วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 15


    เป็นสิ่งซึ่งจะเตือนให้ระลึกถึงกรรมในอดีตของตนเองได้ว่า ท่านคงได้เคยกระทำกรรมอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด ท่านผู้ฟังที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น จะเห็นคุณของสติจริงๆ ว่า ถ้าสติไม่เกิด ก็เป็นโอกาสของอกุศลจิตที่ยืดยาว และจะเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นอกุศลกรรม แต่เวลาที่สติเกิดขึ้น มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะทำให้ท่านเบาจากอกุศลจิตในขณะนั้น และมีความเห็นถูกตามความเป็นจริงเกิดขึ้น ตามกำลังของปัญญาในขณะนั้น

    ถ้าเป็นปัญญาขั้นที่รู้ในคุณโทษ ในเหตุ ในผล จะทำให้ท่านสามารถที่จะประพฤติในทางที่ถูกในทางที่ควร แต่ถ้าเป็นสติที่ระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ลืมเรื่องอื่นที่ท่านคิด และศึกษาระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรมแต่ละลักษณะในขณะนั้น ถ้าเป็นความไม่แช่มชื่นของจิต สติก็ยังสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะที่ไม่แช่มชื่น เห็นอาการที่ไม่แช่มชื่น โดยความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะนั้นจะเห็นคุณของสติ และปัญญาจริงๆ ว่า ทำให้เบาจากอกุศลธรรมทั้งปวง พร้อมกันนั้นก็ยังเป็นการที่ปัญญาจะรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ความรู้สึกไม่ว่าจะเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นโทมนัส เป็นโสมนัสใดๆ ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไปหมด เดี๋ยวนี้สภาพธรรมดับไปแล้ว ดับไปทุกขณะ ของเก่าไม่มีเลย มีแต่ของใหม่ สภาพธรรมใหม่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไปอีกแล้ว ดับไปอย่างรวดเร็วเหลือเกินด้วยความไม่รู้ ถ้าสติไม่ระลึก ไม่ศึกษาในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏ ซึ่งการศึกษานั้นดูเหมือนว่ามาก มีลักษณะของสภาพธรรมหลายประการ แต่ให้ทราบว่า ปรากฏเพียง ๖ ทางเท่านั้น คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ปกติจริงๆ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นเลย หรือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหูในขณะนี้ ก็ไม่ต้องคิดถึงสภาพธรรมอื่น แต่ว่าระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าทางตามีสภาพธรรมปรากฏ และหลงลืมสติ ไม่รู้ คิดว่าเห็นคน เห็นวัตถุสิ่งต่างๆ ก็คงจะเป็นเครื่องเตือนให้ทราบได้ว่า การศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตายังไม่พอ จึงเห็นเป็นบุคคลต่างๆ เห็นเป็นสิ่งต่างๆ

    เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่า การศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ยังไม่พอ จึงระลึก และศึกษาทันที ในขณะนี้เอง ศึกษาโดยการเพียรที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และก็ขณะที่กำลังเห็น ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่รู้ ที่กำลังเห็นนี่ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ภพไหน ชาติไหนก็จะต้องศึกษาอย่างนี้ ทางหูก็เช่นเดียวกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็เช่นเดียวกัน จนกว่าจะเป็นความเห็นถูกจริงๆ คือ ขณะที่เห็นไม่ติดใจ ไม่สนใจในนิมิต ในรูปร่างสัณฐาน ในอนุพยัญชนะ ในส่วนละเอียด เพราะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นเพียงสภาพธรรมที่เพียงปรากฏเท่านั้น

    ส่วนการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานนั้น เป็นขณะที่ไม่ใช่ขณะเห็น ต้องแยกออกจากกัน เพียรไปเรื่อยๆ ไม่ท้อถอย และมีความอดทนที่จะระลึก และก็รู้ในขณะนี้ ไม่ใช่ในขณะอื่น เริ่มรู้ขึ้นเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ถึงแม้ว่าจะเป็นความรู้ที่ยังไม่ชัด แต่ถ้าระลึกบ่อยๆ รู้บ่อยๆ วันหนึ่งก็สามารถที่จะเข้าใจเพิ่มขึ้น และก็ละคลายความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ เพราะว่า ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้อยู่ในหนังสือ ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่อยู่ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ขณะใดที่ยังไม่มีการศึกษา ไม่มีการระลึกที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้ ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ ก็จะต้องระลึก คือ ศึกษา ไม่ลืมที่จะรู้ไปเรื่อยๆ

    การที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต้องละออกจากขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ต้องละออกจากขณะที่กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือกำลังคิดนึก ขณะนี้ถ้าจะมีการคิดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้น และมีสติที่จะรู้ว่า การคิดเรื่องนั้นเกิดขึ้นเพราะความทรงจำ หรือความจดจำในเรื่องนั้นเป็นปัจจัย จึงได้เกิดการคิดอย่างนั้นขึ้น

    ลักษณะสภาพที่คิดมีจริง จะคิดถึงคำว่า “มีจริง” ก็ได้ ถ้ามีความเข้าใจในความหมายของคำว่า “มีจริง” ให้ทราบว่า เป็นเพราะสัญญาความจำในคำว่า “มี” ในคำว่า “จริง” เป็นปัจจัยให้เกิดนึกถึงความหมายของคำว่า “มี” และคำว่า “จริง” เพราะฉะนั้น ทุกคำ ทุกเรื่องที่มีเกิดเพราะความทรงจำทั้งสิ้น ถ้าเพียงแต่จะไม่มีความทรงจำ ไม่มีความจดจำ ขณะนี้จะปรากฏแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และเสียงที่ปรากฏทางหู

    ถ้าไม่คิด จะไม่มีอะไรเลยนอกจากเสียงที่ปรากฏทางหูแล้วก็หมดไป สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เพราะความคิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะความจำแทรกอยู่ คั่นอยู่เรื่อยๆ จึงทำให้ปรากฏเป็นโลก เป็นเรื่องต่างๆ ขึ้นเพราะความคิด

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะไม่รู้ความจริงของสภาพคิด เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงต้องรู้ลักษณะของขันธ์ ๕ สัญญาขันธ์ขณะใด ขณะที่กำลังคิดนั่นเอง เป็นความจดจำที่ทำให้เกิดความคิดในขณะนั้นขึ้น ถ้าไม่รู้ว่าเป็นสัญญาในขณะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะเห็นว่า สัญญาขันธ์เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่จำสิ่งต่างๆ เท่านั้น แม้แต่ในขณะที่เห็น กำลังเห็น และรู้ว่าเป็นอะไร ขณะนั้นก็เป็นความจำเท่านั้นเองที่รู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร

    นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมไปอีกมากทีเดียวกว่าจะเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

    การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว และในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อมีกุศลกรรมอื่นที่จะให้ผล ก็ให้ผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเมื่อเป็นผลที่น่าพอใจ ก็ทำให้เป็นผู้ที่มีรูปสมบัติ มีทรัพย์สมบัติ มีลาภ มียศต่างๆ กันไปตามกรรมที่ได้กระทำ ซึ่งแต่ละคนก็สามารถ ที่จะพิจารณาผลในปัจจุบัน และรู้ถึงเหตุในอดีตว่า เป็นผลของกุศล หรือของอกุศล

    แต่ผลของกุศลที่ได้รับ จะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิตรึกุศลจิต นี่เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณามาก เพราะทุกท่านทราบว่า กุศลเป็นเหตุให้เกิดวิบากที่เป็นผล และผลของกุศลคืออิฏฐารมณ์ต่างๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้รับอิฏฐารมณ์ต่างๆ แล้ว ก็ควรพิจารณาต่อไปอีกว่า จิตที่เกิดต่อจากนั้น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะว่าผลของกุศลเป็นที่ต้องการ เช่น รูปสมบัติ ทุกคนต้องพอใจที่จะเห็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดีทางตา เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่า ยังมีความพอใจในผลของกุศลที่เป็นรูปสมบัติมากไหม หรือบางครั้ง บางคราวก็พิจารณาว่า เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน และถ้าจะให้ละเอียดจริงๆ คือ ปรากฏเพียงขณะที่กระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ในวันหนึ่งๆ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความติด ความเหนียวแน่นในสิ่งที่น่าพอใจ เป็นสิ่งที่ยาก จะละได้ เพราะไม่ใช่แต่เฉพาะในรูปสมบัติเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นในเสื้อผ้า ในอาหาร ในของใช้ ในเครื่องใช้เครื่องอุปโภคต่างๆ ความติดในอิฏฐารมณ์ซึ่งเป็นผลของ กุศลกรรมนั้นมากมาย ในเรื่องของรูปสมบัติ ก็เป็นที่ต้องการ ในเรื่องทรัพย์สมบัติ ก็เป็นที่ต้องการอีก

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีความยินดี มีความต้องการ มีความปรารถนาในผลของกุศล และถ้าพิจารณาจริงๆ ทั้งๆ ที่เห็นว่าอกุศลมีมาก แต่อกุศลนั้นๆ ก็ไม่สามารถที่จะดับไปได้เลย ถ้าพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ว่า เป็นไปทั่วหมด ตลอดไปตั้งแต่รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ

    และเวลาที่มีทรัพย์สมบัติแล้ว จะมากจะน้อยอย่างไรก็ควรที่จะพิจารณาว่า มีอกุศลจิตที่มีความยึดมั่นในทรัพย์สมบัตินั้นเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะว่า ทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตอย่างสะดวกสบายไม่ขัดสนก็จริง แต่ ควรที่จะพิจารณาว่า ทำให้เกิดอกุศล ความติดข้องในทรัพย์สมบัติอย่างเหนียวแน่น จนยากที่จะละคลายหรือเปล่า

    พระผู้มีพระภาคทรงรู้กำลังของกุศลจิต และอกุศลจิตของสัตว์โลกทั้งหมด พระองค์ทรงแสดงการใช้ทรัพย์ที่สมควร ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปัตตกัมมสูตร มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ทุกท่านก็ทราบว่า ท่านเป็นเอตทัคคะในการ บริจาคทาน และท่านเป็นผู้ที่ได้รับผลของอดีตกุศลกรรมมาก

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยาก ในโลก ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน

    การที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมเพื่อให้บุคคลทั้งหลายได้เห็นโทษของอกุศล และเจริญกุศลยิ่งขึ้น พระองค์ต้องทรงแสดงโดยลำดับจริงๆ เพราะถึงแม้ว่าพระองค์จะได้ทรงชี้ทางที่จะดับกิเลส แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะจับกิเลสหรืออกุศลที่ตนสะสมมาทิ้งไปได้หมด แต่จะต้องอาศัยการเข้าใจในเหตุผลที่ทำให้รู้จักตัวเองตรงตามความเป็นจริง และรู้ว่า ยังมีอกุศล และกิเลสมากมายแค่ไหน ซึ่งการที่จะดับกิเลสอกุศลเหล่านั้น ต้องอาศัยกุศลธรรมที่จะต้องอบรมเจริญขึ้นจริงๆ ไม่ใช่จะฟังแต่เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่รู้จักกำลังของตนเองในเรื่องของกุศล และอกุศล ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน

    ต้องเหมือนกันหมดสำหรับทุกคน ในเมื่อเป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่

    ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน คือ ขอโภคะจงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

    คือ ทุกคนที่กำลังหาทางที่จะดับกิเลส แต่ก็ยังไม่หมดความปรารถนาในธรรม ที่น่าปรารถนา แม้ว่าจะไม่เอ่ยออกมาเป็นวาจาว่า อยากจะได้โภคะที่เกิดขึ้นโดย ทางธรรม แต่การกระทำของทุกคนในทุกวัน เป็นการแสวงหาโภคะในทางธรรม เพราะว่ายังปรารถนาอยู่ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น การที่จะอบรมเจริญกุศลต้องตรง ต่อความเป็นจริงว่า ธรรมประการที่ ๑ ก็เป็นธรรมประการที่ ๑

    ประการที่ ๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ขอยศจงเฟื่องฟูแก่เราพร้อมด้วยญาติ และมิตร นี้เป็นธรรมประการที่ ๒

    ทุกท่านมีญาติ มีมิตรสหาย ไม่ใช่มีตัวคนเดียว เพราะฉะนั้น ก็มีความสัมพันธ์ มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นโดยฐานะต่างๆ โดยฐานะของญาติที่ใกล้ชิด และญาติที่ห่างไกล เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีทรัพย์ แต่ถ้าไม่มียศ ซึ่งยศในที่นี้ได้แก่ บริวารสมบัติ ก็ย่อมไม่ได้ความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต คือ ชีวิตจะไม่ราบรื่นสมบูรณ์ไปได้ถ้าขาดบริวาร ซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยทำกิจธุระต่างๆ

    เพราะฉะนั้น คนที่มีทรัพย์ บางครั้งไม่สามารถได้สิ่งที่ต้องการถ้าขาด บริวารสมบัติ หรือบริวารยศ ดังนั้น นอกจากทรัพย์ ก็ยังปรารถนาผู้ช่วยทำกิจธุระ ซึ่งเป็นบริวารสมบัติด้วย นี่เป็นธรรมที่น่าปรารถนาประการที่ ๒

    ใครยังไม่มีเรื่องเดือดร้อนก็รู้สึกว่า ช่วยตัวเองได้ ใช่ไหม แต่ถ้าจะทำกิจ การงานอะไรสักเล็กน้อย จะเห็นได้ว่า ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น และ ยิ่งเป็นงานใหญ่ ยิ่งเห็นได้จริงๆ ว่า ขาดมิตรสหายเพื่อนฝูง หรือผู้ที่ช่วยทำกิจธุระไม่ได้

    ประการที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ขอเราจงเป็นอยู่นาน จงรักษาอายุให้ยั่งยืน นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

    เป็นความจริงไหม ที่จะให้มีอายุอยู่นาน คือ ต้องการเห็น ต้องการได้ยิน ต้องการได้กลิ่น ต้องการลิ้มรส ต้องการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส บางคนอาจจะบอกว่า ไม่อยากจะเกิดอีก แต่ถ้ายังอยากจะเห็นเดี๋ยวนี้ ก็แสดงว่ายังต้องการที่จะเกิดอีก ยังไม่สามารถตัดความยินดีพอใจในภพในชาติได้

    เพราะฉะนั้น ทุกคนก็รักษาตัวเองให้มีสุขภาพดี ให้ร่างกายแข็งแรง เพราะว่าจะได้มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่อๆ ไปอีกนานๆ

    ธรรมประการที่ ๔ ที่น่าปรารถนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อมด้วยญาติ และมิตรสหายแล้ว เป็นอยู่นาน รักษาอายุให้ยั่งยืนแล้ว เมื่อตายแล้ว ขอเราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

    ทุกคนรู้แน่ว่าจะอยู่โลกนี้ไม่นาน และอยู่ได้ไม่ตลอดไป และเมื่อยังปรารถนาอิฏฐารมณ์ ปรารถนาความสะดวกสบาย ปรารถนารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ ก็คือ การปรารถนาไปสู่สุคติโลกสวรรค์

    บางคนอาจจะบอกว่า อยากเกิดในโลกนี้อีก คุ้นเคยกับโลกนี้ ยังไม่อยาก จากโลกนี้ไปง่ายๆ ถ้าคิดว่าอยากจะอยู่ในโลกนี้ อยากจะอยู่ในโลกนี้เมื่อ โลกนี้เป็นอย่างไร คือ อยากจะอยู่ในโลกนี้ เมื่อโลกนี้สบายๆ ไม่มีความทุกข์ ไม่มี ความเดือดร้อนต่างๆ ใช่ไหม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อยากจะอยู่ในโลกนี้ที่เหมือนสวรรค์ ไม่ใช่อยากจะอยู่ในโลกนี้ที่เหมือนกับนรก เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทุกคนที่เกิดมาแล้ว ไม่พ้นจากความปรารถนาเหล่านี้

    และถ้าไม่รู้จิตใจของตนเองตามความเป็นจริงว่า ทุกวันๆ ไม่พ้นจากความปรารถนา ๔ อย่างนี้เลย จะดับกิเลสได้อย่างไร

    เรื่องของการดับกิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียด และต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อ รู้ลักษณะของสภาพธรรมเพื่อละอวิชชา คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะความไม่รู้ทำให้ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นตัวตน และเมื่อมีเรา มีตัวตน ก็ทำให้มีความยึดมั่น มีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเหตุที่ให้ได้รับผลเหล่านี้ด้วย เพราะเพียงแต่หวัง ย่อมไม่สามารถสำเร็จประโยชน์ได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร คฤหบดี ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ธรรม ๔ ประการนี้ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัทธาสัมปทา ๑ สีลสัมปทา ๑ จาคสัมปทา ๑ ปัญญาสัมปทา ๑

    ดูกร คฤหบดี ก็สัทธาสัมปทาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นผู้ทรงจำแนกธรรม ดูกร คฤหบดี นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา

    ถ้าไม่มีการศึกษาพระธรรม มุ่งแต่จะไปนั่งปฏิบัติทำสมาธิ จะไม่ทราบเลยว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงจำแนกธรรมอย่างไร เพราะฉะนั้น สัทธาสัมปทาย่อมเกิดไม่ได้โดยการไม่ศึกษาพระธรรม แต่ถ้าศึกษา พระธรรมแล้วจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ละเอียดกว่า ที่บุคคลอื่นแสดง โดยที่บุคคลอื่นไม่สามารถแสดงได้อย่างพระอรหันตสัมมาสัม- พุทธเจ้า แม้แต่เรื่องสัทธาสัมปทา ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมจึงจะรู้ได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ก็สีลสัมปทาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า สีลสัมปทา

    พระธรรมที่ทรงแสดง เมื่อฟังแล้ว พิจารณาแล้ว ต้องน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย และเพียงศีล ๕ กุศลจิตสามารถที่จะเกิด และรักษาได้ครบไหม ถ้าครบ ก็เป็นการแสดงสัทธาสัมปทา และสีลสัมปทา เพราะไม่ใช่เพียงแต่สัทธาเท่านั้น ยังต้องมี สีลสัมปทา คือ การประพฤติปฏิบัติตามด้วย

    ข้อความต่อไป

    ก็จาคสัมปทาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่ การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครอบครองเรือน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา

    เพียงข้อเดียว คือ จาคสัมปทา ท่านผู้ฟังก็พิจารณาได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มี จาคสัมปทา หรือท่านต้องการผลของกุศลที่ท่านทำ พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว จะเตือนตัวเองได้จริงๆ

    ข้อความต่อไป

    ก็ปัญญาสัมปทาเป็นไฉน บุคคลมีใจอันความโลภไม่สม่ำเสมอคืออภิชฌาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำ เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำอยู่ ย่อมเสื่อมจากยศ และความสุข บุคคลมีใจอันพยาบาทครอบงำ ... อันถีนมิทธะครอบงำ ... อันอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ ... อันวิจิกิจฉาครอบงำ ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำ ย่อมเสื่อมจากยศ และความสุข

    ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนั้นแลรู้ว่า อภิชฌาวิสมโลภะเป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็นอุปกิเลสของจิตเสียได้

    นี่ก็หมายถึงทุกท่าน ซึ่งเวลาที่ข้อความนี้อยู่ในพระไตรปิฎก ก็เหมือนกับ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกะ โดยไม่ได้คิดว่า แม้ตัวท่านเองก็เป็นอย่างที่ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกะที่ว่า บุคคลมีใจอันความโลภไม่สม่ำเสมอ คืออภิชฌาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีกิจที่ควรทำ

    เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า ขณะใดที่กำลังเพลิดเพลินในการละเล่นต่างๆ ขณะนั้น ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ และไม่ยินดีกิจที่ควรทำ ระหว่างการฟังธรรมกับ การดูหนังดูละคร ในขณะนั้นจะเห็นได้ว่า ขณะใดอกุศลครอบงำ ก็ย่อมเป็นไปตามอกุศล

    เพราะฉะนั้น เป็นชีวิตจริงๆ ที่ให้รู้จักตัวของท่านเองว่า ขณะใดทำกิจที่ควรทำ และขณะใดทำกิจที่ไม่ควรทำ แต่สำหรับผู้ที่เป็นอริยสาวกนั้นรู้ว่า อภิชฌาวิสมโลภะเป็นอุปกิเลสของจิต ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็นอุปกิเลสของจิตเสียได้ และถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานย่อมรู้แม้ในขณะนั้นว่า กุศลจิต คือ ขณะที่สงบจากอกุศล

    ชีวิตประจำวันกับการเป็นผู้อบรมเจริญกุศล จะต้องเห็นอกุศลตามความเป็นจริงด้วย

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร คฤหบดี อริยสาวกนี้แล ย่อมเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาแล้วโดยธรรม

    กรรม ๔ ประการ เป็นไฉน คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 4
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ