สมถภาวนา ตอนที่ 02


    ขณะนี้สงบได้ไหม เท่านี้ก่อน ถ้าสงบได้เพราะอะไร เพราะระลึกที่ลมหายใจหรือเพราะเหตุอื่น

    ถาม เพราะอะไรครับ

    ท่านอาจารย์ ใครจะรู้ล่ะคะ ต้องตัวเอง ถ้าขณะนี้รู้ว่า ขณะนี้ไม่สงบ รู้ในอาการที่ไม่สงบชองจิตด้วย และจิตจะสงบได้เพราะอะไร ที่จะต้องถามตัวเอง ถ้าเกิดความสงบขึ้นเดี๋ยวนี้เพราะอะไร นี่เป็นปัญญาที่รู้ว่า สงบเพราะอะไร ลมหายใจมี ระลึกที่ลมหายใจ แล้วสงบ หรือเพราะอย่างอื่นจึงสงบ ตามความเป็นจริง ธรรมเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องตรง ถ้าลักษณะที่สงบก็ต้องมีเหตุว่าสงบเพราะอะไร สงบเพราะระลึกอย่างไร

    เรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนาเป็นเรื่องที่ละเอียดกว่าขั้นทาน และขั้นศีลแน่นอน แม้แต่ทาน บางท่านก็ยังสงสัยว่า นี่เป็นทานหรือเปล่า อย่างการให้ ท่านก็ยังงงว่า ให้อย่างนี้จะเป็นทานไหม คือ ไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศล ที่มีเจตนาสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น เพราะเพียงดูอาการภายนอกของการหยิบ ยก ยื่น สิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่บุคคลใด อาจจะเพื่อหวังผล หรือเป็นการแลกเปลี่ยนก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเจตนาให้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญความสงบเป็นเรื่องที่ละเอียดกว่า เป็นกุศลที่ควรเจริญ เพราะรู้โทษของอกุศลซึ่งเป็นไปอย่างละเอียดยิ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้กระทำทุจริตทางกาย ทางวาจา ไม่ได้พูด ไม่ได้ทำ นั่งเฉยๆ แต่คิดนึกเป็นอกุศลแล้ว เมื่อเห็นโทษของอกุศลซึ่งเป็นไปทุกขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ได้ลิ้มรสต่างๆ บ้าง ได้กระทบสัมผัสสิ่งต่างๆ บ้าง แล้วก็รู้ว่า การที่จะให้อกุศลเหล่านั้นเกิดไม่เป็นประโยชน์ ควรที่กุศลจิตจะเกิด แต่ทำอย่างไรกุศลจึงจะเกิด นี่เป็นปัญหาแล้ว ทุกคนอยากมีกุศลจิต เพราะรู้ว่า อกุศลจิตวันหนึ่งๆ มากเหลือเกิน แต่ทำอย่างไรถึงจะพ้น หรือมีกุศลจิตเกิดแทนอกุศล ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้หนทาง ขณะนั้นก็ยาก ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้จิตเป็นกุศลเกิดขึ้น จิตที่เป็นกุศลก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จะเจริญให้เพิ่มพูนขึ้นโดยปราศจากปัญญา ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    3549 ลมหายใจเป็นที่ตั้งของโลภะได้

    ท่านอาจารย์ ลมหายใจทุกคนมี แต่การรู้ที่ลมหายใจด้วยโลภะได้ไหมคะ ตามความเป็นจริง ลองย้อนคิดซิว่า ลมหายใจมี เป็นที่ตั้งของโลภะได้ไหม ตามปกติ ทุกอย่างเป็นอารมณ์ของโลภะได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะลมหายใจก็คือโผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์ที่ปรากฏเมื่อกระทบสัมผัสในช่องจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปาก เช่นเดียวกับโผฏฐัพพะซึ่งกระทบส่วนอื่นของร่างกาย และมีความปรารถนา มีความต้องการ มีความจำเป็นอะไรที่คิดว่า เมื่อจดจ้องที่ลมหายใจแล้วจิตจะสงบ ลมอื่นได้ไหม

    เพราะฉะนั้น ข้อที่ควรระลึกก็คือว่า เมื่อลมหายใจเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นโผฏฐัพพารมณ์ที่ปรากฏเมื่อกระทบกาย เป็นที่ตั้งของความพอใจได้หรือไม่ได้ ได้ไหมคะ ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตระลึกที่ลมหายใจโดยปราศจากปัญญา ขณะนั้นจะเป็นโลภะหรือจะเป็นความสงบ เพราะเหตุว่าเป็นความต้องการจะให้จิตอยู่ที่นั่น ลักษณะของการจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเป็นลักษณะของสมาธิ ไม่ใช่ลักษณะของความสงบ

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอารมณ์ใดก็ตามย่อมเป็นที่ตั้งของโลภะได้ทั้งสิ้น ถ้าปราศจากปัญญาที่จะรู้ในสภาพของจิตขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะเหตุใด เหตุนี้สำคัญมาก ถ้าปราศจากเหตุที่ถูกต้อง สติปัฏฐาน และปัญญาขั้นวิปัสสนาก็เกิดไม่ได้ ถ้าปราศจากเหตุที่ถูกต้อง ความสงบ และปัญญาขั้นสมถะก็เกิดไม่ได้เช่นกัน ไม่ใช่อยู่ดีๆ ทุกคนที่ไม่รู้อะไรเลย ก็ไปนั่งจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ แล้วจิตจะสงบ จะไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเลยว่า การอบรมเจริญภาวนาสามารถกระทำได้ด้วยความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามซึ่งไม่รู้อะไร เพียงแต่รู้ว่า ให้จดจ้องที่ลมหายใจ รู้เพียงแค่ให้จดจ้องที่ลมหายใจ ไม่สามารถช่วยให้จิตสงบได้ จริงไหมคะ รู้อะไรคะ เพียงแต่ให้จดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญาอะไรเลย ไม่รู้ด้วยว่า ทำไม เหตุอะไรจึงควรระลึกรู้ที่ลมหายใจ เมื่อไม่มีเหตุที่จะเป็นปัจจัยให้สงบ ความสงบก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้ และได้รับคำสั่งมาว่า ให้จดจ้องที่ลมหายใจ นั่นไม่ใช่ความรู้อะไรเลย

    3550 ชีวิตขึ้นอยู่กับลมหายใจแผ่วๆ

    ท่านอาจารย์ การเจริญภาวนาทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาต้องเกิดจากความรู้ซึ่งต่างขั้นกัน ความรู้ขั้นสมถะรู้เพียงว่า สภาพของจิตที่สงบเป็นอย่างไร และอารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบนั้นคืออารมณ์อะไร ประกอบด้วยปัญญาอย่างไร แล้วจึงจะเจริญได้

    เพราะฉะนั้น การที่จะให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดไปจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ นั่นไม่ใช่ข้อปฏิบัติของการเจริญสมถภาวนา แม้แต่ตัวท่านเอง หรือท่านจะบอกบุคคลอื่นว่า ให้จดจ้องที่ลมหายใจแล้วจิตจะสงบ นั่นก็ผิด เพราะเหตุว่าบุคคลผู้รับคำสั่ง คำแนะนำนั้นไม่เกิดปัญญาที่จะรู้อะไรเลย มีแต่ความจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น นั่นไม่ใช่ลักษณะของความสงบ ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา

    ลมหายใจมีจริง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าชีวิตดำรงอยู่ได้ ยังเป็นไปได้อยู่ชั่วขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่เท่านั้นเอง ชีวิตที่คิดว่าสำคัญเหลือเกิน มีความเยื่อใยในทรัพย์สมบัติ ในรูปสมบัติ ในวิชาความรู้ต่างๆ ในฐานะ ในเกียรติยศ เห็นความสำคัญของสิ่งต่างๆ ว่ามากมาย แล้วก็ยึดถือติดว่าเป็นตัวตน เป็นของท่าน แท้ที่จริงแล้วก็ขึ้นกับลมหายใจแผ่วๆ ซึ่งลักษณะของโผฏฐัพพารมณ์ที่ละเอียดมาก

    เพราะฉะนั้น ชีวิตที่ท่านคิดว่าใหญ่โตเหลือเกิน สำคัญเหลือเกิน ก็ปราศจากความหมายทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าขึ้นอยู่กับเพียงลมหายใจเบาๆ ซึ่งถ้าขาดหรือหมดไปแล้ว ทุกสิ่งของท่านก็สูญหมด ความเป็นบุคคลนี้ ความเป็นเจ้าของครอบครองเกียรติยศ ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ ความรู้ต่างๆ ก็จะสิ้นไปหมด ทันทีที่ลมหายใจนั้นหมดไป เท่านั้นเอง

    เห็นความสำคัญของลมหายใจว่าเหนือสิ่งอื่นใด เพราะเหตุว่าโลภทั้งโลก ชีวิตทั้งชีวิต ทุกสิ่งที่ท่านคิดว่าสำคัญเหลือเกินนั้น แท้ที่จริงก็ขึ้นอยู่กับสภาพซึ่งเล็กน้อยเหลือเกิน เพียงลมอ่อนๆ แล้วก็เกิดขึ้นปรากฏนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง นี่คือชั่วขณะหนึ่งๆ

    3556 มรณานุสสติ - อสุภกรรมฐานในสมถภาวนา

    ท่านอาจารย์ การเจริญสมถภาวนาทุกอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นมรณสติก็ตาม ระลึกถึงความตาย เพราะเหตุว่าบางท่านระลึกถึงความตายแล้วกลัว ตกใจมาก อยากจะหนีให้พ้นวันนั้น นั่นหรือคือสมถภาวนา ไม่ใช่บอกใครๆ ให้ระลึกถึงความตายแล้วจิตจะสงบ เป็นการเจริญสมถภาวนา ถ้าไม่มีอุบาย ไม่มีนัย ไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริง ความสงบก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น การระลึกถึงความตาย ต้องระลึกถ้วยปัญญา แล้วจิตจึงจะสงบฉันใด การที่จะระลึกที่ลมหายใจพร้อมปัญญา จิตจึงจะสงบในขณะนั้น หรือการระลึกถึงอสุภ ซากศพก็เช่นเดียวกัน หลายท่านทีเดียวเห็นแล้วกลัว ยังกลัวอยู่เรื่อยๆ ไม่สงบเลย เพราะฉะนั้น จะบอกว่าให้ไปเจริญอสุภ ดูอสุภ แล้วจิตจะสงบ เป็นไปได้อย่างไรคะ ถ้าปัญญาไม่เกิดที่ทำให้เห็นความจริงของอสุภว่า ไม่มีใครพ้นไปได้ อสุภนั้นหรืออสุภนี้ก็เหมือนกันในวันหนึ่ง ถ้าระลึกให้ถูกต้องตามความเป็นจริงในแนวทางของกุศลแล้ว จิตจึงสงบได้ ไม่อย่างนั้นไปนั่งจ้องหัวกะโหลกทั้งวันๆ ก็ไม่ใช่จิตจะสงบ คิดว่าเป็นสมาธิ เข้าใจว่าสงบแล้ว แต่ความจริงไม่เกิดความรู้ หรือแม้แต่จิตที่ถอยจากโลภะ โทสะ โมหะ ก็ไม่เกิดขึ้นเลย แล้วจะสงบได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น อารมณ์ของสมถภาวนาทั้ง ๔๐ อารมณ์ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การระลึกโดยถูกต้องย่อมทำให้จิตสงบ แล้วก็จะต้องระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปจดจ้องให้จิตตั้งแน่วแน่อยู่ที่ลมหายใจโดยไม่รู้ ผลปรากฏก็คือสงบเสียจนไม่รู้สึกตัว นั่นหรือคะ สงบจนถึงขีดสุดคือปราศจากความรู้สึกตัว บางท่านก็มีอาการผิดปกติ เพราะเหตุว่าเมื่อโมหมูลจิต ความหลงลืมสติ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยๆ แล้วก็เข้าใจว่าสงบ ผลก็คือว่ามีปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งผิดปกติ แล้วก็เป็นที่ตั้งของความสงสัย เช่นบางคนอาจจะรู้สึกว่า ตัวลอยขึ้นไป ทั้งๆ ที่ยังนั่งอยู่แท้ๆ สติสัมปชัญญะไม่มีเลย มีความรู้สึกปกติขึ้นแล้วก็สงสัยว่า ทำไมจึงเกิดอย่างนั้นขึ้น บางท่านก็เล่าให้ฟังว่า บางคนถึงกับเดินไปรอบๆ แล้วทำท่าเหมือนไก่ปรบปีก นั่นคือผลของการจดจ้องที่ลมหายใจ แล้วปราศจากความรู้สึกตัว ซึ่งไม่ใช่สมถภาวนาเลย จะกล่าวว่า สงบเสียจนกระทั่งไม่รู้สึกตัวนั้นเป็นไปได้ไหมคะ นั่นไม่ใช่ลักษณะของกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น ลองพิจารณาความรู้สึกที่เพียงแต่ลมหายใจปรากฏ แล้วระลึกรู้ความจริง ขณะนั้นสงบ ต่างกับขณะที่ต้องการจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจแล้วก็สงสัยว่า เมื่อไรจะสงบขึ้น ฌานจิตจะทำอย่างไร อุปจารสมาธิจะเป็นอย่างไร อัปปนาสมาธิจะเป็นอย่างไร เพราะว่านั่นเป็นเรื่องของความสงสัย ความไม่รู้ และความต้องการสิ่งอื่นซึ่งยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่รู้ว่า ไม่สงบเลย

    3557 ปัญญาเท่านั้นที่รู้หนทางสงบ

    ท่านอาจารย์ ความสงบขอให้มีเชื้อเป็นทุนอยู่เรื่อยๆ เพื่อที่เมื่ออารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดของสมถภาวนาปรากฏ จิตของท่านสามารถสงบ และอาจจะสงบมั่นคงขึ้น เพราะว่ามีปัจจัยในการที่เคยมีปัจจัยอบรมความสงบเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของความสงบ

    เพราะฉะนั้น ขณะที่จะกระทำกายหรือวาจาด้วยโลภะ หรือด้วยอกุศลใดๆ ก็ตาม ให้ระลึกว่า ขณะนั้นสงบไหมเสียก่อน เท่านี้ค่ะ แล้วก็จะรู้ว่า ถ้าปัญญาเกิดในขณะนั้น จะรู้วิธีว่า ทำอย่างไรจิตจึงจะสงบแม้ในขณะนั้น นั่นคือปัญญาที่รู้หนทางวิธีที่จะสงบ ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่าจะสงบอย่างไร แล้วความสงบจึงจะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ แต่ถ้าในขณะนั้นปัญญาไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะที่ต่างกันของความสงบ ก็จะมีความต้องการความสงบอื่น เช่น อานาปานสติเป็นอย่างไร มุ่งที่จะไปหาอานาปานสติ โดยคิดว่าจะสงบ โดยคิดว่าจะไปจดจ้องที่ลมหายใจ โดยไม่รู้ลักษณะที่ว่า ขณะจะฆ่าสัตว์ ขณะที่ทำทุจริต ขณะที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นจิตจะสงบได้อย่างไร ถ้าปัญญารู้หนทาง ความสงบก็เกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ และหนทางที่เป็นถึงอุปจารสมาธิกับอัปปนาสมาธิก็แสนไกล ยากที่จะถึงได้

    เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกท่านพิจารณาตัวท่านเองว่า ตามความเป็นจริงแล้วท่านเป็นผู้สมควรที่ฌานจิตจะเกิดไหม ถ้าไม่สมควร เรื่องอะไรจะไปพากเพียรด้วยความต้องการทำ โดยไม่สะสมเหตุปัจจัยคือความสงบเท่าที่จะมีได้ในชั่วขณะหนึ่งๆ แทนอกุศลจิตซึ่งเกิดอยู่บ่อยๆ

    3558 สติขั้นทาน ศีล ความสงบ สติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นสติขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบ หรือขั้นสติปัฏฐาน เลือกไม่ได้เลยที่ทานจะเกิดขึ้นโดยไม่ประกอบด้วยสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่ากุศลจิตแต่ละขณะนั้นสั้นมาก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เป็นทานไปแล้ว แต่สติไม่ได้ระลึกรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็เป็นทานที่ไม่ประกอบด้วยสติปัฏฐาน หรือว่าเป็นศีล การวิรัติทุจริตโดยไม่ประกอบด้วยสติปัฏฐาน หรือบางครั้งสติก็ระลึกรู้ในขณะที่กำลังให้ทานในขณะที่วิรัติทุจริต เป็นสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เห็นความ.เป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลายว่า เลือกไม่ได้ เจาะจงไม่ได้ บางครั้งเป็นความสงบ เป็นสมถะ บางครั้งเป็นทาน บางครั้งเป็นศีล บางครั้งเป็นสติปัฏฐาน แล้วแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น ไม่มีตัวตนที่บังคับยับยั้งได้

    เพราะฉะนั้น ไม่มุ่งหวังฌานจิต ไม่มุ่งหวังสมถะหรือความสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิ หรือแม้แต่อุปจารสมาธิ ถ้าเป็นในลักษณะนั้น ความสงบก็จะเกิดบ่อยๆ เนืองๆ เป็นพื้นฐาน เป็นปัจจัย ถ้ามีปัจจัยที่จะเกิดอุปจารสมาธิเมื่อไร พร้อมเมื่อไร อุปจารสมาธิก็เกิดพร้อมความสงบได้

    เพราะฉะนั้น ขอให้รู้ชั่วขณะที่สงบเสียก่อน และเมื่อความสงบเพิ่มกำลังขึ้น ท่านจะเข้าใจความหมายของความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิที่มั่นคง ซึ่งผิดกับขณะที่ต้องการเหลือเกินที่จะจดจ้องต้องการเหลือเกินให้ยิ่งกว่านี้อีก ต้องการเหลือเกินที่จะจดจ้องให้มากกว่านี้อีก เป็นความต้องการโดยไม่รู้สภาพที่ต่างกันของขณะที่สงบ และขณะจิตที่สงบประกอบด้วยสมาธิที่เพิ่มขึ้น เพราะเหตุปัจจัย

    3559 ปัญญารู้ความแตกต่างของสมาธิที่มีกำลัง

    ท่านอาจารย์ สมาธิมีกำลังขึ้นได้แน่นอน สำหรับท่านที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องไปทำสมาธิเสียก่อน แต่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะนำมาซึ่งกุศลทั้งปวง สมาธิขั้นใดเกิดก็รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นสมาธิขั้นนั้น และถ้าสมาธิที่สูงกว่านั้นเกิดขึ้นก็รู้ความต่างกันของขณะที่สมาธิไม่มีกำลังถึงขั้นนั้นกับขณะที่สมาธิมีกำลังขั้นนั้น ประกอบด้วยปัญญาจริงๆ ในขณะนั้น ไม่ใช่เต็มไปด้วยความต้องการว่า อยากจะถึง แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าไม่สามารถรู้ลักษณะของจิตที่สงบตั้งมั่นพร้อมด้วยสมาธิที่มีกำลังเพิ่มขึ้น ความสงบแต่ละขณะในชีวิตประจำวัน ภายหลังท่านผู้ฟังจะรู้ความต่างกันที่ละเอียดขึ้นว่า ลักษณะของความสงบที่เพิ่มขึ้น และมั่นคงขึ้น แต่ต้องมีเหตุปัจจัยที่เกิดความสงบพร้อมกับความสงบที่มั่นคงขึ้นปรากฏเสียก่อนจึงจะรู้ได้ ในขณะที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์ ขณะนั้นสงบไหม และในขณะที่สงบจริงๆ ต้องมีเหตุที่เป็นกุศลจิต และภายหลังระลึกรู้ที่ลมหายใจบ่อยขึ้น และรักษาความสงบ และจิตสามารถสงบจริงๆ ด้วยปัญญา และเวลาที่สมาธิมีกำลังเพิ่มขึ้น ปัญญาจะรู้ความต่างกันของความสงบขั้นที่ไม่ประกอบด้วยสมาธิ และความสงบที่มั่นคงขึ้นประกอบด้วยสมาธิที่มีกำลังขึ้น ปัญญาจะเต็มที่ในขณะนั้น

    เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นเรื่องความรู้จริงๆ และความรู้อย่าปนกับความไม่รู้ และจะเปรียบเทียบได้ว่า ต่างกันจริงๆ ถ้าความสงบมั่นคง ลักษณะของสมาธิมีกำลังแล้วรู้ลักษณะของสมาธิที่มีกำลังพร้อมความสงบ จะรู้ได้ว่า ปัญญาคืออย่างไร ปัญญาคือความรู้ในขณะนั้นจริงๆ

    3560 ปัญญามีหลายขั้น

    ท่านอาจารย์ ปัญญามีมากมาย ปัญญาขั้นสมถะ ปัญญาขั้นวิปัสสนา ปัญญาที่รู้ลักษณะของความสงบที่ประกอบด้วยความมั่นคงของสมาธิขั้นต่างๆ แต่ต้องเป็นเรื่องของปัญญาทั้งนั้นในการเจริญภาวนาที่เป็นสมถะ และวิปัสสนา แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาภาวนาเป็นเรื่องละ เพราะรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ต่างกับขณะที่สงบ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจึงสามารถรู้ได้ว่า ขณะนี้เป็นกุศลขั้นสงบ และแม้สมาธิที่ประกอบกับความสงบนั้นก็เป็นเพียงสมาธิขั้นประกอบความสงบ ไม่ใช่ขั้นสมาธิขั้นประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้าปัญญาไม่เกิดแล้ว ความต้องการจะพาไปสู่การปฏิบัติต่างๆ นานา โดยไม่ใช่หนทางที่ทำให้เจริญความสงบเป็นกุศลเลย

    3772 การเกิดดับสลับกันของกุศล และอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุดปัจจุบัน คือ ขณะนี้ต้องรู้ ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกที่จะศึกษาก็ไม่มีวันรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ และสภาพธรรมละเอียดมาก แม้แต่เพียงขณะนี้เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ก็ยากที่จะรู้ได้ เพราะอะไร เพราะกุศลจิตก็ดับไปอย่างรวดเร็ว อกุศลจิตก็ดับไปอย่างรวดเร็ว และก็เกิดสลับกันอยู่ อกุศลจิตดับไป กุศลจิตเกิด กุศลจิตดับไป อกุศลจิตเกิด เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว และจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล ถ้าปัญญาไม่ศึกษาพร้อมสติที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ

    เพราะฉะนั้น บางท่านใคร่จะสงบ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 4
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ