พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 207


    ตอนที่ ๒๐๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ผู้ฟัง ในขณะใดที่เป็นความจำ และในขณะใดที่เป็นความเข้าใจที่ควรจะรู้ ควรจะเข้าใจในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ได้ยินชื่อทั้งหมดใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีสภาพธรรมที่ตรงกับชื่อที่ได้ยินได้ฟังด้วย เช่น ได้ยินคำว่าเห็นเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งตรงกับที่ได้ยินคำว่าเห็น เพราะเห็นมีจริง ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง แต่เหมือนรู้รวมๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้อย่างไร

    ผู้ฟัง คือตั้งใจที่จะรู้เหมือนที่อาจารย์กล่าว

    ท่านอาจารย์ นี่คือตั้งใจจะรู้ แล้วก็ไม่เป็นอย่างที่จะตั้งใจด้วย เพราะเหตุว่ารู้โดยเราจะรู้เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บรรยายไว้ว่าถ้าธรรมเกิดขึ้นก็จะต้องรู้ทีละอย่าง

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ อบรมความเข้าใจขั้นการฟังเพื่อละความต้องการ แม้แต่ขั้นฟังก็เพื่อละความต้องการ ถ้าฟังไม่ดียิ่งต้องการ ฟังแล้วอยากเห็นนามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร เกิดดับอย่างไร นี่คือฟัง แล้วก็มีความต้องการ ไม่ใช่ละความต้องการ แต่ถ้าฟังแล้วละความต้องการ ไม่มีเรา เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าไปอยู่ในจิตใจที่สะสมความเข้าใจสิ่งนี้ให้ถูกต้องว่า ไม่มีเราแต่ว่ามีธรรม ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วความเป็นเราที่จะขวนขวายต้องการทำให้สามารถถึง และรู้ความจริงอย่างที่ได้ยินได้ฟังก็จะหมดไป เพราะรู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นขอให้มีความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ ธรรมเป็นธรรม อกุศลเป็นธรรมหรือไม่ ความไม่รู้เป็นธรรมหรือไม่ มีจริงๆ เกิดแล้วด้วย และปัญญาก็เป็นธรรมด้วย เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟังเป็นธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ทำหน้าที่ของธรรมนั้นๆ ซึ่งใครจะไปเปลี่ยนแปลงให้สภาพธรรมนี้ไปทำหน้าที่อื่นไม่ได้ เช่น กำลังไม่รู้อย่างนี้ เปลี่ยนให้เป็นรู้ไม่ได้ การไม่รู้อย่างนี้ให้รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ให้ประจักษ์แจ้งให้แทงตลอด ใครทำได้ ในเมื่อความไม่รู้เกิดก็ต้องเป็นความไม่รู้ และก็ทำกิจปิดบังไม่ให้รู้ด้วย

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ยิ่งฟังก็ยิ่งละความเป็นเราที่หวังที่ต้องการที่จะทำอย่างอื่น แต่เมื่อรู้ว่าถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ความเข้าใจก็ทำกิจของปัญญาซึ่งไม่เหมือนกับกิจของโลภะเลย โลภะเคยทำกิจของโลภะจนชำนาญมาก คล่องแคล่วมาก รวดเร็วมาก ไม่ว่าที่ไหนเมื่อไร โลภะมาแล้ว ไม่ต้องคอยเลย บางคนก็บอกว่าเดี๋ยวโลภะจะมา ไม่ต้องเดี๋ยว อยู่ตรงนั้น มาแล้วทางตา มาแล้วทางหู มาแล้วทางจมูก มาแล้วทางคิด ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง อัปปิจฉกถาเพื่อให้ถึงภาวะของความไม่มีโลภะ เพราะเหตุว่าเพราะโลภะนั้นเองจึงต้องเกิดแล้วก็ตาย ไม่สิ้นสุดด้วยความไม่รู้ และด้วยโลภะ เพราะฉะนั้นฟังแล้วก็รู้ว่าการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์เพื่อที่จะตรัสรู้พระธรรม ที่ทรงพระมหากรุณาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้บุคคลอื่นได้รู้ด้วย หรือแม้แต่พระสาวก ท่านพระสารีบุตรตอนที่ท่านยังไม่รู้ และท่านเริ่มฟังธรรมนานเท่าไรที่จะได้รู้ความจริงในชาติที่ได้เป็นพระโสดาบัน และถึงความเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น แล้วเราจะเป็นตัวเราที่ต้องการจะรู้นี้เป็นไปไม่ได้ ท่านเหล่านั้นฟังแล้วท่านละโลภะที่ต้องการจะทำที่ต้องการจะรู้โดยไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นการที่ค่อยๆ สะสมความรู้ที่มั่นคงขึ้น และถ้าเป็นความรู้แล้วไม่ต้องห่วง จะไปทำกิจของอวิชชานี่ไม่ได้ และยิ่งความรู้เจริญขึ้นก็จะถึงกาลถึงความสมบูรณ์ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริงอย่างนั้นได้ แต่ทำไมมีความเป็นเราที่ใจร้อน คอยไม่ได้ จะถามว่าเมื่อไรจะถึง นั่นคือตัวตนฟังธรรม แต่ว่าไม่ได้ละความต้องการ แต่ถ้าฟังธรรมแล้วรู้ว่าเป็นธรรมก็ค่อยๆ รู้ความจริงขึ้น นี่เป็นหนทางเดียวที่จะไม่อยู่ในอำนาจของโลภะ และทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ไม่ไหวก็ไปแล้ว สู่อำนาจของโลภะ และความเห็นผิด

    ผู้ฟัง ความเข้าใจที่เกิดจากการฟังเป็นสติในขั้นการฟังได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ทุกขณะที่กุศลจิตเกิดต้องมีสติเจตสิก มีหิริเจตสิก โอตตัปปเจตสิกเกิดร่วมด้วยพร้อมทั้งโสมนัสเจตสิกอื่นๆ

    ผู้ฟัง เอาชื่อออกหมด ก็จะเหลือลักษณะสภาพธรรมชนิดหนึ่ง นี่คือสติในขั้นการฟัง คงจะเป็นอย่างที่กระผมเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คงไม่ต้องคำนึงถึงคำหรือชื่อ แต่ว่าให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏโดยอาศัยคำที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าไม่มีพระธรรมเทศนา ใครจะมาบอกว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดกระทบจักขุปสาท และก็ดับไป

    ผู้ฟัง เมื่อวานได้ทำลูกปัดหก และเกิดความรู้สึกไม่ชอบ แต่ระหว่างที่เก็บลูกปัดก็ระลึกรู้แข็งกับความรู้สึกไม่ชอบ หากพิจารณาว่าลูกปัดเป็นบัญญัติ ดิฉันเข้าใจว่าสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาทั้งหมดเป็นบัญญัติ ขอคำอธิบายจากท่านอาจารย์ด้วย

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่เราสร้างหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง พวกลูกปัด

    ท่านอาจารย์ ก็คือคิด ต้องแยกให้ออก ๖ โลก ๖ ทาง ขณะที่กำลังเห็น ชั่วขณะที่เห็น ถ้าจะอยู่เฉพาะลักษณะที่เห็น ขณะนั้นยังไม่ทันคิดอะไร สั้นมาก เล็กน้อยมาก แต่อยู่แล้วนิดหนึ่งที่ลักษณะนั้น แต่หลังจากนั้นก็คิด เพราะฉะนั้นที่กำลังเห็นเป็นอะไร ไม่ใช่ลูกปัด ใช่ไหม แต่คิดแล้ว แทนที่จะเป็นลูกปัดก็เป็นอื่น ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเห็นแล้วก็คิด ไม่ว่าจะได้ยินก็คิด ไม่ว่าจะได้กลิ่นก็คิด ไม่ว่าจะลิ้มรสก็คิด ไม่ว่าจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็คิด ไม่มีสิ่งเหล่านี้ปรากฏก็คิด ห้ามความคิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นคงไม่ลืมว่าอยู่ในโลกของความคิด แล้วสิ่งที่ปรากฏก็แสนสั้น ถึงแม้ว่าจะหมดแล้วไม่กลับมาอีก แต่ความคิดถึงสิ่งนั้นก็ยังจำไว้แล้วก็คิดต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นลูกปัดหรือไม่เป็นลูกปัดก็คิด แล้วขณะที่กำลังกระทบแข็ง ขณะที่แข็งกำลังปรากฏ ลูกปัดอยู่ที่ไหน ยังไม่ได้คิดใช่ไหม เพราะขณะนั้นเฉพาะแข็งปรากฏ แล้วเฉพาะแข็ง ถ้าไม่ใช่ลูกปัดก็เป็นอื่นเพราะคิดอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อแข็งปรากฏแล้ว จะคิดว่าแข็งเป็นลูกปัด หรือว่าจะคิดว่าแข็งเป็นอะไร ก็ต่างขณะกับที่แข็งปรากฏ นี่ก็จะต้องแยก ๖ ทางว่าอย่างไรๆ ก็คิดต่อจากสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ขณะที่โกรธมีความเข้าใจว่าเป็นเพียงสภาพธรรมหนึ่งที่เป็นอกุศลที่เกิดจากเหตุปัจจัยจึงได้นึกถึงเมตตาธรรม ขันติ ความอดกลั้น อดทน ช่วย (บรรเทา) แต่ก็ยังไม่สามารถจะละความโกรธได้ ต้องโกรธอีกประมาณ ๑ ชั่วโมง ขอความกรุณาท่านอาจารย์ให้ช่วยแนะนำว่าทำอย่างไรให้ความโกรธเหลือประมาณสิบถึงสิบห้านาที

    ท่านอาจารย์ คือว่าไม่รู้เหตุปัจจัย จะโกรธสั้นก็เพราะเหตุปัจจัย จะโกรธยาวนานๆ ก็เพราะเหตุปัจจัย ไม่มีสภาพธรรมใดเลยซึ่งเกิดแล้วก็เป็นไปต่างๆ นาๆ ไม่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าโกรธนานจะให้ไปสั้น ใครจะทำได้ ถ้าโกรธนิดหน่อยแล้วก็หมดไปใครจะไปต่อให้ยาวได้ ก็เป็นสิ่งซึ่งต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหมด

    คุณอุไรวรรณ ขณะนี้คนทุกคนก็โกรธ ซึ่งจะโกรธง่ายแล้วจะให้หายเร็วหรือหายช้าก็ขึ้นอยู่กับเหตุ และปัจจัย

    ท่านอาจารย์ จะเห็นได้นิดหนึ่งว่าไม่ได้สนใจที่จะรู้ลักษณะของโกรธ แต่ถามว่าทำอย่างไรถึงจะไม่โกรธ หรือที่โกรธมากๆ จะได้โกรธน้อยลง นี่คือความเป็นเรา และมีความต้องการ แต่ถึงจะมีวิธีมากมายอย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าทำได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะดับไม่ให้โกรธนั้นเกิดอีกเลย นี่เป็นความต่างกันระหว่างความไม่รู้กับความรู้

    อ.วิชัย ได้อ่านข้อความบางส่วนในสัลเลขสูตร ธรรมที่เป็นเครื่องขัดเกลาว่า "ดูก่อนจุนทะ ผู้ที่จมอยู่ในปลักอันลึกแล้วจักยกขึ้นซึ่งผู้อื่นที่จมอยู่ในปลักอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ดี ผู้ที่ตนเองไม่จมอยู่ในปลักอันลึกจักยกขึ้นซึ่งผู้อื่นที่จมอยู่ในปลักอันลึกข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ ผู้ที่ยังไม่ได้ฝึกตนยังไม่ได้แนะนำตนจะดับกิเลสไม่ได้ด้วย ตนจะฝึกสอนแนะนำผู้อื่นจักให้ผู้อื่นดับกิเลสด้วย ข้อนี้เป็นฐานะที่มีไม่ได้" มีข้อสงสัยว่าถ้าผู้ที่กล่าวหรือแสดง แต่ยังไม่สามารถจะอบรมให้ถึงขนาดนั้นจะกล่าวสอนผู้อื่นจะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สิ่งนี้ก็ต้องทราบว่าการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจะรู้ทันทีไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าแต่ละบุคคลได้อ่านพระไตรปิฎกหรือว่าได้ฟังได้พิจารณา ก็จะค่อยๆ มีความเข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะอ่านเองหรือว่าฟังจากบุคคลที่อ่าน หรือว่ามีการสนทนากับบุคคลที่อ่าน เพื่อที่จะได้รับฟังความคิดเห็นต่างๆ และก็จะได้ทราบว่าเรามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะว่าจุดประสงค์สูงสุดในพุทธศาสนาเพื่อดับทุกข์โดยสิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง ไม่ให้มีทุกข์เลย แต่ว่าการที่จะถึงอย่างนั้นไม่ใช่ถึงโดยง่ายเลย ทุกคนรู้ว่ากำลังมีกิเลสอย่างมากๆ สะสมมานานมากแล้วก็จะค่อยๆ หมดไปได้อย่างไร เพียงแต่จะรู้หนทางที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นในขณะนี้เราคงยังไม่ต้องไปคำนึงถึงว่าใครขึ้นจากปลักแล้ว หรือว่าใครยังไม่ได้ขึ้นจากปลัก แต่ว่าจากการสนทนา และการฟัง ถ้าทำให้เราสามารถที่จะเกิดปัญญาของเราเอง ข้อสำคัญก็คือเป็นความเห็นถูก เป็นความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏได้ นั่นคือความถูกต้อง

    ผู้ฟัง เรามีความยินดีในกุศล ลักษณะความยินดีในกุศลเป็นลักษณะของอกุศลหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องตรง ความยินดีเป็นความติดข้องหรือไม่ ขณะนั้น ถ้าเป็นความติดข้องขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าขณะนั้นเป็นความโสมนัสที่ได้กระทำกุศล ขณะนั้นก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้นการที่เราจะยึดถือคำหนึ่งคำใดเป็นเครื่องตัดสินว่าเป็นอย่างนี้หรือเป็นอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับทันทีเร็วมาก แต่พระธรรมที่ทรงแสดงๆ ให้เห็นชัดถึงความต่างของสภาพธรรมซึ่งแม้เกิดดับอย่างเร็วมาก ธรรมที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล จะเป็นกุศลไม่ได้ และธรรมที่เป็นกุศลก็แป็นกุศล ข้อสำคัญรู้สึกว่าเราจะห่วงเรื่องของอกุศล และก็บางท่านคิดที่จะทำเพียงกุศล เพราะเหตุว่ารังเกียจอกุศล แต่อกุศลมี ๓ อย่าง โลภะ โทสะ โมหะ รังเกียจอกุศลอะไร

    ผู้ฟัง รังเกียจทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือไม่ ที่จริงก็ถูกสำหรับผู้ที่ฟังธรรมคือรังเกียจอวิชชาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะรังเกียจโทสะก่อน ไม่ชอบ ไม่ใช่รังเกียจ แล้วก็รู้ว่ามีโทษ แต่ว่าไม่ใช่เป็นความรังเกียจในความเป็นอกุศลของโทสะ แต่เป็นความไม่พอใจ ไม่ชอบที่จะมีโทสะเพราะว่าขณะนั้นไม่สบายใจ สำหรับโลภะก็คงจะรังเกียจยากเพราะรู้สึกว่าตื่นเช้ามาก็ต้องการเห็นแต่สิ่งที่น่าพอใจ เสียงที่น่าพอใจ แสวงหาสิ่งที่น่าพอใจอยู่ตลอดทั้งวัน ทุกวันในสังสารวัฏ เพราะฉะนั้นที่จะเห็นโทษของโลภะก็ยาก และยิ่งกว่านั้น คือ โมหะ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีโมหะ โลภะมีไม่ได้ โทสะมีไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเห็นถึงโทษของโมหะเพื่อที่จะละ โลภะ โทสะ และอกุศลทั้งหมดได้

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันเราก็ไม่สามารถจะแยกออกได้ คือลักษณะของความยินดีกับลักษณะของโสมนัสในกุศลย่อมมีความต่างกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมากคิดเพื่อที่จะรู้ แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะที่เป็นกุศลหรืออกุศล หรือแม้แต่ที่จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นนามธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้สึก และก็คิดนึกเป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ นั่นคือนามธรรม ถ้าเรายังไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม แม้ขณะนี้ ฟังอย่างนี้ ก็ยังเป็นเราได้

    ผู้ฟัง แต่จริงๆ แล้วศึกษาธรรม เราก็มักจะคิดวิเคราะห์ว่าอารมณ์นั้นเป็นกุศลหรืออกุศลในขั้นต้น

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุดต้องเป็นผู้ละเอียดรอบคอบ แม้แต่คิดว่าห้ามไม่ได้ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ห้าม ไม่มีเพราะเหตุว่าทรงตรัสรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สภาพธรรมใดที่เกิดต้องมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วปรากฏว่าเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องเป็นอย่างที่ปรากฏเพราะเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีคำว่า “ห้าม” แต่ว่าทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีคำสั่งใดๆ ทั้งสิ้นเพราะเหตุว่าสั่งไม่ได้ แม้แต่ผู้ที่มีอัธยาศัยที่จะบรรพชาอุปสมบท ห้ามไม่ให้คนนั้นเกิดกิเลสได้ไหมเพราะบวชแล้ว ก็ห้ามไม่ได้ แต่ว่าศรัทธาที่มีที่จะอุปสมบทก็เป็นธรรมประเภทหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นหมดกิเลส ด้วยเหตุนี้ถ้าฟังพระธรรมด้วยความเข้าใจในความเป็นอนัตตา มีความมั่นคงในความเป็นอนัตตา ไม่ว่าขณะนั้นจะหวนคิดถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว ขณะนั้นก็เป็นเรา โมหะอยู่ตรงนั้น ไม่รู้ความจริงว่าขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ ที่จะมีความมั่นคงว่าไม่มีเราแต่มีธรรม :ซึ่ง ธรรมก็มี ๒ อย่างคือนามธรรมกับรูปธรรมทั้งหมด แต่ว่าขณะใดก็ตามที่ไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ขณะนั้นก็มีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราได้

    ผู้ฟัง สิ่งที่ล่วงไปแล้วก็คือเป็นความคิดนึก สภาพอารมณ์ของความคิดนึก

    ท่านอาจารย์ ทุกคำที่คุณสุกัญญาพูดมีสภาพที่กำลังรู้ว่าคำหรือเปล่า ถ้าไม่มี จะมีทุกคำได้อย่างไร แม้แต่ทุกคำก็มีจิต นามธรรมที่กำลังรู้คำว่าทุกข์ กำลังรู้คำว่า คำ ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป ธรรมจริงๆ ก็มีเพียง ๓ อย่างที่เกิดขึ้น และดับไปในชีวิตประจำวันคือจิต เจตสิก รูป ทรงตรัสรู้ว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นทุกคำนี่คืออะไร ไม่ใช่เราไปคิดถึงอดีตว่ามาได้อย่างไร แต่แม้ขณะนั้นทุกคำก็ไม่รู้ว่าคืออะไร มีจริงหรือไม่ กำลังคิดคำว่าทุกคำ ยังไม่ต้องย้อนไปว่าเมื่อวานคิดอะไร แต่กำลังคิดอยู่แล้ว เรื่อง ทุกข์ กับ คำ ขณะนั้นก็ต้องเป็นจิตที่กำลังมีคำนั้นเป็นอารมณ์ กำลังรู้คำนั้น แต่ทั้งหมดเพื่อให้มีความมั่นคงในความเข้าใจถูกว่าสิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นอนัตตา ถ้ามีความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม จะมีความคิดว่าแล้วตอนนั้นเราจะไปหวนคิดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือจะไม่ให้ทำอย่างนั้น หรือให้ทำอย่างนี้ นี่คือยังไม่มั่นคงที่จะรู้ว่าเป็นธรรมซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่เราที่จะไปพยายามทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่เกิด หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดก็จะไปพยายามทำให้เกิดมีขึ้นด้วยความเป็นตัวตนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเราจะฟังธรรมอีกต่อไป เป็นเรื่องตั้งแต่ต้นหรือว่าเรื่องที่ละเอียดขึ้นมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ก็เพื่อที่จะให้เข้าถึงความเข้าใจที่มั่นคงว่าไม่มีเรา แต่ขณะนี้หรือขณะไหนก็ตามมีสภาพธรรมปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง แม้ในขณะนี้ ทางตาก็เป็นธรรม ทางหูที่ได้ยินเสียงก็เป็นธรรม ถ้ามีกลิ่นปรากฏก็เป็นธรรม ทางลิ้มรสปรากฏเป็นธรรม ทางกายขณะนี้ถ้ากระทบสัมผัสก็มีสิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวปรากฏก็เป็นธรรม ทางใจที่คิดนึกก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเป็นธรรมคือไม่ใช่ใคร ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพที่มีจริงแล้วก็เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นจะฟังอีกเท่าไร จะอ่านอีกเท่าไร จะสนทนาธรรมอีกเท่าไร ก็เพื่อให้มีความมั่นคงที่จะเข้าใจว่าสภาพธรรมในขณะนี้เป็นธรรม เพราะเหตุว่าถ้าเราได้ยินคำว่าธรรม แล้วเราไม่รู้ว่าเมื่อไร ที่ไหน ลักษณะอย่างไร เราก็อาจจะอ่านตำรับตำรา แล้วก็คิดเรื่องธรรม แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏเพียงสั้นๆ แล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าธรรมที่ทรงแสดงเป็นสิ่งที่มีจริง เพื่อให้คนฟังค่อยๆ เห็นประโยชน์ว่าการศึกษาทั้งหมดจะมากน้อยอย่างไรก็ตาม นานเท่าไรก็ตาม กี่ภพกี่ชาติก็ตาม เพื่อรู้ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏจนกว่าจะมีความเข้าใจมั่นคงขึ้นว่าเป็นธรรมลักษณะต่างๆ ซึ่งปัญญาก็จะเจริญขึ้นจากการที่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกระทั่งสามารถที่จะแทงตลอดการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ แต่ไม่มีหนทางอื่น แต่ต้องเป็นปัญญาของแต่ละบุคคลที่สะสมด้วยการฟัง การไตร่ตรอง และการเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เว้นความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ บางท่านอาจจะคิดว่าการไม่ดูละครต่างๆ ก็เป็นการงดเว้น เดี๋ยวจะชินไปเอง

    ท่านอาจารย์ พระธรรมทั้งหมดเพื่อให้ถึงภาวะความไม่มีความยินดีทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่ไม่ดูละคร ไม่ดูโทรทัศน์ แต่เพื่อให้ถึงการไม่มีภาวะซึ่งติดข้องนี่คือพระธรรมทั้งหมด แต่ทรงแสดงตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าเผินอาจจะคิดว่าสั่งหรือบอก แต่ความเป็นจริงกุศลกับอกุศล สภาพธรรมไหนควรละ สภาพธรรมไหนควรเจริญ แม้ว่าบอกควรละ ละได้หรือไม่ โดยไม่มีปัญญา ละไม่ได้ ทรงแสดง ๔๕ พรรษาเป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตตันปิฎก พระอภิธรรมปิฎก เพื่อให้ผู้นั้นเกิดปัญญา และปัญญานั้นต่างหากที่ละ แต่ไม่ใช่ให้มีความเป็นเรา พอได้ยินก็ละ ไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ แล้วลำบากใจหรือเปล่าที่จะเป็นอย่างนั้น หรือว่าสบายใจเพราะเหตุว่ามีการรู้ความจริงว่าขณะนั้นเป็นธรรม และการรู้ขั้นฟังยังไม่พอ เพราะเหตุว่าจะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แต่ลักษณะนั้นมี แต่ว่ายังไม่ถึงระดับขั้นที่จะทำให้สัมมาสติเกิด เพราะว่ายังไม่ได้รู้ลักษณะของสัมมาสติ แต่มีความเป็นเราพยายามขวนขวายจะทำหมดเลยทุกอย่าง ตรงกันข้ามกับที่ทรงแสดงไว้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดต้องสอดคล้อง และต้องเป็นความจริงที่มั่นคงขึ้น ซึ่งในพระไตรปิฎกในพระปฐมเทศนาก็ได้ทรงแสดงไว้ว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมมี ๓ รอบจะขาดรอบหนึ่งรอบใดไม่ได้ รอบแรกคือสัจจญาณ ปัญญาที่รู้จริงๆ ว่าทุกข์คืออะไร ถ้าบอกว่าทุกข์ อะไร ทั้งหมดต้องอะไร เพื่อที่จะได้เข้าใจได้ถูกต้อง ความรู้สึกไม่สบายเป็นทุกข์หรือไม่ เป็น ทุกคนรู้จัก และก็ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์หรือไม่ เห็นไหม ถ้าไม่ศึกษาเราจะไม่เข้าใจเลยว่าทุกขอริยสัจจไม่ใช่เพียงทุกขเวทนา แต่สภาพธรรมใดๆ ทั้งหมดซึ่งเกิดแล้วดับไม่เที่ยงเลย เป็นของเราเมื่อไร สิ่งไหน หมดไปแล้ว แล้วเวลาเกิดก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เป็นหนทางที่จะดับทุกข์ เพราะรู้สมุทัย อวิชชา และโลภะทำให้มีความติดข้อง แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567