วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 04


    ก็ทำให้ท่านรู้จักคนอื่นชัดเจน ปรุโปร่งยิ่งขึ้น ฉันนั้น จนกระทั่งรู้ว่าบุคคลที่ท่าน

    คบหาสมาคมด้วยเป็นบุคคลอย่างไร บุคคลใดควรเว้น และบุคคลใดควรคบ ปัญญาที่เกิดจากการอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้ท่านรู้ว่า การคบกับบุคคลทั้งหลายนั้นเพื่อประโยชน์อะไร เพราะถึงแม้ว่ามิตรสหายในอดีตจะเป็นผู้ที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม การเจริญสติปัฏฐานซึ่งทำให้ท่านรู้จักตัวท่านละเอียด ก็ทำให้ท่านรู้จักผู้ที่ท่านคบหาสมาคมละเอียดขึ้น แต่แม้กระนั้นก็อาจจะมีจิตเมตตาที่คิดใคร่จะเกื้อกูล แม้บุคคลซึ่งมีความประพฤติที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้น การคบหาสมาคมกับบุคคลทั้งหลายก็จะเป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นคบหาสมาคมกับผู้ที่เป็นมิตรที่ดี หรือผู้มีความประพฤติทางกาย ทางวาจา และจิตใจไม่เหมาะสมที่จะคบหาสมาคมด้วย

    ถาม ในสิงคาลกสูตร พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงให้คฤหัสถ์ประพฤติธรรม ๑๔ ประการ รวมกันแล้ว มี กรรมกิเลส ๔ อคติ ๔ ไม่เสพธรรมเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ รวมกันแล้วก็เป็น ๑๔ ประการ ธรรม ๑๔ ประการนี้ คฤหัสถ์ควรประพฤติ แต่กระผมอยากจะขอเพิ่มอีกสูตรหนึ่งที่อาจารย์เคยบรรยายนานมาแล้ว คือ มหานามสูตร สูตรนี้พระองค์ก็ทรงแสดงกับคฤหัสถ์เหมือนกัน เพราะฉะนั้น อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายก็ควรประพฤติธรรมในที่นี้อีก ๑๑ ประการ ก็คือให้เจริญอินทรีย์ ๕ เมื่อเจริญอินทรีย์ ๕ ไปแล้วให้เจริญอนุสติ ๖ เพราะฉะนั้น ธรรม ๑๑ ประการนี้ + กับ ๑๔ นี้ ก็เป็น ๒๕ ธรรม ๒๕ ประการนี้ ไม่ว่าอุบาสก อุบาสิกาก็ควรจะเจริญทั้งนั้น เพราะเหตุว่าเจริญได้ นอกจากนั้นธรรมบางประการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้พระภิกษุนั้น ที่ว่าให้ไปอยู่โคนไม้ เรือนว่าง ก็ทุกวันนี้ล่ะครับ ผู้ที่ปฏิบัติมักจะต้องไปเข้ากัมมัฏฐาน ใช้คำว่า เข้ากัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น ใช้คำว่าเข้ากัมมัฏฐานนี่ผมเห็นว่าไม่จำเป็น ถ้าผู้ใดมีธรรม ๒๕ ประการแล้ว ก็จะบรรลุเป็นพระอริยเจ้าได้ในวันใดวันหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น กระผมก็มีความเห็นแค่นี้ละครับว่า อยากจะชักชวนให้อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ประพฤติธรรมทั้ง ๒๕ ประการ คือ ให้เจริญ อินทรีย์ ๕ ให้เจริญอนุสติ ๖ ละกรรมกิเลส ๔ ละอคติ ๔ ละความเสื่อมแห่งโภคะ ๖ ธรรม ๒๕ ประการนี้ ใครปฏิบัติแล้ว กระผมคิดว่าจะต้องบรรลุเป็นพระอริยบุคคลในวันใดวันหนึ่งแน่นอน

    ท่านอาจารย์ แต่เรื่องที่จะบรรลุ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ แม้ว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงไว้ถึง ๓ ปิฎก คือ ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก กิเลสก็ไม่หมดค่ะ ไม่ว่าจะอ่านจบแล้วหรือว่าจบอีก ก็ไม่สามารถจะดับกิเลสได้ ด้วยเหตุนี้การศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อที่จะได้เข้าใจในจุดประสงค์ที่ทรงแสดงแต่ละสูตร แต่ละตอน เพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตาม

    อย่างข้อความในสิงคาลกสูตร จะเห็นได้ว่า สิงคาลกมาณพเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิด มีการไหว้ผิด คือไหว้ทิศ โดยที่ไม่รู้ความหมายของการที่ควรจะเป็นผู้ที่มีความประพฤติอย่างไรในชีวิตประจำวัน จึงจะเป็นการนอบน้อม หรือเป็นกุศลที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเจริญกุศล แต่อกุศลที่มีเต็มมาก ยังไม่บรรเทาละคลายลงไปเลย กุศลนั้นจะ

    เกิดได้อย่างไร เพราะเหตุว่าในบางครั้งนี่ สำหรับผู้ที่มีกิเลสเบาบาง หรือว่ามีจิตอ่อนน้อมแล้ว ก็ทรงแสดงเรื่องของการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม การอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น ในกาลที่ควรสำหรับบุคคลนั้น แต่สำหรับกาลที่ควร กิเลสกลุ้มรุมมาก ยากที่จะปล่อยไป จะทำอย่างไร จะให้ไปอบรมเจริญกุศลก็ไม่ไหว เพราะว่ากุศลไม่เกิด ไม่สามารถที่จะเกิดได้ มีปัจจัยของกิเลสที่สะสมมามากจนกระทั่งกิเลสนั้นเองมีกำลังปรากฏให้เห็นความแรงกล้าของกิเลสนั้น

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคบางครั้งก็ทรงแสดงโทษของกิเลสนานาประการ ให้บุคคลนั้นเห็นโทษจริงๆ เป็นขั้นๆ เป็นลำดับขั้นไป ตั้งแต่การไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ เป็นต้น ถ้าชีวิตประจำวันของบุคคลทั้งหลายยังเต็มไปด้วยกิเลส แล้วก็จะให้ไปถึงพระนิพพานทันที ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้ามีกิเลสสะสมมา มีฉันทะความพอใจในการดื่มน้ำเมา คือ สุรา ซึ่งยังไม่เลิก จะทำยังไงคะ นอกจากจะชี้โทษให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แล้วก็อบรมเจริญสติปัฏฐานประกอบกันไปด้วย เพื่อที่ว่าเมื่อบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็สามารถที่จะดับความยินดีพอใจในสิ่งที่ไม่เกื้อกูลแก่ปัญญา เพราะเหตุว่าธรรมดาของปัญญานั้นย่อมเกิดขึ้นในขณะที่มีปกติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ใช่ขณะที่หมดสติ หรือในขณะที่มัวเมา มึนเมา

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงโทษที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ ให้คฤหัสถ์ได้เห็น เพื่อจะได้ละเว้น และประพฤติในทางเกื้อกูลแก่การที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้น ละคลายจนกระทั่งดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา ซึ่งดูเหมือนว่าทุกท่านก็ทราบดี ไม่น่าที่พระผู้มีพระภาคจะทรงชี้โทษเลย แต่แม้กระนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นธรรมที่ท่านผู้ฟังอาจจะเห็นว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สำคัญ แต่พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงมีพระมหากรุณาที่จะทรงชี้โทษของสิ่งที่เป็นโทษ เพื่อที่บุคคลใดพิจารณาไตร่ตรองแล้วก็จะได้ประพฤติปฏิบัติตามด้วย

    ข้อ ๑๗๙ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการนี้ คือ ความเสื่อมทรัพย์อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง ๑ ก่อการทะเลาะวิวาท ๑ เป็นบ่อเกิดแห่งโรค ๑ เป็นเหตุเสียชื่อเสียง ๑ เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย ๑ มีบทที่ ๖ คือ เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา ๑

    ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาคือ สุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเหล่านี้แล ฯ

    นี่เป็นชีวิตประจำวันนะคะ ซึ่งขณะที่ดื่มไม่เห็นโทษ แต่เวลาโทษเกิด รู้ได้ว่าเกิดจากดื่มสุรา เช่น ความเสื่อมทรัพย์ อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง เพราะเหตุว่าผู้ที่ดื่มสุรา ก็คงจะดื่มเป็นนิจศีลถ้าติดแล้ว ถ้าดื่มลำพังคนเดียวก็คงจะไม่พอใจ คงจะต้องมีมิตรสหายมากมายทีเดียวในการดื่มสุราแต่ละครั้ง

    ซึ่งก็เป็นเหตุจะทำให้มีการเสียทรัพย์ในสิ่งที่ไม่จำเป็นมากขึ้น ในพระไตรปิฎกโดยเฉพาะในอรรถกถาได้แสดงชีวิตของบุคคลต่างๆ ในครั้งอดีตไว้ ไม่ว่าจะเป็นพระชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองในชาติก่อนๆ หรือว่าของพระอริยสาวกในครั้งโน้นที่ท่านเหล่านั้นยังเป็นผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส ได้มีความประพฤติอย่างไรๆ ในเรื่องของธรรมที่ทรงแสดงไว้ ก็มีปรากฏมากนะคะ เช่น เรื่องของโทษในการดื่มสุราเมรัย ซึ่งทำความเสื่อมทรัพย์ ผู้ดื่มพึงเห็น ๑

    ก่อการทะเลาะวิวาท ๑

    ขณะที่ดื่มแล้วยังไม่มีการทะเลาะวิวาท ก็ยังไม่เห็นโทษ แต่เมื่อเกิดการทะเลาะวิวาท ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้าขณะนั้นไม่ดื่มสุราหรือว่าไม่มึนเมาแล้ว อาจจะไม่ทะเลาะวิวาท มีสติสัมปชัญญะพอที่จะเห็นว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร และสามารถที่จะระงับไว้ ไม่เกิดการทะเลาะวิวาทได้ แต่เวลาที่มีการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้น เพราะเป็นผู้ดื่มน้ำเมาก็จะเห็นได้ว่า การทะเลาะวิวาทบางครั้งอาจจะมีโทษถึงกับเสียชีวิต ให้ถึงกับความตายก็ได้

    เป็นบ่อเกิดแห่งโรค ๑

    ผู้ดื่มสุรามากๆ ก็อาจจะเกิดโรคภัยต่างๆ ได้ เวลาที่เกิดโรคภัยต่างๆ แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า เป็นโทษที่มาจากการดื่มสุรา

    เป็นเหตุเสียชื่อเสียง ๑

    เพราะเหตุว่าจะทำในสิ่งที่ไม่สมควรได้หลายประการ เช่น บางท่านอาจประทุษร้ายมารดาบิดา มิตรสหาย หรือแม้แต่สมณะก็ได้ เพราะความมึนเมา นั่นก็จะทำให้เป็นผู้ที่เสียชื่อเสียง

    เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย ๑

    อาจจะกระทำการสิ่งใดก็ได้ ซึ่งในขณะที่ไม่มึนเมาไม่อาจจะกระทำ

    มีบทที่ ๖ คือ ทอนกำลังปัญญา ๑

    เพราะเหตุว่าถ้าปกติเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ก็สามารถทำให้ปัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้นได้ แต่ถ้าขณะใดที่ขาดสติ มึนเมา แม้ปัญญาซึ่งมีอยู่ก่อน ก็ถึงความเสื่อมได้ เช่น พระสาคตะ เป็นต้น

    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องการจะละกิเลสต่างๆ มันอยู่ที่เจตนาของบุคคลนั้น พระธรรมของพระพุทธองค์นี้ สอนละเอียดถี่ยิบ แต่ผู้ปฏิบัติมีเจตนาไม่เชื่อถือ อย่างผมเป็นต้น เมื่อก่อนไม่ค่อยศรัทธาอะไรเท่าไร ศรัทธาไปตามบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ ตอนบวชจึงได้มารู้ อย่างที่ผมเคยบอกอาจารย์ มาสะดุดใจเอาตอนพระติสสะเถระที่ท่านไปอิสสาริษยาพระอรหันต์ แล้วท่านไปเกิดเป็นเปรต เปลือยกายอะไรต่างๆ นั่นละ ใจก็นึกกลัวขึ้นมาจึงอยากจะปฏิบัติให้มันห่างไกลจากเวรกรรมนั้นไป เพราะกลัวกรรมจะไปเกิดขึ้น ครั้นปฏิบัติเข้า ก็ไปในทางที่ผิดอีก ปฏิบัติตั้ง ๑๐ – ๒๐ ปี ก็ไม่ถูก เพราะว่าดำเนินทางไปไม่ถูก อย่างเป็นต้นว่าจะรับศีลสักข้อหนึ่ง เพราะอาศัยเหตุบางอย่าง หรือกุศลเก่ามาอำนวยให้ อย่างผมเมื่อก่อนนี้ก็เป็นคนอันธพาลชัดๆ น่ะ ไปเจออาจารย์ท่านหนึ่ง

    ท่านบอกว่า ท่านเหนียว ท่านคงกระพัน แต่มีคาถาอยู่ไม่กี่ตัวหรอก อยู่ใน ๗ ตำนานนี่ล่ะ แต่ต้องให้คำสัตย์กับท่านว่า ต้องละศีลข้อหนึ่ง กาเมสุมิจฉาจาร ห้ามละเมิดลูกเมียของผู้อื่นเขา ก็ตั้งใจอธิษฐานต่อหน้าพระพุทธ พอได้คาถาท่านมาไม่เท่าไร ก็เจอดีทีเดียว โดนยิงเลย ไม่ตาย ก็ดีเหมือนกัน ในระหว่างนั้นผมก็ยังเพ้อฝันอยู่ในคงกระพันชาตรี ไม่เอาลูกเอาเมียเขาหรอก แต่เป็นแมงดาคุมซ่องเขายังมีอยู่ เพราะท่านไม่ได้ห้ามคุมซ่อง อะไรพวกนี้นี่ หากินกับโสเภณี ต่อมาภายหลังมาบวชแล้วมาอ่านหนังสือ ท่านพระอานนท์ท่านแต่เพียงชักนำผู้หญิงโสเภณีไปให้คนอื่น มีโทษเป็นโสเภณีตั้ง ๕๐๐ ชาติ โอนี่มันก็เรื่องใหญ่เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องเล็ก พวกโสเภณีผมไปดูสภาพมันแล้ว มันเป็นบุคคลที่เคยมีกรรม ทำเวรทำกรรมมาแต่ปางก่อน หรือยังไงก็ไม่ทราบ หาเงินมาได้ แทนที่จะได้ใช้เอง ต้องเอาไปให้พวกแมงดาใช้ ถ้าไม่ให้ดีๆ ต้องโดนเตะ โดนตบ โดนตีจึงจะให้ ให้ไปเฉยๆ หาว่าแมงดาไม่รัก ต้องมีการตบตี นั่นน่ะผัวรัก ผู้คุมต้องรัก ผมรู้สึกว่ามันมีเวรมีกรรมกันเหลือเกิน ก็รู้สึกสลดใจกว่าจะหายได้ ถึงแม้เราไม่มีเจตนาจะทำอีก ใจมันคิดกว่าจะละได้ต้องคิดหาเหตุหาผล ทีนี้ได้มาฟังอาจารย์ถึงเรื่องมีสติ พอเรารู้รูป รู้นามบ้างแล้ว รู้บุญรู้โทษ พอปรากฏว่าตาเห็นรูปหนเดียว คนอื่นแทนที่ ถ้าเราไม่รู้ ไม่มีสติ อาจจะเห็นคนนั้นสวย คนนี้ไม่สวย คนนั้นน่ารัก อะไรๆ อย่างนี้เป็นต้น แต่ทีนี้ถ้าเรามีสติแล้ว ย่อมจะรู้ว่า นั่นเป็นรูป นี่เป็นนาม ถึงแม้ว่าบุคคลอื่นที่เรามองไปนี่ บางคนว่าสวย มองไปให้ดี เห็นใบหน้า พอตาเห็นใบหน้าเกิดรูปนาม เกิดเห็นหน้าขึ้นว่าสวย ขณะที่เราเห็น ตรงนั้นมีตำหนิอีก ไม่สวยอีก มีจิตสลับซับซ้อนอีกตั้งหลายดวงเกิดขึ้น พอสติเช่นนี้เกิดขึ้น โลภะ โมหะ มันก็ไม่เกิดขึ้น อย่างนี้เป็นต้น

    เป็นต้นว่าศีลข้อ ๑ ซึ่งพยายามเพียรเหลือเกินที่จะไม่ล่วง ก่อนที่เราจะประพฤติปฏิบัติเรื่องวิปัสสนา ก็ต้องเคยผ่านมาแล้วว่า จะต้องมีรากฐานของศีลตั้ง ๕ ศีล ๕ เราไม่มี สติ และปัญญาก็ย่อมเกิดยาก บังเอิญเช้าวันหนึ่งผมขึ้นไปซ่อมหลังคาบ้านเขา ไปเจอนกพิราบมันออกลูกอยู่ ผมก็ไม่ทำมัน ทีนี้เด็กลูกเจ้าของบ้านมาเห็นเข้า มันจะให้ผมเอา ผมก็ไม่เอา แม่ของเด็กมาเจอเข้า ลูกมันจะเอาให้ได้ มันก็ร้องใหญ่ เจ้าของบ้านเขามา เขาก็ถามว่าเรื่องอะไรกัน ภรรยาเขาก็บอกว่า เด็กมันจะเอานก นายเรืองไม่เอานกมาให้ มันก็เลยร้อง แกก็เลยบอกว่า คุณก็มันเป็นสัตว์โลกด้วยกัน ไปทำมันทำไมล่ะ เราก็มีชีวิต มันก็มีชีวิต ผมได้สติทันที อ้อ เรามันเป็นอย่างนี้เอง พอได้คิดเช่นนี้ขึ้นมา คิดที่จะทำลายชีวิตผู้อื่น แม้แต่สัตว์เล็กสัตว์น้อย ก็ไม่มีการที่คิดอีกต่อไป บังคับไว้โดยการไม่ล่วงละเมิด บางทีก็เอาเหมือนกัน เช่น ยุง เผลอไปก็ตบ แต่ว่าพอมีสติขึ้นมาแล้ว ยุงกัดปั๊บเกิดรู้สึกขึ้นมา มีการเจ็บ รู้ว่าเจ็บ พอรู้ว่าเป็นยุงแทนที่เราจะตบ เราก็ปัดไป แต่ละข้อกว่าจะละได้ ต้องมีเหตุต้องมีปัจจัย เราจะมาถึงจะละได้เฉยๆ โดยไม่มีเหตุมีปัจจัยมาเกื้อหนุนอุปถัมภ์ มันก็ยากเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นชีวิตหนึ่งนะคะ ในสังสารวัฏ ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า แต่ละชีวิต แต่ละชาติก็มีเหตุการณ์ ประสบการณ์ต่างๆ แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ก็สามารถที่จะ

    อุปการะแก่ผู้ที่ฟังแล้วก็พิจารณาในเหตุผล ทำให้มีการประพฤติปฏิบัติตามได้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละชีวิตของท่านเองก็เหมือนกันนะคะ ชาตินี้เป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งในสังสารวัฏ ซึ่งมีกุศลบ้าง อกุศลบ้างที่ได้กระทำมาแล้ว และที่ได้กระทำในชาตินี้ แต่ว่าต่อไปก็เป็นอดีตไป เพราะฉะนั้น แต่ละภพ แต่ละชาติ กว่าที่จะได้อบรม เจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง สามารถที่จะประจักษ์อริยสัจธรรมจนกระทั่งดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ถ้าจะจารึกไว้ในพระไตรปิฎกก็ได้มากทีเดียวจนเหลือที่จะจารึก เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎกก็มีแต่เพียงชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องกับพระผู้มีพระภาคในครั้งที่ยังไม่ปรินิพพาน ซึ่งเป็นตัวอย่างของบุคคลในครั้งนี้ แต่ตามความเป็นจริงแล้วสภาพธรรมทุกอย่างเป็นของจริง เป็นสังสารวัฏของแต่ละบุคคล ซึ่งสืบต่อ และเกิดขึ้นตามการสะสม ซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และวิจิตรขึ้นเรื่อยๆ ชั่วขณะที่ท่านอยู่ในที่นี้ ท่านก็สะสมสิ่งใหม่ๆ สำหรับจะเป็นปัจจัยที่จะให้นามธรรม และรูปธรรมข้างหน้าเกิดขึ้นวิจิตรเป็นไปต่างๆ แล้ว ขณะนี้มีนามธรรม และรูปธรรมซึ่งกำลังเกิด เกิดเพราะการสะสม ซึ่งสืบต่อมาเป็นปัจจัยให้นามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ แต่ว่าขณะที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ การคิดนึกต่างๆ สุขทุกข์ต่างๆ ทางใจ ก็เป็นการสะสมเพิ่มขึ้นของปัจจัยซึ่งวิจิตรขึ้น แล้วก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้นามรูปข้างหน้าเป็นไปต่างๆ ตามการสะสมซึ่งเพิ่มขึ้นด้วย

    ถาม ผมขอถามความเห็น นี่เป็นความเห็นส่วนตัว จะเห็นด้วยหรือเปล่า ก็แล้วแต่เถอะครับ ผมเคยนั่งอยู่คนเดียว จิตคิดดี ผมก็รู้ คิดไม่ดี ผมก็รู้ ทีนี้ก็อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า อาศัยอะไรมันถึงได้รู้ว่า คิดดีก็รู้ คิดไม่ดีก็รู้ อาจารย์พอจะให้ความเห็นได้ไหมว่า มันเพราะอะไรที่นั่งอยู่เฉยๆ อย่างนี้ คิดดีผมก็รู้ คิดไม่ดีผมก็รู้ ทีนี้ตัวเองผมก็ไม่รู้ว่า มันอาศัยอะไรที่รู้อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เหตุปัจจัยค่ะ

    ผู้ฟัง หมายถึงสติด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างค่ะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น สภาพธรรมที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุปัจจัยไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จึงควรสะสมเหตุปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิด และควรจะเป็นกุศลจิตที่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นเรา เป็นของเรา หรือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    [๑๘๐] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน ๖ ประการเหล่านี้ คือ ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตัว ๑ ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา ๑ ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาทรัพย์สมบัติ ๑ เป็นที่ระแวงของคนอื่น ๑ คำพูดอันไม่เป็นจริงในที่นั้นๆ ย่อมปรากฏในผู้นั้น ๑ อันเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากแวดล้อม ๑

    ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืนเหล่านี้แล ฯ

    อะไรก็ตามซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์แล้วล่ะก็ ให้โทษค่ะ เช่น การประกอบเนืองๆ ในการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ก็ย่อมมีโทษนะคะ เพราะเหตุว่าภัยอันตรายทั้งหลายย่อมมีได้ ในการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน และนอกจากนั้นจะยังเป็นที่ระแวงของบุคคลอื่นว่า บุคคลนี้ไปไหนในตรอกต่างๆ ในเวลาค่ำคืน หรือว่าในยามวิกาล เพราะฉะนั้น ถ้ามีกรรมอะไรซึ่งเป็นทุจริตกรรมเกิดขึ้น ก็ย่อมเป็นที่ระแวงสงสัยของบุคคลอื่นได้ว่า ผู้ที่เที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืนนั้น คงจะเป็นผู้ที่ประกอบกรรมนั้น เพราะฉะนั้น ก็ย่อมได้รับทุกข์โทษมาก เกิดจากการที่เป็นที่ระแวงของบุคคลอื่น เป็นที่สงสัยของบุคคลอื่น

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษในการเที่ยวดูมหรสพ ๖ ประการเหล่านี้คือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    [๑๘๑] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการเที่ยวดูมหรสพ ๖ ประการเหล่านี้คือ รำที่ไหนไปที่นั่น ๑ ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น ๑ ประโคมที่ไหนไปที่นั่น ๑ เสภาที่ไหนไปที่นั่น ๑ เพลงที่ไหนไปที่นั่น ๑ เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น ๑

    ดูกรคฤหบดีบุตรโทษ ๖ ประการในการเที่ยวดูมหรสพเหล่านี้แล ฯ

    ซึ่งโทษทั้งหมดรวมความได้ว่า จะต้องเสียทรัพย์ นี่เป็นของแน่นอนที่สุดในการเที่ยวไป ในการเที่ยวทุกแห่งอย่างน้อยก็จะต้องมีการตระเตรียมเสื้อผ้า หรือถ้าเป็นเทศกาล ก็อาจจะต้องตระเตรียมอาหารสำหรับในการเดินทาง หรือสำหรับในการที่จะจัดไว้ที่บ้าน เวลาที่ท่านปลีกตัวไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ แล้วก็ยังจะต้องเสียค่าดูมหรสพต่างๆ แล้วเวลาที่ไปดูก็คงจะไม่ไปดูเฉยๆ ก็คงจะมีการรับประทานอาหาร และมีการรื่นเริงต่างๆ เพราะเหตุว่าก็ต้องมีทั้งการเสียค่าอาหาร หรือค่าเครื่องดื่ม นอกจากนั้นก็คือ เสียเวลาทำงาน อดนอนด้วย เพราะฉะนั้น โทษต่างๆ ที่รวมกันแล้ว ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า แม้ว่าผู้ใดที่ได้ฟังโทษของการดูมหรสพ หรือพิจารณาเห็นโทษของการเที่ยวดูมหรสพด้วยตัวของท่านเอง ขณะที่เห็นโทษก็เป็นตอนหนึ่ง แต่กิเลสที่มี ก็ยังทำให้เที่ยวดูมหรสพด้วย

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ แล้วไม่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมไม่สามารถที่จะละชีวิตของคฤหัสถ์ตามปกติตามความเป็นจริงของคฤหัสถ์ได้ แต่แม้กระนั้นท่านก็จะดำเนินชีวิตที่คล้อยไปตามชีวิตของพระอริยเจ้าเพิ่มขึ้น

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    [๑๘๒] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการเหล่านี้ คือ ผู้ชนะย่อมก่อเวร ๑ ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป ๑ ความเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน ๑ ถ้อยคำของคนเล่นการพนัน ซึ่งไปพูดในที่ประชุมฟังไม่ขึ้น ๑ ถูกมิตร

    อมาตย์หมิ่นประมาท ๑ ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่า ชายนักเลงเล่นการพนันไม่สามารถจะเลี้ยงภรรยา ๑

    ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเหล่านี้แล ฯ

    สำหรับผู้ที่เว้นการพนัน ก็เป็นผู้ที่จะไม่ได้รับโทษจากการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการ

    สำหรับผู้ที่เว้นการพนัน ก็เป็นผู้ที่จะไม่ได้รับโทษจากการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๖ ประการ แต่ในชีวิตนี้นะคะ แม้บางครั้งจะไม่ใช่การพนัน แต่ก็อาจจะมีการแพ้ การชนะในเรื่องอื่น หรืออาจจะเป็นในเรื่องของการถกเถียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ ผู้ชนะจะทำอย่างไร ถ้าเป็นผู้ที่มีอกุศลจิต และจะทำอย่างไร ถ้าเป็นผู้ที่มีกุศลจิต ถ้าเป็นผู้ที่มีอกุศลจิต อาจจะเยาะเย้ยผู้แพ้ หรือว่าดูถูกดูหมิ่น หรือว่าริบเอาของๆ ผู้แพ้ก็ได้ แต่นั่นเป็นอกุศลจิต ถ้าเป็นกุศลแล้วล่ะก็ ไม่ควรที่จะทำให้ผู้อื่นเกิดความน้อยใจ เสียใจ หรืออับอาย ถ้าเป็นเรื่องที่ท่านชนะในเหตุผล ก็เป็นเรื่องที่เป็นความจริงอย่างนั้นตามเหตุผลเท่านั้น อย่าถือโอกาสที่จะเยาะเย้ย หรือว่าทำให้บุคคลอื่นเสียใจ น้อยใจ ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้บุคคลผู้นั้นอาจจะคิดก่อเวร หรือต้องการที่จะชนะท่านในภายหลัง ในทางที่ไม่เป็นธรรมก็ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของสภาพของจิตใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นไปในอบายมุข หรือทางแห่งความเสื่อมโดยตรง แต่แม้กระนั้นกุศลจิต และอกุศลจิตก็ย่อมจะเกิดได้ตามการสะสม ตามการพิจารณาที่ละเอียดขึ้น

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    [๑๘๓] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร ๖ ประการเหล่านี้ คือ นำให้เป็นนักเลงการพนัน ๑ นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้ ๑ นำให้เป็นนักเลงเหล้า ๑ นำให้เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม ๑ นำให้เป็นคนโกงเขาซึ่งหน้า ๑ นำให้เป็นคนหัวไม้ ๑

    ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตรเหล่านี้แล ฯ

    ถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาชีวิตในอดีตของท่าน จะเห็นได้จากการคบกับมิตรที่ไม่ดีว่า เป็นส่วนสำคัญที่จะนำให้ชีวิตของท่านประพฤติในทางทุจริตได้นานาประการ

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    [๑๘๔] ดูกรคฤหบดีบุตร โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน ๖ ประการเหล่านี้ คือ มักให้อ้างว่าหนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่าร้อนนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่าเวลาเย็นแล้ว แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่ายังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่าหิวนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑ มักให้อ้างว่าระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน ๑ เมื่อเขามากไป

    ด้วยการอ้างเลศ ผลัดเพี้ยนการงานอยู่อย่างนี้ โภคะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความสิ้นไป

    ดูกรคฤหบดีบุตร โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้านเหล่านี้แล ฯ

    ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งหมด ไม่ใช่ให้พิจารณาคนอื่น พิจารณาตนเอง ก่อนที่จะเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นคนเกียจคร้านบ้างหรือเปล่า บางท่านหนาวนักไม่ทำงาน เป็นผู้ที่ย่อท้อต่อเหตุการณ์ทั้งปวง เพราะเหตุว่าความเกียจคร้านนั้นก็คือ ความย่อท้อต่อการงานหรือต่อเหตุการณ์นั่นเอง ส่วนความไม่ย่อท้อ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้าม คือความแกล้วกล้า อาจหาญ ที่จะไม่ให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอุปสรรค


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 4
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ