แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 959


    ครั้งที่ ๙๕๙

    สาระสำคัญ

    วิถีจิตทั้งหมดมี ๗ ประเภท ขณะนี้กำลังรื้ออิฐ หรือว่ากำลังก่ออิฐ


    วิถีจิตทั้งหมดมี ๗ ประเภท

    ปัญจทวาราวัชชนจิต และ มโนทวาราวัชชนจิต กระทำอาวัชชนกิจ เป็น อาวัชชนจิต เป็นวิถีจิตแรก

    สำหรับทางปัญจทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนี้เอง ซึ่งทุกครั้งที่ศึกษาธรรมให้ทราบว่า เป็นเรื่องของขณะนี้ เป็นสภาพของจิต ในขณะนี้เอง ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นและดับไป เป็นปัจจัยให้ คือ

    ถ้าเป็นสีสันวัณณะกระทบกับจักขุปสาท เป็นปัจจัยให้ จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นกระทำทัสสนกิจ คือ เห็น

    ถ้าเป็นเสียงกระทบกับโสตปสาท เป็นปัจจัยให้ โสตวิญญาณ เกิดขึ้นกระทำ สวนกิจ คือ ได้ยิน

    ถ้าเป็นกลิ่นกระทบกับฆานปสาท เป็นปัจจัยให้ ฆานวิญญาณ เกิดขึ้นกระทำฆายนกิจ คือ ได้กลิ่น รู้แจ้งในกลิ่นที่กำลังปรากฏ

    ถ้าเป็นทางลิ้น รสกระทบกับชิวหาปสาท เป็นปัจจัยให้ ชิวหาวิญญาณ เกิดขึ้นกระทำสายนกิจ คือ ลิ้มรส ที่รสต่างๆ ปรากฏ เพราะมีสภาพที่ลิ้มรสนั้นๆ รสนั้นๆ จึงปรากฏ

    ถ้าเป็นทางกาย เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กำลังปรากฏกระทบกับกายปสาท เป็นปัจจัยให้ กายวิญญาณ เกิดขึ้นกระทำผุสสนกิจ คือ รู้อารมณ์ที่กระทบทางกาย

    นี่เป็นวิถีจิตที่ ๒ ต่อจากอาวัชชนกิจ ถ้าเป็นทางปัญจทวารวิถี จะต้องเกิดขึ้นตามลำดับ คือ เมื่ออาวัชชนจิตดับไป จิตดวงต่อไปก็กระทำกิจต่างๆ ทางทวารต่างๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตเห็น ทำทัสสนกิจ จิตได้ยิน ทำสวนกิจ จิตได้กลิ่น ทำฆายนกิจ จิตลิ้มรส ทำสายนกิจ ถ้าเป็นจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ทำผุสสนกิจ และดับไปชั่วขณะเดียวเท่านั้นเอง

    ที่ปรากฏในขณะนี้ ดูเหมือนไม่ดับเลย แต่ให้ทราบว่า ขณะเห็นจริงๆ ที่เป็นจิตที่กระทำทัสสนกิจ ชั่วขณะเดียวเท่านั้น ไม่นานเลย เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ ดูเสมือนว่าการเห็นนี้ไม่ดับ มีจิตเกิดคั่นในระหว่างจิตเห็นดวงหนึ่งกับอีกดวงหนึ่ง หลายขณะมาก นี่เป็นการเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิต เพราะฉะนั้น กว่าจะสะสางความเห็นผิดซึ่งไม่เคยประจักษ์เลยว่า นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับ จะต้องใช้เวลาอบรมเจริญปัญญานานหรือไม่นาน และต้องรู้ความจริงอย่างนี้ ที่จะประจักษ์แจ้ง จริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา เป็นสภาพรู้แต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไป

    นี่คือ การอบรมเจริญปัญญาที่จะถึงความเป็นพระอริยบุคคล ไม่ใช่ไปนั่งๆ โดยไม่รู้อะไร แต่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในชีวิตปกติประจำวัน

    . สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ที่อาจารย์กล่าวว่า ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดนั้น ก็ไม่เห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือกระทบสัมผัสทางกาย ที่จะต้องจำอะไร อยากเรียนถามว่า สัญญาที่เกิดกับปฏิสนธิจิตนั้นทำหน้าที่จำอะไร

    สุ. จำอารมณ์ของปฏิสนธิจิต เพราะจิตเกิดขึ้นจะต้องรู้อารมณ์

    . อารมณ์ของปฏิสนธิจิตจะเป็นอะไร สัญญาก็จำอันนั้น ใช่ไหม

    สุ. สัญญาเจตสิกเกิดพร้อมกับจิตใด ก็จำอารมณ์ที่จิตนั้นกำลังรู้ จะไปจำอารมณ์อื่นของจิตอื่นไม่ได้ สัญญาเกิดกับจิตใด ก็จำอารมณ์ของจิตนั้น อยากจะถามไหมว่า ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์อะไร

    ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครรู้ได้ เพราะปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะเดียวและดับไป แต่ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่า ปฏิสนธิจิตของชาตินี้มีอารมณ์เดียวกับอารมณ์ก่อน จุติของชาติก่อน

    การศึกษาธรรมต้องให้เข้าใจจริงๆ ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูล ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ทั้งสิ้น ถ้าเข้าใจ

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่เห็น ไม่ใช่ให้ท่านผู้ฟังไปแยกว่า ก่อนที่จะมีจิตเห็นดวงต่อไปเกิดขึ้น มีจิตอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยการประจักษ์แจ้ง เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เพื่อที่จะให้เห็นสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงประจักษ์แจ้งและทรงแสดง เพื่อเป็นหนทางที่จะให้สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของจิตเห็นว่า ต่างกับจิตที่ได้ยิน ต่างกับจิตที่กำลังได้กลิ่น ต่างกับจิตที่กำลังลิ้มรส ต่างกับจิตที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และต่างกับจิตที่กำลังคิดนึกก่อน เพื่อให้สติและปัญญาเกิดขึ้นเป็นขั้นๆ ที่จะได้รู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่ขั้นที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปก่อน เพราะถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะประจักษ์การเกิดดับไม่ได้ และการเข้าใจโดยละเอียด จะเป็นปัจจัยที่สะสมทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันตามที่ได้ยิน ได้ฟัง จนกว่าปัญญาจะศึกษาพิจารณาและรู้ชัดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบเรื่องของวิถีจิตว่า ทั้งหมดมี ๗ วิถี เริ่มจาก อาวัชชนวิถี และเมื่ออาวัชชนวิถีจิตดับไป วิถีที่ ๒ ต่อจากนั้น ถ้าเป็นทางปัญจทวารวิถีก็เป็น วิญญาณวิถีจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ทางทวารทั้ง ๕ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว เล็กน้อยมาก ดูเหมือนว่าไม่มีความหมายอะไรเลย แต่ก็มีความหมายมากสำหรับผู้ที่ยังเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เพราะไม่รู้ความจริงว่า เป็นเพียงชั่วขณะที่เห็นและก็ดับไป และก่อนที่จะมีการเห็นเกิดขึ้นได้อีก ต้องมีจิตเกิดดับสืบต่อคั่นอยู่หลายขณะ

    เมื่อวิญญาณวิถีจิตดับไป จิตดวงต่อไปเป็นวิถีจิตที่กระทำ สัมปฏิจฉันนกิจ คือ รับอารมณ์นั้นต่อจากวิญญาณวิถีจิต ถ้าไม่รับจะไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร สิ่งที่เห็นยังปรากฏ เพราะมีจิตนี้

    ถึงแม้ว่าเห็นดับไป ได้ยินดับไป ก็มีสัมปฏิจฉันนจิต เป็นวิถีจิตที่เกิดต่อจากวิญญาณวิถีจิต กระทำสัมปฏิจฉันนกิจ รับอารมณ์นั้นต่อ ชั่วขณะเดียวและก็ดับไป เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตที่ ๔ กระทำ สันตีรณกิจ พิจารณาอารมณ์ อย่างรวดเร็วตามอายุของจิต จิตเกิดขึ้นและดับไปเร็วเพียงใด สันตีรณจิตก็เกิดขึ้นกระทำสันตีรณกิจรวดเร็วเพียงนั้น

    สันตีรณะ แปลว่า พิจารณา ถ้าคิดถึงความหมายของภาษาไทย การพิจารณาจะต้องใช้เวลานานมากใช่ไหม แต่ว่าชั่วขณะจิตเดียวที่เกิดขึ้น กระทำกิจพิจารณาอารมณ์ที่ปรากฏและดับไป สันตีรณจิตเป็นวิถีจิตที่ ๔

    เมื่อดับไปแล้ว จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นกระทำ โวฏฐัพพนกิจ ทำกิจกำหนด คือ กระทำทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อ แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตา เป็นไปตามการสะสม โวฏฐัพพนจิตไม่มีสิทธิอำนาจเด็ดขาดด้วยตนเองที่จะให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิด แต่การสะสมเป็นปัจจัยให้โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นกระทำกิจนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โวฏฐัพพนจิตเป็นวิถีจิตที่ ๕

    วิถีจิตทั้งหมดมีเพียง ๗ เป็นเรื่องง่ายแล้ว ๗ ทำไมจะจำไม่ได้ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์ ยังจำได้ว่า ๗ เพราะฉะนั้น วิถีจิตก็ ๗ เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเป็นชื่อภาษาบาลีเท่านั้น แต่ถ้าทราบความหมายก็ง่าย อย่างเช่น สันตีรณะ เป็นจิตที่พิจารณา เพราะฉะนั้น จิตที่กระทำกิจพิจารณาจึงเป็นสันตีรณจิต ซึ่งต่อไปจะทราบว่า จิตกี่ดวง ทำกิจอะไรๆ

    ขณะนี้ให้ทราบว่า วิถีจิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในชาตินี้ ในภูมินี้ ในโลกไหนๆ ก็ตามที่เป็นวิถีจิต ที่ไม่ใช่ภวังคจิต มีเพียง ๗ วิถีเท่านั้น ถ้าเกิดดับสืบต่อกันทางตา เป็นจักขุทวารวิถี ถ้าเกิดดับสืบต่อทางหูเป็นโสตทวารวิถี ถ้าเกิดดับสืบต่อทางจมูก เป็นฆานทวารวิถี ถ้าเกิดดับสืบต่อทางลิ้นเป็นชิวหาทวารวิถี ถ้าเกิดดับสืบต่อ ทางกายเป็นกายทวารวิถี ถ้าเกิดดับสืบต่อทางใจเป็นมโนทวารวิถี

    วิถีที่ ๑ คือ อาวัชชนวิถี วิถีที่ ๒ คือ วิญญาณวิถี วิถีที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนวิถี วิถีที่ ๔ คือ สันตีรณวิถี วิถีที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนวิถี นี่ทางปัญจทวาร

    ทางปัญจทวารกับมโนทวาร แยกกัน

    ถ้าทางปัญจทวาร หลังจากจิตเห็นดับไป สัมปฏิจฉันนจิตดับไป สันตีรณจิต ดับไป โวฏฐัพพนจิตก็เกิด กระทำกิจกำหนด คือ กระทำทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ไม่มีกุศลจิตและอกุศลจิต เพราะฉะนั้น มหากิริยาจิตจะเกิดต่อ

    แสดงให้เห็นว่า กุศลจิตไม่ได้เกิดตามความพอใจของตนว่าอยากจะให้เกิดก็เกิด หรือว่าอกุศลจิตก็สามารถจะเกิดได้โดยที่อยากจะให้เกิดเป็นอกุศลเดี๋ยวนี้ก็เกิด ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เหมือนกับชีวิตตามความเป็นจริงของท่านผู้ฟังที่ว่า ทุกท่านอยากจะให้กุศลจิตเกิด แต่ทำไมอกุศลจิตเกิดบ่อยกว่ากุศล ก็เพราะโวฏฐัพพนจิตกระทำกิจนั้น และมนสิการให้จิตต่อไปเป็นอกุศล ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะให้อกุศลเกิด แต่ก็เป็นอนัตตา เพราะจิตที่กระทำโวฏฐัพพนกิจเป็นอโยนิโสมนสิการ จิตขณะต่อไปจึงเป็นอกุศล และที่จะเป็นโยนิโสหรืออโยนิโสมนสิการ ก็เป็นอนัตตาอีกเหมือนกัน ไม่มีใครสามารถจัดแจงให้โวฏฐัพพนะเป็นโยนิโสมนสิการได้

    สำหรับจิตที่เกิดต่อจากโวฏฐัพพนจิต กระทำ ชวนกิจ ที่ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า ชวนวิถีสั่งสมสันดานตน ตามข้อความที่ว่า

    ข้อที่ว่า ในคำว่า จิตฺตํ นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    หลังจากโวฏฐัพพนวิถีจิตดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อเป็นชวนวิถี ซึ่งจะกระทำการสั่งสมสันดานเวลาที่เป็นชวนกิจ

    เวลาเห็น จักขุวิญญาณกระทำทัสสนกิจ ไม่ได้สั่งสมสันดาน เป็นวิบากจิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรม เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมให้ผลเกิดขึ้น ก็ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่ง ทำให้สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ ทำให้สันตีรณะเกิดต่อ นั่นเป็นผลของกรรมหนึ่งที่ทำให้เห็นรูปๆ หนึ่ง แต่เวลาที่โวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว จิตต่อไปกระทำชวนกิจ เป็นชวนวิถี ๗ ขณะ ที่สั่งสมสันดานตนนี้ เพราะว่าเกิดซ้ำถึง ๗ ขณะ

    ทำชวนกิจ คือ เป็นกุศลหรืออกุศล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ไม่มีกุศลจิตและอกุศลจิต เพราะฉะนั้น เป็นมหากิริยาจิตที่กระทำชวนกิจ ที่เป็นชวนวิถี

    ชวนวิถี วิถีที่ ๖ เป็นวิถีที่สั่งสมสันดานตน เพราะกระทำกิจซ้ำ เกิดซ้ำๆ ถึง ๗ ครั้ง ขณะที่เห็นขณะเดียว ถ้ามีความยินดีในสิ่งที่เห็น อกุศลจิตที่เป็นโลภมูลจิตเกิด ๗ เท่าของจิตที่เห็นขณะเดียว นี่คือการสะสมอกุศล ซึ่งทุกคนกำลังเป็นอยู่ ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น จะดับกิเลสง่ายไหม โดยไม่รู้อะไรเลย โดยที่ทั้งอวิชชาก็สะสมไว้ ๗ เท่าๆ ของการเห็นครั้งหนึ่งๆ โลภะก็สะสมไว้ ๗ เท่าๆ ของการเห็น ครั้งหนึ่งๆ และถ้าเป็นโทสมูลจิต ก็สะสม ๗ เท่าๆ ของการเห็น หรือการได้ยิน ครั้งหนึ่งๆ แต่ก็หวังว่า เมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ทำไมถึงไม่คิดถึงเหตุตามความเป็นจริงที่ได้สั่งสมมาในสังสารวัฏฏ์ว่า จะต้องเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    กำลังฟังเรื่องของจิต ถ้าขณะใดที่สติระลึก ขณะนั้นกำลังดำเนินหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งที่จะดับกิเลส แต่ขณะใดที่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นกุศล ก็ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินีมีว่า

    อกุศลและกุศลที่ไม่ใช่มรรค ชื่อว่า อาจยคามี เพราะอรรถว่า ไปก่อธรรมที่เป็นไปเหมือนช่างอิฐก่อกำแพง ฉะนั้น

    อิฐทีละแผ่น ซ้อนทับถมกันจนเป็นกำแพง เพราะฉะนั้น เวลาที่ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศลใดๆ ก็สร้าง ภพชาติ เหมือนกับช่างอิฐที่ก่อกำแพง แต่ขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นมรรค เป็น อปจยคามี เพราะอรรถว่า ไม่ไปก่อธรรมที่เป็นไปนั้นนั่นแหละ เหมือนบุรุษรื้ออิฐที่ช่างอิฐนั้นก่อทับกันไว้ ฉะนั้น

    ขณะนี้กำลังรื้ออิฐ หรือว่ากำลังก่ออิฐ

    ทั้งรื้อ ทั้งก่อ

    ขณะนี้ท่านผู้ฟังทราบได้ว่า การสั่งสมสันดานเป็นในขณะไหน อาวัชชนจิต สั่งสมสันดานไม่ได้ วิญญาณวิถีจิตสั่งสมสันดานไม่ได้ สัมปฏิจฉันนวีถีจิตสั่งสมสันดานไม่ได้ สันตีรณวิถีจิตสั่งสมสันดานไม่ได้ โวฏฐัพพนวิถีจิตสั่งสมสันดานไม่ได้ แต่จิตต่อจากโวฏฐัพพนวิถีจิตสั่งสมสันดาน เพราะเหตุใด เพราะเกิดซ้ำ ๗ ขณะ ในขณะปกติ ถ้าเป็นในขณะที่สลบจะเกิดซ้ำ ๖ ขณะ ถ้าเป็นในขณะที่จะจุติ จะเกิดซ้ำ ๕ ขณะ กำลังอ่อนลงเพราะว่ากำลังจะจุติ แต่ปกติขณะนี้ชวนวิถีจะเกิดซ้ำ ๗ ครั้ง มากกว่าวิถีอื่นๆ เพราะฉะนั้น จึงสั่งสมสันดานของตน

    เวลาที่เห็น เกิดโลภะ ยินดี พอใจในรูปารมณ์ที่กำลังปรากฏ ดูเหมือนว่า ไม่เป็นโทษ ใช่ไหม เป็นแต่เพียงความพอใจธรรมดาๆ แต่ให้รู้ว่า ในขณะนั้นเป็นธรรมที่เป็นโทษ เป็นธรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ แต่ค่อยๆ สะสมทุกข์ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ว่าปรากฏความเป็นทุกข์ขึ้นทันที ถ้ามีความพอใจเพียงเล็กน้อย ไม่เหมือนกับขณะที่เกิดความพอใจมากถึงขั้นที่เป็นนิวรณธรรมกลุ้มรุม ไม่ว่าจะเป็นการคิด ก็คิดถึงแต่ในสิ่งที่พอใจอย่างแรง ลักษณะอาการของความหนัก ความที่เป็นอกุศล ความกระสับกระส่าย ความไม่สงบ ก็ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ลืมตา ชวนวิถีสั่งสมสันดานที่เป็นกุศล หรืออกุศล ใครตอบได้ ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมา ตรงต่อความเป็นจริง

    คำตอบคือ เป็นอกุศล

    มากไหม และจะทำอย่างไรดี



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๙๕๑ – ๙๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564