สมถภาวนา ตอนที่ 20


    เหตุแห่งความดับสนิท เราได้แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้ ดูกรจุนทะ กิจอันใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ เอ็นดูอนุเคราะห์ แก่เหล่าสาวกจะพึงทำ กิจนั้นเราทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว ดูกรจุนทะ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจเถิด อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย นี้เป็นคำสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย ฉะนี้แล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะชื่นชม ยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสบท ๔๔ ทรงแสดงสนธิ ๕ พระสูตรนี้ ชื่อสัลเลขสูตร ลุ่มลึก เปรียบด้วยสาคร ฉะนี้ จบ สัลเลขสูตร ที่ ๘

    5175 ต้องอาศัยพระธรรมเป็นฐานะที่จะอุปการะผู้อื่นให้หลุดพ้น

    ท่านอาจารย์ มีท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ ในพระสูตรนี้ เชิญคะ

    ผู้ถาม. พระพุทธเจ้า ทรงแสดงว่า ผู้ที่จมอยู่ในเปลีอกตมอันลึก จะช่วยคนที่จมอยู่ในเปลือกตมอันลึกนั้น ไม่ใช่ฐานะ ก็หมายความว่า ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์จะช่วยคนอื่นให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ อย่างนั้น ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าพระผู้มีพระภาค ไม่ทรงเป็นพระอรหันต์ก่อน จะทรงแสดงหนทางที่จะให้บุคคลอื่น ได้ประพฤติปฏิบัติ จนกระทั่งดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ตามได้ไหมคะ

    ผู้ถาม. ผมก็มีความสงสัย ว่า ท่านโปฐิละ ที่พระพุทธเจ้า ตรัสเรียกว่า โมฆะ หรือว่าคัมภิร์เปล่า เสร็จแล้วท่านก็ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ลูกศิษย์ของท่านมีตั้งเยอะแยะ บรรลุเป็นพระอรหันต์

    ท่านอาจารย์ คะ ท่านพระโปฐิละ ช่วยให้ลูกศิษย์หลุดพ้น หรือว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วช่วยอุปการะ

    ผู้ถาม. ก็ทั้ง ๒ อย่างครับ ก็พระโปฐิละท่านมี ปริยัติเก่ง ก็นำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า มาสอน

    ท่านอาจารย์ สาวกของท่านโปฐิละ อย่าลืม เพราะฉะนั้น พระธรรมอุปการะ ไม่ใช่ท่านพระโปฐิละอุปการะ

    ผู้ถาม.เป็นอย่างนั้น ทีนี้ก็ถอยลงมา ผู้ที่ รู้จักลักษณะของสติ ว่าเวลา มีสติ ต่างกับหลงลืมสติ จะช่วยให้คนอื่นรู้จักลักษณะของสติ เป็นฐานะหรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมด ก็ต้องอาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้ว

    ผู้ถาม.อย่างนี้ ก็ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอาจารย์ผิด แต่พระธรรมถูก พระธรรมสามารถที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้นได้ไหมคะ ให้รู้ว่าอาจารย์ผิด เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อาจารย์ แต่เป็นพระธรรมที่ทรงแสดงแล้ว ถ้าอาจารย์กล่าวธรรมที่ถูก ธรรมนั้นเกื้อกูล

    ผู้ถาม.ก็หมายความว่า ผู้ที่มีปริยัติ รู้จักคำสอนของพระผู้มีพระพุทธเจ้าดี ก็ช่วยให้คนอื่นได้บรรลุ ผลได้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่บุคคลนั้น คะ พระธรรมที่บุคคลนั้นรู้ และกล่าว และแสดง

    ผู้ถาม. ก็ช่วยให้คนอื่นบรรลุได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน คะ พระธรรมมีอุปการะมาก

    5176 ผลของพุทธานุสสติ

    ท่านอาจารย์ สำหรับผลของพุทธานุสติ จะสามารถที่จะสงบได้จนกระทั่งถึงเพียง อุปจารสมาธิ ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ และผู้ที่จะบรรลุอุปจารสมาธิได้ ก็เป็นเพียงพระอริยสาวกพวกเดียว ปุถุชน จะระลึกถึงพระพุทธคุณสักเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะให้จิตสงบ จนกระทั่งถึง อุปจารสมาธิได้ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ที่จะให้จิตสงบ นี่คะ ยากจริงๆ การที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ยากเท่ากับการที่จะให้ถึงอุปจารสมาธิ เพราะเหตุว่า สติสามารถที่จะระลึกรู้ สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง แม้อกุศล โลภะเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมสามารถที่จะรู้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น ตามความเป็นจริง

    5177 รู้ลักษณะของโลภมูลจิตได้ยาก เพราะชินจนไม่รู้สึก

    ท่านอาจารย์ โลภะเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมสามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง การรู้โลภะ ยากไหมคะ

    ทุกคนอยู่กับโลภะตลอดเวลา ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา ถ้าขณะใดที่กุศลธรรมหรือกุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นจะมีโลภมูลจิตเกิดเป็นประจำ แต่เป็นโลภมูลจิตที่อ่อนมาก ที่เบา ที่บาง ที่ไม่รู้สึก มีใครรู้ลักษณะของโลภะบ้างไหมคะ ที่อ่อน ที่เบา ที่บาง ที่จะให้โลภมูลจิตรู้สภาพธรรม คือ รู้ว่าเป็นโลภะขณะนั้นขณะนี้ ย่อมไม่ได้ แม้ว่ามีโลภะอยู่ อย่างธรรมดาๆ แต่ว่าโลภะนั้นไม่สามารถที่จะรู้โลภะว่าเป็นโลภะ เพราะเหตุว่าอวิชชาเป็นสภาพที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ วิชชาเท่านั้นที่จะรู้ว่า อะไรเป็นอกุศลธรรม และอะไรเป็นกุศลธรรม

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีโลภะอยู่ตลอดเวลาจนชิน แต่เพราะชินแสนชินนั่นเอง จึงไม่รู้ลักษณะของโลภะ โดยการศึกษาทราบว่ามีโลภะมาก มีโลภะเป็นประจำ อะไรๆ ก็โลภะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นโลภะ เพราะเหตุว่าถ้าขณะนั้นลักษณะของโทสะ หรือความไม่แช่มชื่นไม่มี ก็เป็นธรรมดาที่ว่า จะต้องเป็นสภาพของโลภะที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ว่าที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของโลภะที่กำลังมี ได้ไหมคะ เพราะชินมาก ชินจนไม่รู้สึกเลยว่า ขณะไหนเป็นโลภะ ไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งหรือระลึกลักษณะของโลภะที่กำลังมี จนกว่าสติจะเกิดขึ้น ถ้าสติไม่เกิด โลภะจะรู้โลภะไม่ได้ อวิชชาจะรู้สภาพธรรมใดๆ ไม่ได้เลย และเวลาที่สติเกิด จะสามารถระลึกรู้ลักษณะของโลภะทันทีได้ไหมคะ ยาก ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าเป็นโลภะอย่างบาง อย่างเบา แต่เวลาที่สติเกิดระลึกศึกษารู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด เช่น ทางตาในขณะนี้ เมื่อระลึกจึงรู้ว่าไม่ใช่โลภะ ขณะนั้นไม่ใช่โลภะที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจนชิน จนทั่ว จึงสามารถรู้ลักษณะของแม้โลภะอย่างบาง อย่างเบา ซึ่งกำลังมีตามปกติ โดยไม่ใช่เดา หรือไม่ใช่อนุมานว่า เวลานี้มีโลภะ แต่บอกไม่ได้ว่า โลภะนั้นมีลักษณะอย่างไร และอะไรกำลังเป็นอารมณ์ของโลภะ จนกว่าสติจะมั่นคงขึ้น และรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทั่วขึ้น

    5178 พระอริยเจ้าเท่านั้นที่เจริญพุทธานุสสติถึงอุปจารสมาธิ

    ท่านอาจารย์ สำหรับพุทธานุสติ ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอริยเจ้าจำพวกเดียวเท่านั้นที่สามารถสงบจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิได้ ก็ไม่มีนิมิต ยิ่งยากไหมคะ เพราะเหตุว่าในสมถภาวนาทั้งหมด ๔๐ อารมณ์นั้น ไม่ใช่ทุกอารมณ์จะมีนิมิตเป็นเครื่องหมายของสมาธิ

    สำหรับอุปจารสมาธิตามที่เรียนให้ทราบแล้ว จากตัวอย่างของการเจริญปฐวีกสิณ จะเห็นได้ว่า การเพ่งมองดูกสิณ หลับตา ลืมตาด้วยความแน่วแน่จนกว่าจะเกิดอุคหนิมิตซึ่งเป็นนิมิตที่ปรากฏติดตา แม้ว่าไม่มองดูก็ยังเห็น แม้ขณะนั้นก็ยังไม่ใช่อุปจาระ

    เพราะฉะนั้นการที่จะระลึกถึงพระพุทธคุณ จนกระทั่งจิตสงบโดยไม่มีนิมิตแล้วถึงอุปจาระ จะยากสักแค่ไหน แล้วสำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน ยังไม่ใช่พระอริยะ ก็ไม่มีวันที่จะถึงอุปจารสมาธิ เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะประจักษ์ดื่มด่ำลึกซึ้งในพระพุทธคุณ เช่นพระอริยเจ้าทั้งหลายได้ แต่แม้กระนั้นก็ควรเจริญ เพราะเหตุว่าจิตสงบเมื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ แต่ต้องมีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของความสงบจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่กราบไหว้ ถ้าเป็นผู้มีกิเลสอย่างมาก ก็อาจจะหวังผล มุ่งผลต่างๆ ซึ่งเกิดจากกุศลที่มีจากการนอบน้อมระลึกถึงในการกราบไหว้พระพุทธรูป เป็นต้น แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ที่เป็นความสงบจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น จะต้องเป็นผู้ที่สามารถมีสติสัมปชัญญะ สงบพร้อมด้วยปัญญา โดยรู้ลักษณะของจิตที่สงบขึ้น

    5179 การเจริญสมถภาวนาโดยนัยของพุทธานุสสติ

    สำหรับการอบรมเจริญสมถภาวนาโดยนัยของพุทธานุสสติ ไม่มีนิมิต เพราะฉะนั้นถ้าใครจะทำสมาธิ แล้วเห็นพระพุทธรูป ขณะนั้นรู้ได้ว่า จิตไม่สงบ เพราะเหตุว่าเวลาเห็นแล้วเป็นอย่างไร รู้สภาพของจิตขณะที่เห็นไหมคะว่าเป็นอย่างไร

    เวลานี้ไม่ใช่นิมิต เห็นจริงๆ จิตเป็นอย่างไร ปัญญาต้องรู้ได้ เรื่องของปัญญาทั้งหมด ถ้ารู้ว่า ขณะนี้จิตเป็นอย่างไร และขณะเวลาที่นิมิตเกิดขึ้นเป็นพระพุทธรูปให้เห็น ในขณะนั้นก็จะรู้ว่า จิตเป็นอย่างไร ลองคิดค่ะ จิตจะเป็นอย่างไรคะ ขณะนั้น สงบหรือไม่สงบ ดีใจเป็นอะไรคะ โลภะ ไม่ใช่ลักษณะของความสงบแล้ว

    5180 จิตไม่สงบถ้าระลึกถึงพระรัตนตรัยเพื่อให้พ้นอันตราย

    ท่านผู้ฟังเคยได้ทราบว่า ถ้ามีเหตุการณ์หรือว่ามีอันตรายเกิดขึ้น มีความกลัว มีความขนพองสยองเกล้า มีความตกใจเกิดขึ้นแล้วให้ระลึกถึงพระรัตนตรัย เคยทราบไหมคะ แล้วสงบจริงหรือเปล่า หรือว่าระลึกถึงเพียงเพื่อให้อันตรายนั้นหมดสิ้นไปเท่านั้นเอง โดยที่ว่าขณะนั้นสงบหรือเปล่า

    การอบรมเจริญสมถภาวนา คือการระลึกถึงพระพุทธคุณ จุดประสงค์ คือ บรรเทาไม่ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้น เพราะสงบเมื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ

    เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังลองคิดดูถึงเวลาที่กิเลสมีกำลัง แล้วเป็นไปในทางโลก แม้การจะกราบไหว้พระพุทธรูป ก็เป็นการกระทำเพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นให้พ้นจากอันตรายเป็นต้น แต่ในขณะนั้นไม่ใช่การให้จิตสงบเป็นกุศล ซึ่งต่างกัน

    5181 ความกลัวหายไปเมื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ

    ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ธชัคคสูตรที่ ๓

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

    ข้อ ๘๖๕ มีข้อความว่า ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนเราแล กล่าวอย่างนี้ว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี พึงบังเกิดแก่พวกเธอผู้ไปในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนที่ว่างเปล่าก็ดี ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงเรานี้แหละว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะว่า เมื่อพวกเธอตามระลึกถึงเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้น ก็จักหายไป

    ต้องเข้าใจด้วยถึงการระลึกถึงพระพุทธคุณ จนสามารถที่จะสงบทันทีที่ระลึก เวลาที่มีอันตรายเกิดขึ้น มีความกลัว มีความตกใจ มีความขนพองสยองเกล้า ถ้าเคยคิดถึงพระรัตนตรัยด้วยความต้องการให้พ้นอันตรายนั้นไป ขณะนั้นจิตสงบไหมคะ ลองคิดดู ขณะนั้นไม่ใช่สมถภาวนา แต่ว่าเป็นผู้ที่ระลึกถึงพระพุทธคุณจริงๆ แล้วสงบจริงๆ จิตที่สงบกับจิตที่ไม่สงบ จิตไหนจะดีกว่ากัน แม้ในขณะที่กำลังมีอันตราย หรือมีความกลัว มีเหตุการณ์ที่ทำให้ขนพองสยองเกล้า แล้วสงบในขณะนั้น ย่อมดีกว่าจิตที่ไม่สงบ

    เพราะฉะนั้นการระลึกถึงพระรัตนตรัยในเวลาที่เผชิญกับอันตรายต่างๆ อย่าลืมว่า เพื่อให้กุศลจิตเกิดแล้วสงบ เมื่อสงบแล้วไม่หวั่นไหว ไม่ว่าภัยอันตรายนั้นๆ จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ก็เป็นผู้ไม่หวั่นไหว เพราะระลึกถึงกรรม ระลึกถึงกุศล ระลึกถึงพระคุณที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วได้ประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อระลึกอย่างนี้ไม่ว่าอันตรายนั้นจะน่ากลัว น่าขนพองสยองเกล้าสักเท่าไร จิตก็สงบได้ แต่ว่าไม่ใช่ให้ระลึกเพียงเพื่อให้อันตรายนั้นผ่านไป แล้วจิตในขณะนั้นไม่สงบเลย

    เคยเป็นอย่างนี้ไหมคะ บ่อย ไม่ใช่สมถภาวนาใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเปลี่ยนได้สำหรับการระลึกถึงพระรัตนตรัย หรือพระพุทธคุณ อย่าลืมว่า เพื่อให้กุศลจิตเกิดแล้วสงบ

    5182 การระลึกถึงพระธรรม

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    หากพวกเธอไม่ตามระลึกถึงเรา ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว บุคคลพึงเห็นได้เอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเข้าไปในตน อันวิญญูชนพึงรู้แจ้งได้เฉพาะตน ดังนี้

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อพวกเธอตามระลึกถึงพระธรรมอยู่ ความกลัวก็ดีความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้นก็จักหายไป

    แล้วแต่อัธยาศัย พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ไม่ใช่ทุกคนจะระลึกถึงพระพุทธคุณทุกครั้ง บางครั้งก็ระลึกถึงพระธรรมคุณ แล้วแต่โอกาสว่า เมื่อไม่ระลึกถึงพระพุทธคุณก็ระลึกถึงพระธรรมคุณ แต่พระธรรมคุณนี่ไม่ใช่ธรรมดา เป็นโลกุตตรธรรม ซึ่งยากสำหรับผู้ที่ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมที่จะระลึกถึงได้ แต่แม้กระนั้นการที่จะมีโลกุตตรจิต โลกุตตรธรรมได้ ก็ต้องเป็นผู้มีปริยัติธรรม คือ การศึกษา การฟังพระธรรม จนกระทั่งมีความเข้าใจ และประพฤติปฏิบัติตาม อบรมเจริญสติปัฏฐาน เจริญปัญญา จนกระทั่งเข้าใกล้การที่จะบรรลุอริยสัจธรรม จะทำให้ระลึกถึงคุณของพระธรรมได้มั่นคงขึ้น แล้วก็สงบขึ้น ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรมบ่อยๆ หรือว่าขาดการฟังธรรม หรือขาดการเจริญกุศลธรรม หรือขาดการเจริญธรรมซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรม ได้แก่ การเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ค่อยระลึกถึงพระธรรมคุณ ใช่ไหมคะ แต่ถ้าฟังบ่อยๆ แล้วไม่ลืม แล้วก็ประพฤติปฏิบัติตามด้วย ก็ยิ่งเห็นคุณของพระธรรมที่ปฏิบัติ จนกระทั่งระลึกถึงคุณของพระธรรมได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการอุปการะแก่สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นการอุปการะแก่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นโลกุตตรธรรม

    5183 น้อมกุศลธรรมเข้ามาในตน

    ถาม อาจารย์ช่วยอธิบายพยัญชนะในพระธรรมว่า พระธรรมอันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง เรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้แจ้งได้เฉพาะตน พยัญชนะเหล่านี้ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายให้หน่อยครับ

    ท่านอาจารย์ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ เช่น โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมอันทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ได้แก่ สติปัฏฐาน เป็นต้น ซึ่งเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย น้อมเข้ามาในตน น้อมสติ น้อมศรัทธา น้อมวิริยะ น้อมธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นกุศลที่ทำให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ถาม เรียกให้มาดู ดูอะไร

    ท่านอาจารย์ ดูสิ่งที่มีจริง คือ อริยสัจธรรม ทุกข์ เป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าของที่ไม่มีจริง กำมือไว้ เป็นกำมือเปล่า แล้วก็เรียกให้คนอื่นมาดู ก็ย่อมไม่เห็นอะไร เพราะเหตุว่าเป็นกำมือเปล่า แต่ว่าอริยสัจธรรมไม่ใช่กำมือเปล่า เป็นสิ่งที่มีจริง หมายความว่าใครก็สามารถประพฤติปฏิบัติพิสูจน์ธรรมที่มีจริงนั้นได้ เข้ามาดูได้ คือ ดูธรรมที่กำลังเป็นจริงอย่างนั้น และก็น้อมเข้ามาในตน ไม่ว่าจะเป็นสติ จะเป็นวิริยะ จะเป็นสมาธิ จะเป็นปัญญา จะเป็นมรรคมีองค์ ๘ จะเป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่มอบให้บุคคลอื่น แต่ว่าน้อมเข้ามาในตน ให้เจริญขึ้น ให้เกิดมีขึ้นกับตน

    ผู้ถาม แล้วไม่ประกอบด้วยกาลละครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ประกอบด้วยกาล หมายความถึงโลกุตตรมรรคจิต ซึ่งให้ผลทันทีที่ดับไป ทำให้โลกุตตรผลจิตเกิดขึ้น

    ผู้ถาม ผมคิดว่า ไม่ประกอบด้วยกาล ก็คือ พิจารณาได้ทุกเมื่อ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็มีอยู่ทุกๆ ขณะ อย่างนี้จะ

    ท่านอาจารย์ แต่หมายความโดยตรงก็หมายความถึง โสตาปัตติมรรคจิตที่ให้ผลโดยไม่ต้องรอกาลเวลา เพราะเหตุว่าคำว่า “อกาลิโก” ทีนี้หมายความถึงการให้ผลโดยไม่มีระหว่างคั่น โดยไม่ต้องรอคอย ไม่ต้องคอยภพหน้า ชาติหน้าหรือชาติต่อไป

    5184 การระลึกถึงพระอริยสงฆ์สาวก

    ซึ่งข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    หากพวกเธอไม่ตามระลึกถึงพระธรรม ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงพระสงฆ์ว่า

    พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง พระสงฆ์นั้นคือใคร ได้แก่คู่แห่งบุรุษสี่ รวมเป็นบุรุษบุคคลแปด นี้คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักขิณา เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี เป็นบุญเขตของโลก ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า เพราะว่าเมื่อพวกเธอตามระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้น ก็จักหายไป

    ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร เพราะว่าพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่เป็นผู้กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่หนีไป ฯ

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเถิด ความกลัวไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย ถ้าว่าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน ทีนั้นเธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว ทีนั้น เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย ฯ

    เพราะฉะนั้นต่อไปแทนที่จะระลึกถึงพระรัตนตรัยเพื่อที่จะให้พ้นภัย ก็ขอให้ระลึกแล้วจิตสงบ เป็นกุศล เพราะเหตุว่าในขณะที่ต้องการให้พ้นภัย ในขณะนั้นจิตไม่สงบ ไม่เป็นกุศล ไม่มีประโยชน์ ระลึกแล้วไม่เป็นกุศล ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

    มีไหมคะ การระลึกถึงแล้วไม่เป็นกุศล

    ผู้ถาม

    ท่านอาจารย์ ต้องเปลี่ยนนะคะ ปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือรู้ว่า ระลึกอย่างไรเป็นสมถะ เป็นความสงบ เป็นการอบรมเจริญกุศลยิ่งขึ้น ก็ควรที่จะระลึกให้เป็นกุศล ไม่ใช่ให้เป็นอกุศล

    5185 ธรรมเครื่องกั้นการบรรลุธรรม

    การที่จะให้จิตสงบจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธินั้นยาก ไม่ใช่ของง่าย และไม่ใช่สำหรับทุกคนว่า ใครก็ตามจะทำสมาธิให้จิตสงบแล้วจะต้องถึงอุปจาระหรืออัปปนา

    ข้อความในอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ภัพพสูตร ได้แสดงลักษณะของบุคคลที่สามารถบรรลุธรรมได้ และไม่สามารถบรรลุธรรมได้ว่า มีอุปสรรค มีเครื่องขัดขวางหลายประการ

    ข้อความในภัพพสูตร ข้อ ๓๕๗ มีว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย

    ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกรรมเป็นเครื่องกั้น ๑ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกิเลสเป็นเครื่องกั้น ๑ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีวิบากเป็นเครื่องกั้น ๑ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ไม่มีฉันทะ ๑ และมีปัญญาทราม ๑

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯ

    บางท่านฟังธรรมแล้ว ฟังด้วยกันแต่ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ ในขณะที่บุคคลอื่น นอกจากจะเข้าใจแล้วยังเกิดปัญญา จนสามารถก้าวลงสู่ความแน่นอน คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    นี่เป็นความต่างกันของการสะสมของกุศลธรรม และอกุศลธรรม

    5186 เครื่องกั้นการบรรลุอริยสัจธรรม

    สำหรับผู้มีกรรมเป็นเครื่องกั้น ข้อความในอาวรณตาสูตร มีข้อความว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย

    ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้ฆ่ามารดา ๑ ฆ่าบิดา ๑ ฆ่าพระอรหันต์ ๑ ยังพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อขึ้นด้วยจิตประทุษร้าย ๑ เป็นผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ๑ และเป็นผู้มีปัญญาทราม ใบ้ บ้าน้ำลาย ๑

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯ

    แต่ว่าคงจะมีน้อยท่านที่ได้กระทำกรรมซึ่งเป็นเครื่องกั้น ซึ่งได้แก่ เป็นผู้ฆ่ามารดา ๑ ฆ่าบิดา ๑ ฆ่าพระอรหันต์ ๑ ยังพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อขึ้นด้วยจิตประทุษร้าย ๑ เป็นผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ๑ แต่จะเป็นผู้ที่ประกอบด้วยกิเลสอย่างแรง หรือประกอบด้วยวิบาก คือ กระทำกรรมซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา และกรรมนั้นเป็นเหตุให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ คือเป็นมนุษย์จริง แต่ปฏิสนธิจิตนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิตได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 4
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ