แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1641


    ครั้งที่ ๑๖๔๑


    สาระสำคัญ

    นิพพาน สภาพธรรมมีจริงเป็นปรมัตถธรรม

    สมุทัยได้แก่ โลภะ เหตุให้เกิดภพชาติ

    การเจริญสมถภาวนากับการเจริญวิปัสสนา มีข้อแตกต่างกันและมีจุดประสงค์ต่างกันอย่างไร

    ไม่ชอบชื่อโลภะแต่ว่าทุกขณะต้องการโลภะ

    การเจริญสติปัฏฐาน ต้องค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เกิดขึ้น

    อัตตสัญญาคืออะไร


    ถวายคำตอบปัญหาธรรมพระภิกษุที่ห้องประชุมมหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันที่อาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๐


    คำถาม ขอถามเรื่องนิพพาน เวลานี้มีเกจิอาจารย์บางท่านพูดถึงว่านิพพานเป็นเมืองแก้ว มีตัวตน คนกำลังพากันลังเลและสงสัยกันมาก จะไม่ขัดกับ คำว่าดับหรือ อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร

    สุ. สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นปรมัตถธรรม ที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก มี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่งบางท่านใช้คำย่อที่ทำให้จำง่ายว่า จิ เจ รุ นิ คือ เพียง ๔ พยางค์

    จิ ได้แก่ จิต เจ ได้แก่ เจตสิก รุ ได้แก่ รูป นิ ได้แก่ นิพพาน

    ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงประจักษ์แจ้งลักษณะของพระนิพพาน ก็คงมีแต่ จิต เจตสิก รูป โดยดับกิเลสไม่ได้ เพราะว่าในขณะนี้ทุกคนก็มีจิต มีเจตสิก และมีรูป ซึ่งถ้าอบรมเจริญปัญญาจะเห็นความเหนียวแน่นของกิเลสจริงๆ แม้ว่าสภาพธรรมที่ ไม่ใช่ตัวตนเป็นแต่เพียงนามธรรมหรือรูปธรรมจะปรากฏเพราะสติระลึกสังเกต พิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ จากชาติหนึ่งสู่อีกชาติหนึ่ง สู่อีกชาติหนึ่ง จนกว่าปัญญา จะคมกล้า แต่ถ้าไม่มีลักษณะปรมัตถธรรมที่เป็นวิสังขารธรรม คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดขึ้น ก็ไม่มีธรรมใดที่สามารถดับกิเลสได้ เพราะว่า สมุทัยคือโลภะความยินดีความพอใจมีอยู่ตราบใด ก็เป็นปัจจัยให้ภพชาติมีอยู่ตราบนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ ย่อมเป็นที่พอใจของโลภะได้ทั้งสิ้น

    ถ้าวันนี้ท่านผู้ใดมีจิตใจเป็นกุศล ท่านชอบ ท่านพอใจ วันนี้ท่านปลาบปลื้มมากที่ท่านได้กระทำกุศล และบางท่านก็ต้องยึดถือว่าเป็นกุศลของตนที่ได้กระทำ เพราะว่าจิตที่ดีเกิดขึ้นเป็นที่ตั้งของโลภะยินดียึดมั่นพอใจในจิตนั้นก็ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งมีลักษณะเกิดขึ้นปรากฏ ไม่ว่าจะทางหนึ่งทางใด ย่อมเป็นที่ตั้งของความยินดีของความพอใจได้ทั้งสิ้น แต่นิพพานปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมอย่างเดียวที่ไม่สามารถเป็นอารมณ์ หรือเป็นที่ตั้ง เป็นที่พอใจของโลภะได้ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิด ลักษณะของสภาพธรรมใด ก็ตามที่ไม่เกิดขึ้น โลภะไม่สามารถติดใจ ต้องการ พอใจยึดมั่นในสิ่งนั้นได้

    พระนิพพาน เป็นสภาพปรมัตถธรรมที่มีจริง และเป็นสภาพธรรมอย่างเดียว ที่สามารถดับกิเลสได้

    ถ้าพูดว่า นิพพานเป็นเมืองแก้ว ก็หมายความว่าต้องมีการเกิดขึ้น จึงเป็นเมืองแก้วได้ แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะของนิพพานธาตุซึ่งเป็นธาตุที่ดับกิเลส

    สภาพธรรมใดที่เกิดจะพ้นไปจากจิต เจตสิก รูปไม่ได้เลย ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง สิ่งนั้นไม่ใช่นิพพาน ต้องเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูปนั่นเอง

    คำถาม การฝึกมโนมยิทธิกับการสะกดจิตต่างกันอย่างไร การที่จิตเห็นกายพระพุทธเจ้า นรก สวรรค์ เป็นภาพนิมิตนั้น เป็นการฝึกอย่างถูกต้องหรือไม่ อยู่ในหลักการสะกดจิตหรือมโนมยิทธิหรือเปล่า

    สุ. มโนมยิทธิ เป็นอิทธิฤทธิซึ่งสำเร็จด้วยจิต คือ ความสงบของจิต ขั้นฌาน ซึ่งยากจะเกิดได้ ไม่เหมือนกับการสะกดจิต

    ที่ถามว่า การที่จิตเห็นกายพระพุทธเจ้า นรก สวรรค์ เป็นภาพนิมิตนั้น เป็นการฝึกอย่างถูกต้องหรือไม่ อยู่ในหลักการสะกดจิตหรือมโนมยิทธิหรือเปล่า

    เพียงแต่นั่ง และเห็น ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้เลย ไม่มีเหตุที่สมควรแก่ผล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วจะเห็นอะไร จิต เจตสิก รูปดับ คงเหลือแต่พระบรมสารีริกธาตุซึ่งยังไม่อันตรธาน ถ้าจะเห็นส่วนของ พระผู้มีพระภาคซึ่งทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว ในสมัยนี้จะเห็นได้เพียงอย่างเดียว คือ พระบรมสารีริกธาตุ แต่ไม่สามารถเห็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

    ถ. การเจริญสมถภาวนากับการเจริญวิปัสสนา มีข้อแตกต่างกันและ มีจุดประสงค์ต่างกันอย่างไร

    สุ. ต่างกันที่ว่า สมถภาวนาเป็นการเจริญกุศลที่เห็นโทษของจิตที่ไม่สงบ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญามากที่จะรู้ว่า ความไม่สงบเกิดทันทีที่เห็น ทันทีที่ได้ยิน แต่ไม่ใช่ต้องรอให้เกิด ไม่ใช่ว่าเรานอนเล่นตามสบาย และประเดี๋ยวเกิดหงุดหงิดขึ้นมาก็อยากสงบ ไม่ใช่อย่างนั้น

    คนที่จะเจริญสมถภาวนาต้องเป็นคนที่รู้ความจริงว่า เมื่อตาเห็นสิ่งใด ไม่สงบ ด้วยโลภะบ้าง หรือโทสะบ้าง เมื่อหูได้ยินสิ่งใด ไม่สงบด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง

    ผู้เจริญสมถภาวนาถึงขั้นระงับไม่ให้มีการเห็น ไม่ให้มีการได้ยิน ไม่ให้มีการ ได้กลิ่น ไม่ให้มีการลิ้มรส ไม่ให้มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ให้ใจสงบอยู่ที่อารมณ์ ที่เมื่อตรึกแล้วก็สงบขึ้นๆ ด้วยเหตุนี้สมถภาวนาจึงต้องอาศัยองค์ของฌาน ซึ่งจะปราศจากวิตกเจตสิกไม่ได้เลยที่จะทำให้สงบ เนื่องจากเขาเห็นโทษว่า ปกติทั้งวัน จิตไม่สงบ เพราะว่าเห็นทั้งวัน ได้ยินทั้งวัน สงบไม่ได้เลย แต่ไม่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะไม่รู้ในความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    . การเจริญสมถภาวนามีอารมณ์ตั้ง ๔๐ ประเภท ส่วนใหญ่นิยมใช้ อานาปานสติ การพิจารณาอานาปานสติ จากการที่ฟังท่านอาจารย์ผมเข้าใจว่า จะไม่สามารถขัดเกลากิเลสให้ถึงพระนิพพานหรือบรรลุอริยธรรมได้

    สุ. ไม่สามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ถึงนิพพานไม่ได้

    . ถ้าอย่างนั้นการที่จะขัดเกลากิเลสได้ อย่างบุคคลทั่วไปที่มุ่งคิดจะ ขัดเกลากิเลส คือ ให้ถึงซึ่งพระนิพพาน แต่เขาไม่เข้าใจว่า ในชีวิตประจำวัน อะไรเป็นเหตุให้เรายึดถือ หรือว่ายึดถือความเป็นตัวตนอยู่ทุกวัน ถ้าไม่เข้าใจ แต่ เป็นโลภะหรือความต้องการที่อยากจะละกิเลสอย่างเดียวโดยไม่รู้จักกิเลส จะสามารถเจริญสติปัฏฐานหรือเจริญสมถะได้ไหม

    สุ. เป็นไปไม่ได้ เจริญแต่ชื่อ

    . ถ้าจะเจริญสติปัฏฐาน อาจารย์มีแนวทางอย่างไรให้เขาพิจารณา

    สุ. ไม่มีการเร่งรัดให้ใครเจริญสติปัฏฐาน ไปเอาเด็กมานั่งเข้าแถวและ บอกให้เจริญสติปัฏฐาน เด็กไม่รู้จักกิเลสเลย และไม่ได้อยากละกิเลสด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่ได้หมดกิเลส ผู้ใหญ่ทุกคนมีกิเลสคนละมากๆ ทั้งนั้น ถ้าไปถามผู้ใหญ่แต่ละคนว่าอยากหมดกิเลสไหม เขาก็บอกว่าไม่อยาก ใครบ้างที่อยากหมดกิเลส เมื่อยังไม่รู้จักกิเลส

    . ตามที่ผมเข้าใจ เวลาถามถึงกิเลส ใครๆ ก็บอกว่า ไม่อยากมีกิเลส เพราะว่าเขาไม่รู้จักกิเลส

    สุ. เช่น โลภะ เป็นกิเลส ใช่ไหม

    . ใช่ แต่เขาชอบ

    สุ. อยากมีไหม ไม่ชอบชื่อโลภะ แต่ทุกขณะต้องการโลภะ แสดงว่า เข้าใจหรือเปล่า อาหารอร่อยไหม อย่างนั้นสวยไหม อย่างนี้เพราะไหม อย่างนั้น หอมไหม อย่างนี้อ่อนนุ่มดีไหม กระทบสัมผัสสบายไหม

    ไม่ชอบชื่อโลภะ แต่ทุกขณะจิตต้องการโลภะ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องชื่อ แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องเข้าใจจริงๆ ถ้าบอกว่าอยากจะไม่มีโลภะ พูดได้ไหม พูดได้ เพราะไม่รู้

    . เพราะคิดว่าโลภะเป็นสิ่งที่ไม่ดี โลภะทำให้เป็นทุกข์

    สุ. แต่กำลังชอบโลภะ เท่าไรก็ไม่พอ

    . อย่างที่ท่านผู้หนึ่งนั่งไปในรถ พยายามหลับตาไม่ให้เห็นภาพซึ่งคิดว่า จะทำให้เกิดความไม่พอใจ อย่างนั้นไม่มีทางเลยใช่ไหมที่จะขัดเกลากิเลสได้ เพราะว่าพยายามหลีก

    สุ. กิเลสทุกประเภทกลัวอยู่อย่างเดียว คือ ปัญญา โดยเฉพาะโลภะ ถ้าไม่มีปัญญาไม่มีใครปราบได้เลย โลภะจะต้องนำหน้า โลภะจะต้องอยู่ข้างหลัง โลภะจะต้องอยู่ข้างๆ โลภะจะต้องซุกซ่อนอยู่ทุกมุมจนได้ ถ้าไม่รู้ว่าโลภะอยู่ที่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะดับโลภะได้

    . ถ้าอย่างนั้นจะสามารถรู้ลักษณะของกิเลสได้อย่างไรตลอดทั้งวัน หรือเป็นไปไม่ได้

    สุ. เป็นไปได้ ถ้าได้ฟังพระธรรม

    . หมายความว่าถ้าได้ศึกษาและมีความเพียร

    สุ. ถ้าศึกษาและเข้าใจด้วย ไม่ใช่เพียงแต่อ่าน

    . ถ้ามีความเข้าใจว่า เรามีความเพียรให้มากเข้าๆ

    สุ. เพียรทำอะไร

    . ก็ทำทุกอย่าง

    สุ. ทำทุกอย่างคืออะไร

    ถ. เขาคิดว่า พยายามนั่ง

    สุ. นั่งแล้วเป็นอย่างไร

    . ก็เจริญ

    สุ. เจริญอะไร

    . เจริญอานาปานสติบ้าง อะไรบ้าง ซึ่งเขาว่าจะสามารถรู้ได้เร็ว

    สุ. รู้อะไร

    . นั่นซิ ผมก็ไม่ได้ถาม

    สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องไปคิดถึงคนอื่น คิดถึงตัวเอง เพราะว่าใครจะสอนเราก็ไม่ได้นอกจากตัวเราเอง ฉันใด เราจะสอนคนอื่น ถ้าเขาไม่สอนใจของเขาเอง เราก็สอนไม่ได้ ถ้าเขาพอใจที่จะทำอย่างนั้น ใครก็แก้ไขไม่ได้ ในเมื่อ เป็นความพอใจที่สะสมมาที่จะทำอย่างนั้น

    . อีกเรื่องหนึ่ง ขณะที่เราน้อมพิจารณา เจริญสติ แต่แล้วก็มีความรู้สึกว่าขณะนั้นไม่ได้ละคลายตัวตนเลย แต่มีความเพียรที่จะเจริญสติ น้อมพิจารณา สภาพธรรมต่างๆ เช่น ขณะที่นั่งไปในรถ ขณะใดรู้ว่าขณะนี้หลงลืมสติ ขณะนั้นก็น้อมพิจารณาทวารต่างๆ พิจารณาไปทางตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี เมื่อพิจารณาแล้วก็ยังเป็นตัวตนอยู่ แต่ขณะนั้นรู้ว่า มีความเพียรที่จะพิจารณา สภาพธรรมต่างๆ แต่ไม่ได้เป็นสติปัฏฐาน คือ ขณะนั้นไม่ได้ละคลายตัวตนเลย และเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่

    สุ. จับด้ามมีดบ้างหรือยัง จับปุ๊บก็ไม่มีตัวตนเลยหรือ เป็นไปได้ไหม

    . ปัญหาข้อนี้ คือ บุคคลที่ศึกษาธรรมแล้วมักจะเข้าข้างตัวเองว่า เราเจริญสติปัฏฐานแล้ว เป็นผลแล้ว

    สุ. เรื่องของคนอื่นอีกแล้ว ไม่ใช่เรื่องของเรา ใครจะคิดอย่างไรแก้ไขไม่ได้ นอกจากทุกคนจะต้องเป็นผู้ละเอียด และถ้าเห็นเป็นตัวตนอยู่ ก็ยังต้องเป็นตัวตน เมื่อไม่รู้ ก็ต้องไม่รู้ เมื่อความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เมื่อค่อยๆ คลาย ความเป็นตัวตน ก็ต้องค่อยๆ คลายความเป็นตัวตน ขณะที่ไม่รู้จะบอกว่ารู้ก็ไม่ได้ ขณะที่ยังเป็นตัวตนอยู่ ยังไม่หมดความเป็นตัวตน จะบอกว่าต้องไม่มีตัวตนก็ไม่ได้ การเจริญสติปัฏฐาน ต้องค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เกิดขึ้น ไม่ใช่ระลึกแล้ว ก็ไม่มีตัวตน เป็นไปไม่ได้เลย

    ธรรมทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟังทั้ง ๓ ปิฎก รวมทั้งอรรถกถา ฎีกา ก็เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ตามปกติ ไม่ว่าจะ เรียนมาก ฟังมาก สนทนาธรรมมาก ตรึกตรองธรรมมากสักเท่าไร ก็เพื่อให้สติเกิดระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจสภาพธรรม ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่สติจะต้องระลึก มิฉะนั้นแล้วไม่สามารถศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ เพราะว่า แต่ละวันที่ผ่านไปๆ ก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น ทุกวันๆ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เป็นเหตุการณ์ต่างๆ บ้าง เดือดร้อนใจบ้าง พอใจบ้าง สนุกสนานเพลิดเพลินบ้าง แต่ทุกขณะก็หมดไป ไม่มีอะไรที่เหลือเลยสักขณะจิตเดียว

    แม้ในขณะนี้เอง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก็ดับไป และก็เกิดขึ้นปรากฏ และก็ดับไป เป็นอนัตตา แต่เป็นสภาพธรรมที่ยากที่จะประจักษ์ในความเป็นอนัตตา สภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    อดีต ความสนุกสนาน หรือความสุขความทุกข์เมื่อวานนี้ เมื่ออาทิตย์นี้ เมื่อเดือนนี้ หรือหลายๆ เดือนมาแล้ว ก็ผ่านหมดไปแล้ว คงเหลืออยู่แต่ปัจจุบันขณะนี้ขณะเดียว เพียงขณะเดียวจริงๆ ซึ่งจะต้องศึกษาให้เข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    บางคนบอกว่า ไม่ขอพบคนนั้นคนนี้อีกในชาติหน้า นี่เป็นความรู้สึก ซึ่งถ้า เป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมจะไม่คิดอย่างนี้เลย เพราะว่าจะไม่มีคนนั้นอีกในชาติหน้า และจะไม่มีคนนี้ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเราอีกในชาติหน้าด้วย มีแต่ชาตินี้ที่จะเป็นคนนี้ หรือ ที่จะเป็นคนนั้น แต่เมื่อสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้และบุคคลนั้นในชาตินี้แล้ว ชาติหน้า ต้องเป็นคนอื่นจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลว่า จะต้องไปพบกับคนนั้นคนนี้อีก ซึ่งไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย เพราะว่าความเป็นบุคคลนี้จะไม่ติดตามไปถึง ชาติหน้า

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความขุ่นเคืองใจ หรือความไม่พอใจในบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ขอให้คิดว่า ไม่มีบุคคลนั้นเลย มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป และยึดถือว่า เป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ แม้แต่ตัวของท่านเองก็ไม่มี มีแต่ความพอใจบ้าง ความไม่พอใจบ้างแต่ละขณะ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหลังจากที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก

    ขอให้คิดถึงช่วงเวลาที่สั้นที่สุด แทนที่จะคิดถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ หรือคิดถึง เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนซึ่งเที่ยง แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียว ที่สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏทั้งนามธรรมและรูปธรรม

    มีท่านผู้หนึ่งถามว่า อัตตสัญญาคืออะไร

    สัญญา เป็นสภาพที่จำ อัตตะ คือ ความเห็นหรือความยึดถือว่าเป็นตัวตน ซึ่งความจริงแล้วคำนี้ไม่น่าจะสงสัยเลย เพราะว่าทุกคนมีอัตตสัญญาจนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลซึ่งจะดับความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ แต่ก่อนที่จะถึง ขณะที่สติเกิดและปัญญาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งรู้ชัดประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นต้องมีสัญญา ความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏ เพราะแม้ว่าจิตจะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวและรู้รูปที่ปรากฏได้ทีละทวาร ทีละทาง ทีละลักษณะ ซึ่งความจริงรูปนั้นก็เป็นรูปที่ละเอียดมากจริงๆ ไม่ใช่รวมกันเป็นก้อน เป็นแท่ง เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนเลย แต่เมื่อสติไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทวารตามความเป็นจริง ก็มีการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นอัตตา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด รวมทั้งการเห็น ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและดับไปก็เป็นเพียงชั่วขณะเดียว แต่เมื่อไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ทำให้มีอัตตสัญญา มีความทรงจำว่า เป็นเราที่เห็น และสิ่งที่เห็นนั้นก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ

    เป็นความจริงไหม ในชีวิตประจำวัน

    ขณะนี้เห็นอะไร อัตตสัญญาแน่นอน ที่ว่าเห็นคน เห็นวัตถุ เห็นสิ่งต่างๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๕ ตอนที่ ๑๖๔๑ – ๑๖๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    10 ก.พ. 2566