แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 957


    ครั้งที่ ๙๕๗

    สาระสำคัญ

    ภวังคจิตทำกิจดำรงภพชาติ จิตที่รู้อารมณ์ในโลกนี้เป็นวิถีจิต ฝัน เป็นมโนทวารวิถีจิต ตายอยู่ทุกๆ ขณะ


    ทั้งๆ ที่ทุกท่านทราบว่า ท่านจะต้องเห็นอีกนานตลอดชั่วชีวิตนี้ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะเห็นอะไรบ้างต่อจากนี้ เพราะแล้วแต่กรรมหนึ่งกรรมใดจะเป็นปัจจัยให้เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ให้ทราบว่า กรรมนั้นสุกงอมพร้อมที่จะให้ผล คือ ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ จึงทำให้การเห็นเกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการได้ยินเกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการได้กลิ่นต่างๆ เกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการลิ้มรสต่างๆ เกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว สุข ทุกข์ทางกายแต่ละขณะ ซึ่งเป็นวิบากจิต และวิบากจิตเหล่านี้ไม่ได้สั่งสมสันดาน เพราะเป็นเพียงวิบาก เป็นผลของกรรมที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจอรรถหรือความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๒ ที่ว่า กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี จะต้องเข้าใจความหมายของวิถีจิตก่อนว่า วิถีจิตคือจิตประเภทไหน เกิดขึ้นเมื่อไร รวมทั้งจะต้องเข้าใจความหมายของชวนวิถี ซึ่งเป็นขณะที่จิตสั่งสมสันดานของตน ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง หรือว่าสำหรับ พระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาจิต ถึงแม้ว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นพระอรหันต์ที่มีกาย วาจา ใจต่างๆ กัน เพราะสั่งสมสันดานของตน

    ต้องเข้าใจความหมายของวิถีจิตว่า หมายถึงจิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต จิตใดก็ตาม ซึ่งต่อไปจะได้ยินชื่อของจิตประเภทต่างๆ จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต เป็นวิถีจิตทั้งหมด

    ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะเดียว คือ ขณะที่ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพียงขณะเดียวที่เป็นปฏิสนธิจิต กระทำปฏิสนธิกิจ ขณะนั้นไม่มีการเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในโลกนี้ ไม่มีการได้ยินเสียงที่ปรากฏในโลกนี้ ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ถ้าเกิดในมนุษย์ภูมิ เช่น ทุกท่านที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ กุศลกรรมเป็นปัจจัยให้วิบากจิต ซึ่งเป็นมหาวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่ว่าปฏิสนธิจิต ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น

    และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมยังไม่ได้หยุดการให้ผลเพียงแค่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น แต่ยังเป็นปัจจัยให้วิบากจิตประเภทเดียวกัน คือ ในภูมิที่เป็นมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้ที่พิการมาแต่กำเนิดปฏิสนธิด้วยมหาวิบากจิต ๑ ดวงที่เป็นผลของ มหากุศลจิต เกิดขึ้นทำภวังคกิจ สืบต่อความเป็นบุคคลซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ดำรงภพชาติของการเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะจุติ

    เวลานี้ยังไม่จุติ เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็มีภวังคจิตซึ่งกระทำกิจสืบต่อความเป็นบุคคลนี้ไว้ ในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย และไม่คิดนึก

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ขณะใดที่เป็นปฏิสนธิจิต เป็นภวังคจิต ขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต

    วิถีจิต คือ ขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ตามปกติ ในชีวิตประจำวันนี่เอง แต่เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ไม่สามารถที่จะจำแนกออกได้ว่าเป็นจิตประเภทไหน เกิดขึ้นในขณะไหน ต่างกับขณะที่เป็นภวังคจิตอย่างไร

    ขณะนี้กำลังเห็น ไม่ใช่ภวังคจิต เพราะภวังคจิตทำกิจดำรงภพชาติขณะที่ ไม่เห็นสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ได้ยินเสียงต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ได้กลิ่นต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ได้ลิ้มรสต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายในโลกนี้

    และจะรู้ลักษณะของภวังคจิต เวลาที่ภวังคจิตเกิดสืบต่อกันนานๆ ได้ เช่น ในขณะที่นอนหลับสนิท ในขณะที่นอนหลับสนิทไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่ได้กลิ่นอะไร ไม่ได้ลิ้มรสต่างๆ ของโลกนี้ ไม่ได้กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่ปรากฏในโลกนี้ ไม่ได้คิดนึกเรื่องราวต่างๆ

    ในขณะที่นอนหลับสนิท ภวังคจิตเกิดสืบต่อจนกว่าจะมีการเห็นสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ เพราะฉะนั้น โลกนี้ไม่ปรากฏ ในขณะที่จิตทำกิจปฏิสนธิ และภวังคกิจ โลกนี้จะเป็นโลกมนุษย์ มีลักษณะอย่างไร ก็ไม่ปรากฏทั้งสิ้น

    ถ้ามีใครกำลังนอนหลับเดี๋ยวนี้ จะเห็นไหมว่าในที่นี้มีใครบ้าง มีเสียงอะไรบ้าง มีกลิ่นอะไรบ้าง มีรสอะไรบ้าง มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง กำลังปรากฏอย่างไรบ้าง ไม่รู้เลย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น โลกนี้ไม่ปรากฏกับปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต

    เคยมีความทรงจำเกี่ยวกับโลกนี้ เกี่ยวกับบุคคลต่างๆ ที่เคยพบเห็นในโลกนี้ แต่ก็ไม่ปรากฏเลย แม้แต่ความจำ ในขณะที่กำลังเป็นภวังคจิต ตัดขาดจากอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในโลกนี้ทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ที่กำลังเห็น ไม่ใช่ภวังคจิต แต่ว่าเป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นเห็น หรือว่ารู้ หรือว่ายินดีพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จิตขณะนั้นทั้งหมดเป็นวิถีจิต

    ขณะที่มีการได้ยินเสียงในขณะนี้ รู้ลักษณะของเสียง และมีความพอใจ ไม่พอใจ เป็นกุศลและอกุศลที่กำลังรู้เสียงนั้น ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ขณะนั้นเป็น วิถีจิต และเมื่อเป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้เสียง วิถีจิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นรู้เสียงเป็นโสตทวารวิถีจิต เป็นภาษาบาลี แต่ตามความเป็นจริง คือ เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้เสียงทางหู

    ในขณะนี้ กำลังมีสภาพธรรมที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นวิถีจิต ที่เกิดขึ้นทางตาทั้งหมดเป็นจักขุทวารวิถีจิต ทางหูทั้งหมดที่ได้ยินเสียงเป็นโสตทวารวิถีจิต ทางจมูกทั้งหมดเป็นฆานทวารวิถีจิต ทางลิ้นที่ลิ้มรส รู้รส พอใจในรส ไม่พอใจในรส ทั้งหมดเป็นชิวหาทวารวิถีจิต ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัสอารมณ์ของโลกนี้ ที่กำลังเย็น กำลังร้อน กำลังอ่อน กำลังแข็ง ก็เป็นกายทวารวิถีจิต

    เพราะฉะนั้น คงจะเข้าใจความหมายของวิถีจิตได้ว่า ขณะใดที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต จิตนั้นๆ เป็นวิถีจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นจักขุทวารวิถีจิต หรือโสตทวารวิถีจิต หรือฆานทวารวิถีจิตที่ได้กลิ่น หรือชิวหาทวารวิถีจิตที่รู้รส หรือกายทวารวิถีจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย หรือมโนทวารวิถีจิตที่รู้อารมณ์ต่างๆ ทางใจ

    . ผมสงสัยว่า ปฏิสนธิจิตและภวังคจิตเกิดพร้อมกัน หรือว่า ...

    สุ. พร้อมกันไม่ได้ จิตของแต่ละบุคคลเกิดขึ้นทีละขณะ เมื่อจุติจิตดับไป จิตดวงที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ชื่อว่า ปฏิสนธิจิต เพราะกระทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ขณะนั้นทำกิจสืบต่อ ขณะที่เกิดในภพนี้เป็นการเกิดสืบต่อจากจุติของชาติก่อน ขณะเดียวและดับไป และกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ยังไม่ได้สิ้นสุดการให้ผลเพียงทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ยังเป็นปัจจัยให้วิบากจิตประเภทเดียวกันกับปฏิสนธิเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตที่ดับไป ทำภวังคกิจ ชื่อว่า ปฐมภวังค์ เพราะเป็นภวังคจิตดวงแรกต่อจากปฏิสนธิจิต

    . ภวังคจิตเป็นจิตที่เกิดจาก ...

    สุ. ต่อจากปฏิสนธิ และเกิดสืบต่อไปเรื่อยๆ ในระหว่างที่วิถีจิตยัง ไม่เกิดขึ้น ขณะใดที่ไม่มีการเห็นเป็นภวังคจิต เวลาที่ไม่มีการได้ยินก็เป็นภวังคจิต เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า จิตที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก ไม่ใช่ภวังคจิต เป็นวิถีจิต

    จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต จิตนั้นๆ เป็นวิถีจิต เพราะเป็นจิตที่รู้อารมณ์ในโลกนี้

    ถ้านอนหลับสนิท โลกนี้ไม่ปรากฏ โลกนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จะเย็น หรือ จะร้อน จะมีเสียงอะไร เสียงฟ้าร้อง เสียงฝนตก เสียงลมพัด โลกนี้ทั้งหมดไม่ปรากฏในขณะที่เป็นภวังคจิต เพราะภวังคจิตไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้

    จุติจิต ยังไม่ถึง วันหนึ่งก็จะเกิดขึ้น แต่ว่าขณะที่จุติจิตเกิดก็ไม่ใช่วิถีจิต คือ ไม่ใช่ขณะที่เห็น จิตที่เห็นก็เห็น ไม่ใช่กระทำกิจเคลื่อนจากการเป็นบุคคลนี้ เพราะว่าจิตแต่ละดวงแต่ละประเภทเกิดขึ้นทำกิจเฉพาะของตนๆ จิตดวงหนึ่งก็กระทำกิจหนึ่ง เช่น จิตเห็นก็กระทำกิจเห็น ไม่ได้กระทำกิจได้ยิน ไม่ได้กระทำกิจภวังค์ หรือไม่ได้ทำกิจจุติ

    ฝัน เป็นมโนทวารวิถีจิต เพราะว่าทางรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ทางใจ ๑ เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่าฝัน ไม่ใช่ภวังค์ ถ้าเป็นภวังค์ อารมณ์จะไม่ปรากฏเลย ตัดขาดจากอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้นของโลกนี้ ฝัน ฝันถึงอะไร อารมณ์ที่เคยเห็นในโลกนี้หรือเปล่า

    . ภวังคจิตประกอบด้วยเวทนาอะไร

    สุ. จิตทุกดวงต้องประกอบด้วยเวทนาเจตสิก เพราะจิตเป็นสังขารธรรม ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง และใน ๗ ดวงนั้นเป็นเวทนาเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นสัญญาขันธ์ ส่วนเจตสิกอื่นๆ เป็นสังขารขันธ์

    . เวทนามี ๕ มีสุข มีทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา แต่ภวังคจิตประกอบด้วยเวทนาประเภทไหน

    สุ. แล้วแต่ปฏิสนธิจิต ถ้าปฏิสนธิจิตประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ภวังคจิต ก็ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เนื่องจากภวังคจิตเกิดขึ้นเพราะกรรมเดียวกับปฏิสนธิจิต กรรมที่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิเกิด ไม่ได้ทิ้งขว้างให้แค่ปฏิสนธิ แต่ยังให้ผลสืบต่อ คือ ให้กระทำกิจภวังค์สืบต่อไป เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยเวทนาอะไร ภวังคจิตก็ประกอบด้วยเวทนานั้น

    . เมื่อครั้งก่อนอาจารย์กล่าวว่า ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ขณะนั้นก็มีความสุข เพราะว่าหลังจากการเห็นก็ต้องมีความชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง หลังจากการได้ยินก็จะต้องมีชอบใจ ไม่ชอบใจบ้าง แต่ภวังคจิตไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น เพราะฉะนั้น จะต้องมีความสงบสุข เหมือนกับเห็นพระนิพพาน

    สุ. เวลาที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่คิดนึก ดีหรือไม่ดี

    . ก็ต้องว่าดี

    สุ. คราวก่อนบอกว่า ไม่ดี เพราะว่าไม่เห็น แสดงว่าอยากเห็น อยาก ได้ยิน อยากได้กลิ่น อยากลิ้มรส อยากรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    การฟังธรรมจะมีความเข้าใจขึ้นเพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ ในขั้นที่ยังพอใจที่จะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เวลาที่รู้ว่าจะไม่มีการเห็น ไม่มีการ ได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ก็ไม่ชอบ เพราะอยากจะเห็น อยากจะได้ยิน

    . อยากจะเห็นสิ่งที่ดีๆ เท่านั้น

    สุ. เพราะฉะนั้น เป็นภวังค์ คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ดีไหม

    . พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า นิพพานเป็นสันติสุข เพราะว่ามีความสงบ มีความสุข ไม่ได้เร่าร้อนอะไร เพราะนิพพานไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่ถูกต้องสัมผัส ผมจึงสงสัยว่า ภวังคจิตกับนิพพานนี้จะเหมือนกันหรือเปล่า

    สุ. ไม่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าภวังคจิตจะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ แต่ก็เกิดขึ้นและดับไป และไม่ใช่จะเป็นภวังค์อยู่ตลอดไปเป็นนิจนิรันดร์ เพราะยังมีปัจจัยที่จะให้เห็นเกิดขึ้น ซึ่งเลือกไม่ได้ว่า จะให้เห็นสิ่งใด

    ทุกคนยังไม่จุติ ก็ยังจะต้องเห็น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะเห็นอะไร เมื่อไร จะได้ยินอะไร เมื่อไร เพราะมีปัจจัยที่จะให้เห็น เห็นก็เกิดขึ้น มีปัจจัยที่จะให้ได้ยิน ได้ยินก็เกิดขึ้น ภวังคจิตเพียงสลับคั่นระหว่างวิถีจิตที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลัง ได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึกในขณะนี้เท่านั้น

    ไม่มีใครจะหยุดยั้งวิถีจิตต่างๆ ไม่ให้วิถีจิตต่างๆ เกิด เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ภวังคจิตไม่ใช่นิพพาน เพราะเป็นเพียงจิตที่เกิดสืบต่อดำรงภพชาติ คั่นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตที่คิดนึก

    . ผมฟังๆ อาจารย์พูด ภวังคจิตนี้รักษาภพชาติ ใช่ไหม

    สุ. ดำรงภพชาติ ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้

    . กำลังคิด ขณะที่ผมกำลังพูดกับอาจารย์อยู่อย่างนี้ มีภวังคจิตไหม

    สุ. คั่น มีช่องว่างคั่นอยู่เรื่อยๆ ระหว่างเห็นกับได้ยิน ต้องมีช่องว่าง เห็นจึงไม่ได้เห็นตลอดไป ถูกไหม

    ขอกล่าวถึงเป็นทางๆ ไป เริ่มตั้งแต่เห็นกับได้ยิน ต้องมีช่องว่างคั่น เพราะไม่ได้เห็นอยู่ตลอดไป ช่องว่าง คือ ภวังคจิต ภวังคจิตเกิดคั่น

    . ที่ผมกำลังพูดกับอาจารย์ มีภวังคจิตไหม

    สุ. มี ระหว่างเห็นกับได้ยินก็มีภวังคจิตคั่น ระหว่างที่ได้ยินกับคิดนึกก็มีภวังคจิตคั่น

    . ภวังคจิตรักษาภพชาติได้อย่างไร

    สุ. ดำรงภพชาติ ก็ยังยืนอยู่ ยังไม่ได้จุติ ก็ยังคงเป็นบุคคลนี้อยู่ ตราบใดที่จุติจิตยังไม่เกิด ใครจะทำลายความเป็นบุคคลนี้ไม่ได้เลย ไม่มีใครสามารถที่จะทำลายนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และไม่มีใครที่จะให้บุคคลนี้ดำรงความเป็นบุคคลนี้ต่อไปได้ถ้าจุติจิตเกิดขึ้นและดับไป สิ้นสุดทันที ไม่เหลือความเป็นบุคคลนี้เลย จะไปแสวงหาที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วแต่ละขณะ ซึ่งความจริงก็เป็นการตายอยู่ทุกๆ ขณะ แต่มองไม่เห็น

    และต่อไปจะได้ทราบละเอียดยิ่งขึ้นว่า วิถีจิตทั้งหมดนั้นมีอะไรบ้าง

    กำลังนอนหลับ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติอยู่ แต่ไม่ใช่ตลอดไป เวลาที่มีอารมณ์กระทบทวารหนึ่งทวารใดซึ่งเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นๆ แม้ในขณะที่กำลังนอนหลับสนิท กรรมก็เป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทรูปเกิดดับสืบต่อ ยังไม่ใช่เป็นบุคคลที่ตาบอด แต่ถ้าขณะใดกรรมนั้นยุติการเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิด บุคคลนั้นแม้ตื่น ก็ไม่สามารถที่จะเห็นอะไรได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๙๕๑ – ๙๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564