พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 199


    ตอนที่ ๑๙๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    อ.อรรณพ ท่านกล่าวว่าอุทธัจจะย่อมลวงเสมือนการปรารภความเพียร

    ท่านอาจารย์ อุทธัจจะเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท หมดความสงสัยเลยใช่ไหม

    อ.อรรณพ หมายความว่าความฟุ้งซ่าน (อุทธัจจะ) ทำให้เหมือนกับว่าเราต้องไปเพียรทำอย่างนั้นอย่างนี้ ขณะนั้นเราก็เลยคิดว่าดี แต่จริงๆ แล้วขณะนั้นฟุ้งซ่าน มุ่งหวังคิดว่าตัวเองจะได้ศึกษามากๆ จะได้เจริญธรรมมากๆ อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หนทางปฏิบัติที่ผิดคงได้ฟังทางวิทยุแล้ว ที่มีผู้เขียนจดหมายมา แล้วก็เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ฟัง ก็จะเห็นชัดเลยว่าถูกลวงแค่ไหน

    อ.อรรณพ ธรรมเครื่องล่อลวงหรือวัญจกธรรมนี้เป็นเฉพาะกับปุถุชนเท่านั้นใช่หรือไม่ พระอริยบุคคลอย่างพระโสดาบันท่านก็ยังมีอกุศลที่เหลืออยู่ ท่านยังมีโลภะ โทสะ โมหะส่วนที่เหลืออยู่ แต่ท่านจะไม่ถูกอกุศลเหล่านี้ลวงว่าเป็นกุศลเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบันยังเห็นสิ่งที่ปรากฏว่างามหรือไม่

    อ.อรรณพ ยังเห็นว่างาม แต่การที่จะถูกลวงจะแตกต่างอย่างไรกับปุถุชน

    ท่านอาจารย์ เห็นว่างามนั่นถูกหรือผิด ลวงหรือเปล่า

    อ.อรรณพ แต่ลวงคนละระดับกับปุถุชนที่ไม่ได้สดับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนที่ไม่รู้ ก็จะถูกลวงหนาแน่นแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเทียบกันไม่ได้ ถูกลวงเพราะไม่รู้ใช่ไหม คนรู้ก็จะไม่ถูกลวง เพราะฉะนั้นตราบใดที่ไม่รู้ก็ยังถูกลวง ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ถ้าเป็นเรื่องละ ไม่ใช่เรื่องเอา เรื่องได้ เรื่องต้องการ จะละ ไม่ลวงแล้ว แต่จะต้องการนั้นคือลวง เช่น ศึกษาธรรมมากๆ จำชื่อได้มากมาย ลวงหรือไม่

    อ.วิชัย เช่นนี้คือ การศึกษาปริยัติไม่เพียงพอหรือไม่ ความเข้าใจไม่มี

    ท่านอาจารย์ การศึกษาปริยัติต้องเข้าใจว่าปริยัติคืออะไร ถ้าศึกษาปริยัติก็คือฟังให้เข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงๆ ถ้าเพียงแต่ชื่อจำได้มากๆ แต่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วก็คือลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ก็ลวงให้เป็นผู้ที่เข้าใจว่าได้ประโยชน์จากการศึกษา ซึ่งความจริงได้ชื่อ ได้ความเข้าใจแม้เพียงเข้าใจว่าเป็นการศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ จนกว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรม และเพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ยิ่งฟังไม่ว่าจะเป็นพระอภิธรรมหรือพระวินัย ก็ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตาว่าอกุศลไม่สามารถจะละได้ด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้ารู้ถ้าเข้าใจความละเอียดขึ้น สิ่งที่จะติดตามไปคือมีความเข้าใจว่าอะไรเป็นธรรม และธรรมนั้นเป็นอนัตตา เช่น พระสารีบุตร ก่อนที่ท่านจะได้ฟังพระธรรมชาติสุดท้ายจากท่านพระอัสสชิ ท่านก็ต้องฟังมามาก ชื่อมากมาย และชื่อเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ใช่การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะจริงๆ ขณะนี้สภาพธรรมก็ปรากฏ แต่มีความไม่รู้ และมีความติดข้อง เพราะฉะนั้นการที่จะค่อยๆ เข้าใจเพื่อที่จะละ ลองคิดถึงการสละคืน ไม่ต้องการอีกแล้วในสภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้น และดับไป มีใครคิดอย่างนี้ได้ แค่คิด แต่ปัญญาจริงๆ ไม่ใช่คิด แต่เห็นความจริงของสภาพธรรมตามที่ได้ฟังสะสมมาแต่ละชาติ พร้อมที่ว่าเมื่อท่านเกิดในชาตินั้น ได้ยินได้ฟังเท่านี้ ท่านสามารถที่จะสละคืนสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้สภาพธรรมเป็นจริง แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ฟังให้เข้าใจความจริง เพื่อว่าการอบรมก็จะได้อบรมให้ถูกต้อง และเวลาที่มีการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นการยืนยันว่าตรงตามที่ได้เข้าใจซึ่งเป็นความจริงในขั้นฟัง เพราะฉะนั้นขั้นฟังก็จะต้องพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังตามลำดับโดยที่ว่าไม่ข้ามไป เช่น คำว่า “ธรรม” เป็นอนัตตา แล้วจะไปมีตัวตนที่จะไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก็คือไม่ตรงต่อธรรม ไม่ตรงต่อความจริงที่ได้ยินได้ฟังว่าเมื่อธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สติไม่ใช่สมาธิ และสติสัมปชัญญะก็ต่างกับสติขั้นอื่น ถ้าเป็นสติปัฏฐานก็จะต้องมีฐานหรือที่ตั้งของสติซึ่งเป็นสภาวธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้รู้ซึ่งขณะนี้กำลังมี กำลังปรากฏ แต่ไม่รู้เพราะอะไร ก็จะต้องมีความเข้าใจว่าถ้ารู้ก็ไม่ใช่รู้อย่างอื่น แต่ไม่มีเครื่องกั้นจึงสามารถที่จะรู้ได้ถึงความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ชื่อต่างๆ เรื่องต่างๆ เพราะว่าท่านเป็นผู้เลิศในทางปัญญา ท่านพระอานนท์ท่านฟังธรรมบทหนึ่งยังแตกได้ถึงหกหมื่นบท แล้วท่านพระสารีบุตรจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้แม้ปัญญาที่เกิดจากการฟังในชาติก่อนๆ เพื่ออย่างเดียวคือเพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่เอาชื่อทั้งหมดมา แต่เวลาที่ท่านบรรลุธรรม คุณธรรมที่ท่านได้สะสมมาทั้งหมดก็ทำให้เป็นผู้เลิศแตกฉานยิ่งกว่าบุคคลอื่น

    อ.วิชัย มีความรู้สึกว่าการล่อลวงมีส่วนทั้งที่ละเอียดยิ่งขึ้น ถ้าปัญญาไม่ถึงระดับจะรู้สึกตัว ขณะนั้นก็ไม่มีทางจะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นโลภะติดข้องเพราะมีโมหะความไม่รู้ ก็ลวงให้อยู่ในสังสารวัฏ ไม่ให้ออกไปได้เลย ลวงจนกระทั่งให้อบรมจนถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญานัญญายตนะ เพราะว่ากุศลก็มีต่างระดับขั้น กุศลขั้นกามาวจรสั้นมากเป็นไปในทานชั่วขณะ ในศีลชั่วขณะ แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาทางหูเกิดสลับขั้น ไม่ใช่เป็นความสงบที่มั่นคงจริงๆ เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้อย่างนี้ และก็มีปัญญารู้ว่าจะอบรมเจริญความสงบที่เป็นขั้นกุศลได้อย่างไร ก็อบรมจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิเป็นกุศลตลอด สงบตลอดจนถึงอัปปนาสมาธิ นี่เป็นความละเอียดถ้าจะไม่ถูกลวงก็คือศึกษาให้เข้าใจจริงๆ โดยละเอียด และโดยเฉพาะในเรื่องของการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งจะต้องรู้ว่าไม่ใช่การที่ใครคนหนึ่งคนใดเพียงอ่าน และก็สามารถที่จะไปทำอะไรก็ตามด้วยการไม่เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรม ด้วยเหตุนี้ก็ลวงเป็นลำดับ

    ขอเพิ่มเติมอีกประการเพื่อไม่ให้สับสน คือสังขารุเปกขาญาณของสมถะไม่ใช่สังขารุเปกขาญาณของวิปัสสนา ต้องเข้าใจด้วย มิฉะนั้นพอได้ยินชื่อสังขารุเปกขาญาณ ก็คิดว่าขณะที่กำลังจะเป็นอัปปนาสมาธินั่นเป็นสังขารุเปกขาญาณของวิปัสสนา ซึ่งไม่ใช่ ต้องแยกกัน จะเห็นได้ว่าเพียงชื่อ ใช้ชื่อเดียวกัน แต่ว่าความเข้าใจอรรถของคำต้องต่างกันด้วย

    อ.กุลวิไล การที่อกุศลจะเกิดขึ้นเป็นไปเพราะโลภะ และขณะเดียวกันก็เป็นไปเพราะความมีตัวตนด้วย และความเห็นผิดด้วย แต่ทั้งหมดนี้มีได้ก็เนื่องจากว่ามีโมหะเป็นปัจจัยใช่ไหม ทั้งหมดก็คือมาจากโมหะ

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้จึงลวง ถ้าเป็นปัญญา ปัญญาจะลวงเราหรือไม่

    อ.กุลวิไล ปัญญาไม่ลวง การดับธรรมที่เป็นฝ่ายทุกข์หรืออกุศลธรรมทั้งหมดก็ต้องด้วยปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    อ.กุลวิไล ตราบใดที่เรายังไม่มีปัญญาก็เป็นไปกับอวิชชา และก็เป็นปัจจัยให้เราทำอกุศลกรรมในชีวิตประจำวันได้

    ท่านอาจารย์ ก็คงไม่ลืม ๓ คำ วิญญาณจริยา อัญญาณจริยา ญาณจริยา จริยาคือความประพฤติเป็นไป เกิดแล้วทุกภพทุกชาติ ผ่านมาแล้วไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ไม่มีใครไปยับยั้งความเป็นไปของจิตซึ่งหลังจากปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จะไม่ให้มีการเห็น การได้ยิน การนึกคิดก็เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดทั้งสิ้นในภพไหน ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ และที่สำคัญก็คือว่าไม่รู้ความจริงหลังจากที่มีความประพฤติเป็นไปในภพหนึ่งชาติหนึ่งก็คือไม่รู้ๆ นั่นคืออัญญาณจริยา ความเป็นไปของอวิชชา ซึ่งจะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม และเป็นอย่างนี้มานานเท่าไร จนกว่าจะมีการฟัง และเข้าใจขึ้น แต่ญาณจริยาจริงๆ ที่แสดงไว้ถึงวิปัสสนาญาณ และมรรคผล หมดไปแล้ว เมื่อสักครู่นี้ก็หมดไปอีกๆ ก็ทุกชาติก็เป็นอย่างนี้ แต่ว่าด้วยการสะสมความไม่รู้ หรือว่าด้วยการสะสมความรู้ความเข้าใจขึ้น

    อ.อรรณพ ขอท่านอาจารย์เพิ่มเติมคำอธิบายการล่อลวงของวิจิกิจฉาไว้ว่าวิจิกิจฉาย่อมลวงเสมือนว่าเป็นการพิจารณาทั้งสองทาง

    ท่านอาจารย์ ทั้งๆ ที่สงสัย ก็ไม่รู้ คิดไปคิดมา คิดมาคิดไปด้วยความไม่รู้ ก็เข้าใจว่านั่นคือหนทางที่จะทำให้รู้ได้ แต่หนทางจริงๆ คือการไตร่ตรอง พิจารณาด้วยความรอบคอบ ด้วยความเข้าใจถูก ไม่ใช่เพียงขั้นคิดเอา อย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง

    อ.อรรณพ ขณะที่วิจิกิจฉาเกิดท่านอาจารย์กล่าวว่าลวงเหมือนกับว่าต้องคิดไปคิดมาอยู่อย่างนั้น ก็คือยิ่งสะสมวิจิกิจฉาขึ้นไปอีก หมายความอย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่ใช่ปัญญาแล้วจะหายสงสัยได้ไหมก็สงสัยต่อไปอีกเรื่อยๆ

    อ.ธิดารัตน์ อย่างนี้แสดงว่าในขณะที่สงสัยหรือกำลังมีวิจิกิจฉาอยู่ก็ไม่รู้ว่ากำลังสงสัยจึงถูกลวงใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หนทางเดียว ทั้งหมดเป็นชื่อ ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม จำแต่ชื่อ และก็เรียกชื่อทั้งหมด อย่างที่คุณประทีปกล่าวว่าขณะที่เห็นประกอบด้วยเจตสิก ๗ ดวง บอกได้หมด แต่ว่ารู้ลักษณะของเจตสิกนั้นไหม ไม่ได้รู้แต่จำชื่อ ขณะนี้ ... กำลังรู้ความจริงของธรรมอะไร

    ผู้ฟัง รู้ความจริงว่าสิ่งที่ปรากฏในโลกนี้ประกอบด้วยรูปธรรม และนามธรรม นามธรรมเป็นสิ่งที่รู้ แต่รูปธรรมเป็นสิ่งที่ไม่รู้อะไร

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้หรือที่กำลังรู้ พูดถึงเดี๋ยวนี้ ขณะนี้รู้อะไร คือรู้เรื่องที่ได้ฟังด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้นในขณะใดก็ตามที่เป็นกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นอวิชชาไม่สามารถที่จะปกปิดความรู้ความเข้าใจขั้นฟังได้ แต่แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังว่าอกุศลมี ๓ ประเภทที่เป็นมูล เป็นรากเหง้าของอกุศลอื่นๆ ก็คือโลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ สำหรับโลภะเราก็พอที่จะรู้ เวลาที่กล่าวว่าขณะใดก็ตามซึ่งเป็นความติดข้องต้องการไม่ละ ขณะนั้นเป็นลักษณะของโลภะ เมื่อได้ฟังอย่างนี้เราก็พอจะรู้ลักษณะของโลภะได้ เวลาที่เกิดความยินดี เกิดความต้องการติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด โทสะก็เป็นสภาพที่ขุ่นเคืองประทุษร้าย เวลาที่โทสะเกิด เราก็ยังเห็นความเป็นอกุศลของโทสะได้ แต่ถ้าไม่มีโมหะคือความไม่รู้ โลภะ และโทสะก็เกิดไม่ได้ แต่เราเคยคิดถึงโมหะไหมว่าลักษณะของโมหะจริงๆ เมื่อเวลาที่อกุศลจิตเกิดจะปราศจากโมหะไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ เรารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือไม่ หรือว่าเราเพียงเริ่มฟังเริ่มเข้าใจ แต่โมหะก็ยังอยู่เต็ม ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมจะกล่าวว่าไม่มีโมหะไม่ได้เลย แต่ขณะใดที่กำลังฟังเข้าใจ ขณะนั้นก็มีความเข้าใจซึ่งโมหะไม่สามารถที่จะปิดกั้นกุศลเจตสิก และกุศลธรรม คือจิต และเจตสิกเกิดขึ้นเป็นกุศลในขณะนั้นชั่วขณะ แต่ไม่ได้หมายความว่าเรารู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมตามที่ได้ฟัง แต่การที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมได้ ขณะนั้นไม่ใช่โมหะแต่เป็นปัญญา

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่ากำลังฟังเรื่องของสภาพธรรม และก็มีสภาพธรรม แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องฟังจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ฟัง ก็ต้องเป็นความอดทน เพราะว่าถ้าจะกล่าวถึงปัญญา และก็ไม่รู้ปัญญารู้อะไร ไม่รู้ว่าปัญญาจะอบรมให้เจริญขึ้นได้อย่างไรก็หมดหนทาง แต่ถ้ารู้ว่าการฟังจะทำให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมเหมือนกับสิ่งที่ไม่คมเลย แต่ก็ต้องอาศัยการลับการฝึกจนกระทั่งสิ่งนั้นคม สามารถที่จะตัดหรือละอกุศลได้ฉันใด ขณะนี้เราก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นความเข้าใจขั้นฟัง ทั้งๆ ที่พูดถึงโมหะ แต่ขณะนี้รู้อะไร ถ้าไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลใดๆ ก็ตามโมหะคืออวิชชาก็ยังมีอยู่เต็มเป็นปัจจัยที่จะให้ดำรงภพชาติต่อไป เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีความไม่รู้ก็ยังคงเป็นความไม่รู้ แม้ในขณะที่เป็นกุศล และอกุศลก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน นี่ก็จะเห็นได้ว่าถ้าจะรู้ลักษณะของโมหะก็คือขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็ยังมีโมหะอยู่

    ผู้ฟัง ในขณะที่เสียงปรากฏแล้วก็กระทบ แต่ว่าไม่ได้คิดนึกต่อว่าเสียงนั้นเป็นเสียงอะไร ได้พิจารณาแล้วก็แยกไม่ออกระหว่างสภาพไม่รู้กับสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็ได้ยินเสียงเป็นประจำ และเสียงก็ดับไปแล้วด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นปกติ ขณะนั้นจะเป็นสภาพของธรรมอะไร รู้หรือไม่รู้ในเสียง รู้ที่นี้หมายความถึงปัญญาใช่ไหม เพราะฉะนั้นในขณะนั้นเป็นปัญญาหรือเป็นอวิชชาหรือเป็นโมหะ เสียงเหมือนเดิม ได้ยินเหมือนเดิม

    ผู้ฟัง ก็เป็นสภาพไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะว่าเสียงเหมือนเดิม แต่ว่าเวลาที่หลงลืมสติก็หมดไปโดยไม่มีการรู้ตรงเสียง เป็นปกติ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่าเสียงเกิดแล้วก็ดับเร็วมาก ทุกอย่างเกิดแล้วดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นความต่างก็จะต้องรวดเร็วด้วย อย่างขณะที่เสียงเกิดแล้วดับไป ไม่รู้ เวลานี้เป็นอย่างนี้ใช่ไหม เสียงเกิดแล้วดับแล้วก็ไม่รู้ เกิดแล้วดับก็ไม่รู้ แต่เมื่อสติเกิด ผู้นั้นรู้ ด้วยเหตุนี้ประการที่สำคัญก็คือว่าจะต้องรู้ความต่างของขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ มิฉะนั้นจะไม่รู้เลยว่าต่างกันอย่างไร

    ผู้ฟัง ขณะที่หลงลืมสติ เรายังพอฟังเสียง และรู้ว่า นี้คือเสียงคนพูดเรื่องราวต่างๆ แต่ไม่สามารถที่จะบอกได้ ไม่ได้เกิดความนึกคิดสืบต่อ

    ท่านอาจารย์ สิ่งนี้เป็นคำอธิบายที่ถูกต้อง แต่ต้องทวนว่าเวลาที่เสียงเกิดแล้วดับ แล้วไม่ได้คิด ถูกต้องหรือไม่

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ แล้วจึงไม่รู้ว่าเสียงอะไรถูกต้องหรือไม่

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอย่างนี้ แต่ว่าเวลาที่เสียงเกิดแล้วดับยังไม่ทันคิด ก็มีสติสัมปชัญญะเกิด นี่คือความต่างกันตรงนี้ที่จะรู้ตรงลักษณะของเสียงซึ่งสั้นมาก เร็วมาก แม้ขณะนี้เสียงปรากฏทางโสตทวารคือทางหูแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตมีเสียงที่เพิ่งดับไปเป็นอารมณ์สืบต่อ ใครรู้ ขณะที่เสียงเกิดแล้วดับ ไม่ได้ปรากฏอย่างช้าๆ ให้เราเห็นเลย แต่ความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นปัญญาความเข้าใจธรรมต้องละเอียดเหมือนเดิมคือเสียงปรากฏแล้วดับไป ทางมโนทวารเกิดต่อ ยังไม่ได้คิดแต่มีเสียงนั้นเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นสติสัมปชัญญะเกิดจึงรู้ตรงเสียงแม้สั้น และเล็กน้อยแทนการไม่รู้ และการหลงลืม นี่คือการที่จะอบรมเจริญปัญญาขั้นฟังจนกระทั่งเป็นสัจจญาณ เป็นความเข้าใจที่มั่นคงว่าปัญญาที่จะรู้ก็รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏโดยไม่ได้คิด และก็จะมีการรู้ตรงลักษณะนั้นหลายวาระก็ได้ แล้วแต่สติสัมปชัญญะเกิด ก็จะรู้ความต่างว่าขณะที่กำลังมีเสียงเป็นอารมณ์อยู่ คือสติกำลังรู้อยู่ที่เสียงขณะที่เสียงปรากฏ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการฟังต้องมีปัญญา ขาดปัญญาไม่ได้ที่จะเข้าใจถูก เมื่อมีปัญญาแล้วต้องมีวิริยะด้วย รู้ว่าสิ่งนี้ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้อย่างต้องการ อย่างรวดเร็วหรืออย่างมีความไม่รู้ และก็อบรมไป ไม่ใช่อย่างนั้น แล้วก็ต้องมีสัจจะ ความจริงใจ เมื่อมีความเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมที่มีจริง แล้วก็เกิดอย่างที่เรากล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ เสียงก็ดับไป แล้วก็ไม่รู้ และก็หลังจากนั้นก็เกิดคิด แต่ว่าตอนที่ก่อนคิดแล้วไม่รู้ขณะนั้นเป็นโมหะเพราะเหตุว่าต้องมีชวนจิตเกิดที่จะรู้เสียงนั้น ต่อทางมโนทวารวิถีด้วย เพราะฉะนั้นแทนที่จะไม่รู้ในเสียง ก็มีการรู้ตรงเสียงสั้นมาก เล็กน้อยมาก นี่คือวิริยะ ทั้งสัจจะ ทั้งอธิษฐานคือความมั่นคงที่จะเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงโดยไม่คลาดเคลื่อน หลังจากที่สติเกิด และดับไปแล้ว เราจะรู้ไหมว่าขณะต่อไปอะไรจะเกิด

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็เป็นไปได้ทั้งรู้ และไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ทุกอย่างมีชั่วขณะที่กำลังปรากฏ แต่ขณะต่อไปไม่สามารถจะรู้ได้ แต่เข้าใจได้ว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยสิ่งนั้นจะเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเรื่องกรรม และผลของกรรม เราก็จะย่อมาถึงขณะจิต ไม่นับเป็นเหตุการณ์ยาวๆ แต่ว่าในระหว่างเหตุการณ์ที่เราพูดถึงก็จะต้องมีจิตเกิดดับนับไม่ถ้วน และเราก็จะกล่าวว่าขณะไหนเป็นวิบาก และก็จะรู้ชัดว่าแม้วิบากคือผลของกรรมขณะนั้นก็มีกรรมเป็นปัจจัย กรรมที่ได้กระทำแล้วแม้ว่าดับไปนานแสนนาน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตพร้อมที่จะเป็นกัมมปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม จิตที่กระทำกรรมเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นที่ได้รับผลของกรรม หรือที่เป็นผลของกรรมก็ต้องเป็นจิตคือเป็นสภาพรู้ ถ้าจิตที่ทำกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รูปเกิดเท่านั้น ไม่มีปัจจัยให้จิต เจตสิกเกิด ก็ไม่มีผล ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีการที่จะเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดีซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม หรือไม่มีการที่จะได้เห็น ได้ยิน ได้ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดีในขณะที่เป็นผลของกุศลกรรม ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วก็คือสภาพธรรมที่ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริง วิบากจิตขณะไหน ประเภทใดจะเกิดไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ เมื่อไรก็ไม่รู้ แต่เมื่อเกิดก็รู้ว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    ผู้ฟัง จะมีสติเกิดรู้สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปัญญา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นจะมีปัญญาใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเป็นปัญญาไม่ใช่เรา ปัญญารู้ถูก เข้าใจถูก เห็นถูก

    ผู้ฟัง แต่ความไม่รู้ก็ยังอยู่กับเราตลอด

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน

    ผู้ฟัง คนละขณะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นอวิชชาจะมีในจิตตราบใดที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เป็นอวิชชานุสัย เพราะฉะนั้นจึงมีประเภทของอกุศลที่อยู่ในจิต นอนเนื่องอยู่ในจิต ทั้งที่เป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต เห็น ได้ยิน เป็นกุศล อกุศล ใดๆ ก็ตาม ยังมีสภาพที่ละเอียดของกุศล และอกุศลที่ได้สะสมอยู่ในจิต

    ผู้ฟัง ปัญญาระลึกรู้สภาพของอกุศล อย่างเช่นอวิชชา

    ท่านอาจารย์ เป็นอย่างไรใช่ไหม ที่ถาม ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรม จะรู้ไหมว่านามธรรมใดเป็นอวิชชา ขณะนี้ที่เห็น ไม่ได้มีแต่จิตที่เห็น ต้องมีผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก มนสิการเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิกด้วย นามธรรมทั้งหมดเกิดร่วมกัน จิตเป็นสภาพที่กำลังรู้แจ้งคือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้เป็นหน้าที่ของจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น และก็คุณสุกัญญาจะกล่าวถึงผัสสะ หรือเวทนา หรือสัญญา หรือว่าเจตนาอะไรไหม ในเมื่อยังไม่รู้ว่าลักษณะของนามธรรมที่ต่างกันกับรูปธรรมเป็นอย่างไร ต่อเมื่อรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ลักษณะของนามธรรมใดที่สติระลึก ไม่ใช่ที่เราต้องการรู้ แม้แต่ลักษณะของอวิชชา ไม่ใช่ว่าเราต้องการรู้ว่ามีลักษณะอย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    11 ม.ค. 2567