แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1676


    ครั้งที่ ๑๖๗๖


    สาระสำคัญ

    ใช้สติไม่ได้ (สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยความอนัตตา)

    ขณะคิดไม่ใช่ขณะที่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์

    ขณะที่สติเกิดต่างกับขณะที่หลงลืมสติ

    ปรมัตถธรรมไม่ใช่บัญญัติ

    สติปัฏฐานกั้นกระแสของอกุศล


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๐


    เวลานี้ก็มีสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่ไม่ปรากฏกับอวิชชา อวิชชาไม่สามารถ รู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตาและดับไป และก็มีการรู้เสียงทางหูและดับไป มีการคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา มีการคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางหู สลับกันเกิดดับอย่างเร็วจนปรากฏรวมกัน แต่เมื่อเป็นวิปัสสนาญาณ เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่จะประจักษ์แจ้ง สภาพธรรมก็ปรากฏตามความเป็นจริง ทางมโนทวาร ไม่มีข้อสงสัยเลยว่ามโนทวารคืออย่างไร ต่างกับปัญจทวารอย่างไร ซึ่งก่อนที่จะเป็นวิปัสสนาญาณจะต้องสงสัยลักษณะของมโนทวารเพราะว่าไม่ปรากฏ มีแต่เห็นอย่างนี้ มโนทวารอยู่ที่ไหน

    สำหรับผู้ที่แม้ว่าจะได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าจะใช้คำ ก็ควรใช้ให้ถูกต้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานไม่คลาดเคลื่อน เช่น ไม่ควรใช้คำว่า ใช้สติ ซึ่งบางคนอาจจะได้ยินบ่อยๆ และบางท่านก็บอกว่า เป็นคำพูดที่ติดปากเท่านั้นเอง แต่ความจริงแล้วการใช้คำพูดใดๆ ก็ตามย่อมแสดงถึงความเข้าใจว่า ยังมีข้อที่คลาดเคลื่อนหรือเปล่า เพราะไม่มีใครใช้สติได้ เพียงแต่ว่า สามารถที่จะเกิดสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นก็เป็นขณะที่มีสติ ส่วนขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็หลงลืมสติ

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าเป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานมามาก และเป็นผู้ที่กำลังเริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ตาม แต่การได้ฟังเรื่องของการเจริญ สติปัฏฐานบ่อยขึ้น ย่อมเป็นทางทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมพร้อมกับขณะที่สติระลึกได้ละเอียดขึ้น เช่น ถ้าสังเกตจะรู้ว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขณะนั้นเป็นขณะที่เริ่มรู้ว่า ขณะที่คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งวันนั้น ไม่ใช่ในขณะที่มีสภาพปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์

    นี่เป็นสิ่งซึ่งจะต้องพูดถึงบ่อยๆ เพราะว่าทุกคนคิดมากทุกวัน แต่ขณะใด ก็ตามที่กำลังคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่มีลักษณะของปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ตรวจสอบ รู้จักตนเองตามความเป็นจริงได้ว่า มีการ รู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าขณะที่กำลังคิด ขณะนั้น ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ และวันหนึ่งๆ ก็คิดมาก แม้ในขณะนี้เองก็พิสูจน์ได้ว่า กำลังมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ หรือกำลังคิดเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง

    วันหนึ่งๆ บางเรื่องที่คิดก็สั้น บางเรื่องที่คิดก็ยาว และคิดวันก่อนก็ยังไม่จบ ยังต่ออีก วันรุ่งขึ้นก็ยังคิดอีก และวันต่อๆ ไปเรื่องเดียวกันนั้นก็ยังไม่จบอีก อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ยาวแต่เฉพาะในวันหนึ่ง แต่ยาวต่อไปทั้งอาทิตย์ หรือยาวต่อไปทั้งปี ทั้งชาติก็เป็นได้ และจะเห็นได้จริงๆ ว่า ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นความ คิดนึกจะปิดบังไม่ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ

    ขณะนี้ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน และกำลังฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานด้วย ย่อมมีโอกาสมีปัจจัยที่สติจะเกิดระลึกได้ในขณะที่กำลังฟังนี้เอง ระลึกลักษณะ ของปรมัตถธรรมสลับกับความคิดนึกก็ได้ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้นระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แม้เพียงเล็กน้อยก็รู้ว่าปรมัตถธรรมกำลังสลับกับความคิดนึก เช่น ทางตาที่กำลังเห็น เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ขณะใดที่สติเกิดก็ระลึกศึกษาว่า ขณะนี้เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และบางคนอาจจะรู้สึกว่า หลับตาก็สบายดีเวลาที่ฟังพระธรรม เพราะว่าไม่จำเป็นต้องมองดูสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ใช่ว่ามีเจตนาให้หลับเพื่อจะได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมชัดเจน ไม่ใช่อย่างนั้น ซึ่งการที่ใครจะพักสายตา และฟังพระธรรม ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ อาจจะลืมตาและอาจจะหลับตา สลับกันก็ได้

    ขณะใดที่เห็นขณะนั้นระลึกว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และขณะที่ได้ยิน ก็เปลี่ยนจากลักษณะที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง อีกทางหนึ่ง ในขณะที่กำลังฟังนี้เอง สติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดและหมดไป ในขณะที่ได้ยินเสียง เป็นอีกขณะหนึ่ง อีกสภาพธรรมหนึ่ง

    ในขณะนี้ก็มีทั้งเห็นและได้ยิน พิจารณาได้ สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏสลับกันในขณะนี้ได้ตามความเป็นจริง

    แต่ทุกคนต้องรู้ขณะที่สติเกิด กับขณะที่หลงลืมสติว่า เป็นขณะที่ต่างกัน ขณะที่หลงลืมสติจะไม่มีการสังเกตรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเป็นโลภะ ความไวจะทำให้ระลึกได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังสังเกตศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ขณะที่เป็นโลภะ ขณะนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ เป็นปรมัถตอารมณ์หรือ เป็นบัญญัติอารมณ์ ขณะที่กำลังชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็พอที่จะสังเกตได้ เพื่อที่จะคลายการยึดถือสิ่งที่ปรากฏด้วยการรู้แจ้งว่า อารมณ์ในขณะนั้นเป็นอะไร ที่กำลังชอบ ที่กำลังพอใจ

    หรือขณะที่กำลังโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่ชอบ ขณะนั้นรู้หรือเปล่าว่า กำลังโกรธบัญญัติ เพียงแต่นึกถึงชื่อของบางคนก็อาจจะหงุดหงิด ขณะนั้นไม่มีปรมัตถธรรม ไม่มีคนจริงๆ ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงเรื่องราวที่คิดขึ้นเกี่ยวกับความทรงจำว่า เป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ ในขณะนั้นไม่ได้รู้ตัวเลยว่า โกรธบัญญัติ ไม่ได้มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ หรือแม้แต่ในขณะที่กระทำทานกุศล ขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ขณะนั้นก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะที่วิรัติทุจริต หรือขณะที่จิตสงบก็ตาม ขณะใดที่สติไม่เกิดไม่ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ขณะนั้น มีบัญญัติเป็นอารมณ์ทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น บัญญัติในวันหนึ่งๆ ปิดบังไม่ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ตามความเป็นจริง ขณะใดที่สติเกิดเท่านั้นที่จะค่อยๆ เริ่มศึกษารู้ลักษณะของ ปรมัตถธรรมว่า ไม่ใช่บัญญัติที่เคยคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แต่เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะ ซึ่งจะต้องศึกษา สังเกต พิจารณาจนกว่าจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

    มีท่านผู้หนึ่งท่านถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่ากุศลจิต ผ่องใส ไม่กังวล ไม่หนักเพราะว่าโสมนัสเวทนา ความรู้สึกที่เป็นสุข สบายใจ ก็เกิดได้ทั้งกับจิตที่เป็นโลภมูลจิต หรือจิตที่เป็นมหากุศลจิต เพียงความรู้สึกสบายและดีใจปลาบปลื้ม จะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นกุศล เป็นสภาพที่ผ่องใสปราศจากโลภะ เป็นสภาพที่ไม่กังวล ไม่หนัก

    ในขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่มีสติ พิสูจน์ได้แล้วใช่ไหมว่าต่างกัน หลายคนคงเคยมีเรื่องที่วิตกกังวลห่วงใย กลุ้มใจ ทั้งๆ ที่ทางตาก็เห็นสิ่งที่ไม่น่าจะ ต้องเดือดร้อนเลย ทางหูก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏกระทบให้ได้ยิน แต่ทำไมความคิดนึกปรุงแต่งจนกระทั่งเป็นความกลุ้มใจ เป็นห่วง เป็นกังวล แต่สติเกิดขณะใดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงชั่วขณะ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้นและก็หมดไป ถ้าระลึกรู้อย่างนี้จริงๆ ความวิตก ความห่วงใย ความกังวลนั้นก็รู้ได้ว่าเป็นการวิตกห่วงใยที่เสียเปล่า เพราะว่าสิ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้น คือ ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่เป็นห่วง และสิ่งนั้นที่จะเกิดหรือไม่เกิด ย่อมมีปัจจัยพร้อมที่จะให้เกิดหรือไม่เกิด แต่ความคิดนึกก็ยังคงทิ้งไม่ได้ ยังคงคิดไปต่างๆ นานา เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานเกิดขณะใด ขณะนั้นกั้นกระแสของอกุศลทุกอย่าง

    ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด อาจจะระลึกลักษณะของสภาพที่เป็นความต้องการ ทุกขณะ ไม่ว่าจะเดินเพื่อกระทำกิจการงานอย่างหนึ่งอย่างใด จะเป็นการออก กำลังกาย หรือเป็นการอ่านหนังสือพิมพ์ หรือดูโทรทัศน์ หรือทำอะไรก็แล้วแต่ จะเห็นได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพที่ต้องการ เพราะฉะนั้น เริ่มที่จะรู้ว่า ตลอดชีวิต ส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความต้องการทั้งสิ้น

    นี่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งค่อยๆ รู้ทีละลักษณะ ลักษณะของความต้องการ คือ ในขณะที่เอื้อมมือไป ในขณะที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ล้วนแล้วเป็นสภาพของจิตที่ต้องการในขณะนั้น การเคลื่อนไหวอย่างนั้นจึงมีได้ แต่ขณะที่เป็นกุศล สภาพของจิตแม้ว่าจะกระทำกิจของกุศลก็ต่างกัน แต่กุศลจิตเกิดน้อยมาก และมีอกุศลแทรกคั้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการกุศลใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้สังเกตว่า กุศลเจตนาเกิดส่วนน้อย หลังจากนั้นก็เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง ที่ขัดขวางได้

    อย่างบางท่านบอกว่า ท่านกำลังฟังเทปธรรม และกำลังอัดเทปธรรม ก็มีคนโทรศัพท์มา ท่านกำลังฟังเพลินๆ และกำลังเข้าใจดีด้วย แต่ก็มีผู้ที่โทรศัพท์มา ท่านก็หงุดหงิด นั่นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงว่า กุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ ซึ่งเราคงจะไม่ได้สังเกตเลยว่าเป็นจริงอย่างนั้น แต่ให้ทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน แม้แต่ขณะที่กำลังเป็นกุศล ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ และถ้าสติเกิดจะระลึกรู้ว่า ขณะที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง และขณะที่เป็นอกุศล สภาพของจิตก็เปลี่ยนเป็นอีกลักษณะหนึ่ง

    สังเกตอย่างนี้ก็ได้ ขณะใดที่ปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ ปราศโมหะ ขณะนั้นสบาย แต่ขณะใดที่กำลังเป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ ขณะนั้นสภาพธรรมจะ ไม่สบายเลย ลักษณะของโทสมูลจิตเห็นง่าย แต่ลักษณะของโลภมูลจิตซึ่งกำลังพอใจต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอาจจะปิดบังไม่ให้เห็นว่าเป็นสภาพที่หนัก และเป็นสภาพที่ไม่ ผ่องใส แต่ถ้าเปรียบเทียบกับขณะที่ปราศจากโลภะ แทนที่จะต้องการ แทนที่จะพอใจ ก็เป็นความที่ไม่ต้องการในสิ่งนั้น ไม่ติดในสิ่งนั้น ซึ่งจะทำให้เห็นว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่เบาและผ่องใสได้

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของอกุศลจิตกับกุศลจิตในวันหนึ่งๆ ที่จะรู้ความ ต่างกันได้ ก็โดยสติเกิดขึ้นสังเกตลักษณะของสภาพธรรม และเริ่มรู้ลักษณะของ สภาพธรรมแต่ละอย่าง เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้น และต้องอบรมเจริญไป เพราะว่า ในขั้นแรกต้องระลึกศึกษาลักษณะที่เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่งและไม่ใช่สภาพรู้อีกอย่างหนึ่งก่อน โดยไม่ต้องไปกังวลว่า นี่เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นสภาพธรรม ประเภทไหน มีชื่อว่าอะไร รู้แต่เพียงลักษณะที่ต่างกันโดยเป็นสภาพรู้กับไม่ใช่สภาพรู้ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ชัดในขั้นต้น จนกว่าจะถึงการประจักษ์แจ้งโดยนามรูปปริจเฉทญาณ

    ถ. ความนึกคิดยาวนานที่อาจารย์พูดถึง ช่างเป็นความจริงเหลือเกิน บางทีเป็นเดือน เป็นสัปดาห์ แต่เป็นปีไม่เคย ผมไม่เคยคิดยาวถึงขนาดนั้น และเรื่องที่คิดยาวๆ ก็มีความละอายไม่กล้าเอามาเปิดเผยในที่นี้ คิดจริงๆ อยากจะเป็นโน่นเป็นนี่ คิดจนถึงขนาดอยากจะเป็นวุฒิสมาชิก เป็นรัฐมนตรี เมื่อได้มาฟังเรื่องสติปัฏฐาน มีความเข้าใจพอสมควร ก็ระลึกได้ว่า นี่หรือความคิดที่เรากำลังคิดนึกซึ่งเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แต่กำลังที่สะสมไว้ยังไม่พอ ก็อยากคิดอีก ทั้งๆ ที่รู้ว่า นั่นเป็นคิดนึก ก็อยากคิดอีก เพราะว่าสนุกดี ผมอยากได้คำแนะนำจากอาจารย์ เมื่อเราได้สติแค่นี้ และเริ่มรู้แล้วว่า นี่คือความคิดนึก ไม่ใช่สติปัฏฐาน สติปัฏฐานไม่เกิด แต่เรื่องที่คิดนั้นก็ช่างสนุกดี อย่างที่เรียนแล้วว่าเป็นสัปดาห์ บางทีเกือบจะถึงเดือน

    สุ. ตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครสามารถยับยั้งความคิด ถ้ายังมีโลภะอยู่ ก็ติดในความคิดเรื่องที่เป็นสุขหรือว่าเรื่องที่พอใจ แสวงหาอยู่ตลอดเวลา บางท่าน เวลาได้ยินคำว่า โลภะ ท่านหวั่นกลัวเหลือเกิน ทำอย่างนี้ก็เป็นโลภะ ทำอย่างนั้น ก็โลภะ แต่ความจริงแล้วเป็นตัวจริงๆ เป็นสภาพธรรมจริงๆ ยังมีโลภะอยู่ตราบใด ก็ต้องเป็นอาการอย่างนั้นอยู่ เพียงแต่ว่าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เท่านั้นเอง แม้จะเป็นเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยสั้นๆ แม้เพียงขณะนี้ กระทบสัมผัสแข็งในขณะที่กำลังฟัง ในขณะที่กำลังเห็น จะระลึกลักษณะที่ตรงแข็ง นิดหนึ่งก็ยังรู้ว่า ขณะนั้นไม่มีอย่างอื่น มีแต่เพียงสภาพธรรมขณะนั้น ก็ยังเป็นหนทางที่จะทำให้สติค่อยๆ เจริญขึ้นได้

    . เป็นกามฉันทะอย่างหนึ่ง ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน ก็เป็นเรื่องของชื่อ แต่ลักษณะจริงๆ เป็นความพอใจ ความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และในการคิดนึกเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้น แม้สติที่เกิดเพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ควรประมาท และจะต้องรู้ว่า เป็นปกติ เป็นธรรมดาอย่างนี้ ไม่ต้องไปพยายามให้มีมากๆ เพื่อที่จะให้ปัญญารู้ชัดเร็วๆ แต่ในขณะปกติธรรมดาอย่างนี้ เริ่มสังเกต เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด แม้ในขณะที่กำลังฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน

    เป็นไปได้ไหมที่จะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่จะรู้ว่า บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม ในขณะนี้กำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ จนกว่าสติจะเกิดระลึกลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรม ขณะนั้นจึงจะมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๘ ตอนที่ ๑๖๗๑ – ๑๖๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    28 ธ.ค. 2564