วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 02


    เคยมีเจตนาสะสมมาแล้วที่จะละเว้น เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดการระลึกได้ ที่จะทำให้เว้นในขณะนั้น แต่สภาพธรรมเป็นอนัตตา จะเว้นได้มากได้น้อยแล้วแต่เหตุการณ์ เพราะเหตุว่าบางครั้งสัตว์อาจจะตัวเล็กเหลือเกิน แม้ว่าจะไม่มีความเพียรเท่าไร เพียงแต่ปัดนิดเดียว สัตว์นั้นก็ตายเสียแล้ว นี่ก็เป็นเรื่องที่จะแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ที่จะละเว้นได้จริงๆ ก็จะต้องมีกุศลจิตเกิดที่จะระมัดระวังแม้แต่ชีวิตของสัตว์เล็กสัตว์น้อย

    สำหรับอทินนาทานก็เช่นเดียวกันนะคะ ถ้าเป็นผู้ที่มุ่งจะขัดเกลากิเลสแล้ว ก็ย่อมจะมีความระมัดระวังยิ่งขึ้น แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอาจจะเคยขาดความระวัง แต่การที่จะเป็นผู้ที่มุ่งที่จะขัดเกลา ละคลายกิเลสให้เบาบาง ถึงความดับเป็นสมุจเฉท จะเป็นผู้ที่ประมาทไม่ได้เลย เรื่องใหญ่ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับอทินนาทาน แต่เรื่องเล็กเรื่องน้อย ก็เป็นภัยด้วย ที่ควรที่จะเห็นโทษ และเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น

    สำหรับกาเมสุมิจฉาจารก็เช่นเดียวกัน และมุสาวาทด้วย แม้ในเรื่องเล็กน้อย ก็เป็นผู้ที่มั่นคงขึ้นที่จะไม่กล่าวคำไม่จริง แม้ว่าก่อนนี้อาจจะเห็นว่า เป็นความจำเป็นที่จะต้องกล่าว แต่ว่าเมื่อเจตนานี้ที่จะงดเว้นมากขึ้น ก็จะมีสติที่เกิดขึ้น รู้ว่าแม้ว่าเป็นความจำเป็น ก็ไม่จำเป็นที่จะใช้คำที่ไม่จริง อาจจะมีคำพูดอื่น ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่าการที่จะให้กิเลสมีกำลังแรงถึงกับพูดคำที่ไม่จริง

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าสำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ท่านละกรรมกิเลส ๔ เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้าก็จะต้องพากเพียรที่จะละคลายให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท

    ข้อความในอรรถกถา อธิบายความหมายของคำว่า “กรรมกิเลส” ว่า ได้แก่ กิเลสอันเป็นตัวกรรม เพราะเหตุว่าผู้ที่มีกิเลสเท่านั้นที่ฆ่า กระทำปาณาติบาต ที่ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ ที่เป็นอทินนาทาน ที่ประพฤติผิดในกาม ที่เป็นกาเมสุมิจฉาจาร และที่กล่าวคำไม่จริง คือ มุสาวาท

    ถ้าผู้ที่เบาบางจากกิเลสแล้ว ถึงแม้ว่ากิเลสยังมีอยู่ ยังดับไม่หมด เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระอรหันต์ แต่กิเลสนั้นก็ไม่มีกำลังที่จะให้กระทำกรรมซึ่งเกิดจากกิเลสนั้นได้ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท และการคบหาภรรยาผู้อื่น เรากล่าวว่าเป็นกรรมกิเลส บัณฑิตไม่สรรเสริญ ฯ

    ผู้ฟัง กรรมกิเลส ๔ อย่างที่อาจารย์อธิบายนี้ ผมก็ยังไม่พบที่มา เพราะฉะนั้น อยากจะขอความรู้จากอาจารย์ว่ายังงี้ครับ ปาณาติบาต ยังสัตว์ให้ตกล่วงไป อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ๒ อย่างนี้ใช้ให้คนอื่นทำ ผิด เราฆ่าเอง หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า ลักทรัพย์เอง หรือให้คนอื่นลัก ผิด แม้แต่กฎหมายอาญาก็ผิด แต่อีก ๒ ข้อหลัง ถ้าเราใช้ให้ผู้ทำจะผิดไหม ไม่เคยพบ อย่างเราให้เงินนาย ก. ให้ไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ ฉันเสียเงินให้ ก็ไม่ปรากฏว่ามีความผิด ส่วนมุสาวาทก็เหมือนกัน ไปโกหกคนโน้นคนนี้ จึงผิดกฎหมาย พูดในศาลเพ้อเจ้อ หยาบๆ คายๆ มีคำว่าเบิกความเท็จเท่านั้น จึงผิดกฎหมาย พูดธรรม กรรมกิเลส ๔ อย่างเท่าที่ผมพบมาก็มี ๒ ส่วน ที่ใช้ให้ผู้อื่นทำ กาเมสุมิจฉาจารกับมุสาวาทใช้ให้คนอื่นไปทำ ผมก็ยังไม่พบ ในฐานะที่ท่านอาจารย์เป็นที่เคารพ และดูตำรับตำรามาก พบที่ไหนบ้างหรือเปล่า หรือว่ายังไม่เคยพบ อย่างกาเมสุมิจฉาจรใช้ให้ผู้อื่นทำ มุสาวาท ใช้ให้ผู้อื่นโกหก จะผิดมาถึงผู้ใช้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นยังไงคะ ในเมื่อใช้ให้ผู้อื่นทำ จิตเป็นอย่างไร เป็นกุศลหรืออกุศล ในขณะที่ใช้ให้ผู้อื่นทำ

    ข้อความในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อุทุมพริกสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสกับนิโครธปริพาชก มีข้อความว่า

    ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ เป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน

    ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้

    ๑. ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ เมื่อผู้อื่นฆ่าสัตว์ ไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ

    ๒. ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เมื่อผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ

    ๓. ไม่พูดเท็จ ไม่ใช้ผู้อื่นให้พูดเท็จ เมื่อผู้อื่นพูดเท็จ ไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ

    ๔. ไม่เสพกามคุณ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเสพกามคุณ เมื่อผู้อื่นเสพกามคุณไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ

    ผู้ฟัง ขอบใจท่านอาจารย์ ผมเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เหมือนกัน ฟังพระเทศน์ อุโบสถอะไรก็บอกว่า ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ใช้ให้คนอื่นฆ่า ลักทรัพย์ด้วยตนเอง ใช้ให้คนอื่นลัก พอถึงกาเม หรือมุสา ไม่เห็นมีว่า ใช้ให้คนอื่นทำ

    ที่อาจารย์ว่าอย่างนี้ ผมเห็นด้วยครับ คือมันก็ต้องผิดเหมือนกัน ใช้ให้คนอื่นพูดเท็จ หรือประพฤติผิดในกามมันก็ต้องผิดแน่ๆ แต่โทษที่จะต้องได้รับจะมีหรือไม่ อย่างกฎหมายอาญามีผู้ใช้จ้างวาน มีโทษเท่าผู้กระทำผิด อย่างนี้มันชัด เขาวางไว้เป็นหลักธรรมดา ผมเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้ เป็นความสัจจริง อายุก็มากแล้ว มีพระที่ท่านเทศน์กัน มีแต่ฆ่าสัตว์ ใช้ให้คนอื่นฆ่า ลักทรัพย์ ใช้คนอื่นลัก พอถึงกาเม มุสาวาท ไม่ว่าเสียอย่างนั้นแหละ พูดเท็จก็ดี หรือใช้คนอื่นพูดเท็จ หรือประพฤติผิดในกาม ตัวไม่ทำเอง แต่ใช้คนอื่นทำ ไม่มีวัดไหน วัดนั้นไปทุกวัด ไม่มี มีแต่ ๒ อย่างเท่านั้น เพิ่งเข้าใจ

    วันนี้ เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่จะนั่นนี่ เข้าใจอาจารย์พูด ผมน่ะไม่ได้ดูพระไตรปิฎก มีก็จริง แต่ไม่ได้ดู อาจารย์ก็เป็นผู้ที่รอบคอบมาก วันนี้เข้าใจดีครับ

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญกลัวโทษอะไรคะ โทษของกิเลสที่น่ากลัว กลัวไหม โดยมากพอพูดถึงโทษ คิดถึงโทษที่เกิดจากการติเตียนของคนอื่น ใช่ไหมคะ คนอื่นจะว่าไหม ถ้าเขาไม่เห็น ทำเสียหน่อยได้ไหม แต่ถึงเขาจะเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม กิเลสเกิดแล้ว ใช่ไหม น่ากลัวหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะดับกิเลส ไม่ได้พิจารณาบุคคลอื่นเป็นสำคัญ แต่รู้ลักษณะสภาพของธรรมที่เกิดขึ้น ถ้าสภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล แม้ว่าจะไม่ทำเอง การใช้ให้คนอื่นทำ เกิดจากจิตที่มีกิเลส หรือแม้ไม่ได้ใช้ แต่คนอื่นทำก็ดีใจ จิตในขณะนั้นเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม ซึ่งอกุศลธรรมนั้นมีโทษ แม้จะเป็นอกุศลธรรมเพียงเล็กน้อยก็มีโทษ เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็จะสะสมเพิ่มพูนขึ้น จนกระทั่งมีกำลังกล้า สามารถที่จะกระทำอกุศลกรรม หรือควรจะกลัวกิเลสของตนเองซึ่งมีกำลัง ซึ่งเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมนั้นๆ เพราะเหตุว่าวิบากนั้นเป็นเพียงผล แม้ว่าคนอื่นจะติเตียน หรือว่าจะได้รับอกุศลวิบากด้วยตนเอง ซึ่งก็เป็นผลของกิเลสซึ่งยังมีอยู่ ซึ่งยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

    ผู้ฟัง ผมมีคำถามอย่างหนึ่งครับ คือเรื่องถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เวลานี้สมมติว่า พวกที่งัดแงะหรือว่าปล้น ขโมยอะไรต่างๆ เหล่านี้ ในเมื่อขโมยแล้ว บางทีถูกจับ เมื่อถูกจับก็เข้าคุกเข้าตะราง แต่คนส่วนมากก็บอกว่า ขโมยนั้นเป็นเหตุ การเข้าคุกเข้าตะรางนั้นเป็นผล ผมอยากถามอาจารย์ว่า คนทั่วๆ ไปที่เขากล่าวอย่างนั้น เขากล่าวผิดหรือกล่าวถูกครับ การขโมยนั้นเป็นเหตุ และการติดตะรางนั้นเป็นผล เพราะเหตุที่ได้มาจากการขโมย พวกนั้นจะพูดผิดหรือพูดถูกครับ

    ท่านอาจารย์ ใครจะทราบล่ะคะ เพราะเหตุว่ากรรมให้ผลในปัจจุบันชาติก็มี ที่ไม่ได้ให้ผลในปัจจุบันชาติให้ผลในชาติต่อไปก็มี ที่ไม่ได้ให้ผลในปัจจุบันชาติ และชาติต่อไป แต่ให้ผลในชาติต่อๆ จากชาตินั้นไปก็มี ไม่มีที่สิ้นสุด

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะทราบได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ผลของกรรมว่า กรรมใดให้ผลในชาตินี้ หรือว่าผลที่ได้รับในชาตินี้เป็นผลของกรรมในชาตินี้ หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติก่อน หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติโน้นๆ ไม่มีผู้ใดสามารถจะบอกได้เลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ผลจะต้องมาจากเหตุ เหตุกับผลจะต้องตรงกัน แต่ผู้พูดนี้ เขาพูดกันด้วยความคิดนึกของเขาเอง ตามปกติแล้ว ผลของมันก็ต้องเป็นทรัพย์สินของตนจะต้องวิบัติ ซึ่งเหตุกับผลมันไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า คำพูดที่เขาพูดกันนี่ ไม่ถูกแน่ เพราะเหตุว่าเหตุกับผลไม่ตรงกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าอยู่ในคุก ทรัพย์สินก็ต้องวิบัติได้ ใช่ไหมคะ ตนเองก็ไม่สามารถไปควบคุมดูแลได้ ใครละคะเกิดมาจะไม่มีทรัพย์สินมา ก็ต้องมีบ้าง มากน้อยต่างกัน เหตุกับผลตรงกันนะคะ อย่างการเบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลอื่น หรือว่าการฆ่าสัตว์ หรือการทรมานต่างๆ เป็นอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ผลก็คือว่าได้รับเป็นอกุศลวิบากที่ทรงแสดงไว้ ก็คือเป็นผู้ที่นอกจากจะเกิดในอบายภูมิแล้ว เศษของกรรมนั้นทำให้เป็นมนุษย์ ผู้ที่มีอายุสั้น หรือว่าเป็นผู้ที่มีโรคมาก ทรงแสดงไว้อย่างนี้นะคะ แต่ใครจะทราบว่า กำลังมีโทษมากเดี๋ยวนี้ เป็นผลของกรรมในชาตินี้ หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติก่อน หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติโน้นๆ ไม่มีใครสามารถจะบอกได้ ถ้าผู้นั้นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่ากรรมก็มีมากทั้งในปัจจุบันชาติ และในชาติก่อนๆ และผลที่ได้รับในขณะนี้ ใครจะทราบว่าเป็นผลของกรรมไหน แต่ผลของอกุศลกรรมต้องเป็นอกุศลวิบาก ตรงตามเหตุผล

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่กรุณาให้หมั่นเจริญสติ พยายามเจริญสติบ่อยๆ ในระหว่างตรอกบ้านดิฉัน เขาฆ่ากัน และคนที่ถูกฆ่าน่ะเป็นนักเลงเกเร ก่อความเดือดร้อนให้ชาวบ้านแถวนั้น ซึ่งความจริงถ้าหากว่า ถ้าใครเขาบอกว่า ดีแล้ว ตายเสียได้ก็ดี สาธุ เพราะว่ามันอยู่ก็เดือดร้อนแก่คนนั้นคนนี้เหลือเกิน แต่พอผลที่สุด ผู้ที่เจริญสติแล้วก็เห็นอกุศลจิตของตนเองหรือไม่ในการตายของเขานั้น ความจริงเราก็ไม่ได้ประโยชน์ เขาก็ไม่เคยทำให้เราเดือดร้อน แต่ผู้ที่กล่าวก็ไม่เคยได้รับความเดือดร้อน แต่มันเดือดร้อนหลายๆ คนก็มี แต่ถ้าไม่เจริญสติแล้ว ก็จะไม่เห็นอกุศลจิตของตัวเองขณะที่กล่าวคำนั้นออกมา และคำกล่าวที่เป็นคนอื่นเขากล่าวออกมา ถ้าบังเอิญเราไปได้ยินเข้า เราก็รู้สึกว่าเขากล่าวด้วยอกุศลจิต แล้วเราก็ได้ตรวจดูจิตของตัวเองว่า ได้มีความยินดีในการตายของเขาไหม

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคตรัสกับสิงคาลกคฤหบดีบุตร ที่ว่าอริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่โภคะ ๖ อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ อย่างนี้

    ที่กล่าวถึงแล้ว คือ ๔ อย่างต้น เป็นกรรมกิเลส ๔ คือ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑

    สำหรับไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    [๑๗๖] อริยสาวกไม่กระทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ เป็นไฉน ปุถุชนถึงฉันทาคติย่อมทำกรรมอันลามก ถึงโทสาคติย่อมทำกรรมอันลามก ถึงโมหาคติย่อมทำกรรมอันลามก ถึงภยาคติย่อมทำกรรมอันลามก ฯ

    ดูกรคฤหบดีบุตร ส่วนอริยสาวกย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ย่อมไม่ถึงโทสาคติ ย่อมไม่ถึงโมหาคติ ย่อมไม่ถึงภยาคติ ท่านย่อมไม่ทำกรรมอันลามกโดยฐานะ ๔ เหล่านี้

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    [๑๗๗] ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลงยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม ดังดวงจันทร์ในข้างแรม ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศย่อมเจริญแก่ผู้นั้น ดุจดวงจันทร์ในข้างขึ้น ฯ

    นอกจากอกุศลกรรมทั้ง ๔ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาทแล้ว ท่านผู้ฟังก็ควรได้พิจารณาถึงชีวิตประจำวันนะคะ ซึ่งเป็นไปตามกำลังของกิเลสประการอื่นด้วย คือท่านกระทำที่ถึงฉันทาคติ ลำเอียง ไม่ตรงเพราะความรัก หรือด้วยโทสาคติ เพราะความชัง หรือด้วยโมหาคติ เพราะความหลง หรือด้วยภยาคติ เพราะความกลัว บ้างหรือไม่ เพราะเหตุว่าอคติทั้งหมดย่อมเกิดจากโลภะ โทสะ โมหะ และสำหรับปุถุชนนั้นย่อมเป็นผู้ที่ไม่ประจักษ์ ไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า อกุศลธรรมเป็นอกุศลธรรม ตรงกันข้ามกับกุศลธรรม กุศลธรรมเป็นผู้ตรง ไม่เอียง ไม่ว่าจะด้วยโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ด้วยความรัก หรือความชังก็ตามแต่ แต่ว่าขณะใดที่จิตเป็นอกุศล เป็นเพราะไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ผู้นั้นก็ย่อมกระทำกรรมเพราะโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เมื่อเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ

    ในชีวิตประจำวันเป็นไปไม่ได้เลยที่ท่านจะไม่เกี่ยวข้องกับใคร เพราะฉะนั้น ควรที่จะพิจารณาด้วยว่า เมื่อเกี่ยวข้องกับบุคคลใดก็ตาม มีการกระทำซึ่งเป็นอคติ คือเป็นกรรมซึ่งไม่ควรกระทำบ้างหรือไม่ ซึ่งเป็นกรรมซึ่งไม่เป็นธรรม เป็นไปด้วยความรักบ้าง หรือความชังบ้าง ความหลงบ้าง ความกลัวบ้าง เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าคะ

    โลภะเกิดขึ้นขณะใด พิจารณาดูว่าขณะนั้นเป็นกรรมที่ไม่ควรกระทำ เพราะกระทำไปด้วยฉันทาคติหรือไม่ เวลาที่โกรธเกิดขึ้น กระทำกรรมสิ่งใด ก็ให้พิจารณาว่ากรรมนั้นเกินสมควร ไม่สมควร ไม่เป็นธรรม เพราะแรงของโทสะหรือไม่ นี่เป็นชีวิตประจำวันนะคะ ซึ่งอริยสาวกทั้งหลายไม่กระทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ เพราะเหตุว่าท่านเห็นสภาพธรรมตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมใดเป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ไม่ควรเจริญ สภาพธรรมใดที่เป็นกุศลก็เป็นกุศลที่ควรเจริญ

    สำหรับข้อความที่ว่า

    ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลงยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม ดังดวงจันทร์ในข้างแรม ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศย่อมเจริญแก่ผู้นั้น ดุจดวงจันทร์ในข้างขึ้น ฯ

    เป็นความจริงไหมคะในชีวิตประจำวัน ท่านเห็นใครเป็นผู้ตรง เป็นผู้ยุติธรรมจริงๆ สรรเสริญไหมคะในความยุติธรรม ในความเป็นผู้มีธรรมของบุคคลนั้น ไม่ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องจะเป็นญาติ จะเป็นศัตรู ธรรมย่อมเป็นธรรม ความยุติธรรมก็ย่อมเป็นความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นในการปกครองประเทศ หรือแม้ในครอบครัว ก็ย่อมเป็นที่สรรเสริญ

    เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลใดเป็นผู้ที่ไม่ประพฤติเพราะล่วงธรรม คือ ความชอบ ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้นย่อมเจริญ ดุจดวงจันทร์ในข้างขึ้น แต่ตรงกันข้าม ถ้าผู้ใดประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม ดังดวงจันทร์ในข้างแรม ไม่ว่าในเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ตั้งแต่ในเรื่องของครอบครัว วงศ์ญาติ มิตรสหาย จนกระทั่งถึงการปกครองประเทศ ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ธรรมย่อมเป็นธรรมตามความเป็นจริง ผู้ใดจะได้ยศ ได้ลาภ ได้สรรเสริญ ก็ในธรรมที่เป็นกุศลธรรม แต่ผู้ใดจะเสื่อมจากยศ หรือสรรเสริญ ก็เพราะอกุศลธรรม ไม่ใช่เพราะบุคคลอื่น ข้อสำคัญตัวท่านเองค่ะ แต่ละครั้งที่จะให้เป็นผู้ตรงต่อธรรม และเจริญกุศลธรรมยิ่งขึ้น ต้องพิจารณาด้วยแม้แต่ว่าขณะนั้นมีความลำเอียงเพราะโลภะบ้างไหม ความลำเอียงเพราะโทสะบ้างไหม หรือเพราะโมหะ ความไม่รู้ หรือเพราะความกลัวบ้างไหม

    ผู้ฟัง อันนี้ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่ยังไม่ได้เจริญสติ เข้าข้างตัวเอง เดี๋ยวนี้ขณะที่เจริญสติแล้ว เห็นสภาพของความโกรธ ความลำเอียง ความอิจฉา ความต้องการ มีโลภะ โทสะ โมหะ ในตัวเองมากขึ้นค่ะ อาจารย์คะ บางครั้งก็ตรวจสอบดูว่า เมื่อยังไม่ได้เจริญสตินั้น ไม่รู้ว่าตัวเองมีโลภะมากแค่ไหน คิดว่าตนเองเป็นคนดีมากแล้ว แต่เมื่อ เจริญสติแล้ว จึงจะเห็นแม้สภาพการที่ดุคนรับใช้ หรือว่าเด็กเล็กอะไรอย่างนี้ บางครั้งก็ค่อยยังชั่วขึ้น คือดุด้วยความเมตตา ไม่อย่างนั้นมันก็ดุด้วยความเกลียดเอาทีเดียว ดุโดยหน้าที่ โดยความจำเป็น มีค่ะ ซึ่งแต่ก่อนไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นผลของการเป็นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานนะคะ ที่ทำให้มีความไวขึ้น และเกื้อกูลต่อการที่จะพิจารณาเหตุการณ์ที่ปรากฏตามความเป็นจริง ในบ้าน ในครอบครัวมีการให้อยู่เป็นประจำ สมมติว่าท่านมีคนรับใช้อยู่หลายคน ถ้าท่านชอบบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือว่าเป็นไปด้วยความลำเอียง เพราะความรัก หรือว่าด้วยความพอใจ หรือแม้แต่ในระหว่างญาติมิตร บุตรธิดา เพื่อนฝูง บุคคลหนึ่งอาจจะหิวมาก แต่ไม่ค่อยเป็นที่รัก แต่อีกบุคคลหนึ่งมีทุกสิ่งทุกอย่าง สมบูรณ์ทีเดียว เหลือเฟือ แต่ว่าเป็นที่รัก ถ้าจะมีการให้ ลองพิจารณาดูว่า การให้ของท่านนี้ ให้คนซึ่งถ้าได้รับแล้วจะเป็นประโยชน์แก่เขามากทีเดียว เพราะถ้าเป็นอาหารผู้นั้นก็อาจจะเป็นผู้หิว ผู้กระหาย ไม่ได้อาหารที่เป็นประโยชน์ตามสมควร กับอีกบุคคลหนึ่งซึ่งมีทุกอย่าง เลอเลิศพร้อมพรั่งสมบูรณ์ทุกประการ แต่เพราะความรัก ท่านก็ยังอยากให้สิ่งดีๆ กับบุคคลที่ท่านมีฉันทะ มีความพอใจ และยังคงให้สิ่งที่ประณีต หรือสิ่งที่เลว หรือน้อยมากกับคนซึ่งท่านไม่พอใจ แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่หิวมาก

    นี่ก็เป็นเรื่องของการให้ ซึ่งถ้าท่านพิจารณาแล้วก็ระลึกรู้ สติเกิดขึ้น ก็จะทราบได้ว่า ขณะใดเป็นไปด้วยโลภะ คือ ฉันทาคติหรือไม่ หรือเป็นไปตามเหตุ ตามผล ตามธรรมที่ควรจะเป็น หรือว่าการที่จะแสดงความไม่พอใจ ถ้าเป็นคนซึ่งท่านชอบ ท่านรัก แม้จะทำสิ่งเดียวกับคนที่ท่านไม่รักไม่ชอบ แต่การแสดงความไม่พอใจของท่านกับคนที่ท่านไม่รักไม่ชอบ จะแรงกว่าการที่ท่านแสดงความไม่พอใจในการกระทำที่ไม่ถูกของคนที่ท่านพอใจ ท่านรัก ท่านชอบ เป็นอย่างนี้หรือไม่ ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ถ้าเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติย่อมเกิดขึ้นระลึกรู้ในขณะนั้นได้ทันว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของอกุศลประเภทใด ขั้นใด หรือว่าขณะต่อไปอาจจะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดขึ้น มีความเมตตาเสมอหน้ากัน โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 4
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ