แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1637


    ครั้งที่ ๑๖๓๗


    สาระสำคัญ

    สติเกิดระลึก ปัญญาพิจารณา (ไม่มีตัวตน มีแต่นาม มีแต่รูป)

    เรื่องของการอดทน ระลึกไปเรื่อยๆ

    การศึกษาพระไตรปิฎก

    วิปัสสนาต้องเป็นความรู้ (เกิดโดยความเป็นอนัตตา เมื่อเหตุสมควรแก่ผล)

    อถ. ส. มหา. สุขสูตร แสดงข้อปฏิบัติผิดว่า ไม่ทำให้เกิดปัญญา

    การศึกษาธรรม (เป็นเรื่องการศึกษาสภาพธรรมที่มีจริง)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๓๐


    ทางเดียวที่จะรู้ คือ ศึกษา ในขณะที่กำลังพิจารณานั้นคือขณะที่สติเกิดระลึก ถ้าสติไม่เกิดไม่ระลึกที่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ปัญญาจะศึกษาไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสติปัฏฐาน เพื่อสติจะต้องระลึกได้ และปัญญาค่อยๆ พิจารณาสังเกต จนกว่าจะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ทำอย่างอื่น แต่เวลานี้ไม่รู้อะไร ไม่รู้ว่านามธรรมมีลักษณะอย่างไร รูปธรรมมีลักษณะอย่างไร

    ได้ยินได้ฟังว่า ไม่มีตัวตน มีแต่นาม มีแต่รูป แต่ถึงจะได้ยินอย่างนี้ ก็ไม่ใช่จะรู้ว่า นามธรรมคือลักษณะอย่างนี้ แม้จะได้ทราบว่าเป็นธาตุรู้ เป็นลักษณะรู้ แต่จะรู้ได้จริงๆ ในขณะที่สติระลึก หรือขณะที่กำลังศึกษา สังเกต ในขณะนั้นไม่ต้องคิดถึงความเพียร ไม่ต้องคิดถึงอะไรเลย เพราะขณะที่กำลังสังเกตที่ลักษณะของ สภาพธรรมนั้น สติระลึก และปัญญาจึงสังเกต

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการอดทน ระลึกไปเรื่อยๆ จากไม่รู้เลย เป็นค่อยๆ ระลึกได้ เป็นค่อยๆ รู้ขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นเลย ตลอดในสังสารวัฏฏ์จะต้องเป็นอย่างนี้ อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่าทางตาที่กำลังเห็นเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้ ยาก ใช่ไหม ที่จะแยกลักษณะของนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ออกจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาต้องไม่ใช่ใครทั้งสิ้น ไม่ใช่สิ่งใดทั้งสิ้น เป็นเพียง สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริง และกำลังปรากฏเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ความยากอยู่ที่ ทางตาที่เห็น วิถีจิตทางตา จักขุทวารวิถีดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตแม้ว่าจะเกิดคั่นแต่มโนทวารวิถีซึ่งเกิดต่อก็รับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ ปัญญาจะต้องรู้ชัดในความต่างกันของนามธรรมที่เห็นและนามธรรมที่คิดนึก มิฉะนั้น ก็เป็นเราเห็นคนนั้น คนนี้

    เช่นเดียวกับเสียงทางหู ถ้าจะให้เข้าใจได้ง่าย ขณะนี้ทุกท่านกำลังได้ยิน แต่รวดเร็วเหลือเกิน ไม่ได้รู้เลยว่า ได้ยินเสียงก่อนทางโสตทวารวิถี เป็นเสียงเท่านั้น ที่ยังไม่ดับ และเมื่อเสียงดับ โสตทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตจึงรู้ความหมายของเสียงซึ่งสูงๆ ต่ำๆ ซึ่งแต่ละเสียงแต่ละคำ มีเสียงสูงๆ ต่ำๆ ที่ทำให้นึกตามเสียงสูงๆ ต่ำๆ ที่ได้ยินว่าหมายความว่าอย่างไร แต่เวลาที่ได้ยิน ดูเสมือนว่าได้ยินคำพูดทันทีเลย ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น การที่จะแยกสภาพธรรมทางหูซึ่งได้ยินเสียงออกจากสภาพที่ คิดคำตามเสียงที่ได้ยินยากฉันใด ทางตาก็ยากฉันนั้น และก็รวดเร็วอย่างนั้น คือ ทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาต้องดับ ทางใจจึงจะคิดถึงรูปร่างสัณฐานและรู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร ฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงต้องละเอียด และต้องอบรมไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ธาตุรู้ซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งต่างจากรูปธรรมเสียก่อน ยังไม่ต้องคิดที่จะประจักษ์แต่ละทวารที่แยกขาดออกจากกันเป็นรูปธรรมแต่ละชนิด เป็นนามธรรมแต่ละชนิด เพราะยังไม่ได้คุ้นเคยกับลักษณะที่เป็นนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งต่างกับรูปธรรม ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะที่กำลังได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัส

    เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ต้องนานแสนนาน เพราะว่าอวิชชาและความหลงลืมสติในสังสารวัฏฏ์ที่มีมากนั้น ก็มากมายจริงๆ จนกระทั่งสามารถปิดกั้นไม่ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่อบรมได้ เจริญได้ จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏทางมโนทวาร

    สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ซึ่งเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่แยกขาดจากกันทีละอารมณ์ ซึ่งในขณะนั้นโลกปรากฏสภาพที่สูญเปล่าจากตัวตน เพราะมีแต่เฉพาะนามธรรมที่เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ กำลังรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เพียงอย่างเดียวทีละอารมณ์ทางมโนทวาร

    เวลานี้มีมโนทวารวิถีเกิดต่อจากจักขุทวารวิถี มีมโนทวารวิถีเกิดต่อจาก โสตทวารวิถี และระหว่างจักขุทวารวิถีและมโนทวารวิถีก็มีภวังค์คั่น ระหว่าง โสตทวารวิถีและมโนทวารวิถีก็มีภวังค์คั่น แต่ขณะนี้มโนทวารวิถีปรากฏหรือเปล่า ทั้งๆ ที่มโนทวารวิถีมากกว่าปัญจทวารวิถี เพราะรูปมีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะของจิต แล้วดับ ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เหมือนกัน สิ่งที่ปรากฏทางตามีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะของจิตแล้วดับ จักขุทวารวิถีจิตดับ ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ กว่าจะรู้ว่าเป็นคน หรือเป็นสัตว์ หรือเป็นวัตถุสิ่งของ กว่าจะรู้ชื่อ กว่าจะเข้าใจความหมาย

    เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีเกิดมากกว่าทางจักขุทวารวิถี ในขณะที่กำลังเห็น สิ่งหนึ่งสิ่งใด คิดเรื่องสิ่งนั้นทันที ถ้าเป็นคนที่รู้จักก็อาจจะคิดเรื่องของคนที่รู้จัก อาจจะคิดถึงบุตรหลานของคนที่รู้จักซึ่งกำลังป่วยไข้อยู่ที่โรงพยาบาล ก็เป็นเรื่องยาว ที่เกิดจากเพียงการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาที่มีอายุสั้นมาก เพียงแค่ ๑๗ ขณะแล้วดับ เพราะฉะนั้น ทางมโนทวารวิถีมากกว่าทางจักขุทวารวิถี มากกว่าทางโสตทวารวิถี มากกว่าทางปัญจทวารวิถี แต่ลักษณะของมโนทวารวิถีไม่ได้ปรากฏ เพราะว่าอารมณ์ทางปัญจทวารปิดกั้น ไม่ให้ปรากฏลักษณะสภาพของมโนทวารวิถี

    นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นสภาพที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ต่างกันที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม เป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทีละอย่างทางมโนทวาร ซึ่งจะไม่มีความสงสัยในลักษณะของมโนทวารวิถีเลย แต่ขณะนี้ ตามปกติ แม้มโนทวารวิถีเกิดสลับคั่นกับทางปัญจทวารวิถีแต่ละทวาร ก็ยังไม่ปรากฏลักษณะของมโนทวารวิถี

    ขณะที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ในขณะนั้นไม่มีอัตตสัญญาที่เคยทรงจำสภาพธรรมรวมกันเป็นโลก อย่างที่เคยปรากฏเวลาที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    สัญญาในลักษณะที่เป็นอนัตตาจะเริ่มมีตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ เพราะว่าก่อนที่นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิดเป็นอัตตสัญญา ใช่ไหม เห็นคน เห็นวัตถุ เห็นสิ่งต่างๆ แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏทางมโนทวารวิถี ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแยกขาดกันเป็นทีละลักษณะโดยสภาพที่เป็นอนัตตา สัญญา ในขณะนั้นที่เป็นลักษณะอนัตตาจึงเริ่มมีได้ หลังจากที่นามรูปปริจเฉทญาณดับแล้ว โลกก็ปรากฏรวมกันเหมือนเดิม แต่เนื่องจากอนัตตสัญญามีแล้วจากการประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวารวิถี ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาต่อไปได้ ต้องไม่ลืมลักษณะของอนัตตสัญญาที่เคยประจักษ์แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าใครหลงลืม ไม่ระลึกถึงอนัตตสัญญาที่เคยประจักษ์แล้ว สติปัฏฐานก็ไม่ค่อยจะเกิด หรือ เมื่อเกิดแล้วก็ยังเป็นปัญญาที่ยังอ่อนอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กว่าปัญญาจะสามารถดับความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ไม่ใช่เพียงสามารถประจักษ์แจ้ง นามรูปปริจเฉทญาณเท่านั้น

    ธรรมดาแล้วอัตตสัญญาย่อมมีมากในวันหนึ่งๆ และช่วงขณะที่เป็น วิปัสสนาญาณที่เป็นอนัตตสัญญาย่อมน้อยกว่า เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่น้อมนึกถึงสภาพที่เป็นอนัตตสัญญาที่เคยประจักษ์ อัตตสัญญาที่สะสมมาพอกพูนในสังสารวัฏฏ์ก็ไม่สามารถหมดไปได้เพียงด้วยการประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวารวิถีเพียงชั่วขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณสั้นๆ เท่านั้น

    อย่าเป็นผู้ที่ใจร้อน เพราะบางคนพอได้ยินคำว่า สมถะ ก็คิดว่า สงบ โดยการจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เมื่อได้อ่านเรื่ององค์ของฌาน ๕ ก็คิดว่า ในขณะนั้นมีวิตกเจตสิก มีวิจารเจตสิก มีปีติ มีสุข มีเอกัคคตา ก็เข้าใจว่า ถึงปฐมฌานแล้ว บางท่านเข้าใจไปจนกระทั่งว่า เมื่อสงบขึ้นอีกขณะนั้นไม่ได้ มีวิตกแล้ว ก็เป็นทุติยฌาน เพราะมีวิจาร มีปีติ มีสุข มีเอกัคคตา บางท่านเข้าใจว่า ได้บรรลุฌานตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และ บางท่านถึงกับเข้าใจว่า บรรลุอรูปฌาน นี่เป็นเรื่องของสมถะ

    สำหรับเรื่องของวิปัสสนาต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่ต้องระวังว่า วิปัสสนาต้องเป็นความรู้ เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่ระลึก ความรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏไม่เริ่ม ไม่เจริญ ไม่เพิ่มขึ้น ก็อย่าได้ไปคิดฝันหรือเข้าใจไปเองว่า ขณะนั้นเป็น นามรูปปริจเฉทญาณแล้ว เพราะบางคนอาจจะต้องการถึงนามรูปปริจเฉทญาณจนกระทั่งรอ และคอย และก็หวัง และก็คิดเทียบเคียงว่า ตอนนี้ ตรงนี้ต้องเป็น นามรูปปริจเฉทญาณแล้ว แต่ให้ทราบว่า แม้วิปัสสนาญาณก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่ากำลังคอย กำลังคิด กำลังเทียบ ก็จะเป็นวิปัสสนาญาณ แต่สภาพของปัญญา ที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวารจะเกิดขึ้น โดยความเป็นอนัตตาในขณะไหนก็ได้ เมื่อเหตุสมควรแก่ผล

    ข้อสำคัญ คือ เหตุต้องถูกตั้งแต่ตอนต้น ถ้าเหตุไม่ถูกตั้งแต่ตอนต้น แม้วิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ก็เกิดไม่ได้

    อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สุกสูตร ข้อ ๔๒ ข้อ ๔๔ แสดงข้อปฏิบัติผิดว่า ไม่ทำให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ไม่ละอวิชชา และไม่สามารถ รู้แจ้งนิพพานได้

    ข้อความตอนหนึ่งมีว่า

    บทว่า มิจฺฉาปณิหิตตฺตา ภิกฺขเว ทิฏฺฐิยา ความว่า เพราะ กัมมัสสกตปัญญาและมรรคภาวนาตั้งไว้ผิด คือ เพราะไม่ประพฤติตาม กัมมัสสกตปัญญาและมรรคภาวนา

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องประกอบกันทุกส่วนของพระไตรปิฎก เพื่อที่จะไม่คลาดเคลื่อน

    เห็นเป็นผลของกรรมหรือเปล่า ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะรู้ผลของกรรมได้ไหม ไม่มีตัวตนเลยขณะที่ กำลังเห็น ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า อาจจะไม่เคยคิดว่ามีได้อย่างไร แต่ถ้าระลึกก็จะรู้ได้ กัมมัสสกตปัญญา ไม่มีใครสามารถที่จะให้จักขุปสาท โสตปสาทเหล่านี้เกิดได้เลย นอกจากมีกรรมเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้ปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่เป็นการไม่รู้กรรม เพราะขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ เป็นผลของกรรมแล้ว

    บางคนเล่าให้ฟังว่า มีเหตุการณ์อย่างนั้นๆ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นกรรมของคนนั้น หมายความว่าเป็นผลของกรรมที่ได้ทำมา แต่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นผล ของกรรมหรือเปล่า ไม่ทราบ เพราะฉะนั้น เขาสามารถที่จะคิดเรื่องผลของกรรม หรือเรื่องวิบากของกรรมเวลาที่เป็นเหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจะต้องรู้ละเอียดกว่านั้น ถี่ถ้วนกว่านั้น คือ ไม่ใช่เพียงแต่ รู้เหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ว่าเป็นผลของกรรม แต่ต้องรู้ว่าขณะที่กำลังเห็นนี้เอง เป็นผลของกรรม กำลังได้ยินก็เป็นผลของกรรม

    ถวายคำตอบปัญหาธรรมพระภิกษุที่ห้องประชุมมหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๐

    ขอกราบถวายนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพอย่างสูง

    ดิฉันรู้สึกปีติยินดีมากเจ้าค่ะ ที่ได้มีโอกาสได้กระทำกิจในพระศาสนาในวันนี้ ซึ่งเป็นการถวายความรู้เท่าที่ดิฉันได้ศึกษา ถ้ามีสิ่งใดซึ่งเป็นการพลั้งพลาด หรือบกพร่อง ไม่สมควร ขอความกรุณาพระคุณเจ้าได้โปรดอภัยให้ด้วยเจ้าค่ะ

    เรื่องของการศึกษาธรรมนั้น เป็นเรื่องการศึกษาสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏทุกๆ ขณะในชีวิต เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม และในภาษาบาลี ใช้คำว่า สัจธรรม ถ้าใช้ภาษาไทยง่ายๆ อย่างธรรมดา ก็หมายความถึงธรรมที่มีจริงนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ว่าจะเป็น พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกขณะในชีวิต ซึ่งพระธรรมได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด

    ในวันหนึ่งๆ ที่ทุกคนนอนหลับสนิท แม้ว่าจะมีจิตซึ่งกำลังเกิดดับสืบต่อ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ แต่โลกนี้ก็ไม่ได้ปรากฏเลย ขณะใดที่ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก ไม่มีใครรู้ว่ามีโลกนี้ และไม่มีใครรู้ว่ามีอะไรบ้างในโลกนี้ เพราะว่าโลกนี้ ไม่ปรากฏ

    แต่เมื่อใดที่ตื่นขึ้นเห็น ก็มีความรู้สึกว่ากำลังอยู่ในโลกนี้ ในขณะที่ได้ยินเสียง ก็เป็นเสียงของโลกนี้ ไม่ใช่เสียงในสวรรค์ ไม่ใช่เสียงทิพย์ ไม่ใช่เสียงในนรก หรือ ไม่ใช่เสียงอื่น แต่เป็นเสียงที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือแม้แต่ความคิดนึกของแต่ละคน ก็คิดนึกเรื่องของโลกนี้ ไม่มีใครระลึกถึงโลกก่อน ชาติก่อนซึ่งทุกคนจากมา และไม่มีใครรู้ว่าโลกหน้าชาติหน้าจะเป็นอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ชีวิตในวันหนึ่งๆ ก็เป็นแต่เพียงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นของจริง แต่เป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่สภาพธรรมที่ยั่งยืน ไม่ใช่สภาพธรรมที่จะพึงยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้นและดับไปทุกขณะ

    สภาพธรรมใดที่ดับไปแล้ว สภาพธรรมนั้นไม่ได้กลับมาอีกเลย แต่เพราะ มีปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นปรากฏอยู่เรื่อยๆ ความสำคัญ ความยึดถือสภาพธรรมที่เกิดปรากฏจึงทำให้มีความรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นเราที่ได้กลิ่น เป็นเราที่ลิ้มรส เป็นเราที่กระทบสัมผัส เป็นเราที่คิดนึก แต่ถ้า ไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน ไม่มีได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึกเลย เราก็ไม่มี โลกก็ไม่มี สภาพธรรมใดๆ ก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพธรรมใดมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นปรากฏ ความไม่รู้ ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ก็ทำให้เกิดความยินดียินร้ายในสิ่งที่ปรากฏ

    แต่ละคนเหมือนกันหมด คือ มีตาเห็น และเกิดความชอบหรือไม่ชอบ ในสิ่งที่เห็น มีหูได้ยิน ก็ชอบหรือไม่ชอบในเสียง มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นลิ้มรส มีกาย รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวันหนึ่งๆ และก็เปลี่ยนไปทุกขณะ แต่แม้กระนั้นด้วยความไม่รู้ก็ทำให้มีความยึดถือว่าเป็นเรา และมีความพอใจ มีสุข มีทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงมีความรู้สึกเหมือนกับว่า มีทุกข์คนละอย่างๆ คนที่มั่งมีเงินทอง ก็มีทุกข์ในเรื่องทรัพย์สมบัติ คนที่ไม่มีเงินทองก็เป็นทุกข์ในเรื่องของการไม่มีเงินทอง คนที่มีโรคภัยไข้เจ็บก็เป็นทุกข์ในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ รวมความแล้ว ทุกคนมีทุกข์เป็นส่วนใหญ่และมีสุขเป็นส่วนน้อยในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๔ ตอนที่ ๑๖๓๑ – ๑๖๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    28 ธ.ค. 2564