แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 954


    ครั้งที่ ๙๕๔

    สาระสำคัญ

    ลักษณะของจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ เริ่มสังเกตรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม โดยไม่ใช่ชื่อ


    ในคราวก่อน ได้กล่าวถึงอรรถของจิตซึ่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ทางตา เห็นสิ่งที่ปรากฏก็รู้ว่า เป็นเพชรเทียม หรือเพชรแท้ เป็นหยก เป็นหิน มีค่าประการใด เพราะว่าลักษณะนั้นๆ ปรากฏ และจิตรู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ที่ปรากฏ ถ้าจิตไม่รู้แจ้งก็จะไม่มีการรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร

    สำหรับทางหูก็ได้กล่าวถึงแล้วว่า เสียงที่ปรากฏก็มีลักษณะต่างๆ กัน เสียง ลมพัด เสียงน้ำตก เสียงสัตว์ร้อง เสียงคนร้องเลียนเสียงสัตว์ หรือสำเนียงที่เยาะเย้ย ถากถาง ดูถูก ดูหมิ่น ทั้งหมด ไม่ว่าเสียงนั้นจะมีลักษณะต่างๆ อย่างไร จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในเสียงนั้นๆ ที่ปรากฏ เพียงรู้แจ้ง คือ เหมือนกระจกเงาที่ใสสะอาด และเสียงลักษณะต่างๆ ก็ปรากฏให้จิตรู้แจ้งในเสียงนั้นๆ แต่ไม่ใช่สภาพที่จำ หรือหมายรู้ลักษณะอาการ หรือว่าไม่ใช่สภาพที่กระทบอารมณ์

    ลักษณะของจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะมีลักษณะต่างๆ อย่างไร จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ

    เสียงลมพัดเหมือนกับเสียงน้ำตกไหม ทำไมรู้ว่าไม่เหมือนกัน ที่รู้ว่า ไม่เหมือนเพราะเสียงปรากฏมีลักษณะอาการต่างๆ จิตก็รู้ในลักษณะต่างๆ ของเสียงต่างๆ ที่ปรากฏ เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์

    ทางจมูกก็มีกลิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นอะไรก็ตาม ขณะใดที่ปรากฏเป็นกลิ่นแปลกๆ ถ้าสติเกิดขึ้นในขณะนั้นจะรู้ในลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งในกลิ่นลักษณะแปลกๆ ที่กำลังปรากฏ เป็นสติปัฏฐาน เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะรู้ว่าในขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในกลิ่นแปลกๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    เคยได้กลิ่นแปลกๆ บ้างไหม กลิ่นมีลักษณะหลายอย่าง กลิ่นปลาเค็มก็ อย่างหนึ่ง กลิ่นตุๆ กลิ่นตึๆ และก็มีการพยายามที่จะบัญญัติคำให้รู้ลักษณะของกลิ่นต่างๆ ซึ่งไม่ว่ากลิ่นนั้นจะมีลักษณะต่างๆ อย่างไร จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของกลิ่นต่างๆ นั้น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้กลิ่นแปลกๆ และรู้ว่าขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในกลิ่นต่างๆ ขณะนั้นสติระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังรู้กลิ่นนั้นได้ทันที เป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ต่อไปนี้ลองดู อาจจะไม่เคยสังเกตว่ามีกลิ่นแปลกๆ แต่กลิ่นนี่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นแกง ก็มีแกงต่างๆ ไม่ใช่เป็นแกงชนิดเดียวกัน กลิ่นไหม้ สารพัดกลิ่นที่จะมี ซึ่งขณะใดที่ได้กลิ่น ขณะนั้นสติปัฏฐานเกิดได้

    สำหรับทางลิ้นก็เช่นเดียวกัน มีรสอาหารต่างๆ รสผลไม้ต่างๆ รสชา รสกาแฟ ซึ่งรับประทานกันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าขณะใดแปลก ขณะนั้นสติอาจจะเกิดขึ้นทันทีรู้ว่า จิตกำลังรู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของรสต่างๆ ที่กำลังปรากฏ บางคนชงกาแฟเผลอใส่เกลือแทนน้ำตาล รสแปลกไหม ทันทีที่ลิ้มรสแปลกจากปกติ ขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่รู้รสลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏ ไม่พ้นจากลักษณะของจิตเลย ซึ่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สติก็คงจะเกิดขึ้นได้บ้างในขณะที่กำลังลิ้มรส

    ทางกายก็มีการกระทบสัมผัสสิ่งต่างๆ เช่น เย็นลม เย็นน้ำ เย็นอากาศ หรือว่ากระทบสัมผัสผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ซึ่งท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเคยเล่าว่า ท่านยืนอยู่ที่ถนนและรู้สึกแข็ง และก็เกิดคิดต่อไปว่า แข็งนั้นเป็นถนน ซึ่งขณะนั้นแข็งเท่านั้นที่กำลังปรากฏ แต่เห็นความคิดไหมว่า เพราะคุ้นเคยกับการที่คิดว่าเรายืนอยู่ที่ถนน เพราะฉะนั้น เวลาที่ลักษณะของแข็งเท่านั้นปรากฏชั่วครู่หนึ่ง ก็เกิดคิดต่อไปว่า แข็งนั่นเป็นถนน และยังคิดต่อไปอีกว่า แข็งนั้นเป็นรองเท้า และยังคิดต่อไปอีกว่า แข็งนั้นเป็นถุงเท้า เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความคิดเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และเกิดขึ้น เมื่อยังคงยึดถือสิ่งที่แข็งนั้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่ลืม ซึ่งความจริงแล้ว ในขณะนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ถ้ารู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นก่อนที่จะคิดคำว่า ถนนแข็ง หรือว่ารองเท้าแข็ง หรือว่าถุงเท้าแข็ง ในขณะนั้น ลักษณะแข็งเท่านั้นเป็นปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ถนน ไม่ใช่ถุงเท้า ไม่ใช่รองเท้า เป็นแต่เพียงสภาพแข็ง และจิตเป็นนามธรรมที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง ไม่ใช่เรารู้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าปัญญายังไม่ได้อบรมจนกระทั่งสามารถรู้ชัด จริงๆ ว่า แข็งไม่ใช่ถนน ไม่ใช่รองเท้า ไม่ใช่ถุงเท้า ก็สามารถเห็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนซึ่งเกิดขึ้นและดับไป และก็มีสภาพที่คิดนึกเป็นเรื่องราวของถนน ของรองเท้า ของถุงเท้า และก็ดับไปแต่ละขณะ ซึ่งขณะที่คิดก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจทุกขณะ

    ในขณะนี้เป็นปรมัตถธรรมทางตา เป็นปรมัตถธรรมทางหู เป็นปรมัตถธรรมทางจมูก เป็นปรมัตถธรรมทางลิ้น เป็นปรมัตถธรรมทางกาย เป็นปรมัตถธรรมทางใจ ทั้งหมดไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เพราะอะไรจึงเป็นเรา

    ทั้งๆ ที่สภาพธรรมทั้งหมดเป็นเพียงปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะ เป็นรูปธรรมบ้าง เป็นนามธรรมบ้าง แต่ทำไมจึงเป็นเรา ทำไมจึงยึดถือว่าเป็นเรา ก็เพราะสติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะ ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการคิดถึงปรมัตถธรรม หรือสิ่งที่ปรากฏ ก็มีสัญญาความจำในรูปร่างสัณฐาน และยังมีความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ มีความจดจำว่า เป็นบุคคลต่างๆ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ความที่เคยยึดถือ พอใจ ผูกพันในวัตถุที่ปรากฏเป็นสิ่งของต่างๆ เป็นบุคคลต่างๆ ทำให้ปิดกั้นไม่ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัตถุสิ่งของต่างๆ เลย เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ้ามีความผูกพันในเรื่องราว ในบุคคล ในวัตถุต่างๆ น้อยลง ขณะนั้นจะมีการศึกษารู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมได้เพิ่มขึ้น หรือว่าโดยนัยกลับกัน คือ ขณะใดที่ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยความเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากขึ้น ความผูกพันในเรื่องราวของปรมัตถธรรม นั้นๆ ก็ต้องน้อยลง

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ เริ่มสังเกตรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม โดยไม่ใช่ชื่อ เพราะถึงแม้ข้อความในอรรถกถาจะมีว่า ที่ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ ก็ไม่ใช่เพียงให้เข้าใจเผินๆ ว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ แต่ต้องในขณะที่ไม่ว่าอารมณ์ลักษณะต่างๆ ปรากฏขณะใด สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ในลักษณะของนามธรรมที่รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์นั้น จนกว่าปัญญาจะพิจารณา และสามารถประจักษ์แจ้งในลักษณะของจิตที่เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพ รู้แจ้งในอารมณ์ได้

    . กระผมเดินทางมาจากสิงห์บุรี เวลานี้อายุได้ ๗๒ ปี ได้เข้าไปศึกษาในสำนักของอาจารย์ถึง ๓ แห่ง ไม่ต้องบอกสถานที่ รู้สึกว่า วิธีการดำเนินปฏิบัติวิปัสสนาเหมือนวิธีการหุงข้าว ทั้ง ๓ สำนักนั้น บางสำนักเหมือนหุงข้าวด้วยฟืน บางสำนักเหมือนหุงข้าวด้วยถ่าน บางสำนักเหมือนหุงข้าวด้วยเตาแก๊ส ทั้ง ๓ อย่างกระผมเองได้ฝึกโดยอาศัยตำราไปฝึก กระผมกระทำมาร่วม ๑๐ เดือนรู้สึกว่า ใช้ไม่ได้ หุงข้าวไม่สุก จุดใหญ่ของผมที่มาจากจังหวัดสิงห์ ตั้งใจครั้งแรกจะมากราบเท้าและพบอาจารย์ เพราะฟังทางวิทยุเข้าใจได้เป็นอย่างดี แต่ยังไม่ปลื้มใจเท่ากับที่มาเห็นรูป เมื่อเห็นรูปแล้วปลื้มใจ น้ำตาแทบไหล อาจารย์มีเมตตากรุณาสูง ทำไมต้องไปพยายามทำโน่นทำนี่แก่คนอื่น ถ้าอยู่เปล่าๆ จะสบายกว่า กระผมคิดอย่างนั้น ไม่ขอพูดอะไรในที่นี้ อยากจะขอเวลาอาจารย์สัก ๒ นาที ก่อนอาจารย์จะกลับบ้าน จะกราบเรียนถามวิธีปฏิบัติวิปัสสนาได้ไหม

    สุ. ได้ เพราะบางครั้งการสนทนาธรรมเป็นการส่วนตัวเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากบางทีการบรรยายสำหรับผู้ฟังโดยทั่วๆ ไป ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะแต่ละบุคคลจริงๆ ซึ่งแต่ละบุคคลอาจจะมีปัญหา มีข้อสงสัยต่างๆ กันไป โดยเฉพาะท่านที่มาไกลและเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น การสนทนาเรื่องการเจริญสติปัฏฐานจะมีประโยชน์มาก

    สำหรับความหมายที่ว่า ที่ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ ก็คงจะเข้าใจแล้วว่า รู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏลักษณะต่างๆ อาการต่างๆ ไม่ใช่รู้แจ้งอย่างปัญญา หรือว่าไม่ใช่รู้อย่างสัญญาที่จำหรือหมายรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ประการต่อไป

    อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า จิตฺตํ นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ใน คำว่า จิตฺตํ นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    ต้องเป็นการศึกษาที่ละเอียดขึ้นจึงจะเข้าใจความหมายของคำว่า ชวนวิถี แต่ให้ทราบว่า ลักษณะของจิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครสามารถที่จะเก็บไว้ ยื้อแย่งไว้ไม่ให้ดับ ขณะนี้จิตก็กำลังเกิดขึ้นและดับไปๆ อย่างรวดเร็ว

    และจะได้รู้ลักษณะประการต่อไปของจิตที่เกิดดับ เกิดดับ สืบต่อกันอย่างรวดเร็วนี้ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตแต่ละขณะที่เกิดดับติดต่อกัน

    เมื่อจิตเกิดขึ้นมีปัจจัย เช่น อารมณ์ เป็นอารัมมณปัจจัยให้จิตเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีอารัมมณปัจจัย คือ เสียง ให้จิตได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นต้น แต่ว่าปกติไม่มีการสังเกตรู้ลักษณะของจิตที่เห็น หรือลักษณะของจิตที่ได้ยิน มีใครสังเกตบ่อยๆ เนืองๆ หรือเปล่า ในขณะนี้ที่กำลังเห็นว่า เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏต่างๆ แต่มักจะรู้เวลาที่จิตเป็นกุศลหรืออกุศล ขณะนั้นพอจะบอกได้ใช่ไหมว่า จิตเศร้าหมองขุ่นมัวเป็นอกุศล หรือว่าจิตผ่องใสเป็นกุศล ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น มีความรู้สึกเป็นมิตรไมตรีกับคนอื่น ซึ่งในขณะนั้นให้ทราบว่า จิตแต่ละขณะที่เกิดดับอย่างรวดเร็วสั่งสมสันดานของตน คือ ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ละขณะที่เกิดขึ้นไม่สูญหายไปไหน แต่ว่าสะสมอยู่ในจิตดวงต่อๆ ไป เพราะเมื่อจิตเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปอย่างรวดเร็วแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันที เพราะฉะนั้น ในจิตดวงต่อไปซึ่งเกิดเพราะ จิตดวงก่อนเป็นปัจจัย จึงมีสภาพธรรมซึ่งจิตดวงก่อนมี สะสมสืบต่ออยู่ในจิตดวงต่อไปเรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น แต่ละท่านจะสังเกตได้ว่า แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่างๆ กัน มีอุปนิสัยต่างๆ กันตามการสะสมของจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน บางท่านก็เป็นผู้ที่ใจบุญใจกุศล ซึ่งก็หมายความว่า จิตที่เป็นบุญเป็นกุศลได้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และก็สืบต่อสะสมเป็นปัจจัยให้เกิดจิตที่เป็นบุญเป็นกุศลต่อๆ ไปข้างหน้า หรือว่าอกุศล ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะซึ่งมีอยู่ในจิต เมื่อเกิดขึ้น จิตดวงนั้น ดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสะสมสันดานของตนเอง คือ สิ่งที่มีอยู่ สืบต่อจากจิตดวงก่อนที่ดับไป เพราะฉะนั้น ก็ทราบ ๒ ปัจจัย คือ อารัมมณปัจจัย และอนันตรปัจจัย

    . นามธรรมมีอะไรบ้าง

    สุ. นามธรรมที่เกิดขึ้นที่เป็นสังขารธรรม มี ๒ ประเภท คือ จิตปรมัตถ์ และเจตสิกปรมัตถ์

    . ถ้าไม่เป็นสังขารธรรม เป็นวิสังขารธรรม เป็นนิพพาน ใช่ไหม และ อนันตรปัจจัยเป็นนามธรรม เป็นเจตสิกหรือ

    สุ. จิตและเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เป็นกำลัง เป็นพลัง เป็นปัจจัย เมื่อดับไปแล้วทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น จิตนั่นเองเป็นอนันตรปัจจัยสำหรับจิตดวงต่อไป จิต เจตสิกนั่นเองเป็นอนันตรปัจจัย

    ถ้าไม่มีการสะสมสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะ จะไม่มีการปรากฏเป็นบุคคล แต่ละอุปนิสัย แต่ละอัธยาศัย เพราะฉะนั้น ทุกท่านเวลาที่เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานจะรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าลักษณะนั้นจะเป็นโลภะ หรือว่าจะเป็นโทสะ ก็เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา ที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    . หมายความว่า เมื่อตาเห็น เกิดความโลภ ความโลภนั้นดับไปแล้ว มีกำลังที่จะให้ทำอีก เป็นอย่างนี้ ใช่ไหม

    สุ. โลภะที่เกิดขึ้นกับจิตในขณะนี้ ดับไปพร้อมจิต ไม่ใช่สูญหายหมดสิ้นไป แต่สืบต่ออยู่ในจิตดวงต่อไป เพราะจิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย เมื่อดับแล้วทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นเพราะจิตดวงก่อนเป็นปัจจัย จึงมีทุกสิ่งทุกอย่างที่สะสมสืบต่อจากจิตดวงก่อน ไม่ได้สูญหายไปไหน

    . มีทั้งกุศลและอกุศล

    สุ. ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น นี่คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวลาที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตซึ่งพอใจ ยินดี ปรารถนา ต้องการ ในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ถูกต้อง ที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่รังเกียจ อยากจะไม่มีโลภะ อยากจะให้สงบ ถ้าต้องการที่จะให้สงบ ในขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของโลภะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะสะสม มีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น

    . จุติจิตของพระอรหันต์ กับบุคคลธรรมดา ต่างกันตรงไหน

    สุ. ต่างกันที่จิตของปุถุชนมีปัจจัยที่จะทำให้จิตเจตสิกต่อไปเกิดขึ้นทันที แต่สำหรับพระอรหันต์ จิตนั้นไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นเลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๙๕๑ – ๙๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564