แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1646


    ครั้งที่ ๑๖๔๖


    สาระสำคัญ

    ปัญญาเกิดจากการฟัง (สติถึงจะค่อยๆ ระลึกได้)

    อดทนที่จะไม่เกิดอกุศล (แม้แต่การที่จะพอใจสิ่งที่น่าพอใจ)

    ดับกิเลสตามลำดับขั้นด้วยปัญญา

    เวทนาปริคคหสูตร

    รู้จักตัวธรรมที่กำลังปรากฏ (ไม่ใช่ไปคิดเรื่องธรรม)


    สนทนาธรรมระหว่างไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย

    เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐


    สุ. ที่ทรงแสดงถึง ๔๕ พรรษา ไม่ใช่สำหรับท่านพระสารีบุตร ท่านฟัง แป๊บเดียว ท่านบำเพ็ญบารมีมา ท่านประจักษ์แจ้งสภาพธรรม ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปได้ แต่ว่าของเรา ๒,๕๐๐ กว่าปี ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดง เพื่ออนุเคราะห์พวกเราโดยเฉพาะ ที่จะต้องเทียบเคียงอย่างละเอียด ทรงแสดงแล้ว แสดงอีกว่า ทางตาไม่ใช่ตัวตนอย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นขณะหนึ่งและดับไป จากนั้นจิตอะไรเกิดต่อ ทางทวารไหน ทางใจจึงจะคิดนึกเรื่องสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำให้เกิดความเห็นว่าเป็นคนนั้นคนนี้ขึ้น

    ทรงแสดงไว้ละเอียดมาก ถ้าเราไม่ศึกษา หรือศึกษาน้อย ก็ละความเป็นตัวเป็นตนไม่ได้ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ๔๕ พรรษาที่พระภิกษุติดตาม พระผู้มีพระภาค ไม่ว่าจะเสด็จจาริกไปเวสาลี หรือกุสินารา หรือราชคฤห์ ก็เพื่อ ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ของเราก็เหมือนกัน ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เพื่อศึกษาพระธรรม เพราะว่า ๔๕ ปี ท่านฟังกันมายังไม่พอ ฉะนั้น เราสมัยนี้ ตลอดชีวิตก็ยังต้องฟังต่อไป คือ เรียกว่า ไม่มีวันพอ ไม่มีวันจบ

    ก่อนอื่น เรื่องโลภะ ละไม่ได้แน่ เรื่องโทสะ ละไม่ได้แน่ เรื่องกิเลสไหนๆ ก็ละไม่ได้แน่ ต้องละความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนก่อน จะต้องประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา เพียงคำนี้คำเดียว ต้องเข้าถึงอรรถ และต้องประจักษ์ลักษณะนั้นว่า เป็นอนัตตาจริงๆ คือ บังคับไม่ได้

    ได้ยิน บังคับไม่ได้ ใครทำให้ได้ยินเกิดขึ้น ทำไม่ได้ แต่เมื่อมีปัจจัยให้ได้ยินเกิด บอกให้ไม่ได้ยินได้ไหม ไม่ได้ ต้องได้ยิน จะไม่ให้เห็นก็ไม่ได้ เมื่อเห็นสิ่งที่น่าพอใจ จะไม่ให้ชอบก็ไม่ได้ ได้ยินเสียงที่ไม่พอใจ จะบอกไม่ให้โกรธก็ไม่ได้ ทุกอย่างแสดง อยู่แล้วว่า เป็นธาตุแต่ละชนิด ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ

    ฉะนั้น เรารู้จักตัวเราเองละเอียดขึ้นมากจากการที่ไม่เคยได้ฟัง และรู้จักคนอื่นด้วย เพราะเหมือนกันหมด อย่างได้ยิน ทุกคนก็เหมือนกันหมด คือ ได้ยิน เห็นก็เหมือนกันหมด คือ เห็น

    . สมมติว่าเราเข้าใจ ซึ่งความจริงแล้วคงยังไม่เข้าใจเท่าไร เราจะดึง สิ่งเหล่านี้ คือ เมื่อเรายังเวียนว่ายอยู่กับการงาน เราจะใช้ให้มีประโยชน์อย่างไร ในเมื่อเราก็คิดว่าเราเข้าใจคนอื่นแล้ว แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้

    สุ. แม้แต่เพียงคำว่า ความอดทน ทุกคนต้องว่าดี ใช่ไหม ความอดทนของเรา อดทนเฉพาะหนาวไป ร้อนไป เย็นไป หรืออดทนสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ใครเขาว่า ก็ไม่ต้องโกรธ ถือเสียว่าไม่เห็น ถือเสียว่าไม่ได้ยิน ถือเสียว่าเขาไม่รู้ ถือเสียว่า ดับไปแล้ว ไม่ต้องมาทำให้จิตใจเศร้าหมอง แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ต้องอดทนแม้แต่การที่จะพอใจสิ่งที่น่าพอใจด้วย นี่คือความอดทนจริงๆ คือ อดทนที่จะไม่ให้เกิดอกุศลชนิดหนึ่งชนิดใด

    แต่เราชาวโลก ไม่ชอบโทสะเลย แต่โลภะเท่าไรก็ไม่พอ ใช่ไหม เอามาให้อีกเยอะๆ วันนี้ได้แล้ว พรุ่งนี้เอาอีก วันนี้ซื้อชิ้นนี้ พรุ่งนี้เอาอีก สิ่งไหนที่เรายังไม่ได้ มือเราเอื้อมไป เมื่อได้แล้วเรากำไว้ และแบอีกข้างหนึ่งสำหรับรับสิ่งอื่นอีก ทันทีที่ได้อันนี้ ปล่อย และก็รับใหม่ รับใหม่ รับใหม่ ไม่มีวันพอเลย

    เมื่อวานนี้ เราซื้อสิ่งที่เราพอใจแล้ว วันนี้จะต้องมีสิ่งที่เราพอใจใหม่ ไม่มีวันพอ แต่ทำไมเราไม่เห็นโทษของโลภะ เราจะไม่เอาแต่โทสะ แต่โลภะนี่ เท่าไรเท่ากัน

    . โลภะไม่เอาก็ได้ น้อยลง

    สุ. ไมจริง

    ผู้ฟัง มนุษย์ปุถุชนธรรมดาหลีกเลี่ยงโลภะไม่ได้

    สุ. ถูกต้อง ใครที่ดับโลภะได้ ดับหมดไม่มีเลย ต้องพระอรหันต์เท่านั้น พระอนาคามีต่ำกว่าพระอรหันต์ขั้นเดียว ดับโทสะ และเราจะไปเป็นพระอนาคามี แสดงว่าเราอยากได้ผลโดยที่เราไม่รู้เหตุว่า เราต้องบำเพ็ญเหตุอย่างไร ถึงขั้นไหน จึงจะไม่มีโทสะได้ เราจะเอาแต่ผล อยากได้เหลือเกิน

    ใครทำให้เราได้ เราก็คิดว่าเราพอใจ แต่เขาไม่ได้บอกทางที่ถูก ถ้าบอก ทางที่ถูก ต้องละการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นเรา ซึ่งไม่ใช่โดยการคิด ต้องโดยการประจักษ์แจ้ง เพราะว่าเวลานี้มีสภาพธรรมหมดทุกอย่าง เห็นก็สภาพธรรม ได้ยินก็สภาพธรรม แต่ปัญญาของเรายังไม่ได้ประจักษ์แจ้งความเกิดดับของเขา ใช่ไหม อย่างได้ยิน ดับแล้ว เอาล่ะ เชื่อ แต่เมื่อกี้เป็นเราได้ยิน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ ได้ยินดับ แต่เป็นเราได้ยินต่างหาก ยังมีความเป็นเราอยู่ จึงไม่ใช่การดับด้วยปัญญา

    สภาพธรรมเขาดับเขาเอง ใช่ไหม แต่ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งว่าเป็นสภาพธรรมที่ดับไม่มี มีแต่ความคิดว่า เราตามพิจารณารู้ว่าสิ่งนั้นดับ แต่เวลาที่สิ่งนั้นเกิด เป็นเรา จึงยังไม่ใช่การรู้ความจริง

    การรู้ความจริงต้องลึกลงไปอีกว่า ลักษณะที่เป็นนามธรรมที่ปรากฏทีละอย่าง เป็นอย่างไร เพราะปรากฏซ้อนกันไม่ได้เลย ตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ขณะที่กำลังอ่อนหรือแข็ง มืดหรือสว่าง เวลานี้ที่กำลังกระทบอ่อนหรือแข็ง กำลังแข็ง ที่แข็งนี่มืดหรือสว่าง

    . สว่าง

    สุ. สว่างได้อย่างไร

    . มีแสงสว่าง

    สุ. นั่นทางตา เอาเฉพาะทางแข็ง ตรงนี้ที่กำลังแข็งปรากฏ สว่างหรือเปล่า

    . แข็งไม่สว่าง

    สุ. เห็นไหมว่า แค่นี้ก็ปนกัน ๖ โลกแล้ว เราปนกันหมดเลย จึงออกมาเป็นภาพหลอกว่า มีตัวตน มีคน มีอะไรขึ้นมา แต่ตามความจริงแล้ว แยกออกไป แต่ละอย่าง จะปนกันไม่ได้ และเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทีละอย่าง ถ้ายังรวมกันอยู่ ไม่มีทางดับ แต่เมื่อเป็นสภาพธรรมเขาปรากฏทีละอย่าง เกิดขึ้นและดับไปก่อน อีกอย่างจึงจะเกิดและดับไป และอีกอย่างก็จะเกิดและดับ เมื่อนั้นจะเห็นว่าไม่ใช่เรา

    . คือ ทุกอย่างต้องมีขั้นตอน

    สุ. แน่นอนที่สุด ต้องเจริญตามลำดับขั้น ซึ่งการฟังมีประโยชน์ที่สุด

    . สติปัฏฐานควรจะตั้งต้นอย่างไร

    สุ. ตั้งต้นจากฟัง หลังจากนั้น ฟังแล้วเข้าใจอะไรบ้าง

    . โดยถามตัวเอง หรือจากการคุย

    สุ. มิได้ เรื่องของการดับกิเลส ที่จะดับได้จริงๆ ต้องเป็นปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญาของใครที่จะดับกิเลส ก็ต้องปัญญาของเรา

    ปัญญาของเรามาจากไหน คิดขึ้นมาไม่ได้แน่ ต้องอาศัยพระธรรมของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อฟังพระธรรมแล้วครั้งหนึ่งๆ เราเข้าใจอะไร เอาอย่างนี้ก่อน เรายังไม่ต้องไปปฏิบัติ เพราะถ้าเรายังไม่เข้าใจ เราปฏิบัติ ต้องผิด ใช่ไหม

    จะทำ นี่ผิดแล้ว ทำได้อย่างไร ก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น เราไม่เอาอะไรเลย ปัญญาขั้นเข้าใจต้องมาก่อน ซึ่งมาจากการฟังครั้งหนึ่งๆ และไม่ต้องเป็นห่วงเรื่อง สติปัฏฐาน เมื่อมีความเข้าใจละเอียดขึ้นและเห็นประโยชน์ สังขารขันธ์ ซึ่งเป็นขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕ คือ นามธรรมกับรูปธรรมจำแนกออกเป็น ๕ ขันธ์ รูปทุกชนิดเป็น รูปขันธ์ เป็นสภาพไม่รู้ ส่วนนามขันธ์ คือ สภาพรู้ จำแนกออกเป็น ๔ อย่าง คือ เวทนาขันธ์ ความรู้สึก ดีใจ เสียใจ พวกนี้มีจริง ใช่ไหม และเป็นนามธรรมด้วย ไม่ใช่รูปธรรม เพราะรูปไม่รู้สึก รูปไม่ปวดไม่เจ็บ รูปไม่ดีใจ แต่เราต่างหากที่ปวด เจ็บ ดีใจ แต่เมื่อปวด ดีใจ เป็นสภาพธรรม จึงไม่ใช่เรา แต่เป็นขันธ์ เพราะคำว่า ขันธ์ หมายความถึงสภาพธรรมที่จำแนกออกได้เป็น ๑๑ อย่าง คือ เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต ถ้าไม่เกิดดับ เป็นอดีตไม่ได้ เป็นปัจจุบันไม่ได้ เป็นอนาคตไม่ได้

    ความรู้สึกของเราในวันหนึ่งๆ คุณอัลลันฟังเทปวันก่อนบอกว่า เพิ่งเข้าใจละเอียดขึ้นหลังจากที่ฟังมานานแล้ว และเพิ่งจะรู้ว่า เวทนาเป็นเจ้าตัวร้าย เพราะว่าร้ายจริงๆ ร้ายที่เขาทำให้เราติด แสวงหาทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อเขาคนเดียวที่จะเป็น ผู้เสวยสุขหรือทุกข์จากสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ

    . คำว่า เวทนา คืออะไร

    สุ. คือ ความรู้สึก ดีใจ เสียใจ เป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ และที่ทุกคนต้องการก่อนอื่น คือ สุขเวทนา รองจากนั้น คือ อุเบกขาเวทนา คือ ไม่สุข ก็ขอให้เพียงเฉยๆ แต่ทุกขเวทนาไม่เอา โทมนัสรวมอยู่ด้วยคือโทสะ ไม่เอาเหมือนกัน แสดงให้เห็นว่า นี่เป็นเจ้าตัวร้าย

    นีน่า ดิฉันอยู่คนเดียวที่ยุโรป แต่เดี๋ยวนี้มีโอกาสฟังคุณสุจินต์ คุณสุจินต์ช่วยให้ดิฉันเข้าใจว่า ยังไม่เข้าใจดี

    สุ. คุณนีน่าศึกษามานาน และสามารถช่วยคนอื่นที่เพิ่งเริ่มต้น เขียนหนังสือหลายเล่ม แต่แม้กระนั้นคุณนีน่าก็จะต้องรู้จักตัวเองให้ละเอียดขึ้นๆ จึงจะเป็นประโยชน์

    . นี่เป็นลักษณะการถ่อมตัวของคุณนีน่าเองหรือเปล่า ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี ในเรื่องของธรรม ในเรื่องของศาสนา เรื่องของการถ่อมตัว หรืออ่อนน้อมถ่อมตน จึงไม่อยากแสดงว่าตัวเองรู้ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    นีน่า ดิฉันคิดว่า ทฤษฎีไม่เหมือนการปฏิบัติ ทฤษฎีเข้าใจได้ ศึกษา พิจารณาก็ได้ แต่ยังไม่พิจารณาพอ นี่เป็นความจริง

    . คุณนีน่าพูดถึงวิธีปฏิบัติกับทฤษฎีว่า มีความแตกต่างกัน ถ้ากล่าว อย่างนั้น คุณนีน่าก็ยังไม่ได้ปฏิบัติหรือ

    นีน่า คิดว่าเริ่มปฏิบัติ เป็นการเริ่ม

    . ปฏิบัติอย่างไร

    นีน่า คิดว่าเป็นพิจารณามากกว่า

    . พิจารณาอย่างไร มีตัวอย่างไหม

    นีน่า นามและรูป ไม่มีอย่างอื่น เป็นความจริง ลักษณะที่ปรากฏโดย ๖ ทวาร เห็น สี ได้ยิน เสียง ทุกอย่าง โดย ๖ ทวารที่ปรากฏ ไม่ใช่บัญญัติ ไม่ใช่ชื่อ

    สุ. ไม่ทราบว่า นี่จะช่วยคุณทองศรีหรือเปล่า

    . ก็พอจะเข้าใจเรื่องรูปธรรมนามธรรม แต่ดิฉันอาจจะเป็นคนกิเลสมากอย่างที่เรียนให้ทราบ และมีความดื้อโดยสันดาน บางอย่างดิฉันอาจจะรับได้บางส่วน แต่ถ้าจะให้ยอมรับหมดทุกส่วน ดิฉันอาจจะมีข้อโต้แย้ง อาจจะไม่โต้แย้งออกมาทางวาจา ก็โต้แย้งอยู่ในใจ

    ผู้ฟัง ที่บอกว่าเข้าใจนามกับรูป ขอถามว่า เข้าใจว่าอย่างไร เกี่ยวกับนามและรูป

    . ก็อธิบายไม่ได้เหมือนกัน แต่ว่า ...

    ผู้ฟัง คิดว่าน่าจะอธิบายได้นิดๆ ถ้าเข้าใจหน่อยๆ

    . ดิฉันก็ยังอยากสงวนท่าทีที่ไม่อยากอธิบาย แต่คิดว่าเข้าใจ บางทีเราเข้าใจ แต่เราพูดไม่ได้

    ผู้ฟัง เชื่อยาก

    . ขอให้เชื่อยากไปก่อน

    ผู้ฟัง ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ก็ช่วยกัน

    . ยอมรับว่า ยังไม่เข้าใจจริงๆ

    . การเข้าใจธรรม ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ที่เราไปนมัสการถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ พระพุทธองค์ทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตรแก่ทีฆนขปริพาชกซึ่งเป็นหลานชายของท่านพระสารีบุตร ทีฆนขปริพาชกฟังธรรมที่พระพุทธองค์แสดง พิจารณาตามไปได้บรรลุแค่พระโสดาบัน แต่ท่านพระสารีบุตรฟังธรรมเดียวกันนั้น ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ การเข้าใจธรรมอย่างเดียวกัน ทำไมจึงไม่เหมือนกัน

    สุ. อะไรไม่เหมือน

    . คือ คนหนึ่งฟัง สำเร็จแค่เป็นพระโสดาบัน แต่อีกคนหนึ่งฟัง สำเร็จเป็นพระอรหันต์

    สุ. ต่างกันที่ไหน

    . ต่างกันที่ปัญญา

    สุ. ก็ถูกแล้ว หมายความว่าสภาพธรรมเป็นจริงอย่างนั้น ขึ้นกับปัญญา ของคนที่จะดับกิเลส

    . แสดงว่าธรรมอย่างเดียวกันนั้น ต้องเข้าใจให้ละเอียด ให้ลึกซึ้ง

    สุ. เมื่อเข้าใจแล้ว การดับกิเลสยังต่างขั้นอีกตามกำลังของปัญญา อย่างปัญญาของพระโสดาบัน จะมีกำลังเท่ากับปัญญาของพระอรหันต์ไม่ได้

    . แสดงว่าพระโสดาบันท่านก็เข้าใจธรรมอันเดียวกันนั้น

    สุ. เหมือนอย่างเดียวกันเลย แต่กำลังของปัญญาไม่เท่ากัน มีดที่คมกริบ ฟันทีเดียวขาดได้หมด มีดที่คมน้อยกว่านั้น ฟันกี่ทีจึงจะขาดหมด

    . ก็ต้องหลายๆ ครั้ง

    สุ. ขึ้นกับกำลังของปัญญา

    . คงจะเข้าในลักษณะที่ว่า ความเข้าใจธรรมของเราต้องเข้าใจเป็นขั้นๆ เข้าใจได้เท่าไรก็ทำให้ความไม่เข้าใจหมดไป เพราะเดี๋ยวนี้ที่เราวุ่นวาย เนื่องจากเรา ยังไม่เข้าใจธรรม เราเพียงแต่จำธรรม จำชื่อ จำหัวข้อได้เท่านั้นเอง แต่ไม่ได้เข้าใจสภาวะของธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุนี้เราจึงต้องทำความเข้าใจธรรมให้ลึกซึ้ง ให้ละเอียดขึ้นๆ โดยลำดับ เพื่อที่จะกำจัดความไม่เข้าใจให้หมดไป

    สุ. ส่วนใหญ่เราจะไปสนใจ หรืออาจจะคิดมากเรื่องของธรรม แต่ไม่รู้จัก ตัวธรรมหรือสภาพธรรม เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะมีประโยชน์กว่า คือ ไม่ไปคิดเรื่องของธรรม แต่ควรรู้จักตัวธรรมที่กำลังปรากฏ และการที่จะพูดเรื่องธรรม ต้องพูดเพื่อให้เข้าใจตัวธรรม เพราะเวลานี้กำลังมีตัวธรรม ใช่ไหม คุณทองศรี ตัวธรรมมีไหมเวลานี้

    . ไม่แน่ใจ

    สุ. ถ้าไม่ใช่มีตัวธรรม เวลานี้มีอะไร

    . ยังไม่แน่ใจว่าธรรมคืออะไรแน่ ทราบแต่ว่า คือ สภาพความเป็นจริงอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ก็กำลังอยากรู้

    สุ. ถ้ากล่าวว่า ธรรมทั้งหลาย ไม่เว้นอะไรเลย จะถูกหรือจะผิด

    . คิดว่าถูก

    สุ. คิดว่าถูก ธรรมทั้งหลาย ไม่เว้นอะไรเลย เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังอยู่ที่นี้เดี๋ยวนี้ ก็ต้องเป็นธรรมด้วย ถูกไหม ทุกอย่าง ไม่เว้นเลย สิ่งใดที่จริง พระพุทธพจน์ไม่มีวันเปลี่ยน

    ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมทั้งหมด ยืนคำ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ของเราทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ นี่คือการเริ่มเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง

    ที่ใช้คำว่า พระธรรม เพราะว่าแสดงถึงสิ่งที่เป็นจริง ที่มีจริง ซึ่งเป็นแต่เพียงธรรมชาติหรือสภาพธรรมแต่ละอย่าง เป็นธาตุแต่ละชนิด ซึ่งไม่พึงยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นเรา หรือเป็นของเราได้เลย

    นี่เพียงขั้นต้น และเราต้องเอาบทเรียนนี้ หรือสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนี้มาพิจารณา ในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะยอมรับว่า เป็นจริงอย่างที่ได้ยินได้ฟังหรือเปล่า ถ้าได้ยิน ได้ฟังว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังอยู่เดี๋ยวนี้ ทุกอย่าง ไม่เว้นเลย ต้องเป็นธรรม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๕ ตอนที่ ๑๖๔๑ – ๑๖๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    10 ก.พ. 2566