พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 205


    ตอนที่ ๒๐๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส นี้ใครๆ ก็รู้จัก เฉยๆ ตอบได้ แต่ว่าลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมทั้งหมดจะรู้ได้ไม่ใช่เพียงชื่อ แต่โดยสติสัมปชัญญะรู้ตรงลักษณะนั้นโดยไม่เลือก โดยไม่จงใจว่าจะไปรู้ลักษณะของความรู้สึกอะไร ถ้าไม่รู้ลักษณะของความรู้สึก จะรู้ลักษณะของลักษณะหนึ่งลักษณะใดก็ได้ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ถ้ามีการเกิดระลึก นั่นคือสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานที่เป็นปกติ

    ผู้ฟัง ถ้าขณะนี้หรือเมื่อสักครู่นี้ที่เพิ่งผ่านมาก็ได้แค่ระลึกรู้ตามไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ฟังเข้าใจ แต่ก็ยังไม่ได้รู้ตรงลักษณะ

    ผู้ฟัง สิ่งนั้นก็ยังไม่ใช่สติ

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นนามธรรม เข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่เรา เพราะเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม หรือว่าเป็นสภาพที่ไม่รู้ ต้องเข้าถึงลักษณะนั้นด้วย แต่ก็ค่อยๆ อบรมไปให้เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรมกับรูปธรรมย่อมมีความสำคัญต่อเนื่องกัน ขอได้อธิบาย

    ท่านอาจารย์ พิสูจน์ได้ว่าขณะนี้อยู่ที่นี่ มีนามธรรมแน่นอน แล้วมีรูปธรรมด้วยหรือไม่

    ผู้ฟัง มีรูปธรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ มีทั้งจิต เจตสิก รูป แม้รูปก็เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิต กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นพร้อมกัมมชรูป ถ้าเป็นกามาวจรภูมินั้น จะไม่มีรูปเกิดพร้อมปฏิสนธิจิตไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเป็นผลของกุศลซึ่งเป็นไปในรูปยังมีรูปอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ว่ากุศลนั้นให้ผลเมื่อไร ก็จะเป็นปัจจัยให้วิบากจิตซึ่งเป็นปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับรูปด้วย ในชีวิตประจำวันมีตาเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นรูป

    ท่านอาจารย์ นั่นคือก็พ้นจากรูปไม่ได้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นรูป จักขุปสาทก็เป็นรูป เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นเห็น อรูปพรหมบุคคลไม่เห็น ไม่มีรูปใดๆ เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตเลย เป็นอรูปวิบากซึ่งทำกิจปฏิสนธิทำกิจภวังค์ ทำกิจจุติ ระหว่างนั้นเมื่อเกิดมาก็ไม่มีรูปใดๆ เลย ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการที่จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะว่ารูปไม่มี ด้วยเหตุนี้จึงเป็นภพภูมิที่ต่างๆ กันไปตามเหตุคือกรรม

    ผู้ฟัง ชีวิตประจำวันจะมีรูปเกิดโดยที่ไม่มีนามเกิดได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ในชีวิตประจำวัน ในภูมิไหน

    ผู้ฟัง ในภูมิที่มีขันธ์ ๕

    ท่านอาจารย์ ต้นไม้นี่มีนามไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีนาม แต่มีรูป

    ท่านอาจารย์ แต่เป็นรูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง ในตัวเราที่อยู่ในภูมิขันธ์ ๕ จะมีรูปเกิด แล้วไม่มีนามเกิดได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ และนามยังอุปถัมถ์รูปที่เกิดด้วยซ้ำสำหรับการที่จะเป็นรูปที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ผู้ฟัง ขณะที่เราหลับ จักขุปสาทรูปเกิดได้

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่าจักขุปสาทรูปเกิดเพราะอะไรเป็นปัจจัยเป็นสมุฏฐาน

    ผู้ฟัง เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน กรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยที่มีกำลัง กัมมปัจจัยทำให้จักขุปสาทรูปเกิดทุกอนุขณะของจิต เว้นไม่ให้เกิดไม่ได้เลย เพราะเป็นหน้าที่ของกรรม ใครก็จะไปยับยั้งไม่ให้รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเกิดไม่ได้ ตราบใดที่กรรมทำให้รูปนั้นเกิด แต่ถ้ากรรมไม่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิด ตื่นขึ้นมาก็ตาบอดแล้ว มองไม่เห็นอะไร เราก็รู้เหตุว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่มีจักขุปสาทรูปเหมือนวันก่อน เพราะกรรมเป็นปัจจัยที่ไม่ทำให้รูปนั้นเกิด

    ผู้ฟัง ขณะที่นอนหลับ สภาพการเห็นคือจักขุวิญญาณไม่ได้เกิด

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นที่นอนไม่มีตัวเลยหรือ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ หรือเหลือแต่นามล้วนๆ ไม่มีตัว ไม่มีรูปร่างกายขณะที่นอนหลับ

    ผู้ฟัง ขณะที่นอนหลับมีรูปร่างกาย

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เพราะมีปัจจัยหรือสมุฏฐานให้รูปเกิด รูปก็เกิด เพราะที่กายมีกรรมเป็นสมุฏฐานให้รูปที่เกิดจากกรรมเกิด มีจิตเป็นสมุฏฐานให้รูปที่เกิดจากจิตเกิด มีอุตุเป็นสมุฏฐานให้รูปที่เกิดจากอุตุเกิด มีอาหารเป็นสมุฏฐานให้รูปที่เกิดจากอาหารเกิด รู้หรือไม่รู้ก็มีสมุฏฐานแล้วที่จะทำให้รูปนั้นๆ เกิด แต่ว่าอายุสั้นมาก เกิดแล้วก็ดับอย่างรวดเร็วเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ "มีเหมือนไม่มี" เพราะเหตุว่าดับเร็วมาก แล้วทยอยกันเกิดทยอยกันดับตามอายุของรูปด้วย

    ผู้ฟัง แต่จักขุวิญญาณนี่ไม่ได้เกิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ขณะที่กำลังได้ยิน จักขุปสาทมีหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เพราะกรรมทำให้จักขุปสาทเกิด แต่จักขุปสาทขณะนั้นทำกิจกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือไม่ขณะที่กำลังได้ยิน

    ผู้ฟัง ไม่ได้ทำกิจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแม้กำลังได้ยิน แต่รูปอื่นๆ ที่เกิดจากสมุฏฐานต่างๆ ก็ยังเกิดตามสมุฏฐานนั้นๆ ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีจักขุปสาทเกิดแล้วต้องเห็นตลอดไม่ใช่อย่างนั้น กายปสาทซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว ในขณะที่เห็น กายปสาทนั้นเกิดแล้วดับแล้วเรื่อยๆ เพราะเหตุว่ากรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิดขึ้น แม้ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบ ขณะนั้นกายปสาทก็มี

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ ก็แสดงว่าต้องมีการกระทบกัน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง แล้วก็ต้องมีจักขุวิญญาณเกิด

    ท่านอาจารย์ เพียงชั่วขณะก็ดับทั้งนามธรรม และรูปธรรม เร็วมาก ขณะที่กำลังเห็น มีรูปธาตุกระทบจักขุปสาทรูปเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดเห็นแล้วก็ดับ รูปก็อายุเพียง ๑๗ ขณะจิต ก็เร็วมาก เกือบจะกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรเหลือเลยที่เป็นเรา มีแต่ความจำ รูปก็ดับเร็ว นามก็ยิ่งดับเร็วกว่ารูปทั้งหมด ไม่ใช่ของใคร และก็ไม่เหลือด้วย ดับแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง เราพอจะพิจารณาได้บ้างไหมในชีวิตประจำวัน ในขณะที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ เราฟังอะไร เราฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ใครแสดง ผู้ที่ได้ตรัสรู้ความจริง ถ้าไม่ตรัสรู้ความจริงอย่างนี้ แสดงอย่างนี้ไม่ได้เลย แม้แต่การเกิดดับของจิต การเกิดดับของรูป จะแสดงได้อย่างไรถ้าไม่ประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่ไปนั่งคิดๆ เอา แล้วก็มาบอกคนอื่นว่าเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแม้สิ่งเหล่านี้มีจริงแน่นอนในชีวิตประจำวันคือขณะนี้กำลังมีด้วย แต่เป็นสิ่งที่รู้ยากมาก ไม่ใช่เล็กน้อยเลย ทั้งๆ ที่กำลังพูดเรื่องจิตเห็น และก็กำลังพูดเรื่องจักขุปสาท แล้วก็กำลังพูดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ยากที่จะรู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม เราก็เริ่มที่จะมีความเห็นตามความเป็นจริงว่าเราอยู่ในทะเลอวิชชาหรือไม่ อวิชโชฆะ ไม่รู้จริงๆ สิ่งนี้ก็ปรากฏมานานแสนนานทุกภพทุกชาติ แต่ก็ไม่รู้เลย ทางตาขณะนี้ก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เห็นมีเกิดขึ้นแล้วดับไป สิ่งที่ปรากฏทางตาดับด้วยก็ไม่รู้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่รู้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถ้าคิดถึงว่าเราไม่รู้ทั้งวันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุว่าเมื่อพูดถึงทะเลตามสมมติ ทุกคนจะคิดถึงน้ำ แต่นั่นเป็นสิ่งที่สมมติจากสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่ง กระทบสัมผัสเป็นอีกอย่างหนึ่ง แล้วเราก็จดจำว่าลักษณะนั้นเป็นน้ำ แล้วก็เป็นทะเลที่กว้างใหญ่ ถ้าคิดถึงความหมายของความกว้างไม่สิ้นสุด ขณะนี้ที่กำลังปรากฏแล้วไม่รู้ๆ ๆ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกับทะเลไหม เป็นทะเลที่ยากที่จะรู้ความจริงที่จะพ้นไปจากการจมอยู่ในทะเลไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นโดยมาก เราจะเข้าใจภาษาจากคำที่เราใช้ แล้วเราก็ยึดติดว่าต้องเป็นน้ำถึงจะเป็นทะเล แต่ความจริงถ้าหมายความถึงสิ่งที่กว้าง ใหญ่ ขณะนี้ความไม่รู้กับทะเลที่เราเห็น สิ่งไหนมากกว่ากัน ลองคิดดู ความไม่รู้นานแสนนานมาแล้ว ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว เพราะฉะนั้นธรรมแม้มีจริง แต่ต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา การไตร่ตรอง ให้เป็นความเข้าใจของตัวเอง นี่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าไปฟังอะไรก็เชื่อตาม แต่ความจริงไม่ได้รู้ ไม่ได้เข้าใจอรรถหรือว่าลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ

    การศึกษาธรรมก็เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่มีจริงตลอดชีวิตทุกภพชาติเป็นธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นฟังให้เข้าใจจนกว่าสามารถที่จะรู้จริง เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้ นี่คือจุดประสงค์ของการฟัง มิฉะนั้นการฟังก็เป็นโมฆะ ฟังไปก็เป็นชื่อเป็นเรื่อง และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ปรากฏไปโดยที่ว่าไม่รู้เลยว่าขณะนี้กำลังพูดถึงสภาพธรรมที่เห็น กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น และสภาพธรรมนั้นกำลังเห็นสิ่งนั้นแล้วก็ดับไป นี่คือการที่จะไม่ลืมว่าการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงซึ่งจะสะสมไปทุกภพชาติ เพราะว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่รู้อื่นเลย สิ่งที่กำลังปรากฏไม่เคยรู้ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเอง แต่ลองคิดว่าความยากจะยากสักแค่ไหนจากการไม่เคยฟังเลย ไม่เคยฟังมาก่อนเลย แล้วก็มีโอกาสได้ฟังบ้าง บางคนก็ท้อถอยเสียแล้ว ยากมาก ไม่เข้าใจ พูดอะไรไม่รู้เรื่อง แต่ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงจะไม่รู้ได้อย่างไร ค่อยๆ ฟังก็ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่เมื่อท้อถอยตั้งแต่เริ่มต้น และก็เป็นไปตามการสะสม ไปโน่นมานี่ ทำธุรกิจการงานผ่านไป แล้วก็กลับมาสนใจอีก ระหว่างนั้นความไม่รู้มีแค่ไหน กว่าจะแต่ละภพแต่ละชาติ หันไปเปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนกว่าจะมีความมั่นคงว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นประโยชน์สูงสุด ไม่มีประโยชน์อะไรเสมอเหมือน เพราะเหตุว่าสามารถที่จะมีความเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งทุกข์ทั้งหมดเกิดเพราะความไม่รู้ความจริงจึงมีความติดข้อง และก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลมากมาย เป็นเหตุให้กระทำกรรมต่างๆ ได้รับผลวิบากต่างๆ ออกจากวงเวียนของกิเลสวิบากกรรมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นแม้เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏส่วนหนึ่งที่จริง สิ่งที่จริงก็คือว่าแม้ปรากฏก็รู้ยาก ต้องยอมรับความจริง แต่ว่าไม่ใช่ท้อถอย ตราบใดที่จริง มีหนทางที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นจากการฟัง เพราะฉะนั้นกว่าการฟังจะมั่นคง เมื่อมั่นคงแล้วสติสัมปชัญญะเกิดหรือไม่ ต้องมีความรู้ความต่างของปัญญาระดับฟังเข้าใจ กับขณะที่สติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ลองคิดถึงความจริง ขณะนี้กำลังเห็น สติไม่ได้เกิดใช่ไหม หลงลืมสติ ก็เห็น และก็ขณะที่กำลังเห็นนี้ สติสัมปชัญญะเกิด จะให้สติไปรู้อยู่ที่ไหน ในเมื่อขณะนี้กำลังมีเห็น หลงลืมสติก็เห็น แล้วก็หลงลืมสติ แต่แทนที่จะหลงลืมสติ มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดในขณะที่กำลังเห็น แล้วสติปัฏฐานจะไปรู้อยู่ตรงไหน ลองคิด กำลังเห็น เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานกำลังรู้อยู่ที่ไหน รู้อยู่ที่เห็น ที่ปรากฏ สั้นมากจากหลงลืมเป็นสติปัฏฐาน ที่รู้เหมือนเดิมปกติ เพราะว่าลักษณะนั้นก็คือเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ความต่างก็คือสามารถที่จะเริ่มรู้ว่าหลงลืมสติต่างกับที่สติเกิด คือกำลังรู้ตรงเห็น กับขณะที่ผ่านไปโดยที่ไม่มีการระลึก ไม่มีการรู้ ตรงสภาพที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง ก็พอทราบขณะเห็นกับขณะได้ยินเป็นคนละขณะ

    ท่านอาจารย์ นี่คือพื้นฐานที่จะทำให้เราค่อยๆ เห็นถูกขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์จริงๆ ว่านี่ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูด แต่เป็นสิ่งที่รู้ได้

    ผู้ฟัง ความเป็นจริงแล้ว ในขั้นความเข้าใจก็คือส่วนหนึ่ง แต่ในขั้นที่จะให้แยกออกได้เลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้แยกออกได้เลย ประเด็นนี้ต้องฟังให้เข้าใจ ไม่ใช่ส่งเสริมความเป็นตัวตนเพราะความเป็นตัวตนนี่มีอยู่แล้ว แต่หนทางนี้เป็นหนทางที่จะดับความเป็นตัวตน ไม่ใช่ว่าเมื่อทุกคนเป็นตัวตนก็เป็นตัวตนไปเรื่อยๆ ทำทาน รักษาศีล อะไรต่ออะไรไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะมีความเห็นถูก เข้าใจถูก ซึ่งเป็นกุศลอย่างยิ่ง เพราะขณะนั้นสามารถที่จะรู้ความจริง ลองคิดดู สัจจะ ความจริงมี ไม่ใช่ไม่มี กำลังมีด้วย แต่ว่าค่อยๆ อบรมความเห็นถูก ไม่ใช่ไปแยกให้ออกจากกัน ตัวตนไปแยกหรือค่อยๆ เข้าใจว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาแค่นี้เป็นอย่างนี้ เป็นธาตุชนิดหนึ่งมีจริงๆ กำลังปรากฏ ไม่ต้องไปแยกอะไรเลย แต่เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ว่าขณะนี้ ยากใช่ไหม เพราะเหตุว่าถึงจะอย่างไรๆ ก็ต้องค่อยๆ เกิดทีละน้อย จะไปเกิดทีเดียวให้ละความยินดียินร้ายในสิ่งที่ปรากฏ เพราะปัญญาได้เจริญถึงขั้นที่แม้รู้แล้วยังต้องละด้วย ละความยินดียินร้าย

    ผู้ฟัง ถึงแม้เราหลับตา สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังสามารถปรากฏได้ แต่เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้นเองว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไร เราไม่รู้เพราะไม่ปรากฏ หรือ ปรากฏแล้วเราไม่รู้

    ผู้ฟัง ปรากฏแต่เราไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นเสียงไม่ได้ปรากฏเกิดขึ้นทีละขณะ รู้อารมณ์ทีละอย่าง แต่เร็วมากจนกระทั่งขณะนี้เหมือนกับทั้งเห็นด้วย รู้ด้วยว่าเป็นใคร และก็ยังได้ยินด้วย จะหลับตาหรือลืมตาเหมือนกัน ถ้าเป็นการเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ก็เป็นความเข้าใจขั้นคิดนึกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญามี ๓ ระดับ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ในพระพุทธศาสนาสมบูรณ์ทั้ง ๓ ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยปฏิเวธ รู้แจ้งแล้วค่อยๆ มาเรียนว่าที่รู้นั้นอะไร สิ่งนี้ผิด เป็นไปไม่ได้เลย จะรู้ได้อย่างไรสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เกิดดับ ไม่ใช่กำลังคิดนึกด้วย เป็นเพียงสิ่งที่กระทบ ปรากฏ แล้วก็หมดไป ถ้ายังมีความเยื่อใยเป็นเราที่จะรู้ ขณะนั้นก็ไม่สามารถที่จะเห็นตามความเป็นจริงได้ เพราะยินดี และยินร้ายในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า “ยินดียินร้าย” ก็ละเอียดขึ้นตามกำลังของปัญญา แต่จะเริ่มเข้าใจความหมายว่าเป็นหนทางที่ลึกซึ้งจึงสามารถที่จะดับอนุสัยกิเลสได้เด็ดขาดสิ้นเชิงเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย ไม่มีพืชเชื้อใดๆ ที่จะทำให้อกุศลประเภทที่ดับแล้วเกิดขึ้นได้ ซึ่งเคยเกิดมานานแสนนานมากมาย

    อ.วิชัย ขณะที่มีความจงใจที่จะรู้ กับการที่ฟังแล้วจิตน้อมที่จะไปรู้ เช่น กล่าวถึงเรื่องผัสสะ ก็มีจิตที่คิดไปน้อมไปที่จะรู้ เป็นตัวตนที่จะไปจงใจจะรู้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คุณวิชัยเริ่มเห็นความจงใจ ถูกต้องไหม ก่อนที่จะมีการระลึกได้ มีเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟัง มีลักษณะปรากฏให้สติรู้ได้ เพราะฉะนั้นแม้เราจะกล่าวเรื่องจิตเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะของเจตนา อะไรก็ตามแต่ ไม่ได้ปรากฏจนกว่าจะมีการระลึก ซึ่งขณะนั้นความเป็นตัวตนจะมากหรือจะน้อย กับการที่ได้อบรมจนสามารถที่จะประจักษ์เป็นลำดับ ต้องเป็นความต่างกันของสติปัฏฐานขั้นเริ่มต้นกับขั้นที่ค่อยๆ รู้จนกระทั่งลักษณะนั้นปรากฏกับปัญญาระดับที่แทงตลอด คือรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้ก็จะมีความเป็นเรารู้ ที่คนนั้นจะรู้ได้ว่า ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด แม้ลักษณะนั้นก็ไม่ปรากฏ แต่เมื่อปรากฏแล้วเป็นเรา มีความเป็นเรา ด้วยเหตุนี้ความหมายของเจริญสติปัฏฐานจึงหมายความว่าถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด สติเจริญไม่ได้เลย เจริญสติคือตัวสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็มีปัจจัยเกิดอีก แล้วก็ดับไปเรื่อยๆ จนกว่ามีความเข้าใจถูกต้องว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา จะต้องเป็นการรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม ด้วยเหตุนี้ความจงใจความตั้งใจ ความติดข้องซึ่งเคยมีแต่ชื่อ หรือแม้แต่การยึดด้วยความเป็นเรา ก็จะปรากฏตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง จนกว่าจะไม่ใช่เรา แม้สติก็ไม่ใช่เรา จนกว่าจะถึงขั้นที่ไม่ยินดียินร้ายจริงๆ ซึ่งไม่ยินดียินร้ายในขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิดเป็นความไม่ยินดียินร้ายโดยความนึกคิด แต่ว่าใจจริงๆ ยังไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นแม้ไม่ยินดียินร้ายที่เราคิดเหมือนกับว่าเราไม่ยินดียินร้ายแต่ก็เป็นเรา แล้วจริงๆ ไม่ยินดียินร้ายจริงหรือไม่ เพราะเหตุว่าเมื่อเห็นแล้วใครจะกั้นโลภะหรือโทสะซึ่งได้เกิดเพราะอนุสัยที่ได้สะสมมาอย่างรวดเร็ว

    ด้วยเหตุนี้ทั้งหมด พุทธศาสนา คำสอนของผู้ทรงตรัสรู้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเรื่องรู้โดยตลอดเพื่ออนุเคราะห์ให้สัตว์โลกมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกตามที่พระองค์ทรงตรัสรู้ สามารถที่จะรู้แจ้งได้ ดับกิเลสได้ แต่ต้องอบรม และเป็นผู้ที่ตรง อย่างขณะที่ว่าขณะนั้นเป็นความจงใจ จริงๆ ความจงใจก็ดับแล้ว แต่ว่าไม่รู้ ความไม่รู้จะตามลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่รู้หมดเลย มากมายหมดเลย ทุกอย่างที่พูด ไม่รู้ทั้งนั้น จนกว่าสติสัมปชัญญะจะค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เห็นความเป็นตัวตน ค่อยๆ เห็นความที่ยังคงสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม แม้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นความจงใจก็คือลักษณะหนึ่ง ดับด้วย ไม่ใช่เราด้วย กว่าจะถึงก็จะรู้ได้เลยว่าเป็นการอบรมปัญญา รบกับใคร ปัญญา โลภะ อวิชชา และอกุศลทั้งหลาย ไม่ได้ไปรบกับคนอื่นเลย นักรบ

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเจตสิก ๕๒ ประเภท ก็ยังไม่ปรากฏในชีวิตประจำวัน สติระลึกในสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่ามีสภาพธรรมอื่นที่ยังไม่ปรากฏเลย ปัญญาจะละคลายความสงสัยในสิ่งที่ไม่ปรากฏได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ปรากฏเพราะสติไม่ได้ระลึกที่ลักษณะนั้น อย่างไรก็ไม่ปรากฏเพราะสติไม่ได้ระลึก อย่างแข็งขณะนี้มี ก็เกิดแล้วก็ดับไป ไม่ทันจะรู้เนื้อรู้ตัว เป็นเรื่องเป็นราวเป็นความคิดนึกสืบต่อเพราะสติไม่ได้เกิดรู้ตรงแข็ง อยู่ที่แข็งชั่วขณะเหมือนกับกายวิญญาณที่กำลังรู้แข็ง ไม่ได้ต่างกัน กายวิญญาณรู้แข็งๆ จึงปรากฏ ต่อจากนั้นสติเกิดรู้ต่อตรงนั้นเป็นปกติธรรมดา แต่ขณะนั้นก็จะรู้ว่าขณะนั้นสติรู้ตรงแข็ง ซึ่งวันหนึ่งๆ มี ๖ ทาง แล้วแต่ว่าสติจะรู้ตรงไหน

    อ.วิชัย ความคิดในขั้น เช่นศึกษาเรื่องของผัสสะ ท่านก็แสดงลักษณะของผัสสะ ก็มีความคิดน้อมไปที่จะรู้ในลักษณะของผัสสะ แต่ก็สงสัยว่านี่ใช่หรือไม่ ศึกษาว่ามีสภาพรู้ มีธาตุรู้ก็ต้องมีผัสสะด้วย

    ท่านอาจารย์ แต่เป็นเราน้อมไป ซึ่งขณะนี้กำลังฟังสภาพธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ กำลังน้อมที่จะเข้าใจ ค่อยๆ ที่จะมั่นคงว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ โดยไม่มีเราต่างหากที่จะไปทำอะไรเลย ด้วยเหตุนี้จึงได้ทรงแสดงตามความเป็นจริง แม้แต่สังขารขันธ์ก็เป็นสังขารขันธ์ แต่ด้วยความเป็นเรามากมาย จึงต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ละ ก็มีผ้าสกปรกผืนดำใหญ่อยู่ผืนหนึ่งแล้วทำอย่างไรถึงจะค่อยๆ จางลงไป ครั้งเดียวที่ซักคงไม่ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567