แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 956


    ครั้งที่ ๙๕๖

    สาระสำคัญ

    สละการยึดถือในนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน สมถะ หมายถึงความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เรื่องการคิดจะทำ


    เพราะฉะนั้น เพราะไม่เข้าใจในลักษณะของกุศล บางท่านก็คิดว่า ท่านจะทำกุศลอย่างเดียว คือ ทาน แต่ว่าท่านไม่สามารถจะสละวัตถุ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจานบุคคลอื่นได้ มีไหมอย่างนั้น ถ้ามีเงินก็ให้ได้ แต่ว่าสิ่งที่ท่านมีพอที่จะเอื้อเฟื้อเจือจานสงเคราะห์บุคคลที่ควรจะสงเคราะห์ในขณะนั้น ท่านให้ไม่ได้ เพราะมีความสำคัญตน หรือว่าเพราะมีความหวงแหนในวัตถุนั้น มีไหมอย่างนี้ มี

    แต่ถ้าเข้าใจลักษณะของกุศลจริงๆ จะเจริญกุศลทุกประการ แม้ว่าไม่มีทรัพย์สินเงินทองที่จะให้ ก็ยังมีสิ่งอื่นซึ่งพอจะสละให้ได้ ซึ่งขณะนั้นเป็นกุศล และถ้าสมมติว่า ถ้าท่านสละให้ไม่ได้จริงๆ เพราะว่าท่านเป็นคนที่หวงของ มีไหม คนที่หวงของ มี แต่ท่านก็อยากจะหมดกิเลสเป็นพระโสดาบัน หรือว่าท่านก็ยังอยากให้จิตสงบ จะเป็นไปได้ไหม

    ถ้าบอกท่านที่หวงของว่า ถ้าสามารถให้ของของท่านได้ ไม่หวง ท่านจะถึงนิพพานได้ ลองดูว่า บุคคลนั้นจะให้ได้หรือไม่ได้

    แต่ละบุคคลมีก็การสะสมมาแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาจิตของท่านเองว่า ท่านเป็นผู้ที่ยังหวงสิ่งที่เป็นของของท่านอย่างมาก จนกระทั่งถ้าท่านสละให้ได้ท่านจะถึงนิพพาน ท่านก็ยังไม่ยอมสละ หรือว่าท่านกล้าพอที่จะสละสิ่งนั้นทีละเล็กทีละน้อยๆ จนเป็นปัจจัยที่สามารถจะสละการยึดถือในนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งยึดถือว่าเป็นตัวตน และรู้แจ้งนิพพานได้

    เพราะฉะนั้น บางท่านที่ยังไม่เข้าใจหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม และเข้าใจว่า ท่านอยากจะหมดกิเลส แต่เวลาที่กิเลสเกิดขึ้น ท่านกลับพอใจที่จะให้กิเลสนั้นยังคงมีอยู่ เช่น ความหวงวัตถุสิ่งของ ไม่สามารถที่จะสละให้บุคคลอื่นได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า ยังไม่ต้องการที่จะดับกิเลสจริงๆ ถูกไหม เพราะแม้แต่วัตถุสิ่งของก็ยังไม่สามารถที่จะเจือจานให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นได้ หรือเวลาที่มีมานะ สำคัญตน มีความริษยา ถ้าบอกว่า ละเสียขณะนั้น ควรที่จะพลอยยินดีด้วยกับบุคคลอื่น หรือควรจะมีเมตตาในบุคคลซึ่งท่านเห็นว่าเป็นผู้ที่ชั่ว ถ้าท่านสามารถที่จะเมตตาได้ก็จะถึงนิพพาน จะยอมไหม บางคนไม่ยอม ยังต้องโกรธอยู่ พอใจ มีฉันทะในการที่จะต้องโกรธ ในการที่จะต้องดูหมิ่น ในการที่จะต้องถือตัว แม้จะแลกกับนิพพาน คือ ถ้าไม่มีอกุศลนั้นๆ ในขณะนั้น ก็สามารถที่จะถึงนิพพานได้ ท่านที่สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้นอย่างแรงกล้า ก็ยังไม่สามารถที่จะกระทำได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำได้ทันที ไม่ใช่ว่าท่านเป็นผู้ไม่มีสิ่งใดที่จะหวงแหน แต่ท่านยังมีสิ่งที่ท่านยังหวงแหนอยู่ บางอย่างก็สละให้ได้ แต่บางอย่างก็สละให้ไม่ได้ ซึ่งการที่จะสามารถสละให้ได้แม้แต่สิ่งที่ยังสละไม่ได้ ก็จะต้องค่อยๆ เป็นไป ค่อยๆ อบรมให้เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการดับกิเลสจริงๆ ต้องรู้ว่า จะต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการ ไม่ใช่เฉพาะทานอย่างเดียว แต่ยังหวงเก็บอกุศลอื่นๆ ไว้และหวังรอว่า เมื่อไรจึงจะถึงนิพพาน

    บางท่านอยากสงบ รู้ว่าวันหนึ่งๆ กระสับกระส่ายมาก กระวนกระวายมาก คิดถึงเรื่องนั้นก็โกรธ คิดถึงเรื่องนี้ก็ยุ่ง มีแต่เรื่องเดือดร้อนใจ รำคาญใจ เพราะไม่ได้พิจารณาจิตในขณะนั้น แต่พิจารณาบุคคลซึ่งท่านโกรธ เมื่อพิจารณาบุคคลอื่นในแง่ที่จะทำให้ท่านเกิดอกุศลขึ้น จิตก็ย่อมจะกระสับกระส่าย กระวนกระวาย เดือดร้อน เมื่อรู้ว่ากำลังเดือดร้อนก็อยากจะสงบ แต่ไม่รู้หรอกว่า ถ้าไม่โกรธเสียในขณะนั้นก็สงบทันที ไม่ต้องไปท่องบ่นอะไรเลย

    กำลังโกรธ เป็นอกุศล เป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ เพราะในขณะนั้นไม่สบายใจ เดือดร้อนใจ กังวลใจ เพราะฉะนั้น เพียงแต่เกิดเมตตาในขณะนั้นเท่านั้นก็สงบแล้ว ไม่ต้องไปท่องบ่นอะไร

    ถ้าไปท่องบ่นเพราะอยากสงบ แต่ว่าเวลาที่เกิดโกรธขึ้นมา ไม่มีโยนิโสมนสิการที่จะพิจารณาโดยแยบคายว่า สมถะ หมายถึงความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนั้นโทสะเกิด ไม่สงบ ถ้าขณะนั้นพิจารณาบุคคลอื่นในแง่ที่จะทำให้เกิดเมตตาบ้าง กรุณาบ้าง มุทิตาบ้าง อุเบกขาบ้าง สงบแล้ว สงบทันที เพราะในขณะที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น ก็สงบ เร็วไหม ไม่ต้องไปเสียเวลาท่องบ่น หรือคอย ทันทีที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ

    . การเจริญสติปัฏฐาน หมายความถึงการระลึกถึงลักษณะ ไม่ปนกัน ทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ใช่ไหม

    สุ. ตามปกติในขณะนี้ ที่เกิดแล้วปรากฏ

    . ไม่ให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนรวมกัน ระลึกแต่ละลักษณะ ไม่ให้ติดต่อกัน หรืออย่างไร

    สุ. ห้ามไม่ได้ แต่เวลาที่สติระลึก จะเริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ตาก็มีจริง มีสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย มีสภาพเห็น คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้

    . อย่างเห็น ขณะหนึ่งแล้ว รู้เห็นอีกขณะหนึ่ง คนละขณะ อย่างเห็นพระพุทธรูป เห็น เพียงแค่เห็น รู้ว่าเป็นรูปร่างลักษณะ ก็เป็นอีกขณะหนึ่งแล้ว ใช่ไหม

    สุ. เจ้าค่ะ

    . สามเณรอยู่สมุทรสาคร วัดธรรมาภิรมย์ มาวัดปากน้ำ เลยหาโอกาสแวะมาฟัง เลื่อมใส ฟังรายการวิทยุมานานแล้ว ฟังแล้วเกิดสติปัญญาว่องไวขึ้น สามารถระลึกรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลและอกุศลได้ เมื่อก่อนจิตหยาบ เดี๋ยวนี้ค่อยละเอียดขึ้น ระลึกรู้จิตที่เป็นกุศลและอกุศลมากขึ้น

    ตอนที่คนจะตาย จิตเข้าสู่มรณาสันนวิถี จะต้องมีอารมณ์ปรากฏอยู่ ๓ ทาง คือ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิต และคตินิมิต ใช่ไหม

    สุ. หนี่งในสาม ไม่ใช่ทั้งสาม เจ้าค่ะ

    . พี่สาวของสามเณรเคยรักษาศีล เจริญภาวนา อายุไม่เท่าไร ตอนนี้ก็ยังอยู่ ชื่อ อุบลนาท บวชชี ตอนที่เขาจะไม่สบายหนักๆ จะเกิดมีนิมิตดีๆ เช่น เห็นพระพุทธรูป ไม่มีพระสงฆ์มาสวดมนต์ก็ได้ยินเสียงสวดมนต์เอง เมื่อไม่สบายหนักๆ จะมีมาปรากฏ ทำให้จิตใจผ่องใส เห็นลานพระเจดีย์ พระธาตุบ้าง เพราะเขาเคยรักษาศีล เจริญภาวนามาบ่อยๆ

    สุ. เฉพาะตอนที่จะจุติเท่านั้นที่เป็นมรณาสันนกาลและมรณาสันนวิถี ก่อนนั้นถ้ายังไม่ตายไม่ชื่อว่า มรณาสันนกาล หรือมรณาสันนวิถี เจ้าค่ะ

    . ที่ปรากฏนี้ ไม่ใช่หรือ

    สุ. ไม่ใช่มรณาสันนกาล ไม่ใช่มรณาสันนวิถี แต่ปรากฏเป็นอารมณ์

    . คนข้างวัดเขาเล่าให้ฟังว่า คนที่จับปูเป็นประจำ ตอนที่เขาไม่สบาย หนักๆ เขาทำมือทำไม้เหมือนเขาจับปู

    สุ. ที่ท่านเล่าเรื่องมา เกี่ยวกับตอนที่เป็นลักษณะของจิต อธิบายคำว่า จิต ประการที่ ๒ ที่ว่า

    ในคำว่า จิตฺตํ นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    กำลังอยู่ในข้อนี้ เจ้าค่ะ

    ขอกล่าวถึงคราวก่อน มีท่านผู้ฟังจากต่างจังหวัดถามว่า การปฏิบัติวิปัสสนาทำอย่างไร

    แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน คงจะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดไปกราบทูลถามว่า การปฏิบัติวิปัสสนาทำอย่างไร แต่ว่าไปฟังธรรมเพื่อที่จะได้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เคยเข้าใจ ที่ไม่เคยฟัง และไม่เคยศึกษามาก่อน ให้เข้าใจยิ่งขึ้น

    เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เรื่องการคิดจะทำโดยไม่เข้าใจอะไรเลย แต่การที่จะปฏิบัติธรรมได้ถูกต้อง หมายความว่า มีความรู้ มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมก่อนและจึงจะรู้ว่า ขณะใดเป็นการปฏิบัติธรรม แต่ไม่ใช่โดยไม่เข้าใจอะไรเลยก็คิดว่า จะทำวิปัสสนา หรือว่าการทำวิปัสสนานั้นจะทำอย่างไร

    ถ้าไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ใครจะทำวิปัสสนาได้ จะทำอย่างไรที่จะให้เป็นวิปัสสนา ที่จะทำให้เกิดความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น จะต้องเริ่มต้นจากการฟัง จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะได้ระลึกรู้ ศึกษา และน้อมพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติตามความเป็นจริง

    ขณะใดที่สติระลึก ศึกษา และน้อมพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นมีความเข้าใจถูกต้องว่า การที่ปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมได้ ก็เพราะระลึกได้ จึงศึกษาพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่จะต้องมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก่อน จึงจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและจะทำวิปัสสนา ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย

    บางท่านเวลาที่ฟังเรื่องลักษณะต่างๆ ของจิตตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ท่านก็คิดว่า ท่านกำลังฟังปริยัติธรรม แยกกันว่าปริยัติเป็นส่วนหนึ่ง และปฏิบัติเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ที่เข้าใจว่าเป็นปริยัติ คือ กำลังฟังเรื่องลักษณะประการ ต่างๆ ไม่ใช่หมายความว่า ไม่ให้รู้ลักษณะของจิตที่กำลังเห็นในขณะที่กำลังฟัง หรือว่าลักษณะของจิตที่กำลังได้ยินในขณะที่กำลังฟัง ลักษณะของจิตที่คิดนึกในขณะที่กำลังฟัง

    แต่ในขณะที่กำลังฟังเดี๋ยวนี้ มีทั้งจิตเห็น ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่กำลังได้ยิน ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้เสียง และก็มีสภาพธรรมที่กำลังคิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ตามเสียงต่างๆ ที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมทั้งหมด เป็นปริยัติธรรม และเป็นปฏิบัติธรรมด้วย ถ้าขณะที่กำลังฟัง สติเกิดระลึกพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ปริยัติกับปฏิบัติ ไม่ได้แยกกัน

    ไม่ใช่ว่า เวลาที่กำลังศึกษาธรรมเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก และจะไปทำวิปัสสนา ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ในขณะที่กำลังฟังเข้าใจ สติอาจจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังฟัง ที่กำลังปรากฏ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นธรรมซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น ปฏิบัติกิจของธรรมนั้นๆ

    เช่น สติ ซึ่งเป็นองค์หนึ่งของมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น ระลึกได้ที่จะพิจารณาในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังฟัง ในขณะนี้เอง แล้วแต่ว่าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เห็นแจ้งในลักษณะอาการต่างๆ ของอารมณ์ที่ปรากฏ ทางตา หรือว่าเกิดได้ยินเสียงหนึ่งเสียงใดขึ้น สติก็อาจจะเกิดขึ้น เพราะในขณะนั้นรู้ว่า สติเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของเสียงต่างๆ ที่ปรากฏทางหู

    ขณะนี้มีเสียงปรากฏแน่นอน มีเสียงต่างๆ พอที่จะรู้ว่า เป็นเสียงพัดลมก็มี เสียงเด็กวิ่งเล่นก็มี นั่นเป็นเสียงต่างๆ เป็นลักษณะอาการต่างๆ ที่จิตรู้แจ้งในลักษณะอาการต่างๆ ของเสียงต่างๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจในอรรถในลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ต่างๆ เวลาที่อารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น สติก็สามารถที่จะมีปัจจัยเกิดขึ้นระลึกได้ทันทีว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่กำลังรู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ ในขณะที่กำลังฟังในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะคิดว่า ปริยัติและปฏิบัติ แยกกัน

    มีท่านผู้หนึ่งเล่าว่า มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งบอกให้ท่านไปเรียนพระอภิธรรม เวลาที่ฟังเรื่องของจิต ซึ่งความจริงแล้วในขณะที่กำลังพูดถึงเรื่องลักษณะต่างๆ ของจิต นี่คือ อภิธรรม กำลังฟังเรื่องของจิตที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอยู่ และฟังเพื่อให้พิจารณา เพื่อให้เข้าใจให้ชัดเจน จนกระทั่งสติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิต เพราะว่าจิตมีลักษณะอาการต่างๆ พอที่จะรู้ได้ว่า จิตมีลักษณะอย่างไรบ้างเพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิตประการต่างๆ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่กำลังฟัง ไม่ใช่ว่าไม่ได้เรียนพระอภิธรรม กำลังเรียนอยู่ และเรียนอย่างละเอียดด้วย เพื่อให้เข้าใจชัดในลักษณะของจิตปรมัตถ์เป็นเบื้องต้น เพื่อที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ลักษณะสภาพของจิต

    ในคราวก่อนท่านผู้ฟังได้ทราบอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๑ คือ อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ ซึ่งหมายความถึงรู้ลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือ ทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ซึ่งจิตก็ไม่ได้มีแต่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ยังมีจิตที่เป็นกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น ความหมายประการที่ ๒ คือ ในคำว่า จิตฺตํ นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตน

    คำว่า สันดาน ในภาษาไทยมาจากคำในภาษาบาลีว่า สนฺตาน หรือคำว่า สนฺตติ ซึ่งหมายถึงการเกิดดับสืบต่อกัน เวลาที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นยังไม่ใช่กุศลจิต และยังไม่ใช่อกุศลจิต จึงยังไม่ได้สั่งสมสันดาน เพราะจิตเห็นก็ดี จิตได้ยินก็ดี จิตได้กลิ่นก็ดี จิตลิ้มรสก็ดี จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ดี เป็นวิบากจิต เป็นผลของอดีตกรรม เวลาที่กรรมใดให้ผล หมายความว่า ถึงพร้อมด้วยเหตุปัจจัยที่จะให้วิบากจิตเกิดขึ้น

    ทุกท่านจะต้องเห็นต่อไปอีกมาก นานเหลือเกินทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไป แต่ไม่ทราบว่าจะเห็นอะไรบ้าง ท่านยังจะต้องได้ยินอีกมากทั้งในชาตินี้และในชาติต่อไป จะต้องได้กลิ่น จะต้องลิ้มรส จะต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทั้งในชาตินี้อีกนาน และ ในชาติต่อๆ ไปด้วย แต่ไม่ทราบว่า ขณะไหนจะเห็นอะไร เพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ได้มีเฉพาะกรรมเดียวในชาติเดียว แต่ในสังสารวัฏฏ์ที่เนิ่นนาน เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า กรรมใดถึงพร้อมด้วยเหตุปัจจัยที่จะทำให้ผลของกรรม คือ วิบากจิตเกิดขึ้นเห็นอะไร ในขณะไหน ในชาติไหน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๙๕๑ – ๙๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564