แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1672


    ครั้งที่ ๑๖๗๒


    สาระสำคัญ

    อดทนจนกว่ารู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    หลงลืมสติ กับ มีสติ อรรถสาลินี พระบาลีนิทเทสปฏิสังขารพลทุกะ - กำลังคือภาวนา


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐


    ท่านพระสุกกาเถรี ท่านอดทนมากแค่ไหน เป็นพหูสูต ทรงธรรม กล่าวธรรมกถาไพเราะ และได้ทำประโยชน์มาก แต่ต้องเป็นปัญญาที่สามารถ ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ตามปกติ ตามความเป็นจริง มิฉะนั้นก็ไม่ใช่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ยังคิดหาวิธีอื่นอีกไหม ที่จะให้เร็วขึ้น หรือรู้ว่าไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้เท่านั้น

    . ท่านพระเถรีสุกกาท่านบำเพ็ญธรรมมาอย่างมากมาย ท่านคงไม่มาเกิดแบบพวกเรา มาฟังธรรมกันอย่างนี้

    สุ. ก่อนนั้น ท่านก็ต้องเกิดอย่างนี้

    . และเราจะมีความหวังไหมว่า เราก็เคยบำเพ็ญอย่างท่านมา

    สุ. ขณะนี้กำลังอบรมเจริญอยู่

    . ก็ยังคงมีความหวังว่า ในอดีตชาติเราคงได้ทำมาอย่างนี้บ้าง ก็เป็นความหวังที่ทำให้เราดื่มน้ำฝน เหมือนคนเดินทางไกล

    สุ. สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ก็ผ่านไปหมด และสิ่งที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ก็กำลังผ่านไป และสะสมสืบต่อไปเรื่อยๆ อย่าหวัง ดีที่สุด เมื่อเหตุสมควรเมื่อไร ผลก็ย่อมเกิดเมื่อนั้น แต่ให้เห็นความยากแสนยากจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ด้วยการเป็นผู้ที่อดทนอบรมเจริญปัญญา

    อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ พระบาลีนิทเทสปฏิสังขานพลทุกะ มีข้อความว่า

    กำลัง คือ การพิจารณา

    ในขณะที่พิจารณากายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี ทีละเล็กทีละน้อยๆ อย่าคิดว่าไร้ผล หรือไม่เป็นกำลัง

    ข้อ ๑๓๖๑ มีข้อความว่า

    กำลัง คือ ภาวนา เป็นไฉน

    ไม่ใช่ท่อง

    อาเสวนะคือการเสพ ภาวนาคือการเจริญ พหุลีกัมมังคือการทำ ให้มาก ซึ่งกุศลกรรมทั้งหลายอันใด นี้เรียกว่ากำลัง คือ ภาวนา

    อบรมไป ประพฤติไปเรื่อยๆ จะเพิ่มเป็นกำลังขึ้น จากการที่ไม่มีกำลังเลย จนกระทั่งเป็นกำลังขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสามารถแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมได้

    . ขอเรียนถามเรื่องการเจริญสติ เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ฟังรายการของ ท่านอาจารย์ไม่รู้เรื่อง แต่ก็เปิดฟังทุกวันๆ จนวันหนึ่งฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างดี ก็มีตัวสติที่หลุดออกจากตัว แบบว่าไม่ยึดติดกับตัว และตั้งแต่นั้นก็รู้ การเคลื่อนไหวทุกส่วน และจิตนึกคิด ตัวรู้นี้ก็มารู้ คล้ายๆ ว่าเป็นบุคคลที่ ๓ ที่ติดกับตัวเรา แบบว่ามารู้รูปนาม ตัวรู้นี้เหมือนบุคคลที่ ๓ รู้การเกิดดับของรูปนาม ช่วงที่เกิดแบบนี้จะมีความสุข ไม่มีความทุกข์ ซึ่งปกติตัวหนูจะมีความห่วง ความทุกข์ ความกลัว คิดโน่นคิดนี่ แต่ตั้งแต่สติตัวนี้เกิดขึ้นมา ทุกข์ต่างๆ ความกลัว ไม่มีเลย เรียนถามว่า อย่างนี้เป็นการเกิดสติรู้รูปนามหรือเปล่า

    สุ. ไม่ใช่

    . ตัวรู้ คล้ายๆ เป็นคนรู้อีกทีหนึ่ง แบบมันแยก บอกไม่ค่อยถูกเหมือนกัน

    สุ. เห็น เคยเป็นเราเห็น ทำอย่างไรจึงจะละความยึดถือว่าเราเห็นออก

    . ไม่ได้ยึดว่าเราเห็นเลย ช่วงที่เกิดอันนี้ขึ้นมา

    สุ. ยังไม่ใช่ช่วงนั้น หมายความว่าทั่วๆ ไป เป็นเราเห็นอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็น เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แท้จริงแล้วไม่ใช่เรา แต่ปัญญายังไม่ได้รู้อย่างนี้ เพราะว่าเวลาเห็นก็หลงลืมสติ คือ ไม่ได้สังเกต ไม่ได้พิจารณา ไม่ได้ระลึกได้ว่าที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ก็สนใจในสิ่งที่เห็น ยึดถือในรูปร่างสัณฐาน คิดถึงรูปร่างสัณฐาน และรู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร และ ชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่เห็นนั้น นี่คือปกติในชีวิตประจำวัน เป็นอย่างนี้ทุกวันๆ ใช่ไหม ซึ่งนี่คือหลงลืมสติ

    ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า หลงลืมสติ กับมีสติ จึงจะเจริญสติและ รู้ลักษณะของสติได้

    ใครก็ตามที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่สามารถระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้ ที่กำลังเห็นทางตา ถูกไหม แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วว่าไม่ใช่เราที่เห็น แต่เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง และเมื่อได้ฟังแล้ว เมื่อไรจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า กำลังเห็นเป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้

    . เป็นอย่างนี้แหละ

    สุ. ยัง ยังไม่เป็น อย่าเพิ่งเป็น นี่คือฟังเข้าใจ ขั้นเข้าใจ คือ เข้าใจแล้วว่า กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ แต่ทำอย่างไรจึงจะประจักษ์ว่าที่กำลังเห็นนี่ไม่ใช่เราจริงๆ นี่อีกขั้นหนึ่ง อย่าคิดว่าฟังเข้าใจแล้ว คือ รู้แล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น เพียงแต่เข้าใจเรื่องของขณะที่เห็น แต่ยังหลงลืมสติ ตราบใดที่ยังไม่ได้สังเกตระลึกได้จริงๆ ว่า ขณะนี้ ที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาเลย

    สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นของจริงอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏกับสภาพรู้ คือ เห็น และเห็นก็เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง เป็นธรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุรู้

    ถ้าใช้คำว่า ธาตุรู้ ก็หมายความว่าไม่มีรูปร่างอะไรเลย เป็นแต่เพียงอาการรู้ หรือลักษณะรู้ เมื่อคนเกิดมาแล้วจะมีนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ไปตลอดจนกระทั่งตาย แต่ธาตุรู้ที่เกิดในวันหนึ่งๆ ก็เปลี่ยนแปลงเป็นประเภทต่างๆ ตามเหตุตามปัจจัย คือ ขณะที่เห็นก็เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ขณะที่ได้ยินก็เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ขณะที่กำลังคิดนึก ก็เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ระหว่างที่ไม่ได้ระลึก ไม่ได้สังเกตพิจารณาอย่างนี้ ระหว่างนั้นหลงลืมสติ เคยหลงลืมสติไหม

    . หลงลืมสติ หมายถึงช่วงนี้เรายังไม่ได้เจริญสติ บางทีก็หลงแบบสงสัย คือ ตั้งแต่เกิดตัวรู้นี้ขึ้นมาแล้ว ความทุกข์ไม่มี ความห่วงไม่มี ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น และอยากจะปฏิบัติให้ได้อย่างนี้จะทำอย่างไร เมื่อเกิดสตินี้ขึ้นมาแล้ว ตอนหลังหนูติดตามฟังรายการของอาจารย์ก็ฟังรู้เรื่อง ซึ่งแต่ก่อนนั้นฟังไม่รู้เรื่อง แต่ก็ติดตามฟังมาเรื่อยๆ จนถึงช่วงนี้ ฟังคำบรรยายของอาจารย์รู้เรื่อง อยากจะให้เกิดสติทุกขณะ ก็ไม่ได้ เป็นเฉพาะนิดๆ หน่อยๆ บางครั้งบางคราวเอง รู้ว่ากำลังเป็นรูปกับนามที่ เกิดดับ แค่นี้เอง ไม่ได้ยึดว่าเป็นตัวตน

    สุ. ขณะกำลังเห็น เป็นอย่างไร

    . กำลังเห็น เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา และเราก็มีตัวรู้อีกตัวหนึ่งว่า กำลังเห็น

    สุ. หลงลืมสติ หรือมีสติ

    . ถ้าเกิดตัวรู้นี้จะไม่ยึดติดกับตัวตน แบบว่าเกิดตัวรู้นี้ขึ้นมา ไม่ยึดว่า เป็นตัวตนเลย ยึดอยู่กับการเคลื่อนไหวของรูปและการนึกคิดของนาม

    สุ. เวลาที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมอะไร

    . การเคลื่อนไหว และจับตรงจุดที่กำลังปรากฏอยู่ แบบนึกคิดก็ รู้ตัวนึกคิด กำลังทำอะไรก็รู้อยู่ตรงที่เคลื่อนไหว เกิดขึ้นปัจจุบัน

    สุ. เวลาที่กำลังเคลื่อนไหว ลักษณะสภาพธรรมในขณะนั้นเป็นอย่างไร ที่กำลังเคลื่อนไหว

    . อย่างมือไม้เราเคลื่อนไหวอย่างไร ตัวรู้ก็มารู้ตรงมือไม้ที่เคลื่อนไหว เวลาจิตนึกคิดอะไร ตัวรู้ก็มาจับจุดอยู่ตรงที่กำลังนึกคิด จับจุดอยู่ตรงที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนั้นเลย และจิตใจไม่ได้ไปนึกห่วง นึกอะไรอย่างนี้

    สุ. ไม่มีทุกข์เลย ไม่ห่วง ไม่กังวลเลย

    . สงสัยว่า ปกติเราต้องมีความห่วง ความกลัว แต่ปรากฏตัวรู้นี้แล้วทำไมไม่ห่วง ไม่กลัว

    สุ. และไม่รู้เหตุด้วย ใช่ไหม

    . ก่อนนั้นฟังคำบรรยายของอาจารย์ไม่รู้เรื่องเลย แต่ปรากฏตัวรู้นี้ขึ้น ก็เข้าใจธรรมที่อาจารย์บรรยาย ช่วงที่เกิดนั้นไม่รู้ว่าเป็นตัวปัญญาที่รู้รูปนามหรือเปล่า จึงมาถามอาจารย์

    สุ. ธรรมที่ได้ฟัง สอดคล้องกับขณะที่สติเกิดหรือเปล่า

    . ตอนนี้ค่อยรู้คำบรรยายของอาจารย์ เข้าใจว่าเป็นตัวสติ แต่ ท่านอาจารย์จะว่าใช่หรือไม่ใช่ ช่วยชี้แนะด้วย

    สุ. ขณะไหนรู้ชัดกว่า

    . ทุกระยะเวลา ตลอดเลย ไม่มีขาดช่วงเลย ติดต่อกันเรื่อยๆ หลายวัน แต่เมื่อเกิดความสงสัยนานวันเข้าก็ไม่เป็นอย่างนั้นอีก ถามพระก็ไม่หายสงสัย ตอนนั้นหนูทำไมโง่ไม่มาถามอาจารย์ ท่านอาจารย์อยู่วัดมหาธาตุ หนูก็รู้ ฟังทางวิทยุ ถ้าช่วงนั้นถามอาจารย์คงจะเข้าใจดี

    สุ. ที่จริงแล้วปัญญาขั้นการฟังกับปัญญาขณะสติเกิด อย่างไหนจะชัดเจนกว่ากัน ถ้าเป็นปัญญา

    . ถ้าสติเกิด ถ้าเราเข้าใจคำบรรยายของอาจารย์ ถ้าสติเกิดช่วงนี้ จะชัดเจนกว่า

    สุ. แต่ตอนที่ยังไม่ได้ฟังและคิดว่าสติเกิด กับหลังจากที่ฟังแล้ว ตอนไหนชัดเจนกว่ากัน

    . ช่วงที่ฟังยังไม่เข้าใจกับช่วงที่สติเกิด ยังไม่รู้ว่ารูปนามเป็นอย่างไร

    สุ. ช่วงที่เข้าใจว่าเกิดสติ แต่ยังฟังไม่เข้าใจ ผิดหรือถูก เพราะฉะนั้น ต้องค่อยๆ พิจารณา เริ่มจากก่อนที่จะฟังเข้าใจ คิดว่าสติเกิด แต่จริงๆ แล้ว ไม่รู้ จนกว่าจะได้ฟัง ใช่ไหม

    . ช่วงที่เกิด ช่วงนั้นยังไม่ได้เข้าใจธรรม แต่รู้การเกิดดับของรูปนามชัดเจน จึงเกิดความสงสัย

    สุ. ขอให้พิจารณาในเหตุผลตามความเป็นจริงว่า เมื่อได้ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมจนเข้าใจว่าสภาพรู้เป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร นี่เป็นขั้นเข้าใจ กับขั้นที่สติเกิดและระลึกลักษณะของสภาพนามธรรมทีละอย่าง จนกระทั่ง ค่อยๆ พิจารณาว่า เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เพิ่มความเข้าใจขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ความรู้นั้นย่อมชัดกว่าขณะที่ฟัง เรื่องนามธรรมและรูปธรรมเข้าใจ ใช่ไหม ควรเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    ถ้าควรจะเป็นอย่างนี้ ที่กล่าวว่า สติเกิดตลอดเวลา และไม่มีทุกข์ ไม่มีกังวลอะไรเลย แต่ว่าไม่รู้ ไม่เข้าใจ ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย และสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม เป็นไปได้ไหม

    . ฟังรายการของท่านอาจารย์ แรกๆ ฟังไม่รู้เรื่อง แต่พยายามฟังไป จนเกิดอย่างนี้ขึ้นมา ก็เกิดความสงสัย ถามพระก็ไม่หายสงสัย เมื่อสงสัยนานเข้า ตัวรู้นี้ก็ทำไม่เป็นอีกแล้ว ฟังธรรมของอาจารย์มาร่วม ๒๐ ปี ช่วงหลังๆ ค่อยเข้าใจว่า นั่นเป็นเพราะมีสติรู้รูปนามเกิดดับ ใช่หรือเปล่า

    สุ. ยังไม่ใช่

    . ถามอีกข้อหนึ่งว่า เวลานั่งสมาธิ ทำไมเกิดมีการเคลื่อนไหว นั่งตัวตรง แต่หัวมีการเคลื่อนไหว ทำไมเป็นอย่างนั้น

    สุ. เรื่องของความไม่รู้ ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้ทั้งนั้น ไม่รู้เหตุ เพราะฉะนั้น ขณะนั้น ความไม่รู้ทำให้เกิดอาการต่างๆ ที่ผิดปกติได้ ขณะนี้ กำลังรู้สึกตัวตามปกติ ผิดกับขณะนั้น ใช่ไหม อยู่ดีๆ ศีรษะจะหมุนไปทำไม

    . เขาบอกว่า สมาธิสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ หรือคิดถึงคุณของ พระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งหลายว่า ขอให้หนูนั่งแล้วหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็จะมีอาการหมุนทางหัว แต่ถ้าไปนั่งที่วัดก็นั่งอีกแบบหนึ่ง ไม่เคลื่อนไหวก็ได้ ถ้าอยู่บ้าน ก็ปล่อย ร่างกายจะเคลื่อนไหวอย่างไร ก็ปล่อยตามสบาย

    สุ. อย่างไหนดี

    . ดีทั้งสองอย่าง แต่ทำไมเคลื่อนไหวได้ หรือจะไม่ให้เคลื่อนไหวก็ได้ถ้าอยู่ที่วัด ในหนังสือเขาบอกว่า เวลานั่งสมาธิจะมีการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็นึกว่าคนอื่นจะเป็นอย่างหนูหรือเปล่า ขอเรียนถามแค่นี้

    สุ. สมาธิอย่างนั้น ดีไหม ทั้งสองแบบนั้นดีไหม

    . อย่างเฉยๆ ดีกว่า แต่เวลาเคลื่อนไหวเส้นเอ็นก็หมุน มีเสียงกิ๊กก๊อกตามช่วงคอถึงหัว

    สุ. ถ้ายังคิดว่าดี ก็ยังอยากจะทำ ใช่ไหม

    . ไม่ใช่ แต่คิดว่า ทำแล้วสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ก็ปล่อยไป แต่นั่งสมาธิให้เกิดความสงบก็อีกอย่างหนึ่ง ช่วงที่เคลื่อนไหวจิตก็ไม่ได้วอกแวกไปไหน ก็จับจิตอยู่ตรงเคลื่อนไหว แบบเจริญสติไปในตัวด้วยว่า เคลื่อนไหวอย่างไร ก็ตามรู้การเคลื่อนไหวของรูปด้วย

    สุ. นี่เป็นเหตุที่บางคนเข้าใจผิดในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เข้าใจว่าขณะที่กำลังพยายามจับ คือ สติ แต่ความจริงไม่ใช่สัมมาสติ เป็นความต้องการ เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ก็ตามรู้ พยายามที่จะจ้อง พยายามที่จะจับ แม้แต่ การเคลื่อนไหว แต่ขณะนั้นไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง

    นี่คือความต่างกัน ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ปัญญาสามารถรู้ว่า สติเป็นอนัตตา เช่นเดียวกับสภาพธรรมอื่นๆ ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน เป็นสัมมาสติ ปัญญารู้ว่าสติเป็นอนัตตา เช่นเดียวกับสภาพธรรมอื่นๆ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นการจ้อง การดู การตามการเคลื่อนไหวจนกระทั่งเข้าใจว่า ขณะนั้นรู้ลักษณะของการเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๘ ตอนที่ ๑๖๗๑ – ๑๖๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    28 ธ.ค. 2564