แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1633


    ครั้งที่ ๑๖๓๓


    สาระสำคัญ

    การเจริญสมถภาวนา

    ระลึกทันที แล้วระลึกอีก (อย่าหาวิธีอื่นทำให้สติเกิด)

    หัวใจของการเจริญสติปัฏฐาน

    มัชฌิมาปฏิปทา


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๐


    สุ. ขณะให้ทานเป็นกุศลหรือเปล่า

    ถ. ให้ทานย่อมเป็นกุศล

    สุ. ขณะนั้นสงบไหม

    ถ. สงบ

    สุ. เพราะขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีกิเลสใดๆ ใช่ไหม ขณะที่วิรัติทุจริต ขณะนั้นสงบไหม ขณะที่วิรัติทุจริตเป็นกุศลหรือเปล่า

    ถ. วิรัติทุจริต อาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

    สุ. ขณะที่เว้นการฆ่าสัตว์ ขณะที่มีสัตว์ปรากฏเฉพาะหน้า และไม่มีเจตนาที่จะฆ่า มีเจตนาที่จะวิรัติการฆ่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า

    ถ. ถ้าเรามีเจตนาฆ่า แต่ยังไม่ลงมือ อกุศลเริ่มเกิด คิดฆ่าด้วย อกุศลย่อมเกิดแน่

    สุ. ขณะที่ฆ่าต้องเป็นอกุศล ขณะที่ไม่ฆ่า วิรัติคือเว้น ไม่ฆ่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ถ. เป็นกุศล แต่ถ้าจิตใจยังคิดฆ่าอยู่ ...

    สุ. ใจยังคิดฆ่า แต่ไม่ฆ่า เพราะเหตุใด

    ถ. เพราะเหตุการณ์ปกปิดเอาไว้

    สุ. และเว้นที่จะไม่ฆ่าบ้างไหม หรือว่ายังคิดฆ่าอยู่

    ถ. ถ้าเขามีเจตนาเว้น ก็คงจะไม่ฆ่า

    สุ. ขณะที่มีความตั้งใจหรือคิดที่จะฆ่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ยังไม่ฆ่า แต่คิดจะฆ่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ถ. ถ้ากิริยายังไม่เกิด จิตยังไม่เป็นไปในอารมณ์ เจตนาไม่เกิดขึ้น ...

    สุ. อยากจะฆ่า ตั้งใจจะฆ่า คิดจะฆ่า เป็นอกุศลหรือเป็นกุศล

    ถ. เป็นอกุศล

    สุ. คิดที่จะไม่ฆ่า เปลี่ยนความคิดเป็นไม่ฆ่า เว้นการฆ่า เป็นกุศลหรืเปล่า

    ถ. เป็นกุศล

    สุ. สงบไหม

    ถ. สงบ

    สุ. เพราะฉะนั้น สงบต้องเป็นกุศลประการหนึ่งประการใด ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล หรือไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล เพียงแต่คิดถึงคนอื่นด้วยความหวังดี ปรารถนาดี เกื้อกูล เป็นมิตร หวังประโยชน์ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ถ. เป็นกุศล

    สุ. ขณะนั้นสงบไหม

    ถ. สงบ

    สุ. เพราะฉะนั้น สงบต้องเป็นกุศล สมถะ คือ สงบ คือ สงบด้วยกุศลจิต

    ถ. สมถกัมมัฏฐานหมายความว่าอย่างไร

    สุ. หมายความว่า สงบจากอกุศลเล็กๆ น้อยๆ สั้นมาก ขณะคิดที่จะให้ เป็นทานกุศล เพียงชั่วไม่กี่ขณะอกุศลก็เกิดสลับ ขณะที่วิรัตทุจริต ก็เพียงชั่วขณะที่มีสิ่งที่จะให้วิรัติปรากฏเฉพาะหน้า หลังจากนั้นก็เป็นไปในโลภะ โทสะ โมหะ เป็นอกุศลได้

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ สงบน้อยมาก เวลาคิดถึงใครก็ด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ซึ่งขณะนั้นก็ไม่สงบ แต่ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจิตซึ่งเกิดเร็ว ชำนาญ สะสมมามาก ไม่ว่าจะตาเห็นสิ่งที่น่าพอใจก็ชอบแล้ว เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็โกรธแล้ว ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลซึ่งมีมากมายในวันหนึ่งๆ จึงเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่ใครก็ตามไปนั่งจ้องที่หนึ่งที่ใดให้จิตไม่วอกแวกไปที่อื่นและจะเป็นกุศล นั่นไม่ใช่ แต่ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล และเริ่มเจริญกุศลมากขึ้นในชีวิตประจำวัน

    วันหนึ่งๆ ที่จะให้กุศลเกิดได้มีอะไรบ้าง ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ เป็นกุศลหรือเปล่า

    ถ. เข้าใจเป็นกุศล

    สุ. สงบไหมขณะนั้น

    ถ. สงบ

    สุ. ถ้ามากขึ้นๆ ระลึกถึงพระธรรมเนืองๆ จิตผ่องใสสงบขึ้นๆ แทนที่จะคิดเรื่องอื่น ขณะนั้นเป็นธัมมานุสสติได้ไหม

    ถ. ได้

    สุ. นั่นเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้จิตสงบ โดยเป็นกุศล

    ถ. ธัมมานุสสติเป็นหนึ่งในสมถกัมมัฏฐานหรือเปล่า

    สุ. ถูกต้อง เป็นสมถภาวนา

    ถ. ส่วนวิปัสสนาที่อาจารย์กล่าวว่า แนะแนวทางวิปัสสนา

    สุ. เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพื่อดับความเห็นผิดที่ยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ มีบุคคล มีวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเที่ยง ไม่ดับ

    ถ. คำว่า มีเรา คือ เข้าใจว่า ธาตุลมเป็นเรา ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ เป็นเรา ใช่ไหม

    สุ. ทั้งนามและรูป ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน

    ถ. บุคคลที่จะเจริญปัญญาในพระธรรมวินัยนี้ จะเจริญให้เห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน พึงเจริญธาตุ ๔ ใช่ไหม

    สุ. สติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่แต่เฉพาะธาตุ ๔ ปัญญาจะต้องเจริญจนกระทั่งละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่า เป็นเรา หรือเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงไม่เกิดดับเลย จนกว่าจะประจักษ์แจ้งสภาพที่เกิดขึ้นและดับไป

    ถ. สติมีกี่อย่าง ที่อาจารย์กล่าวว่า สติทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สติเป็น ๖ หรือว่าสติอย่างเดียว

    สุ. เป็นสติปัฏฐาน ถ้าระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามความเป็นจริง

    ถ. สมมติว่า สติเกิดทางจักขุทวารทางหนึ่ง จนถึงหู จนถึงใจ และสติ ทางทวารนั้นๆ เกิดสืบต่อกันอย่างนี้ จะชื่อว่าเป็นสติเดียว หรือสติเป็น ๖ อย่าง ๖ ทวาร หรือรวมชื่อว่าสติเดียว หรือเป็นสักแต่ว่าสติ

    สุ. ได้แก่ สติเจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นชั่วขณะและดับพร้อมกับจิตที่เกิด แล้วแต่ว่าจะระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์อะไร ทางไหน

    ถ. ถ้าสติจะเกิด เกิดขึ้นที่ไหนมากที่สุด ที่จะควบคุมกายไว้ได้ ควบคุมจิตใจไว้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ปรารถนาให้เกิด เพราะอาจารย์ย้ำว่า ไม่ต้องปรารถนา แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    สุ. ต้องระวังเรื่องความต้องการ อย่าหาวิธีอื่นที่จะทำให้สติเกิด วิธีเดียวที่สติจะเกิดบ่อยขึ้น คือ ระลึกทันที และระลึกอีก เริ่มอีก ปรารภอีก นั่นคือบ่อย ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น

    ถ. ผมเห็นเส้นผมกองอยู่บนพื้นเวลาตัดผม ผมเห็นเป็นของน่าเกลียด คือ ระลึกว่าเป็นของปฏิกูล เป็นของไม่สะอาด และผมรังเกียจ ประกอบไว้เนืองๆ อย่างนี้จะเป็นสติไหม

    สุ. ขณะนั้นรู้สึกสงบไหม

    ถ. สงบ

    สุ. ถ้าขณะนั้นสงบ ก็เป็นสมถภาวนา

    ถ. เป็นกายคตาสติ ใช่ไหม

    สุ. จะใช้ชื่ออย่างนั้นก็ได้

    ถ. ขอบพระคุณ

    สุ. เป็นชีวิตประจำวันแท้ๆ ซึ่งทุกท่านต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ท่านระลึกไปในทางสมถะ หรือท่านระลึกเป็นสติปัฏฐาน ถ้าระลึกถึงความตาย แต่ไม่ได้ระลึกลักษณะของจิต หรือนามธรรม หรือรูปธรรมในขณะนั้น ซึ่งการระลึกถึงความตายทำให้ละความติด ความพอใจ ความปรารถนาในขณะนั้นได้ชั่วขณะ ขณะนั้นก็เป็นสมถภาวนา

    ถ. สมถภาวนาเป็นกุศลไหม

    สุ. ต้องเป็นสมถภาวนาจริงๆ คือ ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ จึงเป็นสมถภาวนา

    กุศลสงบจริง แต่กุศลมี ๒ ประเภท ถ้าเป็นกามาวจร คือ กุศลที่เป็นไปใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ บางขณะประกอบด้วยปัญญา บางขณะ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เช่น ขณะที่ให้ทาน ส่วนใหญ่จะพิจารณาได้ว่า ประกอบด้วยปัญญาไหม ขณะที่วิรัตทุจริต ขณะนั้นก็พิจารณาได้ว่า ประกอบด้วยปัญญาไหม ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถรู้แทนได้ ต้องบุคคลนั้นเองเป็นผู้รู้ว่า ขณะที่จิตสงบหรือ เป็นกุศลแต่ละประเภทนั้น มีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า

    ถ. ผู้ปฏิบัติอาจจะไม่ทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศล

    สุ. อย่างนั้นไม่ใช่สมถภาวนา ถ้าเป็นกุศลขั้นภาวนาต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา เจริญภาวนาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา นี่เป็นข้อที่ต่างกัน

    เพราะฉะนั้น อย่าใช้คำว่า สมถภาวนา หรือสมาธิ หรือสงบง่ายๆ แต่จะต้องพิจารณาให้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ถ้าเป็นความสงบที่จะต้องสงบขึ้นๆ จนกระทั่งประกอบด้วยลักษณะของความสงบที่เป็นสมาธิขั้นต่างๆ แล้ว ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ คือ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    ถ. ที่อาจารย์ไม่แนะนำให้ทำสมถภาวนา ก็ด้วยเหตุผลนี้ ใช่ไหม

    สุ. ยากที่ใครจะเจริญสมถภาวนา เพราะว่าต้องเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่อง สมถภาวนาโดยถูกต้องก่อน ถ้าใครเพียงได้ยินคำว่า สงบ ได้ยินคำว่า สมาธิ และอยากจะทำสมาธิ โดยไม่รู้ว่า สงบต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ไม่สามารถเจริญสมถภาวนาได้ เพียงโดยการทำตามๆ กัน โดยที่ปัญญาไม่เกิด และไม่รู้เลยว่าสมถภาวนาคืออย่างไร

    ถ. สงบนี้ คือ โมหะ ใช่ไหม

    สุ. โมหะไม่สงบ แต่เข้าใจว่าสงบ เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะไปนั่งทำสมาธิ และปัญญาไม่เกิด ไม่ใช่สมถภาวนาแน่นอน

    ถ. ผมได้สนทนาธรรมกับเพื่อนที่ได้ศึกษาพระธรรมด้วยกัน เขาบอกว่า อาจารย์สุจินต์สอนแต่ปริยัติ ไม่ได้สอนปฏิบัติ ซึ่งผมก็พยายามชี้แจงว่า อาจารย์สอนปฏิบัติตลอดเวลา คือ อาจารย์พยายามแนะนำให้เข้าใจในการประพฤติปฏิบัติ ในเรื่องสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา ซึ่งเมื่อก่อนนี้ผมก็คิดว่า การปฏิบัตินั้นจะต้องไปนั่งสมาธิ จะต้องงดเว้นการเที่ยวเตร่ ดูหนังดูละครต่างๆ แต่จากการที่ได้ฟังอาจารย์ทีละเล็กทีละน้อยๆ เกือบ ๔ ปี ผมจึงเข้าใจว่า ปฏิบัตินั้นคืออย่างไร

    วันนี้ที่อาจารย์บอกว่า ถ้าสวดมนต์แล้วสติเกิดบ่อยๆ ถ้าเราติด เราก็สวดมนต์เพื่อให้สติเกิดบ่อยๆ อย่างนั้นไม่ถูกต้อง เป็นการติด เป็นโลภะอย่างหนึ่ง ซึ่งขณะที่ชี้แจงหรือแนะนำอย่างนี้ ก็เป็นการให้รู้ว่า สิ่งๆ นั้นเป็นโลภะ ไม่ควรประพฤติปฏิบัติ ถ้าหากทุกคนมีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเลิกประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น นั่นคือ เป็นการปฏิบัติไปในตัว ใช่ไหม

    สุ. ใช่ คือ ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า ขณะที่สวดมนต์ เป็นการระลึกถึงพระพุทธคุณ เป็นกิจวัตรประจำวันของพุทธบริษัท แต่ไม่ใช่ด้วยความมุ่งหวังว่า ขณะนั้นอยากจะให้สติเกิด นั่นเป็นการหวัง การรอ ไม่ใช่การระลึกทันที

    เพราะฉะนั้น หัวใจของการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่อื่นเลย ไม่ต้องไปหาวิธีอื่น นอกจากระลึกทันที ถ้าใครจะบอกวิธีอื่นทั้งหมดให้ทราบว่า นั่นผิดเพี้ยนไปแล้ว ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะยังอาศัยวิธีการต่างๆ ติดยึดในข้อปฏิบัติอย่างนั้น แทนที่จะเป็นการละโดยการรู้ว่า สติเป็นอนัตตา และถ้าสติเกิดในขณะที่ สวดมนต์ และขณะอื่นล่ะ ถ้าเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ต้องเป็นใน ขณะเห็น โดยที่ไม่ใช่สวดมนต์ ในขณะที่ทำกิจการงาน ในขณะที่กำลังสนุกสนาน ในขณะที่กำลังมีชีวิตตามปกติประจำวันจริงๆ และสติเกิด จึงเป็นการอบรมเจริญ สติปัฏฐาน

    ถ. ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น เป็นการขัดเกลาทีละเล็กทีละน้อย ผมเองเมื่อมาฟังอาจารย์บ่อยๆ ก็พยายามเปิดเทปฟังเรื่อยๆ และขณะที่ฟังเทปนั้นรู้สึกว่า สติในขั้นการฟังเกิดขึ้นบ่อยๆ มีความติดความพอใจ ก็พยายามฟังวันละ ๑๐ - ๒๐ ชั่วโมง หลับบ้างตื่นบ้าง ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน ก็ขอให้หูได้ยินเสียง ต่อมาเมื่อ มีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยแล้วก็รู้ว่า การกระทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง แต่ที่ผมเป็นห่วงหนักหนา คือ ตัวเองหลอกตัวเอง สมมติว่าคืนไหนเกิดฟุ้งซ่านนอนไม่หลับก็คิดว่า จะนำเทปอาจารย์สุจินต์มาเปิดและให้หลับพร้อมกับเทปที่จะจบ ในขณะที่คิดอย่างนั้น สติก็เกิดว่า อย่างนี้เป็นโลภะหรือเปล่า แต่ตัวเองก็หลอกตัวเองว่า ไม่ใช่ นี่เป็นศรัทธาหรือเป็นวิริยะซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น ถ้าผมมาเรียนถาม อาจารย์ก็ต้องบอกว่า ทุกคนต้องรู้เอง แต่ลักษณะอย่างนี้จะพิจารณาได้ไหมว่า ขณะที่ฟุ้งซ่านนอนไม่หลับ ในขณะที่หยิบเทปเปิด สติก็เกิดระลึกว่า กำลังติด เป็นโลภะแล้ว นอนไม่หลับจะต้องเปิดเทป แต่สติก็เกิดขึ้นอีกว่า นี่เป็นวิริยะ เป็นศรัทธา ผมไม่ทราบว่าจะตัดสินอย่างไร

    สุ. นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนจะเห็นความรวดเร็วซึ่งเกิดดับสลับกันของกุศล และอกุศล ถ้าโดยปัจจัยที่ได้ศึกษา มีปัจจัยหนึ่ง คือ อุปนิสสยปัจจัย กุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ และอกุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้ คิดดู ในขณะที่นอน ไม่หลับและอยากจะหลับ ชั่วขณะที่อยาก เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล นี่คือความที่จะต้องเป็นผู้ตรง ตอนที่อยาก เป็นกุศลหรืออกุศล

    ถ. เป็นอกุศล

    สุ. แต่ถ้าคิดว่า ไม่หลับ ฟังธรรมจะมีประโยชน์กว่า คือ คิดว่า การที่ มีชีวิตอยู่และไม่หลับ แทนที่จะไม่หลับโดยเปล่าประโยชน์ หรือโดยความกังวล หรือโดยความอยากจะหลับ หรือโดยความวุ่นวายใจ ก็เป็นการที่ว่า เมื่อไม่หลับแล้ว ก็ทำสิ่งที่มีประโยชน์ คือ ฟังธรรมเพื่อจะได้เข้าใจ ซึ่งผลพลอยได้ก็เกิดขึ้น คือ หลับ

    ฟังๆ ไป ก็หลับ มีใครบ้างที่จะไม่หลับ เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง บางท่านอาจจะฟังและเพลินไป ก็ไม่หลับ นั่นก็เป็นโดยเหตุปัจจัยอื่นๆ หรือบางท่านพอฟังปุ๊บก็อาจจะหลับไปเลยก็ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ในขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล คือ อยากจะหลับ หรืออยากจะเข้าใจ อยากจะมีชีวิตที่มีประโยชน์ แม้ไม่หลับก็ได้สิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่าหลับ

    โดยมากตอนแรกๆ ทุกคนอยากจะหลับ เวลาที่ไม่หลับบางคนก็ทานยา นอนหลับ นั่นสำหรับผู้ที่ยังไม่มีวิธีอื่น บางคนฟังธรรมแล้วหลับ ก็เลยฟังธรรมให้หลับ แต่จะสังเกตได้ว่า ผู้ที่อยากจะหลับ ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลแน่ๆ แต่เวลาที่ปัญญาเกิดมากๆ แม้ไม่หลับยิ่งกว่านั้นก็ยอม เพื่อที่จะได้สิ่งที่เป็นประโยชน์กว่านั้น

    เพราะฉะนั้น บางคนนอนหลับเพียงไม่กี่ชั่วโมง ตื่นขึ้นมาสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที เป็นประโยชน์แล้ว ถือโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ จากสิ่งที่ประเสริฐกว่าการหลับ โดยการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องห่วงเรื่องจะเสียสุขภาพ เพราะจิตตชรูปที่เกิดจากกุศลย่อมดีกว่าจิตตชรูปที่เกิดจากอกุศล

    บางคนกลัวว่า หน้าตาจะไม่แช่มชื่นผ่องใส เพราะอดหลับอดนอน ก็อยาก จะหลับ ขณะนั้นมีจิตตชรูปที่เกิดเพราะอกุศล บางคนเห็นว่า อกุศลทำให้หน้าตา ผ่องใส สนุกสนานร่าเริง นั่นก็เป็นเรื่องของความพอใจในทางโลก แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นจิตตชรูปที่เกิดจากกุศลจะมีประโยชน์กว่ามาก แม้แต่รูปก็จะปรากฏความ ไม่กังวล นี่เป็นเรื่องซึ่งต้องแล้วแต่การเห็นประโยชน์ เพราะว่าเมื่อยังเป็นผู้ที่มีกิเลสมากก็อยากจะหลับ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่ถ้าได้ฟังพระธรรมมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ไม่หลับก็ไม่เดือดร้อน ถ้ามีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม หรือมีโอกาสที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม

    นี่เป็นเรื่องความละเอียดของจิต ซึ่งต้องอาศัยปัญญาที่พิจารณาโดยละเอียดรอบคอบถี่ถ้วนถึงขณะที่อกุศลเกิดสลับกับกุศล ที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น มัชฌิมาปฏิปทาเป็นสิ่งที่ยากมาก ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้ที่ตึงหรือหย่อน แต่ผู้ที่จะดำเนินทางสายกลางได้ คือ รู้ประโยชน์ของสติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐานขณะใด ขณะนั้นจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มิฉะนั้นแล้วบางท่านก็ถามว่า ต้องนอนกี่ชั่วโมง หรือต้องเจริญสติปัฏฐานเท่าไร หรืออะไรอย่างนั้น ซึ่งนั่นไม่ใช่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง จิตเกิดดับสลับกัน อย่างที่อาจารย์พูดถูกต้องแล้ว จากที่ได้คุยกับ ผู้สนทนาธรรมหรือสหายธรรมทั้งหลาย อยากจะมีสติเร็วและมีมากๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ ไม่ถูก ต้องใช้วิธีอบรมไปทีละเล็กทีละน้อย เหมือนการจับด้ามมีด การฟังพระธรรมควรมนสิการให้ถูกต้องว่า ฟังเพื่อความเข้าใจ ซึ่งในขณะนั้นจิตเกิดดับสลับกัน ถึงแม้อยากจะนอน ก็เอาธรรมมาฟัง ขณะที่ฟังธรรมและเข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศล จะเกิดสลับกันอย่างนี้เอง เพราะฉะนั้น ฟังธรรมไว้เป็นกำไร ผมคิดว่า ฟังตะลุยต่อไป อย่าท้อแท้ ดีกว่าเลิกฟังไปเลย

    สุ. ข้อสำคัญ อย่าคิดว่ามีวิธีอื่น นอกจากระลึกทันที นี่เป็นหัวใจของ การเจริญสติปัฏฐาน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๔ ตอนที่ ๑๖๓๑ – ๑๖๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    28 ธ.ค. 2564