สติสัมปชัญญะเกิดแล้ว อบรมแล้ว ก็ฟังต่อไปอีก เพราะว่าขณะที่ฟัง สัญญาเริ่มที่จะจำสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่จะรู้ได้ว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาอื่นๆ ที่จำเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องราวต่างๆ เทียบกับขณะที่กำลังฟัง เพราะฉะนั้น การสะสมการฟังก็จะทำให้สัญญาที่เกิดจากการฟังเพิ่มขึ้น และจะอุปการะให้กุศลขั้นอื่นๆ เจริญด้วย ขาดการฟังไม่ได้เลย อย่างไีรๆ อย่าประมาทคิดว่าเข้าใจแล้ว จะต่างกับขณะที่แม้คิดว่าเข้าใจแล้วก็ฟังอีก สัญญาก็จะเพิ่มขึ้นอีก มั่นคงขึ้นอีกด้วย

    ผู้ฟัง พูดถึงฟัง ถ้าเผื่อมีการสะสมมั่นคงอยู่แล้วการฟังนั้นเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเผื่อมีการสะสมน้อย การฟังข้างนอกผิดก็ผิดเลย เราจะมีข้อระวัง และข้อนำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ลืมไม่ได้คือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงเท่านี้เรารู้เลย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใคร มีพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณที่จะทรงแสดงธรรมที่ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองให้คนอื่นได้ฟังได้เข้าใจ และได้สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้ความจริงนั้นได้

    เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ต้องละเอียด ไม่ใช่ว่าอยาก ต้องลึกซึ้ง เพราะเหตุว่าแม้กำลังมีปรากฏ คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้เลย ทุกคนเกิดมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกคนก็บอกเท่านี้ ไม่เห็นมีอะไรเลย "ตา" แต่ผู้รู้ รู้เกินกว่าผู้นั้นคิดมากมายมหาศาล นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเทียบไม่ได้กับผู้ที่เริ่มฟังที่จะคิดว่าธรรมเป็นสิ่งที่เล็กน้อยหรือว่าไม่ลึกซึ้ง และข้อสำคัญก็คือว่า เมื่อสิ่งนั้นเป็นความจริง เปลี่ยนความจริงไม่ได้ ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของพระอภิธรรม พระสูตรก็ต้องสอดคล้องกัน รวมทั้งพระวินัยด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงที่ทรงแสดงโดยประการต่างๆ หลากหลายแต่ทั้งหมดสอดคล้องจะค้านกันไม่ได้ ถ้าปรากฏว่าความเข้าใจของเราไม่ตรงจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ยังไม่ได้ความกระจ่าง หมายความว่าขณะนั้นยังไม่ใช่ความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นความเข้าใจเป็นความจริงทนต่อการพิสูจน์ ต่อการซักถาม ต่อการเข้าใจ เพราะฉะนั้น เวลาที่สนทนากัน อย่าค้างคาใจไว้ ก็ควรที่จะได้สอบถามจนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ จนหมดความสงสัยในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อนั้นจึงจะเป็นความถูกต้อง

    ผู้ฟัง ควรตรวจสอบเสียก่อนว่าเป็นคำของพระพุทธเจ้า อย่างน้อยมาจากพระไตรปิฎกหรือไม่ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ พระไตรปิฎกสอนไปอ่านเอาเรื่องอีก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องขอถือโอกาสนี้ให้ทราบว่าไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องอ้างบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือสถานที่หนึ่งสถานที่ใดแม้ที่นี่ เพราะว่าจริงๆ แล้วธรรมเป็นสิ่งที่ตรงแล้วก็พิสูจน์ได้ ถ้าใครกล่าวถึงธรรมที่มีจริง และถูกต้องก็คือจริง ไม่ว่าจะที่ไหน และไม่ว่าจะเป็นใคร เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาก็สามารถที่จะฟัง และก็รู้ว่าจะมีใครบ้างไหมสักคนหนึ่งที่จะรู้ทั่วถึงพระไตรปิฎก และอรรถกถาทั้งหมด เมื่อไม่มี พุทธบริษัทก็ควรที่จะพร้อมเพรียงกันปรึกษาหารือ แล้วก็พิจารณาธรรมจนกระทั่งเป็นความถูกต้องเพื่อพระธรรม โดยที่ว่าเราก็จะไม่กล่าวถึงว่าสถานที่นี้ผิดอย่างนั้น หรือบุคคลนี้ถูกอย่างนี้ แต่ว่าธรรมที่ถูกก็คือถูก ที่ผิดก็คือผิด เราอาจจะเข้าใจว่าคนนั้นต้องผิดตลอด แต่ความจริงส่วนที่ถูกก็มี แต่ว่าเป็นความละเอียด ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเป็นผู้ที่ฟังธรรม พิจารณาธรรม แล้วก็ไตร่ตรอง ถ้าได้ยินได้ฟังส่วนที่ยังเข้ากันไม่ได้ ยังไม่ถูกต้อง ก็พิจารณาศึกษาต่อไป อย่าเพิ่งรับความคิดนั้นว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องสมบูรณ์

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่ากำลังมีจิตแต่ก็ไม่รู้ แล้วการที่จะรู้จิตนั้น ยากหรือง่าย

    ท่านอาจารย์ เพียงรู้จักชื่อจิต ไม่สามารถจะรู้ลักษณะของจิตได้เลย รู้จักแต่ชื่อ และเข้าใจความหมาย แต่ขณะนี้สภาพที่เป็นธาตุรู้ก็กำลังเกิดดับ และกำลังรู้เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏ ด้วยเหตุนี้ แม้ในขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ใครรู้ลักษณะของจิตที่เห็น มีเสียงที่กำลังปรากฏ ใครรู้ลักษณะของจิตที่ได้ยิน กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ใครรู้ว่าขณะนั้นเป็นจิตที่กำลังคิด นี่ก็แสดงให้เห็นว่าต้องอาศัยการฟังเข้าใจ และการอบรมตรง ตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นจึงจะเข้าใจได้

    ผู้ฟัง ดูเหมือนไม่น่าจะยากเพราะว่ามีปรากฏอยู่ตลอด แต่ก็รู้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะอวิชชา ความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นอวิชชา เมื่อไม่รู้มานานมาก และก็จะไม่รู้ต่อไปอีก ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม และเพียงขั้นฟังเริ่มเข้าใจชื่อ ความหมาย สามารถที่จะพิจารณารู้ว่าสิ่งนั้นมี แม้ขณะนี้ก็มี แต่สิ่งนั้นจะปรากฏได้กับปัญญาพร้อมสติสัมปชัญญะที่กำลังรู้ลักษณะนั้นที่กำลังทำกิจนั้นๆ

    ผู้ฟัง ถ้ารู้ตรงนี้จะช่วยอะไร

    ท่านอาจารย์ นี่ไง ไม่รู้ก็ดีใช่ไหม ชอบความไม่รู้หรือไม่

    ผู้ฟัง เรียนแล้วอยากจะรู้

    ท่านอาจารย์ อยากจะรู้อะไร

    ผู้ฟัง ฟังว่าตัวตนไม่มี แต่มีสภาพธรรมอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เรียนเพื่อให้เข้าใจให้ถูกต้องยิ่งขึ้นว่าไม่มีแน่นอน และก็ทุกอย่างที่กำลังมีขณะนี้เป็นธรรมแน่นอน แต่ละอย่างที่ปรากฏเพราะเกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง ฉะนั้นการที่เราจะเชื่อว่าไม่มีตัวตนจริง ก็คือต้องเข้าใจว่ามันเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เราเข้าใกล้ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ เมื่อนั้นจึงจะสามารถรู้ได้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง รู้สึกอยากตรงนี้ ดิฉันว่าก็ยังดีที่อยากที่จะเป็นผู้รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะอยากอะไรก็กั้นหมด เพราะฉะนั้น จะเข้าใจความหมายของอรรถของอริยสัจจที่ ๒ สมุทัยเป็นสิ่งที่จะต้องละ

    ผู้ฟัง นี่คือความละเอียดของท่านอาจารย์ที่พูดตรงนี้ คือแม้แต่อยากในสิ่งที่ดี ท่านอาจารย์ก็ยังบอกว่าเป็นโลภะแล้วตรงนี้

    ผู้ฟัง ถ้าอยากรู้ ก็ว่าเป็นโลภะ แต่ถ้าฉันทะ ใช้คำอะไรที่ไม่ใช่อยาก ที่ฉันมีอยู่ ฉันใฝ่รู้ใฝ่เรียน ฉันก็อดพูดว่าอยากรู้อยากเรียนไม่ได้ เมื่อพูดออกไปก็กลายเป็นโลภะไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง อันนี้แน่นอนที่สุด นี่เป็นลักษณะของโลภะ ฉันทะเป็นสภาพที่ต้องการกระทำ กุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ แต่เมื่อไหร่ติดข้อง เมื่อนั้นเป็นโลภะ จะเป็นฉันทะไม่ได้ เพราะว่าสภาพที่ติดข้อง ไม่ได้ถามให้ตอบ แต่ว่าขณะนั้นจะเป็นผู้ที่เข้าใจว่า ขณะที่คิดว่าเป็นฉันทะ ติดข้องหรือไม่ หรือว่าไม่ติด ถ้าไม่ติดก็ไม่ใช่โลภะ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอาไปใช้เรียกชื่อ แต่เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ว่าขณะไหนที่ติดข้อง และขณะไหนที่ไม่ติดข้อง แต่ธรรมเป็นสิ่งที่รู้ยาก เพราะเหตุว่า ฉันทะกับโลภะเกิดด้วยกันได้ในขณะที่เป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นยังไม่ต้องไปรู้ฉันทะกับโลภะ แต่ขณะนั้นรู้ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลจะได้ไม่เข้าใจผิด ถ้าขณะนั้นเป็นอกุศลแล้วจะบอกว่าไม่ใช่โลภะ แต่เป็นฉันทะ ก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องรู้จริงๆ ก่อนว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นอกุศลจะรู้ได้ไหมว่าเป็นฉันทะหรือเป็นโลภะเพราะเป็นอกุศล ยากแล้วใช่ไหม ฉันทะกับโลภะเกิดร่วมกัน แต่เมื่อเป็นกุศล เห็นชัดเลยว่าไม่ใช่โลภะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นฉันทะ

    เราเข้าใจอกุศลว่าเป็นอกุศลได้อย่างไร เพราะเหตุว่า อกุศลก็มีหลายขั้น หลายระดับ อกุศลอย่างหยาบเห็น ทุกคนก็ไม่ปฏิเสธ อกุศลอย่างกลาง ใจใครคนนั้นรู้ คนอื่นรู้ไม่ได้เพราะไม่ได้แสดงออกใช่ไหม แล้วอย่างที่บางเบากว่านั้นเช่นขณะนี้ที่กำลังเห็น หลังจากที่จักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อดับ สันตีรณะเกิดต่อแล้วดับ โวฏฐัพพนะเกิดต่อแล้วดับ ชวนะเป็นอะไร จะรู้ได้ไหม ในขณะที่รูปยังไม่ดับเลย

    เพราะฉะนั้น สามารถที่จะรู้ได้ไหม ที่จะกล่าวว่าขณะนั้นจะเป็นฉันทะหรือว่าจะเป็นโลภะ นี่เป็นเหตุที่ว่าถ้าอาศัยความคิดของเราเท่านั้น คิดผิดได้ แต่ว่าต้องอาศัยความละเอียดแล้วก็จะรู้ได้ว่าจะกล่าวได้อย่างไร เรากล่าวเพียงตำราใช่ไหม ศึกษามาด้วยเหตุด้วยผล แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้ความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมโดยการประจักษ์แจ้ง เราจะไปสามารถรู้ลักษณะที่ต่างของฉันทะ และโลภะ โดยการกล่าวว่ารู้ลักษณะนั้นไม่ได้ แต่โดยกล่าวว่าเพราะเหตุผลที่ได้ศึกษาได้

    อ.ธิดารัตน์ สติสามารถที่จะรู้ลักษณะของฉันทะ มีฉันทะเป็นอารมณ์ในขณะนั้น ถ้าเป็นสติปัฏฐานที่เกิดรู้แค่ฉันทะอย่างเดียว โอกาสที่จะรู้ลักษณะว่าฉันทะในขณะนั้นเกิดกับอกุศลหรือว่าเกิดกับกุศลจะสามารถรู้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ปัญญาต้องอบรมเจริญตามลำดับขั้น นี่กล่าวถึงฉันทะซึ่งเกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ แต่ถ้าผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าอย่างพระโสดาบัน ท่านจะรู้เลยว่าท่านยังมีอกุศลเป็นประเภทใด ท่านไม่ต้องไปคิดถึงฉันทะกับโลภะอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ท่านก็สามารถที่จะรู้ว่า ท่านเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม และได้ประจักษ์แจ้งความจริงนั้นๆ จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่มีความสงสัย แต่ท่านก็รู้ว่าท่านยังต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป และการอบรมเจริญปัญญาต่อไป ความรู้ของท่านจะละเอียดขึ้นไหม แต่ความละเอียดของท่านจะละเอียดถึงกับ รู้ลักษณะของฉันทะ และโลภะหรือเไม่ ไม่ใช่ว่าใครสามารถที่จะได้ยินได้ฟังเรื่องเจตสิก ๕๒ ประเภท และก็จิต สามารถที่จะมีสติสัมปชัญญะที่ระลึกลักษณะของสิ่งที่ได้ฟังตามความต้องการได้เลย เช่น สำหรับพระโสดาบัน ก่อนที่จะถึงความเป็นพระโสดาบัน ท่านก็จะรู้ความต่างกันของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ ไม่ได้ไปสนใจฉันทะหรือว่าโลภะ หรืออะไรเลยทั้งสิ้น แต่ว่าขณะนั้นลักษณะของสติเกิด ไม่ต้องเรียกชื่อว่านี่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะว่าขณะนั้นลักษณะของสภาพที่ไม่หลงลืม กำลังมีลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นที่สติกำลังรู้ ต่างกับขณะนั้นที่สิ่งนั้นก็มีปรากฏกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เหมือนปกติ แต่ไม่มีลักษณะของสติสัมปชัญญะที่กำลังรู้ในสภาพธรรมนั้นๆ เลย

    เพราะฉะนั้น เพื่อละ อย่าลืม ไม่ใช่มีใครว่า ต้องไปรู้ผัสสะ หรือว่าต้องไปรู้ชีวิตตินทริยะ หรือต้องไปรู้อะไรเลย แต่ทั้งหมดพระโสดาบันระหว่างทางที่จะเป็นพระโสดาบัน ก็จะต้องรู้ว่าเป็นไปเพื่อการละ แม้ว่ามีความคิด ความอยาก ความต้องการความใคร่รู้ ขณะนั้นท่านก็รู้แล้วว่าเป็นเครื่องกั้น และก็เป็นสิ่งที่จะต้องละ ด้วยเหตุนี้เราก็สามารถจะรู้เฉพาะตัวแต่ละคนว่าสติสัมปชัญญะขณะนี้เกิดหรือไม่เกิด ในขณะที่เกิดกำลังรู้ลักษณะของอะไร เป็นปกติอย่างนี้ ตามธรรมดาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องเรียกชื่อเลย

    อ.วิชัย สงสัยเรื่องเครื่องกั้นกับเครื่องเนิ่นช้าจะใช้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่ยังมีความเห็นผิดแล้วก็เข้าใจว่าขณะนั้นถูก ขณะนั้นกั้นเพราะว่าเป็นความเห็นผิด แต่ผู้ที่มีความเห็นถูก และโลภะเกิด ผู้นั้นก็มีการระลึกได้ว่าขณะนั้นโลภะเป็นเครื่องกั้น แต่ว่าท่านมีความเห็นถูกในหนทาง

    อ.วิชัย โดยสภาพของตัวทิฏฐิเองหรือโลภะเอง

    ท่านอาจารย์ ทิฏฐิก็ต้องเกิดกับโลภะ เพราะฉะนั้น ท่านก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนั้นมีโลภะปรากฏหรือว่ามีทิฏฐิปรากฏ

    อ.วิชัย โดยสภาพก็เกิดขึ้นโดยเหตุ และปัจจัย แต่ว่าสติสามารถเกิดระลึกได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าขณะนั้นสติเกิด ก็จะมีการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แม้ทิฏฐิก็เป็นอารมณ์ของสติได้ ถ้าขณะนั้นก็ไม่ได้เป็นเครื่องกั้น เพราะว่าบุคคลนั้นมีปัญญาที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นทิฏฐิ เป็นความเห็นผิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567