แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 933


    ครั้งที่ ๙๓๓

    สาระสำคัญ

    มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน  สติต่างกับขณะที่หลงลืมสติ


    สุ. เมื่อวานนี้กับวันนี้ ความรู้สึกเหมือนกันไหม ก็คนละเรื่อง นามธรรมเมื่อวานนี้ รู้เหตุการณ์ต่างๆ และดับไป ผ่านไปมากมายแต่ละขณะจนกระทั่งถึงขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเรื่องข้างหน้าที่จะมาถึงก็ไม่มีใครทราบว่า ชีวิตของใครจะเป็นสุข เป็นทุกข์มากน้อยอย่างไร แต่สติปัฏฐานสามารถระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นเพียงสภาพธรรม ๒ อย่างเท่านั้น คือ นามธรรมและรูปธรรม

    นามธรรมเป็นสภาพรู้ เมื่อนามธรรมเกิดขึ้นแล้วที่จะไม่รู้อะไร ไม่มี ขณะที่เห็นเป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าหลับตาลง หรือว่าจิตกำลังคิดเรื่องอื่น ในขณะนั้นเป็นสภาพรู้ แต่ว่าเป็นสภาพรู้เรื่อง รู้สิ่งอื่น ไม่ใช่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    ในขณะที่กำลังได้ยิน ขณะนี้ สติปัฏฐานเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ ที่กำลังรู้เสียง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น แต่เมื่อไรปัญญาจะรู้ชัดจริงๆ ในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ที่กำลังรู้ทางตา หรือว่ารู้ทางหู รู้ทางจมูก รู้ทางลิ้น รู้ทางกาย รู้ทางใจ

    ฟังไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดขึ้นและศึกษา ค่อยๆ น้อมไปที่จะรู้จริงๆ ว่า ลักษณะของสภาพรู้ ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่แข็ง เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นสภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นรู้ทางตาก็เป็นสภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพได้ยินเสียงทางหูก็เป็นสภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบกาย อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้เท่านั้นเอง ไม่ว่าจะกำลังคิดนึกเรื่องอะไรก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้ที่กำลังรู้คำ รู้เรื่องที่กำลังคิด หลายกัปทั้งๆ ที่ได้ยินได้ฟังอยู่เรื่อยๆ กว่าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริง และเพิ่มความรู้ขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะหมดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเคยได้ยินได้ฟังมาเป็นกัปๆ ว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่ากำลังได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู

    ใน ๖ ทวารนี้ ไม่ว่าจะเกิดเป็นเทพ และมีโอกาสได้ยินได้ฟังเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่ศาลาสุธรรมาในชั้นดาวดึงส์ หรือว่าในชั้นยามา ในชั้นดุสิต ใน ชั้นนิมมานรดี ในชั้นปรนิมมิตวสวัตตี และคงจะหายากสำหรับผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งถึงฌานจิตไปเกิดในพรหมโลก ซึ่งในพรหมโลกก็มีการสนทนา มีการแสดงธรรมเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม แล้วแต่ว่าท่านจะสะสมความสนใจมากน้อยเท่าไรในการที่จะฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมต่อๆ ไปอีก ไม่ว่าจะในภพไหนชาติไหน ถ้าไม่ทิ้งความสนใจ การที่จะน้อมไปพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมพร้อมสติที่เกิดระลึกขึ้น ก็ย่อมมีบ่อยกว่าผู้ที่ขาดความสนใจ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นปกติธรรมดาในชีวิตจริงๆ

    เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เรื่องพิเศษที่จะต้องไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด โดยมีกำหนดว่า จะเข้าเท่านั้น จะออกเท่านี้ หรืออะไรอย่างนั้น แต่จะต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจ สัญญาที่จำสิ่งที่ได้ฟังอย่างมั่นคงจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ แม้ในขณะที่กำลังฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัส การคิดนึก หรือว่าเรื่องราวชีวิตของผู้หนึ่งผู้ใดก็ตาม หรือแม้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น สติก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้

    . การเจริญสติปัฏฐานจุดประสงค์เพื่อให้รู้แจ้งชัดว่า นามหรือรูป แต่ขณะที่มีสติเกิดขึ้น เช่น พิจารณาเสียง ขณะที่สังเกตใส่ใจในลักษณะของเสียง ขณะนั้นไม่ได้รู้ว่า เสียงนั้นเป็นรูป ขณะนั้นชื่อว่า รู้นามรูปหรือเปล่า

    สุ. ขณะนั้นสติระลึกรู้ลักษณะของอะไร

    . ของเสียง

    สุ. อย่างไร

    . กำลังสังเกตลักษณะของเสียงว่า เสียงมีลักษณะอย่างนี้ๆ แต่ไม่ได้ ใส่ใจว่า เสียงนั้นคือรูป ใส่ใจสังเกตแต่ว่าเสียง ไม่ได้รู้ว่าเสียงนั้นเป็นรูป ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานไหม

    สุ. ถ้าเสียงไม่ใช่รูป เสียงเป็นอะไรในขณะนั้น

    . ขณะนั้นใส่ใจแต่เพียงเสียง

    สุ. เวลานี้ทุกท่านกำลังได้ยินเสียง ถูกไหม

    . ใช่

    สุ. เวลาสติระลึกที่เสียง

    . ใส่ใจที่เสียง และสังเกตรู้ว่า เสียงไม่ใช่ได้ยิน เสียงไม่ใช่เห็น ก็รู้อยู่ ใส่ใจอยู่ แต่ไม่ได้มนสิการว่า เสียงเป็นรูป

    สุ. ไม่ต้องนึกว่าเสียงเป็นรูป ไม่ต้องนึกเป็นคำว่า เสียงเป็นรูป แต่ให้รู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่สภาพธรรมชนิดอื่น เสียงไม่ใช่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนี้กำลังนั่งตามปกติ สติระลึกที่เสียง เสียงเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา

    เวลาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และใช้คำบัญญัติเพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ต้องใช้คำยาว ใช่ไหม เช่น คำว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ ขณะนี้ถ้าลักษณะของนามธรรมปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน คือ เป็นอาการรู้ หรือเป็นธาตุรู้ ในขณะนั้นไม่ต้องคิดคำว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เพราะลักษณะของธาตุรู้ อาการรู้กำลังปรากฏกับสติและปัญญา เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังรู้ชัดในลักษณะที่เป็นธาตุรู้ อาการรู้ ในขณะนั้นไม่ทันที่จะต้องนึกคำว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ แต่เวลาที่จะอธิบาย เพื่อที่จะให้บุคคลอื่นเข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรมจำเป็นที่จะต้องใช้คำ ซึ่งเป็นคำที่ยาว คือ นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ แต่ในขณะที่นามธรรมกำลังปรากฏโดยการเป็นธาตุรู้จริงๆ ในขณะนั้นไม่ใช่การนึกคำเหล่านี้เลย ฉันใด กว่านามธรรมจะปรากฏโดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ก็จะต้องมีการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละลักษณะโดยไม่ใช่การคิดว่า เสียงเป็นรูปธรรม แต่ในขณะนั้นเป็นการรู้ลักษณะของเสียงซึ่งเป็นสภาพที่ปรากฏว่า ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางจมูก คือ ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่อ่อนหรือแข็งที่ปรากฏทางกาย แต่ในขณะนี้สติจะสามารถรู้ไหมว่า สติกำลังระลึกที่เสียง หรือกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังรู้เสียง หรือกำลังรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังคิดถึงคำ หรือความหมายของเสียงที่ได้ยิน

    . เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผู้ปฏิบัติที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะที่รู้เสียง ขณะนั้นไม่ต้องคิดว่า เสียงนั้นเป็นรูป

    อีกอย่างหนึ่งที่ผมปฏิบัติมา เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานยากที่สุดอย่างหนึ่ง คือ ให้ปกติ ๑๐๐ % นี่ยากมาก บางครั้งผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็คิดว่า ตัวเองเจริญ สติปัฏฐานเป็นปกติอยู่แล้ว ชีวิตประจำวันสติเกิดขึ้นเมื่อไร ก็พิจารณาเมื่อนั้นได้ เข้าใจอย่างนี้ แต่อย่างนี้ก็ยังไม่ใช่ปกติ ๑๐๐% คือ ผู้ที่จะปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อสติเกิดขึ้น ขณะนั้นมักจะไม่ปกติแล้ว ต้องการจะไปพิจารณาเสียง ต้องการจะไปพิจารณาเห็น ต้องการจะไปพิจารณาเย็นร้อน อ่อนแข็ง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ขณะนั้นปฏิบัติไม่ถูก ถ้าต้องการจะพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดขณะนั้นไม่เป็นสติปัฏฐาน แต่เป็นอกุศลแล้ว ทั้งๆ ที่สติสัมปชัญญะมีอยู่ แต่ขณะนั้นผมใช้คำว่า พิจารณาไม่ถูก หรือปฏิบัติไม่ถูก ถ้าในขณะนั้นมีความต้องการ

    สติปัฏฐานจริงๆ คือ ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิดขึ้น ขณะนั้นอารมณ์ย่อมมีปรากฏ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกไปทางไหน ถ้าระลึกไปที่ไหน ก็รู้ที่นั่น ขณะนั้นจึงจะเป็นปกติ ๑๐๐ % และชื่อว่า เป็นการเจริญวิปัสสนาจริงๆ

    สุ. เป็นการถูกต้อง ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ความเป็นตัวตนนี้มากมายสักแค่ไหน ในชีวิตธรรมดาที่เป็นปกตินี้เอง พอสติเกิดระลึกนิดหนึ่ง ดีใจ อยากจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอื่นๆ ด้วย ขณะนั้นมีความรู้สึกเป็นตัวตนแทรกขึ้น เพราะความรู้สึกว่าเป็นตัวตนนั้นมีอยู่เป็นประจำ ยังไม่สามารถที่จะต้านทาน หรือว่าลดน้อยลงโดยที่สติเพิ่มขึ้นก่อน

    เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงสติเกิดขึ้นบ้างนิดๆ หน่อยๆ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็จะได้ทราบว่า การที่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ เพียงแค่นี้ก่อน ไปช้าๆ ตามความเป็นจริง เพราะอะไร เพราะไปเร็วไม่ได้ ไม่มีใครที่จะไปเร็ว แต่ว่าใจนี่อยากจะเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะของโลภะ เป็นลักษณะของความต้องการ ซึ่งจะต้องรู้ตามความเป็นจริง

    ที่ท่านผู้ฟังกล่าวเมื่อครู่นี้ เป็นปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็น สติปัฏฐาน และขณะใดเป็นความต้องการซึ่งเกิดติดตามขณะที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ให้เห็นลักษณะของโลภะหรือความต้องการว่า ติดตามอย่างรวดเร็วและง่ายดาย เมื่อใดที่ยังไม่รู้ชัดในลักษณะของโลภะตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อนั้นก็ยังไม่สามารถดับโลภะที่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    บางท่านอาจจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินี้ก็ได้ ไม่ใช่ว่าไม่ได้ แต่ต้องด้วยปัญญาจริงๆ ไม่ใช่สติปัฏฐานก็ไม่เกิด หรือถึงเกิดบ้างก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงตามลำดับขั้น และไปคิด ไปเข้าใจว่า กำลังจะเป็น พระอริยเจ้า กำลังจะเป็นพระอริยบุคคล นั่นผิด แต่จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ในขณะที่กำลังเห็นทางตา สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ว่าต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเปล่า ตรงตามความเป็นจริง เพราะว่าบางท่านสติระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏที่กาย เช่น เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง เป็นการเริ่มต้นที่สติจะเริ่มอบรมเจริญขึ้น แต่ว่าสตินั้นยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้ ไม่ต้องกล่าวถึงในขณะอื่นซึ่งผ่านไปแล้ว จะด้วยสติหรือด้วยหลงลืมสติก็ตามแต่ ไม่ต้องคิดถึงอนาคตซึ่งยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เครื่องพิสูจน์ธรรม คือ ในขณะนี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ที่กำลังนั่งฟังเรื่องของสติปัฏฐาน แต่เป็นนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

    ทางตาที่กำลังเห็นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยสิ้นเชิง เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสีสันวัณณะต่างๆ ทำให้เกิดการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏต่างๆ แต่สภาพรู้หรือธาตุรู้ ต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยสิ้นเชิง เพราะว่าเป็นเพียงสภาพรู้ เป็นเพียงธาตุรู้เท่านั้น

    นั่งเฉยๆ ไม่คิดอะไรเลย รู้ไหม ขณะนั้นรู้หรือไม่รู้ ที่จะรู้ว่าสภาพรู้ ธาตุรู้ มีลักษณะอย่างไร จะต้องรู้ตามความเป็นจริง หมดความสงสัยในสภาพรู้ ในธาตุรู้ ลักษณะต่างๆ โดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการถามถึงลักษณะของธาตุรู้ขณะไหน จะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทวารไหน อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องรู้ชัดในลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ว่า ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้นั้น เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ขณะนี้นั่งเฉยๆ รู้อะไรหรือเปล่า รู้หรือไม่รู้ ต้องมีธาตุรู้ หรืออาการรู้ แม้ว่าจะไม่ปรากฏว่าขณะนั้นรู้อะไร แต่มีอยู่ มีอยู่พอที่จะเกิดอาการรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ แม้จะมีการเห็น มีการได้ยิน แต่ไม่ค่อยจะสนใจที่จะรู้ว่าเห็นอะไร ได้ยินอะไรก็บ่อย ใช่ไหม ไม่ได้ตั้งใจฟัง หรือว่าบางทีได้ยินแต่เสียง ไม่ได้สนใจ แต่เวลาสนใจก็ต้องถามว่า เมื่อครู่นี้พูดว่าอะไร เพราะว่าได้ยินเพียงแต่เสียง และไม่ได้สนใจในเสียงที่ได้ยินว่า เป็นเรื่องอะไร เพราะฉะนั้น ก็ไม่เกิดการนึกคิดตามเสียงที่ได้ยินว่าเป็นเรื่องอะไร แต่ว่ามีธาตุรู้ มีสภาพรู้ มีอาการรู้ ซึ่งกำลังรู้เรื่องอื่น แต่ว่าเรื่องที่รู้ไม่ปรากฏถ้าขาดความสนใจ เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติจึงต่างกัน เพราะขณะที่หลงลืมสติ แม้จะเห็นก็ยังไม่รู้ว่าอะไร แม้ว่าได้ยิน แต่ไม่สนใจก็ยังไม่รู้ว่าอะไร เหมือนกับไม่รู้ ขณะที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ บางท่านอาจจะเป็นอย่างนั้น คือ เหมือนไม่รู้อะไร เผลอๆ ไปก็มี แต่ว่าอย่างนั้น แม้ในขณะนั้นก็เป็นสภาพรู้ มีธาตุรู้ที่กำลังรู้อยู่ จึงเผลอ ลักษณะที่เผลอก็เป็นลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับขณะที่ไม่เผลอ

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้โดยถ่องแท้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สติปัฏฐานจะต้องเกิดขึ้น ระลึกศึกษาเพื่อความรู้ชัดในลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งจะปรากฏให้ประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า เมื่อเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ อาการรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาโดยสิ้นเชิง ในขณะที่กำลังเห็น

    ไม่ใช่เสียงที่ปรากฏทางหูโดยสิ้นเชิง เป็นแต่เพียงธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เสียงเป็นเสียง สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ เป็นสภาพที่ไม่ใช่เสียงโดยสิ้นเชิง ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏ

    สภาพรู้ ธาตุรู้มีจริง แต่ต้องน้อมไปพร้อมสติที่ระลึก ที่จะศึกษา ที่จะเข้าใจ ที่จะรู้ทีละเล็กทีละน้อยในลักษณะของธาตุรู้ อาการรู้ สภาพรู้ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และความต้องการที่จะรู้ ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่สามารถที่จะรู้ในลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ ซึ่งเป็นความต้องการ ที่ต่างกับขณะที่เป็นสภาพธรรมอื่น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๙๓๑ – ๙๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564