แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 932


    ครั้งที่ ๙๓๒

    สาระสำคัญ

    ขุท.สุตต.ขัคควิสาณสูตร - คาถาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทรงแสดงไว้  ความต่างกันของเพศคฤหัสถ์กับเพศบรรพชิต 


    นี่คือชีวิตการบวชของโอรสของพระเจ้าพาราณสีพระองค์หนึ่ง ในครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ตามลำพังโดยอัธยาศัยของผู้ที่เป็นบรรพชิต ตามที่ได้กล่าวถึงแล้วว่า ความต่างกันของเพศคฤหัสถ์กับเพศบรรพชิต คือ เพศบรรพชิตนั้นต้องสละทุกอย่าง แม้วงศาคณาญาติ มิตรสหาย โภคสมบัติ เป็นผู้ที่มีความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศที่อยู่ผู้เดียว ไม่เกี่ยวข้องกับวงศาคณาญาติและมิตรสหาย

    แต่ชีวิตของพระโอรสของพระเจ้าพาราณสี เวลาที่ทรงผนวชแล้ว พระมารดาพร้อมด้วยหญิงนักฟ้อน ๒๐,๐๐๐ นางแวดล้อม เสด็จไปถวายภัตตาหาร และสนทนาปราศรัยจนถึงเที่ยงวัน หลังจากนั้นพระราชาก็เสด็จมาในเวลาเที่ยงวัน ให้พระโอรสเสวยแล้ว ทรงสนทนาปราศรัยตลอดวันจนถึงเย็น และเวลาที่เสด็จกลับ ยังให้ราชบุรุษเฝ้าปรนนิบัติรักษาอยู่ตลอดคืน

    สมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อาทิจจพันธุ์ อยู่ที่เงื้อมภูเขา นันทมูลกะ ได้ทรงพิจารณาการประพฤติปฏิบัติของพระราชโอรสนั้น และทรงทราบว่า ถ้าจะให้พระกุมารทรงเบื่อหน่ายตามวิสัยของพระองค์เอง ย่อมสิ้นเวลานาน เมื่อได้โอกาสจึงทรงดำริที่จะแสดงอารมณ์ที่เหมาะที่ควรแก่เพศบรรพชิตแก่พระกุมาร

    พระปัจเจกพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังพระราชอุทยาน ซึ่งพระราชาทรงนิมนต์ให้อยู่ในพระราชอุทยาน และเมื่อได้โอกาส พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ทรงแสดงที่ประทับของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแห่งหนึ่งในภูเขาหิมพานต์ให้พระกุมารทอดพระเนตร และเสด็จกลับไป

    ตอนกลางคืนราชบุรุษผู้อารักขา ก็ประมาทนอนเสียเพราะคิดว่า พระกุมารคงไม่เสด็จไปไหน แต่พระกุมารได้เสด็จไปสู่ป่าในภูเขาหิมพานต์ ได้เจริญวิปัสสนา และได้บรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ

    สำหรับในคาถาอื่นๆ เช่น คาถาที่ ๑๙ ซึ่งเป็นคาถาที่ ๙ ในวรรคที่ ๒ เป็นเรื่องของพระราชาในพระนครพาราณสี ซึ่งเจริญวิปัสสนาและบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณบนคอช้าง

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นจริงๆ ว่า ชาตินี้ท่านจะเป็นเพศใดก็ตาม ก็อบรมเจริญไปจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล เพราะใครจะเป็นบรรพชิต หรือใครจะเป็นคฤหัสถ์ ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของการสะสมของท่านในแต่ละชาติ

    . พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นเพศคฤหัสถ์ ใช่ไหม

    สุ. เวลาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ไม่เป็น แม้พระอรหันต์ก็ไม่เป็น ใครก็ตามที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสหมดแล้ว จะไม่เป็นเพศคฤหัสถ์ แต่เรื่องที่กล่าวถึงแสดงให้เห็นว่า แม้เป็นคฤหัสถ์ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ยังสามารถที่จะบรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ และเมื่อบรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่ใช่พระราชา ไม่ใช่คฤหัสถ์อีกต่อไป

    . บวชในสำนักหรือเปล่า

    สุ. ไม่มีสำนักของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ท่านก็ไปสู่สำนักของท่าน ซึ่งไม่ใช่อาคารบ้านเรือน ไปสู่ป่า ไปสู่เขา

    . ไม่นับว่าเป็นเพศฆราวาส ใช่ไหม

    สุ. ต้องเป็นบรรพชิต

    . เวลาผมจะนอน เคยสวดมนต์ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า คุณของบิดามารดา และผู้มีพระคุณต่างๆ เมื่อระลึกถึงอย่างนี้ ผมคิดว่าปฏิบัติเป็นสมาธิไปหมด ไม่รู้จะทำอย่างไร ผมอยากจะปฏิบัติวิปัสสนา เมื่อปฏิบัติวิปัสสนา ก็ไม่ใช่ระลึกถึงบิดามารดา ปู่ย่าตายาย หรือผู้มีพระคุณต่างๆ ที่จะอุทิศส่วนกุศลไปให้เวลาจะนอน ขออาจารย์กรุณาอธิบายว่า จะทำอย่างไร ถ้าจะปฏิบัติวิปัสสนา ไม่ระลึกถึงก็ไม่ได้ ต้องระลึกถึง

    สุ. วิปัสสนาคืออะไร

    . วิปัสสนาอย่างที่อาจารย์เคยสอน คือ ระลึกถึงความเป็นจริงถูกต้อง

    สุ. ระลึก สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ขณะที่ระลึกถึงคุณของบิดามารดาเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา แต่ถ้าสติไม่เกิด ขณะนั้นเป็นเราที่กำลังระลึกถึงคุณของมารดาบิดา ซึ่งในขณะที่กำลังนึกถึงคุณของมารดาบิดา เป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น ใน ขณะนั้น สติซึ่งเป็นสติปัฏฐาน สามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศลที่กำลังระลึกถึงคุณของมารดาบิดาว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นและก็นึกถึง ไม่ใช่ตัวตน

    . นึกถึงบิดามารดา นึกถึงผู้มีอุปการะ ใจเราไปคิดถึง ก็เป็นตัวตนไปแล้ว

    สุ. ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นเป็นเราที่กำลังคิด แม้ในขณะที่ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ในที่นี้ กำลังได้ยิน กำลังเห็น กำลังคิด ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นเราที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้มีความรู้สึกว่าเป็นเรา กำลังได้ยินก็รู้สึกว่าเป็นเรา กำลังคิดนึกก็รู้สึกว่าเป็นเรา ตามปกติ

    แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น ไม่ได้ระลึกที่อื่น แต่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังคิดนึกในขณะนี้ ฉันใด เวลาที่คิดนึกถึงพระคุณของมารดาบิดา ในขณะนั้นเป็นสภาพคิดเหมือนกับสภาพคิดเดี๋ยวนี้

    . ก็เป็นตัวตน

    สุ. ถ้ารู้ว่าขณะนั้นเป็นนามธรรมที่กำลังคิด ที่กำลังรู้คำ ที่กำลังรู้เรื่อง จึงไม่ใช่เรา เพราะเป็นสภาพที่กำลังรู้คำที่กำลังคิด ไม่ใช่สภาพที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สภาพที่กำลังได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏทางหู เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญ สติปัฏฐาน เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แม้ในขณะที่กำลังนึกถึงพระคุณของมารดาบิดา

    . นึกถึงพระคุณของมารดาบิดา ก็เป็นตัวตน

    สุ. ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด เป็นเราที่กำลังนึกถึง แต่เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ในขณะที่นึกถึง ขณะนั้นเป็นสภาพที่กำลังคิดคำ ใช่ไหม

    . ยังไม่เข้าใจ

    สุ. ระลึกถึงคุณมารดาว่าอย่างไร

    . ท่านได้เลี้ยงดูเรามา

    สุ. ท่าน เป็นการนึกถึงคำว่าท่าน ได้ คือจิตกำลังนึกถึงคำว่าได้ เลี้ยง ขณะนั้นเป็นจิตที่นึกถึงคำว่าเลี้ยง ดู ขณะนั้นเป็นจิตที่นึกถึงคำว่าดู เพราะถ้าจิตไม่คิดคำว่า ท่าน ไม่คิดคำว่า ได้ ไม่คิดคำว่า เลี้ยง ไม่คิดคำว่า ดู ในขณะนั้นจะไม่มีการนึกถึงความหมายของคำว่า ท่านได้เลี้ยงดู

    . เท่ากับไม่มีอะไรเลย ถ้าเช่นนั้น เราก็ไม่คิดเลยในขณะนั้น

    สุ. ถ้าไม่คิด ก็เห็น ถ้าไม่คิดไม่เห็น ก็ได้ยิน ถ้าไม่คิดไม่เห็นไม่ได้ยิน ก็กำลังลิ้มรส หรือกำลังรู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย เพราะเมื่อมีจิตเกิดขึ้นแล้ว เป็นสภาพรู้

    การฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจอรรถลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพนั้น จึงยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นเรา แม้แต่ในขณะที่กำลังคิด ก็มีความรู้สึกยึดมั่นจริงๆ ว่า เป็นตัวตน เป็นเราที่กำลังคิดเพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเพื่อที่จะให้เกิดการระลึก ศึกษา พิจารณา รู้ชัดในขณะที่กำลังคิด ไม่ใช่ว่าไม่ให้คิด วิปัสสนาไม่ใช่ว่า ไม่ให้คิด

    . คิด ก็เป็นตัวตนอีก

    สุ. ปกติธรรมดา ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดก็ยึดถือความคิดว่าเป็นเรา นี่ตอนหนึ่ง คือ ตอนที่สติปัฏฐานไม่เกิด แต่เวลาที่สติระลึกได้ ต้องศึกษาให้เข้าใจแม้ความคิดว่าคืออะไรกัน เป็นเราจริงหรือเปล่าที่กำลังคิด ขณะนั้นเป็นสภาพที่กำลังรู้คำ เหมือนกับทางหูที่กำลังรู้เสียง กำลังได้ยินเสียง

    . แปลว่า ให้รู้เท่านั้น ไม่ต้องคิดหรือ

    สุ. ไม่ใช่ว่าไม่ต้องคิด สภาพที่คิดมีจริงๆ เหมือนกับสภาพที่กำลังเห็น ซึ่งกำลังมีจริงๆ ใช่ไหม จะต้องรู้ลักษณะที่เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ทางตา คือ กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ฉันใด ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไรทั้งนั้น ไม่ว่าจะคิดเรื่องพระคุณของมารดาบิดา หรือคิดถึงเรื่องอื่นใดก็ตาม สภาพที่คิดไม่ใช่เรา และถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึก ไม่ศึกษาให้เข้าใจว่า ในขณะที่คิดเป็นเพียงสภาพที่รู้คำ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดอย่างนี้ ก็ไม่มีวันที่จะละการยึดถือขณะที่คิดว่า เป็นเรา เป็นตัวตนที่กำลังคิด

    เพราะฉะนั้น ขณะที่นึกถึงพระคุณของมารดาบิดา เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้เกิดคิดนึกขึ้น สภาพที่คิดนึกถึงพระคุณของมารดาบิดาก็เกิดขึ้น ซึ่งสติสามารถเกิดระลึกรู้ในขณะที่กำลังคิด รู้ว่า เป็นสภาพที่กำลังรู้คำ นึกถึงคำ นึกถึงเรื่อง นึกถึงพระคุณโดยอาการต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน

    นี่เป็นเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ อย่าเป็นห่วงว่า กำลังระลึกถึงพระคุณของมารดาบิดาสติปัฏฐานเกิดไม่ได้ หรืออย่าเป็นห่วงว่า กำลังแผ่อุทิศส่วนกุศลให้สัตว์อื่น บุคคลอื่น ขณะนั้นสติปัฏฐานเกิดไม่ได้

    สติ สามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ และควรจะเป็นปกติตามความเป็นจริง เช่น ในขณะนี้ ขณะที่กำลังเห็นตามปกติอย่างนี้ การที่ฟังเรื่องของสติปัฏฐาน ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจว่า สติไม่ใช่สภาพที่ระลึกสิ่งอื่น แต่ในขณะที่กำลังฟัง หรือว่ากำลังเห็นในขณะนี้ สติปัฏฐานเป็นสภาพที่เกิดตามปกติ สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นปกติในขณะนี้เอง

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ คือ ขณะที่สติ ไม่เกิด กับขณะที่มีสติ คือ ในขณะที่สติเกิดและระลึกศึกษา น้อมพิจารณาที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง พระธรรมของพระพุทธองค์ ท่านตรัสไว้แน่นอน เป็นของจริง เรา ผู้ปฏิบัติทั้งหลายต้องใช้ปัญญาพิจารณา จึงจะได้ผลโดยสมบูรณ์ ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในสภาพสภาวะเช่นไร อย่างการเจริญสมถวิปัสสนาเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเวลานั้น เวลานี้จึงจะเจริญได้ ทุกขณะที่เรามีสติปัญญา เจริญได้ทุกขณะ

    ผมขออภัยท่านผู้ฟังทั้งหลาย อยากจะเล่าเหตุการณ์ในชีวิตที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีมาแล้ว คือ ไม่ว่าทำกิจการอะไรก็มีแต่ทางเสื่อมลงๆ ทำอะไรก็ขาดทุน จนสุดท้าย แทบไม่มีอะไรเหลือ มารดาก็มาเสียชีวิตอีก แบบนี้บางคนต้องไปเจริญสมถวิปัสสนา ที่โน่นที่นี่ถึงจะหายทุกข์ แต่ความจริง ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว ย่อมรักษาจิตใจของเราไว้ได้ ให้เป็นสุขอยู่ ถึงแม้จะมีสภาพเช่นนั้นเกิดขึ้น

    อย่างปกติผมทำงานไป ทำอะไรไป ก็มีแต่ขาดทุน สิ่งทั้งหลายก็หมดไป เกิดความแค้นใจ คับใจ โทสะเกิดขึ้น ผมก็นึกถึงที่อาจารย์เคยบรรยายว่า ผู้ใดเป็น ผู้มักโกรธ ผู้นั้นเป็นผู้เลวทราม ผมนึกขึ้นได้ว่า เราไม่ได้มีความโกรธมากก็จริง แต่ยังมีอยู่นิดๆ หน่อยๆ แต่พอมีสติระลึกว่าความโกรธเกิดขึ้นแล้ว เกิดความละอาย ความเกรงกลัวโทษ โทสะที่เกิดขึ้นก็หายไป

    นี่เป็นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ประทานให้เรา ใช้ได้ทุกสถานการณ์ อย่างผมทำๆ ไป ทุนหมดแล้วจะทำอย่างไร ก็นึกถึงพระสงฆ์ อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีท่านเป็นเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติตั้งหลายสิบโกฏิ ท่านก็หมดจนกระทั่งไม่มีอะไรจะให้ทาน ถึงกับเอาปลายข้าวกับน้ำผักดองมาถวายพระ เรายังรวยสู้ท่านไม่ได้ พอนึกได้เท่านี้ ความคับแค้นใจก็หมด ไม่เกิดขึ้น อีกอย่างหนึ่งนึกถึงศีล เราก็ทำดีแล้ว ศีลทุกข้อเกือบจะรักษาได้หมด มีบางอย่าง เช่น มุสาวาท การพูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ อะไรพวกนี้ที่รักษายากเหลือเกิน แต่ที่เราได้ปฏิบัติมาแล้ว ทำไมผลที่เราทำดีไม่ส่งเสริมให้เรารุ่งเรือง กลับทำให้เรายากจน มานึกถึงคำสอนเรื่องศีล คือ บุคคลใดประพฤติอทินนาทานเป็นอาจิณ ทางไปของผู้นั้น คือ นรกและอบาย และเมื่ออุบัติเป็นมนุษย์ เศษของกรรมนั้นจะทำให้เป็นผู้ที่ยากไร้แสนเข็ญ ทำมาหากินก็ไม่พอกิน พอนึกถึงข้อนี้ ความเป็นตัวตนที่ยึดถืออะไรต่างๆ คล้ายๆ จะหลุดลอยไปจากจิตใจของเรา แต่ที่เราจะคิดได้อย่างนี้ ต้องอาศัยพื้นฐานอย่างที่อาจารย์เคยสั่งสอนไว้ว่า ต้องรู้จักลักษณะของรูปเป็นอย่างนี้ ลักษณะของนามเป็นอย่างไร เมื่อรู้ลักษณะของรูปนามชัดเจนแล้ว จึงจะรู้จิต รู้เวทนา รู้กาย รู้ธรรม เป็นลำดับเลย

    เพราะฉะนั้น คำสอนของพระพุทธองค์จึงใช้ได้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในสภาพอย่างไร ผมเข้าใจอย่างนี้ จะถูกต้องประการใด

    สุ. ขออนุโมทนาท่านผู้ฟัง เพราะว่าชีวิตย่อมมีขึ้นๆ ลงๆ ถ้าชีวิตของใครยังไม่ได้ประสบกับความทุกข์ในยามที่คับแค้นหรือตกอับ ย่อมไม่สามารถทราบได้ว่า พระธรรมที่ได้ศึกษา ได้รับฟัง ได้ปฏิบัติ สามารถทำให้จิตใจพ้นจากความทุกข์อื่นๆ ซึ่งเป็นความโทมนัส หรือว่าความขุ่นเคืองใจ โดยระลึกได้ถึงกรรมซึ่งเป็นเหตุ และผลของกรรม

    ถ้าเหตุการณ์นั้นยังไม่เกิด ทุกท่านที่กำลังมีความสุขก็อาจจะคิดว่า ท่านรับได้หรือว่ารับไหว แต่ถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อไร เมื่อนั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ทราบว่า จิตใจของท่านยามที่ประสบความทุกข์ยากลำบาก สามารถที่จะได้รับรสของพระธรรมเกื้อกูลให้พ้นจากความทุกข์ใจได้มากน้อยแค่ไหน

    สำหรับชีวิตของท่านผู้ฟังจริงๆ น่าสนใจ และเป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายให้เห็นพระคุณของพระธรรมจริงๆ ว่า ถ้าผู้ใดได้ศึกษาเข้าใจแล้ว และประพฤติปฏิบัติตาม ย่อมทำให้พ้นจากทุกข์ได้มากน้อยตามควรแก่เหตุ

    ผู้ฟัง แปลกจริงๆ ความทุกข์ ความโทมนัสต่างๆ รู้สึกเป็นเรื่องเฉยๆ ไม่ต้องบอกว่าไม่เป็นตัวตน ความคิดเขาไปเองว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อะไร เปรียบเหมือนทรัพย์สมบัติอะไรของเรา ของชาวโลก ที่นิยมนับถือยกย่องว่า เป็นของที่บำเรอความสุขได้ในโลกนี้ แต่เมื่อคิดถึงเทพ ท่านเหล่านั้นย่อมเห็นของนั้นเปรียบประดุจ เศษอิฐ เศษหิน ยิ่งผู้เจริญสมถะและวิปัสสนาเข้าใจลึกซึ้งแล้ว ย่อมเห็นสมบัติไม่ว่า ชั้นเทพ หรือชั้นมนุษย์ทั้งหลาย ประดุจดังเศษสวะเช่นเดียวกัน

    สุ. ท่านผู้ฟังที่นั่งอยู่ที่นี่ ก็คงจะได้ประจักษ์แจ้งชัดในชีวิตของแต่ละบุคคลว่า ท่านได้ประสบความสุข หรือความทุกข์มากน้อยต่างกันในขณะไหน ซึ่งไม่ซ้ำกันเลย กรรมวิจิตรมาก แต่ละขณะที่เกิดขึ้นมีความรู้สึกเป็นสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อุเบกขาเวทนาบ้าง โสมนัสเวทนาบ้าง หรือโทมนัสเวทนาบ้าง แล้วแต่เหตุการณ์ในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น แต่ละชีวิตก็ได้มารับฟังธรรม แม้แต่ขณะที่นั่งฟังในขณะนี้ ความคิดนึกของแต่ละบุคคลย่อมต่างกันไปเวลาที่ได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของจิตที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งแต่ละท่านที่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน สติสติปัฏฐานสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรมในขณะนั้นว่า วิจิตรต่างๆ กัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๙๓๑ – ๙๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564