พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 211


    ตอนที่ ๒๑๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ คำว่า “รู้ตรง” คือสภาพธรรมนั้นยังไม่ได้เปลี่ยน เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ชั่วขณะเวลาที่ปรากฏ ยังไม่ได้คิดนึกอะไรทั้งสิ้น ลักษณะที่กำลังปรากฏเพราะมีการกระทบกัน และจิตเห็นก็เกิดขึ้น ทางจักขุทวารดับไป มโนทวารก็ตามรู้ก็คือต้องรู้สิ่งเดียวกันนั้น นี่จึงจะเป็นความเป็นปกติของสติสัมปชัญญะ ขณะนี้แข็งปรากฏทางกาย แข็งไม่เปลี่ยน กายวิญญาณอาศัยกายปสาทรู้แข็ง แข็งจึงปรากฏ มโนทวารที่ปกติจะนึกคิดเรื่องอื่นทันที จะไม่ตามรู้คือไม่รู้ลักษณะของแข็งซึ่งปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้นจะเห็นความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ วันนี้มีการรู้ตรงลักษณะบ้างหรือไม่ หรือว่าผ่านไปหมด เป็นเรื่องเป็นราวหมดเลย แต่ขณะใดที่กำลังรู้ตรงลักษณะที่ปรากฏแล้ว เพราะว่ามีจิตรู้สิ่งนั้นที่เกิดแล้วดับไป และสติสัมปชัญญะก็สามารถที่จะตามรู้คือรู้ต่อในลักษณะของสิ่งนั้นซึ่งยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นลักษณะอื่นเลย ขณะนั้นก็คือรู้ว่าสติสัมปชัญญะเริ่มเกิด คือ เป็นปกติ สภาพธรรมนั้นไม่ผิดปกติเลยจึงไม่หวั่นไหว เพราะว่าปกติถ้าเป็นเราจะหวั่นไหวมาก มีเราที่ทำ มีเราที่ดีใจ มีเราที่เห็นอะไรก็ไม่ทราบซึ่งไม่ใช่ความรู้ของลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ให้ทราบว่าขณะนั้นถูกหลอก เพราะอะไร ไม่จริง ถ้าจริงคือสิ่งนี้เกิดแล้วเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่เมื่อไม่รู้ก็คือกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้มีใครไปเปลี่ยนสิ่งนั้นเลย แล้วก็กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเกิดความคิดที่จะทำประการหนึ่งประการใดก็ตาม ผลคือไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏเพราะเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีทางที่จะรู้ได้ เพราะว่าข้ามไปทำ ไม่มีการที่จะรู้ลักษณะซึ่งความจริงก็เกิดแล้วก็ดับด้วย

    อ.วิชัย สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับด้วย แต่ความรวดเร็วที่ปัญญาได้อบรมมาแล้วเหมือนกับยิงไกล ยิงไว แล้วก็ยิงแม่น ตามที่อุปมา

    ท่านอาจารย์ การเกิดดับของสภาพธรรมนี่จะรู้ว่าเร็วสักแค่ไหน ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏก็ปรากฏโดยนิมิตของสิ่งนั้น กำลังปรากฏก็คือนิมิตปรากฏทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิต วิญญาณนิมิต จึงได้ทรงแสดงการเกิดดับแต่ละ ๑ ขณะ ด้วยพระปัญญาที่สามารถจะรู้จริงๆ ได้ว่าขณะนี้เหมือนแค่เห็น แต่ความจริงปัญญจทวาราวัชชนะหรือจักขุทวาราวัชชนะเกิดก่อน จักขุวิญญาณเห็นดับไป สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ สันตีรณะเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะดับไป โวฏฐัพพนะเกิดต่อ กุศล อกุศลเกิดแล้ว ไม่ปรากฏอะไรเลยทั้งสิ้น นี่คือความรวดเร็ว และก็ยังต่อทางมโนทวารที่ไม่ได้รู้ตรงลักษณะ ไม่ใช่เพียงสิ่งนี้กำลังปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจในความเป็นสิ่งที่สามารถปรากฏได้ทางตา เมื่อไม่มี ก็เป็นคนเป็นสัตว์ ที่จะนึกถึงรูปร่างสัณฐานต่อไป เพราะฉะนั้นการเกิดดับสืบต่ออย่างแสนเร็วก็จะปกปิด ไม่ให้เห็นความจริงซึ่งเป็นอนิจจัง เป็นทุกข์เพราะเกิดดับไม่เที่ยง และสิ่งที่เกิดขึ้น และดับไปไม่เที่ยงก็ไม่ใช่ของใคร และไม่ใช่ใครด้วย เพราะมีอะไรเหลือ ก็ไม่มีอะไรเหลือเลยสักอย่างเดียว แล้วจะมีตัวตนได้อย่างไร

    ผู้ฟัง สังขารที่ท่านอาจารย์กล่าวก็คือเจตนาที่เป็นกรรม ใช่ไหม

    อ.วิชัย สังขารธรรมทั้งหมด ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่เพียงสังขารอย่างเดียวเป็นอนัตตา จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด รูปทั้งหมดเป็นสังขารธรรม ส่วนนิพพานเป็นวิสังขารธรรม แต่นิพพานก็เป็นอนัตตาด้วย

    ผู้ฟัง การฟังธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดความเข้าใจขึ้น กำจัดอวิชชาทีละเล็กทีละน้อย นี่ปัจจัยที่ว่าก็คงต้องอาศัยหลายปัจจัย

    ท่านอาจารย์ สังขารธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้น แล้วก็ปรากฏจึงจะรู้ว่าขณะนั้นมีสิ่งนี้ ถ้าไม่ปรากฏ จิตไม่ได้รู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ได้เป็นอารมณ์ของจิต จะรู้ได้ไหมว่าอะไร ก็รู้ไม่ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นขณะนี้อะไรเป็นสังขารธรรมบ้าง เอาตัวจริงๆ แทนที่จะไปคิดถึงแต่เพียงชื่อ เดี๋ยวนี้เกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง เกิดแล้วดับแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรบ้างที่ไม่ใช่สังขารธรรม เดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง สังขารธรรมทุกสิ่งเลย

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องถามอีกแล้วใช่ไหมเรื่องของสังขารธรรม

    ผู้ฟัง มีนิพพานอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ ค่ะ

    คุณอุไรวรรณ จากสังยุตตนิกายสทาควรรคมีคำกล่าวว่า ตัณหาเป็นธรรมชาติ มีอวิชชาเป็นมูลราก ขอความกรุณาท่านอาจารย์ได้กรุณาอธิบายว่ามีตัณหาเป็นธรรมชาติ และมีอวิชชาเป็นมูลราก

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ได้ยินข้อความใดๆ หรือว่าอ่านจากพระสูตรพระไตรปิฎก จะพยายามค้นหาว่าคืออะไร แต่ขณะนี้เดี๋ยวนี้เองมีโลภะหรือไม่ มี แล้วก็มีความรู้หรือเปล่า มีความ เห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่โลภะกำลังติดข้องหรือไม่ ไม่มี เพราะฉะนั้นก็มีความเข้าใจจริงๆ ในพยัญชนะหรือข้อความที่ว่ามีความติดข้องเพราะมีความไม่รู้ ก็ยืนยันได้ ขณะใดที่มีความไม่รู้ ขณะนั้นทำให้เกิดความยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ มากมาย หรือว่าอาจจะเกิดอกุศลประเภทใดๆ ก็ได้ทั้งสิ้นจากความไม่รู้นั้นๆ เพราะฉะนั้นขณะใดที่เกิดความพอใจติดข้อง รู้ได้เลยว่าขณะนั้นไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังติดข้อง ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม ถ้าเข้าใจชีวิตประจำวันว่าเดี๋ยวนี้เป็นอภิธรรม เดี๋ยวนี้เป็นธรรม ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลยทั้งสิ้น ถ้าจะพูดถึงโลภะขณะนี้ก็มี ไม่ใช่ไม่มี รวดเร็วด้วย เพียงเห็นดอกไม้สวย กุศลจิตเกิดหรืออกุศลจิตเกิด ยับยั้งไม่ได้ตราบใดที่ยังมีความติดข้องพอใจในสิ่งที่ปรากฏโดยที่รูปนั้นยังไม่ดับ นี่คือความรวดเร็วของสิ่งที่เกิดดับ ทั้งๆ ที่รู้ว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก แต่ชั่วขณะที่รูปไม่ดับ โลภะก็ติดข้องในสิ่งนั้นโดยไม่รู้ตัว นี่ก็แสดงให้เห็นเป็นเครื่องพิสูจน์พระธรรมที่ได้ยินได้ฟังว่า ขณะใดที่โลภะเกิด ขณะนั้นไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    อ.วิชัย โลภะหรือตัณหา เมื่อเกิดมีอวิชชาเป็นมูล

    ผู้ฟัง เหตุใดโลภะจึงเป็นมูลของอวิชชา

    อ.วิชัย อวิชชาจะเกิดไม่ได้ถ้าขณะนั้นไม่มีโลภะ

    ผู้ฟัง แต่อวิชชาก็มีที่เกิดเดี่ยวๆ เช่นโมหมูลจิต

    อ.วิชัย ขณะนั้นโลภะก็ไม่ได้เป็นมูลแก่อวิชชา

    ผู้ฟัง ไม่ได้เป็นมูล เป็นบางขณะ

    อ.วิชัย ขณะที่โลภมูลจิตเกิดขึ้นมีมูล ๒ ประการ คือโลภมูลกับโมหมูล คือ ขณะนั้นโมหะก็เป็นมูลแก่โลภะด้วย โลภะก็เป็นมูลแก่โมหะด้วย แต่ขณะที่โมหมูลจิตเกิดขึ้น ไม่มีโลภมูลเกิด โมหะก็เป็นมูลแก่อกุศลกรรมที่เกิดขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง เพราะเหตุว่าขณะที่โทสะเกิด ลองคิดในมุมกลับ ขณะนั้นมีปัญญาหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นเองโทสะที่เกิดขึ้นก็เป็นมูลแก่อวิชชาคือความไม่รู้ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นโทสะหรือไม่ว่าจะเป็นโลภะก็ตาม

    ผู้ฟัง ตัวโลภะก็เป็นมูลซึ่งกัน และกันกับอวิชชา ถ้าเราจะกล่าวเช่นนี้จะรวมความได้หรือไม่

    อ.วิชัย ขณะที่โลภมูลจิตเกิดขึ้นมีมูลเกิดร่วมด้วย ๒ มูล ขณะนั้นโลภมูลก็เป็นมูลแก่โมหมูล โมหมูลก็เป็นปัจจัยแก่โลภมูล ก็เป็นมูลแก่กัน และกัน แต่ถ้ากล่าวถึงอกุศลธรรมประเภทอื่น เช่น โลภมูลเป็นปัจจัยแก่โลภมูลจิตแก่จิตขณะนั้น แต่ว่าจิตไม่ได้เป็นมูลแก่โลภะขณะนั้น คือเป็นปัจจัยได้แต่ไม่ได้เป็นโดยเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง ความติดข้องกับความยึดมั่นเป็นสภาพธรรมคนละประเภทหรือไม่

    ท่านอาจารย์ โลภะคือตัณหา อุปาทานก็แยกไป แต่ก็มีกามุปาทานด้วย ทั้งหมดที่เป็นอุปาทานก็จะเป็นเรื่องของโลภะด้วย กามุปาทาน คือ ความยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าไม่มีความยินดีพอใจ จะยึดมั่นไหม เพราะฉะนั้นกามุปาทานก็ต้องเป็นความยินดีพอใจคือโลภะนั่นเองในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จนกระทั่งทุกคนพิสูจน์ได้ วันนี้ยึดมั่นในกามุปาทาน เอาออกไปบ้างหรือยัง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเป็นโลภะก็เป็นปัจจัยให้เกิดการยึดมั่นด้วย การยึดมั่นในภพชาติก็มี การยึดมั่นในหนทางปฏิบัติที่ผิด และการยึดมั่นเพราะไม่รู้ความจริงคือไม่รู้ลักษณะที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดด้วยความไม่รู้ว่าเป็นอัตตา เป็นอัตตวาทุปาทาน เพราะฉะนั้นทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งที่กำลังมี และมีอยู่เสมอๆ เพราะว่ามีเหตุปัจจัย ด้วยเหตุนี้การศึกษาพระธรรม คือ ศึกษาเรื่องความจริง สิ่งที่มีจริงที่กำลังเป็นจริงๆ ให้รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น โดยใช้คำต่างๆ เพื่อที่จะให้สามารถเข้าถึงลักษณะที่แท้จริง เพราะว่าจริงๆ แล้วเราเรียกชื่อคนแต่ละคนต่างๆ กันไป แต่กล่าวถึงธรรมไม่ได้ชื่ออย่างนั้นใช่ใหม ธรรมไม่ได้ชื่อคุณสุกัญญา แต่โลภะเป็นธรรมชนิดหนึ่ง โทสะเป็นธรรมชนิดหนึ่ง โมหะเป็นธรรมชนิดหนึ่ง และขณะที่ยังมีชีวิตอยู่จะไม่พ้นไปเลยจากอกุศลธรรมที่ได้สะสมมาแล้ว แล้วฝ่ายทางกุศลจะเห็นได้ว่าไม่มาก แต่ก็ยังดีที่ยังมีแต่ว่ามีกุศลหลายระดับ ถ้ากุศลที่ไม่เป็นไปกับปัญญาก็คือว่าเป็นกุศลที่จะนำมาเพียงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเท่านั้นเองที่ดีๆ แต่ละภพแต่ละชาติซึ่งไม่เที่ยง และก็ไม่มีวันออกจากคุกใหญ่คือสังสารวัฏเลย แต่ว่าบางครั้งก็จะได้รับอารมณ์ที่ดี บางครั้งก็ได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นกุศลต่างๆ เหล่านั้นแม้จะถึงความสงบขั้นอรูปฌาณกุศล ก็ยังคงวนเวียนไปในสังสารวัฏ แต่มีหนทางที่จะออกอกุศล การที่เรากล่าวถึงอกุศลมากๆ ตามความเป็นจริง วันนี้อกุศลเท่าไร กล่าวถึงโลภะ มีโลภะเท่าไร มีโมหะเท่านั้นหรือไม่ ไม่ได้ปราศจากโมหะ ความไม่รู้เลย ไม่ว่าอกุศลประเภทใดเกิด โทสะเกิด ขณะนั้นมีโมหะหรือไม่ ก็มีโมหะ เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวว่าเห็นโทษของโมหะหรือยัง เราอาจจะเห็นโทษของโทสะ อาจจะเห็นโทษของโลภะ แต่ลืมว่าไม่ว่าขณะใดก็ตามที่อกุศลประเภทใดเกิด ขณะนั้นต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมที่ละเอียดก็จะทำให้เห็นความไม่ใช่ตัวตนของเราซึ่งเคยยึดถือมานานมาก แต่การอบรมความรู้ ความเข้าใจถูกในขั้นการฟังซึ่งจำเป็นต้องมีก่อน ถ้าไม่มีความรู้ขั้นการฟัง เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนี้อวิชชาหรือไม่ หรือว่าเป็นกุศล เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ถ้าพิจารณาอย่างละเอียดที่ว่าเจตสิกหนึ่งที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น เป็นปัจจัยแก่จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้นเราก็แยกได้ว่า เวลาที่โลภเจตสิกเกิด โลภะเป็นมูลให้เกิดอกุศลธรรมที่เกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น รวมทั้งโมหเจตสิกด้วย ซึ่งขณะนั้นโลภะก็ต้องเป็นมูลให้เกิดโมหเจตสิกด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ว่าเจตสิกที่เกิด เจตสิกใดเป็นมูล ก็เป็นมูลให้เกิดจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันทั้งหมด โมหเจตสิกจะเกิดกับโลภมูลจิตหรือไม่เกิดกับโลภมูลจิตก็ตาม โมหะก็เป็นมูล แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นมูลให้เกิดโลภะหรือไม่เป็นมูลให้เกิดโลภะ เป็นมูลแต่เพียงให้เกิดสภาพธรรมที่เป็นอกุศลอื่นที่ทำให้จิตขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต แต่เวลาที่โมหเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิต ถ้ากล่าวถึงโมหเจตสิก โมหเจตสิกก็เป็นมูลให้เกิดจิต และอกุศลเจตสิกทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่โลภเจตสิกก็เกิดเพราะโมหะเป็นมูล ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะค่อยๆ เห็นความเป็นปัจจัย แล้วก็เห็นลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม มีความเข้าใจว่าเป็นธรรมทุกขณะไม่ใช่เรา แม้ขั้นฟังแต่ก็เป็นประโยชน์ที่จะได้รู้ความจริงเพราะเหตุว่า ถ้าเราจะศึกษาเรื่องของกุศลจิตมากๆ คนนั้นต้องมีกุศลจิตมาก เพราะกำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะรู้ว่า ควรจะฟังเรื่องอะไร เพื่อที่จะได้เป็นอนุสสติเตือนให้ระลึกถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง บางครั้งทรงใช้คำว่าสัญญาแทนจิต อย่างเช่น เนวสัญญานาสัญญายตน ยกสัญญาขึ้นมากล่าว หรือว่าบางแห่งก็จะกล่าวถึงภพภูมิต่างๆ ภพภูมิที่มีสัญญา ไม่มีสัญญา เป็นต้น เพราะว่าเราลืมความสำคัญของสัญญาเจตสิก จริงๆ แล้วสภาพธรรมทั้งหมดเป็นธรรมที่ละเอียดมาก และวิจิตรมาก คนที่ได้ฟังธรรมแล้วจะกี่นาทีก็ตามวันนี้ รู้หรือเปล่าว่าสัญญาจำ แต่ว่าจำได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับสภาพของเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น สัญญาก็ค่อยๆ จำถูกต้องขึ้น เห็นถูกต้องขึ้น แต่เครื่องพิสูจน์ก็คือว่า เมื่อพ้นจากห้องนี้ไป คือห้องที่ฟังธรรม สัญญาอะไรเกิด รวดเร็วมาก และก็จะมาคิดว่า เหตุใดสติปัฏฐานไม่เกิด เหตุใดไม่ระลึกถึงธรรม เหตุใดไม่เข้าใจถูกเห็นถูก ก็สัญญาจำอะไรไว้มากๆ เหลือเกิน เช่นวันนี้เดี๋ยวนี้ถามว่าเห็นอะไร ก็ตอบว่าเห็นคน ก็คือความชำนาญของสัญญาซึ่งจำไว้แสนโกฏิกัปป์ เพราะฉะนั้น จะมีสัญญาที่จำว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏมีจริงๆ เป็นลักษณะที่มีจริงชนิดหนึ่งเท่านั้น กว่าสัญญานี้จะมั่นคงที่จะทำให้มีการระลึกได้ว่าลักษณะของธรรมแต่ละประเภทเป็นธรรมแต่ละอย่าง เช่นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมอย่างหนึ่งแน่นอนแต่ละอย่าง เสียงที่กำลังปรากฏทางหูก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่งแต่ละอย่าง เมื่อใดจะมีสัญญาที่มั่นคงที่จะจำความเป็นธรรมของสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ ที่ได้ยินได้ฟัง ตั้งแต่เริ่มฟังธรรม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม นี่สัญญาจำไว้แค่ไหน นิดเดียว เพียงแต่จำเรื่อง แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นแต่เพียงว่ากล่าวว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ขณะนี้เป็นธรรมหรือยัง นี่ก็แสดงให้เห็นว่ากว่าสัญญาจะค่อยๆ อบรมสะสมเป็นปกตูนิสสยปัจจัย จนกระทั่งให้ผู้นั้นสามารถที่จะระลึกถึง เพราะสัญญาเกิดขึ้น และก็จำได้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แล้วก็เข้าใจทุกอย่าง ไม่ว่าจะพูดเรื่องรูปเป็นรูปขันธ์ เวทนาเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเป็นสัญญาขันธ์ ก็จะผ่านไปโดยที่ไม่คิดถึงความสำคัญของแต่ละอย่าง ซึ่งขณะนี้ก็เป็นอย่างนั้นโดยไม่รู้ เพราะเหตุว่า ถ้าขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด อกุศลก็เป็นมูลที่จะให้จิตขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทต่างๆ สะสมไป แล้วก็จะรู้ความจริง นี่คือความจริงที่สุด ฟังแล้วก็พิจารณาด้วยว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

    ผู้ฟัง โมหเจตสิกเกิดร่วมกับวิจิกิจฉา แปลเป็นภาษาไทยว่าสงสัย คำว่าสงสัยที่ใช้ประโยคทางโลกต่างอย่างไรกับความหมายของสงสัยที่ใช้กับทางธรรม

    อ.อรรณพ พระอรหันต์ ถ้าท่านไม่ได้คุณวิเศษที่ล่วงรู้ หรือ มีจักขุทิพย์ เป็นต้น ท่านก็อาจจะไม่รู้ว่าหนทาง ทางแยกนี้จะไปไหนในทางที่ท่านไม่เคยไป นั้นไม่ได้เป็นการลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คำสั่งสอนในสิกขาต่างๆ ในสภาพธรรม ขันธ์ ธาตุ อายตนะต่างๆ นั้นไม่เป็นวิจิกิจฉาที่เป็นอกุศลเจตสิก แต่ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทอื่น ท่านก็ใช้คำว่า “ปฏิรูปกวิจิกิจฉา” ดูเหมือนกับเป็นการลังเลสงสัย แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นวิจิกิจฉาที่เป็นความลังเลสังสัยในสภาพธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ สภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรเลยทั้งสิ้น สภาพธรรมนั้นเป็นรูปธรรม จะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตามแต่ สภาพแท้จริงของรูปเป็นรูป เพราะเหตุว่า ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่รูปก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม หรือจะกล่าวว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งก็ได้ แต่ว่าธาตุในโลกนี้ที่มีจริงไม่ใช่มีแต่เฉพาะรูปธาตุ ยังมีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อเกิดขึ้นต้องรู้ นี่คือความต่างกันของรูปธรรมกับนามธรรม หรือนามธาตุกับรูปธาตุนั่นเอง ธาตุทั้งสองนี้ เป็นของใครหรือไม่ ไม่เป็น นี่คือความที่ค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น แต่ก่อนนั้นยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าความจริงแล้วก็เป็นลักษณะของธรรมแต่ละลักษณะนั่นเอง ด้วยเหตุนี้เวลาศึกษาธรรม ไม่ได้มีเรื่องราวอะไรที่เคยคิดนึกว่าเป็นคนนั้นคนนี้ แต่กำลังเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้ถูกต้องเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยแม้ในขั้นของการฟัง เพราะเหตุว่าถ้าขั้นการฟังเข้าใจผิดจะไม่สามารถรู้ความจริงของลักษณะของสภาพธรรมได้เลย

    เพราะฉะนั้น ในขั้นการฟังเป็นความเห็นถูกขั้นฟัง และเมื่อเป็นการเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริง ย่อมรู้ว่าสามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ มีหนทางที่สามารถจะรู้ได้จริงๆ ถ้ากล่าวถึงโลภะ (ความติดข้อง) มากมายมหาศาลรวมทั้งอวิชชาด้วย แต่จากความรู้นี้จะทำให้สามารถดับทั้งอวิชชา และโลภะไม่เกิดอีกเลยได้ นี่คืออนุภาพหรือการที่ธรรมที่เป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูก จะค่อยๆ เจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่มีสภาพธรรมเหล่านี้เกิดอีกเลยได้

    นี่ก็คือกำลังฟังธรรม และก็ให้รู้ความต่างกันของโลภะกับปัญญา สภาพหนึ่งติดข้องต้องการ อีกสภาพหนึ่งละคลายความติดข้องความต้องการ เพราะมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้ต่อไปนี้เมื่อพูดถึงนามธรรมกับรูปธรรม ใครจะใช้ความหมายภาษาไทยที่ใช้คำว่าสิ่งที่กำลังคิดจะทำขณะนี้ยังไม่เป็นรูปธรรมก็พูดไป แต่ไม่ใช่ความหมายของลักษณะสภาพธรรมที่รูปธรรมหมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นแต่ไม่ใช่สภาพรู้ จะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตามแต่ สิ่งนั้นเป็นรูปธรรม เช่นเสียง ไม่มีใครมองเห็นเลย แต่เสียงมี เสียงปรากฏกับนามธาตุที่เป็นสภาพรู้คือกำลังได้ยินเสียง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ใคร แต่เป็นธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ถ้าอย่างนี้จะสงสัยไหม กลิ่นเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม

    ผู้ฟัง กลิ่นเป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ปรากฏกับอะไร

    ผู้ฟัง ปรากฏกับรู้กลิ่น นามธรรม

    ท่านอาจารย์ ปรากฏ นามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งได้แก่จิต และเจตสิก แต่ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังรู้คืออารมณ์ อารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้

    ผู้ฟัง อย่างนั้นรูปขันธ์ก็คือทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่เว้น รูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์ แต่ว่าพระธรรมกว้างขวางละเอียดมาก ต่อไปก็จะพบคำว่าปิยรูป สาตรูป เพิ่มขึ้นมาอีกซึ่งไม่ได้หมายเฉพาะรูปเท่านั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567