แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1644


    ครั้งที่ ๑๖๔๔


    สาระสำคัญ

    ศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ (แล้วแต่สติจะระลึก)

    วิปลาส ๓

    พระธรรมทำให้ความรักความชังลดน้อยลง

    คุณของมารดาบิดา

    คลายความรัก แต่เจริญเมตตา


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๓๐


    . สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ที่สติเกิดระลึกรู้ที่ลักษณะทั้ง ๔ อย่างนี้ เวลาที่ สติเกิดจริงๆ ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเหมือนกันทั้งหมด ใช่ไหม

    สุ. ทีละทาง ทีละทวาร เพราะว่าสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้ว่าไม่แสดงโดยนิเทศ คือ โดยละเอียด เพียงโดยอุเทศ คือ โดยหัวข้อว่า กาย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็เป็นเครื่องที่จะให้สติระลึกเพราะยึดถือว่า เป็นร่างกายของเรา และเวทนา ความรู้สึก ก็มีอยู่ตลอดเวลา แต่ก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่สติจะระลึกได้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จิตก็มีมากมายหลายประเภท เห็นก็เป็นจิต ชนิดหนึ่ง ได้ยินก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง คิดนึกก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น เป็น สภาพธรรมควรที่สติจะระลึก เพื่อรู้ในความไม่ใช่ตัวตน ความเกิดขึ้นและดับไป

    และธรรมทั้งหลาย คือ สิ่งที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ เวลาที่สติเกิด จะไม่มีความเป็นตัวตนทั้งก้อนทั้งแท่งที่เป็นเรา เช่น ไม่มีการนึกถึงตั้งแต่ศีรษะ ตลอดเท้า ในขณะที่กำลังเห็น จะมีแต่เพียงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏกับจิตเห็น สภาพที่กำลังเห็นเท่านั้น ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงก็ไม่ไปนึกจำถึงศีรษะตลอดเท้าเอาไว้ และไม่ต้องนึกถึงโสตปสาทว่าอยู่ตรงนั้นตรงนี้ด้วย เพราะว่าเป็นแต่เพียงความคิด ไม่ใช่การรู้ลักษณะของรูปนั้นจริงๆ ในขณะนี้ที่กำลังได้ยินเสียง เสียงมีแน่นอน เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งปรากฏกับจิต คือ สภาพธรรมที่กำลังรู้เสียง

    เพราะฉะนั้น ที่ไม่ใช่ตัวตน คือ ไม่มีเรา ไม่มีรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่มีอย่างอื่นเลย ชั่วขณะที่ได้ยินนั้นเป็นสภาพธรรมที่เพียงรู้เสียงที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สติที่จะตัดความเป็นตัวตนออกได้ ก็โดยการที่ศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละทาง

    . เวลาสติระลึกลักษณะของรูปธรรม ถ้าเป็น ๗ รูปทางปัญจทวาร สติเกิดระลึกที่รูปธรรมใดรูปธรรมหนึ่ง โยนิโสมนสิการที่เกิดขึ้นท่านแสดงว่า บางครั้งอาจจะน้อมไปในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ บางครั้งจะน้อมไปในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ ผมยังไม่เข้าใจความแยบคายในเรื่องนี้

    สุ. ถ้าใช้คำอย่างนี้ รู้สึกว่าจะเป็นวิชาการ คือ ยังน้อมไปที่กาย หรือ ที่เวทนา หรือที่จิต หรือที่ธรรม แต่ความจริงแล้วสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก

    ในขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ ถ้าเป็นทางตา เป็นสติปัฏฐานไหน ไม่จำเป็นต้องมาคิด ใช่ไหม เพราะจะต้องอยู่ในสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใดใน ๔

    สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วแต่ว่าจะเป็นการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เคยยึดถือว่าเป็นส่วนของกาย หรือว่าไม่ใช่ส่วนของกาย ใช่ไหม ก็ไม่ใช่การที่เราจะต้องคิดว่า เราจะน้อมไปที่สติปัฏฐานไหน เพียงแต่ให้ทราบว่า การที่โลกจะปรากฏได้ ต้องอาศัยตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑ และสภาพธรรมที่ปรากฏที่เห็น สภาพที่เห็น ก็ดับเร็ว สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับเร็ว เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องคิดถึงอย่างอื่น หรือเลือกอะไรเลย ศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วแต่สติจะระลึก

    เช่น ในขณะนี้เอง แข็งมีปรากฏ เห็นมีปรากฏ ได้ยินมีปรากฏ เสียงมีปรากฏ แล้วแต่สติ จะเกิดสลับกันก็ได้ อย่างแข็งที่กำลังปรากฏ เล็กน้อยมากจริงๆ ผู้ที่เคยยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นเรา แต่เวลาที่กำลังพิจารณาลักษณะของส่วนที่แข็งที่กำลังปรากฏจะเห็นได้เลยว่า ส่วนอื่นไม่ปรากฏ เป็นแต่เพียงความทรงจำว่ายังมีกายของเรา แต่ความจริงแล้วไม่มี คือ ย่อตัวเองให้เล็กลงๆ เพื่อที่จะได้ไม่เป็นเรา หรือไม่เป็นตัวตนของเรา เป็นแต่เพียงรูปชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏเพียงชั่วขณะที่กระทบเท่านั้น อย่างถ้าจะกระทบแข็งที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น หมายความว่าย่อลงมาจนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือแล้ว เป็นแต่เพียงรูปนั้นเท่านั้นที่เกิดแล้วปรากฏ แค่นั้นเอง จะเป็นเราได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น จึงย่อทั้งนามและรูปทั้งหมดซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนให้เหลือเพียงส่วนที่ปรากฏเท่านั้นเอง ซึ่งจะต้องเป็นส่วนที่เล็กน้อยมาก

    . หมายความว่า เราไม่สามารถกำหนดว่า สติปัฏฐานที่เกิดขึ้นขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานชนิดใด และไม่มีประโยชน์ด้วย ใช่ไหม

    สุ. ไม่จำเป็น เพราะว่าการที่ทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทุกอย่างเป็นสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใดใน ๔ สติปัฏฐาน และไม่ต้องกังวลเลย

    . อัตตสัญญา สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ยังคงมีหลงเหลืออยู่ไหม

    สุ. หมายความอย่างไร

    . ในพระไตรปิฎก บางครั้งท่านที่เป็นพระโสดาบันแล้ว เป็น พระสกทาคามีแล้ว ตอนที่พระองค์ทรงแสดงธรรมให้เป็นพระอนาคามี ทรงแสดงเรื่องขันธ์ ๕ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา ผมจึงสงสัยว่า ถ้าพระโสดาบันดับสักกายทิฏฐิได้แล้ว อัตตสัญญาที่ว่าเป็นเรายังคงเหลืออยู่ไหม

    สุ. จะต้องพิจารณาตามลำดับ เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทรงแสดงโดยละเอียด เนื่องจากการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ลึกและละเอียดมาก มิฉะนั้นแล้วคงไม่ต้องทรงแสดงโดยละเอียดถึงอย่างนี้

    แม้แต่ในเรื่องของวิปลาส ๓ ที่คุณณรงค์กำลังกล่าวถึงนี้ คงจะหมายความถึงวิปลาส ๓ คือ สัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปลาส ๑ ในวัตถุที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง ๑ ในวัตถุที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในวัตถุที่ไม่ใช่ตนคือไม่ใช่อัตตาว่าเป็นอัตตา ๑ ในวัตถุที่ไม่งามว่างาม ๑

    ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการละวิปลาสทั้ง ๓ ควรที่จะพิจารณาว่า เป็นจริงอย่างนี้ไหมในชีวิตประจำวัน คือ นอกจากจะมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนแล้ว สภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิกก็วิปลาสไปด้วย แม้แต่จิตในขณะที่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ ก็เป็นจิตตวิปลาส และ สัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตในขณะนั้นที่มีความเห็นผิด ก็เป็นสัญญาวิปลาส จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งดับกิเลสเป็นลำดับ และดับวิปลาสไปตามลำดับด้วย

    สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และศึกษา สังเกต จนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะที่ไม่เที่ยง ที่เกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม จนกระทั่งวิปัสสนาญาณเกิดตามลำดับสามารถละคลายความพอใจในสังขารธรรมและน้อมไปสู่พระนิพพาน ประจักษ์แจ้งพระนิพพานด้วยโลกุตตรจิต คือ โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้น ดับสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ที่เห็นว่าเที่ยงในธรรมอันไม่เที่ยง และที่เห็นว่าเป็นตน ในธรรมที่ไม่ใช่ตน คือ ดับความเห็นผิดซึ่งเกิดกับโลภมูลจิต ๔ ดวง ซึ่งในขณะที่ความเห็นผิดเกิดขึ้นเป็นทิฏฐิวิปลาส มีสัญญาวิปลาส มีจิตตวิปลาสด้วย เพราะฉะนั้น โสตาปัตติมรรคจิตดับวิปลาสทั้ง ๓ ที่เกิดร่วมกัน ทำให้ไม่เกิดอีกเลย

    แสดงให้เห็นว่า ยากจริงๆ ถ้าไม่รู้ถึงสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมโดยละเอียดว่า แม้แต่ทิฏฐิวิปลาสเกิดขึ้น สัญญาก็วิปลาสด้วย จิตก็วิปลาสด้วยในธรรม ๔ ประการนั้น

    สำหรับพระโสดาบันบุคคล เมื่อดับทิฏฐิวิปลาส ก็ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเกิดขึ้น แม้ว่าไม่มีทิฏฐิวิปลาส แต่ก็ยังมีสัญญาวิปลาสและจิตวิปลาสในขณะที่โลภมูลจิตเกิด แสดงให้เห็นว่า ยังมีความวิปลาสอยู่ แม้ว่าจะดับทิฏฐิแล้ว แต่ก็ยังมีสัญญาวิปลาสและจิตวิปลาสในธรรมที่ ไม่งามว่างามสำหรับพระโสดาบันและพระสกทาคามี ต่อเมื่อใดอบรมเจริญปัญญา จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอนาคามี ดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เมื่อนั้นก็ดับสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในสิ่งที่ไม่งามว่างามได้

    สำหรับพระอนาคามีบุคคล ยังมีสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสอยู่ ต่อเมื่อใด ได้อบรมเจริญปัญญาจนถึงการบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันต์ จึงดับสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในธรรมที่เป็นทุกข์แต่เห็นว่าเป็นสุข

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่มีแต่ ทิฏฐิวิปลาสเท่านั้น ขณะใดที่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้ว่าขณะนั้นไม่ได้มีมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมด้วย แต่จิตเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ขณะใด ขณะนั้นก็เป็นสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส

    . พระโสดาบันละวิปลาสทั้ง ๓ ได้ แต่ท่านยังละโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ไม่ได้ วิปลาสที่เกิดกับอกุศลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ท่านไม่สำคัญผิดว่า มีสัตว์ มีบุคคล มีตัว มีตน มีเรา มีเขา อย่างนี้ใช่ไหม

    สุ. ดับหมดแล้ว เพียงแต่ยังสำคัญว่างามในสิ่งที่ไม่งาม

    . แต่ไม่ได้เห็นผิดเหมือนปุถุชนว่า ยังมีสัตว์ มีบุคคล มีตัวตน มีเรา มีเขา ที่เป็นของเที่ยง ของแน่นอน ไม่มีแล้ว

    สุ. ไม่มีเลย โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ไม่เกิดกับพระโสดาบันบุคคลเลย

    . หมายความว่า ตราบใดที่กิเลสยังไม่หมด เมื่อกิเลสเกิด พระอริยบุคคลที่ยังละกิเลสส่วนนั้นไม่ได้ ก็ยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สำคัญผิดได้เหมือนกัน

    การศึกษาธรรม เราจะมุ่งหวังให้สติเกิด ผมว่าไม่ถูก ถ้าเราตั้งใจศึกษาธรรมให้มีความเข้าใจถูกต้องตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ ให้มีความรู้ความเข้าใจ เพิ่มมากขึ้น ผมว่าเรื่องสติไม่ควรจะเป็นห่วง อย่างนี้จะเป็นการถูกต้องหรือเปล่า

    สุ. เป็นการถูกต้อง เพราะว่าเมื่อมีเหตุที่สมควรเมื่อไร ผลที่สมควรก็เกิด ไม่ต้องคอย และไม่ต้องหวัง เป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับตนตาม ความเป็นจริง แล้วแต่สติจะระลึกเมื่อไร ก็รู้ว่าสภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ต้องไปทำอย่างอื่นเลย

    เคยสังเกตไหมว่า พระธรรมทำให้ความรักความชังลดน้อยลง หรือว่ายังเลย ความรักความชังในสัตว์ ในบุคคล ในญาติ ในมิตรสหาย ถ้ายังไม่ละคลายลงไปบ้าง ก็เท่ากับว่าใจยังไม่คล้อยไปในการเข้าใจและเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    การที่จะรู้ผลของธรรมที่ได้ฟัง มีได้หลายประการ นอกจากจะรู้ว่าสติปัฏฐานเกิดบ้างไหม ยังจะพิจารณาตนเองได้บ้างว่า สติขั้นอื่นๆ เกิดเพิ่มขึ้นบ้างไหม หรือแม้แต่ขั้นความสงบของจิต ความเมตตาเกิดเพิ่มขึ้นบ้างไหม ความรักความชัง ในบุคคลทั้งหลายลดลงไปบ้างไหม

    ถ. พูดถึงความรักความชังลดลงไปบ้างไหม อย่างเวลานี้ถ้ามารดา ถึงแก่กรรมลงไป ความรักก็คงจะไม่มีเท่าไร เพราะท่านก็ชรามากแล้ว ก็รู้สึกเฉยๆ คงจะไม่รู้สึกเสียใจเท่าไร แต่ถ้าลูกตายลงไปในขณะนี้ ความรักความชังก็คงจะไม่ไหว ทำไมถึงต่างกันอย่างนี้ ทั้งๆ ที่เป็นสัตว์เป็นบุคคลเหมือนกัน

    สุ. ตามความเป็นจริง ถ้าเป็นปัญญาที่ถูกต้องจะรู้ว่า ผู้ที่เป็นมารดา หรือผู้ที่เป็นบุตร ก็เป็นเพียงชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้นเอง เพราะว่าเมื่อผู้ที่เป็นมารดาสิ้นชีวิตลง น่าใจหายไหมที่จะไม่มีบุคคลผู้นั้นอีกเลย ไม่ว่าในโลกไหนๆ ทั้งสิ้น คือสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนั้นโดยแท้จริง โดยสิ้นเชิง และผู้ที่เป็นบุตรก็เหมือนกัน ถ้าสิ้นชีวิตลงในขณะใด จะไม่มีบุคคลนั้นซึ่งเคยเป็นบุตร ซึ่งเคยเป็นที่รักอีกเลย ไม่ว่าในโลกไหนทั้งนั้น เพราะว่ากรรมจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นบุคคลใหม่ เพราะฉะนั้น จะกลับไปหามารดาบิดาก็ดี หรือบุตรธิดาซึ่งเป็นที่รักก็ดี ไม่ได้เลย ถ้าเริ่มรู้ความจริงตั้งแต่ตอนนี้จะทำให้คลายความรักความชัง แต่เพิ่มความกตัญญู ความรู้คุณซึ่งท่านมีอุปการะเพิ่มขึ้น

    ระหว่างมารดากับบุตร ใครมีอุปการคุณมากกว่า

    . บุพพการีต้องมีมากกว่า

    สุ. ถ้าคิดอย่างนี้ กุศลจิตย่อมเกิด ไม่ต้องมีความรักในท่านทั้งสอง เพราะว่าความรักเป็นอกุศล แต่มีความเมตตา มีความหวังดี มีการที่จะมีปฏิการะ คือ การตอบแทนพระคุณของท่านซึ่งได้มีคุณต่อ

    เพราะฉะนั้น ความรู้สึกที่มีต่อมารดาบิดาที่ประกอบด้วยปัญญาจะเปลี่ยนไปจากการผูกพันด้วยความรัก เป็นความกตัญญูที่เพิ่มขึ้น และจะทำให้เกิดกุศลจิตที่ใคร่จะกระทำทุกอย่างเพื่อท่าน ที่ได้เป็นผู้มีคุณต่อตนตั้งแต่เด็กจนโต และจะได้เกิดกุศล ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง คือ คลายความรัก แต่เจริญเมตตา และเป็นผู้มี ความกตัญญู หรือพรหมวิหารกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกันในชีวิต ซึ่งตามความเป็นจริง น่าใจหายจริงๆ ไม่ว่าใครก็ตามที่จากโลกนี้ไปโดยสถานใด ไม่ว่าจะโดยเคยเป็นมารดาบิดา ก็จะไม่มีอีกแล้ว มีแต่พระคุณที่ท่านผู้นั้นได้เคยกระทำ เพราะฉะนั้น จิตจะไม่มีความผูกพันเยื่อใยที่จะทำให้เกิดความเศร้าหมอง แต่จะทำให้เกิดการทำกุศลและอุทิศส่วนกุศลให้ท่านอนุโมทนา

    ต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอนในวันหนึ่ง และถ้าคิดได้ รู้สภาพความจริงตั้งแต่ ในขณะนี้ว่า แท้ที่จริงแล้วไม่ต้องคอยจนถึงสิ้นชีวิต แม้ในขณะนี้ก็ไม่มีทั้งเราทั้งเขา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไปเท่านั้นเอง แต่มีความสัมพันธ์กันโดยฐานะของความเป็นญาติ โดยฐานะของความเป็นมิตรสหาย และเมตตาไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะในระหว่างญาติและมิตรสหาย ถ้าเป็นกุศลแล้ว ต้องทั่วไปในสัตว์บุคคลทั้งปวง

    ผู้ฟัง พูดถึงมารดา ผมมีวิบากที่คงจะไม่เหมือนใคร ผมอยู่กับมารดาได้แค่ ๕ – ๖ ขวบ มารดาก็แยกออกจากเรือนไปไม่เกี่ยวข้องกับบิดา ตั้งแต่นั้นมาผมไม่มีความสัมพันธ์กับมารดาเลย มีแต่ญาติผู้ใหญ่พาไปพบไปหาบ้างเท่านั้นว่า นี่คือแม่ ของเรานะ ก็จำได้ และตลอดชีวิตมาตั้งแต่ ๕ ขวบไป ท่านก็ไม่ได้อุปการะเกื้อกูลอะไรผมเลย ก่อนที่ผมจะมาศึกษาธรรม ผมคิดว่าในชีวิตของผม ผมคงไม่สามารถ ตอบแทนบุญคุณหรือว่าอุปการะอะไรท่านได้ ผมตั้งใจไว้อย่างนั้นเลยว่า แม่คนนี้ ผมไม่มีทางเลี้ยงท่าน ขณะที่เรียนอยู่มัธยม ๖ มีวันหนึ่งผมไปดูเจ้าเข้าทรง แบมือไป เจ้าก็บอกว่า มือนี้บิดามารดาได้พึง ผมไม่เชื่อ เพราะตอนนั้นผมตั้งใจไว้แล้วว่า ผมจะไม่ยุ่งกับแม่ คือ ท่านไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับผม ผมจะไม่เลี้ยงท่าน แต่อาจจะเป็นปุพเพกตบุญญตาของเก่าที่เคยสั่งสมกันมา ผมมาศึกษาธรรมก็ขัดเกลาผมไปเรื่อย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า บุพพการี คือ ผู้ที่ทำคุณให้แก่เราก่อนโดย ไม่หวังผลอะไรเลย ทำให้ก่อนเลย บิดามารดามีคุณ ก็ศึกษาไป ได้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องบิดามารดา จนกระทั่งผมเข้าใจธรรมดีแล้ว ก็ไม่ได้นึกจะไปเลี้ยงดูอะไร แต่ทุกวันนี้ผมต้องเลี้ยงดูท่านทุกอย่าง ไม่ว่าค่ายา อาหาร ซึ่งท่านก็มีวิบากไม่ดีเหมือนกัน ผมจะรับท่านมาอยู่ด้วย ท่านก็อยู่ด้วยไม่ได้ ท่านไม่คุ้นเคยกับผม ท่านอยากจะอยู่กับพี่สาว

    ก่อนจะศึกษาธรรมผมเคยนึกท้อแท้ว่า ทำไมบิดามารดาคนอื่นเขารักกัน กลมเกลียวกัน อย่างเคยเห็นอาจารย์ไปไหนมาไหนกับบิดา ตัวเราเองไม่มีความอบอุ่นในสิ่งนี้เลย ก็นึกท้อแท้ใจ เกิดปฏิปักษ์ที่ว่าไม่เลี้ยงมารดาแน่ๆ แต่พระธรรมมีคุณ ทุกวันนี้ผมต้องเลี้ยงท่าน เพราะผมศึกษาธรรม ถ้าผมไม่ได้ศึกษา ผมคงไม่ได้เลี้ยงท่านแน่



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๕ ตอนที่ ๑๖๔๑ – ๑๖๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    28 ธ.ค. 2564