วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 14


    สภาพธรรมละเอียดมากนะคะ เพราะฉะนั้น การเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน อย่าประมาทปัญญาว่าจะรู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงไม่ได้ ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แล้วก็เป็นสภาพธรรมหลายอย่างที่เกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกันไปแล้วอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิตเห็น ผัสสเจตสิกเกิดพร้อมกับจิตเห็น เพราะเหตุว่าถ้าผัสสเจตสิก สภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งไม่กระทบกับอารมณ์นั้น การเห็นมีไม่ได้ ในขณะนี้บางขณะเห็น บางขณะได้ยิน บางขณะคิดนึก ถ้าผัสสเจตสิกไม่กระทบรูปารมณ์ การเห็นไม่มี ถ้าผัสสะไม่กระทบเสียง ได้ยินไม่มี ไม่มีในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้นะคะ ชั่วขณะ แต่ละขณะที่ผ่านไป ที่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นสภาพธรรมหลายอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป หมดไปเรื่อยๆ ในขณะนี้ โดยที่ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมไม่สามารถจะรู้ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น และดับไป แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน อย่าประมาทปัญญา เมื่อเป็นปัญญาแล้วรู้ได้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่าง จนกระทั่งสามารถดับความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ได้เป็นสมุจเฉท เมื่อปัญญาคมกล้าถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ถาม ที่อาจารย์บอกว่า สติปัฏฐานน่ะ ตัวตน เรา เขา สัตว์ บุคคลน่ะไม่มี ทีนี้ผมมาพิจารณาว่า นาม ความรู้สึก ไม่มีได้ แต่มาคิดอีกทีถึงรูปล่ะ ยังมีอยู่ จะให้มันหมดไปยังไง ตัวตน เรา เขา นาม ไม่มีจริง แต่รูปมันมีนี่

    ท่านอาจารย์ รูปอะไรมีอยู่

    ผู้ฟัง ถ้าจะพิจารณา ก็พูดอะไรก็ได้ ก็มีรูปกับนาม

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ดับไป มีชั่วขณะที่ปรากฏเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แต่เพราะยังไม่ประจักษ์ความเกิดดับต่างหาก จึงคิดว่ายังอยู่ ที่คิดว่ารูปยังอยู่ เพราะเหตุว่ายังไม่ประจักษ์ความเกิดดับของรูปนั้น

    ผู้ฟัง รูปมันดับช้ากว่านามใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถึงจะว่า ช้า เป็น ๑๗ ขณะของจิต ก็ยังเร็วสุดประมาณค่ะ

    ผู้ฟัง ขอบคุณครับ

    วันนี้ขอต่อสิงคาลกสูตรให้จบ ข้อความตอนท้ายในสิงคาลกสูตรมีว่า

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    [๒๐๕] มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรอำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน คฤหัสถ์ในสกุลผู้สามารถควรนอบน้อมทิศเหล่านี้ บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นคนละเอียด และมีไหวพริบ มีความประพฤติเจียมตนไม่ดื้อกระด้าง ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ คนหมั่นไม่เกียจคร้านย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย คนมีความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ คนผู้สงเคราะห์ แสวงหามิตรที่ดี รู้เท่าถ้อยคำที่เขากล่าว ปราศจากตระหนี่ เป็นผู้แนะนำแสดงเหตุผลต่างๆ เนืองๆ ผู้เช่นนั้น ย่อมได้ยศ การให้ ๑ เจรจาไพเราะ ๑ การประพฤติให้เป็นประโยชน์ ๑ ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลาย ในคนนั้นๆ ตามควร ๑ ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจในโลกเหล่านี้แล เป็นเหมือนสลักรถอันแล่นไปอยู่ ถ้าธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้ มารดา และบิดาไม่พึงได้ความนับถือหรือความบูชาเพราะเหตุแห่งบุตร เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้โดยชอบ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านั้นจึงถึงความเป็นใหญ่ และเป็นผู้อันหมู่ชนสรรเสริญทั่วหน้า ดังนี้ ฯ

    [๒๐๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสฉะนี้แล้ว สิงคาลกคฤหบดีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล ฯ

    จบ สิงคาลกสูตร ที่ ๘

    สำหรับข้อความตอนท้ายในสิงคาลกสูตร ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้ฉลาดในกาลทุกเมื่อ และในทิศทั้งหลาย ฉลาดในการที่จะเป็นกุศล ผู้สามารถควรนอบน้อมทิศเหล่านี้ คือ

    มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรอำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน

    การนอบน้อมหมายความถึง การประพฤติในทางที่ถูกที่ควร ที่เป็นกุศล ถ้าอกุศลจิตเกิด ประพฤติในทางที่ถูกที่ควรไม่ได้ แม้กับมารดาบิดา อาจารย์ บุตรภรรยา มิตร อำมาตย์ ทาสกรรมกร หรือสมณพราหมณ์

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กุศลจิตสามารถที่จะเกิดประพฤติเป็นไปในทางที่ถูกที่ควรในชีวิตประจำวัน แล้วผู้ที่จะขัดเกลากิเลส ไม่ใช่ว่าละเลยสิ่งเหล่านี้ แล้วมุ่งที่จะ เจริญสติเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยที่สภาพของกุศลจิตไม่เกิด ไม่เป็นไปในทิศทั้งหลายเลย แต่ให้ทราบว่า ผู้ใดที่มีกิเลสน้อย แล้วเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้ประพฤติในทางที่ถูกที่ควรกับบุคคลทั้งหลาย ซึ่งเปรียบเสมือนทิศทั้งหลายเหล่านี้ยิ่งขึ้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นคนละเอียด และมีไหวพริบ

    ไหวพริบจำเป็นมาก คือ ความว่องไวต่อการปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖ ไม่เป็นการละเลย หรือเฉยเมยต่อหน้าที่หรือกิจที่พึงกระทำต่อมารดาบิดา เป็นต้น

    มีหลายอย่างที่จะกระทำได้ แม้สิ่งเล็กน้อยในขณะหนึ่งขณะใด เพียงชั่วขณะนั้น ถ้าจิตเป็นกุศลกระทำได้แล้วค่ะ การช่วยเหลือ การสงเคราะห์ การหยิบ การยก การจัดแจงธุระ คิดถึงสิ่งที่ควรในขณะนั้น การรู้สึกเกรงใจ หรือว่ามีความเคารพนอบน้อม ไม่มีกายวาจาที่ไม่สมควร แต่ละอย่าง แต่ละขณะปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะต้องไม่ลืมว่า ชีวิตของแต่ละคนอยู่ในขณะจิตหนึ่งแต่ละขณะเท่านั้นเอง ชีวิตทั้งหมดเกิดขึ้นทีละขณะ เพราะฉะนั้น ชีวิตก็อยู่ในขณะหนึ่งๆ ของจิต แล้วขณะหนึ่งๆ ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งปรากฏ กายเป็นอย่างไร วาจาเป็นอย่างไร สะท้อนถึงสภาพของจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล แม้แต่คำพูด ก็เป็นเครื่องสอบให้ทราบถึงลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นได้ หรือแม้แต่กายก็เป็นเครื่องที่ส่องถึงลักษณะของจิตใจในขณะนั้นได้ ว่าเป็นผู้ที่คำนึงถึงบุคคลอื่นบ้างไหม หรือว่าเป็นผู้เห็นแต่ตนเองตลอดเวลา ไม่ได้คำนึงถึงบุคคลอื่นเลย ไม่มีการช่วยเหลือ ไม่มีการสงเคราะห์ ไม่มีการคิดถึงความสะดวกสบายของบุคคลอื่น ถ้าลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะของอกุศลจิต แต่เพียงชั่วขณะหนึ่งซึ่งจะสงเคราะห์คนอื่นได้โดยการช่วยเหลือ โดยการคิดถึงความสะดวกสบายของคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นคนละเอียด และมีไหวพริบในแต่ละขณะ ในแต่ละเหตุการณ์

    นอกจากนั้น มีความประพฤติเจียมตน ไม่ดื้อกระด้าง ไม่ยกยอตัวเอง และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักเคารพยำเกรง หรือว่าเกรงใจบุคคลอื่น ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของบัณฑิต

    คนหมั่นไม่เกียจคร้านย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย

    บางคนคิดว่า ในการที่จะประพฤติสิ่งที่ดีนี้น่าเกียจคร้าน คือไม่ขยันที่จะกระทำความดี คิดว่าเสียเวลาเปล่าๆ หรือว่าไม่มีประโยชน์เลย หรือว่าจะทำความดีไปทำไม คือไม่เห็นคุณความดี แล้วก็คิดว่าเป็นการเสียเวลา เสียโอกาสที่จะใช้เวลานั้นไปในทางที่จะทำให้ตนเองได้รับความสะดวกสบายต่างๆ แต่ว่าผู้ที่เห็นกิเลสของตนเอง และทราบว่าถ้ากุศลจิตไม่เกิด ย่อมเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิด เพียงเท่านี้ ถ้าเห็นจริงๆ ผู้นั้นจะขยันที่จะทำความดีทุกโอกาส เพราะเหตุว่าการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทนี้ยังอีกแสนไกล ถ้าไม่หมั่นอบรมสะสมเจริญความดีให้ยิ่งขึ้น อกุศลก็จะเพิ่มพูนมากขึ้นๆ ยากแก่การที่จะดับ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นกิเลสของตนเองมีมาก ก็ย่อมจะเจริญกุศลทุกประการ

    คนหมั่นไม่เกียจคร้านย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย คนมีความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ

    “ความประพฤติไม่ขาดสายที่นี่” ควรจะเป็นความประพฤติในกุศลโดยไม่ขาดสาย เพราะเหตุว่าการประพฤติอย่างอื่นก็เป็นสิ่งที่ไม่มีสาระสมควรแก่การที่จะสะสมให้มากขึ้น แต่กุศลธรรมแต่ละอย่าง เป็นสิ่งที่จะขัดเกลากิเลส ละคลายให้น้อยลง เพราะฉะนั้น จึงควรเป็นผู้ที่มีความประพฤติไม่ขาดสายในการเจริญกุศล

    บางครั้งกุศลที่ทำก็อาจจะหยุดไป ไม่เป็นโอกาสที่จะกระทำต่อไป ทั้งๆ ที่คิดว่าจะกระทำเป็นอาจิณ โดยสม่ำเสมอ โดยไม่ขาดสาย แต่ว่าในบางครั้งก็มีอกุศลจิตเกิดขึ้น ทำให้หยุดไป ไม่สามารถที่จะเจริญกุศลต่อไปได้

    ข้อความในอรรถกถา อุปมาว่า การกระทำที่ทำๆ หยุดๆ นี้เหมือนกับกิ้งก่าที่วิ่งไปตอนแรกๆ แล้วก็หยุดผงกศีรษะนานๆ แล้วก็วิ่งต่อไปอีก ลักษณะของคนที่ทำกุศลโดยขาดสาย ก็เหมือนลักษณะของกิ้งก่าที่วิ่งไปแล้วก็หยุด ผงกศีรษะอยู่นานๆ แล้วจึงวิ่งต่อไปได้ เป็นการแสดงลักษณะสภาพของจิตใจว่า บางครั้งก็เป็นโอกาสของกุศลจิต แต่บางครั้งก็มีอกุศลจิต ทำให้กุศลนั้นหยุดไป เป็นชีวิตจริงหรือเปล่าคะ ถ้าไม่มีจริง พระผู้มีพระภาคก็คงไม่ทรงแสดงว่า การกระทำกุศลควรจะกระทำโดยไม่ขาดสาย คนผู้สงเคราะห์ แสวงหามิตรที่ดี รู้เท่าถ้อยคำที่เขากล่าว ปราศจากตระหนี่ เป็นผู้แนะนำแสดงเหตุผลต่างๆ เนืองๆ ผู้เช่นนั้น ย่อมได้ยศ

    เหตุผลในการที่จะให้เจริญกุศล หรือในการที่จะให้ขัดเกลากิเลสมีมาก แสดงเท่าไรๆ ก็ไม่พอ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจะต้องฟังเรื่อยๆ และจะต้องพิจารณาอุปมาอุปมัยต่างๆ ซึ่งเป็นการที่จะชี้ให้เห็นถึงสภาพธรรมที่น่ารังเกียจของอกุศล และสภาพธรรมที่ควรเจริญของกุศล อย่างบางท่านที่เป็นผู้รักความสะอาดทางกาย เป็นผู้ที่รังเกียจความสกปรกทางกายมาก แต่ว่าลืมคิดว่า ขณะใดที่อกุศลเกิด ขณะนั้นสกปรกหรือว่าน่ารังเกียจเสียยิ่งกว่าความสกปรกทางกาย และอกุศลที่เกิด เกิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เช่น

    ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าจะอุปมาเหมือนกับแผลเน่าสกปรก ที่มีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลอยู่ตลอดเวลา ขณะใดที่มีการเห็น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง อกุศลเปรียบเหมือนสิ่งสกปรกที่ไหลออกมาแล้วทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ในวันหนึ่งๆ มีแต่ความสกปรก มีแต่ความน่ารังเกียจสักเท่าไร เพราะเหตุว่าความสกปรกหรือความเน่าเสีย ซึ่งเป็นแผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็ยังสามารถรักษาให้หายกลับคืนให้สะอาดได้ แต่อกุศลจิตที่เกิดทันทีที่เห็น แล้วมีความยินดียินร้าย ทางหูที่ได้ยินแล้วหลงลืมสติ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็เปรียบเหมือนน้ำเลือด หรือน้ำหนองของสกปรกทั้งหลายที่ไหลออกไปแล้วโดยอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า แล้วแต่ท่านจะมีความรังเกียจในความสกปรกทางกาย หรือว่าจะมีความรังเกียจลึกซึ้งถึงอกุศลจิต ซึ่งเกิดขึ้นทางใจด้วย เป็นความสกปรกหรือความน่ารังเกียจของสภาพของจิต ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสกับสิงคาลกคฤหบดีบุตรแล้ว สิงคาลกะก็มีความเข้าใจแจ่มแจ้งในพระธรรม เห็นประโยชน์ แล้วขอถึงพระพุทธ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ

    ข้อความในอรรถกามีว่า

    ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงทิศ ๖ ให้สิงคาลกมาณพฟังจบลงแล้ว ก็เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ต่อไป ส่วนสิงคาลกมาณพก็ได้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ นำทรัพย์ ๔๐ โกฏิออกให้เป็นประโยชน์ในพระพุทธศาสนา เวลาทำกาลกิริยา ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์

    สิ่งที่คฤหัสถ์ควรทำได้มีอยู่ในพระสูตรนี้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น พระสูตรนี้จึงได้นามว่า คิหิวินัย

    ผู้ที่ปฏิบัติตามพระสูตรนี้ย่อมมีแต่ความเจริญ หาความเสื่อมมิได้

    ผู้ฟัง สิงคาลกสูตรที่อาจารย์ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าใครทำได้ ก็ดีทั้งนั้น ต้องดีแน่ แต่ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าเราทำได้ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ แต่ฝ่ายตรงกันข้าม สมมติว่า เราเป็นบิดามารดาทำตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ แต่ว่าบุตรไม่ได้ทำตามหน้าที่ของบุตร หรือว่ามิตรสหาย เราก็ทำตามหน้าที่เป็นมิตรสหาย แต่มิตรสหายของเราไม่ได้ทำหน้าที่ของมิตรสหายตอบแทนกับเรา ทำให้เราทำหน้าที่ตามที่พระผู้มี-พระภาคทรงแสดงไว้ไม่ได้ตลอด ปัญหาอยู่ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ห่วงใยใครที่ทำไม่ได้ตลอด กังวลถึงผลที่จะได้รับจากคนอื่น หรือคิดถึงกิเลสของตนเองซึ่งควรจะละ

    ผู้ฟัง คนอื่นเราไม่คิดถึง นึกถึงตัวเองว่า จะเป็นการขัดขวางให้เราทำดีไปตลอดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทำไมจะไม่ได้ ในเมื่อความดีของตนเอง ตนเองเท่านั้นที่จะกระทำ ไม่คำนึงถึงบุคคลอื่นว่าจะตอบสนองในลักษณะใด เพราะว่าเป็นเรื่องของเขา กิเลสของใคร คนนั้นก็ต้องละ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นกิเลสของท่านเอง ถ้าไม่ประพฤติให้ถูกต้องตามที่ควรประพฤติ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต ซึ่งไม่ควรสะสม แต่ควรจะขัดเกลาด้วยการประพฤติตามคิหิวินัย คือ ข้อประพฤติปฏิบัติของคฤหัสถ์ เท่าที่สามารถจะกระทำได้ เท่าที่ปัญญาจะเห็นประโยชน์

    ผู้ฟัง รู้ว่ากุศลควรเจริญ แต่กิเลสของตน บางทีก็เห็นว่าดี บางทีก็เห็นว่าไม่ดี

    ท่านอาจารย์ กิเลสดีมีหรือ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เห็นผิดไหม ถ้าเห็นอย่างนั้น ไม่ใช่เห็นถูก

    ผู้ฟัง ก็รู้ว่าเห็นผิด แต่อารมณ์ทำให้เราทำความดีไม่ได้ตลอด เพราะว่ากิเลสของเรายังมี ทนต่ออารมณ์ไม่ได้ บางครั้งก็ยังมีที่ไม่เชื่อกรรม และผลของกรรม คือ คนบางคนเขาถือว่า เขาทำความดีมาตลอด แต่ว่าด้านฐานะการเงินเอย เพื่อนฝูงมิตรสหายเอย ก็ยังหาดีไม่ได้ ทำให้เขาท้อถอยจากความดี การประพฤติความดี คือ การประสบต่ออนิฏฐารมณ์จะมาขวางกุศลของเขา

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าทำดีมาตลอด ความดีที่คิดว่าทำมามาก จริงๆ แล้วเท่าไรก็ยังไม่พอ เพราะว่าอกุศลจิตยังมีโอกาสที่จะเกิดอยู่เรื่อยๆ และทำไมจึงคิดถึงเฉพาะความดีในปัจจุบันชาติ ความไม่ดีในอดีตลืมเสียแล้วหรือว่าเคยมีหรือเปล่า ถ้าลืมก็ควรที่จะนึกขึ้นได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้นั้นต้องมีเหตุปัจจัยจึงจะเกิดได้ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ละขณะที่จะเกิดขึ้นประสบกับอิฏฐารมณ์บ้าง อนิฏฐารมณ์บ้าง ต้องมีเหตุปัจจัยที่ได้กระทำแล้ว และไม่ใช่คนอื่นกระทำ ตนเองเท่านั้นเป็นผู้กระทำกรรมนั้น

    ถ้าจะดูแต่เฉพาะปัจจุบันชาติว่า ทำความดีมาโดยตลอด ก็ควรจะคิดเลยไปตลอดถึงอดีตชาติด้วยว่า อกุศลกรรมย่อมได้เคยกระทำมาแล้ว มิฉะนั้นผลอย่างนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

    ข้อสำคัญที่สุด คือ อย่าให้การคิดหรือคำนึงถึงบุคคลอื่นเป็นอุปสรรคในการที่จะขัดเกลากิเลสของตนเอง และควรระลึกว่า ความดีที่ได้ทำมาแล้วทั้งหมด ไม่พอ ทำเท่าไรก็ยังไม่พออยู่นั่นเอง ถ้าเทียบส่วนกับอกุศลจิตที่เกิดในวันหนึ่งๆ ความดีที่ได้ทำเล็กน้อยเหลือเกิน ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้ ก็ไม่ใช่ว่าจะมีมากมายหลายขณะ และถึงแม้ว่าสติจะระลึกบ้าง พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ปัญญาก็เจริญขึ้นเล็กน้อยเหลือเกิน ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่อดทน และไม่ละทิ้งการเจริญกุศล ไม่ท้อถอยการอบรมเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้น และในขณะที่ปัญญาไม่เกิด สติไม่เกิด ขณะนั้นก็ต้องเป็นอกุศลแล้ว

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะเห็นว่า กุศลเท่าไรก็ไม่พอ และก็ควรเจริญกุศลทุกประการด้วย ไม่ควรคำนึงถึงคนอื่น เพราะว่าลักษณะของสติปัฏฐานจริงๆ นั้น เป็นสภาพที่ทำให้รู้ชัดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน และก็เป็นปัญญาที่รู้ขึ้นจนกระทั่งประจักษ์ได้ว่า ตัวตนไม่มี ที่เคยเป็นเราจะดีจะชั่วขณะหนึ่งขณะใด ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง คำว่ากรรมในอดีต เราไม่อาจระลึกได้ แม้แต่กรรมในชาตินี้ บางทีเมื่อได้รับวิบากแล้ว ก็ยังนึกไม่ได้ทันที นอกจากทนความเร่าร้อนไป และค่อยๆ เจริญสติค่อยๆ ระลึกได้ ประมาณ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ดิฉันได้ทำอกุศลอย่างหนึ่ง ซึ่งตอนนั้น ดิฉันเป็นคนหยาบกว่านี้มาก ยังไม่เคยเจริญสติ มีสุนัขมาออกลูกที่บ้านมากมาย หลานดิฉันก็ขนไปทิ้ง ๒๐ กว่าตัว ทำให้พลัดแม่พลัดลูกกัน เขาเอาไปทิ้งที่วัดไหนก็ไม่รู้ ดิฉันไม่ได้ออกคำสั่ง แต่ดิฉันก็ยินดีในการที่เขาเอาไป เพราะอยู่ที่บ้าน กลางคืนมืดๆ เด็กใส่รองเท้าไปเหยียบ บางทีก็ตาย ทำให้เราเกิดความเศร้าใจ และขณะนั้นพอเขาขนไปดิฉันก็สบายใจ ดีใจด้วย เป็นอกุศลขณะนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นอกุศล ที่นี้ต่อมาถึงบัดนี้ดิฉันก็ได้เจริญกุศล และดิฉันก็ได้ลืมเหตุการณ์ในอดีตนั้นไปแล้ว ซึ่งเป็นชาตินี้แท้ๆ

    ต่อมาดิฉันก็เกิดได้รับวิบาก ที่ทำให้พลัดแม่พลัดลูก มีคนยื่นมือเข้ามายุยงให้เกิดกินแหนงแคลงใจกัน ซึ่งเด็กของดิฉันก็เชื่อตามเขา และวิบากก็ได้เกิดขึ้น มีการขัดใจกัน ดิฉันก็เสียใจ ซึ่งถ้าหากเป็นเมื่อก่อนนี้ก็คงพูดกันให้รู้เรื่องไปเลย แต่มาถึงตอนนี้สิ่งที่ดิฉันทำไม่ได้ก็คือว่า ถ้าหากดิฉันจะทำให้ลูกดิฉัน หรือน้องดิฉัน หรือญาติเพื่อนฝูงก็ตาม ทำให้มีเรื่องขัดอกขัดใจกับคนหนึ่งคนใด คือ หมายความว่ามีปิสุณาวาจา ดิฉันกล่าวไม่ได้ ไม่ว่าดิฉันจะได้รับความไม่ถูกต้องในจิตใจอย่างไรก็ตาม พอดิฉันเจริญสติขึ้นมาบ่อยๆ ดิฉันสามารถรู้ว่าสภาพจิตของดิฉันเวลานี้เป็นอย่างไร ขณะที่ได้รับทีแรก ตั้งตัวยังไม่ทัน ก็มีความหม่นหมองมาก แทบจะไม่อยากจะมองคนที่เขาก่อเรื่องขึ้น แต่ว่าพอดิฉันเจริญสติบ่อยๆ มากๆ เข้า ดิฉันก็มีความสุขอยู่กับว่า สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ทุกขเวทนา เวทนาขันธ์ สติระลึกบ่อยๆ เข้าว่า ตัวดิฉันก็มีแต่ธาตุ แต่ขันธ์ ตัวของคนอื่นก็มีแต่ธาตุ แต่ขันธ์ ต่อมาดิฉันก็ระลึกได้ว่า เป็นเพราะกรรมอะไร เมื่อดิฉันยังไม่เคยประสงค์ร้ายต่อเขา ทำไมดิฉันจึงได้รับโทษอย่างนี้ พอดิฉันนึกย้อนหลังดู ก็พบว่าครั้งหนึ่งเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้วมา ดิฉันมีความยินดีมากที่เขานำหมาไปปล่อย และบัดนี้ก็เป็นวิบากที่ดิฉันได้รับ

    ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนา ที่ท่านผู้ฟังเห็นประโยชน์ของพระธรรม และระลึกได้ ในขณะที่ประสบกับอนิฏฐารมณ์ต่างๆ

    การที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ประสบกับอนิฏฐารมณ์ หรือว่าการพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่แม้กระนั้นก็ไม่มีใครจะรู้ชัดได้ว่า ผลที่ได้รับในขณะนี้เกิดจากเหตุอะไรในอดีต เพียงแต่ว่าจะระลึกได้ถึงกรรมที่ได้กระทำแล้ว และก็ทราบว่าย่อมให้ผล แต่ว่าจะให้ผลเมื่อไรในขณะใดนั้น ก็ยากที่จะรู้ได้ แต่ก็ทำให้มีความมั่นคงในการเชื่อในกรรมของตนเองยิ่งขึ้นว่า ไม่ว่าจะประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือว่าเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม ย่อมเกิดเพราะกรรมของตนเองทั้งสิ้น

    ถ้าท่านถูกใครหลอกลวงสักคนหนึ่ง และท่านก็โกรธแค้นผู้ที่มาหลอกลวงท่าน นั่นเป็นการเพิ่มอกุศลของตนเอง เพราะว่าไม่ได้รู้ความจริงว่า เป็นกรรมของท่านเองที่ทำให้คนนั้นมาหลอกลวงท่าน ทำไมเขาไม่หลอกลวงคนอื่น ถ้าเขาเป็นนักหลอกลวง เขาก็หลอกลวงไปเรื่อยๆ แต่ทำไมจึงต้องเป็นท่าน ถ้าท่านไม่ได้กระทำเหตุไว้ในอดีต เขาก็คงจะหลอกลวงคนอื่น คงไม่ถึงคราวของท่าน แต่เมื่อท่านได้ประสบกับเหตุการณ์อย่างนั้น ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงกรรมของท่านเองที่ได้กระทำแล้วว่า ท่านเองก็คงได้กระทำกรรมลักษณะอย่างนั้นมาแล้วในอดีต

    เพราะฉะนั้น ชีวิตในสังสารวัฏฏ์คงจะไม่พ้นไปจากการที่จะประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเหตุการณ์ที่ท่านผู้ฟังเล่าให้ฟัง ซึ่งเป็นชีวิตจริง และเข้าใจว่าไม่ได้เกิดกับท่านเพียงคนเดียว ไม่ว่าในเรื่องการปล่อยสุนัข หรือปล่อยแมว หรืออะไรก็ตาม ย่อมเกิดซ้ำไปซ้ำมากับคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง เหตุการณ์คล้ายคลึงกันอย่างเดียวกัน และผลของอกุศลกรรมที่ได้รับก็ในลักษณะเดียวกัน คือ ย่อมจะมีบุคคลที่เข้าใจผิดหรือว่ามุ่งร้าย คิดร้าย กระทำให้เกิดความเสียหายทางกาย และทางวาจาบ้าง

    เรื่องของการที่จะได้รับความเสียหายจากการกระทำของคนอื่น เป็นสิ่งซึ่งจะเตือนให้ระลึกถึงกรรมในอดีตของตนเองได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 4
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ