วินัยคฤหัสถ์ ตอนที่ 05


    อาจหาญ ที่จะไม่ให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอุปสรรค ซึ่งผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ยังไม่เห็นคุณประโยชน์ของการที่จะใช้เวลาให้มีค่า ก่อนนั้นท่านอาจจะเป็นคนที่เกียจคร้านบ้าง โดยการที่ว่า ลองศึกษาพิจารณาดูว่า ข้ออ้างในการที่ท่านย่อท้อต่อการงานนั้น เป็นไปในประการที่ว่าหนาวนักบ้างไหม สำหรับท่านที่กลัวหนาว หรือว่าไม่ชอบหนาว แต่สำหรับท่านที่กลัวร้อน ก็บอกว่าร้อนนักทำไม่ไหว แต่ว่าผู้ที่มีความอดทน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม หนาวก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ร้อนก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้เลย กำลังหนาว จะเปลี่ยนหนาวให้เป็นร้อนก็ไม่ได้ กำลังร้อน จะเปลี่ยนร้อนให้เป็นหนาวตามที่ต้องการก็ไม่ได้ เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง และก็รู้ว่าชีวิตที่มีประโยชน์ก็คือการไม่ย่อท้อต่อเหตุการณ์ทั้งปวง ถ้าเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่เห็นค่าของกาลเวลาที่ผ่านไป ท่านก็จะขาดประโยชน์ทั้งทางโลก และทางธรรมด้วย

    หรือว่าบางท่านก็อาจจะอ้างว่า เย็นแล้ว ไม่ทำการงาน มีไหมคะอย่างนี้ เรื่องเย็นแล้วนี่น่ะค่ะ จะค่ำแล้ว เย็นแล้ว ทำก็ไม่เสร็จ ทำก็ไม่ทัน

    นี่ก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าลองทำดูจะได้ประโยชน์มากจากการที่ไม่ย่อท้อ หรือไม่เกียจคร้าน ในขณะที่อ้างว่าเย็นแล้ว แล้วก็จะไม่ทำ เสียประโยชน์ไป แต่ถ้าจะลองทำดู จะได้ประโยชน์แล้วค่ะ จะเป็นการอ่านหนังสือธรรม หรือว่าจะเป็นประกอบการกุศลใดๆ ก็ตาม หรือว่าจะเป็นการทำสิ่งที่มีประโยชน์ ก็สามารถที่จะทำได้ โดยที่เป็นผู้ที่ไม่ย่อท้อ หรือบางท่านก็อาจจะอ้างว่า ยังเช้าอยู่ แต่ก็เช่นเดียวกันนะคะ ที่อ้างว่ายังเช้าอยู่ ถ้าท่านไม่เกียจคร้านในขณะที่ยังเช้าอยู่ ท่านจะทำประโยชน์จากเวลาที่ยังเช้าอยู่นั้นได้มากทีเดียว แต่การที่เป็นผู้ที่ตื่นเช้า ถ้าเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่เดือดร้อนเลยว่า ยังเช้าอยู่ ทันทีที่ตื่น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้ แล้วก็ยังจะสามารถที่จะเป็นประโยชน์ในทางโลก โดยเห็นว่า ได้มีเวลาเพิ่มขึ้นในวันนั้นอีกมาก เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ที่ตื่นเช้า โดยที่ว่าไม่คิดว่า เช้าเกินไปในการที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

    หรือบางท่านอาจจะอ้างว่า หิวนัก แล้วไม่ทำการงาน นี่ก็เช่นเดียวกันค่ะ ถ้าไม่เป็นผู้ที่เกียจคร้าน หิวเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าจะกระทำในระหว่างนั้นให้เสร็จ การงานที่คิดว่า จะพักไว้ก่อน ก็ยังเสร็จได้ นั่นเป็นผู้ที่ไม่ย่อท้อต่อความหิว

    หรือบางท่านอาจจะอ้างว่า กระหายนัก แล้วก็ไม่ทำอะไร ในขณะที่กระหายนัก ซึ่งในขณะนั้นผู้ที่ไม่ย่อท้อ ก็จะทำให้ประโยชน์ได้ แต่ผู้ที่เกียจคร้านก็จะเสียประโยชน์ไป

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    [๑๘๕] เพื่อนในโรงสุราก็มี เพื่อนกล่าวแต่ปากว่าเพื่อนๆ ก็มี ส่วนผู้ใดเป็นสหายในเมื่อความต้องการเกิดขึ้นแล้ว ผู้นั้นจัดว่าเป็นเพื่อนแท้

    เหตุ ๖ ประการ คือ การนอนสาย ๑ การเสพภรรยาผู้อื่น ๑ ความประสงค์ผูกเวร ๑ ความเป็นผู้ทำแต่สิ่งหาประโยชน์มิได้ ๑ มิตรชั่ว ๑ ความเป็นผู้ตระหนี่เหนียวแน่นนัก ๑ เหล่านี้ ย่อมกำจัดบุรุษเสียจากประโยชน์สุขที่จะพึงได้พึงถึง คนมีมิตรชั่ว มีเพื่อนชั่ว มีมรรยาท และการเที่ยวชั่ว ย่อมเสื่อมจากโลกทั้งสอง คือ จากโลกนี้ และจากโลกหน้า

    เหตุ ๖ ประการ คือ การพนัน และหญิง ๑ สุรา ๑ ฟ้อนรำขับร้อง ๑ นอนหลับในกลางวัน บำเรอตนในสมัยมิใช่การ ๑ มิตรชั่ว ๑ ความตระหนี่เหนียวแน่นนัก ๑ เหล่านี้ ย่อมกำจัดบุรุษเสียจากประโยชน์สุข ที่จะพึงได้พึงถึง

    ชนเหล่าใดเล่นการพนัน ดื่ม สุรา เสพหญิงภรรยาที่รักเสมอด้วยชีวิตของผู้อื่น คบแต่คนต่ำช้า และไม่คบหาคนที่มีความเจริญ ย่อมเสื่อมเพียงดังดวงจันทร์ในข้างแรม

    ผู้ใดดื่มสุรา ไม่มีทรัพย์ หาการงานทำเลี้ยงชีวิตมิได้ เป็นคนขี้เมา ปราศจากสิ่งเป็นประโยชน์ เขาจักจมลงสู่หนี้เหมือนก้อนหินจมน้ำ ฉะนั้น จักทำความอากูลแก่ตนทันที

    คนมักมีการนอนหลับในกลางวัน เกลียดชังการลุกขึ้นในกลางคืน เป็นนักเลงขี้เมาเป็นนิจ ไม่อาจครอบครองเหย้าเรือนให้ดีได้ ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยชายหนุ่มที่ละทิ้งการงาน ด้วยอ้างเลศว่า หนาวนัก ร้อนนัก เวลานี้เย็นเสียแล้ว ดังนี้เป็นต้น ส่วนผู้ใดไม่สำคัญความหนาว และความร้อนยิ่งไปกว่าหญ้า ทำกิจของบุรุษอยู่ ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุขเลย ฯ

    พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาความอดทนว่าเป็นสิ่งที่สมควร เพราะเหตุว่าแม้แต่หญ้าก็ยังทนต่อความหนาว ความร้อนได้ แล้วทำไมผู้ที่ต้องการประโยชน์ในการมีชีวิต จะไม่ทำสิ่งที่มีประโยชน์ โดยอ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก ตามข้อความที่ว่า ส่วนผู้ใดไม่สำคัญความหนาว และความร้อนยิ่งไปกว่าหญ้า ทำกิจของบุรุษอยู่ ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุขเลย

    ชีวิตที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมของคฤหัสถ์ จะปราศจากทำกิจการงานหรือภาระหน้าที่ต่างๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากทางโลก ที่จะเกื้อกูลให้เป็นผู้ที่สามารถประพฤติธรรมได้โดยสะดวกสบาย ก็ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท โดยการที่สิ่งใดที่เป็นโทษ ก็เห็นว่าเป็นโทษ แล้วละเสีย

    ซึ่งสิ่งนั้น ส่วนสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ เห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็ควรจะประพฤติตามสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้น ก็จะเป็นการประคับประคองชีวิตของคฤหัสถ์ ผู้ใคร่ต่อการที่จะดับกิเลสให้ถึงความดับทุกข์สิ้นกิเลสได้

    ถาม ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงว่า ผู้ที่เล่นการพนัน ผู้ที่ดื่มสุรา ก็จะไม่มีความสุขในชาตินี้ และชาติหน้า แต่คนที่เขากำลังเล่นการพนันก็ดี กำลังดื่มสุราก็ดี ขณะนั้นเขาถือว่าเขามีความสุขนี่ครับ แล้วทำไมพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่มีความสุขในชาตินี้ล่ะครับ

    ท่านอาจารย์ เล่นแล้วชนะทุกทีหรือคะ จะได้มีความสุขเสียทุกที

    ผู้ฟัง ขณะที่เล่นนะครับ ถ้าพูดถึงการพนันละก็ ผมเล่นแต่ละทีได้เป็นแสน ทรมานที่สุด ๓ วัน ๓ คืน คืนวันเสาร์ เล่นตลอดคืน คืนวันเสาร์นั้นรับประทานอาหารได้ แต่รุ่งเช้าวันอาทิตย์ ได้แต่ไข่ลวกบ้าง ข้าวต้มบ้าง เท่านั้นล่ะครับ แล้วก็ไปถึงกลางคืนวันอาทิตย์ ไม่ต้องกินอะไรอีก นอกจากน้ำ และบุหรี่ อย่างอื่นกินไม่ได้แล้ว เพราะตลอดคืนไม่ได้นอน มันทรมานที่สุดขณะที่เล่น แต่ผู้ที่เล่นเล็กๆ น้อยๆ สลึง ๒ สลึง เขาก็ถือว่าเขาเพลิดเพลินมีความสุขนี่ครับ

    ท่านอาจารย์ ก็ให้มากอย่างที่ว่าซิคะ จะได้ซาบซึ้งในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ว่าไม่ได้นำความสุขอะไรมาให้เลย แม้ในขณะที่เล่น จิตใจก็หวั่นไหว มีใครบ้างไหมคะที่อยากแพ้ ไม่มี ขณะนั้นเป็นสุขไหม ระหว่างที่ไม่อยากเป็นผู้แพ้ และกลัวว่าจะแพ้ กลัวต่อการที่จะสูญเสียทรัพย์ เพราะเหตุว่าไม่แน่ว่าจะได้ทรัพย์ หรือจะเสียทรัพย์ และนอกจากนั้น ถ้าเสียทรัพย์มากๆ เกิดเป็นหนี้ เป็นทุกข์ หรือเป็นสุข และถ้าเป็นเหตุให้ทำทุจริตกรรม ที่จะทำให้ชนะในการพนัน หรือว่าที่จะพ้นในทางทุจริต ก็ย่อมเป็นทุกข์ทั้งในชาตินี้ และในชาติหน้าด้วย เพราะเหตุว่าจะต้องได้รับผลของอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง ทางเสื่อมแห่งโภคะทั้ง ๖ ประการ ในครั้งสมัยก่อนนี้ ผมครบหมดทั้ง ๖ ประการ แล้วก็ในพระไตรปิฎกพระองค์ทรงแสดงถึงโทษ คงจะแสดงด้วยเป็นระเบียบกระมัง แท้ที่จริงมันมีกว่านั้น ตัวผมมีมากกว่านั้นครับ ไม่ใช่อย่างละ ๖ๆ มันมีกว่านั้นทั้งหมดละครับ ทุกอย่าง แต่ว่าเวลานี้ละหมดแล้ว เวลานี้เหลือแต่บุหรี่ บุหรี่นี้ก็ยังไม่เห็นโทษเท่าไร เห็นน่ะมันเห็นแล้ว ไปไหนมาไหนมันอีรุงตุงรัง ต้องพกบุหรี่ ต้องพกไฟแช็ก กระเป๋าเสื้อต้องมีใหญ่ๆ ถึง ๒ ใบ ถ้าไม่มีใหญ่ๆ ๒ ใบ ใส่ไม่ได้ เพราะต้องมีแว่นตาเอย บุหรี่เอย ไฟแช็กเอย สมุดเอย เต็มไปหมด ก็เห็นโทษมันเพียงเท่านี้ละครับ ส่วนโทษอื่นก็ยังมองไม่เห็นนัก เพราะฉะนั้น บุหรี่ยังเลิกไม่ได้ อื่นๆ นั้นเลิกไปหมดแล้ว แต่การที่จะเลิกได้นั้น มันไม่ใช่ตั้งใจว่าจะเลิก ที่มันเลิกได้ก็เพราะเห็นโทษของมัน ในเมื่อเห็นโทษของมันแล้ว ก็พยายามละ ทีแรกก็ยังละไม่ได้ แต่ต้องใช้เวลา การพนันเลิกมาปีนี้เห็นจะเป็นปีที่ ๓ พวกเพื่อนๆ ก็น่าอัศจรรย์ เอ เล่นถึงขนาดนี้ แล้วมันเลิกได้จริงๆ หรือ บางทีไม่แน่ใจตัวเอง ลองไปสักทีน่ะ ไปลองดูซิว่าจะเล่นหรือไม่เล่น พอไปถึงเพื่อนชวนเอาจริงๆ มันไม่ได้ชวนจริงๆ แต่จะดูซิว่า มันจะแน่ขนาดไหน มันพยายามแช่ง พยายามด่า พยายามจูง พยามยามชวน ทีแรกๆ เล่นอีก ไม่แน่ใจตัวเอง ไปอีกๆ ๆ ทีนี้เลิกจริงๆ ชวนยังไงก็ไม่เอา ผมคิดว่า เวลานี้คงจะเลิกเด็ดขาด หนังนี่ดูเหมือนกัน ๑๐ ปีแล้วดูเรื่องเดียว คือ เห้งเจีย ที่โอเดียน จำได้เลย ทางเสื่อมแห่งโภคะทั้ง ๖ ประการนี้ ไม่ได้ตั้งใจเลยว่าจะเลิก ทีนี้ถ้าเจริญสติปัฏฐาน ปัญญามันเกิด มันรู้คุณรู้โทษ เห็นว่าอ้ายนี่มันเป็นโทษ มันก็เลยละของมันเอง พยายามละ ทีแรกๆ ยังไงก็ยังละเด็ดขาดไม่ได้ ต้องให้เวลามัน มันติดมาเสียแล้ว เห็นว่ามันเป็นโทษก็พยายามละ วันหนึ่งมันก็ละได้ครับ ไม่ใช่ว่าละเดี๋ยวนั้น จะให้มันเลิกเดี๋ยวนี้เลย เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เรื่องทางเสื่อมแห่งโภคะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้นั้น ถ้าผู้ใดเจริญสติ อบรมเจริญปัญญาแล้ว มันละได้เด็ดขาดจริงๆ ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านผู้ฟังซึ่งยังละไม่ได้ เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เรื่องที่จะละหรือไม่ละ ไม่ต้องคิดไว้ก่อนเลย แต่ว่าเมื่อปัญญาเกิดขึ้น ก็จะทำกิจของปัญญา โดยการที่จะละคลายอัธยาศัยในทางอกุศล และน้อมไปสู่อัธยาศัยของพระอริยเจ้าเพิ่มขึ้น

    ถาม ผมก็สงสัยเหมือนกันว่า ลอตเตอรี่กับสนามม้า เราจะหาทางยังไงดี ที่ว่าจะให้ปลดเปลื้องสองอย่างนี้ออกไป จะเอาพระไตรปิฎกไปบอกเขา หรือจะเอานรกไปขู่เขา เขาไม่เห็นด้วย เราจะมีหนทางอะไรไปทำให้หยุดยั้งลอตเตอรี่ และสนามม้าได้บ้าง พอจะบอกทางได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องทำอะไรกับเขาหรอกค่ะ กับเราคนเดียวก็พอ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งหมดสำหรับให้พิจารณาสภาพธรรมที่ท่านเองสะสมมา เพราะว่าบุคคลอื่นไม่สามารถจะไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขท่านได้ ฉันใด ท่านก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงบุคคลอื่นได้ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมเพิ่มขึ้น และเห็นคุณค่าของพระธรรม แล้วก็น้อมมาประพฤติปฏิบัติตาม ท่านก็จะได้รับประโยชน์จากพระธรรม โดยที่ว่าไม่สามารถจะไปบังคับบัญชา ไปเปลี่ยนแปลงตามใจชอบ แต่จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น

    ถาม สิงคาลกสูตรที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับสิงคาลกอุบาสก คือธรรมที่พระองค์ทรงแสดงกับอุบาสก กับธรรมที่พระองค์ทรงแสดงกับพระภิกษุนั้น กระผมก็เห็นว่า มีจุดประสงค์ที่ต่างกัน เช่น การดื่มสุรา พระองค์ทรงแสดงไว้ในสูตรอื่นๆ ว่า เป็นการทำให้เกิดความประมาท การดูมหรสพต่างๆ ก็ดี พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่า เป็นข้าศึกต่อกุศลธรรม แต่ในสูตรนี้พระองค์ทรงมุ่งว่า จะทำให้เสื่อมโภคะ เสื่อมโภคสมบัติ เพราะฉะนั้น ผมก็สงสัยว่า ในเมื่อคฤหัสถ์ดื่มสุราแล้ว จะไม่มีความประมาทอย่างนั้นหรือ หรือไงครับ

    ท่านอาจารย์ ประมาททั้งหมดค่ะ ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต

    ผู้ฟัง แล้วทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง แต่ทรงแสดงว่า เป็นการเสื่อมทรัพย์

    ท่านอาจารย์ การเสื่อมทรัพย์นั่นแหละค่ะ ประมาทมากทีเดียว ที่ให้ทรัพย์เสื่อมไป

    ถาม แล้วการดูมหรสพ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่าเป็นข้าศึก ทีนี้ถ้าคฤหัสถ์ไปดูมหรสพ ก็ทรงแสดงว่า เสื่อมทรัพย์อีกเหมือนกัน ทีนี้มันไม่เป็นข้าศึกหรือไงครับ

    ท่านอาจารย์ สำหรับพระภิกษุเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ต่อการประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลส ในเพศของสมณะ

    ผู้ฟัง และถ้าคฤหัสถ์ไปดูมหรสพ แล้วไม่เป็นข้าศึกหรือไงครับ

    ท่านอาจารย์ ชีวิตของคฤหัสถ์ต่างกับบรรพชิต คฤหัสถ์ก็ไม่ใช่บรรพชิต บรรพชิตไม่ใช่คฤหัสถ์ กิเลสที่มีนี่ต่างกัน ทำให้ชีวิตต่างกันเป็น ๒ เพศ

    ผู้ฟัง กระผมก็สงสัยว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับพระภิกษุ ทรงแสดงกับคฤหัสถ์นั้นจุดมุ่งหมายมันต่างกัน ทำไมจึงต่างกันอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเจตนาของการขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต ไม่ใช่เป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลสในเพศของคฤหัสถ์ค่ะ เพศต่างกันตามกิเลสที่มี ตามการสะสมที่มี

    ผู้ฟัง อาจารย์ว่าถูกแล้ว บรรพชิตน่ะเขาเรียกว่าเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ พูดกันง่ายๆ อย่างไม่เกรงใจ พรหมจรรย์ คือ ประพฤติอย่างพรหม พรหมไม่มีลูก มีเมีย ฆราวาสมีลูกมีเมีย มันคนละเรื่อง ท่านเทศน์ เฉพาะเรื่องเฉพาะราย บางอย่างคำสอน ของพระองค์เฉพาะเรื่อง บางทีก็เฉพาะราย

    เพราะฉะนั้น ฆราวาสไม่ได้ห้ามไม่ให้มีลูกมีเมีย ไม่ได้ประพฤติตนอย่างพรหม พระท่านก็ว่าไปอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคท่านห้ามไม่ให้กินข้าวเย็น หรือในเวลาวิกาล ฆราวาสห้ามหรือเปล่า มันคนละเรื่อง คนละราว รวมความแล้วในที่สุดมันก็อย่าง อาจารย์ว่าละครับ อปฺปมาทเทน สมฺปาเทถ นี่มันเป็นอย่างอาจารย์ว่า รอยเท้าสัตว์ทั้งหลายน่ะ รอยเท้าช้างเป็นใหญ่ที่สุด ไดโนเสาร์ผมก็ไม่เห็นหรอก สมัยพระผู้มีพระภาคท่านว่ารอยเท้าช้างใหญ่ที่สุด ฉันใด ธรรมทั้งหลาย อัปปมาทธรรม นะเหมือนธรรมทุกๆ อย่าง มารวมอยู่ในอัปปมาทธรรมที่อาจารย์ว่าเมื่อกี้นี้ ก็ถูกต้องครับ

    ท่านอาจารย์ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคแสดงทั้งหมด เพื่อความไม่ประมาททั้งทางโลก และทางธรรม เพื่อที่จะประคับประคองชีวิตให้ไปสู่จุดประสงค์ คือ การดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้โดยไม่ยาก เพราะเหตุว่าถ้าชีวิตยังคลุกเคล้ากับทางเสื่อม ก็ยากเหลือเกิน ที่จะให้เจริญทางฝ่ายกุศล ที่สามารถที่จะเกิดปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ถ้าขัดเกลากิเลส แล้วก็เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ไม่ให้ชีวิตต้องถึงความเสื่อมในทางโลก ก็จะเกื้อกูลต่อการที่จะสามารถดับกิเลสได้

    ข้อความต่อไปพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของการคบมิตร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าในชีวิตของแต่ละท่านนี่เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะอยู่ลำพังผู้เดียว เพราะฉะนั้น ท่านจะเห็นได้ว่า มิตรสหายย่อมเป็นส่วนหรือว่าเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่จะทำให้ชีวิตของท่านเป็นไปในทางกุศล หรือในทางอกุศลมากน้อยเพียงไร

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ว่าด้วยคนเทียมมิตร ๔

    [๑๘๖] ดูกรคฤหบดีบุตร คน ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ คนนำสิ่งของๆ เพื่อนไปถ่ายเดียว [คนปอกลอก] ๑ คนดีแต่พูด ๑ คนหัวประจบ ๑ คนชักชวนในทางฉิบหาย ๑ ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร ฯ

    แล้วพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเพื่อที่จะพิจารณาตัวท่านด้วย เพราะฉะนั้น นอกจากจะคิดถึงบุคคลอื่น ซึ่งเป็นมิตรสหายที่ท่านคบหาสมาคม ท่านก็ควรจะ พิจารณาว่าสภาพของจิตใจที่ยังมีกิเลสของท่าน ทำให้ท่านเป็นมิตรประเภทหนึ่งประเภทใดในมิตรเหล่านี้บ้างหรือไม่ ข้อความต่อไปพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    [๑๘๗] ดูกรคฤหบดีบุตร คนปอกลอก ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ คือ เป็นคนคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๑ เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก ๑ ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย ๑ คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว ๑ ดูกรคฤหบดีบุตร คนปอกลอก ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตรเป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ

    เพื่อนมีมาก แต่เพื่อประเภทใดจัดว่าเป็นคนปอกลอก ก็คือเป็นคนที่คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ในการที่เป็นผู้คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ก็ยังจะต้องมีวิธีการว่าทำอย่างไรจะเป็นผู้ได้ ถ้าไม่เสียเสียเลย อาจจะไม่ได้อะไรเลย เพราะฉะนั้น ประเภทหนึ่งก็คือที่เป็นมิตรปอกลอก คือ เสียให้น้อย คิดเอาให้ได้มาก

    ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย

    อันนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วนะคะ คบคนอื่นเพื่อประโยชน์ตนเท่านั้น ซึ่งลักษณะประการหนึ่ง ซึ่งแสดงเห็นชัดถึงคนซึ่งเป็นคนปอกลอก ซึ่งเป็นแต่เพียงคนเทียมมิตร คือ คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว ๑

    นี่เป็นชีวิตในสังคม ในชีวิตประจำวันซึ่งท่านจะพิสูจน์ได้ว่า บุคคลใดเป็นมิตรประเภทใด โดยที่ว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น เพื่อนบางคนที่เป็นมิตรแท้ ก็จะรับทำกิจทุกอย่างให้ แต่ว่าผู้ที่เป็นแต่คนเทียมมิตร ไม่ยอมที่จะรับทำกิจใดๆ ให้เลย

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    [๑๘๘] ดูกรคฤหบดีบุตร คนดีแต่พูด ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร โดยสถาน ๔ คือ เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย ๑ อ้างเอาของที่ยังไม่มาถึงมาปราศรัย ๑ สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๑ เมื่อกิจเกิดขึ้นแสดงความขัดข้อง [ออกปากพึ่งมิได้] ๑

    ดูกรคฤหบดีบุตร คนดีแต่พูด ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตรโดยสถาน ๔ เหล่านี้แล ฯ

    คนที่พูดมากๆ มีไหมคะ ที่เป็นเพื่อนกัน สนทนากัน บางคนก็มีลักษณะของการพูดต่างๆ กันไป แต่คนที่ไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร ปากหวาน คือดีแต่พูด

    ลักษณะของคนที่ดีแต่พูดซึ่งเป็นคนเทียมมิตร ก็คือชอบเก็บเอาของที่ล่วงแล้วมาปราศรัย เช่นของที่พูดถึงที่หวังจะให้ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น แต่เป็นสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่เฉพาะหน้า แต่ว่าอ้างถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว และไม่ได้ให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลนั้นเลย นี่ก็ลักษณะหนึ่งนะคะ บางท่านอาจจะไม่พูดถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว แต่อ้างเอาของที่ยังมาไม่ถึงมาปราศรัย ปีนี้จะเป็นอย่างนั้นจะได้ประโยชน์อย่างนี้ จะได้ลาภอย่างนั้น จะแบ่งปันให้อย่างโน้น แต่ว่ายังไม่เกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่อ้างเอาของที่ยังไม่มาถึงมาปราศรัย แต่ว่าถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ลองดูน้ำใจนิดซิคะว่า จะเป็นอย่างที่เคยปราศรัยไว้บ้างไหม นั่นก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงลักษณะของผู้ที่ดีแต่พูด คือเป็นผู้ที่ไม่ใช่มิตร แต่เป็นคนเทียมมิตร แต่ข้อสำคัญก็คือว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่ใช่เพื่อให้พิจารณาบุคคลอื่น ที่จะเป็นผู้เลือกคบบุคคลซึ่งเป็นประโยชน์ แต่ควรที่ท่านจะพิจารณาตนเองด้วย ว่ายังมีกิเลส ยังมีอกุศลสะสมมาที่จะเป็นบุคคลที่พูดหวานๆ พูดเพราะๆ แล้วก็พูดปราศรัยโดยที่น้ำใจจริงๆ หาได้เป็นอย่างนั้นไม่ ถ้าท่านสะสมมาที่จะเป็นบุคคลอย่างนี้ แล้วสติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่าขณะนั้นน่ะ เป็นคำพูดที่เกิดขึ้นเพราะการสะสมมา ซึ่งจะเป็นผู้ที่ปากหวาน หรือดีแต่พูด จะได้รู้ว่าขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะอกุศลจิต ซึ่งปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นอกุศลที่สะสมมาว่าเป็นโทษที่ท่านควรจะต้องละ ควรจะต้องขัดเกลา ปัญญาที่เห็นโทษของอกุศลของตนเองที่สะสมมา จะทำให้ท่านละคลายการที่เป็นบุคคลผู้ดีแต่พูด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 4
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ