แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1661


    ครั้งที่ ๑๖๖๑


    สาระสำคัญ

    ปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์

    สมถะ คือ จิตที่สงบจากอกุศล (สติสัมปชัญญะรู้ลักษณะความสงบ ความไม่สงบของจิต)

    อกุศลมี ๙ ประเภท

    ไม่มีศาสดาใดสอนให้ละความไม่รู้


    สนทนาธรรมระหว่างไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย

    เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐


    ศุ. ถ้าเป็นการพิจารณาว่า ตั้งแต่เกิดมาเปลี่ยนสภาพจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ จากผู้ใหญ่เป็นคนแก่ จากคนแก่และมีโรคภัย จนกระทั่งตาย จะถือว่าเป็นการพิจารณาไตรลักษณ์หรือเปล่า

    สุ. ใครล่ะกำลังพิจารณา และกำลังพิจารณาอะไร พิจารณาตัวตนทั้งนั้น เกิดมาก็ตัวตน แก่ก็ตัวตน เจ็บก็ตัวตน ตายก็ตัวตน ไม่มีนามธรรมรูปธรรมอะไรเลย

    ศุ. และก็มองเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนแต่ไม่เที่ยง

    สุ. ก็คิดเอา ก็กำลังไม่เที่ยงเวลานี้ยังไม่ประจักษ์

    ศุ. คือ มีผู้ถามในรถเรื่องนี้ ผมก็บอกว่า คำว่า อนิจจัง ทุกขัง หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นและดับทันที จึงไม่ใช่เรื่องของการเจริญสมถภาวนาที่จะไปรู้ลักษณะทั้ง ๓ ได้

    สุ. แน่นอน นี่คือประโยชน์ของการฟัง เกิดดับๆ เดี๋ยวนี้กำลังเห็น ดับไป กำลังได้ยินก็ดับไป คิดนึกก็ดับไป สภาพธรรมทุกอย่างเกิดและดับทันที เร็วมาก

    ศุ. อีกคำถามหนึ่งถามว่า เมื่อเจริญสมถภาวนาแล้ว พิจารณาถึงอารมณ์ ต่างๆ จากนั้นยกขึ้นสู่วิปัสสนา ซึ่งผมก็ได้อธิบายว่า คำว่า ยก หรือคำว่า เปลี่ยน คือ การเริ่มต้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏนั่นเอง การทำให้จิตสงบไม่ได้เกี่ยวข้องกับสติปัฏฐาน เพราะอารมณ์ที่ปรากฏรู้แต่เพียงทางใจอย่างเดียว และเมื่อรู้ทางใจก็เป็นความ แนบแน่นของจิตที่ไม่รู้อารมณ์อื่น เมื่อจะเปลี่ยนเป็นวิปัสสนา อาจจะเปลี่ยนโดยคำพูด แต่จริงๆ แล้วต้องลืมตา ถ้าไม่ลืมตาจะกล่าวว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ต้องแยกออกไปว่า ถ้าเป็นเรื่องของความสงบแล้วไม่เกี่ยวกับเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้ลักษณะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม

    ผู้ฟัง ก็ต้องเริ่มกันคนละอย่าง

    สุ. คนละวิธี เพราะว่าสมัยพระพุทธเจ้า ผู้ที่ได้ทั้งฌาน ได้ทั้งวิปัสสนาด้วย มีน้อยกว่าผู้ที่ดับกิเลสได้โดยเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว นี่ขนาดสมัยโน้น แสดงให้เห็นถึงว่า ความยากของสมถภาวนาแค่ไหน

    ถ. ที่ว่ายกขึ้นสู่วิปัสสนา ยกจิตหรือยกอารมณ์ขึ้นสู่วิปัสสนา ฟังแล้ว เข้าใจยาก คล้ายๆ กับเป็นของที่ยกได้ กลายเป็นตัวเป็นตนยกได้ แท้จริงต้องมี เคล็ดลับอะไรสักอย่างที่พอจะเข้าใจได้ อาจารย์มีความเห็นอย่างไร

    สุ. ต้องเข้าใจว่า สมถะคืออะไร วิปัสสนาคืออะไรก่อน ไม่ว่าเราจะพูดถึงคำไหนทั้งนั้น ถ้าเราพูดไปลอยๆ ดูเหมือนเข้าใจ แต่ความจริงไม่ได้เข้าใจ อย่างสมถะคืออะไร สมถะเป็นกุศลหรือเปล่า

    สมถะ คือ จิตที่เป็นกุศล ที่สงบจากอกุศล ต้องยืนยันว่า สงบจากอกุศล เพราะถ้ายังมีโลภะก็เป็นอกุศล มีโทสะก็เป็นอกุศล แม้ไม่มีโลภะ โทสะ เพียงมีโมหะ ก็เป็นอกุศล ใช่ไหม ต้องสงบจากทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นจึงจะชื่อว่าสงบ เพราะว่าไม่มีอกุศล เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ขณะไหนจะเป็นสมถะบ้าง ขณะที่ให้ทาน กุศลจิตเกิดจึงให้ได้ ชั่วขณะ และในขณะที่ให้ทาน เจตนาให้เป็นกุศล กำลังให้ก็เป็นกุศล แต่เมื่อเจตนาให้เกิดขึ้น ก่อนที่จะถึงการให้ มีอกุศลบ้างไหม

    ผู้ฟัง อาจจะคิดไม่พอใจ

    สุ. เพราะฉะนั้น เทียบดูแล้ว ทานกุศลน้อยมาก คือ กุศลเกิดนิดเดียว แต่อกุศลมากมาย อย่างจะถวายอาหาร จะใส่บาตร หรือจะเลี้ยงพระก็ตามแต่ เริ่มตั้งแต่จะไปตลาด จนกระทั่งถึงตลาด อย่างนี้จะว่าเราเป็นกุศลกี่ขณะ ฉะนั้น ในขณะที่เป็นทานกุศล กุศลน้อย ไม่มาก ความสงบจึงไม่ได้ปรากฏให้เห็นว่า ขณะนี้จิตสงบ เพราะว่าช่วงสั้น และอกุศลก็แทรกทันที และจะทำอย่างไร วันหนึ่งๆ ทานก็ไม่ได้ให้ตลอดเวลา ศีลก็ไม่มีเรื่องที่จะวิรัติ จิตของเราก็เป็นอกุศลอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ ทำอย่างไรจิตจึงจะสงบจากอกุศลเหล่านั้น ท่านที่มีปัญญาในสมัยโน้น ท่านพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่ท่านสามารถรู้ลักษณะความสงบและความไม่สงบของจิตว่ามาจากไหน ทันทีที่เห็น และอกุศลจิตเกิด ท่านรู้เลยว่าจิตไม่สงบ อย่างเราถามว่า วันนี้มีอกุศลไหม บางคนบอกไม่มี

    ผู้ฟัง ทราบเหมือนกันว่า ตอนนี้เป็นอกุศลแล้ว

    สุ. พี่ลองมองไมโครโฟน เป็นอกุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เฉยๆ

    สุ. นั่นแหละเป็นอกุศลบ้างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    สุ. ถ้าเป็นอย่างนี้จะเจริญสมถภาวนาไม่ได้เลย เพราะยังไม่รู้ว่า เห็นแล้วจิตหวั่นไหวไปตามสิ่งที่ปรากฏ หวั่นไหวว่าเป็นไมโครโฟน

    ผู้ฟัง เฉยๆ มองก็เป็นสิ่งหนึ่ง

    สุ. ถ้าไม่เป็นอกุศล ต้องเป็นกุศล พี่เลือกเอา ตอนนี้มี ๒ อย่างว่า หลังจากที่เห็นแล้ว ต้องเป็นกุศลหรืออกุศล อย่างหนึ่งอย่างใด

    ผู้ฟัง เป็นกุศล

    สุ. ไม่ได้ พี่เลือกเองใช่ไหมว่า เฉยๆ นี่คือกุศล แต่เฉยๆ เป็นโลภะก็ได้ เป็นโมหะก็ได้

    ผู้ฟัง และจะจัดเข้าประเภทไหน จิตยังไม่คิด ยังเฉย ยังไม่คิดว่าอะไร

    สุ. นั่นพี่เอาเวทนามาตัดสินว่า พี่ไม่เดือดร้อนด้วยความพอใจติดข้อง หรือเพลิดเพลิน เห็นไมโครโฟนแล้วไม่เพลิดเพลิน เห็นไมโครโฟนแล้วไม่เกิดโทสะ เพราะฉะนั้น เป็นความรู้สึกอุเบกขา พี่ก็อยากให้เป็นกุศล เพราะเป็นอุเบกขา แต่ความจริงอุเบกขาเกิดกับโลภะก็ได้ เกิดกับโมหะก็ได้ จึงมีข้อที่จะต้องเลือกถึง ๓ อย่าง

    ผู้ฟัง แจกแจงไปมากมาย

    สุ. เพราะเป็นของจริง เหตุผล คือ เวลานี้ความเฉยจะต้องเกิดร่วมกับ โลภะอย่างหนึ่ง และโมหะอีกอย่างหนึ่ง และกุศลอีกอย่างหนึ่ง ขอให้คิดและพิจารณาด้วยเหตุผลว่าจะเป็นอะไรใน ๓ อย่าง จะเป็นโมหะล้วนๆ หรือเป็นโลภะ ชอบเหมือนกันที่เห็น ดีกว่าไม่เห็น หรือว่าเป็นกุศลที่เราเห็นไมโครโฟน คิดดู จะเป็นอะไรใน ๓ อย่าง ต้องเป็นปัญญาของเราเองจึงจะแก้ความสงสัย เพราะว่าความจริงคนเรามีทั้งโลภะ ทั้งโมหะ ทั้งกุศล ทันทีที่เห็นไมโครโฟน พี่ว่าเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นกุศล

    สุ. ถ้าเป็นกุศล วันนี้ทั้งวันพี่รวยกุศล

    ผู้ฟัง ทำไม

    สุ. เพราะพี่เห็นอะไรๆ ก็เฉยๆ ก็เป็นกุศลไปหมด

    ผู้ฟัง ไม่เห็นติดอะไร

    สุ. ก็รวยกุศล

    ผู้ฟัง รวยโมหะ

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเครื่องประดับต้องเป็นอย่างอื่นแน่ๆ

    สุ. พี่จะรู้เมื่อความรู้สึกรุนแรงขึ้น ความต้องการรุนแรงขึ้น แต่อย่างละเอียดๆ พี่ไม่มีโอกาสจะรู้สึก

    เพราะฉะนั้น อกุศลมีถึง ๙ ประเภท อย่างเช่น อาสวะ ที่ไหลรินไปโดยที่ ไม่รู้สึกตัวเลยทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนของหมักดอง และอย่างที่ พอจะรู้สึกขึ้นมาได้บ้าง และอย่างรุนแรงที่ทำให้ถึงกับกระทำทุจริต อกุศลมีถึง ๓ ขั้น ถ้าพี่ไม่ล้างมือ พี่ว่ามือพี่สะอาดไหม

    ผู้ฟัง ไม่สะอาด

    สุ. ทำไมพี่รู้ ไม่เห็นเปื้อนอะไร แต่พี่จะรู้ว่าเปื้อนต่อเมื่อไปล้างสบู่และเห็นว่ามีสีดำออกมา ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เวลาที่มือค่อยๆ เปื้อนไปทีละน้อย ถูกฝุ่นไป ทีละน้อย เรายังไม่รู้สึกตัว ดังนั้น อกุศลทีละน้อยๆ บางจัด เราก็ไม่รู้ว่าเป็นอกุศล ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะพูดเหมือนพี่ว่า วันหนึ่งๆ เขาไม่มีอกุศล

    ผู้ฟัง ไม่ถึงขนาดว่าวันหนึ่งๆ ไม่มีอกุศล เพียงแต่ว่าสิ่งนี้ไม่มีประโยชน์สำหรับเราก็เฉย ไม่ติด เห็นก็อย่างนั้น แต่บางอย่างพอเห็นอกุศลเกิด ถูกใจ หรือ เป็นของจำเป็นสำหรับเรา ก็ชอบแล้ว

    สุ. อกุศลขั้นนี้เกิดให้พี่รู้ได้ และในขั้นที่ไม่เกิดให้รู้ ก็น่าจะมี นี่แหละคือ ตัวเขาล่ะ เพราะว่าขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นอกุศล นี่หลัก และจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นอกุศล พี่เห็นไมโครโฟน ไม่ได้เกี่ยวกับทาน ไม่เกี่ยวกับศีล จึงไม่ใช่กุศล และถ้าไม่ใช่ความสงบของจิตที่จะต้องเกิดพร้อมด้วยปัญญา เพราะต้องมีปัญญา จึงจะสงบ ที่เป็นสมถะ นั่นก็ไม่ใช่สมถะอีก ถ้าสติไม่ระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติปัฏฐานอีก เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ใช่อย่างหนึ่งอย่างใดในกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล คราวนี้ไม่รวยกุศลแล้ว รวยอกุศล

    ผู้ฟัง ไม่รวยแล้ว ยากจริงๆ

    ศุ. ไม่ใช่เรื่องว่าใครก็ตามสอนแล้วคิดว่าง่าย แต่ต้องพิจารณามากหน่อย เพราะจากการสนทนากับคุณพี่บนรถที่ว่า คุณพี่สามารถปฏิบัติได้ทั้ง ๒ ลักษณะ คือ สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เพราะเดี๋ยวนี้สมถะเป็นปกติแล้ว

    ผู้ฟัง ไม่ใช่สมถะเป็นปกติ เริ่มต้นก็คิดว่าให้ใจสงบเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้พิจารณากัมมัฏฐานไปด้วย และนำเอาของอาจารย์ประกอบด้วย ปฏิบัติอย่างนี้ และมาฟังอาจารย์ เข้าใจได้เร็วกว่าตอนที่ไม่ได้ปฏิบัติ เข้าใจว่าอย่างนั้น

    สุ. ต้องเป็นปัญญาตามระดับขั้น คือ แม้พี่จะบอกว่าจิตพี่สงบแล้ว เราก็ยังต้องตรวจสอบว่า ที่เราเข้าใจว่าสงบ สงบตามความคิดของเรา หรือสงบตามที่ พระผู้มีพระภาคทรงแยกออกไปว่า ถ้าสงบ ไม่ใช่แบบเรานั่งคนเดียว เราไม่ได้ทำอะไร และเราไปรู้อยู่ที่อย่างเดียว อารมณ์เดียว และเราเข้าใจว่าสงบ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงว่า นี่เป็นความสงบ

    . เวลาทำอะไรตลอดวัน เราก็มีความรู้สึกตามอยู่ว่า กุศลหรืออกุศล

    สุ. แต่เมื่ออกุศลอย่างละเอียดมี ซึ่งเราไม่รู้ เราก็คิดว่า เป็นกุศล

    ผู้ฟัง ต้องทำทีละขั้นก่อน แต่พอตามได้ว่า นี่อกุศล ใจคิดในทางไม่ดีในสิ่งที่ตาเห็น นี่อกุศลแล้ว แต่จะต้องละเอียดขึ้นอีกว่า ไม่ใช่หยุดแค่นี้ ต้องติดตามทำอีก เมื่อฟังจากท่านอาจารย์ประกอบกันไป

    สุ. คนอื่น หมายความถึงศาสดาอื่น เขาคิดว่าเขาสอนให้คนละโลภะ ให้มีการบริจาคทาน ให้อะไรต่ออะไรมากมาย และบางศาสดาก็คิดว่าเขาสอน ให้คนละโทสะ ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องมีความรู้สึกไม่สบายใจ แต่ไม่มีศาสดาใดที่จะสอน ให้ละโมหะ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นความต่างกัน

    เราต้องเข้าใจสภาพของโมหะว่า โมหะเป็นอย่างไรหนักหนา จะร้ายกาจ หรือจะยุ่งยาก หรือจะโง่สักแค่ไหน กับตัวปัญญาซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ตรงกันข้ามกันเลย เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดมาเรามีปัญญาหรือเรามีโมหะ คิดอย่างนี้ไปก่อน เพื่อที่จะได้เทียบสติปัญญาของเรากับท่านผู้รู้อีกท่านหนึ่ง ซึ่งท่านเหนือ บุคคลใดทั้งสิ้น ท่านสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียด ทุกประเภท และได้แสดงธรรมที่ได้ประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริง คือ ต้องละเอียดและทุกประเภท โดยการที่เราเริ่มว่า ตั้งแต่เกิดมา เรามีโมหะ หรือเรามีปัญญา

    ผู้ฟัง มีโมหะ

    สุ. เมื่อเรามีโมหะ ยังไม่มีปัญญา เราก็ต้องมาถามความละเอียดอีกว่า ที่ว่าเรามีโมหะนั้น ขณะไหน ต้องซอยลงไปละเอียดขึ้นๆ จนกระทั่งเราพบความจริง

    ผู้ฟัง โมหะ คือ ตัวอวิชชา

    สุ. ใช่ ขณะไหนที่เรามี

    ผู้ฟัง เมื่อยังมีอวิชชาตราบใด ปัญญาก็ยังไม่เกิด เราต้องขัดเกลาตัวโมหะหรืออวิชชาให้น้อยลงไป มีสติตามรู้ให้ทันว่า นี่เป็นโมหะไหม

    สุ. เรายังไม่ต้องถึงขั้นมีสติ เพียงแต่ว่าเรามีโมหะขณะไหน ถ้ายอมรับว่าเรามีโมหะมากตั้งแต่เกิด เรามีโมหะขณะไหนบ้าง ค่อยๆ ไล่ไปทีละเล็กละน้อยจะได้ รู้ชัดเป็นขณะๆ ไป

    ผู้ฟัง ตามรู้ว่า เรามีอวิชชา

    สุ. ยังไม่ตามรู้ เพียงว่าเรามีโมหะขณะไหนบ้าง เราจะได้รู้จักหน้าตา เพื่อที่จะละ เราว่าเรามีโมหะมาก อยู่ที่ไหน ขณะไหนที่เรียกว่าเป็นโมหะ

    ผู้ฟัง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    สุ. ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ปัญญา ไม่เกิด และไม่เป็นกุศลทางหนึ่งทางใด ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด

    ผู้ฟัง ดิฉันก็ตามอยู่ แต่อาจจะยังไม่เรียบร้อย ...

    สุ. ยังไม่ตาม ให้รู้ก่อนว่า อยู่ตรงนั้น คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในสมถะ ไม่เป็นไปในสติปัฏฐาน ต้องเป็นอกุศลแน่ๆ ประเภทหนึ่งประเภทใด

    คือ เราเริ่มรู้จักตัวเราเองว่า มีอกุศลมาก ทำให้เราไม่ประมาท และจะได้รู้ละเอียดว่า อกุศลที่มีมากเริ่มมาจากจุดไหน ซึ่งต้องมาจากตัวอวิชชาแน่ๆ เพราะฉะนั้น ยังไม่ใช่ความรู้สภาพธรรมตราบใด ขณะนั้นยังต้องเป็นอวิชชาอยู่ แสดงว่ามากแน่ๆ และทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะที่เห็นถ้าไม่เป็นกุศลก็ต้องเป็นอกุศล และอกุศลทุกชนิดจะขาดโมหะไม่ได้ มีอยู่ชัดเจน แต่เราไม่ค่อยจะมองเห็นว่าเป็นอวิชชา

    ศุ. ถ้าผมเห็นเป็นไมโครโฟน ขณะนั้นมีโมหะไหม

    ผู้ฟัง มีโมหะ

    ศุ. ทำไมกล่าวว่ามีโมหะ ถ้าได้ยินเสียงผมพูด มีโมหะไหม

    ผู้ฟัง ก็เช่นเดียวกัน

    สุ. ตกลงครบทั้ง ๖ ทวาร

    ศุ. แสดงว่าตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ มีโมหะเกิดตลอด เพราะฉะนั้น การที่จะละ จะคลาย ก็ต้องมีหนทาง มีวิธีปฏิบัติ คุณพี่คิดว่า การปฏิบัติอย่างไหนสามารถจะละได้

    ผู้ฟัง ก็มีสติรู้

    สุ. ยังต้องละเอียดต่อไปอีก รู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้สิ่งที่เกิดขึ้น

    สุ. สิ่งที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น ทางไหน

    ผู้ฟัง ทางตา ทางหู

    สุ. ทีละทาง ทางตารู้อะไร เมื่อกี้ไม่รู้ทั้ง ๖ เมื่อเริ่มที่จะละกิเลสก็หมายความว่า ต้องเริ่มรู้ให้ทั่วทั้ง ๖ แต่เราจะพูดถึงทีละอย่างๆ ทางตารู้อะไร เพราะเมื่อกี้ไม่รู้

    ผู้ฟัง ทางตาเห็น ก็ต้องเห็นสี

    สุ. ใช่ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ และความรู้นั้นรู้อะไร ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ต้องรู้สิ่งที่กำลังมีทางตา แต่จะรู้แบบไหน รู้อย่างไรจึงจะเป็นปัญญาที่จะ ละโมหะได้

    นี่ตรงกับที่คุณเรือนแก้วถาม แข็งๆ ใช่ไหม และก็ไล่มาตั้งแต่ทางตาว่า จะต้องรู้อะไร ในเมื่อมีสภาพธรรมเพียง ๒ อย่าง คือ นามธรรมอย่างหนึ่ง รูปธรรมอย่างหนึ่ง ก็ต้องถามคุณเรือนแก้วว่า นามธรรมคืออะไร ตอบอีกที

    . นามธรรมคือสภาพที่รู้

    สุ. ใช่ ลักษณะรู้ อาการรู้ และรูปคืออะไร

    . สภาพที่ไม่รู้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๗ ตอนที่ ๑๖๖๑ – ๑๖๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    10 ก.พ. 2566