สมถภาวนา ตอนที่ 01


    3546 สมถภาวนา กับ เมตตาในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ สมถะเป็นกุศลจิต เป็นความสงบของจิต ซึ่งก็ต้องดีกว่าอกุศลจิตแน่นอน แต่ไม่ใช่กุศลที่ดับสังสารวัฏ เพราะเหตุว่าปัญญาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าท่านผู้ฟังรู้สึกจิตใจไม่สงบ กระสับกระส่าย จะเป็นเพราะโลภะหรือโทสะก็ตามแต่ มีสติขั้นสมถะระลึกได้ รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล อย่างเวลาโกรธใครหรือจิตใจไม่แช่มชื่น ก็รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้ามีเมตตาในบุคคลนั้น โทสะหรือความไม่แช่มชื่นของจิตจะไม่มีในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น การเจริญเมตตา คือ ระลึกถึงอารมณ์ซึ่งเป็นปัจจัยให้โกรธด้วยความเมตตาในขณะนั้น ถ้าเมตตาเกิดขึ้น ความโกรธก็จะไม่เกิดร่วมกับความเมตตาในขณะนั้นเลย จิตที่ประกอบด้วยเมตตา เป็นสมถะ เป็นความสงบ

    เพราะฉะนั้น สมถะจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นความเมตตาต่อบุคคลอื่นในขณะหนึ่งขณะใด ซึ่งตรงกันข้ามกับลักษณะของอกุศล เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่เป็นไปในทาน ไม่ใช่เป็นไปในศีล แต่เป็นไปในเมตตาที่ทำให้จิตสงบ นั่นเป็นสมถภาวนาทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งก็ควรเจริญ ควรอบรม เพราะเหตุว่าการมีชีวิตอยู่ก็ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นเป็นประจำ การให้จิตใจเป็นไปในกุศลที่สูงกว่าขั้นทาน หรือขั้นศีล โดยการวิรัติไม่เบียดเบียนบุคคลนั้นก็ยังไม่พอ ก็ต้องอบรมเจริญพรหมวิหารซึ่งเป็นสมถภาวนา ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

    เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาเรื่องความสงบจริงๆ จะทราบว่า ไม่ใช่เรื่องของสมาธิ ซึ่งบางครั้งท่านผู้ฟังก็ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดจริงๆ เพียงแต่ไปปฏิบัติจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แล้วก็เข้าใจว่า ขณะนั้นจิตสงบจากโลภะ โทสะ

    เพราะฉะนั้น เรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องที่น่าศึกษามาก ซึ่งก็จะเป็นไปต่อจากลำดับของศีล ให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า ที่ท่านปฏิบัติจริงๆ เป็นสมถภาวนาหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสมถภาวนาแล้ว จะต้องเกิดร่วมกับปัญญาทุกครั้ง จิตที่เจริญสมถภาวนาจะต้องประกอบด้วยปัญญาเจตสิกทุกครั้ง นั่นถึงจะเป็นสมถภาวนา แต่ถ้าไม่มีปัญญา ไม่รู้แม้จุดประสงค์ว่า เจริญสมถะเพื่ออะไร แล้วลักษณะของสมถภาวนานั้นเป็นความสงบของจิตในขณะไหน อย่างไร คือ ต้องสงบทั้งจากโทสะ และจากโลภะด้วย เพราะส่วนมากของผู้ไม่ได้ศึกษาเรื่องของสมถภาวนาจริงๆ ท่านไม่เห็นโทษของโลภะเลย ท่านเห็นแต่ความกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ความเดือดร้อนของจิตซึ่งเป็นปฏิฆะ เป็นโทสมูลจิต แต่พอมีคนมาชวนไปเที่ยวสนุกๆ ท่านก็ไป รับประทานอาหารอร่อยๆ ท่านก็ชอบ ทุกอย่างที่เป็นอิฏฐารมณ์แล้วท่านไม่กลัวเลย แต่ท่านไม่ชอบอนิฏฐารมณ์หรือโทสมูลจิต

    เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ได้ศึกษาอย่างนี้ ท่านก็ไปปฏิบัติสิ่งที่ท่านเข้าใจว่า เป็นสมถภาวนา โดยที่ขณะนั้นปัญญาไม่ได้เกิดร่วมกับจิตเลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ความสงบแท้จริงจากโลภะ จากโทสะ จากโมหะ

    เพราะฉะนั้น ที่ท่านผู้ฟังว่าไปปฏิบัติสมาธิหรือทำสมาธิก็ไม่ทราบว่า ท่านอบรมเจริญอย่างไร เห็นโทษเห็นภัยของโลภะ โทสะ โมหะในชีวิตประจำวัน แล้วการอบรมสมาธิที่เป็นการตั้งมั่นคงของความสงบของจิตได้ ก็ต้องอาศัยการเจริญสมถภาวนาเป็นปกติในชีวิตประจำวันด้วย ถ้าชีวิตประจำวันของท่าน ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง คิดร้ายต่อคนอื่นบ้าง เบียดเบียนคนอื่นบ้างด้วยกาย ด้วยวาจา แต่พอถึงตอนกลางคืน ดึกๆ ท่านก็เข้าห้องเจริญเมตตากัมมัฏฐาน ก็ไม่ทราบว่า ท่านไปเอาเมตตาวันไหน ขณะไหนมาเป็นพื้น เป็นบาทที่จะให้จิตของท่านสงบจนถึงขั้นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิได้ ในเมื่อตลอดทั้งวัน ท่านก็ไม่เคยระลึกได้เลยว่า จิตของท่านเศร้าหมองขุ่นมัวเต็มไปด้วยอกุศล เต็มไปด้วยการประทุษร้ายทางกาย ทางวาจา ทางจิตกับบุคคลอื่นมามากเหลือเกิน แต่พอถึงเวลาก็ไปเข้าห้องเจริญเมตตากัมมัฏฐาน ก็ไม่ทราบว่า จะเจริญได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น เรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วก็เป็นกุศลจริงๆ แต่ถ้าไม่ใช่สมถภาวนาแล้ว ไม่ใช่กุศล

    เพราะฉะนั้น เรื่องของสมาธิที่ปฏิบัติกันอยู่ ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่เรื่องการสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ

    3547 ชีวิตประจำวันสำคัญที่สุด

    ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวันสำคัญที่สุด การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ไปรู้อื่น ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ตามสิ่งแวดล้อม ตามเหตุการณ์แต่ละขณะที่เป็นจริงในขณะนั้น ท่านผู้ฟังที่อบรมสติปัฏฐาน ระลึกถึงพระธรรมได้ในขณะนั้นจึงสงบ ถ้าขณะนั้นไม่ระลึกถึงอุเบกขาหรือเมตตาเลย ความสงบก็ไม่เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ในชีวิตจริงๆ ประจำวัน ที่สามารถสงบได้ในเหตุการณ์ต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ นั้น พอไหมคะ หรือยังต้องการสงบให้ยิ่งกว่านี้ ให้มากๆ โดยการไปทำสมาธิแล้วเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นความสงบ แต่ละเลยความสงบที่จะเกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ซึ่งสำคัญกว่า เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตจริง เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม ถึงถ้าไม่ระลึกถึงพระธรรมก็ย่อมเป็นอกุศล แต่เมื่อระลึกถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังได้ก็เป็นปัจจัยให้สงบขึ้น เป็นกุศลในขณะนั้น และชีวิตของแต่ละท่านตามความเป็นจริงไม่มีใครสามารถเลือกตามความพอใจได้ ทุกท่านอยากจะมีชีวิตที่ราบรื่น อยากอยู่แวดล้อมใกล้ชิดกับผู้มีกุศลจิตมากๆ ไม่อยากแวดล้อมใกล้ชิดกับผู้ที่เต็มไปด้วยอกุศลเลย แต่ว่าแต่ละท่านก็ย่อมทราบชีวิตของท่านตามความเป็นจริงดีว่าเป็นอย่างไร และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ย่อมมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปตามกรรม แต่ถึงแม้ว่าท่านจะอยู่ในเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ตาม พระธรรมย่อมสามารถอนุเคราะห์เกื้อกูลให้กุศลจิตเกิดได้ถ้าท่านระลึกถึงพระธรรมเนืองๆ

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่สามารถรู้สภาพธรรมใดๆ ก็ได้ที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย โดยไม่ให้เลือกว่า สภาพธรรมที่ไม่ดีอย่างนี้จะไม่ระลึกรู้ จะคอยเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมอื่นดีกว่านี้แล้วก็จะเจริญปัญญา ถ้าเข้าใจอย่างนั้น ปัญญาจะไม่เจริญขึ้น เพราะเหตุว่าลักษณะของปัญญาที่คมกล้าจริง ต้องหมายความถึงปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมใดๆ ก็ได้ที่ปรากฏ ไม่เลือก อย่างในขณะนี้สภาพธรรมเกิดปรากฏ ปัญญาสามารถรู้ชัดลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ได้ เมื่อเป็นปัญญา แต่ถ้าปัญญายังไม่เกิดก็จะต้องอบรม คือ ระลึก และศึกษาเพื่อความรู้ชัดในสภาพของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ไม่ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏในเหตุการณ์นั้นๆ จะเป็นสภาพธรรมที่ดีหรือไม่ดีประการใดก็ตาม

    เพราะฉะนั้น บางท่านยังเข้าใจเรื่องของความสงบของจิตไม่ถูกต้อง จึงพยายามที่จะเจริญสมาธิ แล้วก็เข้าใจว่า .ขณะที่จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดนั้นเป็นความสงบ แต่ท่านไม่ได้เปรียบเทียบเลยว่า ลักษณะความสงบของจิตต้องเป็นขณะที่ปราศจากความยินดียินร้าย และต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้ในลักษณะสภาพของความสงบที่กำลังสงบในขณะนั้นว่า ขณะนั้นไม่ใช่ความติด ไม่ใช่ความพอใจในสมาธิที่กำลังจดจ้องในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด บางท่านก็เข้าใจว่า ขอไปสู่สถานที่สงบเงียบ แล้วความสงบก็จะมั่นคงขึ้น มีแต่ความหวังว่า เมื่อไปแล้วจะสงบมั่นคงขึ้น แต่ลืมคิดว่า ความสงบจะมั่นคงขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะของความสงบเล็กๆ น้อยๆ ชั่วขณะที่มีในชีวิตประจำวันเสียก่อน เพื่อจะเปรียบเทียบลักษณะของกุศลธรรม และอกุศลธรรมว่าต่างกัน ถ้าขณะนี้อกุศลจิตเกิดจะทำอย่างไรคะ จะให้สงบ หรือจะปล่อยไป หรือจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสติปัฏฐาน

    ในชีวิตประจำวัน เวลาที่ยุงกัด เคยคิดอยากจะฆ่าไหมคะ ถ้าเคยคิด ขณะนั้นสงบไหม ท่านที่ต้องการเจริญความสงบ อย่ารีบร้อนที่จะไปสู่ที่หนึ่งที่ใด แล้วก็จดจ้องทำสมาธิ แล้วเข้าใจว่าเป็นความสงบ แต่ในชีวิตประจำวัน ขณะที่นึกอยากจะฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย บางท่านไม่ฆ่ายุง ก็ฆ่ามด ขณะที่กำลังจะฆ่า ขณะนั้นสงบไหมคะ นี่คือตามความเป็นจริง ถ้าท่านต้องการเจริญความสงบแล้วก็ขอให้ระลึกถึงความสงบตามปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะมีได้ก่อนจะไปถึงความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิถึงขั้นฌานจิต ซึ่งเป็นความสงบที่มั่นคงเหลือเกิน จนกระทั่งสภาพของจิตในขณะนั้นประกอบด้วยความสงบ และสมาธิที่มั่นคงจริงๆ หยั่งจริงๆ ลงสู่ความสงบพร้อมด้วยสมาธิที่มั่นคง แต่ชั่วขณะเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน ก็ควรที่จะได้รู้ลักษณะของความสงบ

    เวลาที่ได้ยินได้ฟังเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตามในชีวิตประจำวันที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง แล้วเล่าสู่มิตรสหายฟัง ขณะนั้นสงบไหม ขอให้คิดถึงสภาพของจิต ถ้าจะเล่าเรื่องร้าย ขณะนั้นจิตสงบไหม ขณะที่กำลังเล่า ถ้าจะเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ร่าเริงบังเทิงใจในทางอกุศลธรรม ในขณะนั้นก็เต็มไปด้วยโลภะ ความยินดีเพลิดเพลิน ขณะนั้นก็เต็มไปด้วยโลภะ ความยินดีเพลิดเพลิน ในขณะนั้นสงบไหม ท่านที่ต้องการเจริญกุศล ไม่เพียงขั้นทาน และขั้นศีล แต่ต้องการเจริญความสงบของจิตด้วย ก็ควรรู้ลักษณะที่แท้จริงของความสงบว่า ขณะใดสงบ ขณะใดไม่สงบในชีวิตประจำวัน ถ้าในชีวิตประจำวันท่านเพิ่มความสงบขึ้น จะมีหวังที่ว่าเมื่อระลึกถึงสภาพของจิตที่สงบ และอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบบ่อยๆ สมาธิจะประกอบกับความสงบนั้นมั่นคง หยั่งลงลึก และดื่มด่ำในความสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิได้ แต่ลักษณะของสมาธิขั้นอุปจาระ และขั้นอัปปนาต้องต่างกับขณะที่เป็นขณิกะ คือในชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านสามารถจะรู้ได้ แม้ความสงบที่เพิ่มกำลังขึ้น และประกอบด้วยสมาธิขั้นใด ท่านก็สามารถรู้ชัดในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า เป็นสมาธิที่ประกอบด้วยความสงบ หรือเป็นความสงบที่เพิ่มกำลังของสมาธิขึ้นแล้วตามความเป็นจริง

    3548 ปัญญาในสมถะรู้เพียงว่าจิตจะสงบอย่างไร

    ท่านอาจารย์ การเจริญสมถภาวนานั้นเป็นความรู้ขั้นที่รู้ความต่างกันของอกุศลจิต และกุศลจิต ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนานั้นเห็นโทษของอกุศลจิตอย่างละเอียด แต่ไม่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพียงแต่รู้หนทางวิธีที่ว่าทำอย่างไรจิตจึงจะสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลธรรมในขณะนั้น มีความรู้เพียงขั้นนั้น มีความรู้เพียงว่า จิตจะสงบได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ปฏิบัติด้วยความต้องการแล้วก็ไม่พอ จึงเป็นความไม่สงบ ไม่ใช่ความสงบ ถ้ารู้ลักษณะของความสงบแล้ว ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นความสงบ เกิดขึ้นอีกก็สงบ แล้วจะสงบมั่นคงขึ้นถ้าปราศจากความต้องการ แต่เพราะเหตุว่ามีความต้องการ มีความสงสัย ซึ่งขณะนั้นไม่สงบ แต่ไม่รู้ลักษณะของความไม่สงบในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น มีความต้องการเกิดแล้ว เพราะไม่รู้ลักษณะของความสงบจริงๆ ขณะนั้นยากที่จะกล่าวว่า เป็นความสงบจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่า มนสิการพิจารณาอย่างไรจิตจึงสงบ การระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจ ไม่ได้หมายความว่า ทุกท่านที่จดจ้องที่ลมหายใจ จิตจะสงบ ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต มีความต้องการจดจ้องที่ลมหายใจ ไม่ใช่ความสงบเลย ถ้าสติปัฏฐานจะต้องละความยึดถือลมหายใจว่าเป็นตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน แล้วแต่อารมณ์อะไรจะปรากฏก็มีลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น นั่นเป็นสติปัฏฐาน อย่าปนกัน ความสงบของสติปัฏฐานต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ละการยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นตัวตน ความสงบที่เป็นสมาธิหรือสมถภาวนา ความสงบที่ลมหายใจที่เป็นสมถภาวนาต้องมีปัญญาที่รู้วิธีที่จะสงบนั้นในขณะที่รู้ลมหายใจ พิจารณาอย่างไร ระลึกอย่างไรจึงสงบ เวลาอยู่ในป่า ไม่ใช่โรงหนัง โรงละคร มีดอกไม้สวยๆ ลมพัดเย็นๆ มีแม่น้ำลำธาร มีนกร้อง รู้สึกสงบไหม สงบใช่ไหมคะ เข้าใจว่าสงบ พอใจแล้ว ไม่เหมือนเวลาที่ยุ่ง คิดมาก นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่าน เข้าใจว่าขณะนั้นสงบ แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นไม่สงบเลย ตราบใดที่มีความพอใจ จะชื่อว่าสงบไม่ได้ หลักที่จะรู้ว่า เป็นสมถภาวนาหรือไม่ใช่สมถภาวนา คือว่าขณะนั้นประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว จะไม่เป็นสมถภาวนาแน่นอน

    นั่งอยู่ในป่า ดูพระอาทิตย์ตก ตื่นมาเช้าๆ ทุกอย่างเงียบสงบ ก็เข้าใจว่าสงบ แต่ความจริงไม่ใช่ โลภะก็ได้ในขณะนั้น เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ อย่าเพิ่งรวบรัดว่าเป็นความสงบแล้วเจริญไปๆ ก็ปัญญาไม่เห็นเกิดขึ้นเลย ความสงบจะเพิ่มกำลังขึ้นได้อย่างไร ถ้าปราศจากปัญญา ที่ความสงบจะสงบขึ้น มั่นคงขึ้น ต้องประกอบด้วยปัญญาจึงจะเพิ่มความสงบขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าปราศจากปัญญาแล้วไปนั่งจดจ้องอยู่สักเท่าไรก็หาสงบไม่ แต่ก็เข้าใจว่าสงบ แต่วิธีที่จะรู้สงบหรือไม่สงบ ก็คือขณะนั้นประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ปัญญาในขณะนั้นรู้อะไร ถ้าเจริญความสงบ ความสงบก็สงบขึ้น เท่านั้นเอง แต่เมื่อไม่สงบขึ้น แล้วมีความพอใจเกิดขึ้น มีความต้องการเกิดขึ้น มีความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย มีความไม่รู้หนทาง มีความต้องการให้สงบขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่ลักษณะของความสงบ และไม่ใช่หนทางที่จะสงบขึ้น เพราะไม่ได้เริ่มจากความสงบที่ประกอบด้วยปัญญา ลักษณะของสมาธิไม่ใช่ลักษณะของความสงบ .เอกัคคตาเจตสิกเป็นจิตที่เกิดกับอกุศลได้ ตั้งมั่นคงด้วยอกุศลก็ได้ ไม่ใช่ความสงบ

    เพราะฉะนั้น อย่าปนสภาพของความสงบกับลักษณะของสมาธิซึ่งมีทั้งมิจฉาสมาธิ เป็นอกุศลสมาธิได้

    เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่า ตั้งมั่นแล้ว จดจ้องอยู่ที่ลมหายใจแล้ว นั่นกล่าวถึงเพียงลักษณะของสมาธิ ไม่ได้กล่าวถึงลักษณะของความสงบเลย แล้วก็เอาสมาธิมาเป็นเครื่องวัด ซึ่งสมาธิเกิดกับอกุศลจิตได้ เป็นโลภมูลจิตได้ แต่ถ้าปัญญาเกิดขึ้นพร้อมทั้งความสงบ และสมาธิ ขณะนั้นจึงเป็นความสงบ

    การอบรมเจริญสมถภาวนาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นกุศลที่ไม่ใช่ขั้นทาน และขั้นศีล และต้องประกอบด้วยปัญญาจริงๆ ถ้าไม่กล่าวถึงการเจริญสมถภาวนา ท่านผู้ฟังก็จะรู้สึกได้ว่า ท่านเป็นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของอกุศลจิต เช่น โลภะบ้าง โทสะบ้าง กุศลบ้าง แต่ถ้าท่านระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศล เช่น เมตตา แล้วรู้ลักษณะของความสงบซึ่งต่างกับลักษณะของโทสะ แล้วเมตตาจะเกิดบ่อยขึ้น หรือกรุณาก็ตาม มุทิตาก็ตาม อุเบกขาก็ตาม สภาพธรรมที่เป็นกุศลปรากฏตามความเป็นจริง ให้ระลึกเนืองๆ เมื่อระลึกเนืองๆ จิตสงบขึ้นไหม

    เพราะฉะนั้น ความสงบต้องเกิดพร้อมปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น เวลานี้ลมหายใจปรากฏแล้วสงบไหม นี่คือขั้นต้น เหมือนเวลาเห็นคนหนึ่งคนใดจิตสงบไหม ถ้าจะเจริญความสงบก็ต้องในขณะที่กำลังจะฆ่าสัตว์ ฆ่ายุง ฆ่ามด ไม่สงบ ขณะที่ไม่ฆ่าสงบ สีลานุสติ จาคานุสติ มรณสติ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ อารมณ์ที่จะจิตสงบมี ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็จะเป็นความสงบขึ้นมาด้วยโลภะ ด้วยความต้องการหรือความจดจ้อง โดยปัญญาไม่เกิดเลย ไม่ใช่อย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ความสงบที่ลมหายใจเดี๋ยวนี้ที่กำลังรู้มีความสงบ หรือมีเพียงความจดจ้อง ขณะนี้สงบได้ไหม เท่านี้ก่อน ถ้าสงบได้เพราะอะไร เพราะระลึกที่ลมหายใจหรือเพราะเหตุอื่น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 4
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ