แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1631


    ครั้งที่ ๑๖๓๑


    สาระสำคัญ

    โลกของความคิด เป็นโลกของสมมติบัญญัติ

    ปารคามีสูตร

    ความแตกต่างระหว่างคนเป็นกับคนตาย

    การเจริญสติปัฏฐาน

    อนุสาสนีปาฏิหาริย์

    วิรัทธสูตร - ข้อความที่จะเตือนให้เป็นผู้ละเอียดรอบคอบ

    องฺ.ติก.โคตมสูตร ทรงรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วจึงทรงแสดงธรรม

    หลงลืมสติมากกว่ามีสติ

    เห็นกับคิด


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๐


    ปารคามีสูตร ข้อ ๔๒๙

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่งจากที่มิใช่ฝั่ง โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ซึ่งได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่งจากที่มิใช่ฝั่ง

    ขอให้คิดถึงฝั่งมหาสมุทรที่สุดสายตา ซึ่งทุกท่านกำลังอยู่ในฝั่งซึ่งเต็มไปด้วยกิเลสและการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งละคลายดับการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน จะต้องเจริญสติปัฏฐาน และปัญญามากเพียงไร

    ข้อความต่อไป

    ข้อ ๔๓๐

    ในหมู่มนุษย์ คนที่ไปถึงฝั่งมีจำนวนน้อย แต่หมู่สัตว์นอกนี้ ย่อมวิ่งไปตามฝั่งนั่นเอง ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามธรรมในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ชนเหล่านั้นจักข้ามบ่วงมฤตยูซึ่งแสนยากที่จะข้ามได้

    บัณฑิตพึงละธรรมฝ่ายดำเสีย เจริญธรรมฝ่ายขาว ออกจากความอาลัย อาศัยความไม่มีอาลัยแล้ว พึงละกามเสีย เป็นผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล ปรารถนาความยินดีในวิเวกที่สัตว์ยินดีได้ยาก

    บัณฑิตพึงชำระตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองจิต ชนเหล่าใดอบรมจิต ดีแล้วโดยชอบในองค์เป็นเหตุตรัสรู้ ไม่ถือมั่น ยินดีแล้วในความสละคืนซึ่งความยึดถือชนเหล่านั้นเป็นผู้สิ้นอาสวะ มีความรุ่งเรือง ปรินิพพานแล้วในโลก

    ทุกคนบอกว่า สติยากที่จะเกิด และเมื่อสติเกิดแล้วก็ยากที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม นี่ต้องเป็นความจริง เพราะที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนเหล่านั้นจักข้ามบ่วงมฤตยูซึ่งแสนยากที่จะข้ามได้

    ไม่ใช่ว่าใครจะดับกิเลสได้โดยง่าย ทุกท่านพิสูจน์ได้ว่า นามธรรมที่กำลังเห็น ในขณะนี้ยากไหมที่จะรู้ว่าเป็นเพียงสภาพรู้ ไม่ใช่ตัวตน หรือเวลาที่ได้ยินเสียง บางคน ก็รู้ว่าเสียงดัง เสียงเบา แต่ไม่รู้ว่าขณะนั้นต้องมีสภาพได้ยินซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ขณะที่เสียงนั้นๆ กำลังปรากฏ

    นี่เป็นเหตุที่ถ้าตรึกระลึกถึงธรรมเนืองๆ บ่อยๆ จะทำให้สติระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทันทีได้

    ข้อความที่ควรจะเตือนให้เป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ คือ ข้อความใน วิรัทธสูตร ข้อ ๔๓๑ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภผิดแล้วอริยมรรคอันยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบเป็นอันบุคคลเหล่านั้นปรารภผิดแล้ว โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภถูกแล้ว อริยมรรคอันยังสัตว์ให้ถึง ความสิ้นทุกข์โดยชอบเป็นอันบุคคลเหล่านั้นปรารภถูกแล้ว โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน คือ สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภผิดแล้ว อริยมรรคอันยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบเป็นอันบุคคลเหล่านั้นปรารภผิดแล้ว โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภถูกแล้ว อริยมรรคอัน ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบเป็นอันบุคคลเหล่านั้นปรารภถูกแล้ว

    ทรงโอวาทเตือนตลอดเวลาแม้ในเรื่องของโพชฌงค์ว่า โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเหล่าหนึ่งเหล่าใดปรารภผิดแล้ว ซึ่งน่าพิจารณาตั้งแต่ก่อนจะถึงโพชฌงค์ คือ ตั้งแต่สติปัฏฐานถ้าผิด ไม่ใช่สัมมาสติ ก็ไม่ใช่ทางดับทุกข์

    เพราะฉะนั้น ไม่ควรคิดว่า ประพฤติอย่างไรก็ถูก แต่ต้องเป็นผู้ที่รอบคอบ ระมัดระวังจริงๆ ที่จะรู้ว่า ปัญญาจะต้องรู้อะไร อะไรเป็นสติปัฏฐาน และสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมอะไรในขณะนี้ จึงจะเป็นโพชฌงค์ที่ปรารภถูกแล้ว อริยมรรคย่อมยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบได้ เพราะว่าปรารภถูก

    ถ้าเข้าใจผิดในการเจริญสติปัฏฐานขั้นต้นๆ ไม่สามารถจะเจริญปัญญาได้ และการที่เป็นผู้หลงผิดไปโดยไม่รู้ ไม่ได้มีแต่เฉพาะในปัจจุบันนี้เท่านั้น แม้ในครั้งที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เมื่อปัญญาการรู้แจ้งอริยสัจธรรมยังไม่เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมหลงผิดได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เตือนพุทธบริษัทในครั้งนี้ให้เพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น เพราะแม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังมีผู้ที่เข้าใจผิด เพราะฉะนั้น หลังจากที่ปรินิพพานแล้วถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี พุทธบริษัทยิ่งต้องเป็นผู้ที่พิจารณา ให้ละเอียดรอบคอบ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการปฏิบัติผิด

    อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต โคตมสูตร ข้อ ๕๖๕ มีข้อความสั้นๆ ซึ่ง ท่านผู้ฟังอาจจะไม่ได้เฉลียวใจเลย

    ข้อความมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคตมกเจดีย์ ใกล้พระนครเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ภิกษุทั้งหลายทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วจึงแสดงธรรม ไม่รู้ไม่แสดง แสดงธรรมมีเหตุ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีเหตุ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วจึงแสดงธรรม ไม่รู้ไม่แสดง แสดงธรรมมีเหตุ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีเหตุ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ ท่านทั้งหลายควรทำโอวาท ควรทำอนุสาสนี ก็แหละท่านทั้งหลายควรที่จะยินดี ควรที่จะชื่นชม ควรที่จะโสมนัสว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์ปฏิบัติชอบแล้ว

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้น ต่างชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัส ไวยากรณภาษิตนี้อยู่ พันโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว ฯ

    ดูเหมือนไม่มีอะไรเลย เป็นข้อความสั้นๆ ธรรมดาจริงๆ แต่ว่า พันโลกธาตุ ได้หวั่นไหวแล้ว

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ได้ทราบว่า พราหมณ์บรรพชิตจำนวนมากเกิดเมาความรู้ขึ้น เพราะอาศัย พระพุทธพจน์ที่ตนเคยเรียนแล้ว ไม่ยอมไปโรงฟังธรรม ด้วยคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะตรัส ก็ตรัสคำที่พวกเรารู้แล้วเท่านั้น ไม่ตรัสคำที่พวกเรายังไม่รู้ ดังนี้

    นี่เป็นเหตุการณ์ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทในสมัยนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังที่จะเป็นผู้ที่พิจารณาธรรมและตนเองยิ่งขึ้น

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลความนั้นแก่พระผู้มีพระภาค

    ท่านผู้ฟังคิดว่า ควรทูลหรือไม่ควรทูล บางท่านอาจจะคิดว่า ไม่น่าที่ ภิกษุเหล่านั้นจะทูลพระผู้มีพระภาค แต่ต้องเพื่อประโยชน์ในการที่ภิกษุเหล่านั้น ทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ คือ เพื่อจะได้ทรงอนุเคราะห์พราหมณ์ ผู้เมาความรู้เหล่านั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสให้เรียกภิกษุเหล่านั้นมา ทรงถือเอามุขปฏิญญา (การรับปากของภิกษุเหล่านั้น) แล้วทรงแสดงมูลปริยายสูตร ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เห็นที่มาที่ไปของพระธรรมเทศนาเลย เมื่อไม่เห็นก็พากันคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคงเข้าพระทัยว่า ธรรมกถาของเราตถาคตย่อมนำสัตว์ออกไปจากทุกข์ จึงตรัส พระธรรมเทศนาที่คล่องพระโอษฐ์เท่านั้น

    นี่เป็นความคิดของคนที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    พระผู้มีพระภาคทรงรู้ใจของภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงทรงเริ่มพระสูตรนี้

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิญฺญายะ ความว่า รู้ คือ แทงตลอด ได้แก่กระทำให้ประจักษ์ว่า ธรรมเหล่านี้ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ เหตุ ๙ ผัสสะ ๗ เวทนา ๗ เจตนา ๗ สัญญา ๗ วิญญาณ ๗

    อนึ่ง อธิบายว่า รู้ คือ แทงตลอด ได้แก่ กระทำให้แจ้งนั่นแหละ ซึ่งธรรมเหล่านั้นๆ โดยนัยมีอาทิว่า สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ดังนี้

    บทว่า สนิทานํ ความว่า เราตถาคตกล่าวธรรมพร้อมทั้งปัจจัยนั่นแล ไม่ใช่ ไม่มีปัจจัย

    บทว่า สปฺปาฏิหาริยํ ความว่า เราตถาคตกล่าวธรรมมีปาฏิหาริย์นั่นแหละ เพราะขจัดข้าศึกได้ ไม่ใช่ไม่มีปาฏิหาริย์

    บทว่า อลญฺจ ปน โว ความว่า ก็แล (โอวาทานุสาสนี) ควรแก่เธอทั้งหลาย

    บทว่า ตุฏฺฐิยา มีอรรถาธิบายว่า ควรทีเดียวเพื่อจะทำความยินดีแก่ เธอทั้งหลายผู้ระลึกถึงเนืองๆ ซึ่งรัตนะทั้ง ๓ โดยพระคุณว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัส ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้

    สั้นเท่านี้เอง แต่มหาปฐพีหวั่นไหว เพราะทรงแสดงถึงพระคุณของพระรัตนตรัย

    ถ. แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ อาจารย์ช่วยขยายความด้วย

    สุ. หมายความว่า ผู้ปฏิบัติตามสามารถได้ผลควรแก่การปฏิบัติ คือ สามารถที่จะขจัดกิเลส ดับกิเลสได้ ไม่ใช่แสดงแล้วไร้ผล คือ ไม่สามารถมีผู้ที่มีปัญญาจนสามารถดับกิเลสได้

    ถ. หรือจะกล่าวว่า เป็นการแสดงโดยพิสดาร

    สุ. โดยที่ผู้ฟังพิจารณา และน้อมประพฤติปฏิบัติตาม จนได้รับผลจาก การปฏิบัติสมควรแก่การปฏิบัตินั้นๆ

    ถ. คงไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์

    สุ. ไม่ใช่ หมายความถึงอนุสาสนีปาฏิหาริย์

    ถ. ผมเห็นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าหลายตอนที่อาจารย์ยกขึ้นมาอธิบายแต่ละครั้งๆ มีปาฏิหาริย์ทั้งนั้น คือ เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ทั้งนั้นเลย ถ้าน้อมนำมาปฏิบัติแล้วจะเข้าถึงพระนิพพานได้ ผมคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานมีข้อที่จะต้องถาม ไม่จบ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    สุ. มีข้อปฏิบัติอะไรบ้างไหม ที่รู้สึกว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง หรือน่าจะได้พิจารณาให้ชัดเจนว่าเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์อย่างไรที่เกี่ยวกับการ เจริญสติปัฏฐาน จะได้เกื้อกูลท่านผู้ฟังที่จะได้ช่วยกันพิจารณาข้อปฏิบัตินั้นๆ ว่า ถูกต้องสมบูรณ์ หรือว่าคลาดเคลื่อน

    ถ. ที่อาจารย์บอกว่า เห็นต้นไม้ ก็คิดว่าเป็นต้นไม้ ใช่ไหม

    สุ. เห็นอะไรก็ตามแต่ ไม่ได้เพียงแต่เห็น คิดต่อทันที ไม่อย่างนั้น จะเป็นต้นไม้ จะเป็นคนกำลังเดิน จะเป็นเด็กกำลังเล่นฟุตบอลไม่ได้ ถ้าเพียงแต่เห็นเฉยๆ เพราะฉะนั้น เห็นแล้ว ก็ยังคิดตามสิ่งที่เห็น

    ถ. เราระลึกรู้ไม่ได้หรือว่า ขณะที่เห็นเป็นลักษณะรู้ชนิดหนึ่ง

    สุ. สติควรจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่างในระหว่างที่ยังมีชีวิต เพราะมีแต่นามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล

    ที่ชื่อว่ายังไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ เพราะมีนามธรรมและมีรูปธรรมเกิดดับ

    ถ. ให้เราระลึกตามความเข้าใจของเราเดี๋ยวนั้นเลยหรือเปล่า

    สุ. ไม่ใช่มีตัวตนไประลึก

    โดยขั้นการฟังทราบว่า มีนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ และมีรูปธรรมซึ่งไม่ใช่ สภาพรู้ วันนี้ทั้งวันที่ไม่รู้ก็หมายความว่า ยังยึดถือสภาพธรรมทุกอย่างว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ เพื่อที่จะศึกษา คือ น้อมพิจารณาจนกว่าจะรู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม และคิดดู จะรู้เร็ว ย่อมรู้ไม่ได้ เพราะหลงลืมสติมากกว่ามีสติ และในช่วงที่หลงลืมสติทั้งหมดก็ยึดถือว่าเป็นตัวตนทั้งนั้น เพราะฉะนั้น การพิจารณาจึงต้องละเอียด

    ถ. ที่จริงเราเห็นต้นไม้ ไม่คิดก็เห็น ไม่ใช่หรือ

    สุ. ท่านผู้ฟังบอกว่า เห็นต้นไม้ ไม่คิดก็เห็น แต่ที่บอกว่า เห็นต้นไม้ นั่นคิดแล้วว่า เป็นต้นไม้ ไม่ใช่เห็นเฉยๆ แสดงว่าเห็นแล้วก็คิดถึงต้นไม้

    ถ. ถ้าอย่างนั้น เวลาเราพิจารณา ก็ไม่รู้จะพิจารณาอย่างไร

    สุ. ต้องแยกลักษณะของสภาพธรรมออกเป็นแต่ละทวาร นี่คือสิ่งที่แสนยาก ไม่ใช่ว่าง่าย แต่เป็นสิ่งที่อบรมเจริญได้ เพราะรู้ว่าสิ่งที่เห็นทางตา ที่ปรากฏ มี และจะต้องสอดคล้องกับพระธรรมส่วนอื่นที่ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลด้วย

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้ ต้องไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ เลย เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งกระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏ และหลังจากนั้นทวารอื่น คือ มโนทวาร รับรู้ต่อ คิดถึงรูปร่างสัณฐาน และสามารถจำได้ว่า เป็นสัตว์ หรือเป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ซึ่งจะต้องแยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวารออกจึงจะปรากฏว่า ไม่มีตัวตนที่กำลังเห็นต้นไม้

    ถ. เราไม่คิด แต่พิจารณาว่า เป็นลักษณะรู้ อย่างนี้ ได้ไหม

    สุ. ต้องมีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด ถ้าทางตาก็หมายความว่า สติเกิดและพยายามที่จะรู้ตามที่ได้เข้าใจว่า เป็นแต่เพียงอาการรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นส่วนของสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สภาพรู้

    ถ. ถ้าเขาแสดงท่ารำ เราเห็นอย่างนั้น ก็เป็นลักษณะรู้ ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน

    ถ. ลักษณะอาการที่เขาทำ เป็นลักษณะรู้ ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่ อาการที่เขาทำเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา และหลังจากนั้นก็คิดว่า เขากำลังมีอาการยกมือยกเท้าซึ่งเป็นอาการรำ

    ถ. นั่นคือลักษณะรู้ ใช่ไหม

    สุ. นั่นคิด คิดนี่ไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นคำพูดออกมาว่า เขากำลังรำ ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเข้าใจว่า คิดที่นี่ไม่ได้หมายความว่า คิดเป็นคำ

    ถ. เข้าใจว่าจะต้องคิดว่า เขารำ

    สุ. คิดนี่ ไม่จำเป็นต้องคิดเป็นคำ คิดถึงรูปร่างสัณฐาน เพราะขณะนั้นไม่ใช่เพียงเห็น เพราะฉะนั้น คงจะติดที่คำว่า คิด นั่นเอง เพราะบางท่านเข้าใจว่า คิด หมายถึงคิดเป็นคำ เป็นเรื่อง แต่ความจริงแม้ว่าไม่เป็นคำ แต่ขณะใดที่ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นก็คิดรูปร่างสัณฐานแล้ว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๔ ตอนที่ ๑๖๓๑ – ๑๖๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    28 ธ.ค. 2564