แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 939


    ครั้งที่ ๙๓๙

    สาระสำคัญ

    ผู้มีปกติอบรมเจริญสติ สภาพรู้เป็นสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ โลกของปรมัตถธรรมและสมมติบัญญัติ


    นี่คือการกระทำของคนที่เพียงเห็นคนที่มีรูปไม่น่าดู และคิดว่าเป็นอวมงคล เพราะฉะนั้น ก็ถึงกับขว้างปาด้วยก้อนดิน และกลบด้วยขยะ คิดว่าตายแล้ว ก็พากันหลีกไป

    แต่นายมาตังคะนั้น ก็กลับได้สติ ลุกขึ้นแล้ว ก็ได้ถามพวกมนุษย์ทั้งหลายว่า

    คุณพ่อและคุณแม่ทั้งหลาย ชื่อว่าประตู เป็นของสาธารณะแก่คนทั้งปวง มิใช่หรือ หรือว่าเขาสร้างไว้เฉพาะพวกพราหมณ์เท่านั้น

    ประตูย่อมเป็นของสาธารณะ ใครจะเข้า ใครจะออก ใครจะยืนอยู่ที่กลางประตูก็ได้ ไม่ใช่ว่าประตูนั้นเขาสร้างไว้สำหรับพวกพราหมณ์พวกเดียว

    คนทั้งหลายนั้นก็ตอบว่า ชื่อว่าประตู เขาหาได้สร้างไว้เฉพาะพวกพราหมณ์เท่านั้นไม่ แต่เป็นของสาธารณะแก่ชนทั้งปวง

    นายมาตังคะก็คิดว่า การที่เขาถูกขว้างปาให้ถึงความพินาศย่อยยับนั้น ก็เพราะนางทิฏฐมังคลิกา เพราะฉะนั้น ก็ได้ไปตามถนนต่างๆ แล้วก็ได้บอกแก่มนุษย์ทั้งหลาย แล้วก็ได้นอนที่ประตูเรือนของพราหมณ์ซึ่งเป็นบิดาของนางทิฏฐมังคลิกา ด้วยคิดว่า ถ้าไม่ได้นางทิฏฐมังคลิกาเป็นภรรยาก็จะไม่ลุกขึ้น

    . เรื่องของการทำกรรมที่ผ่านมาแล้วในอดีตต่างๆ เราได้สร้างกรรมมานานับประการ บางครั้งเป็นกรรมที่ไม่ดี กรรมชั่วร้ายทั้งหลาย เมื่อเรานึกขึ้นมาก็เกิดสำนึกขึ้นมาว่า เราได้ทำผิดไปแล้ว เกิดความรู้สึกชิงชังตัวเอง เกิดความขยะแขยง เกิดความเสียใจ อย่างนี้จะเป็นกุศลหรืออกุศล

    สุ. เป็นอกุศล เสียใจมีประโยชน์ไหม

    . ความรู้สึกที่เกิดขยะแขยงในตัวเอง เมื่อนึกถึงกรรมชั่ว จะเป็นภาวะจิตที่สูงขึ้น เกิดเป็นความบริสุทธิ์ขึ้นมา อย่างนั้นจะได้ไหม

    สุ. นี่เป็นประโยชน์ของการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะรู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล มิฉะนั้นแล้วอาจจะถืออกุศลเป็นกุศล ขณะใดที่จิตเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เป็นปฏิฆะ ขณะนั้นเป็นอกุศล ขณะใดที่เป็นกุศล คือ ขณะที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นอกุศลเป็นอกุศล และมีกุศลเจตนา มีศรัทธาที่จะไม่ทำอกุศลอย่างนั้นอีก

    แต่อย่าลืม หลายท่านคงจะตั้งใจอย่างนี้มาแล้วมาก คือ จะไม่ทำอย่างนั้นอีก จะไม่พูดอย่างนี้อีก หรือว่าจะไม่คิดอย่างนี้อีก แต่จะเป็นไปได้ไหม ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะพูดอย่างนั้น ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่ดีงาม ก็พูดแล้วทันที ทั้งๆ ที่เคยตั้งใจไว้ว่า จะไม่ทำอย่างนี้อีก หรือการกระทำทางกายก็เหมือนกัน เห็นแล้วว่าเป็นโทษ เห็นแล้วว่าไม่ดี ตั้งใจแล้วที่จะไม่กระทำ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัย ก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นอีก

    เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียว คือ เป็นผู้มีสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ

    . ถ้าในขณะจิตที่ตั้งใจจะไม่กระทำชั่ว

    สุ. ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ขณะที่เสียใจ เป็นทุกข์ ไม่แช่มชื่น ไม่พอใจ ขณะนั้นเป็นอกุศล

    . ในวาระที่นึกถึงกรรมในอดีต ก็สลับกันอยู่อย่างนี้

    สุ. แน่นอน

    . บางครั้งก็คิดว่า จะไม่ทำอีกแล้ว แต่ก็ทำอีก ก็มาเสียใจอีก

    สุ. เพราะเหตุว่าอกุศลและกุศลเป็นสภาพธรรมที่ต่างก็เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถที่จะรู้ชัดได้ว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล นอกจากนึกเทียบเคียงโดยการศึกษา ซึ่งไม่ใช่โดยการประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลจริงๆ หรืออกุศลจริงๆ นอกจากสติจะเกิดและระลึกศึกษา จนกว่าจะรู้ชัดว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล จึงจะละอกุศลได้ละเอียดยิ่งขึ้น

    ถ้านั่งเฉยๆ ไม่รู้ใช่ไหมว่า เป็นกุศลหรืออกุศล มีใครรู้บ้าง เห็นเฉยๆ ขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะว่าเมื่อเห็นแล้วดับไป จะต้องมีกุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อ ไม่ได้หมายความว่า โดยขณะจิต แต่ว่าเมื่อเห็นแล้วย่อมเป็นกุศลหรืออกุศล ต่อจากจิตที่เห็น เพราะฉะนั้น กำลังนั่งอยู่เฉยๆ เห็น จะรู้ไหมว่า จิตเป็นกุศลหรือ เป็นอกุศล แต่เป็นแล้ว ถ้าสติไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศลอย่างเบาบาง อย่างอ่อน อย่างละเอียดจนไม่รู้ว่า เมื่อเห็นแล้วก็เป็นอกุศล ถ้ากุศลจิตหรือสติไม่เกิด เพราะฉะนั้น ใครจะละอกุศลที่บางเบาที่เกิดต่อจากการเห็น พระโสดาบันก็ยังละไม่ได้

    พระโสดาบันละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ก่อนที่ปัญญาจะสมบูรณ์ถึงการรู้แจ้ง อริยสัจธรรม สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และปัญญาพิจารณาจนกว่าจะประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ สภาพที่ปรากฏต้องไม่ใช่ตัวตน ถ้ายังปรากฏเป็นคนกำลังนั่งเก้าอี้ ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่ใช่ตัวตน แต่ที่จะเป็นพระโสดาบันจริงๆ สติจะต้องระลึกรู้จริงๆ ในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา และในการนึกคิดถึงรูปร่างสัณฐาน และรู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นคนกำลังนั่งเก้าอี้ นั่นไม่ใช่ในขณะที่กำลังเห็น แต่นั่นเป็นขณะที่กำลังคิดซึ่งต่อกับจิตที่เห็น และก่อนนั้น มีอกุศลเกิดแล้ว

    ถ้าศึกษาวิถีจิตโดยละเอียดจะทราบว่า ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ปกติแล้วก็เป็นโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตมีหลายขั้น แต่ว่าผู้ใดที่ไม่รู้ชัดในลักษณะของ โลภมูลจิต ย่อมไม่สามารถที่จะละโลภมูลจิตได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องอบรมเจริญจนกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ที่ถามว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ถ้าจะให้รู้ชัด ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติเท่านั้น จึงสามารถที่จะรู้ชัดได้ตามความเป็นจริง เพราะเวลานี้ ขณะที่นั่งเฉยๆ และเห็น หลังจากที่เห็นแล้ว ก็มีอกุศลจิตเกิด ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสติสมบูรณ์ จึงเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ เพราะเมื่อเห็นแล้วไม่มีอกุศลจิตเกิดต่อ เป็นกิริยาจิต เพราะดับอกุศลธรรมและกุศลธรรมทั้งหมดโดยสิ้นเชิง

    การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นปัญญาที่สามารถรู้ชัดและดับกิเลสได้ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน แล้วแต่ว่าจะเป็นการดับกิเลสขั้นใด แต่ว่าผู้ใดที่อบรมเจริญปัญญา จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อย ทีละประเภทสองประเภทไป จนกว่าจะเพิ่มความรู้ทั่วขึ้น ละเอียดขึ้น จึงจะสามารถประจักษ์ในความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมทั้งหลายได้ แต่ตามปกติ ตามความเป็นจริงอย่างนี้

    เมื่อพระอรหันต์เห็นอย่างนี้ อกุศลจิตไม่เกิด เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ด้วยว่า บุคคลที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เมื่อเห็นแล้วมีอกุศลจิตขั้นใดเกิด แม้ว่าไม่ใช่โลภะที่ปรากฏเป็นอาการลักษณะของความหวังหรือความพอใจอย่างแรง แต่ก็ให้ทราบว่า มีอกุศลจิตซึ่งเป็นอกุศลธรรมเกิดคั่นแล้วในระหว่างที่เห็นกับในขณะที่ได้ยิน ถ้าขณะนั้นไม่ใช่กุศล

    . ขณะที่เราเห็นสัตว์เดรัจฉานที่พิการหรือกำลังจะตาย เราน้อมระลึกว่าเราจะต้องเป็นอย่างนี้

    สุ. ดีไหม รู้อย่างนั้น

    . ดี แต่เป็นอกุศลจิต หรือกุศลจิต

    สุ. ถ้ารู้อย่างนั้น และเกิดเมตตา เกิดกรุณา ขณะนั้นเป็นกุศลจิต ถ้าไม่คิดอย่างนั้น เกิดรังเกียจ เกิดดูหมิ่น ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต

    . มหาภูตรูป ๔ เป็นรูปหยาบใช่ไหม ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม

    สุ. มหาภูตรูป ๓ เป็นรูปหยาบ เว้นอาโปเป็นรูปละเอียด

    . ผมเคยฟังท่านผู้รู้บางท่านบอกว่า มหาภูตรูป ๔ เป็นรูปหยาบ

    สุ. อย่าติดที่พยัญชนะ เพราะบางครั้งก็กล่าวรวมไป เพราะมหาภูตรูป ทั้ง ๔ ไม่แยกกัน แต่ถ้าโดยละเอียด โดยเจาะจงแล้ว มหาภูตรูป ๓ เป็นรูปหยาบ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ส่วนธาตุน้ำเป็นสุขุมรูป เป็นรูปละเอียด

    . คำว่า ปริจเฉทรูป รูปที่คั่นระหว่างช่องอากาศ อาจารย์ช่วยอธิบายความหมาย

    สุ. ปริจเฉทรูป เป็นอากาศรูปที่คั่นระหว่างกลาป คือ กลุ่มของรูปที่เล็กที่สุด ละเอียดที่สุด ซึ่งปริจเฉทรูปมีคั่นอยู่ทั่วทุกแห่ง ที่กาย ที่ตัว ผมเส้นหนึ่งตัดออกได้ไหม ได้ ถ้าไม่มีอากาศธาตุคั่นอยู่ในระหว่างกลุ่มของรูปที่เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ก็ย่อมไม่สามารถแยกหรือตัดขาดออกได้ แต่เพราะมีอากาศธาตุ ซึ่งเป็นปริจเฉทรูปคั่นอยู่ทุกกลาป จึงสามารถแยกหรือตัดขาดออกได้

    กลาป คือ กลุ่มของรูปที่เล็กที่สุดที่แยกออกไม่ได้อีกแล้ว

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่ารูปนั้นจะปรากฏเสมือนว่าเป็นรูปใหญ่ หรือว่าทึบอย่างเช่นภูเขา แต่ตามความเป็นจริงแล้ว มีอากาศธาตุ เป็นปริจเฉทรูปคั่นอยู่ทุกๆ กลาป

    . ดังนั้นแม้ภูเขาก็ยังสามารถแยกออกได้

    สุ. แน่นอน เพราะมีปริจเฉทรูป คือ อากาศธาตุคั่นอยู่ อากาศธาตุเป็นสุขุมรูป หรือว่ารูปหยาบ

    . เป็นสุขุมรูป

    ถ. กระผมเพิ่งจะเริ่มศึกษาธรรม ยิ่งศึกษารู้สึกว่าจะละเอียดมากยิ่งขึ้นทุกที อาจารย์บอกว่า เมื่อเรามีสติระลึกรู้ถึงรูปนั้น ยังมีปัญญาที่ทำให้น้อมระลึกรู้ไปมากยิ่งขึ้น อยากจะให้อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญญานั้นจะละเอียดขึ้นไปอย่างไร

    ส. ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาขั้นฟังให้รู้ว่า ในขณะที่กำลังเห็นเป็นสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรม คือ สภาพที่มีจริงๆ นั้นคืออะไร หรือว่ากำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย กำลังคิดนึก สภาพธรรมที่มีจริงนี้ปรากฏได้ ๖ ทาง คือ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น เวลานี้มีแต่สภาพธรรมเท่านั้นที่กำลังเป็นของจริงที่ปรากฏ เคยคิดว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ล้วนเป็น สภาพธรรมแต่ละอย่างทั้งหมดที่กำลังปรากฏ และสภาพธรรมนั้นมี ๒ ประเภท คือ สภาพธรรมที่สามารถรู้ กับธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย

    สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏให้รู้ สิ่งที่ปรากฏให้รู้นี้ เรียกว่า อารมณ์ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ คือ สภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏ คือ รู้อารมณ์ที่กำลังมี ที่กำลังปรากฏ

    อารมณ์ที่กล่าวนี้ ไม่ใช่อารมณ์โกรธ อารมณ์แค้น อารมณ์อะไรต่างๆ แต่หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏให้รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ เพราะฉะนั้น ที่ยึดถือว่าเป็นเราเห็นสิ่งต่างๆ หรือว่าเราได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ก่อนอื่นจะต้องมีปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่มีจริง ที่เคยเป็นเรา เคยเป็นเรื่องต่างๆ นั้น สภาพที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ที่เป็นธรรมนั้น คือ สภาพรู้ กับสิ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้

    สำหรับสภาพรู้ พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่า นามธรรม ซึ่งหมายความว่า เป็นสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ เพราะฉะนั้น ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งจะปรากฏ ก็เพราะมีสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์นั้น

    กำลังนั่ง ได้ยินเสียง เคยเป็นเราได้ยิน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นเรา เป็นสภาพที่น้อมไปสู่เสียง เสียงจึงปรากฏ บางคนไม่ได้ยิน คนอื่นได้ยิน แต่เขาไม่ได้ยิน เพราะว่านามธรรมหรือจิตของเขาไม่ได้น้อมไปสู่เสียง เพราะฉะนั้น เสียงจึงไม่ปรากฏกับคนนั้น

    สภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏกับใครก็ตามในขณะนี้ ไม่ว่าจะกำลังเห็นทางตา ก็หมายความว่า มีนามธรรมซึ่งเป็นสภาพที่น้อมไปรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา จึงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เวลาได้ยินเสียง ก็มีสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรมที่น้อมไปรู้เสียง เสียงจึงปรากฏ เวลากลิ่นปรากฏ ก็เพราะมีนามธรรมซึ่งเป็นสภาพที่รู้กลิ่น น้อมไปสู่กลิ่นนั้น กลิ่นนั้นจึงปรากฏ

    อ่อน แข็งที่กาย มีอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าขณะใดที่แข็งปรากฏ ขณะนั้นหมายความว่า มีสภาพที่น้อมไปรู้แข็งที่ปรากฏ แข็งนั้นจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพนามธรรม เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ คือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง และธรรมอีกอย่างหนึ่งนั้น ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ปัญญาก็เพิ่มขึ้น หลังจากที่ได้ยินได้ฟังว่า ที่เคยยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น แท้ที่จริงเป็นเพียงสภาพธรรมลักษณะต่างๆ ซึ่งเป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง แล้วแต่ว่าจะเป็นนามธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าเป็นนามธรรมที่รู้เสียงที่ปรากฏทางหู เป็นนามธรรมที่รู้กลิ่นที่ปรากฏที่จมูก หรือว่าเป็นนามธรรมที่รู้รสที่ปรากฏที่ลิ้น เป็นนามธรรมที่รู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ที่ปรากฏที่กาย หรือว่าเป็นนามธรรมที่คิดถึงคำ คิดถึงเรื่อง ซึ่งเป็นนามธรรมแต่ละประเภท

    นามธรรมที่คิดถึงคำ คิดถึงเรื่อง จะพูดอย่างนี้ได้ไหมว่า ธรรมชาติที่คิดนึกก็อันหนึ่ง เรื่องราวที่คิดนึกก็อีกอันหนึ่ง

    สุ. ต้องทราบว่า ในขณะที่คิด อะไรเป็นของจริง อะไรเป็นของไม่จริง เพราะธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมหมายความถึง สภาพธรรมที่มีจริง ที่มีลักษณะปรากฏ ในขณะที่คิด สภาพที่คิดมีจริง เพราะกำลังคิดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือคำหนึ่งคำใด หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น สภาพที่คิดในขณะนั้นมีจริง เป็นสภาพที่กำลังรู้คำ รู้เรื่อง หรือนึกถึงสิ่งที่คิด แต่ส่วนเรื่อง ส่วนคำที่กำลังเป็นอารมณ์ของจิตที่คิด ขณะนั้นไม่จริง เพราะไม่มีลักษณะปรากฏ คิดถึงเย็น เย็นปรากฏจริงๆ หรือเปล่า

    . ไม่ปรากฏ

    สุ. ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จิตที่คิดจริง แต่ว่าเรื่องที่คิดไม่จริง

    . เรื่องราวที่เราคิดไปต่างๆ นานา เป็นเรื่องที่ไม่จริง แต่ธรรมชาติที่คิดเป็นสภาพที่มีจริง

    สุ. เป็นสภาพรู้

    . เมื่อเราแยกสภาวะทางจิต จะมีสิ่งที่เป็นสภาพที่คิดนึก เรื่องราวที่คิด เราจะเรียกว่า เป็นรูปทางใจได้ไหม

    สุ. ไม่ได้ เป็นบัญญัติ เป็นสมมติบัญญัติ ไม่ใช่ของจริง

    . เป็นนามธรรมล้วนๆ

    สุ. ขณะที่คิดเป็นนามธรรม

    . จะประกอบด้วยสุขุมรูปบ้างไหม

    สุ. ถ้าขณะนั้นมีสุขุมรูปเป็นอารมณ์ ก็เป็นการรู้สุขุมรูปทางใจ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีการคิดถึงเรื่องสุขุมรูป ซึ่งเป็นเพียงเรื่อง หรือเป็นความคิด หรือว่ากำลังมีสุขุมรูปเป็นอารมณ์

    . แม้แต่การคิดถึงสุขุมรูปนี้ ก็มีสุขุมรูปด้วย

    สุ. มิได้ การคิด เป็นการคิดถึงเรื่อง เป็นการคิดถึงสมมติบัญญัติ

    . การคิดอาจจะประกอบไปด้วยสุขุมรูป และบางครั้งก็ไม่ประกอบ

    สุ. โดยมากแล้ว ขณะที่จิตคิด เป็นการคิดถึงคำ คิดถึงเรื่อง คิดถึงสมมติบัญญัติ

    . การคิดถึงสมมติบัญญัติทั้งหลาย เป็นธาตุคิด

    สุ. มีใครรู้สุขุมรูปเดี๋ยวนี้บ้าง

    . สุขุมรูปเป็นรูปที่รู้ยาก และไม่สามารถที่จะรู้ได้

    สุ. เพราะฉะนั้น จะคิดถึง และมีสุขุมรูปเป็นอารมณ์ได้ไหม หรือว่าเพียงคิดถึงเรื่องอากาศธาตุ แต่ยังไม่ได้สัมผัสกับลักษณะของอากาศธาตุทางใจว่า ไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

    . เป็นแต่เพียงการคิดนึก เพราะฉะนั้น สามารถพูดได้ว่า ไม่มีรูปทางใจ

    สุ. ปกติทั่วไปเป็นการคิดถึงคำ หรือคิดถึงเรื่อง นี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทราบว่า ทุกคนอยู่ในโลก ๒ โลก คือ ปรมัตถ์โลกหนึ่ง และสมมติอีกโลกหนึ่ง ถ้ายังไม่รู้ว่าขณะใดอยู่ในโลกไหน ขณะนั้นยังไม่สามารถที่จะรู้ความจริงซึ่งเป็นปรมัตถ์ได้ เพราะปะปนรวมกันหมด ทั้งโลกของปรมัตถธรรมและสมมติบัญญัติ

    ต้องรู้จริงๆ โดยอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงจะรู้ว่า ขณะไหนเป็นโลกของ สมมติบัญญัติ และขณะไหนเป็นโลกของปรมัตถธรรม เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้ปัญญาจึงจะเจริญขึ้น เพราะสามารถรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และขณะใดที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ขณะนั้นอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติ ที่มีความรู้สึกเหมือนจริงว่า เป็นโลกแท้ๆ ที่เคยอยู่มานาน แต่ความจริงเป็นเพียงเรื่องของความคิดแต่ละขณะที่คิดขึ้นและดับหมดไป หลังจากที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    แต่ละขณะนี้ โลกไหนชัด สมมติบัญญัติ หรือว่าปรมัตถ์ ถ้ายังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานเพียงพอ ก็ยังไม่ได้เห็นตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วโลกที่เคยเป็นสมมติบัญญัตินั้น มีเพียงในขณะที่จิตคิดเท่านั้นเอง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๙๓๑ – ๙๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564