แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 937


    ครั้งที่ ๙๓๗

    สาระสำคัญ

    ผู้ที่มีความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน สัง.นิทาน.ปัพพตูปมสูตร คำที่ใช้เพื่อให้เข้าใจในอรรถ  มัช.อุปริ.ภูมิชสูตร


    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจถึงความต่างกันของพระธรรมคำสอนที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรมว่า เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย แต่เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมจริงๆ และเมื่อนั้นจะเห็นคุณค่าว่า การที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล มีคุณค่ามากมายเหลือที่จะเปรียบเทียบได้กับการบรรลุคุณวิเศษแห่งอัญญเดียรถีย์ สมณพราหมณ์ และปริพาชก

    ความต่างกัน คือ ถ้าไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งบรรลุถึงฌานจิตขั้นต่างๆ ตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงปัญจมฌาน และอรูปฌาน ก็ไม่สามารถที่จะพ้นจากสังสารวัฏฏ์ได้ แต่สำหรับ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน จะมีการเกิดอีกเพียงอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ

    เพราะฉะนั้น ความทุกข์ที่จะมีใน ๗ ชาติ เมื่อเปรียบเทียบกับความทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในสังสารวัฏฏ์ ย่อมจะเปรียบเทียบได้กับก้อนหินเท่าเมล็ด ถั่วเขียว ๗ ก้อนที่บุรุษวางไว้ กับขุนเขาสิเนรุ

    แต่ว่าเป็นปกติธรรมดา ต้องอาศัยขันติ ความอดทน ที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความสงบ หรือคุณวิเศษในลัทธิศาสนาอื่นเพียงใด ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีโอกาสได้ฟังธรรม ได้เข้าใจธรรมเรื่องของการอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ต้องเป็นผู้ที่อดทนจริงๆ ที่จะรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แม้ว่าจะมีความเข้าใจเรื่องลักษณะของสติ อารมณ์ที่กำลังปรากฏที่สติจะต้องระลึกศึกษาจนกว่าปัญญาจะรู้ชัด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ขณะที่กำลังเห็น สติกำลังระลึก หรือว่าขณะที่กำลังได้ยิน สติก็ระลึกที่เสียง หรือที่สภาพธรรมที่รู้เสียงที่กำลังได้ยิน มีความเข้าใจจริงๆ ว่า สติสามารถระลึกได้ แต่ถ้าสติยังไม่เกิด ก็ไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากจะรู้ว่า สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดในระหว่างที่สติ ไม่เกิด ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ไม่ใช่ว่ามีความต้องการอย่างอื่น ที่ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะถ้ามีความหวังอย่างอื่น หรือว่ามีความต้องการอย่างอื่นก็เป็นเครื่องกั้น ในขณะนั้น ไม่ใช่การอบรมเจริญสติที่จะสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ตามความเป็นจริง

    แต่ทุกคนหวังใช่ไหมว่า วันหนึ่งสติจะมีกำลังเป็นพละ ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจะเป็นอกุศล หรือกุศลขั้นใดๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติปัฏฐานก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สืบต่อกันได้จากทางตาที่กำลังเห็นถึงทางใจที่กำลังรู้ความหมายของสิ่งที่เห็น จากทางหูที่กำลังได้ยินถึงทางใจที่กำลังนึกถึงคำที่กำลังรู้เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อได้อบรมเจริญจริงๆ แล้ว ย่อมเป็นพละ มีกำลังที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    ในสังสารวัฏฏ์ ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติก็ตาม ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานบ้าง และสติปัฏฐานก็เกิดบ้าง แต่ยังไม่เป็นพละ ยังไม่มีกำลัง ในระหว่างนั้น เป็นผู้ที่ท้อถอยจากการอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า หรือว่าเป็นผู้ที่มีความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ไม่ว่า สภาพธรรมใดจะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยใดๆ ก็ตาม

    แต่ว่าโดยมาก ส่วนใหญ่ที่จะละทิ้ง หรือว่าละเลยการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ก็เพราะต้องการผลที่เร็ว

    บางท่านรู้สึกว่า เท่าที่ได้ฟังเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน และเท่าที่ สติปัฏฐานเกิดบ้าง ก็ไม่เห็นผลอะไร บางท่านเข้าใจอย่างนั้น เพราะว่าอกุศลก็ยังมีอยู่ โลภะเดี๋ยวก็เกิดๆ โทสะก็ยังมี ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ดูเหมือนว่ายังไม่ได้หมด หรือว่ายังไม่ละคลายไป และบางครั้งอาจจะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้ความพอใจหรือโลภะเกิดอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้น ก็ทำให้คิดว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานคงจะไม่มีผลอะไร เพราะถ้ามีผล ทำไมลักษณะของโลภะอย่างแรงจึงเกิดได้ หรือว่าโทสะอย่างแรงจึงเกิดได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการผลอย่างรวดเร็ว ก็มองไม่เห็นผลของการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นโลภะอย่างอ่อนหรืออย่างแรง ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นโทสะที่เป็นความขุ่นเคืองใจอย่างเล็กน้อย หรือว่าความโกรธ ความพยาบาทอย่างรุนแรง ก็เป็นแต่เพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่ง จึงได้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ถ้าไม่รู้ว่านี่คือผลที่ปัญญาจะค่อยๆ รู้ว่า สภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่ต้องการผลอย่างนี้ เป็นผู้ที่ต้องการสงบทันที คิดว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่มีผล เพราะไม่สงบ โลภะก็ยังมีมาก โทสะก็ยังมีมาก อกุศลอื่นก็ยังเกิดมาก ก็ย่อมทำให้บุคคลนั้นหันไปสู่ผลอย่างอื่น

    การอบรมเจริญความสงบ ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงตรัสรู้ แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้เป็นพุทธบริษัท ก็สามารถบรรลุฌานจิตถึงขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน และอรูปฌานด้วย แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล การบรรลุคุณวิเศษแห่งอัญญเดียรถีย์สมณพราหมณ์ และปริพาชก เมื่อเทียบกับการบรรลุโสดาปัตติมรรคแห่งบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่๑๐๐,๐๐๐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ มีอธิคมใหญ่อย่างนี้ มีอภิญญาใหญ่อย่างนี้ ฯ

    ทรงเตือนแล้ว เตือนอีก ให้เห็นความต่างกันว่า ความสงบไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะในลัทธิอื่นก็สามารถที่จะถึงฌานจิตขั้นต่างๆ ได้ แต่ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ต้องเป็นผู้ที่อดทนจริงๆ และเข้าใจจริงๆ ว่า ถ้าตราบใดปัญญายังไม่เกิดขึ้น ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจจริงๆ ก็เป็นผู้ที่ไม่ละเลย และไม่หันไปสู่ผลอื่น แต่เป็นผู้ที่ตั้งใจมั่นที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด ในภพหนึ่งภพใด ในชาติหนึ่งชาติใด ในสังสารวัฏฏ์ แต่ไม่ใช่หันความต้องการไปทางอื่น ซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ที่จะทำให้กิเลสดับเป็นสมุจเฉทได้

    สำหรับข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงเตือน ก็มีในหลายพระสูตร เช่น ใน ปัพพตูปมสูตรที่ ๒ ข้อ ๓๒๙ ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ขุนเขาหิมวันต์พึงถึงความหมดไป สิ้นไป ยังเหลือ ก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดอยู่เจ็ดก้อน เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ขุนเขาหิมวันต์ที่หมดไป สิ้นไป กับก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเจ็ดก้อนที่ยังเหลืออยู่ ไหนจะมากกว่ากัน

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาหิมวันต์ที่หมดไป สิ้นไปนี้แหละมากกว่า ก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเจ็ดก้อนที่ยังเหลืออยู่มีประมาณน้อย ก้อนหินเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเจ็ดก้อนที่ยังเหลืออยู่ เมื่อเทียบเข้ากับขุนเขาหิมวันต์ที่หมดไป สิ้นไป ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ แม้ฉันใด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ความทุกข์ที่หมดไปสิ้นไปนี้แหละของบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ตรัสรู้แล้ว มีมากกว่า ส่วนที่เหลือมีประมาณน้อย ความทุกข์ที่เป็นสภาพยิ่งในเจ็ดอัตภาพ เมื่อเทียบกับกองทุกข์ที่หมดไปสิ้นไป ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การตรัสรู้ธรรมให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้แล การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้ ฯ

    จบ สูตรที่ ๑๐

    ไม่ทราบว่า ท่านผู้ฟังยังอยากทำอย่างอื่น นอกจากการเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงอีกหรือเปล่า

    สำหรับการศึกษาธรรม ต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะได้พิจารณาไตร่ตรอง เทียบเคียง พิสูจน์กับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    บางท่านอาจจะเป็นผู้ที่ติดในพยัญชนะ แต่ว่าตามความเป็นจริง สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นสัจธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ และเมื่อ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นแล้ว จึงได้ทรงบัญญัติคำเพื่อให้ผู้ฟังได้พิจารณาและน้อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการฟังจริงๆ คือ ฟังให้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยถูกต้อง ไม่ใช่ไปติดที่คำ และพยายามที่จะยึดถือคำ โดยที่ไม่พยายามที่จะรู้ว่า คำนั้นเป็นเพียงคำที่ใช้เพื่อให้เข้าใจในอรรถ หรือในลักษณะของธรรมที่สามารถจะพิสูจน์ได้เท่านั้น

    ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะฉะนั้นอย่าติดที่คำ อย่างท่านที่ศึกษาบาลี ก็ควรจะทราบจุดประสงค์ของการศึกษาบาลีว่าเพื่ออะไร เพื่อที่จะรู้ภาษาบาลี หรือว่าเพื่อที่จะได้เข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดยิ่งขึ้น โดยความถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้เป็นภาษาบาลี และเมื่อแปลเป็นภาษาไทย ก็ย่อมจะต้องพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เทียบเคียงให้เข้าใจในภาษาที่ตนใช้ว่าหมายความว่าอะไร

    ผู้ที่เข้าใจภาษาไทย เวลาที่คนอื่นพูดคำภาษาบาลีเป็นคำเทศน์ ผลก็คือ คนที่ใช้ภาษาไทย ไม่รู้เรื่อง แต่ผู้ที่รู้บาลีสามารถที่จะเข้าใจในอรรถ ในความหมายของภาษาบาลีได้

    สำหรับคนที่เข้าใจภาษาไทย ภาษาที่ดีที่สุดที่จะให้เข้าใจธรรม คือ ภาษาไทย แต่ภาษาไทยนั้นจะต้องตรงกับข้อความในภาษาบาลีที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วย และถึงแม้ว่าจะเป็นคำที่ตรงแล้ว ผู้ฟังก็ยังจะต้องพิจารณาโดยอรรถ เพื่อที่จะให้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างแท้จริงด้วย ไม่ใช่ไปติดเพียงคำ และถ้ายิ่งเป็นภาษาอื่น เช่น ชาวต่างประเทศ ก็ยากเหลือเกินที่จะมีคนไทยคนใดที่สามารถใช้ภาษาต่างประเทศที่ทำให้เข้าใจความหมายของธรรมโดยไม่บกพร่องได้ เพราะว่าไม่ใช่ภาษาของตนเอง แต่ไม่ใช่ติดที่คำ

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าบุคคลที่มีจิตอนุเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลต่างชาติ ต่างภาษา จะใช้คำผิดพลาด บกพร่อง หรือว่ารูปไวยากรณ์ไม่ถูกต้อง แต่ผู้ที่ฟังอาจจะสามารถเก็บสาระ อรรถ เนื้อความ ตามความเข้าใจได้ แม้ว่าประโยคที่ได้ยิน ได้ฟังอาจจะไม่สละสลวย และไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์โดยสมบูรณ์ของภาษานั้นก็ตาม

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาหนึ่งภาษาใด ขอให้ฟังเพื่อประโยชน์ที่จะได้เข้าใจในอรรถ ในความหมายที่ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรม ซึ่งเป็นสัจธรรม ที่สามารถพิสูจน์ได้ เพราะถ้าภาษาไพเราะ แต่ข้อความหรืออรรถผิดหมด ก็ย่อมไม่มีประโยชน์แก่ผู้ฟัง แต่ถึงแม้ภาษาจะไม่ไพเราะถูกต้องตามหลักไวยากรณ์โดยสมบูรณ์ แต่ผู้ฟังสามารถที่จะเก็บอรรถสารประโยชน์ได้จากคำที่ได้ยินได้ฟัง นั่นย่อมเป็นประโยชน์แล้ว

    แต่ถ้าบุคคลใดสามารถที่จะใช้ทั้งถ้อยคำที่ไพเราะและถูกต้องตรงตามหลักของภาษา พร้อมทั้งอรรถ ความหมายก็สมบูรณ์ด้วย นั่นย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และศรัทธาก็ยิ่งจะผ่องใสขึ้นด้วย แต่ต้องเป็นการยาก เพราะ ในกาลนี้ ในสมัยนี้ ในยุคนี้ ไม่ใช่ในสมัยของปฏิสัมภิทา ๔ ซึ่งผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยะพึงประกอบด้วยปฏิสัมภิทา คือ สามารถที่จะใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง ตรงทั้งอรรถและหลักของไวยากรณ์โดยสมบูรณ์ เพราะว่าเป็นกาลสมัยของผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

    แต่เมื่อกาลสมัยล่วงไป ผ่านพ้นไป ทุกท่านก็ย่อมทราบว่า ไม่ใช่กาลสมบัติ เช่นในสมัยของพระผู้มีพระภาค หรือว่าในสมัยต้นหลังการปรินิพพาน และเมื่อมาถึงยุคนี้สมัยนี้แล้ว แม้ว่าพระธรรมจะยังอยู่ครบถ้วน แต่ก็จะต้องอาศัยการศึกษา การพิจารณา การไตร่ตรองโดยละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะให้เข้าใจในสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง

    . คำว่า โยนิโสมนสิการ ที่แปลว่า การพิจารณาด้วยความแยบคาย มีความหมายลึกซึ้งประการใด และจะมีประโยชน์ในการเจริญสติปัฏฐานมากน้อยแค่ไหน

    สุ. ขณะที่ฟังและเข้าใจ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นขณะจิตหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นพร้อมด้วยเจตสิก คือ สภาพธรรมที่เกิดกับจิตหลายดวง ในขณะที่ฟังและเข้าใจ ต้องมีโยนิโสมนสิการ คือ สภาพธรรมที่พิจารณาโดยถูกต้อง จึงเข้าใจได้

    สภาพธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ปรินิพพาน พระอริยสาวกทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ และได้สนทนาธรรมกับสหายธรรมของท่าน และกับคฤหัสถ์ทั้งหลายนั้น แม้ว่าท่านจะได้แสดงธรรมกับคฤหัสถ์ทั้งหลายแล้ว เพื่อความแจ่มแจ้ง เพื่อความถูกต้อง พระสาวกเหล่านั้นก็ยังได้ให้ผู้ที่ได้ฟังได้ไปเฝ้า และกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเพื่อความ แจ่มแจ้ง หรือความถูกต้องโดยสมบูรณ์ ซึ่งใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ภูมิชสูตร ข้อ ๔๐๕ – ข้อ ๔๑๙ มีเนื้อความว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ ท่านพระภูมิชะได้สนทนากับพระราชกุมารชยเสนะ และพระราชกุมารชยเสนะก็ได้ถามท่านพระภูมิชะถึงเรื่องการบรรลุมรรคผล ซึ่งมีข้อความโดยย่อว่า

    สำหรับผู้ที่มีความหวังที่จะบรรลุ แต่เมื่อประพฤติไม่แยบคาย ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุ และบางบุคคลไม่หวังและประพฤติไม่แยบคาย ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุ บางคนหวังและไม่หวัง แต่เมื่อประพฤติไม่แยบคาย ก็ไม่สามารถจะบรรลุธรรมได้ บางคนหวังก็ไม่ใช่ ไม่หวังก็ไม่ใช่ แต่เมื่อประพฤติไม่แยบคาย ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๙๓๑ – ๙๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 82
    28 ธ.ค. 2564