สมถภาวนา ตอนที่ 04


    ขณะใดที่วิรัติทุจริต ขณะนั้นสงบ แต่เพราะเหตุใดจึงแยกการเจริญสมถภาวนาออกไปอีกส่วนหนึ่ง แม้ในขณะที่ให้ทานก็ดี ในขณะที่รักษาศีลหรือวิรัติทุจริตนั้นก็ดี ก็สงบ ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่าขณะที่ให้ทาน ลักษณะของความสงบซึ่งเป็นกุศลจิตนั้นมีเพียงเล็กน้อย ชั่วขณะที่ให้ ไม่มั่นคง เพราะว่าจิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว แม้แต่ขณะที่ให้เป็นกุศล เจตนาที่จะให้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ขณะต่อไปอาจเป็นความเสียดายก็ได้ หรืออาจแป็นความรำคาญใจในข้อบกพร่องของทานนั้นก็ได้ หรืออาจเป็นโลภะ ความพอใจในวัตถุที่ให้ ในอาหาร ในดอกไม้ธูปเทียนต่างๆ ที่สวยงามที่จัดไว้อย่างดีก็ได้ นั่นก็เป็นสภาพของจิตซึ่งเกิดดับ และเปลี่ยยนแปรไปอย่างรวดเร็ว จากกุศลเป้นอกุศล จากอกุศลเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่ให้ทาน กุศลเจตนาเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ชั่วขณะนั้นความสงบจึงน้อยมาก ไม่ตั้งมั่นพอให้รู้ในลักษณะที่เป็นความสงบของจิต ด้วยเหตุนี้ขณะที่ไม่ได้ให้ทาน ขณะที่ไม่ได้รักษาศีลหรือวิรัติทุจริต สภาพของจิตส่วนใหญ่ในวันหนึ่งก็ย่อมเป็นอกุศลตามปัจจัยที่ได้สะสมมา แต่ถ้ามีปัญญารู้ว่า ทำอย่างไรจิตสงบ จิตจึงจะสงบได้ ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่เพราะปัญญาที่รู้ว่า ขณะใดของความสงบเป็นอย่างไร เป็นปัจจัยให้ความสงบของจิตเกิดขึ้นได้ และจะเพิ่มความสงบเป็นสมถะ เป็นความสงบของจิตขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เริ่มในชีวิตประจำวัน

    3892 ฌานจิตเป็นสิ่งที่ยากจะถึงได้

    ท่านอาจารย์ แต่ละท่านหวังจะบรรลุฌานจิตไหมคะ ฌานจิตซึ่งเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิที่มั่นคงถึงขั้นอัปปนา แนบแน่นในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ โดยไม่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายเลย นั่นเป็นสิ่งที่ยากจะถึงได้ แม้ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระสาวกทั้งหลายที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าโดยไม่บรรลุฌานมีมากกว่าพระอริยเจ้าที่บรรลุอริยสัจธรรม และบรรลุความสงบของจิตถึงขั้นอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิตด้วย

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า แม้ในครั้งนั้นการบรรลุถึงอัปปนาสมาธิด้วยความสงบถึงขั้นฌานก็แสนยาก เพราะฉะนั้น ตัวของท่านสามารถสงบได้ถึงขั้นนั้นไหม ถ้าท่านคิดหวังว่าจะได้ ก็จะต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้จริงในลักษณะของความสงบ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่ไม่รู้อะไรเลย บางคนก็เป็นเด็กตัวเล็กๆ ก็ไปทำสมาธิกันเป็นแถว และบางคนก็บอกว่า เด็กคนนั้นคนนี้บรรลุถึงขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ตามความเป็นจริงแล้วขอให้ท่านคิดดูว่า การให้จิตตั้งมั่นในความสงบอย่างดื่มด่ำ แนบแน่นจริงๆ ถึงขั้นอัปปนาสมาธินั้นต้องประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าไม่รู้อะไรเลย ไม่เข้าใจอะไรเลย เพียงแต่ไปที่สำนักหนี่งสำนักใดแล้วก็จดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด ปัญญาอยู่ที่ไหน ปัญญาของใคร และถ้าไม่มีปัญญาแล้วจะสงบได้อย่างไร ในขณะที่ให้ทานสามารถระลึกถึงสภาพของจิตที่สงบชั่วขณะที่ให้นั้นหรือเปล่า ในขณะที่วิรัติทุจริตเห็นความสงบที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะในขณะที่วิรัติทุจริตนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่สามารถจะรู้ความต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิตแล้วละก็ไม่สามารถจะเจริญสมถภาวนาได้

    เพราะฉะนั้น ในยุคนี้สมัยนี้ ท่านที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมทราบว่า ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นสงบพร้อมกับปัญญาเริ่มเกิดขึ้นที่จะสังเกตพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นความสงบของสติปัฏฐานซึ่งประกอบด้วยปัญญา . ไม่ใช่เพียงความสงบโดยสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ท่านใคร่ที่จะเจริญความสงบในลักษณะใด ท่านจะเจริญความสงบเพียงในขั้นของสมถะ ซึ่งรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะสงบ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล หรือท่านเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และสงบในขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    นี่เป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาโดยถ่องแท้ว่า ท่านควรจะสงบอย่างไร ยังมีท่านที่ต้องการจะสงบ โดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏไหมคะ

    3893 ปฐวีกสิณ - ความสงบ - ปัญญา

    ถาม อารมณ์สมถะมีอยู่หลายอย่าง แต่กสิณยังไม่ทราบ กสิณทำให้สงบได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ กสิณมีถึง ๑๐ ปฐวีกสิณ คือ วงกลมที่ทำขึ้นจากดิน ปฐวี แปลว่า ดิน ธาตุดิน และต้องเป็นดินพิเศษที่มีสีที่ทำให้จิตไม่ตกไปสู่อารมณ์อื่น หมายความว่า สามารถผูกจิตไว้กับกสิณนั้นได้ เป็นดินสีอรุณอ่อนๆ และต้องกลึงให้ดีให้เรียบด้วย แต่นั่นหรือคะที่จะทำให้จิตสงบ เห็นไหมคะ เพียงแต่ไปจ้องดูเฉยๆ จิตจะสงบได้ไหม ความสงบต้องอยู่ที่ปัญญา ไม่ใช่อยู่ที่ดินนั้น จริงที่สิ่งนั้นเป็นวัตถุที่ทุกท่านสามารถมองเห็นได้ เด็กก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี ก็ไปดูปฐวีกสิณได้ ถ้าอยากจะรู้ว่า ปฐวีกสิณเป็นอย่างไร บางวัดมีที่ทำปฐวีกสิณหรือกสิณอื่นๆ ไว้ ใครๆ ก็ไปดูได้ แต่จะสงบไหม ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนั้นสงบเพราะอะไร

    เพราะฉะนั้น ใครๆ ก็เห็น เช่นเดียวกับอสุภะ แต่ทำอย่างไร หรือมนสิการอย่างไร ความสงบจึงจะเกิดได้ ความสงบไม่ใช่อยู่ที่ต่างคนต่างก็ไปมุงดู หรือไปดูปฐวีกสิณ แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่า จิตที่สงบเพราะอาศัยปฐวีกสิณนั้นด้วยเหตุใด ทำไมใช้ดิน เพราะเหตุว่ามีอะไรในโลกนี้บ้างที่ปรากฏโดยสภาพของความเป็นรูปที่จะปราศจากดิน ความอ่อน ความแข็งในวัตถุทั้งหลายปรากฏอยู่ทั่วไป บนบ้านก็มีสภาพที่อ่อนแข็ง ที่พื้นหญ้า พื้นสนาม พื้นดิน พื้นโลก รูปทั้งหลายที่จะปราศจากธาตุดินไม่มี รู้อย่างนี้แล้วจิตสงบหรือยัง ถ้าจิตยังไม่สงบ ก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า รู้แล้ว ฟังแล้ว แต่ก็ไม่ได้สงบ

    เพราะฉะนั้น ที่จะสงบต้องเป็นปัญญาที่พิจารณาอย่างไร ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ไปดูปฐวีกสิณ ให้ไปดูกันมากๆ แล้วก็เข้าใจว่า จิตจะสงบได้ ไม่ใช่ แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ถึงว่า นอกจากธาตุดินแล้วก็ไม่มีอะไร ธาตุดินเป็นใหญ่ ปรากฏอย่างกว้างขวางทีเดียว

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญาที่จะให้จิตสงบก็จะต้องน้อมระลึกถึงสภาพที่แท้จริงของธรรมว่า เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ควรจะเยื่อใยหรือว่าติดข้องในสภาพธรรมนั้น เพราะหวนระลึกถึงสภาพที่แท้จริง คือ เพียงลักษณะของธาตุดินเท่านั้นตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ถ้าจิตจะระลึกถึงสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงดินจริงๆ ที่กายก็เป็นแต่เพียงดินชนิดหนึ่ง ถ้าเอาดินคือกายใส่ลงไปที่เราสมมติว่าดิน อีกไม่นานก็มีลักษณะผสมผสานปนเปกัน เป็นดินเหมือนกัน ไม่มีความต่างกัน

    เพราะฉะนั้น โดยแท้จริงแล้ว รูปธรรมทั้งหลายจะต้องมีธาตุดินเป็นใหญ่ เป็นประธาน และลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูป ก็หาสาระอะไรไม่ได้เลย เพราะเป็นแต่เพียงลักษณะของธาตุดินในรูปร่างลักษณะต่างๆ ที่กายที่เป็นเนื้อหนังมังสาก็เป็นแต่เพียงลักษณะอาการหนึ่งของธาตุดิน ดินที่เราเรียกกันว่าดิน ก็เป็นลักษณะอาการหนึ่ง ลักษณะหนึ่งของธาตุดินชนิดหนึ่ง แต่โดยสภาวะที่เป็นสามัญลักษณะทั่วไปแล้ว ธาตุดินก็คือธาตุดิน ไม่ว่าจะอยู่ที่กาย หรือสิ่งที่เราเรียกว่าดิน

    เพราะฉะนั้น การเจริญสมถภาวนากับการเจริญวิปัสสนาจึงต่างกัน สมถะอาศัยสัญญา ความจำจากสิ่งที่ปรากฏแล้วนึกถึงธาตุดิน แต่วิปัสสนาภาวนานั้นระลึกตรงลักษณะของสภาพที่อ่อนหรือแข็งที่ปรากฏ ไม่ใช่ทางตา การเจริญวิปัสสนาภาวนาที่จะรู้ลักษณะของธาตุดินไม่ใช่ทางตา ต้องกระทบสัมผัสสภาพที่อ่อน และแข็ง เสมอกันหมด ไม่ว่าจะเป็นที่กาย หรือที่อื่นก็ตาม นั่นคือวิปัสสนาภาวนา มีลักษณะของธาตุแข็งเท่านั้นที่ปรากฏ แต่สมถภาวนาอาศัยสัญญา ความจำในสิ่งที่สมมติว่าธาตุดิน แล้วก็น้อมไปสู่การที่จะสงบเพราะรู้ว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสาระ สิ่งที่ปรากฏที่เป็นใหญ่ เป็นประธานของรูปทั้งหลายก็คือธาตุดินเท่านั้น อย่างหนึ่งแน่นอน ซึ่งเป็นธาตุที่ปรากฏทั่วไป แล้วจิตจึงจะสงบ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ใครๆ ก็ไปดูปฐวีกสิณ ไปนั่งจ้อง แล้วจะให้เป็นสมถภาวนาถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ โดยที่ปัญญาไม่เกิดขึ้นที่จะมนสิการให้จิตสงบ

    เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยปฐวีกสิณในขั้นต้น แต่เมื่อชำนาญแล้ว จิตย่อมผูกพัน วิตก คือนึกถึงธาตุดินที่ทำให้จิตสงบ เพราะไม่เกี่ยวข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อื่น ใจวิตกคือนึกถึงในลักษณะของธาตุดิน

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะทำอย่างไรคะ จะสงบพร้อมสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท หรือยังใคร่ทำสมาธิแล้วก็เข้าใจว่า ขณะนั้นจิตสงบ แล้วปัญญาไม่ได้รู้เลยว่า จิตจะสงบได้อย่างไร เพียงไปนั่งจดจ้องที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วไปถือเอาอกุศลจิตเป็นกุศลจิต ไม่สงบ เพราะไม่รู้ ถ้ารู้แล้วจึงสงบ

    เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาไม่เกิด เจริญสมถภาวนาไม่ได้ เพียงแต่จดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดให้เป็นสมาธิเกิดขึ้น ผลก็คือว่า ไม่รู้ว่า ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ที่แปลกประหลาด นั่นเป็นความไม่รู้ และความสงสัยก็เกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ใช่ลักษณะของความสงบเลย

    3894 คุณของพระธรรม

    ท่านอาจารย์ และสำหรับสมถภาวนาเพียงแต่รู้ว่า สมถกัมมัฏฐานมีอะไรบ้างไม่พอเลย การจะเจริญสมถภาวนา อย่างเช่นคำถามของท่านผู้ฟังเรื่องของปฐวีกสิณ ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถสงบได้ และขณะนี้มีปฐวีกสิณไหมที่จะให้เป็นสมถภาวนา แต่มีสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วยังไม่รู้ก็ควรจะรู้ ขณะใดที่รู้ ขณะนั้นจะสงบด้วย

    เพราะฉะนั้น จะเห็นคุณของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงสภาพธรรมพร้อมด้วยเหตุ และผลอย่างละเอียดแล้ว สัตว์โลกทั้งหลายย่อมไม่สามารถพ้นไปจากความเห็นผิด และความไม่รู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยเฉพาะพระผู้มีพระภาคทรงดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้ว และต่อไปก็จะนาน นานต่อไปอีก ถ้าท่านผู้ใดจะไม่ศึกษาธรรม ไม่ฟังธรรม แต่คิดว่า เข้าใจธรรมแล้ว และไม่มีอะไรที่จะต้องศึกษาต่อไป ไม่มีอะไรที่จะฟังต่อไปก็ย่อมเป็นผู้ประมาท เพราะเหตุว่าย่อมเข้าใจผิดได้ แต่ถ้าศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมอยู่เสมอก็ย่อมมีความรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้น และธรรมที่ได้ยินได้ฟังก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจของผู้ที่ได้รับฟังได้ ซึ่งทุกท่านก็จะพิสูจน์ได้กับตัวของท่านเองว่า อย่างน้อยที่สุดก็เปลี่ยนจากความไม่รู้อะไร เป็นรู้ขึ้น แล้วเปลี่ยนจากการย่อหย่อนในการเจริญกุศลเพิ่มเป็นกุศลยิ่งขึ้น ท่านที่เคยเป็นผู้ตระหนี่ ก็มีการบริจาค หรือบำเพ็ญทานกุศลเพิ่มขึ้น ท่านที่มีสิกขาทุรพล คือ ย่อหย่อนในศีล ก็จะรู้สึกว่า เพิ่มพูนขึ้นในการรักษาศีล และถ้าได้ศึกษาธรรมต่อไป กุศลประการอื่นๆ ก็จะเพิ่มพูนขึ้น และท่านจะเปรียบเทียบได้จริงๆ ว่า พระธรรมเปลี่ยนจากอกุศลซึ่งเคยมีมากให้ลดน้อยลง แล้วเพิ่มพูนทางฝ่ายกุศลยิ่งขึ้น

    3895 สัมมาสมาธิ - มิจฉาสมาธิ

    ผู้ฟัง คำว่า “สมาธิ” มีหลายอย่าง ในลักขณาทิจตุกะหรือลักษณะของปัญญามี ๔ อย่างว่า ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาไม่เกิด ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ สมาธิที่เป็นกุศลหรืออกุศลผู้ฟัง สมาธิมีหลายอย่างหรือครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ มีมิจฉาสมาธิ และมีสัมมาสมาธิ

    ผู้ฟัง สมาธิให้เกิดปัญญามีใช่ไหมครับ ขณิกสมาธิทำให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ เวลานี้สมาธิเกิดอยู่แล้วทุกขณะ เป็นบาทให้เกิดปัญญาหรือยังคะ

    ผู้ฟัง ตามลักขณาทิจตุกะของปัญญา เอาสมาธิเป็นที่ตั้ง

    ท่านอาจารย์ ก็เวลานี้มีสมาธิแล้วทุกขณะ เป็นบาทให้เกิดปัญญาหรือยัง

    ผู้ฟัง ถ้าสมาธิเป็นขณิกะ ผมว่าเป็นบาท

    ท่านอาจารย์ สมาธิต้องเป็นขณิกะ เพราะเกิดกับจิตทุกดวง เป็นบาทให้เกิดปัญญาหรือยัง

    ผู้ฟัง ที่ว่าเป็นอัปปนาแนบแน่น เป็นฌาน ผมว่าไม่ทำให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาที่เกิดกับจิตที่สงบเป็นสมถภาวนา ต่างกับปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วรู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล นั่นเป็นวิปัสสนาภาวนา นั่นวิปัสสนาปัญญา

    เพราะฉะนั้น อย่าปนปัญญาของสมถะกับปัญญาของวิปัสสนา อย่างเช่นการระลึกถึงปฐวีเพื่อให้จิตสงบ ขณะนั้นเป็นโดยนัยของสมถะ แต่ขณะที่กระทบสัมผัสทางกายแล้วระลึกในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน นั่นเป็นวิปัสสนา นั่นเป็นสมาธิทั้งสอง เพราะเหตุว่าสมาธิเกิดกับจิตทุกดวง แต่ปัญญาที่เกิดพร้อมสมาธินั้นต่างกัน โดยนัยของสมถภาวนาเพียงสามารถสงบพร้อมปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง ในความที่ไม่มีสาระแก่นสารของปฐวี ของสภาพของรูปทั้งหลาย

    ผู้ฟัง แต่ที่ผมเรียนถามเรื่องปัญญา

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ปัญญารู้อะไร และปัญญามีหลายขั้น

    ผู้ฟัง ถามว่า สมาธิทำให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ สมาธิทำให้เกิดปัญญาอะไร ปัญญามีหลายอย่าง สมาธิมีหลายอย่าง สมาธิอะไรทำให้เกิดปัญญาอะไร ปัญญาอะไรทำให้เกิดสมาธิอะไร

    ผู้ฟัง ผมว่าขณิกสมาธิทำให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ ขณิกสมาธิเป็นคำธรรมดา หมายความถึงสมาธิชั่วขณะๆ ซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลาในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมต้องตรงตามความเป็นจริง ขณะนี้มีสมาธิเกิดกับจิตเพราะเป็นเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริงในขณะนี้จิตเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นอกุศล เอกัคคตาเจตสิกนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเป็นกุศลในทานเป็นขณิกสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นกุศลในศีลเป็นสัมมาสมาธิ เป็นขณิกสมาธิ ถ้าเป็นกุศลในขณะที่ฟังธรรม เข้าใจ เวลานี้กำลังเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่ตัวตน เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่ได้ศึกษาในปรมัตถธรรม ในปรมัตถธรรมปริจเฉทที่ ๑ เป็นเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย ในขณะที่กำลังฟังธรรมแล้วเข้าใจ ขณะนั้นมโนทวาราวัชชนจิตมีโยนิโสมนสิการ โดยอาศัยการที่เคยฟัง เคยจำได้ แล้วก็พิจารณาโดยแยบคายดับไป กุศลจิตกำลังรู้เรื่อง กำลังเข้าใจในธรรม แม้แต่ในบัญญัติ คือ คำที่หมายถึงลักษณะของปรมัตถธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นกุศลจิต เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ขณะนั้นก็เป็นสัมมาสมาธิที่เป็นขณิกสมาธิ

    เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ว่า ปัญญาอะไร สมาธิอะไร อย่าปนกัน ปนกันไม่ได้ ถ้าปนกันก็ยุ่งเหยิงหมด แล้วก็ไม่สามารถจะเจริญกุศลขั้นต่อๆ ไปด้วย

    ผู้ฟัง กัมมัสสกตาปัญญา

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ถ้ากำลังเข้าใจเรื่องกรรม เรื่องผล คือ กรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัยัให้เกิดวิบาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 4
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ