พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 209


    ตอนที่ ๒๐๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ ซึ่งแต่ละคนจะได้สะสมมามากน้อยอย่างไร คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้แม้ตัวเอง สะสมความเห็นถูกมาเท่าใด สะสมความเห็นผิดมาเท่าใด ถ้าไม่ถึงกาลที่มีเหตุที่จะให้สิ่งนั้นปรากฏ ก็ไม่ปรากฏเลย แต่ต่อเมื่อใดมีเหตุที่จะทำให้สิ่งใดเกิดขึ้นปรากฏ เกิดแล้วให้รู้ว่ามีเพราะการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะรู้จักตัวเองว่าเป็นธรรมซึ่งได้สะสมมาประเภทต่างๆ มากมาย แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้เกิดเป็นธรรมประเภทใดปรากฏ เพื่อให้รู้ถูก เพื่อให้เข้าใจถูก หรือเพื่อให้ผ่านไปด้วยความเป็นเรา นี่คือสิ่งที่จะได้รับประโยชน์จากพระธรรม ถ้าผ่านไปด้วยความเป็นเราๆ จะได้รับประโยชน์อะไรจากการฟังพระธรรม แต่ว่ารู้ว่าสิ่งที่มีจริงทุกขณะสามารถจะทำให้สติเจริญขึ้น ปัญญาเจริญขึ้น โดยการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง แล้ววันหนึ่งก็จะเป็นสาวกที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเหมือนพระสาวกทั้งหลายแสนกัปป์บ้างก็แล้วแต่ว่าใครจะอบรมมามากน้อยเท่าไรซึ่งไม่ต้องนับ เพราะใครนับ ถ้านับก็คือเรา

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นการสะสมของเราทุกวันนี้ที่มาฟังธรรมที่มูลนิธินี้ ไม่ใช่แค่สะสมการฟัง แต่สะสมอะไรอีกหลายอย่างด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ทุกขณะที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ เป็นอกุศลจิตรึกุศลจิต ไม่ได้หายไปไหนเลย เพราะเกิดแล้วดับแล้วก็จริง แต่กำลังของสิ่งที่ได้เกิดแล้วดับแล้วนั้นสะสมสืบต่อเป็นอาสยานุสยะ คือการสะสมทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล

    ผู้ฟัง ควรสะสมแต่สิ่งที่ดีแล้ว "ดี" ในที่นี้ หมายถึงตามคำสอน บางอย่างนิสัยเป็นอย่างไรก็ยังใช้กันอยู่อย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบันบุคคลอบรมเจริญปัญญาเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมจนรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ต้องไปคำนึงถึงสิ่งที่ได้สะสมมาแล้วเพราะว่าใครก็ไปเปลี่ยน ไปเอาออกไม่ได้ แต่เพิ่มความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จนกระทั่งไม่มีเรา เพราะฉะนั้นแม้พระโสดาบันก็ยังมีความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านไม่ใช่พระสกทาคามีบุคคล ท่านไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นผู้ตรง อุชุปฏิปัณโณ เป็นคุณธรรมของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่าต้องสะสมด้วยความถูกต้องตามคำสอนที่สอน จะไม่เอาของเก่าออกมาว่าเป็นมาแล้วอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ มิใช่เช่นนั้น เพราะไม่มีใครไปเอาออกเอาเข้าได้ แต่คิดถึงคำนี้ "พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า" ทรงแสดงให้เข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม พระธรรมที่จะแสดงให้เห็นผิด ไม่มี เว้นแต่ว่าผู้อ่านไม่เข้าใจ แล้วก็คิดเอาเองว่ามีตัวตนที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ที่ทรงแสดงไว้ตามความเป็นจริง คือ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ผู้ที่ยังไม่ประจักษ์ ยังมีการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ แน่นอนเพราะเหตุว่าเป็นขั้นปริยัติ ด้วยเหตุนี้พระธรรมจึงมี ๓ ระดับ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท แต่ต้องเข้าใจให้ถูกทุกคำ "ปฏิปัตติ" ไม่ใช่ไปนั่งทำอะไรทั้งสิ้น แล้วก็ไม่มีตัวตนที่ปฏิบัติด้วย มรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย สติซึ่งไม่ใช่สติขั้นทาน ไม่ใช่สติขั้นศีล ไม่ใช่สติขั้นความสงบ แต่เป็นสติที่ประกอบด้วยปัญญาที่เข้าใจหนทางถูกต้องว่าการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้เพราะอะไร นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่ไม่รู้อะไรแล้วก็ไปนั่งแล้วก็หวังว่าจะรู้ แต่สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็ยังคงไม่รู้ต่อไป

    ผู้ฟัง ฟังแล้วเข้าใจถูก ก็สะสมได้ถูก ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะมีผู้ที่สะสมความเห็นถูกมามากแล้วที่สามารถที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้

    ผู้ฟัง ในพระไตรปิฎกแสดงถึงอดีตชาติของนางอุชุตราที่วานให้พระอรหันต์หยิบกระเช้ามาให้ แล้วในชีวิตประจำวัน ถ้าบิดามารดาเราเปรียบเหมือนพระอรหันต์ของบุตร เราก็ไม่ควรที่จะใช้บิดามารดาให้ทำโน่นทำนี่แทนเรา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องคิดว่ามารดาบิดาเลี้ยงเรามา พระคุณเปรียบได้ไหมกับอะไรสำหรับท่านทั้งสอง แล้วมีทางไหนบ้างที่เราจะทำให้ท่านมีความสุข ความสบาย เราควรจะทำหรือไม่ควรจะทำ หรือกลับไปทำความทุกข์ให้กับท่าน ต้องคิดพิจารณา เป็นความเข้าใจของเราเองที่จะต้องเข้าใจถูก

    ผู้ฟัง ชาดกที่บอกว่าคนอกตัญญูไม่ควรคบ เหตุใดจึงไม่ควรคบ

    ท่านอาจารย์ ดีหรือไม่ คนอกตัญญู

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ แล้วจะคบคนไม่ดีหรือ

    ผู้ฟัง ก็ควรจะออกห่างจากเขา

    ท่านอาจารย์ มงคลข้อที่ ๑ ว่าอะไร

    ผู้ฟัง การไม่คบคนพาล

    ท่านอาจารย์ อันดับ ๒

    ผู้ฟัง การคบบัณฑิต

    ท่านอาจารย์ เห็นไหมว่าการคบบัณฑิต เป็นอันดับ ๒ แต่อันดับ ๑ คือไม่คบคนพาล สำคัญกว่าจึงเป็นข้อที่ ๑ เพราะเหตุว่าความใกล้ชิดต่อความคิดเห็น การคล้อยตาม ใครจะรู้ ถ้าค่อยๆ ผสมน้ำสีหนึ่งเข้าไปในอีกสีหนึ่งก็จะค่อยๆ กลาย เพราะฉะนั้นถ้าเว้นไม่คบคนพาลก็ยังดีใช่ไหมประการหนึ่ง แล้วก็ควรจะคบบัณฑิตด้วย ไม่ใช่ว่าไม่คบคนพาลเท่านั้น แต่ว่าควรคบบัณฑิตด้วย มงคลคือสิ่งประเสริฐ ข้อที่ ๓ คือ ควรบูชาผู้ที่ควรบูชา

    ผู้ฟัง ขอให้อาจารย์อธิบาย คำว่า ภิกษุที่ยิงไกล ยิงเร็ว และทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้ เพื่อจะได้เข้าใจคำว่า "อวิชชา" ซึ่งเป็นข้าศึกหมู่ใหญ่

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องของปัญญาซึ่งตรงข้ามกับอวิชชา วิชชากับอวิชชา บางคนอาจจะสงสัยว่า กล่าวแต่เรื่องอกุศลมานานมากเลย ทั้งโลภมูลจิต ๘ โทสะมูลจิต โมหมูลจิต แล้วคงจะมีคนที่ต้องการฟังเรื่องของกุศล เพราะว่าฟังแต่เรื่องของอกุศล แต่การศึกษาพื้นฐานพระอภิธรรมก็เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในวันหนึ่งๆ วันนี้กุศลเกิดมากหรืออกุศลเกิดมาก แล้วก็ควรจะพูดถึงเรื่องอะไรมาก พูดถึงเรื่องสิ่งที่เกิดมากหรือว่าสิ่งซึ่งนานๆ ก็จะเกิดเพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะทำให้อกุศลเกิดมากจนไม่รู้ตัว เพราะเหตุว่าเพียงกุศลเกิดขึ้นชั่วคราว หลังจากนั้นเป็นอกุศลไหลไปตลอดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็เป็นกุศล แล้วก็ยังมีอกุศลเกิดแทรกคั่นได้แม้ในขณะที่กุศลจิตเกิดเพียงชั่ววาระ ๗ ขณะของจิตแล้วก็ดับไป ฟังเรื่องของอกุศลก็จะทำให้รู้ตัวเองตามความเป็นจริงซึ่งจะทำให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ถ้าจะกล่าวถึงกุศลอย่างย่อๆ ก็ตรงกันข้ามกับอกุศล เพราะเหตุว่าถ้าเป็นฝ่ายกุศลก็จะเป็นเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาเหมือนกับโลภะก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เกิดร่วมกับอุเบกขาก็เหมือนกับโลภะซึ่งเกิดร่วมกับอุเบกขา แต่ทางฝ่ายอกุศลจะประกอบด้วยความเห็นผิด ซึ่งทางฝ่ายกุศลก็จะประกอบด้วยปัญญา หรือมิฉะนั้นทางฝ่ายอกุศลซึ่งเป็นโลภะก็ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ทางฝ่ายกุศลก็เช่นเดียวกันก็ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่ทางฝ่ายอกุศลมีทิฏฐิมีความเห็นผิดซึ่งตรงกันข้ามกับปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็เป็นชีวิตจริงๆ ประจำวัน ถ้ากล่าวบ่อยๆ ก็จะทำให้เราระลึกได้ว่า จะต้องเจริญกุศลหรือว่ามีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมมากขึ้น จนกว่าจะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นเราก็อาจจะประมาทคิดว่าเรามีกุศลมากแล้วก็ทำกุศลอยู่แล้ว แต่กุศลใดๆ ก็ตามที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาไม่สามารถที่จะทำให้ออกจากสังสารวัฏได้

    ทุกคนก็กำลังอยู่ในคุก ซึ่งคนที่อยู่ในเรือนจำได้ฟังธรรมก็ได้เขียนจดหมายมา ก็เป็นเครื่องเตือนให้ทราบว่า แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ในคุกนั้น แต่อยู่ในคุกที่ใหญ่กว่านั้นอีกคือโลกทั้งโลก เกิดมาอยู่ในคุกซึ่งออกไม่ได้เลยถ้าไม่มีปัญญา แต่ว่าคนที่อยู่ในคุกประเภทนี้ไม่รู้ตัวเลยใช่ไหม สนุกสนาน รื่นเริง ทางตาสวยๆ ทางหูเสียงเพราะๆ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีความเพลิดเพลินพอใจที่จะอยู่ในคุกจนกว่าจะมีปัญญารู้ว่า แท้ที่จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่มีก็ไม่ได้ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นคุกที่สมมติเรียกบางแห่งออกมาไม่ได้เลย แต่ว่าคุกที่ใหญ่กว่านั้นก็คือโลกนี้ และก็ยังโลกอื่นๆ ทั้งหมดซึ่งยังไม่พ้นไปจากการเกิด ก็จะต้องอยู่ในคุกหนึ่งคุกใด เพราะฉะนั้นการฟังเรื่องอย่างนี้ก็จะทำให้เรามีปัญญารู้ตามความเป็นจริงว่าต้องอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ถึงสามารถที่จะพ้นจากคุกได้ ผู้ที่พ้นแล้วจะสงสารคนที่ยังอยู่ในคุกใช่ไหม เพราะว่าเขารู้แล้วว่าเป็นคุก แล้วก็ไม่ควรจะอยู่ในคุก แต่คนที่อยู่ในคุกด้วยความไม่รู้ ด้วยอวิชชา ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม ก็ไม่มีทางที่จะรู้ตัวตามความเป็นจริงว่ามีอวิชชามากสักแค่ไหน แต่เมื่อฟังแล้วก็จะรู้ได้ด้วยตัวเอง กำลังเห็นขณะนี้ รู้หรือไม่ว่าลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นอะไร

    การฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงแม้ในขั้นการฟังก็เพื่อที่จะให้ค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องตรงทุกคำที่ได้ทรงแสดงไว้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่สภาพธรรมซึ่งเกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ดับไป สั้นมาก เร็วมาก จะพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เราพอใจทางตาก็เล็กน้อยเพราะว่าขณะที่ได้ยินเสียง ไม่ใช่ความพอใจสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วขณะที่กำลังได้ยินเสียงขณะนั้นก็พอใจเล็กน้อยในเสียง ต่อจากนั้นก็คิดนึกซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งยากที่จะรู้ความจริงว่าไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นสภาพธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังมีรู้ยากหรือไม่ ถ้ารู้ยากต้องเป็นผู้ที่สามารถจะค่อยๆ อบรมความรู้ถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจนกระทั่งสามารถที่จะยิงไกล ยิงไว จนกระทั่งสามารถที่จะตามลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทางด้วยปัญญาที่อบรมเจริญสมบูรณ์ขึ้น สามารถที่จะประจักษ์ความจริงว่า ขณะนี้สภาพธรรมไม่เที่ยง สิ่งที่ปรากฏสืบต่อกันเร็วมากจนกระทั่งไม่ปรากฏการดับไปของสภาพธรรมที่เกิดในขณะนี้แล้วก็ดับอยู่เรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องของการอบรมที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏจนกว่าจะประจักษ์แจ้งจึงสามารถที่จะทำลายอวิชชาซึ่งมากเหลือเกิน ไม่ว่าอกุศลจิตประเภทใดเกิดเพราะความไม่รู้ ถ้ามีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเที่ยงเป็นสุข เป็นเรา เป็นตัวตน ขณะนั้นก็เพราะความไม่รู้

    ด้วยเหตุนี้ก็จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่าไม่รู้มากแค่ไหน ยิ่งฟังยิ่งมากหรือไม่ หรือว่าน้อยลงไป ที่น้อยลงไปจากการได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง แต่ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏก็ยังคงมีมากอยู่ จนกว่าจะถึงปัญญาอีกระดับหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมกับสติสัมปชัญญะที่เริ่มจะเข้าใจลักษณะที่มีจริงๆ ของสภาพธรรม ซึ่งวันหนึ่งก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งทำลายอวิชชาซึ่งมีมากมายที่สะสมมา แต่ก็ต้องตามลำดับขั้นด้วย

    อ.อรรณพ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ได้ทรงเปรียบความไม่รู้คืออวิชชาเหมือนข้าศึกใหญ่ ซึ่งขณะนี้เรายังไม่เห็นเลยว่ามีอวิชชา ยังไม่เห็นตัวข้าศึกเลย ยังไม่ต้องไปกล่าวถึงการที่จะชนะข้าศึกนั้นได้ ซึ่งสภาพธรรมที่ปรากฏนั้น ถ้าสติปัฏฐานเกิดบ่อยขึ้น สะสมจนกระทั่งวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ เกิด ก็เป็นผู้ที่ยิงไกล ก็คือรู้ในสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ที่ปรากฏ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็เปรียบอวิชชาเหมือนกับผ้าที่สกปรกมาก การที่จะกำจัดมลทินที่สกปรกจากผ้านั้นก็ต้องมีการซักล้างด้วยมรรคปัญญา ด้วยอริยมรรค ซึ่งก็เริ่มตั้งแต่การเจริญสติปัฏฐาน

    อ.วิชัย เรียนถามท่านอาจารย์ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องอวิชชา และตัณหาเป็นประธานของวัฏฏะ สิ่งนี้คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะความไม่รู้จึงมีความพอใจติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใครก็จะเปลี่ยนแปลงการเกิดดับของจิตที่สืบต่อกันไม่ได้เลย เมื่อมีปัจจัยคือยังมีกิเลสอยู่ และก็มีกรรมที่จะทำให้มีปฏิสนธิ ไม่ว่าจะเป็นในภพภูมิใดก็ตาม เพียงหนึ่งขณะ แล้วก็จะไม่มีจิตที่ทำกิจปฏิสนธิอีก เพราะว่าปฏิสนธิกิจคือกิจของจิตซึ่งทำกิจเกิดขึ้นในภพต่อจากภพที่จุติจิตของชาติก่อนดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็เพียงชั่วขณะเดียว แต่กรรมไม่ได้ทำให้จิตเกิดขึ้นเพียงหนึ่งขณะคือปฏิสนธิ แต่ยังทำให้จิตขณะต่อไปสืบต่อเป็นผลของกรรมที่จะทำให้ดำรงอยู่ในภพชาตินั้นจนกว่าจะสิ้นกรรมที่จะทำให้ไม่เป็นบุคคลนี้อีกต่อไป เมื่อมีปฏิสนธิ มีภวังค์ ก็ยังมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ที่จะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสโดยความไม่รู้ เช่น ในขณะนี้ก็เกิดมาแล้ว แล้วก็ไม่ได้เกิดมาชาตินี้ชาติเดียว เกิดมากี่ชาติ แต่กำลังเห็นขณะนี้ รู้ความจริงหรือไม่ว่าเป็นธรรม แม้แต่จิตทุกคนก็ฟังเหมือนเข้าใจ ก็ยังมีจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วย ทุกคนมีจิต มีความคิดนึก มีการเห็น มีการได้ยิน แต่รู้หรือไม่ว่าจิตเป็นธรรม ไม่ใช่เป็นเรา

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีทั้งหมดด้วยความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ แม้ว่าจะเรียกชื่อ แม้ว่าลักษณะนั้นก็มี เช่น ความคิดนึก ทุกคนก็คิด แต่เป็นเราหมดเลย ด้วยความไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว เหตุใดแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน แลกกันไม่ได้เลย แม้แต่คนเดียว ขณะต่อไปจะคิดอะไรก็ไม่รู้ เพราะเหตุว่าความคิดต้องเกิดเพราะการสะสมสัญญาความจำ ทำให้มีการตรึกนึกถึงสิ่งที่กำลังคิดถึงในขณะนั้นได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีความรู้อะไรทั้งสิ้นว่า แต่ละขณะเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่ใครสักคนเดียว ไม่มีใครเป็นเจ้าของด้วย และจะเลือกให้สิ่งนั้นเกิดสิ่งนี้เกิดก็ไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ด้วยเหตุนี้เมื่อมีความไม่รู้จึงมีความติดข้องโดยไม่รู้ตัวด้วย ขณะปกติธรรมดาหลังจากที่เห็นแล้วทราบไหมว่าติดข้องแล้ว ไม่รู้ตัวเลย แล้วจะมากสักแค่ไหนถ้าลักษณะของความติดข้องนั้นไม่ปรากฏ แต่ว่าเวลาที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ก็ยังมีความติดข้องเพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้นเรื่องติดนี่เป็นเรื่องที่เป็นพื้นฐานว่าเมื่อมีความไม่รู้ก็ย่อมยินดีพอใจ

    จิตเป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ยินดีในอารมณ์ ตัวจิต ไม่ใช่ตัวเจตสิกซึ่งเป็นโทสะหรือโลภะ แต่จิตจะมีอะไรนอกจากอารมณ์ จิตเกิดขึ้นเพื่อที่จะรู้อารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้ขณะนั้น เพราะฉะนั้นสำหรับจิตเองก็เหลือเพียงอารมณ์คือเป็นสิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นที่มายินดีของจิตจนกว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ต้องมีความรู้ละเอียดที่จะสามารถละการที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ได้

    ผู้ฟัง เพราะไม่รู้จึงติดข้อง แต่เหตุใดตัณหาจึงเป็นสมุทัย

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดถึงสภาวธรรมที่ไม่รู้ๆ แล้วจะพอใจได้ไหม เพราะลักษณะไม่รู้มีอย่างเดียวคือไม่รู้เท่านั้นเองไม่ใช่ลักษณะของการติดข้อง แต่เพราะไม่รู้จึงติดข้อง เมื่อติดข้องแล้วมีความขวนขวายไหม ที่เราแสวงหาสิ่งต่างๆ เพราะความติดข้องหรือเปล่า เราแสวงหาต่างๆ กันเพราะความติดข้องที่สะสมมาต่างๆ กัน บางคนแสวงหารูป บางคนแสวงหาเสียง ก็แล้วแต่ บางคนก็ชอบปลูกต้นไม้ บางคนก็ชอบทำอาหาร ก็เป็นเรื่องของความพอใจ ความติดข้อง ซึ่งอวิชชาไม่ได้ปรากฏในขณะนั้น แต่ความติดข้องปรากฏ มีไหมที่ขณะใดที่โกรธแล้วรู้ว่าขณะนั้นลักษณะนั้นมีอวิชชา ความไม่รู้ จึงได้โกรธ หรือขณะที่ติดข้องต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นรู้หรือไม่ว่าเพราะอวิชชาจึงมีความติดข้องต้องการ แต่ลักษณะของความติดข้องปรากฏให้รู้ได้

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคตรัสกับอชิตมานพ “กระแสเหล่าใดในโลก” ในอรรถกถาก็กล่าวถึงกระแสตัณหาบ้าง กระแสทิฏฐิบ้าง กระแสทุจริตบ้าง กระแสอวิชชาบ้าง พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า "สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น และปัญญาเป็นเครื่องปิดกั้นตัดกระแสเหล่านั้น" หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นอวิชชาเกิดไม่ได้ อกุศลเจตสิกทั้งหมดจะไม่เกิดพร้อมกับโสมนัสเจตสิก เพราะฉะนั้นขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ก็มีกุศลหลายระดับ กุศลที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย และกุศลที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    อ.วิชัย โสภณธรรมมีมาก เหตุใดมุ่งถึงตัวสติ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ต้องทราบลักษณะของโสภณธรรมแต่ละประเภทว่าเป็นแต่ละลักษณะจริงๆ ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่กล่าวถึงเรื่องปัฏฐาน ว่าสติปัฏฐาน และก็มีข้อความกล่าวว่าไม่ใช่ผัสสะปัฏฐาน ไม่ใช่สัญญาปัฏฐาน ไม่ใช่เวทนาปัฏฐาน ไม่ใช่ปัฏฐานที่ตั้งของเจตสิกอื่น นอกจากที่ตั้งของสติ เพราะสติเป็นสภาพที่ระลึก ขณะที่คิดจะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ไม่ใช่เราระลึก แต่แทนที่จะคิดเรื่องอื่นตรึกตรองใฝ่หาเรื่องอื่น ก็เกิดการระลึกที่จะให้ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่าเพราะสติเกิดจึงกั้นอกุศล ขณะนั้นอกุศลจะเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นกุศลทุกประเภทก็มีสติเป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศลนั้นๆ เช่น ขณะที่วิรัติทุจริต แต่ก่อนนี้ก็อาจจะเป็นคนที่กล่าวคำไม่จริงง่ายๆ รู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าฟังธรรมแล้ว ไม่ใช่ไปมีตัวตนที่จะไปบังคับ แต่เริ่มสังเกตได้ว่าการกล่าวคำจริงง่ายกว่าที่จะกล่าวคำไม่จริงเพราะว่าตรงไปตรงมา ไม่เยิ่นเย้อ และก็ชัดเจน และก็มีอะไรก็เปิดเผยได้ นั่นก็คือผู้ที่เห็นว่าสิ่งที่ไม่จริงหรือคำไม่จริงกล่าวยากว่าคำจริง สิ่งนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่าได้เริ่มเข้าใจสภาพธรรมซึ่งขณะนั้นเพราะสติเกิดจึงระลึกที่จะวิรัติทุจริต หรือการที่จะทำสิ่งที่ดีงามเป็นจาริตศีล ถ้าเป็นการวิรัติสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นวาริตศีล เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกาย วาจา ซึ่งก็ต้องมาจากใจที่ละเอียดขึ้น ระดับที่ว่า แม้เป็นการที่เกิดขึ้นเป็นกุศลทางใจ ยังไม่ได้ล่วงออกไปทางกาย ทางวาจา ไม่ว่ากุศลหรืออกุศลนั้นก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ และเวลาที่เกิดขุ่นใจ กายก็ยังไม่ได้ทำอะไร วาจาก็ยังไม่ได้ทำอะไร ก็เกิดอกุศลเพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะขุ่นใจขณะนั้น แต่พอสติเกิดระลึกได้ก็ไม่ใช่เราอีก มีประโยชน์อะไร ความโกรธ ลองหาดูว่าประโยชน์อยู่ที่ไหน แก่ใคร แก่คนที่เราแสดงความโกรธ เขาจะได้กลัวหรือ นั่นก็คือไม่ได้เห็นประโยชน์แท้จริงว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต แล้วก็จิตของใครก็จิตของคนนั้น แล้วจิตนั้นให้โทษหรือให้คุณ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567