พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 196


    ตอนที่ ๑๙๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ แต่ละชาติจะเหมือนอย่างชาตินี้หรือไม่ ที่ว่าก็มีโมหะมากมายแต่ก็ยังมีโอกาสที่กุศลจิตจะเกิด และยังมีโอกาสที่กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาจะเกิด ซึ่งก็ต่างกับการเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเห็นแล้วก็เป็นอกุศล ซึ่งถ้าเอารูปร่างออก พูดถึงเฉพาะจิต ถ้าไม่เห็นรูปร่างที่เป็นคน เป็นนก เป็นปลา หรืออะไรก็ตามแต่ วันหนึ่งๆ เหมือนกันไหมสำหรับจิต โอกาสของการที่จะเห็น จะได้ยิน ต้องเป็นไปตามกรรม แล้วแต่ว่ากรรมใดจะทำให้เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แต่หลังจากนั้นเป็นอกุศลเหมือนกันหรือไม่เมื่อเอารูปร่างออก แต่ว่าถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉานก็อกุศลมาก ไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรม เพราะฉะนั้นแต่ละครั้งที่เข้าใจธรรมให้ทราบประโยชน์ที่จะสืบต่อไปถึงชาติต่อๆ ไป ที่สามารถจะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ตามความเป็นจริง เมื่อนั้นก็จะเหลือการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ แต่ถ้ายังไม่ถึงความเป็นพระอริยบุคคล สังสารวัฏก็เป็นไปนับไม่ถ้วนเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาแล้ว เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ว่าชาติหนึ่งๆ จะสะสมอะไร ถ้าจะสะสมอวิชชาก็เป็นไปตามปกติ ไม่ต้องอาศัยการฟัง ไม่ต้องอาศัยการไตร่ตรอง ไม่ต้องอาศัยการทำกุศลใดๆ เลย ก็เป็นขณะที่อวิชชาเกิดเพราะปัจจัย แต่การที่กุศลจะค่อยๆ เจริญขึ้น โดยเฉพาะความเห็นถูกความเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ก็ต้องรู้ว่าการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง อย่าไปติดแต่เพียงชื่อ และก็คิดว่าเข้าใจแล้ว แม้แต่คำว่าอกุศลจิต ก็รู้ แต่ขณะที่เป็นอกุศลจิต ไม่รู้ เวลาที่พูดถึงกุศลจิตก็รู้ แต่ขณะที่เป็นกุศลจิตก็เป็นเราได้ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนด้วยความเห็นผิด เพราะฉะนั้นก็เป็นความอดทน ศึกษา ฟัง เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏโดยชื่อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นภาษาบาลี แต่ไม่ใช่ให้เราไปจำชื่อ แต่ต้องรู้ว่าชื่อทั้งหมดแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่รู้ด้วยตัวเองว่ามีความเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟังแค่ไหนที่จะต้องสะสมต่อไปอีก

    ผู้ฟัง อาจารย์กล่าวว่า อย่าติดเพียงแค่ชื่อ แล้วก็ให้พิจารณา ไตร่ตรอง ในขณะที่สติยังไม่ได้เกิด ยังไม่ได้ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ การไตร่ตรองสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันก็นับว่ามีประโยชน์ ทีนี้เราจะไตร่ตรองอย่างไรที่จะให้เป็นความเห็นถูก

    ท่านอาจารย์ เราจะไตร่ตรองอย่างไร เป็นไปไม่ได้ใช่ไหม จะไตร่ตรองอย่างไร สิ่งนั้นยังไม่ได้เกิด แล้วก็คิดว่าจะทำอย่างนั้น ความเป็นจริงที่แม้ขณะที่พูดอย่างนี้ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะจิตคิด จึงได้พูด ศึกษาธรรมนี่ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ อย่าหวังผลหรือคิดว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา มิฉะนั้นเราก็ก้าวไปด้วยความเป็นเราโดยไม่รู้ธรรมที่หลอกลวงว่าขณะนั้นด้วยความเป็นเราจึงทำให้คิดว่าจะทำอย่างไร แต่ขณะที่กำลังฟังมีสภาพธรรมกำลังปรากฏ สิ่งนี้คือพูดบ่อยๆ เพื่อเตือนให้เข้าใจว่าธรรมไม่ได้อยู่ไกลเลย เป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันทุกขณะ เพราะฉะนั้นยิ่งฟังก็จะยิ่งเข้าใจในความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่เรา แต่ถ้ายังมีเราที่ลึกมาก และก็หวังที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้จะกั้นไม่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรที่จะเข้าใจว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ผู้ฟัง ความเจ็บเมื่อเกิดขึ้น แล้วเราก็ระลึกได้ สิ่งนี้ก็คือไม่ใช่สภาพธรรมแล้ว เจ็บขาหรือเจ็บท้อง สิ่งนี้ก็ยิ่งไกลต่อสภาพความเป็นปรมัตถธรรม จริงๆ แล้วลักษณะที่เป็นไม่ต้องคิดออกมาเป็นคำเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อดคิดไม่ได้นี่แน่นอน แต่ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงว่าจิตนี้เกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ ขณะที่กำลังมีลักษณะเจ็บ ปรากฏถูกต้องไหม ต้องมีเจ็บปรากฏ ปกตินี่คิดหรือไม่ว่าเราเจ็บ

    ผู้ฟัง จริงๆ เจ็บก่อน

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตามแต่ ธรรมนี่เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ไปทำให้เป็นอย่างอื่นเลย แต่ว่าเป็นเรื่องจริงที่ว่า เวลาใครๆ ก็ตามที่เกิดเจ็บขึ้นมา เกิดความคิดว่าเราเจ็บหรือเปล่า คิดหรือเปล่า เจ็บก็คือเจ็บ ไม่เห็นมีใครคิดว่าเรากำลังเจ็บใช่ไหม เพราะฉะนั้นไม่ใช่กฏเกณฑ์ที่ให้มาคิดว่าเรากำลังเจ็บหรือไม่ใช่เราที่กำลังเจ็บ แต่ลักษณะเจ็บไม่ใช่เรา ปัญญาที่จะอบรมคือรู้ในสภาพที่เจ็บ ลักษณะนั้นปรากฏเหมือนกับขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นเมื่อเจ็บเกิดขึ้นกำลังปรากฏ ลักษณะที่เจ็บเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ โลภะจะพยายามให้เป็นอย่างอื่น แต่ถ้าเป็นปัญญาที่มั่นคง ขณะที่ลักษณะที่เจ็บปรากฏ จะรู้ความต่างกันของขณะที่สติเกิดกับหลงลืมสติ ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป สำหรับผู้ที่เข้าใจธรรม เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ถ้าไปเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติ จะต้องคิดอย่างนี้ จะต้องทำอย่างนี้ นั่นคือผิด แต่ถ้ามีความเข้าใจว่าเจ็บมี กำลังปรากฏเป็นธรรมดา รู้ตรงลักษณะที่เจ็บด้วยสติสัมปชัญญะหรือรู้โดยสติสัมปชัญญะไม่เกิด นี่คือขั้นแรก การที่จะค่อยๆ เข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมก็คือรู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็เจ็บ เจ็บไปคิดไป แล้วแต่ว่าจะไปหายา หรือไปหาหมอ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ไม่ต่างจากเจ็บที่ปรากฏแล้ว แต่ขณะนั้นรู้ว่าสติกำลังรู้ตรงลักษณะนั้น นี่คือเริ่มเข้าใจธรรม แล้วก็เห็นธรรมที่กำลังปรากฏโดยการเริ่มค่อยๆ เข้าใจว่าลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ต้องไปเตรียมทำอย่างอื่น

    ผู้ฟัง แล้วในขณะที่ฝัน

    ท่านอาจารย์ เคยอ่านนิทานไหม ใครไม่เคยอ่านนิทานบ้าง ตอนนี้ยิ่งมีนิทานสนุก นิทานต่างชาติเป็นที่ตื่นเต้นโลดโผนมาก อาจจะฝันอย่างนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าทางที่จะรู้อารมณ์มี ๖ คือ ๑ ทางตา เห็น ไม่ใช่ฝัน เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้กำลังปรากฏ ขณะที่ได้ยินก็มีเสียงปรากฏจริงๆ เฉพาะเสียงที่ปรากฏ ขณะที่ได้กลิ่นก็เฉพาะกลิ่น ขณะที่ลิ้มรส รสก็ปรากฏเท่านั้น ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสหรือแม้เจ็บ ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมเท่านั้นที่กำลังปรากฏ และขณะที่ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งหมดนี้จิตคิดนึก สภาพที่คิดต่อจากสิ่งที่เห็น คิดต่อจากสิ่งที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นนิทานทั้งหลายเพลินมาก สนุกมาก ฉันใด เวลาฝัน เราเอาความคิดอย่างนั้นมาจากไหน เหมือนกับว่าเราไม่ได้เตรียมตัวที่จะฝันว่าคืนนี้จะฝันว่าอะไร เวลาที่เราอ่านนิทาน เรารู้ไหมว่าตอนต่อไปจะเป็นอะไร กำลังอ่าน ไม่รู้เลย แต่เมื่อรู้แล้วจำ ทุกอย่างนี่สัญญาจำ แม้ในขณะนี้"เห็น"ปรากฏนิดเดียว สัญญาจำตลอด เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ นั่นคือสัญญากำลังจำ เพราะฉะนั้นเวลาที่หลับแล้วก็ยังคงมีเรื่องราวของความคิดนึกในสิ่งที่ได้สะสมมาแล้ว ขณะนั้นก็คือฝัน ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจแต่ก็มีการสะสมความคิดนึกที่จะฝันหรือที่จะคิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ฝันเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คิด

    ผู้ฟัง เป็นสภาพคิด

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ทางรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ไม่เกินนี้เลย เห็นหรือไม่ขณะฝัน ได้ยินหรือไม่ ได้กลิ่นหรือไม่ ลิ้มรสหรือไม่ รู้สิ่งที่กระทบหรือไม่ ขณะนั้นคิดนึก เหมือนเรากำลังดูหนังนิทานตื่นเต้น ใช่ไหม เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏให้คิด แต่ฝันจากความจำทั้งหมดที่สะสมมาปรุงแต่งให้เป็นความคิดนึก

    ผู้ฟัง แต่ไม่ได้เป็นข้อชี้บ่งใช่ไหมว่าถ้าเราฝันดีหรือไม่ดี จะทำให้เราเป็นคนดีหรือไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่มีสติก็รู้ อกุศลมากตามไปแม้ในฝัน ยิ่งเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วสภาพธรรมต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามการสะสม ยับยั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นโอกาสหรือขณะที่ประเสริฐก็คือขณะที่สามารถเข้าใจถูก รู้ถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ สั้นนิดเดียว ก็เหมือนอย่างอื่นที่เกิดแล้วดับแล้วหมด แต่ว่าเกิดแล้วดับแล้วโดยไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น กับสิ่งที่แม้เกิดแล้วดับ แต่ปัญญาก็อาศัยรู้ลักษณะนั้นจึงมีความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นว่าสภาพธรรมจริงๆ ก็คืออย่างนี้ ฝันดับไหม

    ผู้ฟัง แต่ว่าลักษณะของความฝันไม่ได้เป็นชั่วขณะเหมือนที่เราตื่น

    ท่านอาจารย์ ชั่วขณะหรือเปล่า นั่งอยู่ที่นี่ ชั่วขณะหรือเปล่า ตั้งแต่เดินเข้ามา ไปข้างหลัง รับประทานอะไรบ้าง หรือพูดคุยกับใครบ้าง ไม่ใช่แต่ละขณะเหมือนฝันหรือ

    ผู้ฟัง สติสัมปชัญญะสามารถที่จะเกิดระลึกได้แม้ในความฝันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่เรียกว่าฝันขณะที่คิด และก็มีเหตุปัจจัยที่สติจะเกิดระลึกรู้เป็นไปได้หรือไม่ เหมือนขณะนี้ กำลังคิดเหมือนกัน แต่ที่ไม่ใช้คำว่าฝัน เพราะเหตุว่ายังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาสลับ ยังมีเสียงที่ปรากฏทางหู ก็เลยไม่ได้บอกว่าฝัน แต่ขณะที่ฝันไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้เลย แต่คิดตลอด เพราะฉะนั้นถ้ากำลังคิดแล้วสติสัมปชัญญะเกิดระลึกได้ รู้ได้ แต่ขณะนั้นจะไม่ใช่ฝันอีกต่อไป เพราะว่าตื่นแล้วจึงรู้ ธรรมดา ชีวิตปกติธรรมดา ให้เข้าใจความจริงว่าเป็นธรรม การจะศึกษาธรรม ถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏก็ไม่ชื่อว่าศึกษาธรรม เป็นการศึกษาจำเรื่องราวทั้งหมดโดยไม่รู้จุดประสงค์ว่าแท้ที่จริงที่ทรงแสดงก็เพื่อให้เข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ไม่เคยรู้ ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริง ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็เหมือนอย่างนี้ แต่ละวันๆ ก็ผ่านไป ทั้งสุข ทั้งทุกข์ เหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น ตกใจ ดีใจ แต่ก็ไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากขณะที่กำลังปรากฏ แต่ปรากฏกับอวิชชา หรือว่าปรากฏกับปัญญา

    อ.นิภัทร อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ ๔ ตัวนี้เกิดกับอกุศลจิตทั้งหมด เดี๋ยวนี้เราก็มีโมหะ อวิชฺชนิวุตา โปสา (อวิชชานิวุตาโปสา) สัตว์ถูกอวิชชาหุ้มห่อ โมหะเป็นองค์แรกในปฏิจสมุปบาท และยังเป็นเหตุให้เกิดสังขารด้วย แม้แต่ปุญญาภิสังขาร ที่ไม่เป็นไปที่จะให้พ้นจากวัฏฏะ จนกระทั่งถึงอเนญชาภิสังขาร ปุญญาภิสังขารหมายถึงกามาวจรกุศล และรูปาวจรกุศลทั้งหมด ส่วนอเนญชาภิสังขารหมายถึงอรูปาวจรกุศล ถึงอย่างนั้นก็ยังอยู่ในกรงเล็บของอวิชชา ถ้าไม่รู้ข้อปฏิบัติก็เป็นมิจฉาปฏิปทา เป็นข้อปฏิบัติยังผิดอยู่ แม้อาฬารดาบส และอุทกดาบสท่านก็ยังไม่พ้นจากวัฏฏะ น่ากลัวแค่ไหน มนุสฺสา ภยตชุชิตา มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามก็ยังเอ้อระเหยอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องมาฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรมไม่ใช่ศึกษาเพียงเฉพาะแต่ในตำราหรือตามตัวหนังสือเท่านั้น ไม่พอ รู้อภิธรรมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉทจบว่าได้หมดไม่พอ ที่เรารู้ที่เราเข้าใจมีหรือไม่ ธรรมไม่ใช่เรา มีเหตุมีปัจจัยให้เกิดเขาก็เกิด

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าจะถูกหรือไม่ คือถ้าเผื่อเราไม่มีโมหะ ไม่มีอวิชชา ก็ไม่น่าจะมีโทสะ ไม่น่าจะมีอย่างอื่น หรือว่าเท่าๆ กัน โลภะ โทสะ โมหะ

    ท่านอาจารย์ เราไม่สามารถที่จะมีปัญญาอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้ว ก็จะต้องทราบว่าเรากำลังฟังหรือศึกษาเรื่องอะไร สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ทั้งหมดมี ๒๒ อย่าง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้ว่าธรรมอะไรบ้าง นามธรรม และรูปธรรมใดเป็นอินทรีย์ คือเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เฉพาะในขณะนั้น ในกิจการงานนั้นๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้นเราก็ค่อยๆ ศึกษา และค่อยๆ พิจารณา แต่ถ้าเราจะเอาความคิดของเรามาคิดจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะว่าอวิชชาหรือโมหเจตสิกเป็นสภาพไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้น ไม่มีความเห็นผิด ไม่มีความเห็นถูกใดๆ เลย เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่รู้ ไม่รู้คือไม่รู้ แต่ว่าเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นตราบใดที่เรายังไม่ได้ศึกษา เราก็จะคิดเรื่องธรรมตามความคิดของเรา บางคนก็อาจจะถึงกับเขียนเป็นเรื่องราวเหมือนว่าเป็นธรรม แต่ถ้าตรวจสอบกับพระไตรปิฎกแล้วไม่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสำหรับสภาพธรรมทั้งนามธรรม และรูปธรรมที่ทรงแสดงว่าเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่มี ๒๒ ประเภท ในอินทรีย์ ๒๒ มีอวิชชาหรือไม่ ถ้าเราคิดเอง เราอาจจะคิดว่าน่าจะเป็นใหญ่ แต่ในลักษณะสภาพที่ไม่รู้ คนโง่ๆ โง่มากเลยจะเป็นใหญ่อย่างไรได้ ก็เพราะเหตุว่าไม่รู้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าการที่เราศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แล้วอย่าเอาความคิดของเรามาใส่ แต่ว่าต้องสอบทานจริงๆ ว่าในอินทรีย์ ๒๒ สภาพธรรมที่เป็นรูปที่เป็นอินทรีย์มีอะไรบ้าง และสภาพธรรมที่เป็นนามอินทรีย์มีอะไร ไม่เกินกว่านั้น แต่ถ้าถึงความละเอียดก็ยังแสดงว่าในอินทริยปัจจัยเป็นเพียง ๒๐ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ทรงแสดงเป็นผู้ที่ตรัสรู้ความละเอียดของสภาพธรรมโดยประการทั้งปวง แต่ถ้าเราคิดเอง เราก็อาจจะเข้าใจผิดไปได้

    ผู้ฟัง โลภะ โทสะ โมหะ มีความรู้สึกว่าโมหะเป็นตัวที่มีน้ำหนักมาก มีอิทธิพลมากกับตัวเอง

    ท่านอาจารย์ โดยเป็นเหตุ แต่ไม่ใช่โดยเป็นอินทรีย์

    ผู้ฟัง ผมอาจจะใช้คำผิด

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า “เหตุ” ได้เพราะเป็นมูลเป็นเหตุ แต่ไม่เป็นอินทรีย์ เพราะไม่ใช่สภาพที่เข้าใจอะไรได้ เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง ที่บอกว่าจิตบริสุทธิ์ เป็นจิตที่ประภัสสร แล้วที่ไม่ดีเพราะพ่อแม่ไม่ดี สังคมไม่ดี ครูไม่ดี ว่าแต่ใครต่อใคร ผมไม่ทราบว่าถูกหรือไม่ ตัวเขาเองเกิดมาเพราะกุศลกรรมของเขาที่เขาทำมาก็อาจจะมีส่วนทำให้เขาเป็นอย่างนั้น สภาพสังคมก็อาจจะมีส่วนนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกเป็นพื้นฐาน เราก็จะพบข้อความอะไรก็คิดเอง เข้าใจเอง ซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่ามีตนเป็นที่พึ่ง ก็มีธรรมเป็นที่พึ่งจนกระทั่งถึงที่พึ่งสูงสุดก็คือสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็เพื่อความเข้าใจที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงต่อไป

    ผู้ฟัง ที่ผมประทับใจตอนที่มาศึกษาที่นี่ว่า มาคนเดียวไปคนเดียว แล้วก็ตนเป็นที่พึ่งของตนจริงๆ พ่อแม่ ครู ท่านก็ช่วยสอนเราจริง แต่บางทีสันดานนั้นไปไม่ได้จริงๆ จิตที่สะสมมาจริงๆ แล้วนี่ทำให้เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นคำสอนหรือคำเทศนาที่บอกว่าไปว่าพ่อว่าแม่ไม่ดูแลลูกอะไรต่างๆ ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วย ไม่ทราบว่านี่เห็นผิดหรือเห็นถูก

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจหลายอย่างก็ทำให้มีความคิดต่างๆ กันไป

    ผู้ฟัง สิ่งที่สำคัญคือการเจริญวิปัสสนา การเจริญสติปัฏฐาน การสงสัยแบบนี้กับความสงสัยในเชิงวิจิกิจฉาของโมหมูลจิต นั้นเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็อยากรู้ชื่อ เรื่องอยากรู้ชื่อนี่มีมาก แล้วชื่อก็มีชื่อในภาษาบาลี แล้วก็ชื่อในภาษาไทย ชื่อในภาษาบาลีซึ่งภาษาบาลีก็เป็นภาษามคธนั่นเอง แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเป็นภาษามคธเป็นภาษาที่รักษาพระธรรม ดำรงพระธรรมก็ใช้คำว่า “พระบาลี” หมายความถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ๒ ภาษา เพราะฉะนั้นคำธรรมดาสามัญที่ชาวมคธใช้ในเรื่องการรับประทานอาหาร ในเรื่องการเห็นการได้ยินก็เป็นภาษาหนึ่ง แต่ภาษาไทยเรา เมื่อได้ยินคำที่แปลกจากที่เราเคยได้ยิน เราก็สงสัยคำนั้น ติดใจในคำนั้น แต่ว่าจริงๆ แล้วคำใดก็ตามที่สามารถที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เรายังต้องกังวลถึงชื่อไหม อย่างวันนี้หวังอะไรหรือไม่ กลับไปบ้านหวังอะไรหรือไม่ ประเดี๋ยวหวังอะไรหรือไม่ ภาษาบาลี “หวัง” ก็คืออาสา และก็คือลักษณะของโลภะนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เราก็จะเห็นลักษณะต่างๆ อาการต่างๆ ของโลภะได้ว่านั่นก็คือโลภะ นี่ก็คือโลภะ คือรู้จักตัวจริงๆ ของโลภะดีกว่าไปคิดว่าคำนี้คืออะไร คำนี้จะเป็นอาสา หรือคำนี้จะเป็นความหมายของนันทะ โลภะ หรืออะไรอีกหลายคำ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเลิกคิดเรื่องชื่อมากมายที่จะไปรู้ชื่อได้ไหม เพราะเหตุว่าชื่อไม่ได้ทำให้เราเข้าใจธรรม แต่ว่าทำให้เกิดความสงสัยว่าชื่อนั้นหมายความถึงอะไร เช่นขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ จะเรียกชื่อภาษาอะไร แต่ว่าสภาพธรรมก็ยังคงเป็นสภาพธรรมอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะคิดถึงคำว่า “อดทน” ภาษาไทย “ขันติ” ภาษาบาลี แต่ไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วจะรู้จักความหมายของคำว่าขันติได้ไหมว่าอดทนเป็นอดทนในลักษณะอย่างไรบ้างในเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไรบ้าง ในภาษาไทย และในภาษาบาลี ขันติขณะไหนบ้าง โอกาสไหนบ้าง นี่ก็คือเราไปคิดเรื่องราวของธรรม แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของธรรม

    พระธรรมที่ทรงแสดงๆ ให้เห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะที่เป็นธรรมเพื่อที่จะได้ไม่ใช่เรา และไม่มีเรา แต่เป็นธรรมทั้งหมดที่กำลังปรากฏ เราก็จะไม่สนใจใช่ไหมว่าเป็นชื่ออะไร ภาษาอะไรทั้งนั้น แต่ว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าเรามัวแต่คิดเรื่องนี้ หรือว่าสนใจเรื่องชื่อ ค้นคว้าเรื่องชื่อโดยที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือว่าไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าชื่อที่ปรากฏที่พูด เรารู้ลักษณะจริงๆ หรือไม่ หรือว่ารู้ลักษณะจริงๆ หรือยัง แม้แต่คำธรรมดาอย่างจิต ทุกคนก็คล่อง เดี๋ยวนี้ทุกคนก็มีจิต ตอบได้ว่าจิตขณะนี้เป็นธาตุรู้ สภาพรู้กำลังทำกิจอะไร เห็นก็เป็นจิต ได้ยินก็เป็นจิต ตอบได้ แต่ว่ารู้ลักษณะของจิตหรือยัง เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจริงๆ ก็ให้ผู้ที่ศึกษาเข้าใจถูกตามความเป็นจริง หรือรู้จักตัวเองแม้ในเรื่องของการฟังพระธรรมว่าเมื่อฟังแล้วอาศัยภาษาทำให้มีความเข้าใจถูก ในเหตุ ในผล ในสิ่งที่มีจริง แต่ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะนั้น ซึ่งพระธรรมทรงแสดงตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ให้เพียงเราจำชื่อ เพราะว่าจำชื่อนี่ต้องลืมแน่ แต่ไม่ลืมที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละอย่าง เช่นเวลาที่อกุศลจิตเกิด ใครจะรู้ลักษณะของโมหะ กำลังเห็นใครจะรู้ลักษณะของผัสสะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 154
    24 ม.ค. 2567